Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2543








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2543
Anita Roddick กับ Body Shop International             
โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
 


   
search resources

Anita Roddick




แอนนิตา ร็อดดิก (Anita Roddick) ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ Sunday Express กลางเดือนกันยายน 2543 ว่า เธอจะละวางงานบริหาร The Body Shop International ภายในสองปีข้างหน้านี้ เพื่อที่จะได้มีเสรีภาพในการห้ำหั่นปรปักษ์ทางการเมือง โดยที่ศัตรูทางการเมืองของเธอมิใช่ใครอื่น หากแต่เป็นองค์การการค้าโลก (WTO) นั่นเอง ในทัศนะของแอนนิตา ร็อดดิก องค์การการค้าโลกไม่เคยเห็นใจประเทศที่ยากจน และจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศในทางที่สร้างความอยุติธรรมแก่ประเทศที่ยากจน ด้วยเหตุที่มีทัศนคติเช่นนี้เอง แอนนิตา ร็อดดิก จึงไม่ลังเลใจใน การร่วมสังฆกรรมเพื่อฟาดฟันองค์การการค้าโลกเมื่อมีการประชุม ณ นคร Seattle ประเทศสหรัฐอเมริกา ในเดือนพฤศจิกายน 2542

แอนนิตา ร็อดดิก มิใช่เจ้าหน้าที่ NGOs หากแต่เป็นนายทุนแอคติวิสต์ ผู้ก่อตั้ง Body Shop International ชื่อเสียงเรียงนามของเธอเคียงคู่มากับ Body Shop International ถึง 25 ปี

เมื่อเธอตั้งร้าน The Body Shop ณ เมือง Brighton ประเทศอังกฤษ ในปี 2519 นั้น เธอยึดหลัก Ethical Retailing เป็นปรัชญาของร้าน The Body Shop จะไม่เอาเปรียบเพื่อนมนุษย์และสัตว์ทั้งนี้เพื่อปรับวิถีแห่งระบบทุนนิยมไปสู่ระบบที่มีความเอื้ออาทรในขั้นรากฐาน (Caring Capi-talism) แม้ว่า The Body Shop มุ่งขายเครื่องสำอาง เครื่องประทินผิว และ เครื่องบำรุงผม แต่ผลิตภัณฑ์ของ The Body Shop เป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ โดยในชั้นแรกมิได้ใช้เครื่องจักรในการผลิต หากแต่ใช้มือมนุษย์ในการผสม ใน ประการสำคัญ The Body Shop เน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากร ธรรมชาติ เคารพหลักการสิทธิมนุษยชน และคำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์ (Ani-mal Welfare) The Body Shop อ้างอยู่เสมอว่า ผลิตภัณฑ์ของตนมิได้ใช้สัตว์เป็นเครื่องทดลอง

การปรากฏตัวของ The Body Shop นับเป็นปรากฏการณ์แปลกใหม่ในโลกทุนนิยม ซึ่งเต็มไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบและการห้ำหั่นกันในทางธุรกิจ The Body Shop สามารถจับตลาดเฉพาะ หรือที่เรียกว่า Niche Market ได้ จึงมิใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่ธุรกิจเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เพียงชั่วเวลา 2 ปี หลังการก่อตั้งร้าน The Body Shop สามารถจัดระบบสัมปทานระหว่างประเทศ (International Franchise System) ในปี 2521 โดยมีร้าน The Body Shop ผุดขึ้นในนคร Brussels ประเทศเบลเยียม ทศวรรษ 2520 นับเป็นยุคทองของ The Body Shop ซึ่งเติบใหญ่เป็นบริษัทระหว่างประเทศในเวลาต่อมา

ในปี 2541 The Body Shop International PLC มีร้านค้า 1,668 ร้าน ในประเทศต่างๆ รวม 47 ประเทศ ครอบคลุมประเทศที่ใช้ภาษาต่างๆ รวม 24 ภาษา และปกแผ่โซนเวลา (time zone) รวม 12 โซน ร้านค้าของ The Body Shop มีอยู่ 2 ประเภท ประเภทหนึ่ง The Body Shop International เป็นเจ้าของเอง อีกประเภทหนึ่ง ผู้ประกอบการท้องถิ่นเป็นเจ้าของ โดยเข้าร่วมใน International Franchise System ของ The Body Shop International

ในสหราชอาณาจักร มี The Body Shop รวม 266 ร้าน ในจำนวนนี้ The Body Shop International เป็นเจ้าของเพียง 72 ร้าน ในเอเชียตะวันออก The Body Shop International เป็นเจ้าของร้านในสิงคโปร์ นอกนั้นเป็นของผู้ประกอบการท้องถิ่น

ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมานี้ The Body Shop International พัฒนาผลิตภัณฑ์มากกว่า 400 ประเภท เพื่อสนองตอบความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์ของ The Body Shop จึงมีตั้งแต่ Vitamin E Cream ไปจนถึง Tea Tree Oil และตั้งแต่ Banana Shampoo ไปจนถึง Aloe Vera Lotion

