ไม่ว่ายุคสมัยใด ไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใด CONTROVERSIAL เท่ากับสมหมาย
ฮุนตระกูล ผู้แสดงศักยภาพบริหารการเงินและการคลังแบบมี VISION และ MISSION
เพื่อพลิกฟื้นปัญหาฐานะการเงินการคลังของรัฐภายใต้วิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเมืองที่เลวร้ายมาก
ๆ
สมหมาย เป็นคนเก่งที่ตายไปแล้วคนแซ่ซ้อนสรรเสริญมากที่สุดคนหนึ่ง เพราะคนดี
ๆ แบบนี้หายาก ! สมหมายคือตัวอย่างของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่นั่งเก้าอี้แล้วทำงานหนักเพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าให้ประเทศ
โดยไม่พูดมากหรือทำตัว "ตุ้งติ้ง" แบบเอาตัวรอด ตลอดจนไม่หวั่นเกรงอิทธิพลมืดข่มขู่ชีวิตตนเองและครอบครัว
วิกฤตการณ์ครั้งนั้น คุณหญิงสมศรี ฮุนตระกูล ภริยาคู่ทุกข์คู่ยากเล่าให้ฟังว่า
"เขาเฉย ๆ เพราะมีความมั่นใจ แต่ว่าครอบครัวถูกคุกคามมากๆ มีโทรศัพท์มาขู่ว่า
"มึกอยากตายเหรอ กูจะเอาปืนอาร์ก้ามายิงมึง" ในที่สุดเราต้องเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์
เวลาเราจะไปไหนท่านนายกฯ ก็จัดกำลังอารักขาให้ ฝ่ายตำรวจท้องที่เขาเห็นคนมีอาวุธมาวนรอบบ้านตอนตี
5 ตำรวจก็บอกว่า บ้านอยู่ริมถนน รั้วก็เตี้ย เราจะทำรั้วให้สูงก็ทำไม่ได้
เพราะผ่อนหนี้ยังไม่หมด แล้วที่บ้านก็กว้างถึง 8 ไร่ เราจึงต้องใช้วิธีปิดไฟ
ย้ายที่นอนบ่อย ๆ หรือบางทีก็ไปอาศัยนอนบ้านเพื่อนก็มี"
โยดกำเนิดสมหมายเกิดในตระกูลจีนเก่า มีเชื้อสายชาวจีนไหหลำ เป็นบุตรคนเล็กสุดในจำนวน
9 คนของโกศล (กิมฮวด) ฮุนตระกูล และนางน้อมซึ่งมีฝีมือทำขนมอร่อย และเป็นหลานของพระยาศรีวิศาลวาจา
(เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) เมื่อจบปริญญาโทเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคโอะ
ประเทศญี่ปุ่น เริ่มชีวิตทำงานที่ธนาคารชาติในปี 2486 และลาออกจากผู้อำนวยการช่วยผู้ว่าฯ
ในปี 2514
บทบาทการทำงานในภาคเอกชนสมหมายได้สร้างบารมีและผลงานด้านระบบที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้มากมาย
ตั้งแต่เป็นผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ในปี 2515 และเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทปูนซิเมนต์ไทยในปี
2519
ในชีวิตการทำงานเป็นรัฐมนตรีคลัง สมหมายได้ใช้การลดค่าเงินบาทเป็นอาวุธไปแล้ว
6 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2515 สมัยเป็นรัฐมนตรีช่วยคลังรัฐบาลจอมพลถนอมมีการปรับค่าเงินบาทลดลงไป
7.89% เทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากไทยเข้าเป็นสมาชิกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
(ไอเอ็มเอฟ)
ครั้งที่สอง ค่าเงินบาทลดลง 10% ในเดือนมีนาคม ปี 2516 ครั้งที่สามเงินบาทเพิ่มค่า
