Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2530








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2530
สุริยน ไรวา THE FIRST TYCOON             
 

   
related stories

สิ่งที่ "ไรวา" เหลืออยู่
อินเตอร์ไลฟ์ประกันชีวิตสนามปราบเซียน

   
search resources

Import-Export
Agriculture
สุริยน ไรวา
เอส.อาร์.กรุ๊ป




สังคมธุรกิจของเราทุกวันนี้มี TYCOON มากหน้าหลายตา พวกเขาประสบความสำเร็จบนพื้นฐานการสร้างสรรค์งานที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ แต่ดูเหมือนชื่อ สุริยน ไรวา กลับไม่ค่อยมีใครรู้จักทั้งที่จริง ๆ แล้ว สุริยนคือ แบบแผนของ TYCOON คนแรกของสังคมธุรกิจสมัยใหม่ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ทำไมชื่อสุริยน THE FIRST TYCOON ถึงได้หลุดหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์และมันมีบทเรียนอะไรที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดที่หลุดหายไปนั้น

เรื่องโดย

มิเกล เด เซราบานเตส สร้างดอน กีโฮเต้สุภาพบุรุษแห่งลามันช่า (DON QUIXOTE : MAN OF LAMANCHA) ให้ยิ่งใหญ่ข้ามศตวรรณามาได้ "เพราะเขามีความฝันอันยิ่งใหญ่"

เมื่อ 60 กว่าปีก่อน บนสะพานพุทธยอดฟ้า เด็กชายโรงเรียนสวนกุหลาบ 2 คนยืนเกาะราวสะพานมองสายน้ำเจ้าพระยาที่ไหลเอื่อยและพูดถึงความใฝ่ฝันอันยิ่งใหญ่ของตน คนหนึ่งชื่อสุริยน ไรวา อีกคนชื่อสละ ลิขิตกุล (ปัจจุบันเป็นคอมลัมนิสต์หนังสือพิมพ์สยามรัฐใช้นามปากกาว่า "ทหารเกา") สุริยนชี้บอกกับสละว่า "มึงเห็นโรงงานที่มีปล่องควันนั่นไหม โกดังและร้านค้านั้นด้วย สักวันหนึ่งต้องเป็นของกู"

ดอน กีโฮเต้ ตัวละครโดดเด่นของมิเกล เด เซรบานเตส ใฝ่ฝันที่จะเป็นอัศวินผู้ยิ่งใหญ่ปราบปรามเหล่าอธรรมทั้งมวล ขณะที่สุริยนไรวา ฝันจะเป็น TYCOON ผู้ยิ่งยง

ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีความฝันด้วยกันทั้งนั้น แต่ความเป็นจริงจะเป็นไปได้หรือไม่เพียงใดก็คงจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง

สุริยน ไรวา เกิดและดับไปแล้วในวันนี้ แต่ตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่เขาพิสูจน์ความใฝ่ฝันของเขาอย่างไรกันแน่

ชื่อสุริยน ไรวา คนหนุ่มสาวยุคนี้คงแทบไม่รู้จัก เพราะสมัยที่สุริยนยิ่งใหญ่พวกเขาอาจจะยังไม่เกิด แต่คนอายุรุ่น 40 ขึ้นไปคงมีเพียงจำนวนน้อยที่จะไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินชื่อสุริยนมาก่อน

สุริยนเป็นนักธุรกิจคนไทยคนแรก ๆ ที่พอจะเรียกได้ว่าเป็น PIONEER อย่างแท้จริงในวงการธุรกิจสมัยใหม่แทบทุกแขนง

"สมัยที่สุริยนยังเป็น KING'S MAKER อยู่ ถาวร พรประภา ยังโนเนมมาก เชาวร์ เชาว์ขวัญยืน ยังเดินหิ้วกระเป๋าตามสุริยนต๊อก ๆ หรือแม้แต่ คุณ คุนผลิน ยังเป็นแค่เพียงเสมียนของสุริยน ไรวา" คนเก่าคนเก่าในวงการธุรกิจเล่าให้ฟัง

สุริยนนั้นลืมตาขึ้นดูโลกเมื่อปี 2459 ถ้ามีอายุยืนยาวอยู่ถึงทุกวันนี้อายุก็คงจะเพิ่ง 71 ปี เขาเป็นทายาทโดยสารเลือดของเชื้อสายจีนเดิมแซ่ชั้น ส่วนบุญรอดผู้แม่เป็นคนไทยแท้ ๆ สุริยนเกิดและโตที่มหาชัย (ปัจจุบันเป็นจังหวัดสมุทรสาคร) ครอบครัวของเขาเป็นเจ้าของโรงน้ำแข็งเล็ก ๆ ตั้งอยู่ที่ปากลัด พระประแดง

แม่ของสุริยนมีน้องชายคนหนึ่งซึ่งได้ดิบได้ดีเป็นถึงพระนรราชจำนง (สิงห์ ไรวา) ตำแหน่งปลัดกระทรวงเศรษฐการ พระนรราชจำนงได้ขอสุริยนไปเลี้ยงตั้งแต่เล็ก ๆสุริยนก็เลยใช้นามสกุลไรวาตามน้าชาย ดูเหมือนเขาจะผูกพันและได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก "คุณพระน้าชาย" ผู้นี้ไม่น้อย

สุริยนในวัยเด็กผ่านการศึกษาจากดรงเรียนอัสสัมชัญและสวนกุหลายวิทยาลัยนัยหนึ่งเขาผ่านทั้งสถาบันลูกพ่อค้าและสถาบันลูกขุนนางในยุคนั้นเสร็จสรรพ

เขาเป็นคนเรียนดี กีฬาเด่น ซึ่งต่อมาสำเร็จการศึกษาสูงสุดทางด้านกฎหมายเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตปี 2482 เพื่อนร่วมรุ่นเดียวกันก็เช่น สุวรรณ รื่นยศ, คุณหญิง สุภัทรา สิงหลกะ, พลตำรวจตรีพิบูลย์ ภาษวัธน์และสุเกต อภิชาติบุตร ฯลฯ เป็นต้น

ความตั้งใจจริงเมื่อเรียนจบแล้ว สุริยนต้องการทำการค้า แต่เผอิญยังมองไม่เห็นช่องทางและด้วยความต้องการหาประสบการณ์ รู้จักผู้คนให้มาก ๆ บวกกับพื้นฐานความคิดที่ชิงชังความชั่วร้ายทุกรูปแบบก็เลยตัดสินใจสมัครเข้ารับราชการตำรวจ

สมัยที่สุริยนเป็นนายตำรวจอยู่แผนกคดีเบ็ดเตล็ดประจำโรงพักกลาง (ปัจจุบันคือ สน.พลับพลาไชย) นั้น ผู้บังคับบัญชาขอเขาก็คือ พิชัย กุลละวณิชย์ ที่ต่อมามียศเป็นพลตำรวจเอกตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจซึ่งตัวอธิบดีคือจอมพลประภาส จารุเสถียร

"ในระหว่างที่เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ท่านอธิบดีกรตำรวจในขณะนั้นคือพลตำรวจเอกอดุลย์ อดุลเดชจรัส มีความประสงค์จะให้มีการพรางไปสถานีตำรวจนครบาลกลางและสร้างที่กำบัง (บังเกอร์) ด้วยกระสอบทรายบนดาดฟ้าเพื่อตั้งปืนกลไว้ยิงเครื่องบินข้าศึก แต่กรมตำรวจไม่มีงบประมาณ คุณสุริยนได้รับอาสาเป็นผู้จัดการทาสีพรางสถานีตำรวจทั้ง 3 ชั้นด้วยาเทาแก่และตั้งรอกชักระสอบทรายขึ้นไปบนดาดฟ้าสำหรับทำที่กำบังได้สำเร็จสมควรประสงค์ของท่านอธิบดีโดยใช้เงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นับเป็นผู้ริเริ่มการพัฒนาสถานที่ราชการโดยมิต้องใช้งบรปะมาณของทางราชการแต่อย่างใดและยังเป็นตัวอย่างที่ดีและถือปฏิบัติมาจนทุกวันนี้" พลตำรวจเอกพิชัยพูดถึงสุริยนในฐานะที่เคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาและต่อมาเป็นเพื่อนรักกันซึ่งฉายแววความเป็นคนมีความคิดริเริ่มของสุริยนอย่างจับต้องได้