ตลอดระยะเวลาดังกล่าวนี้ แอนนิตา ร็อดดิก มีบทบาทสำคัญในการกำหนดเส้นทางของ The Body Shop International อย่างปราศจากข้อกังขา ด้วยเหตุที่เธอกระโดดเข้าร่วมขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ The Body Shop International จึงถูกดึงเข้าร่วมขบวนการดังกล่าวนี้ด้วย

ในปี 2529 The Body Shop International รณรงค์ Save the Whales ร่วมกับกลุ่ม Greenpeace โดยที่มีการบัญญัติ The Body Shop Charter เกี่ยวกับเรื่องนี้

ในปี 2533 มีการก่อตั้งมูลนิธิ The Body Shop Foundation ซึ่งมีเป้าประสงค์หลักในการรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และสวัสดิภาพสัตว์

เมื่อ United Nations Envi-ronment Program (UNEP) มีอายุครบ 25 ปี ในปี 2540 UNEP ประกาศเกียรติคุณสตรีจำนวน 25 คน ซึ่งมีบทบาทในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ แอนนิตา ร็อดดิก ติดอันดับสตรีหนึ่งใน 25 คนนี้ด้วย

กระนั้นก็ตาม ผู้คนจำนวนไม่น้อยตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับบทบาทของ แอนนิตา ร็อดดิก เพราะไม่แน่ใจว่า เธอ ชูประเด็นสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และสวัสดิภาพของสัตว์ ด้วยความเชื่อและศรัทธาอันบริสุทธิ์ใจ หรือเพื่อมุ่งหวังผลประโยชน์ทางธุรกิจ แอนนิตา ร็อดดิกต้องต่อสู้กับความเคลือบแคลงและข้อกังขาเหล่านี้ เมื่อมีการกล่าวหาว่า ผลิตภัณฑ์ของ The Body Shop มีองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์สัตว์ อันตรงกันข้ามกับคำโฆษณา เธอไม่ลังเลในการยื่นฟ้องสถานีโทรทัศน์ Channal 4 ซึ่งเผยแพร่ข้อกล่าวหานี้ และชนะคดีในปี 2537

แอนนิตา ร็อดดิก ก้าวสู่บรรณพิภพด้วยการเขียนหนังสือ 2 เล่ม เล่มแรกเป็นอัตชีวประวัติ อันได้แก่ Body and Soul (1991) เล่มที่สองคือ Busi-ness as Usual ในปี 2539 เธอผลักดันให้จัดตั้ง The New Academy of Business เพื่อปฏิรูปการศึกษาการบริหารธุรกิจและพาณิชยศาสตร์สำหรับศตวรรษหน้า

แม้ว่า The Body Shop ประสบความสำเร็จในการบุกเบิกการผลิตเครื่องสำอาง เครื่องประทินผิว และ เครื่องสำอางที่เป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ แต่ความสำเร็จของ The Body Shop กลายเป็นแม่เหล็กดูดดึงผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาแข่งขันในตลาดนี้ ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบเดียวกับของ The Body Shop ผุดขึ้น มิจำเพาะแต่ในประเทศอังกฤษ หากยังผุดขึ้นในประเทศ อื่นๆ ทั่วโลก ภัยพิบัติจากผงเคมีทำให้มนุษย์หันไปหาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ

พลังการแข่งขันในตลาดทำให้รายได้จากการขายของ The Body Shop International ตกต่ำ กำไรหดหาย คู่แข่งสำคัญของ The Body Shop International คือ Boots ในปี 2541 The Body Shop International ต้องปฏิรูปการจัดองค์กรขนานใหญ่มีการว่าจ้างนักบริหารมืออาชีพ (Patrick Gournay จาก Group Danone สาขา อเมริกาเหนือและใต้) เพราะนายทุนแอคติวิสต์ดังเช่นแอนนิตา ร็อดดิก ไม่เหมาะ ที่จะบริหารบรรษัทยักษ์ใหญ่ดังเช่น The Body Shop International อีกต่อไป

ในการยกเครื่ององค์กร The Body Shop International ตัดสินใจขายโรงงานในสหราชอาณาจักรจำนวน 2 โรง ให้แก่ Pac Creative แห่งแอฟริ-กาใต้ในปี 2542 เพื่อลดกิจกรรมด้านการผลิต โดยหันมาเน้นด้านการขาย ทั้งนี้ Pac Creative จะเป็นผู้ผลิตสินค้าให้ The Body Shop International

ในสหรัฐอเมริกา The Body Shop International ตัดสินใจขายหุ้นครึ่งหนึ่งให้ Bellamy Retail โดยแปร สภาพเป็นธุรกิจร่วมทุน (Joint Venture) ส่วนในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝรั่งเศส และเยอรมนี The Body Shop Inter-national เข้าไปซื้อกิจการจากผู้ประกอบการท้องถิ่นที่อยู่ใน International Franchise System

การปรับและยกเครื่ององค์กรทำให้ฐานะการเงินของ The Body Shop International ในปี 2542/43 กระเตื้องขึ้น

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us