Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา กันยายน 2553
A villager on an international milestone             
โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
 

   
related stories

ภารกิจที่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น

   
www resources

โฮมเพจ บ้านปู

   
search resources

บ้านปู, บมจ.
ชนินท์ ว่องกุศลกิจ
Mining
Electricity




บ่ายแก่ๆ ของกลางเดือนกรกฎาคม บุญเติมยืนมองที่นาของตนเองที่มีชาวปะกากะญอเกือบ 10 คน จากบ้านนากลาง หมู่บ้านที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก เข้ามารับจ้างปักดำต้นกล้าให้

ใกล้ๆ กันนั้น คนในหมู่บ้านเดียวกับเขาอีกหลายคนก็เร่งจัดการกับที่นาของตนเอง บางคนกำลังดันรถไถ เพื่อเตรียมพื้นที่ให้พร้อมสำหรับการปักดำ อีกหลายคนกำลังช่วยกันผันน้ำจากคลองส่งน้ำที่เชื่อมต่อมาจากลำน้ำลี้เข้าที่นา ขณะที่ภายในเพิง ที่พักชั่วคราว สาวๆ 3-4 คนจัดเตรียมเสบียงและน้ำท่าเอาไว้ให้ผู้ชายดื่มกินยามหิวกระหาย

ปีนี้บุญเติมอายุย่างเข้าสู่ปีที่ 41 เขา ยังจำภาพสมัยเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ตอนอายุ 14 ปีได้ ตอนนั้นครอบครัวของเขาต้องโยกย้าย ถิ่นฐานจากหมู่บ้านเดิม ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร เพื่อมาสร้างบ้านหลัง ใหม่ ซึ่งเขาได้พักอาศัยอยู่มาจนถึงทุกวันนี้

ด้วยความที่ยังเด็ก บุญเติมไม่เข้าใจ หรอกว่าในตอนนั้นทำไมต้องย้ายบ้าน พ่อบอกเขาว่ามีบริษัทจากกรุงเทพฯ มาได้สัมปทานขุดถ่านหินในพื้นที่ที่เป็นหมู่บ้านของพวกเขา แต่บริษัทนี้ได้เตรียมจัดหาที่อยู่ใหม่เอาไว้ให้แล้ว ครอบครัวของเขาจะได้ พื้นที่ประมาณ 2 งานกว่า เพื่อปลูกบ้านกับ พื้นที่ทำสวนลำไยอีกเล็กน้อย และที่นาอีกประมาณ 2 ไร่

ที่หมู่บ้านใหม่มีทั้งวัดและโรงเรียน เพื่อให้พวกเด็กๆ อย่างเขามีโอกาสได้เรียน หนังสือใกล้ๆ บ้านอีกด้วย

เกือบ 30 ปีแล้วที่บุญเติมอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ ทำสวนลำไย ปลูกข้าวขาย สร้างฐานะจนสามารถส่งลูกเข้าไปเรียนหนังสือ ในตัวเมือง

ทุกวันนี้ ลูกชายคนโตของเขาเรียนอยู่ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี อีกเพียงปีเดียวก็จะจบ และจะเป็นกำลังหลักสำหรับช่วยเขาดูแลเรือกสวนไร่นาให้ที่บ้าน

ส่วนลูกสาวคนเล็กเป็นเด็กหัวดี สอบโควตาได้เข้าเรียนที่คณะบัญชี-บริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนนี้อยู่ปี 3

หมู่บ้านที่บุญเติมอาศัยอยู่ ชื่อ “บ้านปู” อยู่ในตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน...

ปี พ.ศ.2526 ตระกูล “ว่องกุศลกิจ” ซึ่งเป็นกลุ่มทุนจากกรุงเทพฯ ร่วมกับตระกูล “เอื้ออภิญญกุล” กลุ่มทุนจากจังหวัดแพร่ เข้าประมูลเช่าพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ตั้งเดิมของหมู่บ้าน “บ้านปู” และเป็นพื้นที่สัมปทานของสำนักงานพลังงานแห่งชาติ เพื่อทำเหมืองถ่านหิน

ทำให้ต้องย้ายหมู่บ้าน “บ้านปู” ออกไปห่างจากจุดที่ตั้งเดิมประมาณ 3 กิโลเมตร

บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านที่จะย้ายไปอยู่ใหม่ เดิมชาวบ้านเรียกกันว่า “หนองผักบุ้ง” เมื่อ ชาวบ้าน “บ้านปู” จำเป็นต้องย้ายมาอาศัย ณ ที่แห่งนี้ พวกเขายังคงใช้ชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า “บ้านปู” เหมือนเดิม เพราะถือเป็นความผูกพัน

เพื่อเป็นเกียรติแก่หมู่บ้านและชาวบ้าน “บ้านปู” ที่จำเป็นต้องเสียสละ ละทิ้งถิ่นฐาน เดิมออกไป กลุ่ม “ว่องกุศลกิจ” และ “เอื้ออภิญญกุล” ได้ตั้งชื่อบริษัทใหม่ที่จะเข้ามารับสัมปทานทำเหมืองถ่านหินว่า บริษัท “เหมืองบ้านปู” จำกัด และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท “บ้านปู” อย่างเดียวในภายหลัง

หากย้อนดูประวัติศาสตร์ ชื่อ “บ้านปู” ดูเหมือนเป็นชื่อที่ถูกโฉลกกับอุตสาหกรรม เหมืองถ่านหินในไทย เพราะเหมืองถ่านหินแห่งแรกของประเทศไทยที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2440 ก็ตั้งอยู่ที่ “บ้านปูดำ” จ.กระบี่

“2440-2449 บริษัทถ่านหินศิลากระบี่ เริ่มสำรวจถ่านหินบริเวณภาคใต้ และได้รับ พระราชทานให้ทำเหมือง บริเวณบ้านปูดำ กระบี่ ปี 2448 ก็เลิกกิจการ” ข้อมูล “ประวัติ การสำรวจและผลิตถ่านหิน” ในเว็บไซต์ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุ

(ดูรายละเอียดจาก “ประวัติการสำรวจและผลิตถ่านหินในไทย”)

จากกระบี่ จังหวัดในภาคใต้เมื่อ 100 กว่าปีก่อน ขึ้นมาสู่ภาคเหนือที่จังหวัดลำพูน เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว

