Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา กันยายน 2553
“หงสา” โจทย์ล่าสุดของบ้านปูแต่ลงตัวสำหรับชาวบ้าน             
โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
 


   
www resources

โฮมเพจ บ้านปู

   
search resources

บ้านปู, บมจ.
Electricity
Hongsa Power Company Limited
Phu Fai Mining Company Limited




เที่ยงวันนั้น สิงเพิ่งกลับจากโรงเพาะเห็ดนางฟ้ามาถึงที่เรือนพักที่อยู่บริเวณหมู่บ้านเก่าของเธอ ขณะที่แมกลูกสาวของเธอกำลังนั่งแซว (ปัก) ผ้า รอเธออยู่บนเรือน

สิงและครอบครัวพร้อมกับเพื่อนบ้านอีก 12 หลัง ต้องย้ายออกจากหมู่บ้าน “บ้านใหม่” ที่เคยใช้พักอาศัยมาตั้งแต่เกิด ไปอยู่กับบ้านญาติที่บ้านนาจานเป็นการชั่วคราว เพื่อรอไปอยู่ยังหมู่บ้านแห่งใหม่ที่โรงไฟฟ้าหงสาสัญญาว่าจะสร้างให้ประมาณปลายปีนี้

หมู่บ้านที่จะย้ายไปอยู่ใหม่อยู่ห่างออกไปจากบ้านเดิมของเธอประมาณ 10 กิโลเมตร ใกล้กับทางแยกที่จะไปเมืองไชยะบุรี กับเมืองเชียงแมน ซึ่งมีข่าวว่ากำลังจะทำถนนใหม่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวจากไทยสามารถไปยังหลวงพระบางทางบกได้สะดวกขึ้น

“ต่อไปบ้านเมืองคงจะเจริญขึ้น” สิงตั้งความหวัง

ครอบครัวของสิง เป็น 1 ใน 13 ครอบครัวที่ต้องย้ายออกไปก่อนเป็นกลุ่มแรก เพื่อมอบพื้นที่หมู่บ้านให้โครงการโรงไฟฟ้าหงสาสร้างเป็นอ่างกักเก็บน้ำขนาดเล็ก กักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และเหมืองถ่านหิน

การเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าเป็นอาชีพใหม่ที่สิงเพิ่งหัดทำมาได้ไม่ถึงปี มีตัวแทนจากโรงไฟฟ้ามาช่วยสอนให้ เธอมีรายได้จากการขายเห็ดพอสมควร สามารถจุนเจือค่าใช้จ่ายในครอบครัวระหว่างรอย้ายเข้าไปอยู่ในหมู่บ้านแห่งใหม่

แต่ละเดือน โรงไฟฟ้าหงสายังนำข้าวสารมาให้กับครอบครัวของเธออีกประมาณเกือบ 20 กิโลกรัม สำหรับหุงรับประทาน เนื่องจากพื้นที่ทำนาเดิมของครอบครัวได้ถูกเวนคืนให้กับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไปแล้ว

ยังไม่นับรวมเงินชดเชยที่โรงไฟฟ้าหงสาได้จ่ายให้เป็นเงินก้อนที่เธอนำไปฝากธนาคารเอาไว้

สิงรู้มาว่าที่หมู่บ้านซึ่งเธอจะต้องย้ายไปอยู่ใหม่ในปีหน้า จะมีพื้นที่สำหรับใช้สร้างเป็นบ้านพักอาศัยของแต่ละครอบครัว ประมาณ 450 ตารางเมตร ในบริเวณบ้านยังขุดหลุมกว้างเอาไว้ให้เธอเลี้ยงหมู

นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าได้จัดพื้นที่สำหรับให้เธอทำการเกษตรอีก 2 เฮกตาร์ (12.5 ไร่) รวมถึงจัดหาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมบนเขาไว้ให้เธอทำสวนยางพารา ที่ตัวแทนโรงไฟฟ้าหงสาจะมาช่วยส่งเสริมให้เป็นอาชีพใหม่ของพวกเธอ

โรงไฟฟ้าหงสายังจัดหาพื้นที่ส่วนกลางไว้ให้อีก 500 เฮกตาร์ (3,125 ไร่) ไว้ให้ชาวบ้านที่ถูกย้ายออกไปใช้เป็นทุ่งสำหรับเลี้ยงสัตว์

