ฉากการเผชิญหน้าอย่างเขม็งเกลียวระหว่างฝ่ายแรงงานกับ "ไทยเกรียง"
เมื่อเดือนที่แล้ว ทำให้ "ไทยเกรียง" กลายเป็นผู้ร้ายไปอย่างช่วยไม่ได้อีกครั้งหนึ่ง
ขณะที่มีคำถามมากมายว่า ทำไม "ไทยเกรียง" ซึ่งเป็นโรงทอผ้ารายใหญ่ของไทยจึงมีปัญหาแรงงานซ้ำแล้วซ้ำเล่า…?
แล้วจริงหรือที่ว่าวิกฤติแรงงานครั้งนี้คือ จุดอวสานของสิ่งทอไทย…?
ที่แน่ ๆ "ไทยเกรียง" เป็นกรณีศึกษาสำหรับมิติทางธุรกิจและสังคมได้เป็นอย่างดี
"ดื้อจังเลย"
"ไม่ยอมเจรจา จะพูดวิธีไหนให้เขาเข้าใจนะ
เสียงเนิบหม่น ๆ ที่แสดงถึงความท้อใจจากแหล่งข่าวรายหนึ่งในบริษัท ไทยเกรียงปั่นทอฟอกย้อม
จำกัด (ไทยเกรียง) รายหนึ่งผ่านมาตามสายกับ "ผู้จัดการ" อย่างเหนื่อยหน่ายหลังจากที่ปลดคนงาน
376 คนจนเป็นชนวนให้สหภาพแรงงานไทยเกรียงยึดโรงงานตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา
"ชาวไทยเกรียงยืนหยัดต่อสู้ต่อไป" เสียงประกาศก้องของบรรดาแรงงานดังอยู่เป็นระยะอย่างทรงพลัง
พร้อมกับชูสโลแกนว่า
"หยุดกลัว หยุดงาน หยุดปัญหา"
"กรรมกรจงต่อสู้เพื่อกู้ชื่อและกู้ชาติ"
อรุณี ศรีโต ประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมกสิ่งทอและเลขาธิการสหภาพแรงงานไทยเกรียง
(สหภาพฯ ไทยเกรียง) ผู้เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของแรงงานหญิงเป็นคนนำธงรบอย่างอาจหาญ
โดยเรียกร้องให้ "ไทยเกรียง" รับพนักงานทุกคนกลับเข้าทำงานโดยมไมีความผิดทั้งทางแพ่งและอาญา
"อุตสาหกรรมสิ่งทอ เหมือนสายน้ำที่ไม่ไหลกลับ ถ้าเรา (นักลงทุน) ปรับตัวไม่ทัน
เราก็แข่งในตลาดโลกไม่ได้" วิโรจน์ อมตกุลชัย นายกสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มไทยมองแนวโน้มการพัฒนาสิ่งทอเมื่อประมาณ
5 ปีที่แล้ว
3 มุม 3 ประเด็นดูราวกับว่าจะขัดแย้งกัน แต่ก็สะท้อนปัญหาอันมาจากรากเหล้าเดียวกัน…!
ขณะที่ "ไทยเกรียง" เป็นแค่ตุ๊กตาโดมิโนของวงจรการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและสังคมไทยเท่านั้น…!
ถ้าเปรียบปรากฏการณ์ครั้งนี้เหมือนละครแห่งม็อบแรงงานแล้ว "ไทยเกรียง"
ก็เป็นดุจผู้ร้ายในสายตาของผู้ใช้แรงงานทั้งปวง ท่ามกลางกลุ่มผู้ประกอบการสิ่งทอที่เคยแสดงความเห็นใจอยู่เงียบ
ๆ อย่างหวั่น ๆ เช่นกันว่า ไม่รู้เมื่อไหร่ตนจะตกอยู่ในสภาพเดียวกับ "ไทยเกรียง"
ที่ต้องแบกรับภาระคนงานทั้งที่จำเป็นต้องหันไปใช้เครื่องจักรแทน
งานนี้ นับเป็นการเปิดฉากปะทะระหว่างแรงงานกับเครื่องจักรอย่างชัดเจน…!
แต่สำหรับ "ไทยเกรียง" นั้น มีคำถามประดังเข้ามามากว่า ทำไมตลอดระยะ
33 ปีที่ตั้งโรงงานมา จึงมีปัญหาเรื่องแรงงานโดยตลอด เกิดม็อบครั้งแล้วครั้งเล่าโดยการนำของสหภาพฯ
ไทยเกรียง ทั้งที่กลุ่มสิ่งทอกลุ่มอื่นก็มีสหภาพฯ และมีปัญหาแรงงานเหมือนกัน…?
ขนาดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์อย่างกลุ่มไทยแมล่อนของ สุกรี โพธิรัตนังกูร
ก็ยังดูจะมีภาพพจน์ที่ดีกว่า และไม่สาหัสเท่า "ไทยเกรียง"
อรุณีมองว่า กลุ่มไทยแมล่อนต่างจากสหภาพฯ ไทยเกรียง
"เมื่อเราสู้ก็สู้ 100% ถ้าหยุดงานก็หยุดหมด มีแต่ปี 2522 เท่านั้นที่หยุดไม่หมด"
เธอหมายถึงคนงานที่มีอยู่กว่า 3,000 คนในโรงงาน "ไทยเกรียง"
โดยเฉพาะมีนัยที่ว่า คนงาน "ไทยเกรียง" มีความผูกพันกันสูง ถ้าเป็นเรื่องของส่วนรวม
ทุกคนจะช่วยกัน อันมีที่มาจากต้นเหตุที่เหล่าผู้บริหารอาจจะมองข้ามหรือให้ความสำคัญน้อยเกินไป
นั่นก็คือ บรรดาคนงาน "ไทยเกรียง" ต่างรู้สึกว่า เจ้าของและเหล่าผู้บริหารของที่นี่ล้วนแต่มองผลกำไรในเชิงการค้าเป็นหลัก
ไม่มีน้ำจิตมิตรไมตรีเท่าที่ควร ขาดการสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นกันเองระหว่างกันและกัน
หากปฏิบัติต่อกันในฐานะนายจ้าง ซึ่งถือว่าเหนือกว่าลูกจ้างอยู่เป็นนิจ "เรียกว่ากว่าจะได้สวัสดิการหรือความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นบ้างก็ต้องร้องขอกัน"
แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวถึงจุดอ่อนด้านทัศนคติของผู้บริหาร "ไทยเกรียง"
ที่เป็นชนวนของปัญหาทั้งมวล มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เขาขึ้นค่าแรงให้วันละ 1.50
- 2.00 บาทต่อวัน"
แม้แต่ในปี 2527 เมื่ออุตสาหกรรมสิ่งทอเริ่มกระเตื้อง ผู้บริหารก็พยายามให้กำลังใจพนักงานเปิดให้มีสโมสรพนักงาน
กีฬา ดนตรี ห้องสมุด เปิดอบรมเทคนิคด้านเครื่องจักรที่เยอรมัน มาเลเซีย ตลอดจนเพิ่มสวัสดิการต่าง
ๆ ก็เป็นเพราะพนักงานเรียกร้อง
ยิ่งกว่านั้น "ขณะที่แรงงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง แต่กว่าจะได้เป็นพนักงานรายเดือนเหมือนพนักงานชายที่มีเพียงไม่กี่คน
ก็ต้องเรียกร้องจนสำเร็จในปี 2533 โดยมีข้อตกลงว่า ผู้หญิงต้องมีอายุงาน
10 ปี จึงจะเป็นพนักงานรายเดือนได้ ทั้งที่พนักงานชายแค่ 8 ปีก็เป็นได้"
ผู้นำแรงงานอีกรายกล่าว
ความเป็นเถ้าแก่ของ "ไทยเกรียง" ที่เป็นการจุดพลุความเหินห่างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง
ได้กลายเป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้เหล่าคนงานรวมตัวกันเหนียวแน่นกว่าโรงงานสิ่งทอใดที่มีอยู่
อันเป็นการสะท้อนความด้อยประสิทธิภาพการบริหารของผู้นำ "ไทยเกรียง"