ระหว่างยังรับราชการตำรวจ วันหนึ่งสุริยนปวดท้องอย่างรุนแรงต้องเข้ารับการผ่าตัดไส้ติ่งที่โรงพยาบาลศิริราช ที่นี่เขาได้พบรักครั้งแรกกับนักเรียนพยาบาลสาวสวยชาวปทุมธานีชื่อจำนงค์ อินทุสุต ผู้เคยเข้าประกวดและคว้ารางวัลนางงานจังหวัดอยุธยามาแล้ว หลังจากที่จำนงค์เรียนจบ ทั้งคู่ก็จูงมือกันเข้าสู่ประตูวิวาห์ และช่วงใกล้ ๆ กันนี้เองที่สุริยนเริ่มทดลองลงทุนทำธุรกิจด้วยการซื้อสามล้อจำนวนหนึ่งมาไว้ให้เช่า แต่ก่อนที่ธุรกิจจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างเขาเผอิญได้รับคำสั่งย้ายไปประจำที่จังหวัดนครสวรรค์เสียก่อน

ตอนที่เตรียมตัวเดินทางขึ้นไปรับตำแหน่งที่นครสวรรค์นั้น สุริยนต้องการเรือเพื่อใช้เป็นพาหนะในการเดินทาง เขาเกิดไปถูกใจเรือของคุณหยิงอินทราธิบดี (ภริยาพระยาอินทราธิบดีซึ่งเป็นคนในตระกูลเศวตศิลามีศักดิ์เป็นอาของพลอากาศเอกสิทธิเศวตศิลา) ก็เลยติดต่อขอซื้อ การซื้อเรือนอกจากจะบรรลุวัตถุประสงค์แล้วยังมีผลทำให้สุริยนเป็นที่ถูกอัธยาศัยของครอบครัวเศวตศิลามาก ๆ กระทั่งภายหลังย้ายกลับจากนครสวรรค์ ความใกล้ชิดสนิทสนมนี้ทำให้ครอบครัวเศวตศิลาชักชวนสุริยนให้มาอยู่ที่บ้านวางหลักงหนึ่งของพวกเขาแถว ๆ ถนนพระอาทิตย์ บ้านหลังนี้ต่อมาถูกระเบิดไฟไหม้ สุริยนถึงได้แยกออกมาอยู่ที่อื่น แต่ก็ไปมาหาสู่กันสม่ำเสมอ

เมื่อตอนที่สุริยนทำแบงก์เกษตรสุริยนได้ดึงเอาคนครอบครัวเศวตศิลามาทำงานด้วยดดยเแพาะคนที่อยุ่แบงก์เกษตรจนต่อมากลายเป็นแบงก์กรุงไทยก็คือ พงศ์ เศวตศิลา ที่ปัจจุบันถูกยืนตัวไปบริษัทบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนานันท์

นครสวรรค์ในยุคที่สุริยนขึ้นไปรับราชการตำรวจนั้นเป็นเมืองที่รุ่งเรืองมากในฐานะชุมทางของการลำเลียงข้าวจากภาคต่าง ๆ เพื่อล่องเจ้าพระยามาป้อนโรงสีที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ว่ากันว่าที่นี่สุริยนเป็นคนกว้างขวางในหมู่ข้าราชการและพ่อค้าและด้วยความที่เป็นคนมีน้ำใจผสมผสานกับความโรแมนติคต่อเพศตรงข้าม เขาก็เลยพบรักอีกครั้งกับ "คุณนาย" ชุนหงส์ อโนดาต เศรษฐีนี ผู้มีกิจการค้าหลายอย่าง ซึ่งที่ขึ้นหน้าขึ้นตามาจนถึงปัจจุบันนี้ก็คือโรงแรมอโนดาดที่นครสวรรค์ เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ และคุณนายชุนหงส์ผู้นี้เป็นผู้ที่คร่ำหวดอยู่ในวงการค้ามานาน คุณนายชุนหงส์ได้ช่วยถ่ายทอดวิทยายุทธการค้าพร้อมกับชี้ช่องทางธุรกิจให้กับสุริยนอย่างหมดเปลือก และจากวิทยายุทธบวกกับสายสนกลในที่คุณนายชุนหงส์ช่วยแนะนำให้ สุริยนก็เริ่มพลิกผันตัวเองเข้าจับธุรกิจส่งข้าวจากปากน้ำโพล่องลงมาขายที่กรุงเทพฯพร้อนกับกว้านซื้อสินค้าจากกรุงเทพฯขึ้นไปขายทางภาคเหนือ เขาเริ่มสะสมเงินทองเป็นกอบเป็นกำจากผลกำไรการค้าตั้งแต่นั้น

ในฐานะนายตำรวจ สุริยนเป็นคนที่ลงมือกวาดล้างอาวุธปืนเถื่อนอย่างหนักเขาใช้กลิวะแยบยลด้วยการประกาศให้ผู้มีปืนเถือนนำปืนมาขายให้กับทางราชการแทนการยึดเปล่าอย่างที่ทำ ๆ กันและถือว่าไม่มีความผิด แต่วิธีของเขาไม่ค่อยเป็นที่ถูกใจผู้ใหญ่นัก ผลสุดท้ายสุริยนก็ถูกกล่าวหาว่ารับซื้อของโจรและถูกย้ายให้ไปประจำอยู่สุดกู่ที่จังหวัดนราธิวาส

จากนครสวรรค์ เรื่องราวของสุริยนก็เปิดฉากขึ้นอีกครั้งที่ดินแดนใต้สุดของประเทศไทย

นายตำรวจหนุ่มร่างสูงใหญ่ หน้าตาคมคาย เป็นที่รู้จักกันดีถึงความตรงไปตรงมาต่อหน้าที่และมีมติรสหายมาก เพราะความที่เป็นคนใจคอกว้างขวาง ใครมีเรื่องเดือดร้อนไปหาไม่มีคำว่าปฏิเสธ เพราะฉะนั้นที่ไหน ๆ ก็คงจะเหมือน ๆ กันสำหรับคนอย่างสุริยน

เขาเป็นคนกว้างขวางของจังหวัดนราธิวาสในเวลาไม่นานนัก

ที่นี่สุริยนมองเห็นช่องทางการลงทุนใหม่ที่ยังไม่มีใครทำ เขาเห็นว่าข้าวแช่น้ำมีอยู่มากมายแต่ไม่ค่อยมีใครสนใจ เขาคิดว่าถ้าหากแปรสภาพให้เป็นข้าวนึ่งแล้วก็คงจะนำออกไปขายกลุ่มประเทศในย่านตะวันออกกลางได้ไม่ยาก

สุริยนรู้จักกับจางหมิงเทียนซึ่งมีภรรยาเป็นลูกครึ่งไทย-จีนเกิดที่พิษณุโลก (ภรรยาจางหมิงเทียนชื่อโง้ว เซียนลุ้น หรือเบญจางค์) ต่อมาทั้งสองกลายเป็นเพื่อนรักกัน จางหมิงเทียนเคยเป็นเจ้าของธนาคารโอเวอร์ซีทรัสต์ที่ฮอ่งกงที่ล้มไปแล้วและมีกิกจารค้าร่วมกับนักธุรกิจคนจีนโพ้นทะเลในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วย (อย่างเช่นร่วมทุนกับตระกูลรัตนรักษ์ เป็นต้น)

สุริยนในช่วงที่รับราชการอยู่นราธิวาสได้เริ่มธุรกิจอีกครั้งด้วยการส่งข้าวไปขายให้กับจางหมิงเทียนที่สิงคโปร์ แล้วจางหมิงเทียนก็ส่งไปขายทั่วโลกอีกต่อ ปรากฏว่าทำกำไรดีมาก ตอนหลังก็เลยส่งยางพาราและสินค้าอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก

นราธิวาสนั้นเป็นหนึ่งในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งจารีตที่สำคัยอย่างหนึ่งของคนมุสลิมเหล่านี้ก็คือ การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจจีที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบียนสุริยนต้องการสนองความต้องการของคนมุสลิม เขาจึงตั้งบริษัทไทยพิลกริมส์ เอร์วิส ขึ้นสำหรับส่งคนไปเมกกะ สุริยนติดต่อเช่าเรือเดินทางทะเลจากบริษัทโหงวฮกของหยั้ง กุ่ย ซึ่งสนิทสนมและช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตลอด ธุรกิจนี้ของสุริยนไม่เน้นกำไรแต่ละปีเขาจะให้คนไปฟรีเท่ากับจำนวนอายุและหากใครอยากไปแต่ขาดเงิน ไปขอเขาเขาไม่เคยขัด

สำหรับสุริยนแล้ว เขาถือว่าเป็นบริการที่อยากตอบสนองคนท้องถิ่น

ซึ่งผลลัพธ์ก็คือความชื่นชอบที่คนมุสลิมมีต่อสุริยนอย่างมาก ๆ ทั้ง ๆ ที่สุริยนเป็น "พุทธ"

และเพราะความชื่นชอบนี่เองที่ทำให้ต่อมาจังหวัดนราธิวาสมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยชื่อสุริยน ไรวา

