Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2536








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2536
ฟลอเรนซ์ ฟาง หญิงเหล็กแห่งซานฟรานฯ             
 


   
search resources

News & Media
ฟลอเรนซ์ ฟาง




เธอคือเจ้าของธุรกิจสิ่งพิมพ์ชั้นแนวหน้าแห่งเบย์ แอเรีย เจ้าของภัตตาคารชื่อดังในซานฟรานซิสโกที่เป็นเสมือนสโมสรทางการเมืองนอกทำเนียบแห่งไชน่าทาวน์ และบารมีทางการเมืองของเธอนั้น เป็นที่ยอมรับกันว่า ไม่ใช่เรื่องที่จะมองข้ามกันได้ง่าย ๆ

เวลาอาหารกลางวันที่ภัตตาคารแกรนด์พาเลซในซานฟรานซิสโก แน่นไปด้วยลูกค้าพนักงานบริการเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วไปมาตามทางเดินระหว่างโต๊ะอาหาร มือทั้งสองข้างประคองจานเป็ดปักกิ่งและเนื้อมองโกเลีย ท่ามกลางสรรพสำเนียงและความเคลื่อนไหว ฟลอเรนซ์ ฟาง เจ้าของภัตตาคารทอดสายตามองไปทั่วร้านอย่างเงียบ ๆ เธอหยุดทักทายแขกชั่วครู่ก่อนจะเดินไปสั่งงานกับหัวหน้าบริการ

แกรนด์พาเลซเปิดดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 1983 ฟางซื้อกิจการมาจากเจ้าของเก่าที่ล้มละลายตามคำแนะนำของจอห์น ผู้สามี ทุกวันนี้ แกรนด์พาเลซเป็นภัตตาคารที่ชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของซานฟรานซิสโก และฟางก็เป็นเจ้าของร้านอาหารที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากที่สุดคนหนึ่งเช่นกัน

แต่สิ่งที่ทำให้เธอมีชื่อไปทั่วตอนเหนือของแคลิฟอร์เนียไม่ใช่ความลือเลื่องในรสชาติอาหารของแกรนด์พาเลซเท่านั้น ที่จริงแล้ว ฟางคือหนึ่งในตัวแทนแห่งอำนาจหรือพาวเวอร์ โบรกเกอร์ (POWER BROKER) ที่โดดเด่นคนหนึ่งในซานฟรานฯ

ฟลอเรนซ์ ฟาง เป็นประธานกลุ่มธุรกิจสิ่งพิมพ์แพน เอเชีย เวนเจอร์ แคปปิตอล ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ "ดิ อินดีเพนเดนท์" และ "เอเชี่ยน วีค" ดิ อินดีเพนเดนท์ตีพิมพ์สัปดาห์ละ 3 ครั้ง และแจกฟรีให้กับผู้อ่าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางหลาย ๆ เชื้อชาติ ซึ่งมักจะเป็นพวกที่มีความคิดแบบอนุรักษ์นิยมที่อาศัยอยู่ทางฟากตะวันตกของตัวเมือง

ความสำเร็จของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้อยู่ที่การนำเสนอเนื้อหาที่ให้ความสำคัญกับความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น เช่น ข่าวตำรวจ การศึกษา ภาษี การบริการของเทศบาล รวมทั้งการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาลกลาง

ส่วนเอเชี่ยนวีค ซึ่งเป็นนิตยสารรายสัปดาห์ระดับชาติสำหรับชุมชนชาวเอเชียฉบับแรกในอเมริกามีกลุ่มผู้อ่านที่ใหญ่กว่า ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีความรับรู้ทางการเมืองและมีความคิดที่ต้องการให้คนเอเชียอเมริกามีส่วนร่วมในทางอำนาจด้วย เนื้อหาหลักเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาของชุมชนชาวจีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม หนังสือทั้งสองเล่มนี้เป็นสื่อที่ขาดไม่ได้สำหรับนักธุรกิจและนักการเมืองในย่านเบย์ แอเรีย ของซานฟรานซิสโก

บริษัทโฮลดิ้งของตระกูลฟางยังเป็นเจ้าของไชนีส ทีวี ไกด์, เรียลเอสเตท เอ็กซเพรส และมิชชั่น ไลฟ์ ซึ่งเป็นนิตยสารรายเดือนภาษาอังกฤษ และสเปนในเล่มเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีโรงพิมพ์อีก 2 แห่ง ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัทการลงทุน และสำนักพิมพ์ด้วย