ตั้งแต่จรินทร์ ติรชัยมงคล ผู้พ่อ ตลอดจนถ่ายวัฒนธรรมทางความคิดอันนี้สู่ลูก
ๆ ด้วยเช่นกัน
"เขาไม่คิดถึงหัวใจของคนงาน ไม่มีความเป็นเพื่อนให้" ผู้นำแรงงานรายหนึ่งวิพากษ์ผู้บริหารอย่างตรงไปตรงมา
"ตัวเถ้าแก่จรินทร์เอง ยังเจรจาได้ แม้จะติดความตระหนี่ไปหน่อยก็ตาม
ส่วนยงยุทธ์และยงเกียรตินั้นไม่ค่อยยืดหยุ่น แต่ถ้าเทียบพี่น้อง 2 คนนี้
ยงยุทธถึงจะพูดไม่เพราะ แต่ก็คุยได้มากกว่ายงเกียรติที่คิดอะไรแบบนักบัญชีเกินไป"
ถ้าเทียบระหว่างช่วงที่จรินทร์บริหารงานกับระยะที่ทางแบงก์เข้ามาดูแลกิจการ
เพราะติดปัญหานี้ 3,000 ล้านบาทช่วงปี 2520-2532 ช่วงหนึ่งที่ชูสิทธิ์ ลูกของสมาน
โอภาสวงศ์ หุ้นส่วนสำคัญเข้ามามีส่วนบริหารกลับเป็นคนที่พนักงานรัก เพราะให้ความเป็นกันเองมากกว่า
แม้แต่ วิชัย วิชยางกูร ที่มาบริหารตอนนั้นก็คุยกับสหภาพฯ ได้รู้เรื่อง
โดยที่พนักงานยอมไม่ขึ้นเงินเดือนด้วยความเข้าใจที่ดีต่อกัน เพราะรู้ว่าบริษัทอยู่ในสภาพย่ำแย่
และที่สำคัญ เขามองสหภาพฯ เป็นเพื่อน แหล่งข่าวจากสหภาพฯ เปรียบเทียบการบริหาร
ว่าไปแล้ว ฝ่ายพนักงานก็ท้อที่ผู้บริหารไม่เข้าใจหัวใจคนงาน ด้านผู้บริหารก็หน่ายที่พนักงานไม่เข้าใจเจตนาที่ดีของตน
ขนาดที่ยงเกียรติ กล่าวว่า ได้ให้สวัสดิการดีที่เป็นอันดับต้น ๆ ของโรงงานที่มีอยู่
มีบ้านพัก มีอาหารให้ มีค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ อย่างนี้ไม่เรียกว่าดีอีกหรือ
อันที่จริง "อย่างคุณสันติ เรืองวิริยะ ผู้จัดการโรงงานและลูกหม้อเก่าแก่ที่ซื่อสัตย์ของ
จรินทร์ โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนดี แต่เป็นเพราะเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาเกินไป
พอเป็นคนสั่งปลดพนักงาน ตัวเขาเองก็เสียหาย ถูกมองว่าเป็นเพชฌฆาตไป"
ขณะที่อรุณียังเชื่อว่า ทุกคนแสวงหาชีวิตที่ดี และความมั่นคงในการทำงาน
นอกจากนี้ เธอเชื่อว่า น้ำใจยังคงเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย ที่มีความจำเป็นต่อการบริหารธุรกิจทั้งในเชิงเศรษฐกิจ
และสังคมโดยรวม เพราะคนคือชีวิต มิใช่เครื่องจักรที่จะจับเคลื่อนย้ายไปไหนอย่างไรก็ได้
ด้วยความรู้สึกที่ถูกกดอยู่อย่างแฝงลึก ดุจดังคลื่นใต้น้ำที่พร้อมที่จะระเบิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้
เมื่อ "ไทยเกรียง" ตัดสินใจปลดคนงาน 376 คน โดยบอกว่ายุบหน่วยงานหรือแผนกทอผ้าทิ้ง
ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา และเพื่อความเรียบร้อยจึงออกประกาศห้ามพนักงานที่พ้นสภาพการจ้างงานเข้าบริเวณโรงงานตั้งแต่
1 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ก่อนจะถึงเส้นตายห้ามเข้าโรงงาน 15 วัน ศุภวรรณ บัวเกลี้ยง ประธานสหภาพแรงงานฯ
ได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อนายกชวน หลีกภัย ก่อนที่จะร้องต่อ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในอีก 6 วันต่อมา
โดยเน้นว่า ขอให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาคนงานถูกปลดให้ทันการณ์ มิฉะนั้นแล้วคนงานจะต้อง
"สู้แบบหลังชนฝา หมาจนตรอก" เสมือนหนึ่งประเทศไม่มีรัฐบาล
เมื่อไม่มีคำตอบใด ๆ จากรัฐบาล สหภาพฯ ไทยเกรียงจึงตัดสินใจยึดโรงงานตั้งแต่วันที่
1 กรกฎาคมวันเดียวกับที่ "ไทยเกรียง" ห้ามพนักงานหมดสภาพเข้าโรงงานนั่นเอง
ทุกส่วนการผลิตอยู่ในความสงบ ไร้การเคลื่อนไหวเฉกเช่นทุกวันทำงานกำลังพลผู้ใช้โรงงานชาวไทยเกรียงกระจายกันคุมพื้นที่โรงงาน
ตั้งแต่หน้าประตูใหญ่แล้วแตกสลายไปสู่แต่ละส่วนของโรงงาน ดังที่อรุณีหรือพี่กุ้งของเหล่าลูกม็อบย้ำว่า
"เมื่อเราหยุด เราหยุดหมด"
เสียงประกาศต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมสลับกับจังหวะร้องรำทำเพลงเป็นระยะเข้ามาแทนที่เสียงเครื่องจักร
จาก 1 เป็น 2 เป็น 3…จนขยายวงมีพันธมิตรผู้ใช้แรงงานร่วมต่อสู้อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
ผู้ใช้แรงงานชาวไทยเกรียงยังคงยึดพื้นที่โรงงานเป็นหัวหอกในการต่อสู้ "เพราะกลัวโรงงานจะถูกยึดคืนและทำให้สหภาพฯ
เสียศูนย์ในการรวมกำลัง" ผู้นำรายหนึ่งกล่าวถึงยุทธศาสตร์ม็อบครั้งนี้
ขณะที่พันธมิตรแรงงานกลุ่มอื่นจะร่วมประสานใจอยู่หน้าทำเนียบ
กระทั่งเมื่อวันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา แนวโน้มที่มีทีท่าว่าจะบานปลายและรุนแรงขึ้นก็เหมือนจะยุติลงอย่างเรียบร้อย
เมื่อ พล.อ.ชวลิต ออกประกาศให้โรงงานรับคนงานกลับเข้าทำงานต่อไปอย่างปกติ
ทั้งย้ำว่าหากใครไม่ปฏิบัติตามก็จะดำเนินการตามกฎหมาย
โดยล่าสุด ทางสหภาพฯ และ "ไทยเกรียง" ได้เจรจาข้อตกลงเรื่องเงินชดเชยกันใหม่
ขณะที่มีพนักงานสมัครใจลาออกมากขึ้นเรื่อย ๆ
ที่พูดว่าเหตุการณ์ "เหมือนจะยุติ" เพราะการออกประกาศในเชิงขอความร่วมมืออย่างนี้ทำให้บิ๊กจิ๋วกลายเป็นฮีโร่ในสายตาของผู้ใช้แรงงานทุกหมู่เหล่าทันที
หรือเหมือนจะเป็นชัยชนะของกลุ่มแรงงานก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการพักรบที่ทุกฝ่ายก็รู้ว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด
ศุภวรรณ หรือพี่เล็กของน้อง ๆ ชาวไทยเกรียง ย้ำว่า "หากรัฐบาลไม่จริงใจเรา
(สหภาพฯ ไทยเกรียง) ก็มีมาตรการสู้ต่อ แต่อย่างน้อยตอนนี้ก็ถือว่าให้ทุกฝ่ายเข้าสู่ภาวะปกติ
