บี-ควิก อัดงบโฆษณาเพิ่ม สร้างเมสเซจผ่านหนังโฆษณาชุดน้ำมันเครื่อง หวังชิงลูกค้าจากศูนย์บริการรถยนต์ ขณะที่ยอดใช้บริการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและดูแลเครื่องยนต์มีปริมาณ 40% จากฐานลูกค้าทั้งหมดกว่า 500,000 ราย พร้อมเตรียมงบอีกส่วนขยายสาขาอีก 7 แห่งช่วงครึ่งปีหลัง มั่นใจสิ้นปียอดขายทะลุ 2,500 ล้านบาท
ในสภาวะการตลาดศูนย์บริการรถยนต์ครบวงจรมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด แต่การที่ตลาดรถยนต์รวมมีการเติบโตสูงขึ้น ย่อมส่งผลต่อตลาดศูนย์บริการเหล่านี้ไม่มากก็น้อย บี-ควิก ศูนย์บริการรถยนต์ครบวงจรรายใหญ่ จึงทุ่มงบประมาณหลักร้อยล้านบาทเพื่อขยายทั้งสาขาการให้บริการ และสร้างรายได้เพิ่ม
ส่วนแรกคือการขยายสาขาเพิ่ม โดยช่วงครึ่งปีแรกมีการเพิ่มสาขาไปแล้ว 2 สาขา และในครึ่งปีหลังเตรียมเพิ่มสาขา บี-ควิก อีก 7 สาขา ด้วยงบประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งสาขาใหม่ดังกล่าวประกอบด้วย โลตัส กระบี่, โลตัส กัลปพฤกษ์, โลตัส สุขาภิบาล 3, บิ๊กซี ฉะเชิงเทรา, โรบินสัน ตรัง, ถนนกิ่งแก้ว และนครราชสีมา ซึ่งจะทำให้บี-ควิกมีสาขาเปิดให้บริการทั้งสิ้น 70 สาขาทั่วประเทศ ขณะที่เป้าใหญ่ในเรื่องการขยายสาขานั้นอยู่ที่ 100 แห่ง แต่ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3 ปี
นอกจากการเพิ่มสาขาแล้ว ยังมีงบอีกราว 50 ล้านบาทสำหรับการปรับปรุงสาขาเดิมที่มีอยู่ เฮงก์ เจ คิกส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี-ควิก จำกัด กล่าวว่า การปรับปรุงสาขาก็เพื่อพัฒนาภาพลักษณ์ของศูนย์บริการรถยนต์ บี-ควิก ในปัจจุบัน ตลอดจนลงทุนกับเครื่องจักรใหม่ๆ เพื่อให้บริการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
ที่น่าสนใจคือ บี-ควิก เตรียมงบประมาณอีกราวๆ 45 ล้านบาทสำหรับการทำภาพยนตร์โฆษณาเพื่อสื่อสารข้อความการตลาดไปยังกลุ่มเป้าหมาย โดย 1 เรื่องเป็นภาพยนตร์โฆษณาชุดที่เรียกว่า น้ำมันเครื่องใช้งบประมาณราว 20 ล้านบาท ส่วนอีก 1 เรื่องนั้น บี-ควิกยังไม่เปิดเผยรายละเอียด ใช้งบประมาณ 25 ล้านบาท บุศรารัตน์ อัสสรัตนกุล ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายปฏิบัติการ บอกว่า ภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่จะเริ่มออนแอร์ในเดือนสิงหาคมไปจนถึงกันยายนนี้ โดยโฆษณาชุด 'น้ำมันเครื่อง' จะเน้นให้เห็นถึงสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่ต้องการสินค้าที่มีคุณภาพในราคาที่ประหยัดคุ้มค่า ส่วนภาพยนตร์โฆษณาอีกชุดนั้นจะออกอากาศในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งคาดว่าเมื่อรวมกับงบการตลาดในสื่ออื่นๆ บี-ควิกจะใช้งบการตลาดในปีนี้รวมทั้งสิ้น 180 ล้านบาท เพื่อให้ บี-ควิก เข้าถึงลูกค้าในทุกสื่อ และในทุกจังหวัดที่สาขาของ บี-ควิก เปิดให้บริการ
งบการตลาดทั้งสองส่วนนั้น เพื่อเป้าหมายหลักคือการสร้างรายได้ให้เติบโตจากปีที่ผ่านมาประมาณ 30% ด้วยตัวเลขยอดขายถึง 2,5000 ล้านบาท ในขณะที่ยอดขายช่วง 6 เดือนแรกของปีนั้นอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท
บี-คลิก บอกว่า ปัจจุบันมีตัวเลขฐานลูกค้าทั้งสิ้นราว 500,000 รายต่อปี ลูกค้าเฉลี่ยใช้บริการต่อเดือนอยู่ที่ 40,000 ราย กว่า 60% เป็นลูกค้าที่ใช้บริการเปลี่ยนยาง ที่เหลือราว 40% จะใช้บริการประเภทเปลี่ยนแบตเตอรี่ น้ำมันเครื่อง ระบบเบรก ระบบช่วงล่าง และระบบแอร์ อย่างไรก็ตาม ลูกค้าบางกลุ่มเข้ามาใช้บริการหลายๆ ส่วนพร้อมกัน
เฮงก์ เจ คิกส์ บอกว่า หากพิจารณายอดจำหน่ายยางรถยนต์ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่าในปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนอยู่ที่ 20% โดยมีอัตราการเติบโตถึง 15% ในครึ่งปีแรก ขณะที่ภาพรวมตลาดที่เติบโตราว 5-6% ซึ่งนับเป็นการเติบโตของตลาดยางรถยนต์ครั้งแรก หลังยอดจำหน่ายไม่มีอัตราการเติบโตในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
นั่นหมายถึงตลาดใหญ่ และสร้างรายได้มากที่สุดของบี-ควิก คือ บริการเปลี่ยนยาง ส่วนการบำรุงรักษาเครื่องยนต์นั้น ลูกค้าที่เข้ามาใช้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรถยนต์ที่เริ่มหมดระยะเวลารับประกันกับบริษัทผู้ผลิต และศูนย์บริการ ดังนั้น การทุ่มงบประมาณในครั้งนี้ส่วนหนึ่งต้องการสื่อสารกับกลุ่มผู้ใช้รถที่เริ่มเข้าสู่ระยะหมดการการันตีเหล่านี้ ซึ่งศูนย์บริการรถยนต์ครบวงจร มีความได้เปรียบในเรื่องราคาของอะไหล่ต่างๆ รวมถึงค่าแรง และค่าบริการรวมที่ต่ำกว่าศูนย์บริการ
|