Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2536








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2536
เศรษฐกิจกัมพูชา ในบรรยากาศการฟื้นฟูชาติ             
โดย ทรงฤทธิ์ โพนเงิน
 

 
Charts & Figures

ตารางแสดงสภาวะทางเศรษฐกิจของกัมพูชา


   
search resources

Economics
Cambodia




สำหรับนักธุรกิจการค้า และการลงทุน ชาวต่างประเทศในกัมพูชาแล้ว จะมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในนิยามของคำกล่าวที่ว่า "เสี่ยงและไม่นอน แต่ก็มีความหวัง"

เสี่ยงและไม่แน่นอนก็เพราะว่า แม้พรรคการเมืองทั้งสี่ของเขมรจะสามารถตกลงในการจัดตั้งรัฐบาลผสมชั่วคราวใดก็ตาม แต่เขมรแดงที่เป็นตัวแปรสำคัญทางการเมืองยังคงอยู่นอกวงเจรจาทั้งยังไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นของการจัดตั้งกองทัพแห่งชาติ อันเป็นสิ่งที่จะชี้วัดถึงความเป็นไปของกัมพูชา

ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ยังคงรอคอยให้รัฐบาลแห่งชาติกัมพูชาดำเนินการบูรณะและฟื้นฟู เพื่อความอยู่รอดของประเทศและชาวเขมรทั้งในระยะเฉพาะหน้าและระยะยาวก็คือ ความทรุดโทรมของชาติทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ดำรงสภาพมาอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ทศวรรษ โดยในสายตาของนักธุรกิจที่หวังผลในระยะสั้นต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่าเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง

แต่สำหรับนักธุรกิจการค้าและการลงทุนที่หวังผลในวันข้างหน้าแล้ว แม้จะรู้ว่าเสี่ยงและไม่แน่นอนในขณะนี้ แต่ก็ยังมีความหวังอยู่ว่า "กัมพูชา" คือ แดนสวรรค์ที่ควรค่าแก่การลงทุน เพราะถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเมือง หรือการลงทุน ล้วนแล้วแต่มีเป้าหมายเพื่อ "ความอยู่รอดและผลประโยชน์" ควบคู่กันไป

การเลือกตั้งสมาชิกสภารัฐธรรมนูญของชาวกัมพูชาที่ดำเนินการ โดยองค์การบริหารชั่วคราว แห่งสหประชาชน เพื่อการถ่ายโอนอำนาจในกัมพูชาหรืออันแทค ระหว่างวันที่ 23-28 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยพรรคฟุนซินเปก (FUNCINPEC) ภายใต้การนำของสมเด็จนโรดม รณฤทธิ์ โอรสของเจ้าสีหนุ ประมุขแห่งรัฐในฐานะประธานสภาสูงสุดแห่งชาติ (SUPREME NATIONAL COUNCIL : SNC) มีชัยชนะในการเลือกตั้งเหนือพรรคการเมืองอื่น ๆ โดยมีจำนวนสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งจำนวน 58 ที่นั่ง

ในขณะที่พรรคประชาชนกัมพูชา (CAMBODIAN PEOPLE PARTY : CPP) ของรัฐบาลฝ่ายพนมเปญ ซึ่งเป็นพรรคคู่แข่งทางการเมืองของพรรคฟุนซินเปก ได้รับเลือกตั้งจำนวน 51 ที่นั่ง พรรคประชาธิปไตยเสรีพระพุทธศาสนา (BUDDHIST LIBERAL DEMOCRATIC PARTY : BLDP) ของนายซอน ซานน์ อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคโมลีนาคา (MOLINAKA) ซึ่งเป็นพรรคนิยมระบอบกษัตริย์ ได้รับเลือกตั้งจำนวน 10 ที่นั่ง และ 1 ที่นั่งตามลำดับ จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 120 ที่นั่ง ทั้งนี้โดยประชาชนชาวกัมพูชาได้ออกมาใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงถึงร้อยละ 90 ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ทั้งสิ้น 4.7 ล้านคน