4% ในกรกฎาคม 2516
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 สมหมายเป็นรัฐมนตรีคลังอีกครั้งในรัฐบาลสัญญา
1-2 และรัฐบาลเกรียงศักดิ์ 3 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีคลังได้แค่ 17 วัน
ดังนั้นเมื่อหวนกลับมา "ยิ่งใหญ่แต่โดดเดี่ยว" อีกครั้งในรัฐบาลเปรม
2 ขุนคลังสมหมายต้องใช้มาตรการลดค่าเงินบาทอีกสามครั้งรวด ! เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเลวร้าย
"สงสารพ่อมาก เมื่อเห็นท่าทำงานหนักก่อนที่จะลดค่าเงินบาท พ่อนอนไม่หลับถึง
5-6 วัน มีอาการขาไม่มีแรง ไม่มีเวลาออกกำลังกาย เล่นกอล์ฟเหมือนเคย เสาร์อาทิตย์ก็มีหนังสือมาให้เซ็นหรือเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังมาปรึกษาตลอด
ท่านพูดเสมอว่า ท่านไม่ได้อยากเป็นรัฐมนตรีเลย แต่ทุกครั้งถูกขอร้องให้มาช่วยประเทศชาติ
ท่านก็รับเพราะคำพูดนี้ทุกครั้ง" ศศิณี ฮุนตระกูล บุตรสาวเล่าให้ฟัง
สมหมายไม่พูดมาก แต่เริ่มจากลดค่าเงินบาท 1.07% ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2524
และอีกสองเดือนต่อมาลดอีก 8.7% โดยมีการยกเลิกการคำนวณค่าเงินบาทแบบ DIALY
FIX ซึ่งใช้ตั้งแต่ปี 2521 เปลี่ยนเป็นแบบ BASKET OF CURRENCIES เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกเป็นหลัก
แต่พิษร้ายของข่าวที่กระหน่ำโจมตีแบบไม่ลืมหูลืมตาครั้งนั้น เป็นแรงกดดันที่ทำให้ไพจิตร
เอื้อทวีกุล รัฐมนตรีช่วยคลังโบกมือลาสังคมไทยไปอยู่ไอเอ็มเอฟ และหวนกลับคืนมาตุภูมิเมื่อชนะคดีฟ้อง
"กะแช่" ชนิดที่ฝ่ายแพ้ต้องศิโรราบและหักปากกาทิ้งไปเลย
เหตุการณ์ซึ่งต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเงินและการเมืองของไทย เมื่อคราวลดค่าเงินบาทในวันที่
5 พฤศจิกายน 2527 ว่า ค่าเงินบาทลดมากที่สุดถึง 14.81% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ
งานนี้จุดชนวนพิโรธทางการเมืองที่รุนแรงกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล
สมหมายเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในยุค พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเริ่มทำงานตั้งแต่ต้นปี 2524 อันเป็นปีที่เกิดข่าวลือตลอดว่า
กระทรวงการคลังใกล้ล้มละลาย ไม่อาจจะจ่ายเงินเดือนข้าราชการได้ เพราะปัญหาขาดดุลงบประมาณที่ทวีคูณ
จาก 25,278.7 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2524 เพิ่มเป็นขาดดุล 40,069.8 ล้านบาทในปีงบประมาณ
2525
ดังนั้น 5 ปีที่สมหมายนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีคลัง สมหมายจึงมีภารกิจที่จะต้องกดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ถึงขั้นว่าปีงบประมาณ 2529 จะใช้นโยบาย ZERO GROWTH จำกัดการเจริญเติบโตของภาครัฐบาล