สุริยนนั้นชอบการเมืองพอ ๆ กับธุรกิจบ้านเมืองในสายตาของเขายามนั้นยังล้าหลัง เขาจึงต้องการมีสวนร่วมในการพัฒนาประเทศให้รุ่งเรืองพ้นความล้าหลัง ในขณะเดียวกันเขาค่อนข้างเชื่อมั่นว่าธุรกิจจะพัฒนาไปได้ก็ต่อเมื่อได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล

ในปี 2489 มีกรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สุริยนตัดสินใจลาออกจากราชการแล้วลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคเสรีมนัคศิลาที่จังหวัดนราธิวาส เขาได้รับชัยชนะแต่ก็เป็นชัยชนะที่ยั่งยืนอยู่เพียงวันที่ 9 พฤศจิกายนปีเดียวกัน

รัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งของสภาฯถูกรัฐประหารโค่นอำนาจโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม

สุริยนไม่กลับเข้ารับราชการ เขามุ่งหน้าสู่เส้นทางธุรกิจเต็มตัว ส่วนด้านการเมืองเขาได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนจังหวัดนราธิวาสอีกครั้งเมื่อล่วงเข้าปี 2500 แล้ว

การหันเหชีวิตจากราชการมาจับธุรกิจเต็มตัวของสุริยนนั้น จริง ๆ แล้วก็สอดคล้องกับเงื่อนไขต่าง ๆ ทางสังคมในยุคนั้นมาก ๆ

ประเทศไทยในช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งยุติ เศรษฐกิจที่ซบเซาอันเนื่องมาจากภัยสงครามเริ่มค่อย ๆ กระเตื้องขึ้น การค้าระหว่างประเทศที่ถูกตัดขาดไปช่วงหนึ่งก็เริ่มต้นกันใหม่อีกครั้งพร้อม ๆ กับอำนาจต่อรองของประเทศด้อยพัฒนาเล็ก ๆ ซึ่งตลอดมาไม่มีปากเสียงก็เริ่มถูกเอาอกเอาใจจากชาติมหาอำนาจใหม่โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกามากขึ้น

และก็เป็นช่วงที่นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดอันได้แก่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยม เน้นความเป็น "ไทย" หนักแน่น ซึ่งสำหรับสุริยนในฐานะนักธุรกิจคนไทยแล้วก็ต้องนับว่าเขาเกิดได้ถูกจังหวะจริง ๆ

"ประเทศไทยยุคนั้นดำเนินนโยบายแอนตี้คนจีนที่ทำมาค้าขายและพยายามสนับสนุนให้คนไทยเข้ามาค้าขายแทนที่ กิจการบางประเภทที่เอกชนคนไทยไม่มีความพร้อมเพราะต้องลงทุนสูง รัฐก็ดำเนินการเองในรูปของรัฐวิสาหกิจ ยุคนั้นก็เลยเป็นยุครัฐวิสาหกิจเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทั้งโรงกระสอบโรงกระดาษ ค้าน้ำมัน ฯลฯ " อาจารย์เศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งเล่า

"ก็เป็นนโยบายที่จอมพลป. ดำเนินการอย่างแข็งแกร่ง เพียงแต่ด้านหนึ่งของนโยบายก็คือพ่อค้าจีนจำนวนมกาดดยเฉพาะพ่อค้าจีนที่โตมากับสงครามโลกครั้งที่ 2 เส้นสายยังไม่แข็งเหมือนกับตระกูลเจ้าสัวเก่าแก่อย่าง ล่ำซำ หรือหวั่งหลี ก็ต้องพยายามวิ่งเข้าเกาะผู้มีอำนาจในการจ่ายค่าคุ้มครองให้เพราะฉะนั้นด้านหนึ่งของนโยบายเศรษฐกิจในยุคนั้นก็คือกดคนจีนส่งเสริมคนไทย เพียงแต่อีกปีหนึ่งของรัฐบาลก็เซ็งลี้กับคนจีนอย่างเช่นความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มพลตำรวจเอกเผ่ากับชิน โสภณพนิช หรืออีกหลายๆ คนที่เป็นคนจีนโพ้นทะเล ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นคู่กัน" อาจารย์ท่านเดียวกันกล่าวเสริม

สุริยนน่าจะมีบางสิ่งที่เรียกกันว่าความ "เฮง" จากปัจจัยเกื้อหนุนทางด้านนโยบายระดับชาติข้างต้น แน่นอน เป็นเพราะเขามีความ "เก่ง" ที่หาตัวจับยากด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย"

สุริยน ไรวา ก้าวเข้าสู่วงจรธุรกิจอย่างเต็มตัวจริง ๆ ก็เมื่อตัดสินใจตั้งบริษัท เอส.อาร์ บราเดอร์สขึ้นโดยมีสำนักงานอยู่แถว ๆ ถนนอนุวงศ์ เป็นกิจการส่งออกสินค้าหลายประเภทของไทยไปสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะข้าว

ว่ากันว่าเอส.อาร์.บราเดอร์ส ขณะนั้นเป็นบริษัทผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุด

และแม้ว่าจะไม่ใช่ผลผลิตจากเอ็มบีเอที่โด่งดังในยุคนี้ สุริยน ก็ทราบดีว่าการขยายธุรกิจของเขานั้นจะเป็นไปได้ดีและราบรื่นก็ต่อเมื่อมีฐานทางการเงินสนับสนุน

ซึ่งนั่นก็คือที่มาของการเข้ากว้านซื้อหุ้นธนาคาร กระทั่งสุริยนกลายสภาพเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารพาณิชย์ที่ชื่อ "ธนาคารเกษตร" ไปในที่สุด

"เมื่อมีธนาคารเกษตรเป็นแหล่งเงินแหล่งทอง สุริยนก็เริ่มบุกตะลุยแสดงความเป็นผู้ประกอบการที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์อย่างที่จะหาใครเทียบไม่ได้แล้วในยุคนั้น หรือบางทีอาจจะยุคนี้ด้วยซ้ำ" คนที่รู้จักกับสุริยนอย่างใกล้ชิดบอกกับ "ผู้จัดการ"

เขาเป็นคนชอบเดินทางดูงานต่างประเทศ ดูแล้วก็เก็บมานั่งคิดว่าต่างประเทศทำโน่นมีนี่แล้วไฉนบ้านเราถึงไม่มีบ้าง อย่างเช่นผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังก็คงจะเป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องหนึ่ง

เดิมทีนั้นผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศมานานแล้ว แต่คุณภาพไม่ได้ระดับที่พอจะส่งออกไปแข่งขันในตลาดโลกได้เนื่องจากมีสีคล้ำมีกลิ่น ทั้งรสก็ไม่สนิทปาก ทั้งนี้เป็นเพราะกรรมวิธีการแปรสภาพมันสำปะหลังสมัยนั้นยังใช้วิธีเอาเนื้อแป้งตีกับน้ำเพื่อแยกแป้งออกจากกากแล้วค่อยปล่อยให้แป้งตกตะกอน

โรงงานที่บางพระของหม่อมราชวงศ์ เทพฤทธิ์ เทวกุล ขณะนั้นจัดว่าเป็นโรงงานทำแป้งมันสำปะหลังที่ทันสมัยที่สุด สุริยนได้ติดต่อขอซื้อโรงงานแห่งนี้ และเขาได้ปรับปรุงกรรมวิธีการผลิตโดยปรับปรุงเครื่องบดหัวมัน สร้างเครื่องอบชนิดนอนหมุนได้แทนโป่งผ้า และต่อมาก็มีการปรับปรุงขนานใหญ่ด้วยการติดตั้งเครื่องจักรจากเยอรมัน (สุริยนไปดูเครื่องจักรมาหลายประเทศ เกิดชอบใจสินค้าของเยอรมันมากที่สุด) ซึ่งเป็นเครื่องที่ส่วนหนึ่งทำการสลัดน้ำอกจาเนื้อแป้งโดยใช้พลังเหวี่ยง (CENTRIFUGA FORCE) อีกส่วนเป็นเตาโลหะมิดชิดมีไอร้อนอุณหภูมิสูงในเวลาอันรวดเร็ว (FLASH CHAWDER)

พระนครราชจำนงพ่อบุญธรรมของสุริยนได้เขียนเป็นบันทึกเล่าถึงผลงานในด้านนี้ของสุริยนว่า "การทำแป้งมันสำปะหลังของสุริยนได้ร่นระยะเวลาจาก 3 วัน 7 วัน เป็น 45-60 นาที หลังจากป้อนหัวมันจากไร่ที่ยังมีโคลนตมเข้าโรงงานเพื่อผลิตเป็นแป้ง เป็นแป้งมันบริสุทธิ์ขาวสะอาด แห้งผากจนเวลาเอานิ้วขยี้ดูจะรู้สึกทั้งลื่นทั้งฝืดนิด ๆ ที่ปลายนิ้ว"

