
ชาติร่ำรวยกำลังหยุดช่วยเหลือชาติยากจน ผลที่เกิดขึ้นอาจร้ายแรงจนคิดไม่ถึง
ในการประชุมสุดยอด G8 ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ ชาติร่ำรวยชั้นนำของโลกยังคงตกลงจะช่วยกันทำสิ่งดีๆ เฉกเช่นที่เคยเป็นมา การรักษาสันติภาพโลก การแก้ปัญหาโลกร้อนและอื่นๆ ยกเว้นแต่เพียงเรื่องเดียว การให้ความช่วยเหลือต่างประเทศ ทั้งๆ ที่เพียงเมื่อ 5 ปีก่อน เรื่องนี้ยังเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการประชุมชาติร่ำรวยที่สุดของโลก
อาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เมื่อคิดดูว่า ชาติร่ำรวยก็กำลังประสบปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะอย่างหนักหน่วง แต่สิ่งที่น่าวิตกคือ หรือนี่จะเป็นอวสานของความเมตตากรุณาที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ ด้วยกัน
เพียงเมื่อ 10 ปีก่อน เมื่อเศรษฐกิจชาติตะวันตกยังรุ่งเรือง ผู้นำโลกอย่าง Tony Blair ของอังกฤษ และ Bill Clinton ของสหรัฐฯ ได้ช่วยกันรณรงค์ให้ทั้งภาครัฐและเอกชนเพิ่มความช่วยเหลือแก่ชาติกำลังพัฒนา Bono สร้างชื่อไปทั่วโลกอีกครั้ง แต่ไม่ใช่ ในฐานะร็อกสตาร์ หากแต่ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนา คอนเสิร์ต Live 8 และการกำหนดวัน Global Call to Action Against Poverty เมื่อปี 2005 สามารถหลอมรวมจิตใจคนหลาย สิบล้านคนทั่วโลกที่เป็นห่วงปัญหาความยากจนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
สหรัฐฯ เคยมีแนวคิดว่า ความยากจนคือต้นเหตุที่แท้จริงของการก่อการร้าย ทำให้มีการก่อตั้ง Millennium Challenge Corporation ขึ้น เพื่อเพิ่มความช่วยเหลือชาติยากจน และให้รางวัลแก่ชาติยากจนที่สามารถปรับปรุงตัวเอง การนำของสหรัฐฯ ในครั้งนั้นทำให้ในช่วงปี 2001-2005 รัฐบาลทั่วโลกต่างพากันเพิ่มเงินช่วยเหลือต่างประเทศกว่าสองเท่า อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ในการประชุมสุดยอด G8 เมื่อปี 2005 ที่ Gleneagles ในสกอตแลนด์ ชาติ G8 ทุกชาติยกเว้นรัสเซีย สามารถประกาศโครงการความช่วยเหลือใหม่ 50,000 ล้านดอลลาร์แก่ชาติยากจน ที่สุด ซึ่งรวมถึงการให้เงินช่วยเหลือแอฟริกาปีละ 25,000 ล้านดอลลาร์ได้ เพื่อที่จะช่วยให้ชาติยากจนบรรลุเป้าหมายที่เรียกว่า United Nations Millennium Development Goals ของสหประชาชาติ ซึ่งตั้งเป้ากำจัดความยากจนและความหิวโหยและ ทำให้ทุกคนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภายในปี 2015
ในภาคเอกชน เมื่อปี 2006 Bill Gates เจ้าพ่อ Microsoft สามารถชักชวนเพื่อนมหาเศรษฐีพันล้านอย่าง Warren Buffett ให้ยกสมบัติส่วนใหญ่เข้ามูลนิธิ Gates Foundation ได้ ทำให้สินทรัพย์ของมูลนิธิเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า เพื่อช่วยกำจัดโรคร้ายให้ หมดไปจากประเทศยากจนในโลกที่สาม
แต่แล้วในปีนี้ Organization for Economic Cooperation and Development หรือ OECD องค์กรด้านการพัฒนาของยุโรป สำรวจพบว่า G8 กำลังจะผิดคำสัญญาที่ให้ไว้เมื่อปี 2005 และจะให้เงินช่วยเหลือแอฟริกาได้ไม่ถึงครึ่งของที่เคยสัญญาไว้ ส่วน Oxfam องค์กรเอกชนของอังกฤษก็รายงานว่า ความช่วยเหลือต่างประเทศของชาติร่ำรวยลดลงถึง 3,500 ล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2008-2009 โดยอิตาลีลดความช่วยเหลือต่างประเทศลงมากที่สุดถึง 31% เยอรมนีลดลง 12% ญี่ปุ่น 11% และแคนาดา 9.5%
