Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2536








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2536
กัมพูชาขุมทองหรือสุสานการลงทุน             
 


   
search resources

Cambodia




แม้สาธารณูปโภคจะอยู่ในสภาพใกล้อัมพาต ระบบไฟฟ้าเกือบจะใช้การไม่ได้แล้วหลังหกโมงเย็น น้ำไม่ไหล ระบบธนาคารไม่มี แต่สำหรับคนที่มีวิญญาณของผู้ประกอบแล้ว กัมพูชาคือดินแดนที่อุดมสมบูรณ์สำหรับการลงทุนอย่างน้อยที่สุดก็ในเวลานี้

แซม อุม หรือชื่อในภาษาเขมรว่า สม อุม วิ่งอย่างรวดเร็วไปที่ประตูร้านฟาสฟู้ดส์ของเขาที่ตั้งอยู่ในย่านดาวทาวน์ของกรุงพนมเปญ มือที่หอบหนังสือกองใหญ่และกระเป๋าไนล่อนที่สะพายอยู่บนไหล่ ทำให้เขาคล้ายนักศึกษามหาวิทยาลัยมากกว่านักธุรกิจวัย 40 เขาคว้าผ้าคาดเอวกันเปื้อนและหมวกแก๊ปสีแดงจากหลังเคาน์เตอร์ ปากก็ตะโกนสั่งลูกน้อง แน่นอนว่า ต้องเป็นภาษาเขมร เพราะภาษาอังกฤษที่พนักงานในร้านรู้จักมีเพียง 2 คำเท่านั้น คือ "เบอร์เกอร์" กับ "เฟร้นซ์ไฟรส์"

เสร็จจากร้านฟาสฟู้ดส์ เขาวิ่งออกไปที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่อยู่ติดกัน ซึ่งมีปัญหาเร่งด่วนที่เขาเท่านั้นจะจัดการได้ พอทุกอย่างเรียบร้อยก็กระหืดกระหอบกลับมาต้อนรับลูกค้า "เอาโค้กด้วยไหมครับ" เขาถามด้วยภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกัน มือก็ปาดเหงื่อที่ไหลย้อยลงมาที่คิ้ว

เรานั่งอยู่ใกล้หน้าต่างกระจกบานใหญ่ หน้าร้านมีรถบรรทุกสีขาวคันใหญ่ ซึ่งข้างรถมีคำว่า UN และรถจิ๊ปทหารกัมพูชาจอดอยู่ ฝั่งตรงข้ามร้าน คือ ที่ทำการไปรษณีย์กลางพนมเปญ ถัดจากนั้นไปอีกหนึ่งช่วงตึก คือ บริเวณที่เป็นศูนย์กลางการปฏิบัติงานของกองกำลังรักษาสันติภาพสหประชาชาติบนพื้นถนนที่สกปรกเต็มไปด้วยขยะและดินโคลน แต่ภายในร้าน แมคแซม เบอร์เกอร์ กลับสะอาดหมดจด ในบรรยากาศแบบเดียวกับร้านฟาสฟู้ดส์ชื่อดังของอเมริกา

"ลูกค้าของเราเป็นพวกอันแท็ค 70 เปอร์เซ็นต์ อีก 30 เปอร์เซ็นต์คือเอ็นจีโอ" อุมกล่าว "แมคแซม เป็นธุรกิจร่วมทุนระหว่างผมกับเพื่อนจากสิงคโปร์ ซึ่งต้องการประมูลงานจากอันแท็ค แต่ไม่ได้ เราจึงตัดสินใจเปิดร้านนี้แทน เพราะเราคิดว่าร้านฟาสฟู้ดส์แบบตะวันตกจะเป็นที่ต้องการของชาวต่างชาตินับพัน ๆ คนที่มาทำงานที่นี่"

ทหารกลุ่มหนึ่งในชุดพรางซึ่งติดเครื่องหมายบนบ่าที่บ่งบอกว่าเป็นทหารแคนาดาและออสเตรเลียผลักประตูร้านเข้ามา ทหารเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของชาวต่างชาตินับพัน ๆ คนในกัมพูชาที่เข้ามาปฏิบัติงานในนามของสหประชาชาติเพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