มาถึงวันนี้ ชื่อ “บ้านปู” มิได้ถูกรับรู้แค่เป็นชื่อของหมู่บ้าน หรือชื่อของบริษัทที่ทำ เหมืองถ่านหินของประเทศไทยแต่เพียงอย่างเดียว

แต่ชื่อนี้ได้รับการยอมรับในบทบาทของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหิน และพลังงานในระดับโลกไปแล้ว

หุ้นบ้านปู (BANPU) ณ วันนี้ ถูกจัดให้เป็นหุ้น blue-chip ที่กองทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศต้องมีเก็บไว้ในพอร์ต นอกจากนี้ยังได้รับการนิยามว่าเป็นหุ้นที่อยู่ทั้งในกลุ่ม value stock คือหุ้นที่จะมีแต่เพิ่มมูลค่า และในกลุ่ม defendsive stock คือ หุ้นที่มักไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากความ ผันผวนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ หรือการเมือง

“BANPU เป็นหุ้นที่จะไม่ได้รับผลกระทบกับปัญหาการเมืองในบ้านเรา เนื่อง จากการดำเนินธุรกิจปัจจุบันอยู่ที่อินโดนีเซีย 65% จีน 25% และมีธุรกิจโรงไฟฟ้าถ่านหินในไทยเพียง 10% ซึ่งก็ไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. 25 ปี”เป็นเนื้อความในบทวิเคราะห์รายวันของบริษัทหลักทรัพย์คันทรี่กรุ๊ป ที่ส่งไปให้กับลูกค้า ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

“Banpu moved to the front burner: Given strong earnings growth in the near term, we have moved Banpu to the front of our Thai energy preferred list. Key earnings drivers are volume as much as price increase. Valuation is also undemanding” เป็นข้อสรุปในช่วงท้ายบทคัดย่อของรายงานการวิเคราะห์หุ้นบ้านปู ที่บริษัทหลักทรัพย์ภัทรเผยแพร่เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2553

บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้น ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ของตระกูล “ว่องกุศลกิจ” และ “เอื้ออภิญญกุล”

จากมูลค่าเงินลงทุนไม่กี่ล้านบาทใน ช่วงเริ่มต้น ทุกวันนี้สินทรัพย์ของบ้านปูมีมาก ถึง 108,793.52 ล้านบาท (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2553) มีรายได้รวมถึง 69,071.43 ล้านบาท และกำไรสุทธิรวม 14,229.13 ล้านบาท (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552)

มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) ของบริษัทบ้านปู ณ วันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ 164,679.20 ล้านบาท เท่ากับ 8% ของงบ ประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 ของรัฐบาล ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาวาระ 2 จากสภาผู้แทนราษฎรไปในวันเดียวกัน

(อ่านเรื่อง “Profestional Family” และ “บ้านปู ดอกผลที่ใหญ่เกินคาด” เรื่องจากปกนิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม 2549 หรือ www.gotomanager.com ประกอบ)

ปัจจุบันทรัพย์สินและผลประกอบการของบ้านปู ทั้งด้านรายได้และกำไร มากกว่า ครึ่งมาจากการลงทุนและธุรกรรมของบ้านปูในต่างประเทศ

“รายได้จากการขายรวมจำนวน 57,865 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 7,336 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15 จากปริมาณการขายถ่านหินที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ ราคาขายถ่านหินใกล้เคียงกับปีก่อน สัดส่วนรายได้มีดังนี้

รายได้จากการจำหน่ายถ่านหินจำนวน 52,704 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 91 ของรายได้จากการขายรวม เพิ่มขึ้น 6,728 ล้านบาท หรือร้อยละ 15 โดยแยกเป็น

- รายได้จากการขายถ่านหินจากแหล่งผลิตในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย 52,603 ล้าน บาท

- รายได้จากการขายถ่านหินจากแหล่งผลิตในประเทศไทย 101 ล้านบาท

รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และรายได้อื่นๆ จำนวน 5,162 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9 ของรายได้จากการขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 13

กำไรขั้นต้นรวมจำนวน 27,874 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,454 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 24 อัตราส่วนการทำกำไรขั้นต้นต่อยอดขายรวม (Gross Profit Margin) สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2552 คิดเป็นร้อยละ 48 ซึ่งธุรกิจถ่านหินมีอัตรากำไรขั้นต้นร้อยละ 51 และธุรกิจไฟฟ้ามีอัตรากำไรขั้นต้นร้อยละ 25” เป็นคำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายบริหาร สำหรับงบการเงินสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2552 ที่ได้รายงานไปยังตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย

“กำไร 25% ยังอยู่ในเมืองไทย มาจากบีแอลซีพีเป็นหลัก แล้วก็หุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งอีกส่วนหนึ่ง ก็เป็นกิจการไฟฟ้าที่เรามีเหลืออยู่ในเมืองไทย” ชนินทร์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ้านปู ฉายภาพรวมของธุรกิจให้กับ ผู้จัดการ 360 ํ ในโอกาสที่ได้สนทนากันอย่างละเอียดถึงเรื่องของบ้านปู เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2553

หากวัดผลสำเร็จของกิจการสัญชาติไทยที่กระโดดออกไปโลดแล่นในฐานะ “ผู้เล่น ระดับโลก” (international player) แล้ว บ้านปูถือว่าอยู่ในระดับแนวหน้า ซึ่งมีผู้เล่นในแนวเดียวกันนี้เพียงไม่กี่ราย อาทิ กลุ่มกระทิงแดง หรือบริษัทไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF)

บ้านปูเริ่มวางวิสัยทัศน์ในการขยายธุรกิจออกสู่ต่างประเทศ เนื่องจากเห็นว่าแหล่ง ถ่านหินภายในประเทศ โดยเฉพาะถ่านหินคุณภาพสูงได้ร่อยหรอลงไปทุกวัน รวมถึงการขยายสายธุรกิจจากผู้ประกอบการเหมืองถ่านหินแต่เพียงอย่างเดียวไปสู่ธุรกิจไฟฟ้า ตั้งแต่ปี 2533 เพราะมองว่าธุรกิจถ่านหินและไฟฟ้าเป็นของคู่กัน โดยโรงงานผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั่วโลก ส่วนใหญ่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง

ในการเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 70 ล้านบาท เป็น 105 ล้านบาท เมื่อเดือนเมษายน 2533 บริษัทได้รายงานไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าเงินเพิ่มทุนส่วนหนึ่ง จะนำไปใช้ในโครงการสำรวจหาแหล่งถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และเวียดนาม รวมถึง มีโครงการร่วมทุนกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตั้งโรงงานไฟฟ้าจากถ่านหิน ที่อ่าวไผ่ จ.ชลบุรี กำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์

(อ่านเรื่อง “เหมืองบ้านปู ผู้ที่จะผงาดขึ้นภายหลังจากวิกฤตการณ์น้ำมันจบสิ้น” นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2533 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)

ปี 2534 บ้านปูได้ตั้งบริษัท Banpu International Company Limited ขึ้น เพื่อ สำรวจและพัฒนาแหล่งถ่านหิน บนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย

แต่บ้านปูเริ่มนำเงินออกไปลงทุนอย่างจริงจังในปี 2539 เมื่อได้เข้าซื้อหุ้น 95% ของ ทุนจดทะเบียนใน PT Jorong Barutama Greston บริษัทซึ่งทำเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย และได้เข้าไปทำเหมืองในอินโดนีเซียอย่างเต็มตัวในปี 2541

ถัดจากนั้นอีก 5 ปี บ้านปูเริ่มสร้างฐานการผลิตในสาธารณรัฐประชาชนจีน ในนาม บริษัท Asian American Coal Inc. หรือ AACI ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติเพียงรายเดียว ที่ลงทุนในโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินของจีนในขณะนั้น โดยโครงการแรกคือเหมืองต้าหนิง มณฑลซานซี ในปี 2546

ส่วนการขยายสายธุรกิจไปสู่ธุรกิจไฟฟ้าได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2534 เช่นกัน โดยการตั้งบริษัทเดอะโคเจเนอเรชั่น จำกัด (The Cogeneration Company Limited-COCO) ขึ้น ภายใต้โครงการผู้ผลิตกระแส ไฟฟ้ารายย่อย (Small Power Producer-SPP) ของ กฟผ. และเริ่มตั้งโรงงานไฟฟ้าขึ้นในปี 2536 โดยมีกำลังการผลิต 815 เมกะวัตต์ ขายให้กับโรงงานในนิคมอุตสาห-กรรมมาบตาพุด

ถัดจากนั้นก็ร่วมทุนก่อสร้างโรงงาน ไฟฟ้าขึ้นอีก 2 แห่ง คือไตรเอนเนอจี้ และบีแอลซีพี พาวเวอร์

ปี 2543 บ้านปูได้ปรับพอร์ตการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า โดยขายหุ้น COCO ให้กับบริษัท Tractebel S.A. (ปัจจุบัน COCO ได้กลับเข้ามาจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ฯ อีกครั้ง โดยเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทโกลว์ พลังงาน)

รวมถึงการขายหุ้นในไตรเอนเนอจี้ให้กับบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) เพื่อแลกกับการที่บ้านปูได้เข้าไป ถือหุ้น 14.99% ใน RATCH

ในปีเดียวกัน (2543) บ้านปูได้จัดโครงสร้างธุรกิจใหม่ให้มีความชัดเจน โดยแบ่งธุรกิจออกเป็น 2 สายหลัก คือธุรกิจถ่านหิน และธุรกิจไฟฟ้า วางน้ำหนักรายได้ จากธุรกิจถ่านหิน 60-70% ส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจไฟฟ้า

ภายหลังจากปรับโครงสร้าง ทั้ง 2 สายธุรกิจ บ้านปูเริ่มขยายฐานปฏิบัติการออกไปลงทุนยังต่างประเทศเป็นหลัก โดยมีประเทศเป้าหมาย คืออินโดนีเซียและจีน

ในอินโดนีเซีย ปัจจุบันบ้านปูมีธุรกิจ ถ่านหินเพียงอย่างเดียว โดยมีเหมืองถ่านหิน 5 แห่งบนเกาะกาลิมันตันตะวันออก ได้แก่ เหมืองอินโดมินโค, โจ-ร่ง, คิทาดิน, ทรูบา อินโด และบารินโต มีปริมาณถ่านหินสำรอง ณ วันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา รวม 282.87 ล้านตัน

ส่วนในจีนนั้นมีทั้งธุรกิจถ่านหินและ ไฟฟ้า โดยธุรกิจถ่านหิน มีเหมืองถ่านหิน 3 แห่ง คือเหมืองต้าหนิงและเหมืองเกาเหอ ในมณฑลซานซีกับเหมืองเฮอปีในมณฑลเหอหนาน มีปริมาณถ่านหินสำรอง ณ วันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา รวม 309 ล้านตัน

รวมปริมาณสำรองถ่านหินใน 2 ประเทศที่บ้านปูได้ไปลงทุนทำเหมืองเอาไว้ 591.87 ล้านตัน

สำหรับธุรกิจโรงไฟฟ้าในจีน บ้านปู เป็นเจ้าของและเป็นผู้บริหารโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมจำนวน 3 แห่งในภาคเหนือของประเทศจีน ได้แก่ โรงไฟฟ้า หลวนหนาน (Luannan) โรงไฟฟ้าเจิ้งติ้ง (Zhengding) และโรงไฟฟ้าโจวผิง (Zouping) โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งมีกำลัง การผลิตไฟฟ้ารวม 248 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตไอน้ำ 808 ตันต่อชั่วโมง โดย ขายไฟฟ้าให้กับบริษัทไฟฟ้าท้องถิ่น และขายไอน้ำให้กับลูกค้าภาคอุตสาหกรรม รวม ทั้งขายความร้อน (district heating) ในฤดูหนาวให้กับประชาชนในท้องถิ่น

ขณะที่ธุรกิจของบ้านปูในไทย ในส่วนของธุรกิจถ่านหินนั้น เดิมบ้านปูเคยมีเหมืองถ่านหินอยู่ในพื้นที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา และอำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง ปัจจุบันเหมืองที่มีอยู่ทั้งหมดได้ปิดลงไปแล้ว