แพน เอเชียมียอดขายประมาณปีละ 20 ล้านเหรียญ จัดว่าเป็นหนึ่งในอาณาจักรธุรกิจสิ่งพิมพ์ทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่ง

การก้าวเข้าไปสู่วงจรแห่งอำนาจในซานฟรานซิสโกของฟางเกือบจะเป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้น ตอนที่มาถึงซานฟรานซิสโกในปี 1961 พร้อมกับปริญญาด้านธิเบตศึกษาจามหาวิทยาลัยเชงชีของไต้หวัน ฟางวางแผนที่จะไปศึกษาต่อที่ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ วอชิงตันในซีแอตเติล บังเอิญเธอได้พบกับจอห์น ฟาง ซึ่งอพยพจากเซี่ยงไฮ้มาอเมริกาเมื่อปี 1953 และได้เข้าไปเรียนวิชาการหนังสือพิมพ์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบอร์คเล่ย์ ทั้งคู่แต่งงานกัน และมีลูกชายคนแรกจึงตัดสินใจล้มเลิกแผนการศึกษาต่อและปักหลักใช้ชีวิตอยู่ที่ซานฟรานซิสโกเป็นการถาวร

จอห์นเป็นผู้ก่อตั้ง แกรนท์ พริ้นติ้ง เฮ้าส์ โดยเริ่มจากห้องแถวเล็ก ๆ ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นโรงพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดโรงหนึ่ง ของซานฟรานฯ ในปัจจุบัน แต่กว่าที่จะมาถึงขั้นนี้ หนทางไม่ได้ราบเรียบโดยตลอด จอห์นล้มป่วยลงในช่วงทศวรรษ 1970 ทำให้ธุรกิจเริ่มคลอนแคลน ช่วงนี้เองที่ฟางซึ่งทำหน้าที่แม่บ้านอยู่ต้องเข้ามาดูแลแทนสามีอย่างไม่ค่อยจะเต็มใจนักในตอนแรก

"ฉันยังจำวันแรกที่ไปที่โรงพิมพ์ได้" ฟางซึ่งมีอายุ 30 กว่าปีในตอนนั้น พูดถึงความหลัง "ไม่รู้เรื่องอะไรเลย แม้กระทั่งเขียเช็คก็เขียนไม่เป็น" สัปดาห์แรกเธอพิมพ์นามบัตรได้เพียงชุดเดียว ได้ค่าจ้างมาแค่ 6 เหรียญ "ฉันเรียนรู้ท่ามกลางความยากลำบาก มันแสนสาหัสจริง ๆ " ฟางเล่า

ฟางเป็นคนที่เรียนรู้เร็ว เวย์น หู เพื่อนเก่าแก่ของฟาง ซึ่งเป็นนักพัฒนาโครงการเรียลเอสเตท เล่าว่า นักธุรกิจจีนในไชน่าทาวน์เชื่อว่าพวกตนไม่อาจจะเอาชนะอุปสรรคที่ขัดขวางการขยายธุรกิจเล็ก ๆ ให้เติบใหญ่ออกไปนอกชุมชนชาวจีนได้ ฟางกลับไม่คิดเช่นนั้น "ฟลอเรนซ์ ซึ่งเป็นผู้มาทีหลัง ไม่รู้จักคำว่าอุปสรรค เธอรู้จักแต่คำว่า โอกาส" หูกล่าว

ตอนต้นทศวรรษ 1970 ทรัพย์สินของตระกูลฟางมีเพียงชุดตัวเรียงพิมพ์เพียงชุดเดียวเท่านั้น เวลาพิมพ์งานยังใช้เครื่องพิมพ์ที่พิมพ์ด้วยมืออยู่ งานที่เข้ามาก็เป็นงานชิ้นเล็ก ๆ เท่านั้น เธอตัดสินใจขอกู้เงิน 60,000 เหรียญจากหน่วยงานบริหารธุรกิจขนาดย่อม ซึ่งเป็นองค์การรัฐบาลที่ให้สินเชื่อกับธุรกิจขนาดเล็ก ฟางโละเครื่องมือเก่าที่ใช้อยู่ และนำเงินกู้ก้อนนี้ไปซื้อแท่นพิมพ์แบบเวบมาแท่นหนึ่ง