แม้ว่าการเลือกตั้งจะผ่านพ้นไปด้วยดี โดยพรรคฟุนซินเปคได้รับเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด และรัฐบาลผสมระหว่างพรรคฟุนซินเปคกับพรรคประชาชนของฮุน เซน จะได้รับการจัดตั้งขึ้น แต่ปัญหาก็ยังไม่จบ เพราะเมื่อสหประชาชาติถอนตัวออกไปก็ไม่แน่นักว่า เขมรแดงจะยอมรับรัฐบาลผสมนี้ หรือสงครามกลางเมืองจะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งหรือไม่

ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่ยากจนมากที่สุดประเทศหนึ่งอย่างกัมพูชาในเวลานี้ คือ เงินตราต่างประเทศ แต่ก็มีความหวาดกลัวอย่างเห็นได้ชัดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างอาจจะหายวับไปกับตาได้ในทันที ทั้งนี้เพราะกฎหมาย ระเบียบ กติกาที่กำหนดโดยทางการนั้นมีอยู่น้อยมาก บรรยากาศเช่นนี้ไม่อาจดึงดูดการลงทุนระยะยาวหรือการลงทุนที่ต้องใช้เงินทุนมาก กระนั้นก็ตาม โอกาสก็ยังมีอยู่อย่างเหลือเฟือสำหรับผู้ประกอบการที่ชาญฉลาดอย่างเช่น สา อุม

อุมพูดถึงความยากลำบากของการทำธุรกิจในประเทศอย่างกัมพูชา ทุก ๆ เดือนเขาต้องสั่งวัตถุดิบจำนวน 200-300 หีบจากสหรัฐฯ โดยผ่านสิงคโปร์ เขาบอกว่าการพึ่งพาซัพพลายเออร์ภายนอกเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยง

"เราใช้มะเขือเทศและหัวหอมที่นี่ แต่อย่างอื่นต้องนำเข้าหมด ตอนนี้สินค้าของผมมารออยู่ที่ท่าเรือสีหนุวิลล์แล้ว แต่ยังเอาออกไม่ได้ เพราะต้องรอให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจตู้คอนเทนเนอร์เสียก่อน ระหว่างนี้ผมต้องซื้อของจากร้านอื่น หรือไม่ก็ขนส่งเข้ามาทางอากาศ ทำให้ต้นทุนผักกาดต้นหนึ่งสูงถึง 10 เหรียญ นั่นหมายถึงว่า ผักแต่ละชิ้นที่ใส่เข้าไปกับแฮมเบอร์เกอร์มีราคา 10 เซนต์"

เขาเปิดเผยว่า การเริ่มต้นทำธุรกิจที่นี่ไม่ใช่เรื่องยาก เขาไม่มีปัญหาในการซื้อตึกแถวเก่า ๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านฟาสฟู้ดส์ขณะนี้ เพราะว่ากฎหมายที่ดินเปิดไว้กว้างมาก เขายื่นแผนการปรับปรุงอาคาร และขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจอาหารจากเทศบาลพนมเปญ โดยเสียค่าใช้จ่ายทั้งที่เป็นค่าธรรมเนียมทางการและค่าน้ำร้อนน้ำชาเป็นเงินเพียงไม่กี่ร้อยเหรียญ

"ถ้าต้องการให้การเดินเรื่องเร็วขึ้น ก็ใช้วิธีจ้างหน้าม้าที่รู้จักคนในหน่วยงานรัฐ ผมจ้างคนไว้สองคนสำหรับติดต่อเรื่องใบอนุญานำเข้าและส่งออกกับเรื่องภาษี ผมเพียงแต่เซ็นชื่อและจ่ายเงินเท่านั้น" อุมอธิบาย