แมก ลูกสาวของเธอจะได้เข้าไปทำงานในโครงการนี้ด้วย แต่ยังไม่รู้ว่าจะได้ทำในส่วนไหน เพราะต้องรอให้ตัวแทนของโรงงานมาคุยในรายละเอียดก่อน

เจ้าหน้าที่ของแขวงไชยะบุรีได้มาบอกกับชาวบ้านว่า การเข้ามาก่อสร้างโรงไฟฟ้าและทำเหมืองถ่านหินที่รัฐบาลได้ให้สัมปทานแก่บริษัทคนไทย ที่ทำให้เธอกับเพื่อนในอีก 3 หมู่บ้าน ของเมืองหงสาจะต้องย้ายที่อยู่ใหม่ และเสียที่ทำกินไปบางส่วนนั้น จะทำให้ชีวิตของพวกเธอดีขึ้น

กลุ่มผู้ลงทุนได้รับปากแล้วว่าจะทำให้ทุกๆ ครอบครัวมีรายได้ดีขึ้นจากเดิมถึง 50% ภายใน 5 ปีข้างหน้า

“เริ่มได้เสียที รอมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว” สิงคิดในใจ ขณะเดินขึ้นไปบนเรือนเพื่อกินข้าวกลางวันกับลูกสาว

โครงการโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินในเมืองหงสาที่บริษัท Hongsa Power Company Limited (HPC) และบริษัท Phu Fai Mining Company Limited (PFMC) ซึ่งบ้านปูถือหุ้นอยู่ 40% และ 37.5% ตามลำดับ ได้รับสัมปทานจากรัฐบาล สปป.ลาว เข้าไปทำในแขวงไชยะบุรีนั้นจำเป็นจะต้องใช้พื้นที่ถึง 76.2 ตารางกิโลเมตร

ทำให้มีความจำเป็นต้องโยกย้ายชาวบ้านประมาณ 450 ครัวเรือนจาก 4 หมู่บ้านออกไปนอกพื้นที่

ในจำนวนนี้เป็นการย้ายแบบยกทั้งหมู่บ้าน 2 หมู่บ้าน คือบ้านนาหนองคำซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวขมุ และบ้านนาทรายคำที่เป็นชาวลื้อ เพื่อนำพื้นที่มาใช้เป็นที่ทิ้งดิน

บ้านใหม่ที่สิงและลูกสาวเคยพักอาศัยอยู่ ซึ่งเป็นชุมชนย่อยของหมู่บ้านหาน ชาวลาวลุ่ม ต้องโยกย้ายออกไปจำนวน 13 ครอบครัว เพื่อให้พื้นที่สำหรับสร้างอ่างเก็บน้ำ

หมู่บ้านจัมปา หมู่บ้านลาวลุ่มอีกแห่งหนึ่งต้องย้ายออก 66 ครอบครัว เพื่อใช้สร้างเป็นแนวป้องกันระหว่างโรงไฟฟ้า, เหมืองกับชุมชนในตัวเมืองหงสา

นอกจาก 13 ครอบครัวของบ้านใหม่ที่ถูกโยกย้ายออกไปก่อนหน้านี้แล้ว ชาวบ้านส่วนที่เหลือจะเริ่มทยอยย้ายออกจากพื้นที่ประมาณปลายปีนี้ที่โครงการจะเริ่มเดินหน้าก่อสร้าง หลังจากได้รับเงินกู้จากสถาบันการเงินไทย 9 แห่ง เกือบ 1 แสนล้านบาท เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ชาวบ้านเกือบ 2,000 คนที่ต้องโยกย้ายครั้งนี้ รู้ตัวมาก่อนล่วงหน้าถึงกว่า 10 ปีแล้วว่าเหตุการณ์จะต้องเกิดขึ้น

เพราะตั้งแต่รัฐบาลลาวได้ให้สัมปทานกับบริษัทไทย-ลาว ลิกไนต์เข้ามาทำเหมืองถ่านหินที่เขาภูไฟ เมื่อปี 2536 ก็ได้มีการแจ้งล่วงหน้าแล้วว่าต้องมีการโยกย้ายหมู่บ้าน

ด้วยข้อมูลที่ตัวแทนรัฐบาลและบริษัทที่เข้ามารับสัมปทานได้มาแจ้งกับชาวบ้านเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ทำให้พวกเขามีความหวังว่าการโยกย้ายถิ่นฐานจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้น