แต่เนื่องจากผลการเลือกตั้งดังกล่าว ไม่มีพรรคการเมืองใดที่ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง และถึงแม้ว่าเมื่อรวมจำนวนสมาชิกของพรรคฟุนซินเปกเข้ากับพรรคประชาธิปไตยเสรีฯ และพรรคโมลีนาคา ซึ่งเป็นพรรคพันธมิตรทางการเมืองแล้ว จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก็ตาม แต่ประเด็นทางการเมืองของกัมพูชาที่มีความสำคัญยิ่งกว่าการจัดตั้งรัฐบาลก็คือ การร่างรัฐธรรมนูญการปกครองประเทศและการผ่านร่างรัฐธรรมนูญออกมาบังคับใช้ ซึ่งการที่จะทำเช่นนั้นได้ จำเป็นต้องได้รับการรับรองจากสมาชิกสภาฯ ด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสภาทั้งหมด 120 ที่นั่ง

พรรคพันธมิตรทางการเมืองทั้ง 3 พรรค จึงต้องอาศัยคะแนนเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาฯ ของพรรคประชาชนที่คุมอำนาจทางการเมืองและการบริหารกัมพูชามาเป็นเวลาเกือบ 14 ปี

ฉะนั้น รูปลักษณ์ของการจัดตั้งรัฐบาลกัมพูชา จึงปรากฏออกมาในรูปของรัฐบาลชั่วคราวที่เป็นการผสมระหว่าง 4 พรรคการเมืองที่เป็นการถ่างดุลอำนาจการบริหารงานชั่วคราว ระหว่าง 2 พรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคฟุนซินเปกกับพรรคประชาชน โดยการเห็นชอบร่วมกันให้เจ้ารณฤทธิ์กับนายฮุน เซน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสันติสุข (มหาดไทย) ร่วมกัน ในขณะเดียวกันก็มีการจัดแบ่งความรับผิดชอบในการบริหารงานกระทรวงที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและการต่างประเทศให้เป็นโควต้าของพรรคฟุนซินเปก ส่วนพรรคประชาชนได้รับโควต้าในกระทรวงที่เกี่ยวกับกิจการภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่

สภาพเช่นนี้ยังคงจะดำรงต่อไป จนกว่าจะมีการผ่านร่างรัฐธรรมนูญและประกาศบังคับใช้ภายในเดือนกันยายน โดยหลังจากนั้น รูปลักษณ์ทางการเมืองและรัฐบาลของกัมพูชาจะเป็นเช่นใด ย่อมขึ้นอยู่กับบทบัญญัติและข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญอันจะเกิดขึ้นด้วยการตกลงและการต่อรองระหว่างพรรคพันธมิตร 3 พรรคกับพรรคประชาชนของฝ่ายพนมเปญ

ประเด็นการต่อรองที่มีความสำคัญต่ออำนาจทางการเมืองระหว่างพรรคการเมืองในขณะนี้ก็คือ ประเด็นในการรวมกองทัพแห่งชาติที่พรรคพันธมิตรทั้ง 3 เสนอให้มีการรวมกองกำลังของฝ่ายเขมรแดงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพแห่งชาติด้วย ในขณะที่พรรคประชาชนต้องการให้การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติจำเป็นต้องได้รับการรับรองจากสมาชิกสภาฯ ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสภาฯ ทั้งหมด

"แม้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะมีข้อเสนอที่แตกต่างกันแต่ก็เพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือ การรักษาอำนาจทางการเมืองของฝ่ายตนให้ได้มากที่สุด โดยการที่พรรคฟุนซินเปก และพรรคพันธมิตรต้องการให้มีการรวมกองกำลังฝ่ายเขมรแดงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพแห่งชาติ ก็เพื่อให้เป็นการดุลอำนาจทางการทหารกับฝ่ายพนมเปญ ในขณะที่ฝ่ายพนมเปญก็ต้องการดำรงบทบาทและฐานะอำนาจทางการเมืองของพรรคต่อไป ฉะนั้นข้อเสนอให้มีการกำหนดลงในรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลด้วยเสียงรับรองจากสมาชิกสภาฯ 2 ใน 3 นั้นนับเป็นหลักประกันอนาคตทางการเมืองของพรรคประชาชน ไม่ว่าพรรคจะตกอยู่ในสถานะผู้ชนะหรือผู้แพในการเลือกตั้ง" แหล่งข่าวนักการฑูตอาวุโสในกรุงพนมเปญฯ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

แนวโน้มทางการเมืองของกัมพูชาในระยะเฉพาะหน้าเป็นสิ่งที่ยากยิ่งสำหรับการทำความเข้าใจกับสภาพการณ์ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากเป็นช่วงเวลาของการต่อรองเพื่อการจัดสรรและจัดระบบอำนาจทางการเมือง ฉะนั้นภาพของความเคลื่อนไหวและเงื่อนไขที่ปรากฏออกมาอย่างต่อเนื่องจึงเป็นภาพลักษณ์ของ "ความไม่แน่นอน" ทางการเมือง