วิธีการเช่นนี้นำไปสู่คำถามเกี่ยวกับการฉ้อโกงของข้าราชการ อุมกล่าวว่า "การคอร์รัปชั่นยังไม่สูงมากนัก เบี้ยบ้ายรายทางที่จ่ายไปนั้นเป็นเงินน้อยมาก พอ ๆ กับค่าอาหารกลางวันในประเทศตะวันตก ผมไม่ถือว่านั่นคือการติดสินบน แต่เป็นการช่วยเหลือกันมากกว่า สำหรับข้าราชการที่กินเงินเดือนแค่เดือนละ 20 เหรียญ ผมไม่คิดว่าเป็นปัญหา โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว รัฐบาลจะไม่เข้ามายุ่งกับการดำเนินธุรกิจของผม จากประสบการณ์จนถึงตอนนี้ ทุกอย่างตรงไปตรงมา ไม่ค่อยจะมีซิกแซกกันเท่าไร"

ปัญหาใหญ่ที่สุดของอุม คือ เรื่องแรงงาน ซึ่งขาดทักษะพื้นฐานและมีอัตราการเข้าออกจากงานสูง "ถ้าคุณจ้างคนสัก 20 คนวันนี้ แล้วเหลืออยู่หนึ่งหรือสองคนตอนสิ้นเดือน ก็ถือว่าโชคดีแล้ว" อุมบ่น "คุณต้องสอนพวกเขาอยู่ตลอดเวลา คนที่นี่กระตือรือร้นที่จะทำงาน แต่ว่าไม่มีทักษะในเรื่องธุรกิจและการบริการ เด็กอายุ 16 ปีในอเมริกา สามารถทำงานได้เท่ากับคน 10 คนที่นี่"

ไม่เฉพาะแมคแซมเท่านั้นที่มีปัญหาเรื่องแรงงานเมื่อปีกลาย ลิลลี่ แซกเซอร์จากดีทแฮล์ม ทราแวลที่กรุงเทพฯ เข้ามาเปิดสาขาในพนมเปญ เธอจ้างหญิงสาวชาวกัมพูชาคนหนึ่งเป็นผู้ช่วยในออฟฟิศวันแรกของการทำงาน เธอสั่งให้หญิงสาวคนนั้นนำจดหมายไปส่งยังที่ทำการไปรษณีย์

"เธอกลับมาโดยที่ไม่มีจดหมาย แต่เงินที่ฉันให้ไปยังอยู่ ฉันถามว่า แล้วซื้อแสตมป์ยังไง เธอถามกลับว่า แสตมป์คืออะไร"

กัมพูชานั้นเต็มไปด้วยปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจและการลงทุนจากต่างชาติ ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดปัญหาหนึ่ง คือ สาธารณูปโภคระบบน้ำประปาและไฟฟ้านั้นตกค้างมาจากยุคที่ยังเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสอยู่ ในตอนกลางวันน้ำจะไหลอ่อนมาก และหลังจากหกโมงเย็นไปแล้วจะไม่ไหลเลย ธุรกิจทุกแห่งต้องมีถังเก็บน้ำและปั๊มน้ำเอาไว้ ถ้าเป็นกิจการใหญ่ ๆ ก็ถึงกับต้องสร้างระบบประปาของตัวเองเลยทีเดียว ส่วนระบบไฟฟ้าก็ยิ่งเลวร้ายกว่า ไฟตกและไฟดับนั้นคือส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันในพนมเปญ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ถ้าไม่มีการยกเครื่องโรงไฟฟ้าภายในปีนี้ ระบบไฟฟ้าทั้งหมดก็จะใช้การไม่ได้เลย

ในระดับประเทศก็ขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือที่ทันสมัย ถนนระบบโทรคมนาคม และโรงเรียน กัมพูชาไม่มีทั้งเงินและความชำนาญทางเทคนิคที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ในการประชุมที่โตเกียวเมื่อเดือนมิถุนายน 1992 องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการให้เงินช่วยเหลือหลาย ๆ แห่งให้คำมั่นว่า จะให้เงินช่วยเหลือเพื่อการฟื้นฟูกัมพูชาจำนวน 810 ล้านเหรียญ แต่อีกหนึ่งปีถัดมา กัมพูชาได้รับเงินเพียง 30% เท่านั้น