และเริ่มต้นเจรจากันใหม่ เพราะถ้าทุกฝ่ายยังตกอยู่ในภาวะตึงเครียดและเผชิญหน้าแบบนี้ก็คุยกันลำบาก"
ด้านยงเกียรติ ลูกชายคนเล็กของ จรินทร์ กรรมการและผู้จัดการฝ่ายบัญชียังคงกล่าวอย่างหนักแน่นว่า
จะให้เวลาพนักงานที่ยังไม่ได้สมัครใจลาออกถึงวันที่ 15 สิงหาคมศกนี้
"เราเคยทำมาตั้งแต่ปี 2533 ตอนนั้นใช้เครื่องจักร 178 เครื่อง ยุบคนงานไป
114 คน ปี 2534 ใช้เครื่องจักร 148 เครื่อง ให้คนงานออก 157 คน" จะเห็นว่า
ทำมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไร ยงเกียรติอธิบายถึงความจำเป็นที่ "ไทยเกรียง"
ต้องนำเครื่องจักรเข้ามาแทนที่ เพื่อลดต้นทุนและแข่งขันกับตลาดโลกให้ได้
"เขาควรประท้วงตั้งแต่คราวนั้น เราเริ่มใช้เครื่องจักรใหม่มาแล้วหลายปี
ปีนี้โละเครื่องจักรเก่าอายุกว่า 30 ปีได้หมด ซึ่งเป็นส่วนงานที่ทำให้เราขาดทุนถึง
49 ล้านบาทในไตรมาสแรก" ยงเกียรติขยายเหตุผลที่ "ไทยเกรียง"
ต้องตัดสินใจดังที่เป็นไปแล้ว "เราไม่เคยคิดว่าจะเกิดอะไรรุนแรงขนาดนี้เลย"
การณ์ครั้งนี้จึงถูกมองว่าที่มีอันบานปลายขึ้นมา เพราะอรุณี แม่ม็อบของแรงงานไทยเกรียงเป็นหนึ่งในจำนวน
6 คนของสหภาพฯ ที่ถูกปลดด้วย จึงสร้างความไม่พอใจส่วนตัวขึ้นมาจนขยายเป็นม็อบขนาดใหญ่
แต่ไม่ว่าอรุณีจะถูกปลดด้วยหรือไม่ หรือเหตุการณ์นี้จะตกเป็นข่าวหรือไม่ก็ตาม
แท้จริงแล้ว ปัญหาแรงงานของ "ไทยเกรียง" ก็ยังคงดำรงอยู่จากพื้นฐานปัญหาความสัมพันธ์ภายในเสริมด้วยการใช้เครื่องจักรเข้าทดแทนแรงงาน
ดังที่ยงเกียรติสะท้อนความเห็นเพิ่มเติมว่า ถ้าจะใช้คนงานเท่าเดิม นั่นก็หมายความว่าจะต้องขยายกำลังการผลิตเป็นอีก
10 เท่า ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะความต้องการของตลาดโลกไม่ได้โตขนาดนั้น
ว่าไปแล้ว การใช้เครื่องจักรหรือเทคโนโลยีมาแทนแรงงานนั้นเป็นความจำเป็นและแรงกดดันที่กระแสโลกที่ทำให้หน่วยธุรกิจต้องปรับตัว
เพื่อแข่งขันกับตลาดนอกที่ผู้นำแรงงานอย่างอรุณี หรือศุภวรรณ ไม่ปฏิเสธ แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดการขององค์กรนั้น
ๆ มากกว่า
"อย่างลักกี้เท็กซ์ เขาเปิดให้คนงานอาสาสมัครออกโดยเสนอเงื่อนไขจ่ายคืนตามอายุงาน
กำหนดอายุเท่าไหร่จะได้สิทธิ์เท่านั้นเท่านี้ เขาเริ่มลดคนตั้งแต่ปี 2529
ใช้เวลา 5 ปีลดคนไปประมาณ 1,000 คน โดยที่ทุกคนเต็มใจลาออกด้วยความรู้สึกที่ดี"
อรุณีเธอยกตัวอย่างโรงงานเพื่อนบ้านที่มีวิธีจัดการได้ดี และหวังจะเห็น "ไทยเกรียง"
เป็นอย่างนั้นบ้าง
นี่ย่อมเป็นการชี้ให้เห็นว่า ใครจะมีวิธีการจัดการอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติที่ผู้บริหารมีต่อผู้ร่วมงาน
เมื่อไหร่ถ้ามองว่าเป็นนายจ้างกับลูกจ้าง ย่อมนำมาซึ่งวิธีปฏิบัติที่ไม่สร้างสรรค์
และก่อปัญหาเป็นลูกโซ่ไม่ช้าก็เร็ว
ขณะที่ความเห็นของยงเกียรติก็ดูเป็นความจำเป็นของ "ไทยเกรียง"
อีกเช่นกันที่จะต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวินาที
แต่สายตาของแหล่งข่าวในอุตสาหกรรมสิ่งทอหลายรายมองว่า "ไทยเกรียง"
ไม่อาจปรับตัวให้ทันกับตลาดโลก "ไม่อาจใช้สายตาอันยาวไกลมองออกไปข้างหน้าเพื่อปรับแผนการผลิตขององค์กร
ทำไม…?
ท่ามกลางการแข่งขันสิ่งทอในตลาดโลกที่ดุเดือดเผ็ดร้อนขึ้น มีคู่แข่งมากขึ้น
"ไทยเกรียง" ยังคงผลิตผ้าดิบหน้าแคบ ทอได้แค่ 36 นิ้ว ซึ่งเขาเลิกรับฟอกย้อมกันแล้ว
แต่รายอื่นทได้กว้าง 160 นิ้ว เพิ่งจะปรับมาเป็นผ้าหน้ากว้างขึ้นตามที่ตลาดต้องการก็เมื่อเร็ว
ๆ นี้นี่เอง และมุ่งเน้นตลาดในประเทศแถวสำเพ็ง พาหุรัด ผ่านแดนไปยังแถบอินโดจีนเป็นหลัก
ขณะที่รายอื่นขยับตัวกันไปหลายขุมแล้ว
ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มไทยแมล่อนของสุกรี หรือกลุ่มสหยูเนี่ยนของดำหริ ดารกานนท์
หรือกลุ่มทีทีไอของบุญนำ บุญนำทรัพย์ ล้วนแล้วแต่ปรับไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าสูงขึ้น
เพิ่มการผลิตครบวงจร และเน้นตลาดไฮแฟชั่น หรือตลาดเฉพาะกลุ่มที่ต้องการคุณภาพสูงในต่างประเทศเป็นหลัก
แต่การที่ "ไทยเกรียง" มัวเน้นอยู่กับการปั่นด้าย และทอผ้าดิบ
ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอต้นทางกับเครื่องจักรเก่า ทำให้เจอต้นทุนสูงมิหนำซ้ำยังหาตลาดยากขึ้น
เนื่องจากการมุ่งผลิตและขายสินค้าแบบถูก ๆ เน้นปริมาณที่เป็น MASS PRODUCT
นั้น ไทยไม่อยู่ในฐานะที่จะแข่งกับกลุ่มประเทศค่าแรงต่ำที่เขยิบขึ้นมายืนเทียบเคียงและแซงหน้าไทยไปแล้วในตอนนี้
เรียกว่าหมดสมัยแล้วที่ไทยจะเอาเรื่องค่าแรงต่ำเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันกับตลาดอีกต่อไป
ที่จริงมีการพูดถึงเรื่องนี้กันอย่างน้อยก็เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ที่ปรับตัวไม่ทันก็ต้องเจอภาวะแบบ
"ไทยเกรียง" และในอีกไม่กี่ปีนี้ ก็ยังจะมีให้เห็นเพิ่มขึ้น
แม้ยงเกียรติ กล่าวอย่างมั่นใจว่า ที่ผ่านมา "ไทยเกรียง" ก็ปรับตัว
การเอาเครื่องทอไร้กระสวยเข้ามาก็เป็นรายแรก ๆ ในไทย" ซึ่งตรงข้ามกับภาพพจน์ที่ออกไปอย่างสิ้นเชิงว่า…จรินทร์เป็นเถ้าแก่มากกว่าเป็นนักอุตสาหกรรม
ทำให้ "ไทยเกรียง" ซึ่งโตมาจากโรงปั่นด้านทอผ้าอยู่อย่างไรก็อย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก…!