แต่สำหรับการวิเคราะห์ในวงการฑูตและวงการนักธุรกิจการค้าการลงทุนแล้ว ต่างมีความเชื่อมั่นว่า การเมืองของกัมพูชาจะมีพัฒนาการไปในแนวทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะยาว

เพราะอย่างน้อยการที่พรรคการเมืองทั้ง 4 พรรคสามารถตกลงในการจัดตั้งรัฐบาลผสมชั่วคราวได้นั้น นับได้ว่าเป็นความสำเร็จในการประนีประนอมทางการเมืองขั้นแรกของกัมพูชาที่ไม่เคยเกิดขึ้นในความเป็นจิรงมาเป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ และถึงแม้ว่าความสำเร็จทางการเมืองในครั้งนี้จะปราศจากการเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงของฝ่ายเขมรแดงก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ในทางอ้อมระหว่างพรรคฟุนซินเปกและฝ่ายซอน ซานน์ที่มีต่อฝ่ายเขมรแดงในฐานะพันธมิตรทางการเมืองแล้ว ย่อมถือได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ไม่ได้ตีกันและโดดเดี่ยวฝ่ายเขมรแดงออกไปจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองของกัมพูชา ทั้งยังเป็นหลักประกันสำหรับการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของฝ่ายเขมรแดงในอนาคตที่ไม่นานเกินรอ

"ผมมีความเชื่อมั่นว่า ปัญหาต่าง ๆ ในทางการเมืองของกัมพูชาทุกฝ่ายจะสามารถจัดสรรอำนาจระหว่างกันได้อย่างลงตัวก่อนที่จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในเดือนกันยายน เพราะในขั้นตอนของการร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญนี้ ในความเป็นจริงแล้วก็คือ ขั้นตอนของการเจรจาต่อรองเพื่อการจัดระบบความสัมพันธ์และการจัดสรรอำนาจทางการเมืองในระยะยาว" นายไมเคิล วอร์ด นักวิชาการอาวุโสประจำสำนักงานแผนการบูรณะฟื้นฟูกัมพูชาของอันแทค กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ที่กรุงพนมเปญ

ซึ่งในที่สุดแล้ว การประกาศบังคับใช้รัฐธรรมนูญก็คือ การประกาศรับรองสถานภาพอย่างเป็นทางการของรัฐบาลแห่งชาติที่แปรสภาพมาจากรัฐบาลชั่วคราว รับรองสภาแห่งชาติที่แปรสภาพมาจากสภารัฐธรรมนูญรับรองการดำรงอยู่ของประธานาธิบดี หรือประมุขแห่งรัฐที่แปรสภาพมาจากประธานสภาสูงสุดแห่งชาติ ซึ่งต้องหมดภาระและบทบาทลงด้วยการถูกแทนที่โดยสภาแห่งชาติ (NATIONAL ASSEMBLY) และรับรองการจัดตั้งกองทัพแห่งชาติที่เกิดจากการรวมกองกำลังทหารของเขมรทั้ง 4 ฝ่าย ทั้งนี้อยู่ภายใต้อำนาจบัญชาการสูงสุดของประมุขแห่งรัฐ ซึ่งในที่นี้หมายถึงสมเด็จนโรดม สีหนุ นั่นเอง

โดยจุดเปลี่ยนที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการทางการเมืองของกัมพูชาดังกล่าว นับเป็นผลโดยตรงที่มีสาเหตุมาจากแรงกดดันทั้งภายในและภายนอกประเทศที่กัมพูชาจำเป็นต้องดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อการบูรณะและฟื้นฟูประเทศชาติทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคมให้ควบคู่ไปกับการพัฒนาทางการเมือง ซึ่งการที่จะสามารถกระทำได้เช่นนั้นทั้งในระยะเฉพาะหน้าและระยะยาว กัมพูชาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยแรงหนุนและความช่วยเหลือตลอดจนความร่วมมือจากต่างประเทศในทุก ๆ ด้าน เฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจของชาติ

เนื่องจากในช่วงตั้งแต่ปี 2522 - 2534 ที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาภายใต้อำนาจการบริหารทางการเมืองการปกครองของรัฐบาลฝ่ายพนมเปญ ที่มีนายฮุนเซน เป็นนายกรัฐมนตรีได้นำระบบเศรษฐกิจของชาติไปผูกติดและพึ่งพาทางเศรษฐกิจโดยตรงกับระบบเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ ทำให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนมีพัฒนาการในวงจำกัด ไม่ว่าจะเป็นระบบตลาดรองรับการส่งสินค้าออก และแหล่งสินค้านำเข้า ตลอดจนแหล่งความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ตลอดจนทางการทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งพาจากสหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ด้วยกันทั้งสิ้น

ในช่วง 10 ปีแรกของการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองในกัมพูชา (2523-2533) ภายหลังจากที่เวียดนามได้ส่งกำลังทหารเข้ามาช่วยฝ่ายพนมเปญในการขับไล่และยึดอำนาจทางการเมืองจากฝ่ายเขมรแดงเป็นผลสำเร็จในปี 2522 รัฐบาลพนมเปญสามารถส่งสินค้าออกไปยังตลาดของสหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 57,694,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกันก็มีการนำสินค้าเข้าเพื่อการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และสินค้าประเภทเครื่องจักรกล คิดเป็นมูลค่าถึง 75,720,300 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้กัมพูชาต้องประสบกับภาวะขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องจำนวน 18,026,300 ดอลลาร์สหรัฐ

และในช่วงเวลาเดียวกันนี้ รัฐบาลพนมเปญได้กู้ยืมเงินจากต่างประเทศสำหรับใช้เป็นงบประมาณในการบริหารและพัฒนาประเทศมีมูลค่ารวมถึง 2,420 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ขีดความสามารถของรัฐบาลพนมเปญในการชำระหนี้คืนมีอยู่อย่างจำกัด ทั้งนี้ในช่วงระหว่างปี 2525-2533 ที่ผ่านมา รัฐบาลพนมเปญสามารถชำระหนี้คืนได้เพียง 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ฉะนั้นหนี้ต่างประเทศที่รัฐบาลพนมเปญยังคงค้างชำระจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะตกเป็นภาระความรับผิดชอบของรัฐบาลใหม่หรือรัฐบาลแห่งชาติในการชำระคืน มีมูลค่าถึง 2,392 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยยังไม่รวมหนี้อันเนื่องมาจากการขาดดุลการค้าจำนวน 18,026,300 ดอลลาร์สหรัฐ

ปัญหาการขาดดุลการค้า ภาระหนี้สินมหาศาลเป็นเสมือนแอกอันหนักอึ้งที่กดทับกัมพูชาไว้กับความยากเข็ญ ทำให้รัฐบาลพนมเปญจำต้องดำเนินนโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจในปี 2531 ทั้งนี้โดยการเปิดประเทศเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบกลไกตลาดและการค้าภายในประเทศให้เสรีมากขึ้น พร้อมกันนั้นก็มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ประสบกับภาวะขาดทุนมาเป็นเวลากว่า 10 ปีให้เอกชนต่างประเทศเข้าไปบริหารอย่างกว้างขวาง

การดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลพนมเปญดังกล่าว ได้กลายเป็นปัจจัยดึงดูดให้นักธุรกิจการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมากถึง 599 บริษัทหลั่งไหลเข้าไปประกอบธุรกิจการค้าและการลงทุนในกัมพูชาทั้งในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ตลอดจนการเช่าสิทธิหรือซื้อสิทธิในการบริหารรัฐวิสาหกิจจากรัฐบาลพนมเปญ และได้ส่งผลให้การขยายตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาที่เคยติดลบมาตลอดระยะเวลา 10 ปีเริ่มที่จะขยายการเติบโตมากขึ้น

ผลผลิตมวลรวมทางเศรษฐกิจภายในประเทศได้ปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2530 ถึงร้อยละ 16.2 ในปี 2531 ร้อยละ 2.4 ในปี 2532 ร้อยละ -0.1 ในปี 2533 และร้อยละ 13.5 ในปี 2534 หรือคิดเป็นมูลค่า 241.5 พันล้านเหรียญ 247.3 พันล้านเหรียญ 247 พันล้านเหรียญ และ 280.3 พันล้านเหรียญตามลำดับ ทั้งนี้โดยคิดจากค่าคงที่ของผลผลิตมวลรวม 207.9 พันล้านเหรียญในปี 2530

