ผมเคยเขียนในคอลัมน์นี้หลายๆ ครั้งแล้วว่า กูเกิลมีบทบาทสูงในโลกอินเทอร์เน็ตในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวแต่ละครั้งของกูเกิลส่งผลกระทบต่อวงการอินเทอร์เน็ตมากในระดับที่ผมต้องเขียนถึงเรื่องราว แผนการและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของกูเกิลหลายต่อหลายครั้ง แม้ว่าช่วงหลังๆ บทบาทของโซเชียลออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น facebook หรือ twitter จะเริ่มมีมากขึ้นๆ ก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าบทบาทของกูเกิลยังคงไม่ลดลงไป และกลับมีการก้าวเดินที่น่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ
ล่าสุด พวกเขากำลังจะสร้างความเปลี่ยนแปลงของความเป็นกลางในอินเทอร์เน็ต
หลักการของความเป็นอิสระหรือความเป็นกลางในอินเทอร์เน็ต ที่เรียกว่า Network neutrality ซึ่งหมายรวมถึง Net neutrality และ Internet neutrality นั้นเป็นหลักการที่ต้องการให้ผู้ใช้งานเครือข่าย คอมพิวเตอร์โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตจะไม่ถูกกีดกั้นโดยผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (หรือ ISP-Internet Service Provider) หรือรัฐบาลในการเข้าถึงข้อมูล, เนื้อหา, เว็บไซต์, แพลทฟอร์ม ไม่ว่าจะใช้ผ่านเครื่องมือใดๆ หรือรูปแบบการสื่อสารใดๆ ก็ตาม
นั่นหมายความว่า ถ้าผู้ใช้บริการคนหนึ่งจ่ายเงินสำหรับการใช้บริการอินเทอร์เน็ตระดับหนึ่ง ผู้ใช้บริการอีกคนหนึ่งก็จ่ายเงินเพื่อใช้บริการอินเทอร์เน็ตในระดับเดียวกัน ดังนั้น ผู้ใช้บริการสองคนนี้ จะต้องสามารถติดต่อหากันและกันได้ในระดับของการใช้บริการอินเทอร์เน็ตนั้นๆ
ประเด็นเรื่อง Network neutrality กลายเป็นประเด็นถกเถียงมาอย่างยาวนาน และต่อเนื่องนับจากที่อินเทอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวัน และกลายเป็นประเด็นทางด้านกฎหมายที่กลายเป็นข้อขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและภาคเอกชนหลายๆ ประเด็น โดยเฉพาะล่าสุดที่กูเกิลย้าย สำนักงานออกจากประเทศจีนไปตั้งที่ฮ่องกงแทน ก็เป็นสาเหตุมาจากประเด็นเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับที่เรากำลังถูก ศอฉ. บล็อกเว็บ บางเว็บ
ล่าสุด นิวยอร์กไทม์รายงานว่า กูเกิล และ Verizon (Verizon Communications Inc. เป็นบริษัทโทรศัพท์ท้องถิ่น และโทรศัพท์เคลื่อนที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ซึ่งเกิดจากการรวมบริษัท Nynex กับ Bell Atlantic และต่อมากับ GTE ในปี 1997 และ 2000 ตามลำดับ) ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่สำคัญสองรายของอุตสาหกรรมการให้บริการอินเทอร์เน็ตและเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตใกล้จะบรรลุข้อตกลงที่ Verizon จะเพิ่มความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลบางอย่างถ้าเจ้าของเว็บไซต์นั้นๆ ยอมจ่ายแพง ขึ้นเพื่อให้ได้รับสิทธิ์พิเศษนั้นๆ
ซึ่งถ้าข้อตกลงนี้สำเร็จ มีเว็บไซต์ หลายๆ แห่ง โดยเฉพาะ YouTube ของกูเกิลที่คงต้องการให้คนทุกคนทั่วโลกสามารถเข้าชมภาพวิดีโอได้โดยไม่กระตุก