"ไทยเกรียง" ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2503 เริ่มผลิตได้ในปี
2505 เดินเครื่องไปได้แล้ว 3 ปีก็ยังขาดทุนสะสมอยู่ประมาณ 9 แสนบาท เพราะปัญหาต้นทุนวัตถุดิบแพงและต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ถึง
22 ล้านบาท
แหล่งข่าวจาก "ไทยเกรียง" รายหนึ่งยอมรับว่า จุดเริ่มต้นของที่นี่ก็ดูจะไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด
เนื่องจากต้องใช้เงินกู้ถึง 9 ล้านบาท คิดเป็นกว่า 2 เท่าของเงินที่ชำระจริงเพียง
4 ล้านบาทจากทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท
แต่เมื่อยังเห็นลู่ทางตลาดด้ายยังสดใส "ไทยเกรียง" จึงเพิ่มแกนปั่นด้ายเป็นครั้งแรกในปี
2508 หลังจากที่เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 14 ล้านบาท ระยะนั้นผ้าผืนขายดีมาก
ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าส่วนหนึ่งก็ส่งจากสำเพ็งไปขายต่อในอินโดจีนอันมีฐานทัพอเมริกาที่ทำสงครามอยู่เป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญ
ล่วงมาถึงระยะปี 2514-16 ตลาดผ้าบูมสุดขีด มีโรงงานทอผ้าเกิดขึ้นราวดอกเห็ด
"ไทยเกรียง" จึงขยายแกนปั่นด้ายมากกว่าโรงทอผ้า พร้อมทั้งเพิ่มทุนเป็น
350 ล้านบาท และเป็น 480 ล้านบาทในปี 2517
ขณะที่พ่อค้ารายอื่นก็แห่กันขยายแกนปั่นด้ายเช่นกัน จนสำนักงานคณะรกรมการส่งเสริมการลงทุน
(บีโอไอ) ต้องงดการส่งเสริม
แต่สำหรับ จรินทร์ เขาได้ตัดสินใจขยายงานไปที่บางปูอีกแห่งหนึ่งด้วเยิงน
600 ล้านบาท สั่งซื้อเครื่องทอผ้า 5,000 เครื่องและแกนปั่นด้ายแสนแกน ซึ่งยังคาอยู่ที่คลองเตย
ก็ให้บังเอิญสหรัฐฯ พ่ายสงครามญวน ถอนทัพออกไป ตลาดที่เคยเฟื่องฟูก็แฟบทันตา
เป็นเหตุให้ "ไทยเกรียง" ตกอยู่ในสภาพตกต่ำสุดขีดในปี 2518 โดยมีหนี้ค้างจ่ายกว่า
1,400 ล้านบาท มียอดขาเยพียง 483 ล้านบาท แต่มีต้นทุนสูงถึง 650 ล้านบาท
ยอดขาดทุนสะสมเพิ่มเป็น 234 ล้านบาท
"มันเหมือนลางร้ายของไทยเกรียงตั้งแต่นั้นมา แต่ถ้าถามว่าทำไม ชิน
โสภณพนิช แห่งแบงก์กรุงเทพจึงเป็นเจ้าหนี้ใหญ่ทุกครั้ง ก็เพราะว่าก่อนหน้านั้น
จรินทร์มีเครดิตดีมาก เรียกว่าต้องการกู้เท่าไหร่ก็ได้ เพราะเป็นเพื่อนกันและถือว่าเป็นลูกค้าที่ดี"
แหล่งข่าวเล่าถึงสภาพที่ "ไทยเกรียง" ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด
ต่อมาอีก 2 ปี "ทำให้ยอดหนี้ของเรารวมถึง 3,000 ล้านบาท เป็นหนี้ส่วนโรงงานบางปูและพระประแดงครึ่งต่อครึ่ง…!"
ชินซึ่งเป็นแกนเจ้าหนี้กลุ่มแบงก์ (แบงก์กรุงเทพ แบงก์กรุงศรีอยุธยา แบงก์กสิกรไทย
แบงก์กรุงไทย และแบงก์สหธนาคาร) ได้ขอร้องให้ดำหริ ดารกานนท์ แห่งกลุ่มสหยูเนี่ยนรับ
"ไทยเกรียง" ในส่วนของโรงงานบางปู เข้าอยู่ในเครือ พัฒนาจนเป็นบริษัทยูเนี่ยนอุตสาหกรรมสิ่งทอ
จำกัด อันเป็นฐานสำคัญของกลุ่มสหยูเนี่ยนในขณะนี้
ส่วนหนี้โรงงานพระประแดง ทางกลุ่มเจ้าหนี้เป็นผู้ดำเนินการเองเกือบหมด โดยมีสุนทร
อรุณานนท์ชัย จากบงล.สินเอเชีย เครือแบงก์กรุงเทพ เป็นประธานกรรมการบริหารและเป็นผู้จัดการบริหารโดยตรง
มีการปรับโครงสร้างระบบบัญชีใหม่คุมการทำงานในโรงงานเอง ซึ่งพบว่า "ไทยเกรียง"
ยังมีจุดรั่วไหลในเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มาก จนต้องลดคนงานจาก 4,200 คนเหลือประมาณ
3,000 คน
"ไทยเกรียง" ใช้เวลา 12 ปีจึงใช้หนี้ได้หมดในปี 2532 ซึ่งแหล่งข่าวรายหนึ่งเปรียบว่า
บริษัทเหมือนตกอยู่ในความมืด ไม่เห็นอนาคตเลย จะปรับ จะขยาย หรือพัฒนาอะไรก็ลำบาก
เรียกว่าเป็นระยะทำงานใช้หนี้ลูกเดียว
ขณะที่ผู้คร่ำหวอดสิ่งทอรายหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตว่า "แม้จรินทร์จะเก่งเรื่องฝ้าย
แต่ถ้าดูตอนขยายงานไปที่บางปูแล้ว ถือเป็นความพลาดครั้งใหญ่ที่ส่งผลต่อเนื่องและสะท้อนถึงสายตาที่ไม่ยาวไกลพอ"
ตลาดอินโดจีนระหว่างสงครามแม้ว่าตอนนั้นน่าสนใจ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นตลาดที่จะยึดเป็นหลักได้
ถ้ามุ่งตลาดตรงนั้นก็ต้องมีแผนไว้ด้วยว่า ถ้าล้มเหลวจะไปเจาะตลาดไหนต่อไป
ถ้าเป็นไปได้ควรดูตลาดที่น่าสนใจในระยะ 5 ปีขึ้นไป แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวเสริม
พูดได้ว่า ปัญหาของ "ไทยเกรียง" ในวันนี้ก็คือ ปัญหาที่สั่งสมมาจากอดีตนั่นเอง…!
อันที่จริง ในปี 2529 ก่อนที่จะเป็นปีทองของสิ่งทอในปี 2530 เมื่อบีโอไอเปิดส่งเสริมอีกครั้งหนึ่ง
"ไทยเกรียง" ก็ได้รับอนุมัติให้เพิ่มแกนปั่นด้ายอีก 20,000 แกน
แต่เจ้าหนี้บางส่วนไม่เห็นด้วยจึงต้องทบทวนโครงการใหม่ จนมาถึงปี 2533 เพิ่งจะเริ่มนำเข้าเครื่องจักรบางส่วน
แทนที่ "ไทยเกรียง" จะก้าวไปได้อย่างราบรื่นกลับต้องสะดุดซ้ำแล้วซ้ำอีก
ขณะที่กลุ่มอื่นอย่างกลุ่มไทยเมล่อนรุดหน้าไปแล้วหลายช่วงอย่างตลอดรอดฝั่ง
จะเห็นว่า จากวันแรกจนถึงวันนี้ ตลาดเป้าหมายของ "ไทยเกรียง"
ยังแทบไม่ได้เปลี่ยนไปเท่าใดนัก…!