ส่วนโครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงินก็อยู่ในสภาพที่ล้าหลัง ระบบธนาคารถูกล้มเลิกและถูกยึดทรัพย์สินไปตั้งแต่ปี 1975 ซึ่งเป็นปีที่เขมรแดงขึ้นสู่อำนาจ เมื่อระบอบเฮงสัมรินซึ่งเวียดนามหนุนหลังอยู่เข้ามาแทนที่ ก็ไม่สนใจและไม่มีความชำนาญที่จะสร้างระบบธนาคารขึ้นมาใหม่ ธนาคารพาณิชย์เอกชนเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อสองปีที่แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน ดูเหมือนว่าคนกัมพูชาพอใจที่จะเก็บเงินไว้กับตัวเองด้วยวิธีการฝังดินไว้ในสวน

"ประชาชนยังไม่ไว้วางใจในระบบพอ" นักธุรกิจคนหนึ่งกล่าว "หลังจาก 20 ปีของความขัดแย้ง พวกเขายังตกอยู่ในความหวาดกลัวที่จะนำเงินที่มีอยู่ไปลงทุน ทุกคนคิดแต่จะหาเงิน แล้วเก็บซ่อนเอาไว้ เพื่อเตรียมตัวรับสิ่งที่เลวร้ายที่สุด"

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีธนาคารพาณิชย์เอกชน 14 แห่งเปิดสำนักงานในพนมเปญ และอีก 12 แห่งเป็นอย่างน้อยที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจได้แล้วในจำนวนนี้ธนาคารใหญ่ ๆ อย่างเช่น แบงก์อินโดสุเอซ และธนาคารกสิกรไทยอยู่ด้วย แต่ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มที่น่าสงสัยว่าจะเอาจริงแค่ไหน เช่น บริษัทสิงคโปร์ 6 บริษัทซึ่งได้รับอนุญาตให้เปิดธนาคารได้แต่ไม่มีสักแห่งเดียวที่มีประสบการณ์ทางด้านนี้

รัฐบาลได้ออกกฎหมายธนาคารฉบับชั่วคราว ซึ่งมีข้อกำหนดการดำเนินงานที่เข้มงวด และมีบทลงโทษอย่างรุนแรงสำหรับการทำความผิดทางการเงิน แต่ระบบศาลของกัมพูชายังมีสภาพสับสนยุ่งเหยิงจนยากที่จะหวังได้ว่า ผู้ที่กระทำความผิดจะถูกลงโทษจริง คนกัมพูชาที่ยากจนมักจะตกเป็นเหยื่อของพวกต้มตุ๋นอย่างง่าย ๆ ดังเช่น พวกนักศึกษาซึ่งต้องสูญเงินรวม ๆ กันเกือบ 200,000 ล้านเหรียญ เมื่อถูกชายคนหนึ่งหลอกว่าจะสอนภาษาให้ แล้วหลังจากนั้นจะส่งไปฝึกอบรมและทำงานที่ญี่ปุ่น

ตั้งแต่ปลายปี 1991 ซึ่งข้อตกลงเพื่อบรรลุสันติภาพในกัมพูชาขององค์การสหประชาชาติ ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย นักธุรกิจจำนวนมากจากภายนอกก็หลั่งไหลเข้าไปลงทุนในกัมพูชา รวมทั้งคนเขมรบางส่วนที่ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศก็เดินทางกลับมาหาลู่ทางการทำธุรกิจในบ้านเกิดด้วย