ผลผลิตจากโรงงานของสุริยนเป็นผลผลิตที่รู้จักกันในชื่อแป้งมันยี่ห้อ เอส.อาร์.และกลายเป็นสินค้าคุณภาพที่ตีตลาดภายในและส่งไปขายตีตลาดต่างประเทศได้อย่างไม่อายใคร

คำว่า เอส.อาร์. เป็นชื่อทางการค้าและชื่อธุรกิจที่สุริยนใช้เสมอ ๆ

สละ ลิขิตกุล เพื่อเก่าเล่าให้ฟังว่า "สุริยนเห็นครั้งแรกเมื่อไปรับพระนรราชจำนองกลับจากต่างประเทศ เขาเห็นตัวอักษรย่อ เอส.อาร์.ที่กระเป๋าเดินทาง ซึ่งย่อมาจากชื่อ สิงห์ ไรวา ของคุณพระท่าน สุริยนเห็นเข้าท่า แล้วเผอิญตรงกับชื่อย่อสุริยน ไรวา ของเขา ก็เลยใช้เป็นเครื่องหมายการค้ามาตลอด"

ไม่แน่นักถ้าหากเขายังมีอายุยืนยาวพร้อม ๆ กับการแผ่กิ่งก้านสาขาธุรกิจที่สามารถปรับเปลี่ยนการจัดรูปองค์การธุรกิจให้พัฒนาตามแบบแผนสมัยใหม่เช่นทุกวันนี้เครือข่ายธุรกิจของเขาอาจจะเป็นที่รู้จักกันดีภายใต้ชื่อ "เอส.อาร์.กรุ๊ป" ไปแล้วก็เป็นได้

สุริยนนั้น นอกจากแป้งมันที่ช่วยสะท้อนความคิดสรรค์สร้างแล้ว นุ่นก็เป็นอีกตัวหนึ่งที่ช่วยตอกย้ำได้อย่างดี

การค้านุ่นยุคนั้นไม่ค่อยมีคนสนใจมีพ่อค้าจีนเพียงไม่กี่รายที่ทำนุ่นเป็นมัด ๆ ส่งขายต่างประเทศ "สุริยนคิดว่าการส่งนุ่นเป็นมัดใหญ่ ๆ ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าระวางสูง ไม่ค่อยคุ้ม เขาก็เลยซื้อเครื่องไฮดรอลิคอัดนุ่นให้มันแน่น เนื้อที่ค่าระวางก็น้อยลง เขาทำเป็นคนแรกด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยมาก" มนูญ นาวานุเคราะห์ อดีตเลขาส่วนตัวของสุริยนซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ช่วยผั้ดการธนาคารสหมลายันเล่าถึงความเป็นอินโนเวเตอร์ของนายเก่าที่เขาเรียกว่า "นายห้าง" ให้ฟัง

ยุคนั้นเป็นยุคที่ใครก็หยุดสุริยนไม่อยู่

เขาเป็นผู้ส่งออกขาว ปอ แป้ง และยังตั้งบริษัทรวมพืชไทยส่งออกเมล็ดปอ นุ่นและละหุ่งรายใหญ่ ขณะเดียวกันก็มีบริษัทนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เช่นกระสอบจากอินเดีย เป็นต้น

"ดูรายการผลิตภัณฑ์ที่สุริยนจับเปรียบเทียบกับยุคปัจจุบันแล้วหลายคนอาจจะหัวเราะเพราะดูจิบจีอยมากเมื่อเทียบกับข้าวโพดถั่วเขียวหรือมันเม็ดที่ส่งไปกลุ่มประชาคมยุโรป แต่ต้องอย่าลืมว่ายุคนั้นพวกคอมมูดิตี้ส์หลัก ๆ ต่างจากยุคนี้มาก อย่างเช่นพืชไร่ก็เพิ่งไม่กี่สิบปีมานี้เองที่มูลค่าการส่งออกเริ่มสูงขึ้น ถ้าจะเปรียบเทียบก็น่าจะเปรียบได้ว่ายุคนั้นสุริยนเป็นเจ้าพอ่วงการคอมมูดิตี้ส์คนหนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย" คนในวงการค้าพืชไร่พูดกับ "ผู้จัดการ"

กิจการส่งออกพืชเกษตรของสุริยนไม่ว่าจะเป็นในรูปวัตถุดิบหรือแปรสภาพแล้วเป็นกิจการที่เขาวางแผนดำเนินการแบบครบวงจร เขาสร้างโกดังสินค้าเป็นแวร์เฮ้าส์ที่ใช้เก็บแป้งมันเป็นกระสอบ ๆ และรับฝากสินค้าในนามบริษัทแวร์เฮ้าซิ่ง ตั้งบริษัทยูไนเต็ดไซโลแอนด์เซอร์วิส เพื่อเก็บเมล็ดพืชเป็นไซโลขนาดใหญ่โตของยุคนั้น

เขาจับแม้กระทั่งเหมืองแร่

สุริยนได้สัมปทานเหมืองแร่ฟลูออไรด์ที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ แร่ของเขาถูกส่งไปขายรัสเซียและญี่ปุ่นซึ่งราคาดีมาก "เป็นเหมืองที่เข้าไปไกลมาก บางทีหน้าฝนต้องลุยโคลนเป็นสิบกิโลเมตร ลำบากมากแต่คุณสุริยนไม่เคยบ่น" คนใกล้ชิดกับสุริยนฟื้นความหลังเกี่ยวกับเหมืองแร่ของสุริยนที่ชื่อ "แสนทอง" ให้ฟัง

จากเหนือที่ล่องลงใต้ ทางภาคใต้สุริยนตั้งบริษัทฟาร์อีสต์รับเบอร์กับบริษัทฟาร์อีสต์ไฟเบอร์ เป็นบริษัทที่ทั้งส่งออกยางพาราและให้เช่าทำยาง

เขาสนใจแม้กระทั่งด้าน เรียลเอสเตทสุริยนเที่ยวกว้านซื้อที่ดินไว้หลายแห่ง บางแห่งอย่างเช่นแถวจังหวัดจันทบุรี สุริยนตั้งบริษัทเจพีไรวาทำหน้าที่พัฒนาที่ดินสร้างศูนย์การค้าใหญ่โตรวมทั้งโรงแรมแกรนด์ที่จังหวัดจันทบุรีด้วย

เขาเป็นเจ้าของบริษัทประกันชีวิตอย่างอินเตอร์ไลฟ์ (อ่านจากเรื่องอินเตอร์ไลฟ์ในฉบับนี้) เป็นเจ้าของบริษัทประกันภัยชื่อประกันภัยสากล

สำหรับการขยายอาณาจักรธุรกิจแล้วสุริยนไม่เคยหยุดนิ่ง

เขาชอบเดินทางท่องเที่ยวไปในที่แปลกถิ่นเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ เป็นคนที่นักธุรกิจต่างประเทศรู้จักชื่อเสียง บ่อยครั้งที่เขาเนทางไปสหรัฐฯจะต้องมีนักธุรกิจที่นั่นจัดเครื่องบินมารับส่งเดินทางแบบวีไอพีตลอด เป็นคนไม่ชอบเสเพลและไม่ใช้จ่ายเงินทองสุรุยสุร่าย "แต่ก็ชอบอาหารที่ดีที่สุดอร่อยที่สุด อาหารจานเป็นพันก็จะสั่งมากิน บางทีกินมื้อกลางวันยังไม่เสร็จก็นัดแล้วว่ามื้อเย็นจะไปกินที่ไหนชอบมีเพื่อนร่วมกินข้าว กินไปคุยกันไป ปกติเป็นคนอารมณ์ดีมาก และถ้าจะไปดูงานต่างจังหวัดก็จะให้ทางบ้านจัดปิ่นโตไปด้วย" คนใกล้ชิดเล่ากับ "ผู้จัดการ" ถึงบุคลิกอีกบางด้านของสุริยน

และว่ากันว่าเพราะความมีอารมณ์ละเมียดละไมทางด้านอาหาร และบริการผสมผสานกับการดีดลูกคิดรางแก้วคำนวณความเป็นไปได้ทางธุรกิจนี่เองที่ทำให้สุริยนสร้างโรงแรมชั้นหนึ่งอย่างโรงแรมแกรนด์ขึ้น

โรงแรมแกรนด์นั้นตั้งอยู่หน้าสนามกีฬาแห่งชาติ สุริยนส่งภรรยาคนหนึ่งของเขาที่ชื่อจนรรค์ (เป็นน้องสาวจำนงค์ที่เป็นภรรยาคนแรก) ไปเรียนวิชาการบริหารโรงแรมที่สวิสเพื่อกลับมาดูแลกิจการนี้โดยเฉพาะ และโรงแรมแกรนด์ยุคก่อนหน้านี้ 20 ปี ก็ถือเป็นโรงแรมที่ "แกรนด์" จริง ๆ