แต่พวกเขารอมาแล้วกว่า 10 ปี ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น

จนมีผู้ลงทุนกลุ่มใหม่เข้ามาเมื่อต้นปีนี้ ความหวังของชาวบ้านเหล่านี้จึงบังเกิดขึ้นอีกครั้ง

โครงการหงสาของบ้านปู อาจเรียกได้ว่ามีความลงตัวในหลายๆ จุด ทำให้การเข้ามาลงทุนครั้งนี้ ไม่ค่อยพบกับอุปสรรคจากชุมชนรอบข้างมากนัก

ความลงตัวประการแรกดังที่กล่าวถึงข้างต้น คือชาวบ้าน รับรู้อยู่แล้วว่าจะมีการลงทุนก่อสร้างเหมืองและโรงไฟฟ้า และมีความหวังจากการลงทุนครั้งนี้ว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น

ประการต่อมา สิ่งที่บ้านปูนำเสนอให้กับชาวบ้าน ก็เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ชาวบ้านเหล่านี้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้จริง แม้บางคนจะต้องสูญเสียบ้านที่เคยพักอาศัย หรือที่ทำกินไป แต่พวกเขาก็จะได้รับเงินชดเชย ได้บ้านหลังใหม่ มีที่ดินทำกินใหม่ และที่สำคัญได้มีอาชีพใหม่ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเขาเพิ่มขึ้น

“เงื่อนไขหนึ่งที่เราให้สัญญากับชาวบ้านเอาไว้เลย คือ ทุกครอบครัว จะได้เข้ามาทำงานในโครงการของเราอย่างน้อย 1 คน และรายได้ของเขาจะต้องเพิ่มขึ้น 50% ภายใน 5 ปี” วรวุฒิ ลีนานนท์ กรรมการผู้จัดการ HPC บอก

ตัวของวรวุฒิก็ถือเป็นความลงตัวอีกประการหนึ่ง

วรวุฒิเคยเป็นพนักงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ย้ายมาทำงานกับบ้านปูตั้งแต่กว่า 20 ปีที่แล้ว เคยไปอยู่ที่โรงไฟฟ้าของบริษัท The Cogeneration Company Limited-COCO และบีแอลซีพี ก่อนที่บ้านปูจะส่งเข้ามาดูแลโครงการโรงไฟฟ้าหงสาเมื่อปี 2551

สมัยอยู่ กฟผ.วรวุฒิอยู่ส่วนกลาง แต่ดูแลโครงการของโรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นหลัก จึงรับรู้พัฒนาการและจุดเด่น จุดด้อยของโรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นอย่างดี

โครงการโรงไฟฟ้าหงสา เปรียบไปแล้วก็เหมือนกับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ คือเป็นโรงงานไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ปากเหมืองถ่านหิน

ข้อดีของโครงการแบบนี้คือไม่ต้องใช้ระยะทางในการขนส่งถ่านหินจากเหมืองไปสู่โรงไฟฟ้า การขนส่งถ่านหินจะใช้ระบบสายพานลำเลียง ซึ่งไม่ทำให้เกิดมลภาวะ หรือสร้างความรำคาญ รบกวนชาวบ้านให้เดือดร้อน

แต่ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะเคยมีปัญหากับชาวบ้านที่อยู่รายรอบโรงงานก็เนื่องจากเป็นโครงการที่มีการพัฒนาขึ้นมาแบบไม่มีแผนแม่บท และเทคโนโลยีสำหรับจัดการสิ่งแวดล้อมสมัยนั้นยังไม่ทันสมัย

โรงไฟฟ้าแม่เมาะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2503 เนื่องจากได้มีการสำรวจพบแหล่งถ่านหินในบริเวณแอ่งแม่เมาะ แต่เนื่องจากเทคโนโลยีสำหรับใช้สำรวจถ่านหินยุคนั้น ทำให้ไม่ทราบปริมาณถ่านหินที่มีอยู่จริงว่ามีเป็นจำนวนเท่าใด โรงจักรแม่เมาะที่เปิดขึ้นครั้งแรกจึงมีกำลังการผลิตเพียง 12.5 เมกะวัตต์ จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 3 เครื่อง

ต่อมาเมื่อมีการสำรวจพบถ่านหินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็มีการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าขึ้นเรื่อยๆ ตามปริมาณถ่านหินที่สำรวจพบ ทำให้จากโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิต 12.5 เมกะวัตต์เมื่อ 50 ปีก่อน ปัจจุบันที่แม่เมาะมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าถึง 13 เครื่อง กำลังการผลิตรวม 2,625 เมกะวัตต์