ซึ่งในที่สุดแล้ว เป็นไปได้ว่าข้อตกลง นี้จะรุกล้ำเข้าไปสู่การให้สิทธิพิเศษสำหรับ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตด้วยเช่นกัน โดยใครจ่ายแพงกว่าก็จะได้รับการบริการที่ดีกว่าเป็นพิเศษ หรือขั้นเบาะๆ อาจจะเป็นการคิดค่า บริการอินเทอร์เน็ตที่แพงขึ้นด้วย
แผนการที่กูเกิลและ Verizon วาง ไว้คือ กูเกิลจะจ่ายเงินหรืออาจจะอยู่ในรูป ผลตอบแทนพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง ในขณะที่ Verizon จะให้สิทธิพิเศษกับเว็บไซต์ Google.com และ YouTube. com ให้สามารถใช้งานได้เร็วขึ้นกว่าคู่แข่ง อย่าง Yahoo.com และ Hulu
ข้อตกลงระหว่างกูเกิลและ Verizon แน่นอนว่า กำลังจะเป็นการโยนนโยบาย ด้านอินเทอร์เน็ตในเรื่อง Network neutrality ทิ้งไป ความเชื่อที่ว่าผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจะต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน ซึ่งถือ เป็นการทรยศความเชื่อถือของลูกค้าที่มีต่อบริษัทที่ให้บริการมาอย่างยาวนาน และ จะทำให้เป็นเรื่องจำเป็นที่ทางภาครัฐบาลในฐานะเป็นผู้ควบคุมกติกาจะต้องเข้ามาแทรกแซงเพื่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นอิสระใน การใช้งานอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ยังต้องเป็นการแทรกแซงเพื่อแก้ปัญหาการผูกขาด การใช้งานอินเทอร์เน็ตที่จะส่งผลต่อความเป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจด้วย
การเคลื่อนไหวของกูเกิลและ Verizon ครั้งนี้มีแหล่งข่าวจากหลายๆ ที่ทั้งทางกูเกิลเองและ Verizon ที่ทั้งออกมาปฏิเสธและตอบรับกลายๆ เช่นเดียวกับทางโฆษกของ Verizon ก็ออกมาบอกว่า ทาง Verizon และกูเกิลได้ทำงานร่วมกันมากว่า 10 เดือนแล้วเพื่อบรรลุซึ่งข้อตกลง เกี่ยวกับนโยบายทางด้านบรอดแบนด์
แม้ว่าทั้งกูเกิลและ Verizon จะปฏิเสธรายงานของนิวยอร์กไทม์ เพียงไหน ก็ตาม อย่างน้อยกูเกิลและ Verizon ก็กำลัง ร่วมมือกันทำอะไรบางอย่าง คำถามก็คือ ความตกลงครั้งนี้จะไปไกลมากแค่ไหนเท่านั้นเอง
สำหรับประเด็นนี้เราอาจจะเรียกว่า Internet Payola โดยคำว่า Payola หมาย ถึงการจ่ายเงินที่ผิดกฎหมาย ซึ่งถือกำเนิดมาจากคดีความในอุตสาหกรรมเพลงอเมริกัน โดยบริษัทแผ่นเสียงจ่ายเงินเป็นพิเศษให้สถานีวิทยุเพื่อให้เปิดเพลงของพวกเขาเป็นพิเศษ ซึ่งภายใต้กฎหมายอเมริกา สถานีวิทยุสามารถเล่นเพลงใดๆ ก็ได้เป็นพิเศษโดยแลกเปลี่ยนกับการจ่ายเงิน ให้เป็นพิเศษด้วยเช่นกัน แต่การเปิดในลักษณะนี้จะต้องบอกให้ผู้ฟังรู้ว่าเป็นการเปิดโดยได้รับการสนับสนุนหรือมีสปอนเซอร์ นั่นเอง โดยการเปิดในลักษณะนั้นจะไม่เรียก ว่าเป็นการเปิดเพลงตามปกติ ภายหลังคำว่า Payola จึงนำมาใช้กับกรณีของการจ่ายเงิน แบบลับๆ เพื่อโปรโมตสินค้านั้นๆ ในทางบวก พูดง่ายๆ นี่คือการจ่ายเงินใต้โต๊ะนั่น เอง อย่างในวงการเพลงมักจะมีการจัดอันดับ ซึ่งเพลงที่ถูกจัดอันดับอยู่ในลำดับต้นๆ ย่อมมีผลต่อยอดขายของเพลงไปด้วย แน่นอน