เส้นทางสู่ธุรกิจฟาสฟู้ดส์ที่ยาวไกล และคดเคี้ยวของอุม เริ่มต้นขึ้นในปี 1970 ตอนนั้นสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดถล่มกัมพูชาอย่างลับ ๆ แล้ว อุมเป็นทหารในกองทัพเรือกัมพูชา หลังจากที่เขาถูกส่งตัวไปเรียนหลักสูตรทหารเรือของสหรัฐฯ ที่โรดส์ ไอส์แลนด์ ได้ไม่กี่เดือน กรุงพนมเปญก็ตกอยู่ในเงื้อมมือของเขมรแดงเมื่อเดือนเมษายน 1975 ประชาชนอย่างน้อย 3 ล้านคนตกเป็นเหยื่อของระบบที่มีเป้าหมายในการกวาดล้างปัญญาชนและนักธุรกิจ ญาติพี่น้องของอุมรวมอยู่ในจำนวนนี้ด้วย เขากลายเป็นคนไร้แผ่นดินและสิ้นญาติขาดมิตรไปในทันที

ในอเมริกา อุมส่งเสียตัวเองเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ด้วยการทำงานกะกลางคืนในโรงแรม "ผมทำงานวันละ 18 ชั่วโมงเป็นเวลา 3 ปี" เขาย้อนไปถึงคืนวันเก่า ๆ "ภายในเวลาเพียง 2 ปี ผมก็ได้เป็นผู้จัดการของธุรกิจผลิตอาหาร ผมคิดว่าตัวเองมีศักยภาพที่จะทำอย่างอื่น ตอนที่ยังอายุน้อยอยู่ คนเรามักจะมีความฝันที่ยิ่งใหญ่"

ความใฝ่ฝันของอุมชักนำเขาและภรรยาซึ่งเป็นเขมรอพยพเช่นกัน ย้ายไปอยู่ที่แคลิฟอร์เนียตอนใต้ ซึ่งเขาได้งานเป็นผู้จัดการเขตของเครือข่ายธุรกิจโดนัทแห่งหนึ่ง เขาสมัครเรียนวิชาบริหารธุรกิจในมหาวิทยาลัยท้องถิ่น และยังทำงานกับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งด้วย สุดท้าย เขาก็เปิดร้านเบเกอรี่และฟาสฟู้ดส์ของตัวเอง แต่ก็ยังไม่พอใจจึงหันไปทำธุรกิจเรียลเอสเตทพร้อม ๆ กันไปด้วย

อุมคิดอยู่เสมอที่จะกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด แต่เขาก็รู้ว่าเป็นเรื่องที่ยากจะเป็นจริง จนกระทั่งปี 1989 เขาได้รับเชิญให้ร่วมอยู่ในคณะของผู้ลี้ภัยเขมรที่เดินทางไปถ่ายทำสารคดีโทรทัศน์ในกัมพูชา ซึ่งมีดิธปรานจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์ค ไทมส์ และ ดร.เฮียง สงอร์ ผู้แสดงนำในภาพยนตร์เรื่องคิลลิ่ง ฟิลด์ รวมอยู่ด้วย

"เมื่อผมตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน กัมพูชาในความคิดของผมมีแต่ความน่ากลัว" อุมกล่าว "แต่เมื่อไปเห็นกับตาจริง ๆ ผมเชื่อว่ามีโอกาสสำหรับการทำธุรกิจอยู่มาก ผมเห็นความกระตือรือร้นของผู้คน เห็นความตั้งใจที่จะทำงานของพวกเขา" หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็เก็บข้าวของอพยพครอบครัวกลับกัมพูชา แต่ก็ยังคงธุรกิจเรียลเอสเตทในแคลิฟอร์เนียไว้ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุน กจิการแรกของเขาในพนมเปญคือ ธุรกิจโรงแรมและภัตตาคารชื่ออินเตอร์เนชั่นแนล เฮ้าส์ ซึ่งเปิดดำเนินงานในตอนที่เจ้าสีหนุเดินทางกลับพนมเปญเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1991 โครงการที่สองที่ตามมา คือ ซุปเปอร์มาร์เก็ตซึ่งขายฟาสฟู้ดส์แบบตะวันตก

ปลายปี 1992 แมคแซม เบอร์เกอร์ และซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งที่สองก็เกิดขึ้นมา อุมยังมีบริษัทการค้าอีกแห่งหนึ่งด้วย ทำให้เขาเป็นเจ้าของกิจการ 6 แห่งใน 4 สาขาธุรกิจ อุมอาจจะไม่ใช่นักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในกัมพูชา แต่เขาเป็นคนหนึ่งที่มีความทะเยอทะยานที่จะไปสู่ความสำเร็จอย่างแรงกล้า