และหากพิจารณาถึงอัตราการเติบโตในแต่ละภาคเศรษฐกิจแล้ว พบว่าอัตราการเติบโตของผลผลิตในภาคการเกษตรจะปรับการขยายตัวในอัตราการเติบโตที่คงที่ โดยเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2530-2534 ร้อยละ 5.3 ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการกลับมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2534 ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 15.6 กับร้อยละ 37.5 ของผลผลิตรวมทั้งประเทศ หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2533 ในอัตราร้อยละ 8.4 และร้อยละ 11.1 โดยในภาคอุตสาหกรรมนั้นคิดเป็นสัดส่วนของการขยายตัวของผลผลิตหัตถอุตสาหกรรมร้อยละ 54 อุตสาหกรรมก่อสร้างร้อยละ 38 อุตสาหกรรมเหมืองแร่ร้อยละ 7 และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและแก๊สร้อยละ 1

ส่วนในภาคบริการนั้น คิดเป็นสัดส่วนของการขยายตัวของบริการทางการค้าร้อยละ 48 การคมนาคมขนส่งร้อยละ 7 การบริหาร-การศึกษาและสาธารณสุขร้อยละ 10 บริการบ้านเช่าร้อยละ 15 โรงแรม-ร้านอาหาร ร้อยละ 1 และบริการอื่น ๆ ร้อยละ 18

"การขยายตัวทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในลักษณะก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วเช่นนี้ มีปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นในแง่จิตวิทยาการลงทุน 4 อย่าง กล่าวคือ ข้อตกลงสันติภาพระหว่างเขมร 4 ฝ่ายที่กรุงปารีส การอนุมัติงบประมาณเพื่อการดำเนินการถ่ายโอนอำนาจในกัมพูชาโดยสหประชาชาติจำนวนกว่า 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การเสด็จกลับกัมพูชาของเจ้าสีหนุ และการดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจโดยรัฐบาลพนมเปญ ซึ่งทั้ง 4 ปัจจัยได้กลายเป็นปัจจัยดึงดูดให้นักธุรกิจการค้าและการลงทุนหลั่งไหลเข้ามาในกัมพูชามากเป็นประวัติการณ์" พจน์ บุณยรัตพันธุ์ กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกร กัมพูชา กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนในธุรกิจภาคบริการได้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2535 - กลางปี 2536 มีจำนวนถึง 243 ราย แบ่งออกเป็นการโรงแรม-ท่องเที่ยว 87 ราย การขนส่ง-โทรคมนาคม 55 ร่น ประกันภัย 13 ราย โฆษณา-บันเทิง 13 ราย การเงินการธนาคาร 47 ราย ร้านอาหาร-ภัตตาคารและบริการอื่น ๆ 28 ราย ซึ่งคิดเป็นอัตราการเพิ่มของการขยายตัวจากปี 2530 ร้อยละ 69.5 ในปี 2535 และร้อยละ 83.9 ในกลางปี 2536 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตของภาคบริการในปี 2535 ร้อยละ 11.9 และในกลางปี 2536 ร้อยละ 8.5 ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลพนมเปญ ได้พยายามที่จะลดการขาดทุนของการประกอบการในรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ทั้งหมด 224 แห่ง โดยในปี 2534 รัฐบาลพนมเปญได้ขายรัฐวิสาหกิจจำนวน 33 แห่ง ให้เช่า 44 แห่ง และเป็นการร่วมทุนกับเอกชน 8 แห่ง ทั้งยังปรากฏว่า รัฐบาลพนมเปญและอำนาจการปกครองท้องถิ่นได้ตัดสินใจขายที่ดิน อาคาร และบ้านที่เป็นทรัพย์สินของรัฐให้กับเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศไปกว่า 100,000 หลังในราคาอย่างต่ำ 200,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อหลังขายที่ดินของรัฐเฉพาะในพนมเปญให้กับเอกชนอย่างน้อย 10,000 แปลงในราคาเฉลี่ย 5 - 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อตารางเมตร

ทั้งนี้มีสาเหตุ เนื่องมาจากการที่รัฐบาลพนมเปญถูกตัดความช่วยเหลือในด้านงบประมาณจากสหภาพโซเวียต และกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ที่ประสบความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ อันนำไปสู่การล่มสลายทางการเมืองและระบอบการปกครองในปี 2534 ทำให้รัฐบาลพนมเปญจำเป็นต้องพึ่งตนเอง ในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ด้วยเหตุที่ขาดประสบการณ์ในการบริหารและการจัดการในระบบเศรษฐกิจเสรี ทำให้ต้องประสบกับปัญหาความไม่สมดุลในภาพรวมทางเศรษฐกิจที่เกิดจากความล้มเหลวในการบริหารการคลังและการใช้จ่ายงบประมาณแห่งชาติ