จะเหลือเพียงธุรกิจไฟฟ้าที่บ้านปูถือหุ้นอยู่ในโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีร่วมกับบริษัทผลิตไฟฟ้า ฝ่ายละ 50% โรงไฟฟ้าแห่งนี้ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง มีกำลังการผลิต 1,434 เมกะ วัตต์ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง

กับหุ้นอีก 14.99% ที่บ้านปูถืออยู่ใน RATCH ที่มีฐานการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ อยู่ที่จังหวัดราชบุรี กำลังการผลิตรวม 4,345 เมกะวัตต์

(รายละเอียดดู “โครงสร้างธุรกิจ ณ เดือนธันวาคม 2551” ประกอบ)

“ในประเทศไทย ไม่ค่อยมีอะไรให้เราทำ เพราะว่าลักษณะกิจการบ้านปูถูกจำกัด ด้วยตัวธุรกิจถ่านหิน จะทำเป็นแผงมันก็ไม่มีให้ทำ ทำก็คงทำลำบาก เราใช้คำว่าอย่างนี้ คือเราคงใช้เมืองไทยเป็นออฟฟิศกรุงเทพฯ แล้วก็ใช้คนบริหาร คำว่าบริหารคือคิดสิ่งใหม่ ขึ้นมา lead ความคิดนั้น แล้วก็เข้าไปให้การสนับสนุน สุดท้ายก็ไปมอนิเตอร์ว่าทุกอย่างต้องอยู่ในรูปแบบที่ดี” ชนินทร์อธิบาย

ปลายปี 2549 บริษัทบ้านปู เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บ้านปูถือหุ้นอยู่ 99% ได้รับสิทธิจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในการเข้า ศึกษาเพื่อพัฒนาและลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าปากเหมืองที่มีกำลังการผลิต 1,878 เมกะวัตต์ ที่เมืองหงสา แขวงไชยะบุรี สปป.ลาว

เดิมโครงการนี้รัฐบาลลาวได้เคยให้สัมปทานแก่บริษัทไทย-ลาว ลิกไนต์ เป็นผู้เข้าไปดำเนินการตั้งแต่ปี 2536 แต่บริษัท ดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ ทำให้ต้องมีการเปิดประมูลใหม่เปลี่ยนตัว ผู้รับสัมปทานมาเป็นบ้านปูในภายหลัง

หลังจากได้เข้าไปศึกษารายละเอียด พบว่ามีความเป็นไปได้ โครงการนี้จึงเริ่มเดิน หน้า โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 บริษัทบ้านปู เพาเวอร์ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุน กับบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง (RATCH) และบริษัท Lao Holding State Enterprise (LHSE) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของ สปป.ลาว เพื่อร่วมจัดตั้งบริษัท Hongsa Power Company Limited (HPC) และบริษัท Phu Fai Mining Company Limited (PFMC) สำหรับดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าหงสา และเหมืองถ่านหินที่เขาภูไฟ ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกับที่ตั้งโรงไฟฟ้า

โครงสร้างการถือหุ้นใน HPC บ้านปู กับ RATCH ถือฝ่ายละ 40% LHSE ถือ 20% ขณะที่ใน PFMC บ้านปูกับ RATCH ถือฝ่าย ละ 37.5% ที่เหลืออีก 25% ถือโดย LHSE

เดือนพฤษภาคม 2552 HPC และ PFMC ได้ลงนามในสัญญาสัมปทานในการ ผลิตไฟฟ้าของ HPC และสัมปทานการทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ของ PFMC กับ สปป. ลาว โดยมีอายุสัมปทาน 25 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มผลิตไฟฟ้าและถ่านหินในเชิงพาณิชย์

วันที่ 2 เมษายน 2553 บริษัท HPC ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. สำหรับโครงการหงสา โดยมีระยะเวลาในการซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ โดยคาดว่าจะเริ่มการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2558

โครงการหงสามีจุดเด่นที่น่าสนใจอยู่หลายประการ

อย่างแรก กำลังการผลิตไฟฟ้า 1,878 เมกะวัตต์จากโรงงานนี้ เมื่อสร้างเสร็จ จะเป็นโรงงานไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดใน สปป.ลาว และเป็นโรงงานที่มีความเสถียรในการผลิต มากที่สุด เพราะใช้พลังงานจากถ่านหิน (ปัจจุบันโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตสูงสุดใน สปป.ลาว คือโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 ซึ่งมีกำลังการผลิต 1,088 เมกะวัตต์ แต่เป็นโรงไฟฟ้า พลังงานน้ำ จากเขื่อนน้ำเทิน 2 ซึ่งในการผลิตจะมีความผันแปรจากปริมาณน้ำที่จะ นำไปใช้ในการปั่นไฟ โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง)

ประการที่ 2 มูลค่าการลงทุนทั้งโครงการประมาณ 3.710 ล้านเหรียญสหรัฐ หากคิดเป็นเงินไทยที่อัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ จะเท่ากับ 122,430 ล้านบาท ถือว่าเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูงมาก

ในการระดมเงินเพื่อนำไปลงทุนนั้น เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา บ้านปูได้แจ้ง ไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า HPC ในฐานะที่บ้านปูถือหุ้นอยู่ 40% ได้ลงนามในสัญญา กู้เงินจำนวน 2,783 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 94,620 ล้านบาท (คิดจากอัตราแลกเปลี่ยน 33.99 บาทต่อ 1 ดอลลาร์) จากสถาบันการเงินไทยจำนวน 9 แห่ง เพื่อนำมาใช้ในโครงการนี้

ถือเป็นดีลการปล่อยกู้ร่วมที่มีมูลค่า สูงที่สุด ดีลหนึ่งของสถาบันการเงินไทยที่ เกิดขึ้นในรอบหลายปี

ที่สำคัญ คือแม้ว่าผู้ถือหุ้น 80% ใน HPC จะเป็นบริษัทสัญชาติไทย 2 แห่ง แต่ โดยตัวนิติบุคคล คือ HPC เป็นบริษัทที่จด ทะเบียนจัดตั้งในต่างประเทศ สินทรัพย์ทั้งหมดของ HPC อยู่ในต่างประเทศ

การที่สถาบันการเงินของไทยล้วนๆ ตัดสินใจร่วมปล่อยเงินกู้ให้กับโครงการนี้ ย่อมหมายถึงการให้เครดิตกับรัฐบาล สปป. ลาวด้วยเช่นกัน เพราะผู้ที่หุ้นส่วนที่เหลืออีก 20% คือ LHSE ตัวแทนของรัฐบาลลาว

