ช่วงระยะเวลาเพียงแค่ไม่ถึงเดือนที่ผ่านมา ข่าวคราวการสูญเสียของบุคคลสำคัญมีให้ได้ยินติดต่อกันไม่ขาดระยะเลยทีเดียว
เริ่มกันตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน วงการธุรกิจก็ได้สูญเสีย "ทรง บุลสุข"
นักธุรกิจอาวุโส ผู้ปลุกปั้นเป๊ปซี่มากับมือไป…
ต่อมาอีกประมาณสิบวัน "สมหมาย ฮุนตระกูล" รัฐมนตรีคลัง 5 สมัยก็มาจากไปอีกคน…
รุ่งเช้าวันต่อมา เจ้าของเบียร์สิงห์ "ประจวบ ภิรมย์ภักดี" ก็อำลาโลกไปด้วยสาเหตุจากโรคหัวใจ…
และประชาชนต้องตะลึงกันอีกครั้งกับข่าวการเสียชีวิตของ "บัณฑิต บุณยะปานะ"
ปลัดกระทรวงการคลังที่จากไปอย่างกระทันหันโดยไม่มีใครคาดคิดอีก
นับเป็นความสูญเสียในรอบเดือนที่ผ่านมาของบุคคลถึง 4 คนด้วยกัน สองคนมาจากวงการธุรกิจที่ต่อสู้ฟันฝ่าบนเส้นทางธุรกิจมานานหลายสิบปีจนเรียกได้ว่าแทบจะทั้งชีวิตก็ว่าได้
อีกสองคนเดินอยู่บนเส้นทางราชการของกระทรวงการคลังเกือบทั้งชีวิตเช่นกัน…
คงจะกล่าวได้ว่าช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคมปีนี้เป็นเดือนแห่งความเสียใจของคนในวงการธุรกิจ
และข้าราชการระดับสูงของกระทรวงนกวายุภักดิ์อย่างแท้จริง
ทรง บุลสุข
19 มิถุนายน 2536
ทรง บุลสุข ผู้สร้างวิถีชีวิตแบบใหม่ในการดื่มน้ำอัดลมให้กับคนไทย แรกเริ่มเดินทีน้ำดำยี่ห้อเป๊ปซี่ยังเป็นของแปลกปลอมและแปลกใหม่สำหรับคนไทย
แต่ด้วยความสามารถของบุคคลคนนี้ที่ทำให้การดื่มน้ำอัดลมกลายเป็นอีกวิถีชีวิตหนึ่งของคนไทย
ทรงเริ่มต้นด้วยการสร้างโรงงานเล็ก ๆ แห่งแรกขึ้นที่ถนนสีลมและผลิตเป๊ปซี่ขวดแรกขึ้น
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2496 นับถึงวันนี้เป็นเวลา 40 ปีกว่าแล้ว ไม่รู้ว่าเป๊ปซี่กี่ล้านขวดที่ถูกผลิตออกมาสู่ท้องตลาดในเมืองไทย
กว่าจะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ได้ ทรงมีนโยบายในการผลิตสินค้าของเขาคือผลิตสินค้าให้ดีที่สุด
กระจายสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคให้มากที่สุด และแข่งขันกับคู่แข่งด้วยการให้บริการแก่ลูกค้าและร้านค้า
ผลงานชิ้นสำคัญในช่วงชีวิตของเขาก็คือ การจัดระบบการจัดจำหน่ายเสียใหม่
โดยพัฒนาจากระบบตัวแทนไปสู่ระบบเครือข่ายคลังสินค้าทั่วประเทศ วิธีนี้ทำให้สินค้าส่งไปถึงมือผู้บริโภคได้รวดเร็วขึ้นและมีราคาเท่ากัน
อีกเรื่องก็คือ การสร้างโรงงานน้ำอัดลมมูลค่า 400 ล้านบาทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยขึ้นที่
จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นฐานกำลังการผลิตที่สำคัญในเวลาต่อมา
ทรง บุลสุข จากไปแล้วด้วยโรคชรากับวัย 83 ปี เขามีโอกาสอยู่ดูความเจริญเติบโตของเป๊ปซี่เพียงแค่สี่ทศวรรษเท่านั้น
ส่วนกิจการในช่วงทศวรรษที่ห้าต่อไปคงต้องอยู่ที่ความสามารถของทายาทบุลสุขรุ่นต่อไป
สมหมาย ฮุนตระกูล
30 มิถุนายน 2536
คงยังจำกันได้ดีถึงกรณีลดค่าเงินบาทถึงสองครั้งสองคราในยุคสมัยที่ป๋าเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี
ทุกคนต่างก็ทราบกันดีว่าผลงานชิ้นนี้เป็นฝีมือของขุนคลังสมหมาย ฮุนตระกูล
รัฐมนตรีคลัง 5 สมัยนั่นเอง
สมหมายผ่านงานทางด้านการเงินมาจากหลายสถาบันทั้งจากแบงก์ชาติ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
และกระทรวงการคลัง ซึ่งที่แห่งนี้เป็นที่สร้างผลงานชิ้นสำคัญที่เลื่องลือไปยังคนรุ่นหลัง
รวมทั้งสร้างปัญหาและความยุ่งยากใจที่บั่นทอนสุขภาพกายและใจในเวลาต่อมาด้วย
สิ่งที่เขาทำเมื่อมานั่งเป็นรัฐมนตรีคลังแล้ว นอกจากการลดค่าเงินบาทที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากหลาย
ๆ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและพวกที่เสียผลประโยชน์ ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้บัญชาการทหารบกที่กำลังเปล่งรัศมีอยู่ในขณะนั้น
ทำเอาคนในกระทรวงการคลังหนาว ๆ ร้อน ๆ กันอยู่พักใหญ่ จนกระทั่ง พล.อ.เปรม
สั่งปลด ผบ.ทบ. ออกจากตำแหน่งถึงได้หายหนาวกัน ยังมีผลงานโบว์แดงอีกชิ้นหนึ่ง
คือ เรื่องปราบแชร์แม่ชม้อย ซึ่งงานครั้งนี้เรียกได้ว่าเอาชีวิตเป็นเดิมพันกันเลยทีเดียว
เพราะถูกอิทธิพลข่มขู่จนแทบแย่ไปเหมือนกัน
วันนี้ สมหมาย ฮุนตระกูล ไม่ได้ลืมตาอยู่บนโลกนี้แล้ว แต่เชื่อว่า หลาย
ๆ ฝ่ายและหลาย ๆ คนจักต้องขอบคุณในผลงานและการกระทำที่ผ่านมาของเขาอย่างแน่นอน
ประจวบ ภิรมย์ภักดี
1 กรกฎาคม 2536
หากทรง บุลสุข ทำให้คนไทยรู้จักเป๊ปซี่ ประจวบ ภิรมย์ภักดี ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ทำให้คนไทยได้มีโอกาสดื่มเบียร์ที่ผลิตได้เองในประเทศไทย
ภายใต้ชื่อเบียร์สิงห์จากบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด
ประจวบ ภิรมย์ภักดี (บุตรชายคนโตของหลวงภิรมย์ภักดี) จากนักศึกษาคณะสถาปัตย์ฯ
ที่ประเทศฝรั่งเศส พลิกผันมาเรียนวิชาปรุงเบียร์ที่ประเทศเยอรมัน จนกลายมาเป็นนักปรุงเบียร์คนแรกของประเทศไทย
เบียร์สิงห์ภายใต้การนำของประจบในยุคนั้นกลายเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากคนไทย
หลังจากที่คนไทยรู้จักแต่สุราและเหล้าโรงมาเป็นเวลานาน การดำเนินธุรกิจในขณะนั้นเรียกได้ว่า
ปลอดโปร่งมองเห็นแต่ผลกำไรเพราะไม่มีคู่แข่งขันเอาเสียเลย จนกระทั่งเมื่อจอมพลสฤษดิ์
ธนะรัชต์ คิดผลิตเบียร์หนุมานขึ้นมา แต่ก็เป็นระยะเวลาเพียงแค่ปีเดียว เนื่องจากจอมพลสฤษดิ์
ถึงแก่อสัญกรรมและเบียร์หนุมานก็เลิกผลิตไป
ถึงแม้การแข่งขันในธุรกิจเบียร์จะเพิ่มขึ้นมากกว่าก่อน แต่เบียร์สิงห์ก็ยังสามารถครองสัดส่วนการตลาดได้ถึง
89% ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงทีเดียว
ประจวบ ภิรมย์ภักดี คนรุ่นที่ 2 ที่สร้างและพัฒนาเบียร์สิงห์มากับมือจากไปแล้วด้วยโรคหัวใจในวัย
82 ปี… เบียร์สิงห์ในยุคการแข่งขันเสรีต่อไปนี้จึงต้องคอยดูกันที่ฝีมือและความสามารถของคนรุ่นที่
3 อย่างปิยะ และสันติ ภิรมย์ภักดีต่อไป