รัฐบาลพนมเปญต้องเผชิญปัญหาการขาดดุลงบประมาณรายจ่ายอย่างต่อเนื่องถึงร้อยละ 53.6 ในปี 2533 ร้อยละ 50.2 ในปี 2534 และร้อยละ 48.2 ในปี 2535 โดยในขณะที่รัฐบาลพนมเปญมีรายรับจากการส่งสินค้าออกและการเก็บภาษีอากรจำนวน 23,271.7 ล้านเรียล, 58,849.4 ล้านเรียล และ 96,500 ล้านเรียล กลับต้องใช้จ่ายงบประมาณไปในการบริหารการปกครอง การป้องกันประเทศและเป็นเงินเดือนข้าราชการจำนวนถึง 50,208.5 ล้านเรียล, 118,110.6 ล้านเรียล และ 186,367 ล้านเรียลในปี 2533, 2534 และ 2535 ตามลำดับ

ภาพที่ขัดแย้งกันในทางเศรษฐกิจมหภาคของกัมพูชาก็คือ ในขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในภาครัฐกลับมีพัฒนาการไปในทิศทางตรงกันข้าม ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า กลไกควบคุมและดำเนินการในนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐทั้งในด้านธุรกิจการค้าและการลงทุน เฉพาะอย่างยิ่งกลไกในการจัดเก็บภาษีการค้าและการลงทุนเป็นกลไกที่ขาดประสิทธิภาพและประสบการณ์ในการบริหารและการปฏิบัติที่เป็นจริง

ทั้งยังปรากฏด้วยว่า การใช้งบประมาณเพื่อการพัฒนาระบบกลไกสำหรับเป็นการรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เมื่อเปรียเบทียบกับการใช้งบประมาณไป เพื่อการบริหารการปกครองและการป้องกันประเทศแล้ว พบว่างบประมาณรายจ่ายในปี 2535 ร้อยละ 84 หรือ 155,717 ล้านเรียล ถูกใช้ไปเพื่อการบริหารการปกครองและการป้องกันประเทศมีเพียงร้อยละ 16 หรือ 27,650 ล้านเรียลเท่านั้นที่ใช้เพื่อการพัฒนาระบบกลไกและโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ

ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจก็อยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมอย่างหนัก เพราะขาดแคลนทั้งงบประมาณและวิทยาการสมัยใหม่ที่จะปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ดีขึ้น ประกอบกับความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตท่เคยมีอย่างต่อเนื่องต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากการล่มสลายทางการเมืองและเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตในปี 2534

ระบบการคมนาคมขนส่งทางบกในกัมพูชาที่มีพื้นที่ผิวถนนทั่วประเทศ 34,100 กิโลเมตร แบ่งออกเป็นทางหลวงขนาด 2 ช่องทางเดินรถเชื่อมต่อระหว่างจังหวัด 3,000 กิโลเมตร ถนนภายในตัวเมือง 3,100 กิโลเมตร และถนนดินลูกรังในเขตชนบท 28,000 กิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นถนนที่สร้างเมื่อปี 2463-2473 โดยฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ในสภาพที่ชำรุดมาตั้งแต่ปี 2513 เนื่องจากขาดการซ่อมบำรุงจนไม่อาจสามารถใช้การได้มากกว่า 20,460 กิโลเมตร เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝน ถนนดินลูกรังไม่สามารถใช้การได้เลย

ส่วนถนนที่สามารถใช้การได้ก็สามารถขับขี่ยานยนต์ในอัตราความเร็วเฉลี่ย 20-25 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น ทำให้จำเป็นต้องใช้เส้นทางคมนาคมขนส่งทางน้ำแทน ซึ่งมีระยะทางยาวตามแม่น้ำโขงและแม่น้ำบาสัค 1,750 กิโลเมตร แต่ที่สามารถใช้การได้ตลอดปีมีระยะทางเพียง 580 กิโลเมตรเท่านั้น