"เวลาคุณกินข้าวอยู่ชั้นล่างแล้วมองขึ้นไปชั้นสองที่เป็นสระว่ายน้ำ ก็จะเห็นภาพคนว่ายน้ำผ่านกระจกโดยที่คนว่ายไม่มีโอกาสเห็นคุณเป็นที่เพลินตามาก" ผู้ที่มีโอกาสใช้บริการโรงแรมแกรนด์บอกกับ "ผู้จัดการ"

ในช่วงสงครามเวียดนามโรงแรมแกรนด์เป็นโรงแรมที่ทำสัญญากับหน่วยงานทหารอเมริกันเพื่อใช้เป็นที่พักของจีไอทั้งหลาย และนั่นเป็นความคึกคักครั้งสุดท้ายของโรงแรมแห่งนี้ก่อนที่จะกลายสภาพเป็นอาคารของธนาคารกรุงไทยไปจนทุกวันนี้

สุริยนนั้นแทบจะต้องเรียกว่าทำมาทุกอย่างที่ขวางหน้า ยกเว้นเรื่องอบายมุขประเภทต่าง ๆ เช่น บุหรี่ หรือเหล้า ที่เขาถือเป็นกฎเหล็กว่าจะไม่แตะต้องธุรกิจพวกนี้ ตัวเขานั้นไม่สูบบุหรี่ แต่ดื่มบ้างนิดหน่อยเมื่อออกสังคม

เขาตั้งบริษัทเอส.อาร์.มอเตอร์ เป็นเอเย่นต์ขายรถดับเพลิง รถแทร็คเตอร์ รถไถนาและรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าของญี่ปุ่น

แม้แต่สิ่งที่รู้อยู่เต็มอกว่าทำแล้วขาดทุน สุริยนก็พร้อมที่จะทำเพื่อเป็นการบุกเบิกให้ผู้อื่นสานต่อ อย่างเช่นฟาร์มโคเนื้อและโคนมเป็นต้น

สุริยนไปพบเห็นมาจากเดนมาร์ก เขาก็เลยตัดสินใจสั่งวัวนมราคาตัวละเป็นหมื่นบาทเข้ามาเลี้ยงที่ศรีราชาครั้งละเป็นร้อย ๆ ตัวซึ่งก็สามารถให้น้ำนมมันและข้นดีกว่าสมัยนี้เสียอีก แต่ก็ขายไม่ได้ ส่วนใหญ่ต้องแจกให้ดื่มฟรี เนื่องจากยุคนั้นยังไม่มีการส่งเสริมให้คนไทยดื่มนมเหมือนทุกวันนี้

"นอกจากนี้เขายังเป็นคนริเริ่มกิจการโคเนื้อก่อนใครเพื่อน ฟาร์มของเขาทันสมัยมาก เขาเรียนรู้เทคนิคแบบญี่ปุ่นที่เลี้ยงโคเนื้อโกเบ และส่งคนไปฝึกที่ต่างประเทศเพื่อกลับมาบริหารฟาร์มของเขา" สละ ลิขิตกุลเล่ากับ "ผู้จัดการ"

บรรยากาศการเมืองไทยหลังปี 2490 เป็นบรรยากาศการเมืองที่เขม็งเกลียวลึก ๆ รัฐบาลที่ก้าวขึ้นมาจากการทำรัฐประหารของจอมพลป. พิบูลสงคราม ดูเปลือกนอกเสมือนแข็งแกร่ง แต่ลึก ๆ แล้วกลับเป็นความพยายามสร้างความสมดุลระหว่างขั้วอำนาจที่แท้จริง 2 ขั้ว นั่นก็คือขั้วซอยราชครูกลุ่มจอมพลผิน พลตำรวจเอกเผ่ากับขั้วของพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ฮึ่มฮั่มกันเงียบ ๆ และต่างฝ่ายต่างสะสมกำลัง ฝ่ายหนึ่งคุมตำรวจอีกฝ่ายมีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก

ซึ่งสำหรับสุริยน ไรวา เป็นที่เปิดเผยชัดแจ้งว่าเขาคือแหล่งสนับสนุนทางด้านการเงินคนสำคัญของพรรคเสรีมนังคศิลาของกลุ่มผิน เผ่า ใครต้องการสิ่งใดมักจะได้หากเอ่ยปากกับสุริยน แม้แต่ ส.ส.จะตัดเครื่องแบบยังต้องเบิกค่าใช้จ่ายจากสุริยน

ซึ่งสำหรับสุริยน ไรวา เป็นที่เปิดเผยชัดแจ้งว่าเขาคือแหล่งสนับสนุนทางด้านการเงินคนสำคัญของพรรคเสรีมนังคศิลาของกลุ่มผินเผ่า ใครต้องการสิ่งใดมักจะได้จากเอ่ยปากกับสุริยน แม้แต่ส.ส.จะตัดเครื่องแบบยังต้องเบิกค่าใช้จ่ายจากสุริยน

ถ้าบอกว่าจอมพล ป.เป็นหัวหน้าพรรคเสรีมนังคศิลา พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการพรรคสุริยนก็น่าจะต้องเรียกว่าเป็นเจ้ามือ

สุริยน ไรวา ช่วงนั้นเล่นการเมืองพร้อม ๆ กับทำการค้า

และนี่ก็คงจะเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของเขา ซึ่งต่างจากนักธุรกิจยุคนั้นหรืออาจจะหมายรวมถึงยุคนี้อีกหลายคนที่ยินดีให้การสนับสนุนทางการเงินกับพรรคการเมืองแต่จะไม่ยอมเปิดตัวให้ใครทราบ

ธนาคารเกษตรของสุริยนนั้นเป็นธนาคารที่มีจำนวนสาขามาก ว่ากันว่าเขาพยายามตั้ง ส.ส. แทบทุกจังหวัดเป็นผู้จัดการแบงก์ เป็นวิธีเลี้ยงนักการเมืองอย่างหนึ่งซึ่งก็ส่งผลให้สุริยนมีฐานะเป็นวิปใหญ่ของพรรค

จอมพลป.และพลตำรวจเอกเผ่าเองก็ให้ความสำคัญสุริยนมาก ๆ มีครั้งหนึ่งที่เขาถูกเสนอตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการค้าให้ แต่สุริยนปฏิเสธ

"เหตุผลก็คือถ้ารับ ก็จะเป็นรัฐมนตรีทางด้านการค้าที่มีกิจการค้ามากมาย จะเกิดข้อครหาได้ครั้นจะให้เลิกทำการค้าก็ทำไม่ได้สุริยนเลยต้องบ่ายเบี่ยงไปก่อน" คนที่ทราบเรื่องเล่าให้ฟัง

ชีวิตของสุริยนนั้นก็คงจะเหมือน ๆ กับอีกหลาย ๆ ชีวิตที่หมุนเป็นกงล้อไปข้างหน้า เพียงแต่เขาหมุนได้เร็วกว่า

แน่นอนทีเดียว หากมีสิ่งใดขวางกั้นกงล้อชีวิตของสุริยนจะต้อง "ชน" แรงเป็นพิเศษ

ปี 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารโค่นรัฐบาลจอมพลป.และบดขยี้ขุมกำลังฝ่ายพลตำรวจเอกเผ่าได้สำเร็จโดยอาศัยเงื่อนไขการเลือกตั้งที่สกปรกที่รัฐบาลจอมพล ป.เป็นผู้ก่อขึ้น

พลตำรวจเอกเผ่าต้องเดินทางหนีภัยไปอยู่ต่างประเทศ เช่นเดียวกับพ่อค้าใหญ่หลายคนทีแสดงตัวใกล้ชิดพลตำรวจเอกเผ่าอย่างเช่น ชิน โสภณพนิช เป็นต้น

สุริยน ไรวา จริง ๆ แล้วตอนนั้นเขายิ่งใหญ่กว่าชิน โสภณพนิช หลายเท่า เขาเป็นเจ้าของแบงก์ เป็นเจ้าของกิจกาประกันภัยประกันชีวิต เป็นเจ้าของกิจการส่งออกพืชเกษตร โรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรและมีการลงุทนในภาคการเกษตรและภาคบริหารอย่างกว้างขวาง

การกวาดล้างพ่อค้าที่แสดงตัวสนับสนุนกลุ่มซอยราชครูดำเนินไปอย่างเข้มข้น

สุริยน ตกเป็นเป้าใหญ่อย่างไม่ต้องกังขา

เป็นเรื่องที่เล่า ๆ กันว่า วันหนึ่ง จอมพลสฤษดิ์ จะตั้งพรรคการเมืองก็ส่งคนเข้าหาสุริยนเพื่อขอความสนับสนุน ตอนนั้นจริง ๆ แล้วสุริยนกำลังมีปัญหาสภาพคล่องทางด้านการเงิน แต่ก็จ่ายให้ไป 2 ล้านบาท เรื่องไม่น่าจะลุกลามออกไปมาก ถ้าไม่เป็น เพราะจอมพลสฤษดิ์ไปเปิดตู้เซฟในทำเนียบพบใบ "ไอโอยู" ของพรรคเสรีมนังคศลาที่ยืมจากะนาคารเกษตรของสุริยนเป็นจำนวนหลายสิบล้านบาท และยังมีขุมกำลังซุ่มซ่อนอยู่ในฐานะผู้จัดการสาขาธนาคารเกษตรอยู่ทั่วประเทศแว่วเข้าหูอีก