แม้แต่ในหนังสือชี้ชวนนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ยังมีส่วนที่สะท้อนถึงการมองตลาดล่างเป็นหลัก
นั่นก็คือ ข้อความหน้า 21 ที่ว่า
"…การผลิตในขั้นตอนท้าย ๆ นั้นจะมีลักษณะเป็น LABOUR INTENSIVE คือ
อาศัยแรงงานเป็นหลัก ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ไทยค่อนข้างได้เปรียบ เนื่องจากค่าจ้างแรงงานค่อนข้างต่ำ
เมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ ๆ เช่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ และไต้หวัน"
ส่วนคำพูดของยงยุทธลูกชายคนที่ 3 วัย 36 ปี กรรมการและเลขานุการบริษัทที่กล่าวกับเพื่อนร่วมวงการบางรายย่อมเป็นตัวสะท้อนความจริงได้ดี
"อินโดนีเซีย จีน เขาดึงตลาดไปมาก อย่างจีน เขาส่งเส้นด้ายด้วย"
ก็หมายความว่าโรงงานใหญ่ของไทยต้องปรับต้องใช้เทคโนโลยี ถ้ายังยึดตลาดล่างก็แย่
โดยเฉพาะโรงปั่นด้ายที่ปิดตัวเองก็คือ โรงที่ผลิตเส้นด้ายเบอร์ต่ำ เช่น
เบอร์ 10 เบอร์ 20 ซึ่งเบอร์ยิ่งต่ำคุณภาพก็ยิ่งด้อย
"แม้เป็นโรงปั่นที่ปั่นเพื่อขายด้วยแล้ว ถ้าผลิตเบอร์ต่ำหรือเบอร์กลางตั้งแต่
10-45 อย่าง "ไทยเกรียง" หรือโรงงานเล็ก ๆ ก็ยังจะมีปัญหาอาจถึงขั้นปิดตัวเองด้วย
เพราะเป็นด้ายที่ใช้ในตลาดล่างและตลาดกลาง ขณะที่เครื่องจักรจะมีประสิทธิภาพดีกว่าใช้แรงงานคนราว
5 เท่า" แหล่งข่าวจากโรงงานทอผ้าย่านพระประแดง กล่าวถึงลักษณะตลาดเส้นด้ายและผ้าผืนในขณะนี้และแนวโน้มในอนาคต
"แรงงานเป็นเพียงปัญหาหนึ่งเท่านั้นที่สำคัญต้องปรับตัวให้ทันหรือก้าวนำตลาดให้ได้
อย่างกลุ่มทีทีไอ เขาผลิตอะไรก็มีตลาดคอยรองรับตลอด เช่น เอาเส้นด้ายผ่านเงา
เป็นเส้นด้ายเงาขายให้แก่กลุ่มนิตติ้งหรือส่งไปยังมาเลเซียก็ได้เป็นสินค้าที่มีตลาด
ขณะที่คนอื่นทำไม่ได้"
สำหรับรายใหญ่แล้ว กลุ่มทีทีไอน่าจะเป็นตัวอย่างที่มีโลกทัศน์และสายตาที่กว้างไกลที่ดี
กลุ่มนี้จะไม่เล่นตลาดล่างหรือแม้แต่ตลาดยิปปี้ (ตลาดกลาง) เลย แต่จะเน้นตลาดเฉพาะกลุ่ม
คุณภาพสูง ที่เป้นไฮแฟชั่น มุ่งตลาดบน โดยเฉพาะตลาดแถบยุโรป ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการเลี่ยงการปะทะกันเองระหว่างผู้ค้าในประเทศเหล่านั้น
แต่ช่วยเสริมศักยภาพการแข่งขันในตลาดให้ไปได้ดีโดยไม่ต้องพะวงเรื่องค่าจ้างแรงงานเหมือนกลุ่มที่เน้นตลาดล่าง
วิกฤติ "ไทยเกรียง" ครั้งนี้จึงเป็นเพราะจรินทร์สะดุดความคิดตัวเองที่ไม่อาจมองทะลุไปถึงอนาคตโดยแท้…!
ดังนั้นเมื่อผนวกกับปัญหาแรงงานที่เรื้อรังมานานจนปะทุในคราวนี้ ยงเกียรติถึงกับกล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ว่า
"ผมท้อใจนะ"
ท้อขนาดที่ว่า "จากนี้ไป เราไม่ทำสิ่งทออีก ถ้าจะขยายก็ต้องคิดหนัก
เกิดแบบนี้ใครจะกล้าลงทุน ขณะที่รัฐบาลทำไม่ถูก ผลักภาระให้นายจ้าง ถ้าจะให้ย้ายฐานลงทุน
เราเป็นคนไทย ก็ไม่อยากย้าย เพราะทำให้เพื่อนบ้านมาแข่งกับเรา" รวมถึงแผนโรงฟอกย้อมที่ชะลอไปอย่างไม่มีกำหนด
แต่จะขยายสายลงทุนไปสู่ธุรกิจอื่น
ราวกับว่า สงครามเครื่องจักรและแรงงานเป็นต้นตอทำให้สิ่งทอถึงจุดอวสาน ?
"ยัง อาทิตย์ยังไม่อัสดง"
โสภณ วิจิตรกร ประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอไทย และนายกสมาคมเส้นใยสังเคราะห์ตอบทันควัน
เมื่อมีคนเปรยว่า ต่อไปนี้ "สิ่งทอจะเป็น SUNSET INDUSTRY ไม่ใช่ SUNRISE
INDUSTRY อย่างเมื่อก่อน"
"ต้องขยับจากการผลิตที่เป็น MASS PRODUCT ไปเน้นงานที่เป็นไฮแฟชั่น
มุ่งตลาดเฉพาะกลุ่มตลาดใหม่ ๆ เพิ่มมูลค่าสินค้าให้ได้มากที่สุด เป็น CAPITAL
INTENSIVE และต้องประสานกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีไซน์
เรื่องคุณภาพ และตรงเวลาเพื่อให้ลูกค้าอยู่กับเรามากที่สุด" วิโรจน์
อมตกุลชัย นายกสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มไทยเคยกล่าวถึงแนวการปรับตัวของสิ่งทอไทยเพื่อให้อยู่ได้
และไต่สู่ระดับแนวหน้าของโลกประมาณ 4-5 ปีก่อน
เรียกว่า จะต้องปรับทุกอย่างไปสู่ความเป็น "ที่สุด" เพื่อความอยู่รอดของสิ่งทอไทย…!
เนื่องจากระบบพัฒนาของสิ่งทอโลกจะไม่เวียนย้อนกลับ ที่เริ่มจากอังกฤษในศตวรรษที่
19 เมื่อเจอค่าแรงสูงก็ถูกสหรัฐฯ ยึดตลาด และตกเป็นของญี่ปุ่น จนปัจจุบันผู้ส่งออกได้กลายมาเป็นเกาหลี
ไต้หวัน ฮ่องกง แล้วตามมาด้วยไทย นี่เป็นความเห็นที่บรรดาผู้นำขององค์กรสิ่งทอเห็นพ้องกัน
แต่…การจะก้าวไปสู่เป้าหมายที่ว่าให้อยู่รอดได้นั้น มีข้อแม้ว่าเราจะต้องปรับโครงสร้างภาษีซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานของสิ่งทอทั้งระบบ…!