ถ้ามองในแง่ของกูเกิลเอง พวกเขาก็คิดในแบบที่พวกเขาเป็นคือ เป็นเว็บไซต์ อันดับหนึ่ง (จากการจัดอันดับแบบวันต่อวันของ Alexa) ซึ่งการเคลื่อนไหวแต่ละครั้งย่อมกระทบกับภาพอุตสาหกรรมโดยรวมอย่างปฏิเสธไม่ได้ การเคลื่อนไหวหรือ ข้อเสนอทางด้านธุรกิจของพวกเขาย่อมนำไปสู่การทำอะไรก็ได้ที่จะทำให้คนใช้งานเว็บไซต์ของกูเกิลมากขึ้นนั่นเอง ขณะเดียว กันกูเกิลก็พยายามแสดงให้เห็นว่า พวกเขา อยู่ตรงข้ามความไม่เท่าเทียมกันมาโดยตลอด
ซึ่งถ้าเราทำใจให้เป็นกลาง จะเห็นการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของกูเกิลในการพยายามทำให้เกิดการเปิดกว้างทางอินเทอร์ เน็ต พวกเขาจ่ายเงินจริงๆ เพื่อปกป้องประเด็นเรื่อง Net neutrality มาก่อนหน้า ภาครัฐบาลเสียด้วยซ้ำ อย่างการล่าถอยออกจากประเทศจีนของกูเกิลก็เป็นประเด็น เรื่องการเซ็นเซอร์เนื้อหาในเว็บไซต์ของทางการจีน
นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่า ถ้าข้อตกลงระหว่างกูเกิลและ Verizon นี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่เรื่องในลักษณะเดียว กันนี้อาจจะไปเกิดขึ้นกับอุปกรณ์สื่อสารแบบไร้สายแทน โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ เพราะประเด็นเรื่องความช้าความเร็วในการใช้งานอินเทอร์เน็ตในอุปกรณ์สื่อสารแบบไร้สายเป็นประเด็นสำคัญมากกว่าบนอุปกรณ์แบบมีสายอื่นๆ และบนอุปกรณ์ไร้สาย ความต้องการพึ่งพากูเกิลก็ไม่ได้มีมาก มายนัก โดยเฉพาะการถือกำเนิดของ iPhone ภายใต้ข้อตกลงของแอปเปิลและ AT&T ซึ่ง iPhone ไม่จำเป็นต้องใช้กูเกิล มากมายนักในการใช้งาน โดยการเติบโต ของอินเทอร์เน็ตแบบไร้สายถือเป็นการคุกคามกูเกิลที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้อง ติดตามและให้ความสนใจต่อไป
อย่างไรก็ตาม กูเกิลในฐานะเว็บไซต์ อันดับหนึ่งที่จะต้องทำให้ธุรกิจของตนเติบโตผ่านแรงจูงใจทางการเงินในลักษณะ ต่างๆ กับบทบาทในฐานะผู้สนับสนุนให้เกิด ความเท่าเทียมกันบนอินเทอร์เน็ตดูจะเป็นเส้นบางๆ ที่กั้นกลางระหว่างสองบทบาทได้ไม่ชัดเจนมากนัก
ความอ่อนไหวในเรื่องนี้อาจจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นของผู้ใช้งานกูเกิลเองที่จะสูญหายไป ซึ่งน่าจะเป็นความอ่อนไหวที่สำคัญมาก และอาจจะเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่จะช่วยดึงกูเกิลให้กลับมายืนข้างผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตอีกครั้งหนึ่ง
พวกเราก็หวังแบบนั้นเช่นกัน ใช่ไหมครับ
อ่านเพิ่มเติม:
1. Network neutrality, http://en.wikipedia.org/wiki/Network_neutrality
2. Net neutrality, http://topics.nytimes.com/topics/reference/timestopics/subjects/n/net_neutrality/index.html?inline=nyt-classifier
3. Payola, http://en.wikipedia.org/wiki/Payola
4. ‘Google and Verizon Near Deal on Web Pay Tiers,’ http://www.nytimes.com/2010/08/05/technology/05secret.html?_r=1
5. Choney, S. (2010), ‘Google, Verizon deny talks about Web pay tiers,’ http://www.msnbc.msn.com/id/38576914/
6. ‘2nd UPDATE: Google, Verizon Deny Tiered-Web Deal Report,’ http://online.wsj.com/article/BT-CO-20100805-724063.html
7. Hulu, http://www.hulu.com/
|