"โรงพิมพ์เล็ก ๆ มีจำนวนมากเกินไป เราต้องไปแย่งขนมปังชิ้นเล็ก ๆ กับคนอื่น ฉันต้องการทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป เพื่อที่จะได้รวบขนมปังมาอยู่กับเราทั้งก้อนเลย" ฟางพูดถึงแนวความคิดในการพลิกโฉมหน้าโรงพิมพ์ของตัวเอง

เมื่อมีแท่นพิมพ์ทันสมัย ตระกูลฟางก็ใช้ประโยชน์จากมันอย่างเต็มที่ จอห์นออกหนังสือเอเชี่ยนวีค ในปี 1979 ซึ่งปรากฏว่าทำกำไรได้มากมายให้กับโรงพิมพ์ ในระหว่างนั้นฟางก็ขยายธุรกิจเพิ่มโดยการสั่งแท่นพิมพ์และอุปกรณ์เข้ามาขายเป็นรายได้พิเศษด้วย

หลังจากจอห์นมีสุขภาพดีขึ้น สามารถทุ่มเทให้กับธุรกิจด้านสิ่งพิมพ์ได้อย่างเต็มตัว ฟางก็เริ่มมองหากิจการอื่น ๆ ซึ่งเธอก็ได้พบแกรนด์พาเลซในปี 1983 จากผู้ประกอบการโรงพิมพ์มาเป็นเจ้าของภัตตาคาร เธอประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ฟางเปิดเผยว่า เพียง 3 ปี พนักงานจำนวน 1 ใน 4 ของร้าน มีรายได้มากพอที่จะซื้อบ้านเป็นของตัวเอง เมื่อถึงปี 1989 ภัตตาคารของเธอ ซึ่งมีห้องครัว 4 ห้องมีลูกค้าเข้าร้านถึงวันละ 1 พันคน ในจำนวนนี้มีไม่น้อยที่เป็นนักการเมืองชั้นนำของซานฟรานซิสโกด้วย

ทศวรรษ 1980 ย่างเข้ามา พร้อม ๆ กับที่ชื่อเสียงบารมีของฟางแผ่ไปทั่วชุมชนชาวเอเชีย คนจีนในไชน่าทาวน์ของซานฟรานฯ ต้องประสบปัญหาไฟดับมาเป็นเวลานาน ในปี 1985 ฟางยื่นฟ้องบริษัทแปซิฟิค แก๊ส แอนด์ อิเล็คทริค ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านไฟฟ้าและแก๊สสำหรับความร้อนที่ใหญ่ที่สุดในแคลิฟอร์เนีย ทางแปซิฟิคฯ ต้องขอเจรจาด้วย ก่อนที่คดีจะถูกนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ผลปรากฎว่าแปซิฟิคฯ ยอมเดินสายไฟฟ้าเมนในไชนาทาวน์ใหม่ และยอมคืนเงินให้ผู้ใช้ไฟด้วย

ตระกูลฟางยังมีบทบาทสำคัญในกลุ่มผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันด้วย ฟางเป็นสมาชิกของกลุ่มรีพับลิกัน อีเกิล ซึ่งคนที่จะเข้าเป็นสมาชิกได้ต้องบริจาคเงินให้พรรคอย่างน้อย 15,000 เหรียญ ปี 1986 เธอได้รับการคัดเลือกจากประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ให้เป็นตัวแทนไปร่วมประชุมเกี่ยวกับธุรกิจขนาดย่อมที่ทำเนียบขาว สองปีต่อมาระหว่างการรณรงค์หาเสียงรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของจอร์ช บุช ฟางใช้ภัตตาคารแกรนด์พาเลซเป็นสถานที่จัดงานระดมทุนหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเริ่มขนานนามแกรนด์พาเลซว่า เป็น "สโมสรการเมืองประจำไชน่าทาวน์"