งานนี้สมหมายตกเป็นเป้าโจมตีอย่างรุนแรงของทหารและนายแบงก์ ทหารไม่พอใจอยู่สองกรณี
กรณีแรก ถูกกระทรวงการคลังคัดค้านอย่างมากในการซื้อฝูงบินรบ เอฟ. 16 ที่ทันสมัยจากสหรัฐฯ
กรณีที่สองการจับใหญ่ "แชร์ชม้อย" ในเดือนมิถุนายน 2528 ซึ่งกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์มีคนในเครื่องแบบร่วมด้วย
ขณะที่ปฏิกิรยาของนายแบงก์ใหญ่ได้สะท้อนให้เห็น VISION ที่สู้ขุนคลังสมหมายไม่ได้เลย
เมื่อกาลเวลาได้พิสูจน์ด้วยตัวเลขของการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบ DOUBLE DIGIT
ของไทยที่เกิดขึ้น หลังจากผลงานขุนคลังสมหมาย
เริ่มตั้งแต่ชาตรี โสภณพนิช บิ๊กบอสส์แห่งแบงก์กรุงเทพ ทำจดหมายเวียนลงวันที่
22 ตุลาคม 2528 ถึงพนักงานทุกคนว่า
"ผมคิดว่า สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันถือเป็นภาวะที่ผิดปกติ เพราะความเสียหายได้แผ่กระจายเป็นวงกว้างครอบคลุมไปทั่วทุกวงการค้าและอุตสาหกรรม
ทั้งอัตราว่างงานก็มีสูงขึ้นมาก อาจจะเรียกว่าเป็นภาวะที่ตกต่ำที่สุดในรอบ
20 ปีที่ผ่านมาก็ว่าได้"
ขณะที่ VISION ของ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ รองผู้จัดการใหญ่แบงก์ไทยพาณิชย์ขณะนั้นก็ให้ความเห็นแบบดุเดือดเลือดร้อนว่า
"เศรษฐกิจที่ซบเซานี้จะก่อให้เกิดผลกระทบหลายด้านต่อธุรกิจเอกชนที่คุ้นเคยกับการเจริญเติบโตระดับสูงในช่วง
25 ปีที่ผ่านมา และในปีหน้าจะต้องมีปัญหาธุรกิจประสบกับภาวะล้มละลายให้เห็นกันมากขึ้น
เพราะฉะนั้นถ้าหากรัฐบาลไม่ทำอะไร เศรษฐกิจของโลกไม่เอื้ออำนวย หรือพระสยามเทวาธิราชไม่โปรด
ปีหน้า (2529) จะเป็นปีที่วิกฤตที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 20-25 ปี"
โชคดีที่ ดร.โอฬารทำนายผิดเศรษฐกิจไทยในปี 2529 เริ่มฟื้นตัวและโชติช่วงชัชวาลตั้งแต่ปี
2530 ปีทองของตลาดหุ้นเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการบูมของการพัฒนาที่ดิน เศรษฐีใหม่เกิดขึ้นมากมาย
เมื่อโอกาสและระบบทางเศรษฐกิจเปิดเสรีมากขึ้น
แต่กว่าจะถึงวันแห่งสันติสุขได้ตลอดระยะเวลา 5 ปี ขุนคลังซามูไรคนนี้ได้ฝ่าและฟันหลายชิวตที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเงินการคลัง
โดยเฉพาะกรณีเลือดท่วมแบงก์ชาติ เมื่อคนหัวรั้นอย่างผู้ว่าแบงก์ชาตินุกูล
ประจวบเหมาะ เจอคนบ้าเลือดแบบขุนคลังซามูไร ซึ่งต้องการให้แบงก์ชาติทบทวนนโยบายจำกัดสินเชื่อธนาคารพาณิชย์
18%
งานนี้สร้างความคับแค้นใจให้อย่างมากกับนุกูล จนกระทั่งวันอำลาพนักงานที่แบงก์ชาติ
นุกูลได้เซ็นเช็ค 10,000 บาทมอบให้มูลนิธิเด็กปัญญาอ่อน และบ้านพักคนชราบางแค
ตั้งแต่นั้นมา ไม่เคยปรากฏเงาของนุกูลในทุกงานที่มีสมหมาย ฮุนตระกูลเลย
!