การขยายกำลังการผลิต โดยที่ไม่มีแผนแม่บทชัดเจน ย่อมทำให้เกิดผลกระทบกับชุมชนรอบด้าน เพราะไม่ได้มีการวางแผนรองรับเอาไว้

รวมถึงเทคโนโลยีสำหรับการจัดการสิ่งแวดล้อมในยุคแรกๆ ก็ยังไม่ทันสมัย โดยมีกำมะถันถูกปล่อยออกมาจากปล่องของโรงไฟฟ้า

กฟผ.เพิ่งนำเครื่องดักจับกำมะถันไปติดตั้งไว้ที่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะในภายหลัง จึงค่อยบรรเทาปัญหาไปได้

แต่สำหรับที่หงสา โรงไฟฟ้าที่ออกแบบมาให้มีกำลังการผลิต 1,878 เมกะวัตต์ เป็นการออกแบบมาเพื่อรองรับกับปริมาณถ่านหินที่ได้สำรวจพบจริงในภูเขาภูไฟ สามารถใช้ต่อเนื่องได้ตลอดอายุสัมปทาน 25 ปีที่ได้รับจากรัฐบาล สปป.ลาว รวมทั้งได้มีการติดตั้งเครื่องดักจับกำมะถันที่เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 3 เครื่องไว้พร้อมแล้วด้วย

เป็นการนำประสบการณ์ที่เคยรับรู้จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะมาใช้ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นกับโครงการโรงไฟฟ้าหงสา

นอกจากวรวุฒิแล้ว บุคลากรที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการโรงไฟฟ้าหงสาอีกหลายคน ก็ถือเป็นอีกหลายความลงตัวของโครงการนี้

เริ่มจากพีรพล นนทแก้ว ผู้ซึ่งเข้าไปในพื้นที่เป็นด่านหน้า ในฐานะ Site Manager ของโครงการ แต่ตำแหน่งแท้จริงของพีรพลคือ Environment Manager บทบาทของเขาจึงเน้นหนักไปในด้านการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าแห่งนี้โดยเฉพาะ

นอกจากนี้ยังมีตองแหลง ปันยานุวง อดีตอาจารย์จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาในนครหลวงเวียงจันทน์ กับเปลี่ยน มณียะ ที่ปรึกษาด้านฟื้นฟูวิถีชีวิต บริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ เข้ามาร่วมเป็นทีมงานในด้านพัฒนาชุมชนให้กับโครงการโรงไฟฟ้าหงสา

ทั้งตองแหลงและเปลี่ยนมีประสบการณ์ในงานชุมชนให้กับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ใน สปป. ลาวมาแล้วหลายแห่ง โครงการล่าสุดก็คือที่น้ำเทิน 2 ซึ่งเริ่มผลิตไฟฟ้าขายให้กับประเทศไทยแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันตองแหลงมีตำแหน่งประจำเป็นผู้จัดการฝ่ายพัฒนาชุมชนของโรงไฟฟ้าหงสา

(รายละเอียดเกี่ยวกับงานพัฒนาชุมชนของโครงการโรงไฟฟ้าหงสา สามารถเข้าไปดูได้ที่ www.gotoknow.org ซึ่งเปลี่ยน มณียะ นำเนื้อหาหลายๆ ด้านบรรจุไว้ในเว็บไซต์แห่งนี้)

ที่กล่าวถึงคือบุคลากรที่เข้ามามีส่วนในงานด้านพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้กับโครงการโรงไฟฟ้าหงสา ในส่วน สปป.ลาว

ในประเทศไทย โครงการนี้ก็ยังได้เสถียร ชาติพงศ์ อดีตนายช่างกรมทางหลวง ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวจังหวัดน่านมานานเป็นที่ปรึกษา เพื่อช่วยในการสร้างความเข้าใจกับชาวจังหวัดน่าน ในรายละเอียดของโครงการ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดน่านประมาณ 180 กิโลเมตร

ความลงตัวของสถานการณ์และบุคลากรเหล่านี้จะมีผลให้เมืองหงสามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมากในอีก 5 ปีข้างหน้า เมื่อโรงไฟฟ้าเปิดเดินเครื่อง   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us