ทุกวันนี้ ในพนมเปญเต็มไปด้วยนักธุรกิจต่างชาติทั้งพ่อค้าไม้ ผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคมและเซลล์แมนขายรถหรูหรา ราคาแพง บางคนมาที่นี่เพื่อหวังขุดทอง แสวงหาความร่ำรวยแบบรวดเร็ว บางคนมาเพื่อวางรากฐานสำหรับอนาคต บนท้องถนนเต็มไปด้วยยี่ห้อสินค้าดัง ๆ ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นเมอร์ซิเดส เบนซ์ ลัคกี้ สไตร์ค ไฮเนเกน โกดัก และแคนนอน

ภายใต้บรรยากาศการลงทุนที่ข้อจำกัดของรัฐบาลยังมีอยู่น้อยมาก และเงินจากอันแท็คไหลสะพัดไปทั่ว ธุรกิจใหม่ ๆ หลากสีสันเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด นักธุรกิจมาเลซียนำเครื่องสล็อตแมชีนเข้ามาดูดเงินนักเสี่ยงโชคในย่านดาวทาวน์ของพนมเปญ และช่วยเหลือทางการกัมพูชาออกสลากกินแบ่งเป็นครั้งแรก แข่งกับบู้ทของสแครทช์แอนด์วิน ที่กระจายอยู่ทั่วเมือง หนุ่มอเมริกันคนหนึ่งออกหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ในขณะที่อเมริกาคนอื่น ๆ ลงขันกันเปิดบาร์ริมทะเลสาบเขมรชื่อ ร็อคฮาร์ด คาเฟ่ ส่วนพ่อค้าชาวอังกฤษอีกคนหนึ่งก็มีสินค้าที่ไม่น่าจะไปด้วยกันได้ 4 ชนิดมาเสนอขาย คือ เฟอร์นิเจอร์ ยางมะตอย รถแทรคเตอร์ และเครื่องตรวจธนบัตรปลอม นอกจากนี้ ก็ยังมีบริษัทแคมบรูของมาเลเซียที่กำลังจะผลิตเบียร์ออกมาขายปีละ 3.5 ล้านกล่อง

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในประเทศที่ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยปีละ 200 เหรียญต่อหัว และอัตราเงินเฟ้อวิ่งขึ้นเกือบถึง 300% เมื่อปี 1992 ในเดือนพฤษภาคมเพียงเดือนเดียว ระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นถึง 50% อันเนื่องมาจากความกังวลของประชาชนต่อผลการเลือกตั้ง ปัจจัยที่มีผลต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก คือ ค่าใช้จ่ายของอันแทค ซึ่งปีที่แล้วมีจำนวน 200 ล้านเหรียญโดยประมาณ เท่ากับ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) และในเดือนนี้ เจ้าหน้าที่ยูเอ็นจะถอนกำลังส่วนใหญ่จากจำนวน 20,000 คนในขณะนี้ออกไป

ในส่วนของการค้านั้น ความหวังไม่ค่อยจะสดใสนัก สินค้านำเข้าขยายตัวสูงมาก โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคจากสิงคโปร์ ทั้งรถยนต์ บุหรี่ ทีวี วิดีโอ และอาหาร ในขณะที่กัมพูชามีสินค้าที่โลกภายนอกต้องการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือ ไม้ โดยที่ส่วนใหญ่ของสินค้านำเข้าและส่งออกจะเป็นการลักลอบเลี่ยงภาษี

ตัวเลขอย่างเป็นทางการของเจ้าหน้าที่ศุลกากรกัมพูชา บ่งบอกถึงภาวะการขาดดุลการค้าปี 1992 สินค้านำเข้ามีมูลค่า 147.4 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 44% จากปี 1991 แต่มูลค่าการส่งออกที่แท้จริง (มูลค่าส่งออกทั้งหมดหักด้วยมูลค่ารีเอ็กซ์ปอร์ต) เพิ่มขึ้นเพียง 5% เป็น 74 ล้านเหรียญเท่านั้น ในช่วงเวลาเดียวกัน