เพียงไม่นานหลังจากจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารและก้าวขึ้นบริหารประเทศระหว่างที่ธนาคารเกษตรกำลังปวดหัวกับปัยหาสภาพคล่องอย่างหนักนั้น ธนาคารออมสินก็ถูกจอมพลสฤษดิ์สั่งการให้ถอนเงินที่ฝากไว้จำนวนราว ๆ 200 ล้านบาทออกจากธนาคารเกษตรอย่างสายฟ้าแลบ

เงิน 200 ล้านบาทเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้วคงจะเทียบกับเดี๋ยวนี้เป็น 2-3 พันล้านบาท ซึ่งถ้ามีลูกค้าถอนทันทีก็มีอันต้องล้มตึงอยู่แล้ว เมื่อผสมผสานกับการนำเงินจากธนาคารเกษตรไปลงทุนในกิจการที่ให้ผลตอบแทนช้า โดยเฉพาะในภาคการเกษตรของสุริยนและยังมีเงินอีกจำนวนไม่น้อยที่ใช้ไปกับการเมือง

ในเดือนพฤษภาคมปี 2502 ประสิทธิ ณ พัทลุง ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของแบงก์ชาติก็บอกว่า "ธนาคารเกษตรเป็นหนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งได้ทดรองจ่ายเงินตามเช็คที่ธนาคารอื่นนำเช็คของธนาคารเกษตรมาหักกลบลบหนี้ไปแล้วถึง 70 ล้านบาท นับว่าเป็นเงินจำนวนมากแล้ว"

สุนทร หงส์ลดารมภ์ รัฐมนตรีคลังในสมัยนั้นได้เรียกสุริยน ไรวา เข้าพบพร้อมกับเสนอให้เวลา 7 วันตามที่รัฐมนตรีคลังยืดเวลาให้ เขาขอกระดาษหนึ่งแผ่นแล้วเซ็นโอนธนาคารเกษตรให้กับรัฐบาลทันที "คุณสุนทรตกใจมาก บอกว่าคุณสุริยนนี่ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ นะ ธนาคารทั้งธนาคาร กลับไปคิดก่อนดีกว่า คุณสุริยนก็ตอบว่า ไม่เป็นไรครับ ถ้ารัฐบาลต้องการ ผมก็จะให้ ไม่ขัดข้องเลย " มนูญ นาวานุเคราะห์ เล่ากับ "ผู้จัดการ"

สุริยนเมื่อโอนธนาคารเกษตรให้รัฐบาลไปแล้ว หนี้สินต่าง ๆ ที่เขามีอยู่กับธนาคารก็ถูกนำทรัพย์สินส่วนตัวทั้งหมดมา COVER จนครบ ไม่ว่าจะเป็นบ้านโรงงานแป้งที่ศรีราชาหรือคลังสินค้าเอส.อาร์.ที่คลองสานซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่ดีมาก

และเมื่อแบงก์เกษตรหลุดมือ กิจการอื่น ๆ ของสุริยนก็เริ่มซวดเซเป็นโดมิโน

แต่อาจจะเป็นเพราะว่า สุริยนเป็นคนราศีเมษซึ่ง "ไฟ" เป็นลักษณะประจำราศี

"ราศีจำพวกไฟ มีความหมายถึงความเข้มแข็งความเปล่งปลั่งของจิตใจและมีพฤติกรรมมีลักษณะโน้มเอียงไปในทางที่เชื่อมั่นในตนเอง มีอิสระและรักอิสระ ไม่ขึ้นกับสิ่งใดและไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของสิ่งใด กล้าหาญและมีความทะเยอทะยานก่อให้เกิดความมุ่งมาดปรารถนาไม่สิ้นสุด มีความทระนงที่พร้อมจะก้าวออกไปข้างหน้าอย่างไม่ย่อท้อ" ซิเซโร โหรชื่อดังบอกถึงลักษณะของคนราศีเมษธาตุไฟ

แม้จะตกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ สุริยนกลับไม่ย่อท้อ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ยังมีอยู่ในหัวของเขาและพร้อมที่จะแปรเปลี่ยนเป็นการลงมือทำอยู่ทุกขณะ

มันเป็นช่วงที่สุริยนเริ่มก่อตั้งบริษัทยูไนเต็ดฟลาวมิลล์ โดยร่วมทุนกับมิสเตอร์โหแห่งบริษัทไทยวา ฝ่ายมิสเตอร์โหเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นโรงงานผลิตแป้งสาลีที่ใหญ่โตแห่งหนึ่ง โรงงานแห่งนี้ต่อมาในช่วงสงครามเวียดนามผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างมิสเตอรืโหเกิดหวั่นไหวไม่แน่าใจในสถานการณ์ทางการเมืองก็เลยขายหุ้นให้กับสว่าง เลาหทัย ยูไนเต็ดฟลาวมิลล์กลายสภาพเป็นกิจการหนึ่งในเครือศรีกรุงวัฒนาไปในที่สุด

อีกช่วงหนึ่งในยุคหลังนี้ สุริยนได้เข้าร่วมทุนกับเบอร์ล่ากรุ๊ป (BIRLA GROUP) ที่ใหญ่โตของอินเดีย ก่อตั้งบริษัทอินโด-ไทยซินเทติคส์ ที่บางปะอิน เป็นโรงงานปั่นด้ายประเภทใยสังเคราะห์

นอกจากนี้ยังมีอีกโครงการหนึ่งที่สุริยนร่วมทุนกับญี่ปุ่นว่างแผนสร้างสนามกอล์ฟมาตรฐานขนาด 36 หลุม ซึ่งถ้าสำเร็จก็จะใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ในยุคนั้นสนามกอล์ฟจะใช้เนื้อที่ดินเป็นพันไร่ในเขตอำเภอศรีราชา

แต่เผอิญเขาเสียชีวิตอย่างกะทันหันไปเสียก่อน ทุกอย่างก็เลยชะงักหมด

สุริยน ไรวา เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ปี 2516 ขณะเมื่ออายุเพียง 57 ปีเท่านั้น

ผู้มีน้ำใจกว้างขวางสำหรับมิตรสลายได้ตายจากไปแล้ว เมื่อยังมีชีวิตอยู่เขาเป็นคนที่ให้ความช่วยเหลือคนไว้เยอะ ปกติเขาจะไม่พกเงินติดตัว แต่จะพกเพียงนามบัตร ถ้าใครขอเงิน (ซึ่งมีเป็นประจำ) เขาก็จะเซ็นกรอกจำนวนเงินลงในนามบัตรแล้วให้ไปขึ้นเงินที่บริษัทแห่งหนึ่งแห่งใดของเขา

เช่นเดียวกับเวลาไปกินอาหารนอกบาน เขาจะใช้วิธีเซ็นบิล ถ้าจะทิปบริกรก็จะหยิบยืมคนใกล้ ๆ แล้วก็จะไม่จ่ายคืนเพราะลืมสนิท "คือกับคนทั่ว ๆ ไปแกใจป้ำมากแต่กับคนใกล้ตัวบางทีแกก็ลืม ๆ คนใกล้ตัวก็เลยไม่ค่อยจะได้ดีเท่ากับคนที่รู้จักเอาประโยชน์จากแก" คนที่เคยอยู่ใกล้ตัวสุริยนเล่าไปหัวเราะไป

เชาว์ เชาว์ขวัญยืน นักธุรกิจระดับพันล้านในปัจจุบัน เขาเคยเป็นหุ้นใหญ่โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ ปัจจุบันแม้จะถูกโอนเป้นของรัฐตามพันธสัญญาแล้วก็ยังบมีหุ้นและมีบารมีอยู่มาก เชาว์เป็นคตเก็บตัวแต่ก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วอาเซียนเป็นอย่างน้อยว่าคือ เจ้าพ่อวงการน้ำมัน เขาเป็นคนจีนทีเข้ามาอยู่เมืองไทยตั้งแต่ 30 กว่าปีที่แล้วตอนเข้ามานั้นว่ากันว่าเขาหิ้วกระเป๋าเข้ามาเพียงใบเดียว แต่ก็ต่างจากคนจีนอพยพจำนวนมากตรงที่เขามีอดีตเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยที่เมืองเซี่ยงไฮ้และเป็นวิศวกร