ในราวเดือนตุลาคม 2529 สมหมาย ฮุนตระกูล ล้างมือในอ่างทองคำ เปิดบ้านคุยกับสื่อมวลชนแบบสบาย
ๆ หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจพลิกฟื้นการเงินการคลังของประเทศได้สำเร็จ
รางวัลบั้นปลายแห่งชีวิตรับราชการของสมหมาย ฮุนตระกูล ได้รับพระราชทานพระราชอิสริยาภรณ์สูงสุดขั้นประถมจุลจอมเกล้าเจ้าพระยา
"ในตระกูลฮุนตระกูลของเรา คุณพ่อเป็นเจ้าพระยาคนที่สอง คนแรกคือ พระยาศรีวิศาลวาจา
ซึ่งมีศักดิ์เป็นอา" ศศิณี บุตรีคนที่สองซึ่งอยู่ใกล้ชิดสมหมายจนวาระสุดท้ายเล่าให้ฟังอย่างภูมิใจ
ชีวิตอันสุขสงบภายในอาณาบริเวณอันร่มรื่นกว่า 8 ไร่ที่ลาดพร้าวซอย 36 กับศรีภริยา
คุณหญิงสมศรี และลูกทั้งสี่กับหลานทั้งหกที่นำความชุ่มชื้นใจแก่สมหมายอย่างมาก
"พ่อชอบถ่ายรูปและเล่นกล้องมาก มีทั้งกล้องโบราณ เช่น ไลก้า โรไลเฟล็กซ์
และกล้องญี่ปุ่นปัญญาอ่อน สะสมมากพอ ๆ กับนาฬิกาและไฟแช็ก ซึ่งแจกจ่ายไปเมื่อพ่อเลิกสูบบุหรี่
เวลาทานข้าวนอกบ้าน พ่อต้องมีกล้องติดตัวตลอดเวลา ถ้าเอาอัลบั้มรูปมาจัดจะตั้งสูงถึงเพาดานหลาย
ๆ ตั้ง" บุตรสาวเล่าให้ฟังถึงงานอดิเรกที่สมหมายชอบทำ
ในบรรดาบุตรทั้งสี่ของสมหมาย ไม่มีใครรับราชการเลยสักคน บัณฑิตย์ บุตรชายคนโตซึ่งจบวิศวะจากมหาวิทยาลัยฮาวาย
ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการบริษัทคว็อลลิตี้แล็บ ศศิณีจบบัญชีด้านการเงินการธนาคารจากธรรมศาสตร์
เคยทำงานบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมและบริษัทไทยพัฒนา โรงงานก่อนลาออกมาปรนนิบัติดูแลพ่อ
ภัทนีเดินตามรอยมารดาเป็นจักษุแพทย์เปิด "อัมพุชคลีนิค" และสมภพ
ลูกชายคนเล็ก ซึ่งสมหมายส่งไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเคโอะ จนจบปริญญาตรีรัฐศาสตร์และไปต่อปริญญาโท
สาขาเศรษฐศาสตร์ที่อเมริกา ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเดินเรือ "สยามเภตรา"
ซึ่งครอบครัวถือหุ้นอยู่ด้วย
ช่วงสองปีสุดท้าย สุขภาพสมหมายทรุดโทรมลงอย่างน่าเป็นห่วง แทบไม่เดินทางไปไหนอยู่กับบ้านทานอะไรก็ชักไม่อร่อยเหมือนเดิม
ทั้ง ๆ ที่กิตติศัพท์หาของอร่อยกินเป็นที่หยอกล้อทุกครั้งว่า "เจี๊ยะ
ๆ ทัวร์" หรือศรีภริยาล้อเล่นเป็นนามสกุล "มุ่งการกิน"
"ช่วง 2-3 ปีนี้ เลือดในลำไส้ใหญ่ออกทั้ง ๆ ที่เมื่อ 14 ปีที่แล้วเคยตัดกระเพาะไปถึง
? ส่วนตอนที่อยู่ปูนซิเมนต์ไทย หมอห้ามทานเหล้าและสูบบุหรี่ ไม่งั้นสูบบุหรี่จัดมาก
แต่ยังชอบดื่มเบียร์ ตอนหลังกระเพาะมันยืดออก หมอบอกว่ามีก้อนเนื้อใหญ่ที่ลำไส้
แต่อายุมากแล้วเราไม่อยากให้ผ่า…เพียงแต่ทำกายภาพ ทานยา ไม่ให้หกล้ม ในวันเกิดเหตุท่านก็บอกให้เด็กเช็ดตัว
สักครู่ก็พูดว่า ไม่ไหวแล้ว…ก็ตัวอ่อนล้มลงไปเลย" คุณหญิงสมศรีเล่าให้ฟัง
สิ้นเสียงก็สิ้นสั่ง สมหมายได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจเมื่อนสิริอายุ 75
ปีเต็ม ล่วงพ้นวันเกิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมาเพียงไม่นานนัก
มรดกอันยิ่งใหญ่ที่สมหมายได้ทิ้งไว้เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลก็คือ ผลงานการเงินการคลังที่
"เจ้าพระยาพระคลังสมหมาย" สร้างสรรค์ขึ้นมา และยืนหยัดต่อสู้กับแรงกดดันท่ามกลางวิกฤตการณ์รุนแรงในอดีตจนประสบความสำเร็จเมื่อเวลาผ่านไปได้พิสูจน์แล้วว่า
บางทีกว่าที่คนเราจะรู้คุณค่าใครสักคนต่อเมื่อสูญเสียคน ๆ นั้นไป !!