ความจริงโครงการนี้มีสถาบันการเงินที่ประสงค์จะเป็นผู้ปล่อยกู้ถึง 16 แห่ง เป็นสถาบันการเงินจากไทย 11 แห่ง จากจีน 3 แห่ง และจากญี่ปุ่นอีก 2 แห่ง แต่ได้มีการลงนามในสัญญากู้เงินเบื้องต้นกับสถาบันการเงินไทยก่อน 9 แห่ง

ข้อสำคัญอีกประการ คือในส่วนเงิน ลงทุนของ LHSE ซึ่งมาในฐานะตัวแทนของ รัฐบาลลาว ได้รับการสนับสนุนเงินกู้จำนวน 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 7,260 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อ 1 ดอลลาร์) จากสถาบันการเงินไทย 2 แห่ง คือธนาคารกรุงไทยที่จะให้กู้ 150 ล้านดอลลาร์ และธนาคารออมสินอีก 70 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นการปล่อยกู้ให้กับกระทรวง การเงินของ สปป.ลาว เพื่อนำเงินไปให้ LHSE เข้ามาซื้อหุ้นในโครงการนี้

วงเงินกู้ทั้ง 220 ล้านดอลลาร์ เป็นเงินกู้แบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่สถาบันการเงินไทยปล่อยเงิน กู้ให้กับรัฐบาลลาวในลักษณะนี้ เพราะก่อน หน้านี้สถาบันการเงินไทยมักต้องเรียกหลักทรัพย์ อาทิ การนำเงินรายได้จากการ ขายไฟฟ้าในอนาคต มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ก่อน

สำหรับบ้านปูแล้ว โครงการหงสาถูกจัดให้อยู่ในพอร์ตการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับไทย ไม่ถือเป็นการลงทุนในต่างประเทศ

“ลาวนี่เรา define ว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่เกี่ยวกับไทยโดยตรง เพราะว่าไฟฟ้าเกือบ ทั้งหมดก็ขายให้ไทย โครงการก็อยู่ติดชายแดนเลย” ชนินทร์ให้เหตุผล

จากกำลังการผลิต 1,878 เมกะวัตต์ เมื่อโรงไฟฟ้าหงสาสร้างเสร็จและเริ่มขายไฟเข้าระบบได้ในปี 2558 ในจำนวนนี้ จะขายไฟให้กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวเพียง 175 เมกะ วัตต์ ส่วนที่เหลืออีก 1,473 เมกะวัตต์ ขายให้กับ กฟผ.

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการระบบสายส่งเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหงสาที่ กฟผ.เสนอในวงเงินลงทุนรวม 2.11 หมื่นล้านบาทโดย กฟผ.จะก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าเพื่อรับซื้อไฟฟ้าที่ชายแดนไทย-ลาว ในจังหวัดพะเยา และ ส่งไฟฟ้าไปยังที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เพื่อนำไฟฟ้าดังกล่าวเข้าสู่ระบบไฟฟ้ากลาง (main grid)

ส่วนที่ตั้งของโรงไฟฟ้าหงสา ซึ่งอยู่ในเมืองหงสา แขวงไชยะบุรี อยู่ห่างจากด่านสากลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ไปเพียง 35 กิโลเมตรเท่านั้น

ในวันที่ 16 มิถุนายน ซึ่ง ผู้จัดการ 360 ํ มีโอกาสสนทนากับชนินทร์นั้น เขาได้ให้ภาพการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับบ้านปูในอีก 5 ปีข้างหน้า ตามแผนแม่บทธุรกิจฉบับใหม่ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปีนี้ (2553 หรือ ค.ศ.2010) จนถึงปี 2558 (ค.ศ.2015)

ไฮไลต์ของการเปลี่ยนแปลงตามแผนแม่บทฉบับนี้ มีอยู่ด้วยกัน 2 ประการ

ประการแรก บ้านปูจะให้ความสำคัญกับธุรกิจถ่านหินมากขึ้น โดยเพิ่มสัดส่วนจาก เดิมที่เคยอยู่ประมาณ 60-70% ของพอร์ตการลงทุนขึ้นเป็น 85-90% ส่วนที่เหลือจะเป็นธุรกิจไฟฟ้า และพลังงานทดแทน

ประการที่ 2 จะมีการปรับโครงสร้างของธุรกิจใหม่จากที่เคยประกาศเอาไว้ตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งใช้ธุรกิจเป็นตัวนำ คือแบ่งโครงสร้างเป็นธุรกิจถ่านหินกับไฟฟ้า จะเปลี่ยนเป็น การใช้โซน หรือประเทศที่ได้ออกไปลงทุนเป็นตัวนำแทน ส่วนหน่วยธุรกิจทั้งถ่านหิน และ ไฟฟ้า ก็จะอยู่ภายใต้โครงสร้างของผู้ดูแลของแต่ละประเทศ

ขยายความการเปลี่ยนแปลงประการแรก การมุ่งเน้นให้น้ำหนักกับธุรกิจถ่านหินมากขึ้นนั้น ชนินทร์ให้เหตุผลว่า เนื่องจากโอกาสการขยายตัวของธุรกิจถ่านหินมีมากกว่า ไฟฟ้า

“ไฟฟ้าเราดูแล้ว เราทำแล้วมันไม่ใหญ่ แล้วในการที่จะทำกิจการ 2 อย่าง ในการ สร้างผู้บริหาร สร้างทีมงานขึ้นมานี่มันเหนื่อย เพราะฉะนั้นในแผน 2010-2015 จะเน้นไปที่ตัวกิจการถ่านหินมากขึ้น”

(อ่านล้อมกรอบ “ทำไมต้องถ่านหิน” และ “การใช้ถ่านหินในโลก” ประกอบ)

เมื่อบ้านปูกลับมาให้ความสำคัญกับธุรกิจถ่านหินมากขึ้น สิ่งที่จำเป็นต้องเดินหน้าต่อ คือการขยายการลงทุนในต่างประเทศให้มากขึ้น เพราะแหล่งถ่านหินคุณภาพในประเทศไทยนั้น มีเหลือไม่มากนัก