กัมพูชามีท่าเรือขนาดใหญ่ 2 แห่งที่กรุงพนมเปญและจังหวัดกัมปงโสม ท่าเรือที่กัมปงโสมนั้นถือเป็นท่าเรือน้ำลึกเพียงแห่งเดียวของประเทศที่สามารถรับน้ำหนักได้เพียง 45,000 เมตริกตันในปัจจุบัน จากที่เคยสามารถรับน้ำหนักได้ 954,000 - 1.2 ล้านเมตริกตันในปี 2512 ท่าเรือน้ำลึกที่กัมปงโสมนี้จะเป็นที่ขนถ่ายสินค้า เพื่อลำเลียงเข้ามาที่ท่าเรือในกรุงพนมเปญ ส่วนในด้านการขนส่งทางอากาศนั้น มีสนามบินที่สามารถใช้การได้ 4 แห่ง คือ ที่กรุงพนมเปญ พระตะบอง เสียมราฐ และสตึงแตรง โดยที่กรุงพนมเปญเป็นสนามบินนานาชาติเพียงแห่งเดียวที่มีทางวิ่งยาว 3,000 เมตร สามารถรับน้ำหนักได้เพียงเครื่องบินโบอิ้ง 737 แต่ก็ขาดแคลนระบบการสื่อสารและควบคุมภาคพื้นดินและอากาศ

ในขณะเดียวกัน กัมพูชายังต้องประสบกับปัญหาขีดจำกัดในการขนส่งทางรถไฟ แม้ว่าในช่วงปี 2474-2513 กัมพูชาจะมีหัวจักรรถไฟถึง 30 คัน มีความยาวของรางรถไฟ 650 กิโลเมตร แต่นับจากปี 2522 เป็นต้นมา หัวจักรรถไฟที่สามารถใช้การได้มีเพียง 5 คัน วิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ย 25-30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถบรรทุกน้ำหนักได้เพียง 850 ตันเท่านั้น

และในส่วนของความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อสนองความต้องการภายในประเทศนั้น ปรากฏว่าสามารถสนองความต้องการในการใช้กระแสไฟฟ้าได้เพียงร้อยละ 16 หรือ 59 เมกะวัตต์ หรือ 165,000 ยูนิตในปี 2535 ที่ผ่านมา

ส่วนทางด้านการโทรคมนาคมนั้น กัมพูชามีโทรศัพท์จำนวน 4,000 หมายเลขในกรุงพนมเปญ แต่สามารถใช้การได้ 3,000 หมายเลข โทรศัพท์ติดต่อภายในประเทศระบบอัตโนมัติจำนวน 500 หมายเลข และโทรศัพท์ติดต่อระหว่างประเทศระบบช่องสัญญาณดาวเทียม 7 ช่องสัญญาณ INTELSAT ของออสเตรเลีย ติดต่อระหว่างพนมเปญ - ซิดนีย์ และ 5 ช่องสัญญาณของดาวเทียม INTERSPUTINK ของโซเวียต ติดต่อระหว่างพนมเปญ - ฮานอย - โฮจิมินห์ - มอสโคว์ การบริการโทรศัพท์ที่มีอยู่น้อยมากเช่นนี้ ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการในการใช้เมื่อเทียบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและส่งผลให้ราคาและค่าบริการอยู่ในอัตราที่สูง อันเป็นผลโดยตรงที่ทำให้มูลค่าของการลงทุนต่อหน่วยสูงเกินระดับปกติ

จากสภาพที่โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจมีอยู่อย่างจำกัดดังกล่าว ทำให้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขยายตัวของการค้าและการลงทุน เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังจากที่อันแทคเข้าไปดำเนินการถ่ายโอนอำนาจ ตั้งแต่ต้นปี 2535 เป็นต้นมา ที่สภาวะของการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศในกัมพูชาต้องชะลอตัวลง และตกอยู่ในสภาวะชะงักงันในช่วงของการเลือกตั้งและการจัดสรรอำนาจทางการเมือง เมื่อเดือนพฤษภาคมต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีบริษัทลงทุนจากต่างประเทศจำนวนอย่างน้อย 350 บริษัทหยุดดำเนินการทางธุรกิจชั่วคราว และมีบริษัทมากกว่า 200 บริษัทไม่เปิดดำเนินการ แม้ว่าจะได้รับใบอนุญาตประกอบการแล้วก็ตาม

"นักธุรกิจส่วนใหญ่ที่หยุดหรือชะลอการดำเนินการทางการค้าและการลงทุน เนื่องจากทุกคนต้องการรอดูสถานการณ์ทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง เพื่อให้แน่ใจว่า สถานการณ์จะดีขึ้นหรือไม่ ทั้งยังต้องการทราบถึงนโยบายเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ จะมีทิศทางเช่นใด" วรรณกิตต์ วรรณศิลป์ กรรมการผู้จัดการธนาคารกัมพูชาพาณิชย์จำกัด ให้ความเห็น