"ภาษี" ปัญหาที่ถูกสั่งสมและหมักหมมมานานที่พูดกันจนซ้ำซาก แต่ก็แก้ไม่ทันโลกที่พลิกผันไปอย่างรวดเร็วกันเสียที
"จะเห็นว่า ไต้หวัน ฮ่องกงยังไปได้อีกไกล แม้ว่าค่าแรงสูงก็ตาม"
วิโรจน์และโสภณต่างให้ข้อสังเกตที่สอดคล้องกัน แต่ปัญหาที่แท้จริงสำหรับสิ่งทอก็คือ
ปัญหาระบบภาษีพื้นฐาน
โดยโครงสร้างการผลิตของสิ่งทอนั้นจะเริ่มจากการปั่นด้าย ทอผ้า ไปสู่การฟอก
ย้อมและตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป (เสื้อผ้า) ซึ่งมีปัญหาเรื่องภาษีทุกขั้นตอน
ถ้ามองย้อนจากอุตสาหกรรมปลายน้ำที่เป็นเสื้อผ้า "สินค้าระดับล่าง ถ้าไม่ปรับภาษี
กระทบแน่ เพราะภาษีนำเข้าผ้าผืน 20% เมื่อมาตัดเย็บขายในประเทศก็มีปัญหาเมื่อแข่งกับเสื้อผ้าที่มีการนำเข้ามาขายโดยเขาไม่ต้องเสียภาษีผ้า
(ในประเทศของเขา) แต่ต้องเสียภาษีนำเข้าก็ตาม" ชวลิต นิ่มละออ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มไทยกล่าวถึงปัญหาหลักของเสื้อผ้า
ถ้าลดภาษีทั้งระบบแล้ว เสื้อผ้าจะถูกลงมากถึง 10-15% และทำให้เราแข่งกับเสื้อผ้าที่นำเข้ามาได้
"ถ้าใครแข่งไม่ได้ ก็แสดงว่าไม่มีประสิทธิภาพพอ" ชวลิตมองถึงผลดีของการลดภาษีกับการมีเขตการค้าเสรีอาเซียน
(อาฟต้า) ว่า เป็นการเสริมตลาดในประเทศ และถ้าปรับโครงสร้างภาษีได้จริงและเร็ว
ไทยยังแข่งกับตลาดโลกได้
จะเห็นว่า ขณะที่ไทยส่งออกสิ่งทอเป็นแสนล้านบาท แต่ก็มีการนำเข้าผ้าผืนที่ฟอกย้อมได้คุณภาพตามต้องการเข้ามาตัดเย็บเสื้อผ้า
เพราะงานฟอกย้อมเป็นปัญหาคอขวดของสิ่งทอทั้งระบบ
เมื่อมองไล่ลงไปถึงการฟอกย้อม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขั้นกลางของสิ่งทอ และถือเป็นปลายทางของสิ่งทอต้นทาง
(ปั่นด้าย + ทอผ้า) ดังนั้น ถ้าไม่มีระบบฟอกย้อม สิ่งทอไทยก็พัฒนาไม่ได้นั่นเอง
โดยเฉพาะ "โฉมหน้าสิ่งทอไทยในปี 2536 เปลี่ยนรูปไปแล้วอย่างสิ้นเชิง"
เจริญ เลาหทัย นายกสมาคมฟอกย้อม พิมพ์และตกแต่งสิ่งทอไทย ผู้นำองค์กรธุรกิจสิ่งทอที่หนุ่มที่สุดของไทยกล่าวถึงปัญหาใหญ่ที่ตนคลุกคลีอยู่
เนื่องจากเดี๋ยวนี้ เราไม่อาจนำเข้าวัตถุดิบที่เป็นเส้นด้าย หรือผ้าดิบ
หรือเส้นใยประดิษฐ์ เพราะเจอเรื่องภาษีทำให้ต้นทุนสูง และไม่อาจแข่งกับกลุ่มประเทศเอเชียใต้
อย่างอินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ศรีลังกา หรือแม้แต่เวียดนาม และเขมรในอนาคตข้างหน้าที่จะกลายเป็นผู้ผลิตสิ่งทอตลาดล่างที่สำคัญ
ถ้าเทียบในกลุ่มเอเชียอาคเนย์ไทยก็เสียเปรียบอีกเช่นกัน เพราะเจอสีและเคมีที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการฟอกย้อม
มีภาษีสูง 60-80% จนไทยแข่งกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ หรือสิงคโปร์ไม่ได้
เพราะเขามีภาษีต่ำกว่ามาก เช่น อินโดนีเซียเก็บภาษีสี 5% มาเลเซียไม่เก็บเลย
"การฟอกย้อมเปรียบเหมือนการแต่งตัวเสริมสวยให้เหมาะกับกาลเทศะหรือความต้องการของตลาดนั่นเอง"
เจริญ ลูกของสว่าง เลาหทัย กล่าวถึงความสำคัญของงานฟอกย้อมและยอมรับว่า
"บางครั้ง ความสามารถในการฟอกย้อมของเรา ไม่ถึงจริง ๆ ขณะที่ส่วนนี้จะไปได้ดี
คนต้องพร้อม มีเครื่องจักรดี เทคนิคดี คือ ต้องดีทั้งหมด แต่เรามักติดปัญหาเรื่องเทคนิคเพราะงานฟอกย้อมใช้เทคนิคสูง"
ที่สำคัญ สิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมที่มีภาคต้นน้ำที่ใหญ่ ส่วนงานฟอกย้อมก็เป็นคอขวด
"แต่จะทำให้เส้นด้ายมีค่าเพิ่มและเพิ่มการส่งออกให้เพิ่มจากแสนล้านเป็นสองแสนล้านก็ได้ในอนาคต"
เจริญเชื่อว่า ถ้าแก้ปัญหาตรงนี้ได้ สิ่งทอไทยก็ยังไปได้ ขณะที่ตลาดเส้นด้ายและผ้าดิบในยุโรปตายไปแล้ว
ที่กล่าวว่า ถ้าแก้ปัญหาส่วนงานฟอกย้อมได้ก็จะช่วยหนุนเนื่องสิ่งทอได้อีกไกล
ด้วยเหตุว่าเฉพาะต้นทุนสีในการฟอกนั้นสูงถึง 45 -70% ของต้นทุนการฟอก แต่ภาษีนำเข้าสีนั้นสูงถึง
30%
ที่ต้องนำเข้าสี มิใช่ว่าไทยจะผลิตสีไม่ได้ ความจริง คือ ผลิตได้ และมีการส่งออก
ขณะที่ไทยก็ต้องนำเข้าสีเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะต้องเลือกเฟ้นเอาตามสเปกที่ต้องการเช่นเดียวกับโรงงานเสื้อผ้า
เมื่องานฟอกย้อมในประเทศไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ ก็ต้องนำผ้าผืนที่ฟอกย้อมแล้วเข้ามา
แม้เมื่อสาวไปถึงขั้นปั่นด้าย ทอผ้าก็มีปัญหาอีก ไม่ว่าจะเป็นไหมที่ไทยผลิต
โรงงานซื้อแล้วก็ไม่ได้ใช้กัน เพราะส่วนใหญ่ยังไม่ได้คุณภาพตามต้องการอีก
แต่ที่ต้องซื้อก็เพื่อจะเอาเป็นฐานขอสัดส่วนการนำเข้าไหมจากต่างประเทศนั่นเอง
ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเข้าจากจีน เพราะสีขาวกว่า แม้จะมีเส้นด้ายอื่นปนบ้าง แต่ทอแล้วให้คุณภาพที่เหนียวกว่า
หรือประเภทวัตถุดิบพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นสารปิโตรเคมีที่ใช้ผลิตเส้นใยสังเคราะห์
ซึ่งคิดเป็นต้นทุนการผลิตถึง 60 - 70% ล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงปัญหาภาษีลูกโซ่
โสภณ นายกสมาคมเส้นใยสังเคราะห์ จึงอยากเห็นการปรับภาษีทั้งระบบ เพราะกระทบเป็นโดมิโนถึงกันหมด
พร้อมทั้งประกาศว่า
ในส่วนของเส้นใยสังเคราะห์ใยสั้น ไหม ฯลฯ ยินดีให้ลดภาษีในส่วนที่เป็น 30%
ให้เหลือ 5% และที่เป็น 50 - 60% ก็ให้ลดเป็น 20% โดยมีเงื่อนไขว่า สินค้าสำคัญในการผลิตของสิ่งทอ
โดยเฉพาะตัวปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ต้องอยู่ที่ 1% และ 5%
เพราะถ้าไม่ทำลักษณะนี้ สิ่งทอคงไปไม่รอด ขณะที่อินโดนีเซียมีปัจจัยความพร้อมในการหนุนพัฒนาสิ่งทอมากกว่า
เช่น ไม่เก็บภาษีปิโตรเคมีตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งที่เขามีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีป้อนสิ่งทอได้แค่ประมาณครึ่งหนึ่งของความต้องการเท่านั้น
ภาพความซ้ำซ้อนของระบบภาษีสิ่งทอเหล่านี้ คือ สิ่งที่รู้กันมานาน พูดกันมาก็มาก
แต่ก็แก้ไม่ทัน…!
ขณะเดียวกัน จะเห็นว่า สิ่งทอไม่อาจแก้ปัญหาภาษีตามลำพัง หากยังเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่จะต้องเป็นฐานใหญ่ในการหนุนช่วยสิ่งทอให้ไปได้
เพราะสารจากปิโตรเคมีคือวัตถุดิบขั้นต้นของสิ่งทอ
แต่ก็มีปัญหาอีกว่า อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยเพิ่งจะเริ่มต้น จึงมีการเก็บภาษีนำเข้าสูงเพื่อปกป้องสินค้าในประเทศ
ทำให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งทอไทย
ขณะนี้จึงถกเถียงกันว่า รัฐบาลจะมีนโยบายที่จะพัฒนาปิโตรเคมีและสิ่งทออย่างไร
หรือจะอยู่ในลักษณะรักพี่เสียดายน้อง ทำให้พัฒนาไม่ได้ดีสักอย่าง
อันที่จริง ทางกระทรวงการคลังได้ปรับโครงสร้างระบบภาษีใหม่ อย่างที่เคยมีถึง
39 อัตราในสิ่งทอก็ศึกษาและปรับใหม่เหลือ 6 อัตรา ลดความซ้ำซ้อนลง ขณะเดียวกันก็ได้ลดนำเข้าภาษีเครื่องจักรเหลือเพียง
5% ในปี 2533
"แต่ก็ยังมีปัญหาการตีความของกรมศุลกากร หลายรายจึงยังต้องเสียภาษีในอัตรา
35%" แหล่งข่าวจากวงการสิ่งทอรายหนึ่งกล่าวถึงช่องโหว่ของกฎหมายที่ยังคงดำรงอยู่
กลไกของรัฐจึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ปรับตัวต่อตลาดโลกไม่ทัน เมื่อแรงขับเคลื่อนส่วนนี้เชื่องช้าตามระบบราชการเดิม
ๆ ขณะที่ทางเอกชนจะวิ่งทิ้งห่างไปแล้วหลายช่วงต่อก็ยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างรัฐกับเอกชนมากขึ้น
ถ้าแก้ปัญหาโครงสร้างระบบภาษีตรงนี้ได้ภายในปีสองปีนี้ สิ่งทอไทยก็ยังมีอนาคตดี
แม้ว่าเราคงมีค่าแรงสูงกว่าประเทศสิ่งทอใหม่อย่างอินโดนีเซียหรือจีนก็ตาม
ดังที่ โสภณ ประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอชี้ว่า ตลาดสิ่งทอไทย คือ ทั่วโลก
"เราต้องตีไต้หวัน เกาหลี เรื่องอะไรจะไปแข่งกับประเทศอย่างปากีสถาน
และเราไม่มองว่า อาฟต้าเป็นตลาดของเราหรอก"
คำประกาศนี้บอกความหมายชัดเจนว่า สิ่งทอไทยต้องพัฒนาไปสู่ตลาดบนมิใช่ตลาดล่างอย่างที่เป็นอยู่…!