ในการแยกประเภทถ่านหินตามลำดับคุณภาพของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาตินั้น สามารถแยกถ่านหินได้เป็น 5 ประเภท คือ

1-พีต (Peat) เป็นขั้นแรกในกระบวนการเกิดถ่านหินในระดับต่ำสุด ประกอบด้วย ซากพืชซึ่งบางส่วนได้สลายตัวไปแล้วสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้

2-ลิกไนต์ (Lignite) มีซากพืชหลงเหลืออยู่เล็กน้อย มีความชื้นมาก เป็นถ่านหินที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้

3-ซับบิทูมินัส (Subbituminous) มีสีดำ เป็นเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพเหมาะสมในการ ผลิตกระแสไฟฟ้า

4-บิทูมินัส (Bituminous) เป็นถ่านหินเนื้อแน่น แข็ง และมักจะประกอบด้วยชั้นถ่านหินสีดำสนิท เป็นมันวาว ใช้เป็นถ่านหินเพื่อการถลุงโลหะได้

5-แอนทราไซต์ (Anthracite) ถ่านหินที่มีลักษณะดำเป็นเงามันวาวมาก มีรอยแตก เว้าแบบก้นหอย ติดไฟยาก เป็นถ่านหินที่มีคุณภาพดีที่สุด

“แหล่งถ่านหินในประเทศไทยพบกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคเหนือ เกือบทั้งหมดเป็นถ่านหินที่มีการสะสมตัวในยุคเทอร์เชียรี มีคุณภาพอยู่ในขั้นลิกไนต์และซับบิทูมินัส ให้ความร้อนไม่สูงนัก แหล่งถ่านหินในประเทศไทยบางแหล่งได้มีการทำเหมืองผลิตถ่านหินขึ้นมาใช้ประโยชน์แล้ว แต่อีกส่วนหนึ่งมีการสำรวจพบแล้วแต่ยังคงเป็นแหล่งถ่านหินที่รอการพัฒนาเพื่อผลิตถ่านหินขึ้นมาใช้ประโยชน์ต่อไป” เนื้อหาในหัวข้อ “แหล่งถ่านหินในประเทศไทย” ในเว็บไซต์ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติระบุ

(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจาก http://www2.dmf.go.th/default_prev.asp)

หากไม่นับรวมที่หงสา สปป.ลาว แล้ว ปัจจุบันบ้านปูมีเหมืองถ่านหินอยู่เพียง ใน 2 ประเทศ คืออินโดนีเซีย และจีน

เหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย เป็นถ่านประเภทซับบิทูมัสและบิทูมินัส ซึ่งเหมาะสำหรับการส่งออก โดยมีกลุ่มลูกค้า เป็นโรงงานไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรม ในเอเชียตะวันออก (ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง และเกาหลีใต้) รวมทั้งในอินเดีย ยุโรป และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวม ถึงไทย ฟิลิปปินส์ และขายในอินโดนีเซียเองด้วย

ส่วนในจีนที่เหมืองต้าหนิง เป็นถ่านหินประเภทแอนทราไซต์ สำหรับขายให้กับผู้ใช้ภายในประเทศ

บ้านปูจำเป็นต้องออกไปแสวงหาแหล่งถ่านหินในประเทศที่ 3 เพิ่มขึ้น นอก เหนือจาก 2 ประเทศที่กล่าวถึงข้างต้น

“ที่เราดูไว้คือออสเตรเลีย หรืออาจจะไปถึงแอฟริกาใต้ ทำไมเป็น 2 ประเทศนี้ เพราะว่าถ่านหินมีใน 2 ประเทศนี้ค่อนข้าง เยอะ และเป็นเรื่องการส่งออกด้วย เราไปดู แล้วว่ามันมีแนวโน้มที่จะเราจะเข้าไปทำได้ ดูมาหลายปี”

ก่อนหน้าการสนทนากับชนินทร์ในครั้งนั้น (16 มิ.ย.) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม บ้านปูได้แจ้งไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า Banpu Minerals (Singapore) Pte Ltd (BMS) บริษัทย่อยแห่งหนึ่งของบ้านปูได้เข้า ถือหุ้นใน Centennial Coal Company Limited (Centennial) ซึ่งเป็นเจ้าของเหมืองถ่านหินในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ในสัดส่วน 14.9% ของทุนจดทะเบียนของ Centennial โดยใช้เงินไปทั้งสิ้น 282 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือเท่ากับ 8,055 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 28.548 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ณ วันที่แจ้ง) โดยเป็นการซื้อจากทั้งในและ นอกตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย

ก่อนที่จะเข้าไปพบกับชนินทร์เพียง 1 วัน คือในวันที่ 15 มิถุนายน บ้านปูเพิ่งแจ้งไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า BMS ซื้อหุ้น ของ Centennial เพิ่มขึ้นอีก 5% รวมสัดส่วน การถือหุ้นของ BMS ใน Centennial เป็น 19.9% โดยใช้เงินไปอีก 98 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือเท่ากับ 2,741 ล้านบาท (ตามอัตราแลกเปลี่ยน 28.053 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ณ วันที่แจ้ง)

“อย่างปัจจุบันเราก็ลงไปแล้ว เราซื้อหุ้นกิจการที่ออสเตรเลีย ถึงเมื่อวานก็ขึ้น ไป 19% ก็เป็นเรื่องการมองระยะยาวในเรื่องของถ่านหิน” ชนินทร์บอกระหว่างการ สนทนา

ณ วันนั้น บ้านปูได้ใช้เงินสำหรับการซื้อหุ้น 19.9% ใน Centennial ไปแล้ว เป็นเงิน 380 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือ คิดเป็นเงินไทยเท่ากับ 10,798 ล้านบาท

หลังการสนทนาไม่ถึงเดือน ในวันที่ 5 กรกฎาคม บ้านปูก็ได้ประกาศซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมดของ Centennial โดยเสนอซื้อที่ราคาหุ้นละ 6.20 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นราคาสูงกว่าราคาตลาดที่ปิดก่อนวัน ประกาศถึง 40%

บ้านปูจะต้องใช้เงินในการซื้อหุ้นที่เหลือ รวมถึงสิทธิจากตราสารต่างๆ อีก เป็นเงิน 2,017 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือเท่ากับ 55,294 ล้านบาท (ตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ 27.416 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ณ วันที่ประกาศ)