นอกจากนี้ ฝรั่งเศสก็ไม่สามารถให้เงินช่วยเหลือต่างประเทศ ได้เท่ากับที่เคยสัญญาไว้ ส่วนสหรัฐฯ ก็ลดงบที่ให้กับ Millennium Challenge Corporation จาก 3,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2008 เหลือเพียง 1,400 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ ในการประชุมสุดยอดเดือน มิถุนายน G8 ยอมรับว่า สามารถให้เงินช่วยเหลือได้เพียง 6,500 ล้านดอลลาร์ จากที่เคยสัญญาไว้ถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ แก่โครงการ L’Aquila Food Security Initiative ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อต่อสู้กับความยากจนและความหิวโหยในชาติกำลังพัฒนา ดูเหมือนว่าโลกจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ ที่ตั้งเป้าจะขจัดความยากจนและไร้การ ศึกษาให้หมดสิ้นไป ภายในปี 2015 ได้เสียแล้ว
อัฟกานิสถานเป็นประเทศยากจนที่มีความสำคัญต่อนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ มากที่สุด ในปี 2002 อดีตประธานาธิบดี George W. Bush สัญญาจะให้เงินช่วยเหลืออัฟกานิสถานอย่างมหาศาล เทียบได้กับแผนการมาร์แชลที่สหรัฐฯ เคยช่วยฟื้นฟูยุโรปหลังสงครามโลก แต่ Bush ก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จ เขาเพิ่มความช่วยเหลือทาง มนุษยธรรมให้แก่อัฟกานิสถานจาก 1,300 ล้านดอลลาร์ในปี 2004 เป็น 1,900 ล้านดอลลาร์ในปี 2008 ซึ่งเป็นเพียงเศษเสี้ยวของเงินที่สหรัฐฯ เคยให้แก่แผนการมาร์แชลเท่านั้น
อุปสรรคสำคัญของชาติร่ำรวยในการให้เงินช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ คือความรู้สึกของประชาชนในชาติเอง ที่เห็นว่าเป็นการใช้เงินเพื่อแก้ปัญหา “ของคนอื่น” ผลสำรวจความคิดเห็นชาว อเมริกันล่าสุด โดยสำนักวิจัย Pew พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของคนอเมริกันบอกว่า สหรัฐฯ ควรใส่ใจ แต่เรื่องที่เป็นประโยชน์ของตัวเองในโลกจะดีกว่า และยังพบแนวโน้มเดียวกันนี้ในชาติร่ำรวยหลายชาติทั้งในยุโรปและเอเชียรวมถึงญี่ปุ่น ซึ่งจัดเป็นชาติผู้บริจาคราย ใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่งในโลก
ส่วนชาติที่ได้รับเงินช่วยเหลือก็ไม่ยอมช่วยตัวเองเท่าใดนัก ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ชาติกำลังพัฒนาต่างสัญญาจะปรับปรุง ธรรมาภิบาลในประเทศ เพื่อให้สมกับที่ได้รับความช่วยเหลือจากชาติร่ำรวย ในปี 2001 ชาติแอฟริกาทำข้อตกลงร่วมกันชื่อ New Partnership for Africa’s Development ซึ่งจะปรับปรุงธรรมา ภิบาล ส่งเสริมการพัฒนาที่เท่าเทียม ปราบปรามคอร์รัปชั่น และปรับปรุงเรื่องต่างๆ ตามที่ชาติผู้บริจาคและองค์กรเอกชนต้องการ ในปี 2006 Mo Ibrahim มหาเศรษฐีธุรกิจสื่อสารของซูดาน ตั้งรางวัล 5 ล้านดอลลาร์ สำหรับผู้นำแอฟริกาที่มีผลงานดีที่สุดในด้านการพัฒนา ธรรมาภิบาล และการศึกษา แต่ชาติแอฟริกากลับ ล้มเหลวในการปรับปรุงประเทศ ทำให้ชาติผู้บริจาคยิ่งถอยห่างออกไปมากยิ่งขึ้น