ถ้าทุกฝ่ายมีเป้าหมายร่วมกันอย่างนี้ ก็ไม่ต้องไปกังวลว่า ประเทศกลุ่มสิ่งทอน้องใหม่จะมีค่าแรงถูกกว่าไทยเท่าไหร่
เพราะถ้ามัวไปแข่งกับเขาก็แข่งไม่ได้อยู่ดี
"ค่าแรงอินโดนีเซียวันละ 3-40 บาท จีนวันละ 50 บาท เวียดนามวันละ 25
บาท แต่ของเราวันละ 125 บาทบวก ๆ (บางแห่งอาจจะได้มากกว่านี้เล็กน้อย ขึ้นกับหน้าที่และลักษณะงานและบริษัท)"
โสภณยกตัวอย่างค่าแรงของเพื่อนบ้านที่ได้เปรียบไทย
ดังนั้น ถ้าทั้งรัฐและทางกลุ่มสิ่งทอมีจุดหมายปลายทางเดียวกันแล้วกำหนดยุทธศาสตร์
และกลยุทธ์ร่วม สิ่งทอไทยยังจะเป็นอุตสาหกรรมรุ่งอรุณต่อไป
"ตอนนี้ แค่เกิดอาการช็อกเท่านั้น" โสภณสะท้อนถึงปรากฏการณ์จากกรณีวิกฤติแรงงาน
"ไทยเกรียง" แต่ถ้าฟื้นไม่ได้ เพราะแก้ปัญหาข้างต้นไม่ได้ สิ่งทอไทยก็ต้องช็อกไปตลอดกาล
นั่นหมายถึงสังคมต้องช็อกไปด้วย…!
ด้วยเหตุว่า สิ่งทอเป็นสินค้าที่ส่งออกมากเป็นอันดับหนึ่งมาหลายปี และแม้แรงงานสิ่งทอปี
2535 จะเพิ่มขึ้นจากปี 2534 เพียง 3.2% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกหดตัว แต่แรงงานสิ่งทอทั้งระบบยังมีมากกว่าล้านคน
นับเป็นตลาดแรงงานมหาศาล
แรงงานโรงงานเสื้อผ้าจะมากเป็นอันดับหนึ่ง มีสัดส่วนกว่า 70% ของแรงงานสิ่งทอทั้งระบบ
(โปรดดูตาราง "แรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยปี 2531-35") เป็นจำนวนถึง
827,330 คน ขณะที่แรงงานส่วนปั่นด้ายและทอผ้ารวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนประมาณ
11-12% โดยแรงงานโรงงานทอผ้าจะใกล้เคียงกับแรงงานโรงงานปั่นด้าย แต่แรงงานทอผ้าจะมากกว่าแรงงานปั่นด้ายเล็กน้อย
มีจำนวนโรงงานปั่นด้าย 267 โรงและโรงงานทอผ้าถึง 780 โรงในปี 2535 (โปรดดูตาราง
"จำนวนโรงงานปั่นด้ายและโรงงานทอผ้าของไทยปี 2531-35")
ถ้านับถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2536 ไทยมีแกนปั่นด้ายประมาณ 4 ล้านแกนจากปีก่อนที่มีอยู่เพียง
2 ล้านแกน ขณะที่อินโดนีเซียมี 5.7 ล้านแกน และสองประเทศนี้นำเข้าเครื่องจักรรวมกันแล้วมากเท่ากับการผลิตของยุโรปทั้งหมด
"เรียกว่ารวมการผลิตของเกาหลี ไต้หวัน แล้วยังไม่มากเท่าไทยรวมกับอินโดนีเซีย"
แหล่งข่าวสิ่งทอรายหนึ่งให้ภาพแรงงานสิ่งทอไทย
ด้วยขนาดแรงงานที่มากขนาดนี้ ถ้าสิ่งทอไทยถึงจุดจบ "ลองนึกถึงสภาพแรงงานเหล่านี้ว่าจะเป็นอย่างไร"
นั่นหมายถึงวิกฤติแรงานที่จะขยายวงอย่างไร้ขอบเขต แหล่งข่าวระดับสูงจากโรงงานย่านพระประแดง
กล่าวสะท้อน "แล้วรัฐบาลมีนโยบายและเตรียมทางแก้ไว้อย่างไร เพราะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่
"ไทยเกรียง" เป็นแค่วิกฤติเริ่มต้นที่มาจากความผิดพลาดจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตลอดช่วงที่ผ่านมาเท่านั้น"
เพราะหลายปีก่อน ไทยเอาเรื่องค่แารงต่ำเป็นจุดขายในทุกอุตสาหกรรม โดยไม่ได้เตรียมและป้องกันว่า
เมื่อวันหนึ่งค่าแรงสูงขึ้นแล้วจะเป็นอย่างไร
แม้แต่นักลงทุนหลายคนเคยให้ทัศนะเรื่องค่าแรง เมื่อ 4-5 ปีก่อนกับ "ผู้จัดการ"
ว่า "ตอนนี้เป็นยุคของค่าแรงถูก ก็ทำไปก่อน ถึงตอนนั้น (ค่าแรงสูง)
แล้วค่อยว่ากัน"
เมื่อเราไม่ได้เตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกขณะ อุตสาหกรรมนั้นก็แย่
"สิ่งทอไทยเองที่ผ่านมาก็ได้รับความคุ้มครองมานานจากอุตสาหกรรมทารกก็กลายเป็นเฒ่าทารก"
โสภณ ประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอไทย กล่าว "แต่เราต้องปรับทั้งระบบ
ซึ่งก็ต้องมีคนเจ็บตัวบ้าง"
กระนั้นก็ตาม แม้จะปรับโครงสร้างภาษีสิ่งทอทั้งระบบ ก็มิได้หมายความว่า
ตลาดแรงงานสิ่งทอจะขยายตัวอย่างแต่ก่อน เนื่องจากภาวะแวดล้อมตลาดโลกบีบบังคับให้เราต้องนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาทดแทนแรงงาน
เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้น
จะเห็นว่า การนำเข้าเครื่องทอใช้กระสวยถึง 9,886 เครื่องในปี 2531 ได้ลดลงกว่าครึ่งเหลือเพียง
4,050 เครื่องในปี 2535 และจำนวนการนำเข้าเครื่องทอไร้กระสวยเพิ่มขึ้นจาก
1,987 เครื่องเป็น 2,891 เครื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (โปรดดูตาราง "เปรียบเทียบการนำเข้าเครื่องทอผ้าระหว่างปี
2531-35") เพราะเหตุว่า เครื่องทอไร้กระสวยจะเพิ่มผลผลิตได้ถึง 5 เท่าเมื่อเทียบกับเครื่องทอใช้กระสวย
กรณี "ไทยเกรียง" เห็นได้ชัด อย่างถ้าเครื่องเก่าทอได้ 80 หลา
ได้ผ้าเกรดเอ 30% ต้องใช้คน 15 คนคัดลักษณะด้าย แต่ใช้เครื่องทอใหม่จะทอได้ถึงสี่ห้าร้อยหลา
และได้เกรดเอถึงกว่า 90% คน เพียงคนเดียวคุมเครื่องได้นับสิบเครื่อง
นอกจากนี้ "ที่อื่นใช้คอมพิวเตอร์กันหมด เพราะระบบเก่า ถ้าด้ายขาดต้องใช้วิธีกระชากให้หลุด
แต่ระบบใหม่เครื่องจะหยุดเองอัตโนมัติ" โสภณผู้คร่ำหวอดในวงการสิ่งทอยกเปรียบเทียบถึงพัฒนาการใช้เครื่องจักรขณะที่ต่อไปเครื่องจักรจะมีอายุเพียง
5 ปีก็ต้องเปลี่ยนใหม่ เนื่องจากแฟชั่นเครื่องจักรจะเปลี่ยนแบบอย่างรวดเร็ว
เมื่อเทคโนโลยีกลายเป็นความจำเป็นของการพัฒนาอุตสาหกรรม แน่นอนว่า แรงงานที่มีอยู่จะกลายเป็นแรงงานส่วนเกินของตลาด
โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในตลาดล่างของสิ่งทอ
ขณะที่ตลาดก็ยังขาดแรงงานฝีมืออยู่มาก ดังที่โสภณและเจริญกล่าวสอดคล้องกันว่า
น่าตกใจที่สิ่งทอไทยนำรายได้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศมานานหลายปี และเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานของอุตสาหกรรมทั้งหมด
เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลายขั้นตอน และเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานทั้งหมดในโลก
แต่รัฐบาลไม่ได้เหลียวแลเลย
ขณะที่เกาหลีมีนโยบายชัดเจนว่า สิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมอันดับสำคัญ จึงเตรียมพร้อมทุกอย่างชนิดครบวงจร
แต่ไทยไม่มีการสอนเรื่องสิ่งทอสักวิชา ที่ทางราชการพยายามทำอยู่บ้าง ก็ฝึกกับเครื่องเก่าที่หมดยุคแล้ว
"การปรับภาษีอย่างเดียวยังไม่พอ คนต้องพร้อม เครื่องจักรต้องดี และรัฐต้องให้ความสะดวกเรื่องสาธารณูปโภค
ไม่ใช่อย่างที่โรงงาแถบสมุทรปราการมักเจอกันบ่อย ๆ ไฟดับพรวด โรงงานหยุดเดิน
เส้นใยขาดหมด ขาดทุน 2 แสนบาททันที เดือนหนึ่ง ๆ ดับอย่างนี้เป็น 10 ครั้งต่อเดือน
ถ้าเป็นโรงย้อมที่จะให้สีอ่อนสดใส สีก็แก่ทันทีเลยต้องประยุกต์ไปตัดเป็นเสื้อผ้าสีเข้ม"
โสภณ สะท้อนถึงปัญหาอย่างติดตลกอันเป็นที่มาของเสื้อผ้าสีประหลาดฉูดฉาดที่มีให้เห็นและบางครั้งก็กลายเป็นแฟชั่นไป
การพัฒนาแรงงานในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา "เป็นช่องว่างระหว่างแรงงานด้อยฝีมือกับแรงงานฝีมือที่จบ
ปวช. หรือ ปวส. ส่วนใหญ่ต้องตกเขียวกันตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ เมื่อจบแล้วก็ต้องมาฝึกงานด้านสิ่งทอโดยตรง
แล้วแต่ว่าใครจะลงในขั้นตอนไหนของตลาดสิ่งทอ" แหล่งข่าวระดับสูงอีกรายสะท้อนถึงปัญหาแรงงาน
"ขณะที่แรงงานด้อยฝีมือซึ่งจบ ป.4 หรือ ป.6 ส่วนนี้จะมีการฝึกอบรมหรือการเทรนเพื่อรองรับงานใหม่ได้มากน้อยแค่ไหน
อยู่ที่ว่าผู้บริหารองค์กรจะมีโลกทัศน์ มีการวางแผนผลิต และการจัดการอย่างไร
อย่าง "ไทยเกรียง" มีแรงงาน 70% ที่เทรนได้ และอีก 30% โยกย้ายได้
แต่ถ้าได้คนใหม่ที่จบ ปวช. ก็ย่อมดีกว่าคนที่ความรู้น้อยแล้วทำมานาน เพราะจะคล่องแคล่วและกระตือรือร้นกว่า"
แหล่งข่าวที่รู้เรื่อง "ไทยเกรียง" ยกตัวอย่างที่หลายโรงงานคงมีแนวคิดไม่ต่างกัน
อย่างไรก็ตาม เอกชนก็ต้องมีหน้าที่ที่จะบริหารเรื่องแรงงานด้วยวิธีการที่ละมุนละม่อมเช่นกัน
เพราะการใช้เครื่องจักรจะรู้ล่วงหน้าประมาณปีถึงปีครึ่งตามแผนที่ต้องเตรียมไว้
และใช้เวลานำเข้าเครื่องจักรอีกประมาณ 18 เดือน รวมแล้วมีเวลาเกือบ 3 ปีที่บริษัทจะปรับตัว
"อันนี้เราต้องเทรน คนปรับได้ก็ปรับ คนที่ปรับไม่ได้ก็ให้อยู่แผนกอื่น
หรือแม้แต่การช่วยเหลือเรื่องลู่ทางทำงานที่อื่น นอกเหนือจากที่จะต้องจ่ายค่าชดเชยอะไรต่าง
ๆ" โสภณย้ำว่า นี่เป็นหน้าที่ของเอกชนที่ควรมีต่อสังคม
เพราะถ้ามัวรอรัฐบาลก็คงไม่ทันการณ์ ตอนนี้จึงมีการตั้ง "สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งชาติ"
ซึ่งจะเป็นศูนย์ประสานงานแหล่งข้อมูล แนะนำ อบรม และส่งเสริมการพัฒนาสิ่งทอไทยทั้งระบบ
โดยให้เป็นสถาบันอิสระ ซึ่งอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเห็นชอบด้วย
แต่บังเอิญถูกเบียดตกไปในวันสุดท้ายที่การพิจารณา พรบ.ถึง 60-70 ฉบับ เวลานี้จึงต้องไปสู้กับยุคนายกชวนต่อ
สำหรับแรงงานส่วนเกินจากตลาดที่อาจจะถูกเลิกจ้างไม่ว่าจะจากตลาดแรงงานสิ่งทอหรือตลาดอื่น
ควรจะมีกองทุนชดเชยที่มาจากส่วนรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง เพื่อช่วยพัฒนาแรงงานเหล่านี้ให้ความรู้
และเสริมทักษะฝีมือมากขึ้น
"โอเค…ผมเห็นด้วยว่า ควรจะมี" ยงเกียรติยอมรับถึงความเป็นที่จะต้องมีคนรับผิดชอบแรงงานส่วนเกินจากแต่ละตลาดให้ไปสู่ตลาดใหม่ได้อย่างเหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เพราะวิกฤติ "ไทยเกรียง" ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความล้มเหลวของการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอเท่านั้น
แต่ยังสะท้อนถึงจุดล่มสายของแผนพัฒนาทั้งหมด
ม็อบแรงงานคราวนี้จึงเป็นการย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิวัติสังคมในทุกส่วน
โดยรัฐบาลจะต้องมีปัญญาที่จะมองการพัฒนาแต่ละจุดอย่างที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน
ทั้งในเชิงของเศรษฐกิจและสังคมและคุณภาพชีวิต
เพราะถ้ายังเน้นการพัฒนาเฉพาะส่วนดังที่ผ่านมา โดยแก้ปัญหาด้วยการสร้างปัญหาใหม่ก็จะตามแก้กันไม่จบ
"ม็อบไทยเกรียง" ครั้งนี้ ถึงจะเป็นวิกฤติ แต่ก็เป็นเรื่องดีที่จะตอกย้ำให้เราตระหนักถึงการเตรียมแผนปฏิวัติอุตสาหกรรมและสังคมใหม่อย่างจริงจังเสียที"
แหล่งข่าวระดับสูงวงการสิ่งทอชี้ถึงจุดดีที่เกิดขึ้นในความเลวร้าย
"ไทยเกรียง" ในวันนี้จึงไม่เพียงแต่กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่จะบอกว่า
สิ่งทอไทยจะอวสานหรือไม่…? หากเป็นข้อบ่งชี้ถึงหายนะแห่งสังคมไทยด้วยเช่นกัน…?