เชาว์ มีโครงการใหญ่อยู่ในหัวและนักธุรกิจเจ้าถิ่นคนแรก ๆ ที่เชาว์รู้จักคนสนิทสนิมด้วยก็คือ สุริยน ไรวา

เชาว์นั้นเป็นคนฉลาดหลักแหลมเขามองทะลุว่าประเทศไทยกำลังต้องการโรงกลั่นน้ำมันเพื่อผลิตให้พอเพยงกับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ วัน เขาทราบดีว่า มันเป็นงานใหญ่ ตองใช้ทุนมากและที่สำคัญต้องได้รับไฟเขียวจากรัฐบาล และเขาคิดว่าสุริยนสามารถช่วยเขาได้

ยุคนั้นเป็นยุคจอมพลสฤษดิ์ สุริยนไม่ค่อยจะเป็นที่วางใจของจอมพลผ้าขะม้าแดงนัก แต่ภายหลังการเข้าไปเคลียร์ตัวเองในกลุ่มผู้มีอำนาจถึงสองครั้งสองครา ก็ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับผู้มีอำนาจค่อยแจ่มใสขึ้น ซึ่งในที่สุดจอมพลสฤษดิ์ก็เปิดไฟเขียวให้กับโครงการสร้างโรงกลั่นไทยออยล์ที่เชาว์กับสุริยนเป็นผู้ริเริ่ม

เชาว์ เชาว์ขวัญยืน เมื่อสร้างโรงกลั่นสำเร็จก็เติบโตเป็นลำดับ เขาแตกแขนงไปจับกิจการอีกหลายแห่งโดยมีบริษัทเดลต้าพร้อมเบอตี้ เป็นโฮลดิ้งคัมปะนีของกลุ่ม โดยเฉพาะกิจการที่ขึ้นหน้าขึ้นตาก็คือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอ็มซีซีที่เชาว์ร่วมทุนกับตระกูลสารสิน

ว่าไปแล้วเชาว์มีทุกวันนี้ได้ก็เพราะสุริยน ไรวา มีส่วนอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งเชาว์ก็เข้าใจจุดนี้มาโดยตลอด

ถาวร พรประภา ประธานกลุ่มสยามกลการก็สนิทสนมกับสุริยนเช่นกัน ถาวรยอมรับว่าสุริยนมีบุญคุณต่อเขาไม่น้อย เขากับสุริยนคบหากันตั้งแต่ยังเป็นหนุ่ม ๆ กินนอน เที่ยว ด้วยกัน สุริยนเรียกถาวรว่า "ไอ้ตี๋" ส่วนถาวรเรียกสุริยนว่า "อาเฮีย" ชื่อเดิมของถาวร พรประภา ชื่อ เกียง แซ่ตั้ง ต่อมาสุริยนก็จัดการเปลี่ยนชื่อและนามสกุลเป็นไทยให้

ถาวรครั้งหนึ่งเคยทำแบงก์ที่ประเทศลาวชื่อแบงก์ลาวพาณิชย์ เป็นกิจการที่ร่วมทุนกับเจ้าสุวรรณภูมาของลาว ถาวรได้ชักชวนสุริยนร่วมหุ้นและตอนหลังถาวรยังขายหุ้นในส่วนของเขาให้กับสุริยนจนหมดสุริยนก็เลยต้องกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แบงก์ลาวพาณิชย์ไปในที่สุด อีกไม่นานต่อมาค่าเงินกีบตก เจ้าสุวรรณภูมาก็เสียชีวิต ลูกชายเข้ารับหน้าที่สืบทอด ช่วงนั้นเกิดปัญหาว่าคนต่างชาติจะถือหุ้นใหญ่ธนาคารพาณิชย์ของลาวไม่ได้ สุริยนต้องจำใจโอนหุ้นลอย ๆ กับเจ้าลาว แบงก์ลาวพาณิชย์จึงได้หลุดมือไป และเมื่อลาวเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่เป็นคอมมิวนิสต์แล้ว แบงก์นี้ก็ถูกยึดเป็นของรัฐ

นอกจากนี้บริษัทประกันภัยสากลก็เป็นบริษัทที่สุริยนขายให้กับถาวร พรประภา

คุน คุนผลิน อดีตผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพัฒนา (ต่อมากลายเป็นธนาคารมหานคร) ที่มีกิจการเหมืองแร่ โรงงานน้ำตาลแถว ๆ เพชรบุรีนั้น ก็ไต่เต้ามาจากลูกจ้างของสุริยนซึ่งต่อมากลายเป็นคัมปะโดคนหนึ่งของธนาคารเกษตรของสุริยนก่อนจะก้าวไปจับธุรกิจของตัวเองและเข้าทำงานกับธนาคารไทยพัฒนา

พานิช สัมภาวคุปต์ อดีต ส.ส.ตลอดกาลของจังหวัดเพชรบุรี ก็เป็นอีกคนที่ใกล้ชิดสุริยน พานิชเรียนธรรมศาสตร์รุ่นเดียวกับสุริยน เขาเป็นทั้งเพื่อนและก็เป็นทั้งที่ปรึกษากฎหมาย ปัจจุบันพานิชยิ่งใหญ่อยู่ในวงการเรียลเอสเตท ที่มีโครงการหลายโครงการประสบความสำเร็จ

ลูกน้องเก่า ๆ ของสุริยนไม่ว่าจะในธนาคารเกษตรหรือบริษัทในเครือเอส.อาร์.ล้มหายตายจากไปมากแล้ว ส่วนที่ยังมีชีวิตอยู่และกลายเป็นผู้บริหารระดับสูงในปัจจุบันก็เช่น อนุตร์ อัศวานนท์ ว่าที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารทหารไทย รื่น อินตะนก ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่กรุงไทย พงศ์ เศวตศิลา ผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อนครหลวงของกรุงไทย ซึ่งปัจจุบันรับตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนานันท์ (ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมบริษัทการเงิน 6 แห่งในเครือสากลเคหะเข้าด้วยกัน) หรือที่เกษียณไปแล้ว ก็เช่น สมชาย โปษยานนท์ อดีตผู้จัดการสาขาภาค 2 สงวน สาคลิน ผู้จัดการฝ่ายบริการของธนาคารกรุงไทย เป็นต้น

สุริยนเป็นคนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่หาได้ยากยิ่ง เขาเคยแผ่กิ่งก้านสาขาครอบคลุมวงการธุรกิจประดุจหนวดปลาหมึก แต่ทุกอย่างก็เป็นเสมือนปราสาททรายที่ในที่สุดก็พังทลายไม่เหลือร่องรอยให้คนรุ่นหลัง ๆ ได้รับทราบ

เพราะจริง ๆ แล้วสุริยนก็เหมือนกับเหรียญที่มี 2 หน้า มีด้านที่ประสบความสำเร็จและก็มีอีกด้านที่เป็นข้อจำกัดก่อให้เกิดความล้มเหลวอย่างสุดจะหลีกเลี่ยง

โดยภาพกว้างนั้นจุดอ่อนที่สำคัยของสุริยนก็คงจะเป็นการที่เขาเอาแต่บุคตะลุยไปข้างน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ในขณะที่ "มือ" ซึ่งจะมีหน้าที่สร้างความมั่นคงให้กับกิจการแต่ละกิจการกลับทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์หรือถ้าจะบอกว่าเขาขาด "มือ" หรือ "คน" ที่มีประสิทธิภาพก็คงจะไม่ผิด

"คน" ของสุริยน นั้นโดยมากแล้วก็จะเป็นญาติ ๆ หรือลูกน้องที่ตามความคิดเขาไม่ทัน แถมในบางจุดยังมีการรั่วไหลเอาทรัพย์สินของบริษัทไปเป้นทรัพย์สินส่วนตัวอีกด้วย (สุริยนเองก็ทราบแต่เขามักพูดว่าใครอยากโกงก็โกงไป คงไม่ทำให้เขาถึงกับจนได้หรอก)

พื้นฐานของปัยหาของอาณาจักรธุรกิจของสุริยนส่วนหนึ่งจึงเป็นเรื่องที่ "ป้อมค่ายทลายจากภายใน" โดยแท้

อีกปัญหาหนึ่งก็คงจะเป็นการตัดสินใจขยายกิจการเข้าไปในกิจการที่เขาไม่ชำนาญและบางส่วนของกิจการอย่างเช่น ฟาร์มโคนมโคเนื้อนั้นก็เป็นการลงทุนที่สูงแต่ให้ผลตอบแทนต่ำและใช้เวลามากกว่าจะคืนทุน

นอกจากนี้การพาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างลุ่มลึกกับขั้วอำนาจทางการเมือง ก็มีผลอย่างมากต่อตัวเขา และธุรกิจของเขาเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนทิศขั้วอำนาจที่เขาจับอยู่พ่ายแพ้ต่อเกมทางการเมืองของอีกขั้ว หายนะก็มาถึงตัวเขา

