ดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% ตามคาด โบรกฯเห็นพ้องหุ้นกลุ่มแบงก์ได้ประโยชน์โดยตรง แนะลงทุนให้น้ำหนักมากกว่าตลาด คาดแนวโน้มขาขึ้นช่วยหนุนส่วนต่างดอกเบี้ยจากพอร์ตสินเชื่อ ส่งผลอัตราดอกเบี้ยสุทธิเติบโตโดดเด่น
ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1.50% ต่อปี เป็น 1.75%ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกของไทยมีการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจของสหรัฐและญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง
ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2/2553 มีการขยายตัวได้ดีกว่าที่ได้เคยคาดการณ์ไว้ แม้จะมีการชะลอตัวลงจากไตรมาสแรกจากผลกระทบทางการเมือง แต่การบริโภคในภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี ภาคท่องเที่ยวมีการขยายตัวชัดเจน การผลิตและอัตราการใช้กำลังการผลิตปรับสูงขึ้นซึ่งจะช่วยให้การลงทุนภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป ขณะที่การส่งออกยังขยายตัวได้ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อการไหลเข้าและไหลออกของเงินทุนต่างประเทศบ้าง แต่ก็เชื่อว่านักลงทุนจะประเมินปัจจัยต่างๆประกอบด้วยเช่น ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและแนวโน้มในระยะข้างหน้า แรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ดังนั้นไม่ว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำหรือสูง หากเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งก็จะทำให้นักลงทุนต่างชาติย้ายการลงทุนมายังประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งไม่ได้ทำให้ กนง.กังวลแต่อย่างใด
ธนัท รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)กรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ถือว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในความคาดหมายของตลาดและอาจจะส่งผลดีต่อธนาคารพาณิชย์ในภาพรวม เนื่องจากในส่วนของดอกเบี้ยรับจะมีการปรับเพิ่มขึ้นทันทีทั้งในส่วนของดอกเบี้ยเงินกู้ รวมไปถึงอัตราดอกเบี้ยของอินเตอร์แบงก์ ซึ่งจะเป็นผลทำให้รายได้ของธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้นตามรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลบวกต่อการปรับขึ้นของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก(NIM) ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์(ROE) ของกลุ่มขยายตัวจาก 10.6% ในปี 2552 เป็น 10.7%ในปี 2553 และ 11% ในปี 2554
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแม้จะส่งผลดีต่อภาพรวมของธนาคารพาณิชย์แต่มองว่าจะมีเพียงธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่งเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์ค่อนข้างมากจากดอกเบี้ยขาขึ้นคือ ธนาคารกรุงเทพ(BBL) ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) และ ธนาคารกรุงไทย(KTB) เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เหล่านี้มีสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อทุกประเภทค่อนข้างมากในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและเล็กน่าจะมีปัญหาจากการที่ดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น เนื่องจากจะถูกกดดันจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูงโดยมองว่า บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) และธนาคารเกียรตินาคิน(KK) จะได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้นในระดับหนึ่ง เพราะทั้ง TISCO และ KK เป็นธนาคารที่เน้นสินเชื่อเช่าซื้อเป็นหลัก ซึ่งสินเชื่อเช่าซื้อมีการแข่งขันกันที่ค่อนข้างรุนแรงในเรื่องของราคา ซึ่งทั้ง 2 แห่งคงมีปัญหาบ้างในเรื่องของต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนในธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่4 แห่ง ทั้ง BBL, KBANK, SCB และ KTB เนื่องจากความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างดี และจากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวมากขึ้นความมั่นใจในการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น น่าจะทำให้สินเชื่อมีการขยายตัวได้มากขึ้นตามไปด้วย รวมทั้งราคาหุ้นของธนาคารทั้ง 4 แห่งยังมีอัพไซด์อยู่พอสมควร โดยให้ BBLมีราคาเป้าหมาย ที่ 167 บาท, KBANK มีราคาเป้าหมายที่ 126 บาท ,SCB มีราคาเป้าหมายที่ 113 บาทและ KTB มีราคาเป้าหมายที่ 15 บาท
อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์ใน 5 ปัจจัย ทั้งROE, P/E, P/BV, EPS growth, และ อัตราการจ่ายเงินปันผล สะท้อนได้ว่าในประมาณการปี 2554 ของกลุ่มธนาคารจะมีแนวโน้มการเติบโตของกำไรต่อหุ้น(EPS Growth) ใกล้เคียงกับ SET แต่จะมีอัตราการจ่ายเงินปันผลที่สูงกว่า และการประเมินมูลค่าที่ต่ำกว่าในทั้งในแง่ P/BV และ P/E เมื่อเทียบกับ SET จึงยังให้น้ำหนักการลงทุนของกลุ่มธนาคาร "มากกว่าตลาด"
ด้านบทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็น "ลงทุนมากกว่าตลาด" เช่นกัน หลังจาก กนง. มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรประเภท 1 วัน (RP 1 วัน) ขึ้น 0.25% เป็น 1.75% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้
เนื่องจากฝ่ายวิจัยมีมุมมองในเชิงบวกต่อ NIM ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้น เนื่องจากธนาคารมีความได้เปรียบจากโครงสร้างสินเชื่อที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวกว่า 70% ของสินเชื่อรวม ขณะที่มีโครงสร้างเป็นเงินฝากและเงินกู้ยืมราว 50% เท่านั้นที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว จึงทำให้กลุ่มธนาคารได้รับผลบวกจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนใหญ่ที่ปรับเพิ่มขึ้นทันที ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากค่อยๆ ทยอยปรับเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ จากการศึกษาของฝ่ายวิจัยฯพบว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY), ธนาคารธนชาต(TCAP), ธนาคารทหารไทย(TMB), KTB, KBANK, SCB ถือเป็นหุ้นกลุ่มธนาคารที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดในช่วงอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากมีโครงสร้างสินเชื่อที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวสูงและมีโครงสร้างเงินทุนที่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่สูง ขณะที่ BBL เป็นธนาคารที่ฝ่ายวิจัยฯประเมินว่าจะไม่ได้รับผลบวกนักจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย แม้จะมีโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อและเงินทุนรวมที่เอื้ออำนวย แต่เนื่องจากมีสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากและเงินกู้ยืมในระดับต่ำกว่าธนาคารอื่นๆ จึงทำให้สูญเสียผลบวกดังกล่าวไปมาก ขณะที่ประเมินว่า TISCO จะได้รับผลกระทบมากสุด เนื่องจากความเสียเปรียบในด้านโครงสร้างสินเชื่อที่ส่วนใหญ่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ ขณะที่โครงสร้างเงินทุนรวมเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวกว่า 22%
สำหรับภาพรวมผลกระทบต่อ NIM ของกลุ่ม จากการศึกษาของฝ่ายวิจัยฯพบว่าทุก 25bps ที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้น จะทำให้ NIM ปี 2553 ของกลุ่มเพิ่มขึ้น 1.4bps จากสมมติฐานปัจจุบันที่ 3.70% ขณะที่ NIM ปี 2554 จะเพิ่มขึ้น 3.7bps จากสมมติฐานปัจจุบันที่ 3.74% ตามลำดับ (เนื่องจากได้รับผลบวกจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นเต็มที่ทั้งปี)
ดังนั้นจึงคาดว่า EPS ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปี 2553 - 2554 จะเติบโตในเชิงรุกถึง 9.3% และ 17% ตามลำดับเมื่อเทียบแบบปีต่อปี โดยมีหุ้น Top Picks คือ KBANK, BBL, และ TCAP จากการให้น้ำหนักใน 2 ส่วนคือ น้ำหนักด้านพื้นฐาน 70% น้ำหนักด้านมูลค่าหุ้น 30% ซึ่งการกำหนดน้ำหนักด้านพื้นฐานฝ่ายวิจัยฯให้น้ำหนัก 70% ไปที่ฐานสินเชื่อรายใหญ่และ SME รวมทั้งปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ ส่วนที่เหลือให้น้ำหนัก 30% โดยธนาคารขนาดใหญ่ที่ได้คะแนะนำสูงสุด 2 อันดับแรกคือ BBL และ TCAP และอันดับ 3 คือ KBANK โดย BBL และ KBANK ถือเป็นตัวแทนของธนาคารขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะราคาหุ้นจะสามารถสร้างผลตอบแทนเหนือ(Outperform) ค่าเฉลี่ยกลุ่มได้ ขณะที่ TCAP เป็นตัวแทนของหุ้นธนาคารที่เน้นเช่าซื้อรถยนต์ เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตเชิงรุกของธุรกิจภายหลังควบรวมกิจการในระยะ 2 - 3 ปีข้างหน้า
|