รวมเป็นเงินที่บ้านปูต้องใช้ในการซื้อ กิจการทั้งหมดของ Centennial ครั้งนี้สูงถึง 2,397 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือเท่ากับ 66,092 ล้านบาท

ตัวเลขวงเงินลงทุนอาจดูไม่สูงเท่า กับโครงการหงสา แต่ในโครงการหงสา บ้านปูร่วมถือหุ้นด้วย 40% ดังนั้นเงินลงทุน ของบ้านปูจะตกอยู่ประมาณ 1,484 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากวงเงินลงทุนรวม 3,710 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 48,972 ล้านบาท (จากอัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ)

แต่ที่ Centennial นั้น BMS บริษัท ย่อยของบ้านปูเป็นผู้ลงทุนแต่เพียงรายเดียว

จุดเด่นของ Centennial คือเป็นเจ้าของแหล่งถ่านหินรายใหญ่ของออสเตรเลีย มีเหมืองอยู่นับ 10 แห่ง บริมาณถ่านหินสำรองที่ Centennial มีอยู่ ณ วันประกาศซื้อกิจการสูงถึง 419 ล้านตัน คิดเป็น 70% ของ ปริมาณถ่านหินสำรองที่บ้านปูมีอยู่รวมกัน ทั้งในอินโดนีเซียและจีน ณ วันที่ 30 มิถุนายน

ถ่านหินที่ Centennial ผลิตได้ ถูกส่งออกให้แก่ลูกค้าในญี่ปุ่น เกาหลี จีน ไต้หวัน และยุโรป ผ่านทางท่าเรือเคมบลา และขายให้แก่โรงงานไฟฟ้าในนิวเซาท์เวลส์

ธุรกิจถ่านหินมีความคล้ายกับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอยู่อย่างหนึ่ง คือผู้ประกอบการจะต้องพยายามหาแหล่งสำรองถ่านหินที่มีคุณภาพเอาไว้ล่วงหน้า สำหรับการ ขุดขึ้นมาขายในอนาคต

เมื่อกระบวนการเสนอซื้อหุ้นของ Centennial เสร็จสิ้น จะทำให้บ้านปูมีปริมาณถ่านหินสำรองอยู่ในมือ รวม 3 ประเทศ คืออินโดนีเซีย จีน และออสเตรเลีย สูงถึง 1,010.87 ล้านตัน

“แนวคิดทั่วๆ ไป เราอยากจะมีสำรองเอาไว้ 15 ปีล่วงหน้าของการผลิตปัจจุบัน เช่นทุกวันนี้ เราผลิตอยู่ปีละ 20 ล้านตัน เราก็อยากจะมีสำรอง 300 ล้านตัน เพราะฉะนั้นงานก็จะเป็นลักษณะของการมองไปข้างหน้าตลอด คือส่วนหนึ่งในพื้นที่ เดิมที่เราอยู่ อาจจะมีการสำรวจเพิ่ม หรือ recover เพิ่มได้ 1-2 ปีเราก็จะอัพเดตเอาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาประเมินปริมาณสำรอง อีกส่วนก็คือเราไปหามาใหม่ เช่นกรณีอินโด นีเซียที่เราซื้อเป็นเหมืองๆ เป็นแหล่งๆ มา ก็เป็นแบบหนึ่ง อาจจะยังไม่พัฒนาก็ได้ อีก แบบหนึ่งก็คือเราไปซื้อกิจการ ส่วนใหญ่จะมี operation อยู่แล้ว เป็นการขยายตัวไป ด้วยกัน”

ตามแผนการผลิตของบ้านปู ปี 2553 จะผลิตถ่านหินจำหน่าย 23 ล้านตัน

การที่บ้านปูมีแหล่งถ่านหินสำรองอยู่ในมือแล้วถึง 1,010.87 ล้านตัน หากคำนวณคร่าวๆ จากตัวเลขการสำรอง 15 ปี แสดงว่าบ้านปูมีวัตถุดิบอยู่ในมือพร้อมสำหรับการขยายการผลิตได้เพิ่มขึ้นอีก อย่างน้อย 3 เท่า

หรือว่านี่คือเป้าหมายของยุทธศาสตร์ตามแผนแม่บทธุรกิจฉบับใหม่ ที่ทำให้บ้านปูต้องหันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจถ่านหินมากขึ้น...?

ส่วนการปรับโครงสร้างธุรกิจจากเดิมที่แบ่งตามธุรกิจ คือถ่านหินและไฟฟ้า เปลี่ยนมาเป็นการใช้โซน หรือประเทศนำนั้น ชนินทร์ขยายความสั้นๆ ว่าเพื่อให้เกิดความคล่องตัว โดยเฉพาะในการประสานงานกับหน่วยงานรัฐบาล หรือชุมชนในท้องถิ่นที่บ้านปูได้เข้าไปลงทุน

“คือแทนที่จะมี head ถ่านหิน head ไฟฟ้า เราจะมี head จีน head อินโดนีเซีย เป็นลักษณะนั้น ลาวก็เป็น head ในไทย แล้วก็จะมี head ไม่ออสเตรเลียก็แอฟริกาใต้ที่จะเพิ่มเข้ามา แล้วก็เอา business unit ไปอยู่ภายใต้ head นั้นๆ พอตัว BU อยู่ภายใต้ head นั้นแล้ว สิ่งที่จะต้องดูแล ยกตัวอย่าง เช่น เรื่องกฎระเบียบของประเทศนั้นๆ เรื่อง compliance คือต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ กฎหมายให้ได้อย่างถูกต้อง เรื่องความสัมพันธ์กับรัฐบาล กับชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ต้องดูแล”

ตามโครงสร้างนี้ สำนักงานใหญ่ใน ไทยจะมีบทบาทในเรื่องธุรกิจ การวางแผน กลยุทธ์ ดูแลเรื่องการเงิน งบประมาณ การ ลงทุน บุคลากร และวางระบบไอที เพื่อให้ เกิดการเชื่อมประสานกันระหว่างหน่วยปฏิบัติการต่างๆ

แต่บทบาทที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง คือเรื่องของสิ่งแวดล้อมและชุมชนสัมพันธ์ ซึ่งส่วนกลางจะเป็นผู้ดูแลให้แต่ละหน่วยปฏิบัติการในแต่ละประเทศ ดำเนินการออก มาภายใต้มาตรฐานเดียวกัน