ยกตัวอย่างเคนยา ในปี 2002 เคนยาสัญญาจะปฏิรูปประเทศ พร้อมกับแต่งตั้ง John Githongo มือปราบคอร์รัปชั่น ให้รับผิดชอบการปราบปรามคอร์รัปชั่นให้สิ้นซาก แต่เพียง 2 ปีหลังจากนั้น Githongo ก็หมดอำนาจ จนถึงกับต้องหนีออกนอกประเทศ แม้จะได้กลับเคนยาในเวลาต่อมา และก่อตั้งกลุ่มเคลื่อน ไหวระดับรากหญ้าเพื่อต่อต้านคอร์รัปชั่น แต่เขาก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเคนยาให้ดีขึ้นได้ ไม่นานมานี้ ส.ส.เคนยาเพิ่งลงมติเพิ่มเงินเดือนตัวเองเป็น 170,000 ดอลลาร์ต่อปี หรือเกือบเท่ากับ ส.ส.อเมริกัน แต่ชาวเคนยากลับมีรายได้เฉลี่ยต่อปีเพียง 900 ดอลลาร์ เทียบกับชาวอเมริกันที่มีรายได้เฉลี่ย 46,000 ดอลลาร์ต่อปี
หลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเฮติเมื่อเดือนมกราคม ปีนี้ รัฐบาลและภาคเอกชนต่างๆ ทั่วโลกต่างประกาศจะให้เงินช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูบูรณะเฮติ แต่ความล่าช้าในการทำงานของรัฐบาลเฮติทำให้ชาติผู้บริจาคผิดหวัง เห็นได้จากแผ่นดินไหวผ่าน มาถึง 7 เดือนแล้ว แต่เฮติเพิ่งได้รับเงินบริจาคเพียง 506 ล้านดอลลาร์เท่านั้น จากยอดเงินบริจาคทั้งสิ้น 5,300 ล้านดอลลาร์
จริงอยู่ที่ชาติร่ำรวยอาจมีความจำเป็นต้องตัดงบช่วยเหลือ ต่างประเทศ หลายชาติอย่างเช่น อิตาลี อังกฤษ กำลังเผชิญปัญหา วิกฤติเศรษฐกิจ แต่การผิดคำสัญญาให้เงินช่วยเหลือต่างประเทศ ของ G8 อาจส่งผลร้ายที่นึกไม่ถึง เพราะก่อให้เกิดช่องว่างให้ชาติ ผู้บริจาคกลุ่มใหม่แทรกตัวเข้ามาได้ อย่างเช่นจีนหรือเวเนซุเอลา ประเทศเหล่านี้ไม่มีการตั้งเงื่อนไขการรับความช่วยเหลืออย่างชาติ ตะวันตก ชาติผู้รับเงินช่วยเหลือไม่จำเป็นต้องปรับปรุงเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือธรรมาภิบาลแต่อย่างใด หากไม่สามารถกำจัดความ หิวโหยตามเป้าหมายแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติได้ เด็กๆ ในชาติกำลังพัฒนาจะขาดแคลนอาหาร เติบโตไม่เต็มที่ สมองไม่ พัฒนา ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติยากจน หากเป้าหมายการขจัดความไร้การศึกษาไม่ประสบความสำเร็จ ชาติแอฟริกาจะไม่มีวันพัฒนาตัวเองได้ทันคู่แข่งจาก เอเชียตะวันออก ซึ่งมีระบบการศึกษาที่เข้มแข็ง
ในกรณีของประเทศที่ตกอยู่ในสภาพอย่างอัฟกานิสถาน ความล้มเหลวในการพัฒนายังอาจหมายถึงการที่รัฐบาลไม่สามารถ ควบคุมจัดการสิ่งใดได้เลย หรือที่เรียกว่า failed state ซึ่งเป็นบ่อเกิดของการใช้ความรุนแรงและการก่อความไม่สงบ ดัชนี Failed States Index ของนิตยสาร Foreign Policy ประจำปีนี้ จัดให้โซมาเลีย ชาด และซูดาน เป็น 3 ประเทศที่มีปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุดในโลก ความไร้เสถียรภาพในประเทศเหล่านั้นทำให้กลุ่มก่อความไม่สงบเรืองอำนาจ และคุกคามสถาบันหลักของชาติ และแน่นอนว่า คุกคามความมั่นคงของชาติตะวันตกด้วย ผลก็คือ ชาติ G8 จะต้องหันไปพึ่งกำลังทางทหาร ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งในแง่ของเม็ดเงินและชีวิตคนที่สูงกว่าการให้เงินช่วยเหลือต่างประเทศอย่างเทียบกันไม่ได้
|