นักเศรษฐศาสตร์ของอันแท็คคำนวณอัตราการเติบโตของจีดีพีในปี 1992 ออกมาเท่ากับ 8% แต่สำหรับปีนี้จะชะลอการเติบโตเหลือเพียง 3% เท่านั้น "ความหวังที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นอยู่กับการขยายตัวของรายได้ เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ และการลงทุนของภาคเอกชนต่างชาติ" รายงานของอันแทคว่าไว้เช่นนี้

สถานการณ์การเมืองที่ยังไม่มีเสถียรภาพทำให้ธุรกิจข้ามชาติจำนวนมาก ไม่ยอมขยายการลงทุนมากไปกว่าการเปิดสำนักงานหรือโชว์รูม โครงการลงทุนในระยะยาวทางด้านอุตสาหกรรมหรือเกษตรกรรมซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกัมพูชา ได้รับความสนใจน้อยมาก นักธุรกิจอยากจะให้กองกำลังสหประชาชาติคงอยู่ตลอดไป ซึ่งเป็นความฝันที่เลื่อนลอยพอ ๆ กับการตั้งความหวังว่า การเลือกตั้งที่ผ่านไปเมื่อเร็ว ๆ นี้นำมาซึ่งสันติภาพอย่างถาวร ตราบใดที่เขมรแดงยังคงอยู่ด้วยการสนับสนุนอย่างลับ ๆ จากบางแหล่งในประเทศไทย เศรษฐกิจกัมพูชาก็จะต้องอยู่สภาวะชะงักงันต่อไป

"ผมไม่รู้ว่า เมื่ออันแทคถอนตัวออกไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น" อุมกล่าวเมื่อมองไปที่รถบรรทุกทหารแคนาดาสีขาว ซึ่งกำลังแล่นออกไปจากหน้าร้าน "ไม่รู้ว่าความมั่นคงปลอดภัยจะเป็นอย่างไร นักลงทุนต่างชาติจะยังขนเงินเข้ามาลงทุนในกัมพูชาอีกหรือไม่"

อย่างไรก็ตาม อุมยังคงมีความใฝ่ฝันต่อไป เขาต้องการทำธุรกิจการเกษตร "กัมพูชาเป็นประเทศเกษตรกรรมถึง 70% ถ้าเราสามารถส่งสินค้าเกษตรไปขายต่างประเทศได้ และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก" เขายังสนใจธุรกิจการท่องเที่ยวและหวังที่จะสร้างโรงแรมแบบรีสอร์ตบนที่ดินใกล้นครวัดที่ซื้อมา "แต่ละปีมีคนมาเที่ยวเมืองไทย 5 ล้านคน ผมขอแค่ 20% หรือ 1 ล้านคนที่จะเลยมาถึงกัมพูชา ลองนึกดูสิว่า เราจะทำเงินได้มากขนาดไหน"

แต่ตอนนี้อุมมีเรื่องอื่นที่จะต้องทำก่อน เพราะร้านฟาสฟู้ดส์ของเขากำลังเผชิญกับสงครามราคา เมื่อร้านอื่น ๆ เช่นร้านอังเคิล แซม ลดราคาลงมาเพื่อกระตุ้นยอดขาย

"คนเขมรชอบตัดราคากันเอง มันเป็นเรื่องดีสำหรับผู้บริโภค แต่ไม่เป็นประโยชน์ต่อเจ้าของกิจการ เราอยากจะขายของในราคาสูง แต่รักษาคุณภาพและบริการ ซึ่งดูเหมือนว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเราก็ต้องการเช่นนี้ ผมยอมรับว่าฟาสฟู้ดส์ยังเป็นของใหม่สำหรับคนเขมร อาจจะต้องใช้เวลาอีก 5-6 ปีจึงจะเป็นที่ยอมรับกัน"

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us