“เวลาเรา KPI ไปในแต่ละที่ จะมี 50% หรือมากกว่าที่จะไปในซีกที่ไม่ใช่ operation ดังนั้น ถึงแม้เขาจะทำ opera-tion มาดีมากเลย แต่ถ้าพวกนี้ตกก็ไม่ได้” ชนินทร์ย้ำ

(อ่านเรื่อง “ภารกิจที่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น” ประกอบ)

การเปลี่ยนแปลงทั้ง 2 ประการ ที่กำลังเกิดขึ้นกับบ้านปู ตามแผนแม่บทธุรกิจ ฉบับใหม่ บ่งบอกทิศทางอย่างชัดเจนว่าบ้านปูกำลังก้าวเข้าไปสู่การเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมถ่านหินในระดับโลกอย่างเต็มตัว เน้นย้ำ motto ของบริษัท ที่ประกาศเอาไว้ว่าเป็น “The Asian Face of Energy”

“คือคำว่า Asian Face of Energy เราเน้นว่าคนของเราที่มาที่นี่ เป็นบริษัทที่มาจากเอเชีย แต่ไปทำที่ไหนก็ได้ในโลกนี้” ชนินทร์ให้คำนิยาม

เขาบอกถึงสถานะของบ้านปู สำหรับอุตสาหกรรมถ่านหินในระดับโลกขณะนี้ว่า “ก็ไม่เล็ก เรากลางๆ เพราะว่าถ้าไล่ไป ผมก็คิดว่าไม่น่าจะเกิน 10 ไม่นับ จีน เพราะจีนมีบริษัทใหญ่ๆ ที่ไม่น่าจะเกิน 10 ก็หมายความว่า ตอนนี้เราก็เป็นที่รู้จักของผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรม หรือนักวิชาการ หรือลูกค้าใหญ่ๆ พวกนี้รับรู้เกี่ยวกับเราค่อนข้างดี ใน symposium หรือใน exhibition ซึ่งปีหนึ่งๆ จะมีอยู่หลายครั้ง เราก็ไปร่วมด้วยตลอด”

แต่เมื่อถามว่า ถือว่าปัจจุบันบ้านปูเป็น international player ของอุตสาหกรรมถ่านหินโลกรายหนึ่งแล้วหรือยัง ชนินทร์ตอบว่า

“อาจจะเรียกว่า regional athlete ในแถบเอเชียแปซิฟิก ยกเว้นว่าวันไหนเราไปแอฟริกาใต้ เราอาจจะต้องเปลี่ยนไป”

ปัจจุบันบ้านปูมีจำนวนพนักงานประมาณ 4,000 คน ในจำนวนนี้เป็นพนักงานที่อยู่ในประเทศไทยประมาณ 300 คน ที่เหลือกระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ที่ได้ออกไปลงทุนไว้ ที่อินโดนีเซียมีพนักงานมากที่สุดเกือบ 3,000 คน ที่เหลืออยู่ในจีนอีกประมาณ 1,000 คน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่น

มีพนักงานของบ้านปูซึ่งเป็นคนไทยที่ออกไปทำงานอยู่นอกประเทศประมาณ 150 คน

ในจำนวนพนักงาน 4,000 คน มีพนักงานจำนวนหนึ่งซึ่งก็ไม่น้อยทีเดียวที่เป็นชาวบ้าน หรือลูกหลานของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งบ้านปูได้เข้าไปลงทุนทำเหมืองถ่านหิน หรือโรงไฟฟ้าเอาไว้

ในการวางกรอบวัฒนธรรมการปฏิบัติงานให้อยู่ในระบบและเป็นมาตรฐานเดียวกัน บ้านปูได้นำ “Banpu Spirit” มาใช้เป็นรากฐานให้กับการทำงานของพนักงานเหล่านั้น

“Banpu Spirit ก็คือ Innovation Integrity Care และ Synergy ใน 4 ตัวนี้ พอนั่งอธิบายไปแล้ว จะมีคีย์เวิร์ดอยู่ประมาณ 27 ตัว เพื่อให้ชัด แล้วพวกนี้ลงไปโปรโมต ทำเทรนนิ่งให้ฝังอยู่ในตัวเขาเลย ก็ทำได้เร็วบ้างช้าบ้าง แต่ก็ไปได้ค่อนข้างดี” ชนินทร์บอก

(รายละเอียดเกี่ยวกับ Banpu Spirit สามารถดูได้ในเว็บไซต์ของบ้านปู www. banpu.com)

เกือบจะเย็นแล้ว บุญเติมกำลังเดินสำรวจแปลงนาที่ชาวปกากะญอได้ปักดำเสร็จแล้ว ก่อนที่จะกลับบ้าน

ระหว่างนั้นเขายังนึกถึงบทสนทนากับลูกสาวคนเล็กที่กลับมาอยู่บ้านในช่วงมหาวิทยาลัยปิดเทอม เมื่อเดือนเศษๆ ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี

วันนั้นเขาถามลูกสาวว่าเรียนจบแล้ว อยากไปทำงานที่ไหน ลูกสาวตอบว่า

“หนูอยากทำงานที่บ้านปู”

เขาถามกลับไปว่าเรียนถึงปริญญาตรีจะกลับมาทำงานที่บ้านทำไม เธอตอบว่า

“บ้านปูเป็นบริษัท ที่เอาชื่อหมู่บ้านของเรามาตั้งเป็นชื่อบริษัท ตอนนี้เป็นบริษัท ที่อาจารย์ที่ มช.พูดถึงกันมากเวลายกเคสมาเป็นกรณีศึกษาจนหนูรู้สึกว่าถ้าได้ทำงาน ที่บริษัทนี้ นอกจากจะได้รู้สึกว่าได้ใกล้ชิดกับที่บ้านแล้ว ยังมีความอินเตอร์อยู่ในตัวด้วย”

บุญเติมอมยิ้ม เขาไม่รู้หรอกว่าคำว่า เคส หรืออินเตอร์แปลว่าอะไร

แต่เขาปลื้มใจที่ลูกสาวของเขาที่แม้จะเรียนสูงถึงระดับมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่ลืมตัว ไม่ลืมถิ่นฐานที่ตัวเองได้เกิดมา   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us