สุริยนนั้นนอกจากจะเป็นคนที่มีน้ำใจต่อผู้คนแล้วก็มีข้ออีกอย่างตรงที่เขาไม่ค่อยอาฆาตแค้นใคร ในวันที่พลตำรวจเอกเผ่าศรียานนท์ จะเดินทางออกนอกประเทศสุริยนก็ไปส่งด้วยตัวเอง แม้จะมีหลายคนเตือนเขาว่าเป็นสิ่งไม่ควร แต่เขากลับแย้งว่า "ท่านไปครั้งนี้ไม่รู้ว่าจะได้มีโอกาสเห็นหน้ากันอีกหรือเปล่า ถึงจะถูกเข้าใจไม่ดีก็ต้องไปส่ง" ซึ่งก็เป็นการพบกันครั้งสุดท้ายสำหรับคนทั้งสองจริง ๆ

หรือแม้แต่จอมพลสฤษดิ์ ที่เป็นตัวการยึดแบงก์เกษตรไปจากสุริยน เมื่อจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิต ทายาทประกาศตั้งมูลนิธิสุริยนก็เป็นคนแรกที่บริจาคเงินเข้ามูลนิธิด้วยความเต็มใจ

สุริยน เคยโด่งดังขนาดที่สามารถดำรงตำแหน่งนายกสมาคมพ่อค้าไทยและได้รับเลือกเป็นประธานหอการค้าถึง 2 สมัยติด ๆ กัน

บั้นปลายชีวิตของเขากิจการอันมากมายหลายแห่งค่อย ๆ ทยอยปิด บางกิจการถูกนำไปค้ำประกันหนี้สินก็ต้องถูกยึดและบางกิจการเขาตัดสินใจขายทิ้ง

ก่อนหน้าจะเสียชีวิตสุริยนมีเพียงกิจการแป้งมัน เอส.อาร์. ในส่วนที่ทำด้านการตลาด มีบริษัทอินเตอร์ไลฟ์และมีเหมืองแร่ทางภาคเหนือ

ส่วนบ้านมูลค่านับสิบล้านบาทที่ซอยวัดทองนพคุณย่านฝั่งธนฯ สุริยนนำไปค้ำประกันหนี้กับกรุงไทย บ้านหลังนี้ต่อมาหลุดจำนองก่อนที่เขาจะเสียชีวิตเพียงปีเศษ สุริยนได้รับเกียรติให้เช่าอยูต่อไปและแบงก์ไม่แสดงอาการกระโตกกระตากที่จะทำให้สุริยนเสียหน้าในสายตาคนภายนอก คงปล่อยให้คนทั่วไปเข้าใจว่ายังเป็นสมบัติของสุริยน

บั้นปลายชีวิตของสุริยนนั้น เป็นบั้นปลายที่เขาต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สินอย่างหนักหน่วง ทั้งหนี้ที่กรุงไทยและอีกบางธนาคาร

มีคนบอกให้สุริยนล้มละลายหนีหนี้แต่สุริยนก็ไม่ยอม

สุริยนมาล้มละลายจริง ๆ ก็เมื่อเสียชีวิตไปแล้ว

"เป็นกรณีแรกในประวัติศาสตร์ที่คนตายไปแล้วยังล้มละลายได้" วรรณ ชันซื่อที่ก็สนิทสนมกับสุริยน ไรวา เคยปรารภให้ฟัง

เขาเริ่มต้นมาจากศูนย์ สะสมทุนและไต่เต้าขึ้นมาเป็นลำดับ ทั้งนี้ด้วยมันสมองที่ชาญฉลาดความเพียรพยายามที่เหนือกว่าผู้ใด เข้าใจหยิบฉวยสถานการณ์มาใช้ประโยชน์เขาเป็นดาวจรัสแสงของวงการธุรกิจในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงก่อนหน้าปี 2500

แต่ท้ายที่สุดก็แทบจะไม่มีอะไรเหลือ

ในช่วงท้าย ๆของชีวิต เวลานั่งรถไปตามที่ต่าง ๆ สุริยนมักจะชี้ให้คนใกล้ชิดดูแล้วพูดว่า ไตรงนั้นเคยเป็นของเรา ไซโลนั่นก็ใช่ ตรงโน้นเคยเป็นที่ตั้งบริษัท" ไม่มีใครทราบว่าเขาพูดด้วยความรู้สึกปวดร้าวหรือไม่

มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่ทำให้สุริยนต้องการเป็นผู้อำนวยการสร้างหนัง

เขามีบ้านหลังหนึ่งปลูกอยู่บนเนินเขาที่ศรีราชาใกล้ ๆ กับโรงงานแป้งมัน เป็นบ้านที่สวยมาก "ผมว่าหนังไทยเป็นร้อยเรื่องที่ขอยืมบ้านคุณสุริยนถ่ายทำ ผมเองก็เคยใช้เช่นเรื่อง จำเลยรัก ดวงตาสวรรค์ เกิดเป็นหงส์คุณสุริยนไม่เคยขัด บอกให้คนเฝ้าบ้านต้อนรับเราอย่างดี เราก็พยายามหลีกเลี่ยงไปถ่ายทำในวันที่คุณสุริยนไม่ใช้ แต่บางครั้งก็ชนกันแกก็อยู่ไป เราก็ถ่ายไป" วิจิตร คุณาวุฒิ เศรษฐีตุ๊กตาทองของวงการภาพยนต์ไทยเล่ากับ "ผู้จัดการ"

มีอยู่คราวหนึ่งผู้สร้างภาพยนต์ไปใช้สถานที่ที่บ้านของสุริยน ถ่ายไปถ่ายมาเกิดขาดเงิน สุริยนก็เลยต้องโดดเข้ามาช่วยเป็นผู้อำนวยการสร้างให้ ปรากฏว่าผลการประกวดรางวัลภาพยนต์ดีเด่น หนังเรื่องนั้นกวาดหลายรางวัล

หนังชื่อ "เศรษฐีอนาถา" เขียนโดยสันต์ เทวรักษ์

เป็นหนังที่ว่าไปแล้วก็คล้าย ๆ กับชีวิตของสุริยนอย่างบังเอิญแท้ ๆ

ในวัยเพียง 57 สุริยนป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับไตและมีอาการความดันสูงเขาเคยเดินทางไปรักษาตัวที่สหรัฐฯแล้วกลับมาพักฟื้นที่ศิริราช "ไตทั้งสองข้างทำงานเพียง 5% หมอบอกว่าต้องใช้ไตเทียมคือ เอาเลือดออกมาฟอกแล้วเอากลับเข้าไปใหม่ อาทิตย์หนึ่งทำสองวัน วันหนึ่งต้องใช้เวลา 8 ชั่วโมง คุณสุริยนบ่นว่าเบื่อมากขอกลับไปอยู่บ้าน" จำนรรค์ อินทุสุต เล่าอาการของสุริยนให้ฟัง

เมื่อกลับมาอยู่บ้านเขาก็มีอาการเป็นคนชีพจรลงเท้า อยากไปโน่นไปนี่อย่างเคย

เช้าวันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน 2516 สุริยนพร้อมกับลูกชาย 5 คน ร้อยโทวรากร กับขจรเดช เดินทางไปดูสวนทุเรียนที่จันทบุรี "ขณะที่เดินดูสวน พ่อเดินลงไปดูเขาสูบน้ำเข้าสวน เครื่องสูบน้ำเก่ามาก มีควันโขมงท่านเหนื่อยมาก หายใจไม่ออก และเราก็ช่วยไม่ทัน" ร้อยโทวรากรเล่า

เรื่องราวของสุริยน ไรวา นั้นคล้าย ๆ กับภาพยนตร์ประเภทที่ม้วนเดียวจบ เขาโลดแล่นอยู่บนโลกบนนี้ เป็นข้าราชการ เป็นนักธุรกิจ เป็นนักอุตสาหกรรม เป็นเจ้าของสถาบันการเงิน ซึ่งความชัดเจนที่สุดในตัวเขาก็คือความเป็นนักบุกเบิก (INNOVATOR) ซึ่งต่อมามีคนเดินตามเขาเป็นทิวแถว

เมื่อเขาเสียชีวิต เชาว์ เชาว์ขวัญยืนได้เขียนคำไว้อาลัยที่ดูเหมือนสามารถอธิบายความเป็นสุริยนได้อย่างกระจ่างชัด

THE PASSING AWAY OF KHUN SURIYON RAIVA WAS A GREAT LOSS TO BUSINESS, TRADE AND INDUSTRIAL CIRCLES, AND ALSO A GREAT LOSS TO THAILAND. PARTICULARLY IT WAS GREAT LOSS TO ALL HIS FRIENDS

แต่ก็น่าเสียดายที่ไม่ค่อยมีใครได้อ่านพบคำไว้อาลัยนี้มากนัก

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us