จากการสำรวจและประเมินเกี่ยวกับความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับปรุงและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถสนองตอบความต้องการทางการค้าและการลงทุน โดยสำนักงานเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของอันแทคพบว่า รัฐบาลใหม่ของกัมพูชาจำเป็นต้องจัดหางบประมาณอย่างน้อย 227 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อการบูรณะและปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่สามารถใช้การได้ และในขณะเดียวกัน ก็จำเป็นต้องจัดหางบประมาณจำนวน 25.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาวัสดุอุปกรณ์ทางเทคนิค ตลอดจนต้องจัดหางบประมาณจำนวน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลในระยะ 3 เดือนแรกของการดำเนินงาน

นั่นย่อมหมายความว่า รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องมีการจัดระบบในการจัดเก็บภาษีอากรใหม่ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจชาติของกัมพูชาเป็นระบบที่ผูกติดและพึ่งพาความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ ซึ่งขาดประสบการณ์และขาดประสิทธิภาพในการบริหารระบบจัดเก็บภาษีอากร ทำให้เกิดช่องว่างที่สามารถหลบเลี่ยงการชำระภาษีการค้าได้ ทั้งยังเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์ของเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้ โดยปรากฏว่า นับตั้งแต่การดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจสู่ระบบตลาดเสรีเมื่อปี 2531 เป็นต้นมา ระบบการจัดเก็บภาษีการค้าของกัมพูชาสามารถปฏิบัติได้ในความเป็นจริงเพียงร้อยละ 20 ในขณะที่ร้อยละ 80 เป็นการหลบเลี่ยงภาษีด้วยความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ได้รับผลประโยชน์จากการหลบเลี่ยงนั้น แม้ว่ารัฐบาลพนมเปญจะประกาศใช้ระเบียบการจัดเก็บภาษีในอัตรา 15-25% สำหรับนิติบุคคล 5-10% สำหรับผลกำไร และ 2% สำหรับรายรับทั้งหมดในการประกอบการก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ในความเป็นจริง เพราะการชำระภาษีการค้ายังคงเป็นสิ่งที่สามารถเจรจาต่อรองผลประโยชน์กันได้ระหว่างผู้ประกอบการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

"ใครจะจ่ายมากจ่ายน้อยนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการประกอบการและผลกำไร หากแต่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการต่อรองผลประโยชน์และขึ้นอยู่กับว่า ผู้ประกอบการทางธุรกิจการค้าและการลงทุนนั้น มีระบบเครือข่ายโยงใยกับผู้ใหญ่คนไหนในประเทศนี้" เจ้าหน้าที่วางแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจกัมพูชาของอันแทค กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ฉะนั้น การที่จะสามารถสร้างประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มรายรับจากการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลได้นั้น ความจำเป็นในอันดับแรกก็คือ บรรดาผู้นำของเขมรฝ่ายต่าง ๆ จะต้องสามารถประนีประนอมในการจัดสรรอำนาจทางการเมือง และการทหารระหว่างกันให้ได้ ทั้งยังจะเป็นทิศทางที่นำมาซึ่งการลงทุนและความช่วยเหลือจากต่างประเทศจำนวนมหาศาลในอนาคต

"มีนักลงทุนจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก คาดการณ์ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างทันทีทันใดที่การเลือกตั้งสิ้นสุดลง แต่สำหรับผมแล้ว มองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นจริงในทุกด้าน จนกว่าเดือนกันยายนที่จะมีการประกาศบังคับใช้รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจะเป็นมาตรชี้วัดได้ว่า เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของกัมพูชาจะเดินหน้าหรือถอยหลัง แต่ผมก็เชื่อมั่นว่า ทุกอย่างจะดีขึ้น เพราะถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเมืองหรือเศรษฐกิจล้วนแต่มีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์และความอยู่รอด และการที่จะสามารถประสบผลสำเร็จได้นั้นมีอยู่ทางเดียวเท่านั้น คือ การเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการมองถึงผลประโยชน์ในระยะยาว" จูเลส โธมัส ผู้จัดการทั่วไปบริษัท IMIC จำกัด ซึ่งคลุกคลีอยู่ในกัมพูชาเป็นเวลา 14 ปี กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ในที่สุด

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us