ดิ อินดีเพนเดนท์ มีส่วนสำคัญต่อการสร้างอิทธิพลในวงการเมืองท้องถิ่นของตระกูลฟาง ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีซานฟรานซิสโก ดิ อินดิเพนเดนท์ให้การสนับสนุนแฟรงค์ จอร์แดน ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน ในการท้าชิงตำแหน่งจากนายกเทศมนตรี อาร์ท แอลนอส ลูกชายของฟางที่ชื่อเท็ด ซึ่งมีอายุ 28 ปี และเป็นผู้จัดการแกรนด์ พริ้นติ้ง ออกค่าใช้จ่ายทุกอย่างในการพิมพ์หนังสือต่อต้านแอกนอส สมาคมพ่อค้าไชน่าทาวน์ ซึ่งฟางก่อตั้งขึ้นหลังแผ่นดินไหวในซานฟรานซิสโกเมื่อปี 1989 ก็หนุนจอร์แดนด้วย

เมื่อจอร์แดนได้รับชัยชนะในเดือนพฤศจิกายน 1991 ตระกูลฟางก็ได้รับการตอบแทน เจมส์ ลูกชายคนโตของครอบครัววัย 30 ปีได้รับการเสนอชื่อให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการการค้าระหว่างประเทศของซานฟรานซิสโก แต่อีกไม่กี่เดือนให้หลัง หนังสือพิมพ์ เดอะ ซานฟรานซิสโก เอ็กซาไมเนอร์ก็เปิดโปงว่า เจมส์ซึ่งอ้างตัวเองว่า เป็นทนายความไม่เคยจบการศึกษาจากโรงเรียนกฎหมาย และไม่เคยผ่านการสอบรับอนุญาตให้ว่าความในแคลิฟอร์เนียด้วย

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่หนาหูขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้นายกเทศมนตรีคนใหม่ต้องหารือกับเจมส์และเท็ด ซึ่งเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณาของดิ อินดิเพนเดนท์ มาตั้งแต่ปี 1987 เท็ดพูดอย่างแข็งกร้าวว่า ตระกูลฟาง จะไม่ยอมให้เจมส์ถูกกดดันจนต้องลาออกจนในที่สุดจอร์แดนก็ยอมแพ้ และเจมส์ได้อยู่ในตำแหน่งต่อไป

ชัยชนะของตระกูลฟางในกรณีนี้ เป็นสัญญาณอย่างชัดแจ้งว่า อย่าได้ดูเบาอิทธิพลของครอบครัวนี้ในซานฟรานซิสโก สตีฟ บลูม เลขานุการฝ่ายสื่อมวลชนของจอร์แดน กล่าวว่า นี่คือการสะท้อนอำนาจของฟลอเรนซ์ดดยตรง เฮนรี่ เดอร์ หัวหน้ากลุ่มคนจีนที่สนับสนุนการขจัดการแบ่งแยกระหว่างคนต่างสีผิวในซานฟรานซิสโกกล่าวว่า "แน่นอนว่าทุกวันนี้ อิทธิพลของเธอลดน้อยลงไปจากเดิม แต่ตระกูลฟางก็ยังมีบารมีที่จะทำอะไรได้ด้วยตัวเอง อย่าเพิ่งมองข้ามครอบครัวนี้"

การขยายตัวออกสู่ต่างประเทศอาจจะเป็นก้าวต่อไปของตระกูลฟาง หลังจากที่สามีของเธอเสียชีวิตไปในปี 1992 ฟางก็ได้เจรจาที่จะตั้งโรงพิมพ์ในเซี่ยงไฮ้ตลอดมา และบางทีสิ้นปีนี้ผลการเจรจาอาจจะสำเร็จ นอกจากนั้นยังมีแผนที่จะตั้งโรงงานผลิตวัสดุสร้างบ้าน ขายให้กับประเทศในย่านสองฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิค เท็ดเชื่อมั่นว่า ธุรกิจใหม่ของแม่จะต้องประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน "แม่เกิดที่แผ่นดินใหญ่ จึงรู้จักคนจีนเป็นอย่างดี และแม่ก็อยู่ที่นี่มาตั้งแต่ผมเกิด จึงรู้ซึ้งถึงวิธีที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในดินแดนสองฟากฝั่งแปซิฟิค แม่ถูกกำหนดให้เป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ให้เป็นจริงโดยเฉพาะ" เท็ดพูดถึงแม่ของเขา…ฟลอเรนซ์ ฟาง หญิงเหล็กแห่งซานฟรานซิสโก…

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us