Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์16 สิงหาคม 2553
Toyota Go to the Future ปูฐานผลิตภัณฑ์รับตลาด 1 ล้านคัน             
 


   
search resources

โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย, บจก.
Automotive
Toyota




-โตโยต้ามองข้ามช็อต หวังกลืนตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือก
-เพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์รถไฮบริด ยึดตลาดไฮบริด
-เดินหน้าสู่เป้าหมาย กินตั้งแต่แชมป์ตลาดรถยนต์ทุกเซกเมนต์ในประเทศ ยันตลาดส่งออก

นอกจากการประเมินยอดขายรถยนต์ในปีนี้ ที่ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย คาดว่าจะสูงถึง 750,000 คันแล้ว ยังมองข้ามไปถึงตัวเลขยอดขาย 1,000,000 คัน เคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เชื่อว่าโอกาสที่ตลาดรถยนต์เมืองไทยจะเติบโตดังกล่าว มีความเป็นไปได้ เพียงแต่จะใช้เวลานานเพียงใดเท่านั้น แต่สัญญาณการเติบโตของตลาดในปีนี้เป็นสัญญาณที่ดี เพราะยอดขาย 7 แสนกว่าคัน น่าจะเป็นตัวเลขสูงที่สุดของประวัติศาสตร์ตลาดรถยนต์เมืองไทย

ปัจจุบัน โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ครองส่วนแบ่งตลาดราว 40% ตัวเลขนี้ติดอยู่กับโตโยต้ามาหลายปีแล้ว รวมถึงยอดขาย 6 เดือนแรกของปีที่เพิ่งผ่านไป เป็นการครองตลาดรถยนต์อันดับ 1 ในทุกเซกเมนต์ใหญ่ๆ ตั้งแต่ ตลาดรถยนต์รวม, รถยนต์นั่ง, รถปิกอัพขนาด 1 ตัน และรถเพื่อการพาณิชย์ ที่สำคัญคือ ทุกเซกเมนต์โตโยต้ามีส่วนแบ่งตลาดไม่ต่ำกว่า 40%

ในปีนี้ก็เช่นกัน โตโยต้าตั้งเป้าจะครองส่วนแบ่งตลาดให้ได้ 40% จาก 750,000 คัน "ด้วยตลาดรถยนต์ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจึงมุ่งมั่นและนับเป็นการท้าทายในการขายให้มากขึ้น โดยจะพยายามสร้างยอดขายให้บรรลุสถิติเดิมที่เคยทำไว้ในปี 2549 และคาดว่าจะสูงถึง 300,000 คัน" ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อน

สัดส่วนการขายนั้นแบ่งเป็นรถปิกอัพจะมียอดที่ 130,000 คัน รถยนต์นั่งมียอดขายที่ 130,000 คัน ส่วนที่เหลือประมาณ 40,000 คัน จะเป็นรถยนต์ในส่วนของรถตู้และปิกอัพดัดแปลง

อย่างไรก็ดี หากมองไปถึงตัวเลขที่ 1 ล้านคัน ส่วนแบ่งตลาดอย่างน้อยที่สุดของโตโยต้า ก็คงไม่ต่ำกว่า 40% อีกเช่นกัน

มีความเป็นไปได้ขนาดไหนที่ตลาดรถยนต์เมืองไทยจะทะยานไปถึงตัวเลขที่โตโยต้าวาดฝันไว้ นอกจากเรื่องสภาวะเศรษฐกิจในประเทศแล้ว องค์ประกอบในเรื่องการก่อกำเนิดตลาดรถยนต์เซกเมนต์ใหม่ๆ มีความน่าสนใจยิ่ง ที่เห็นได้ชัดเจนแล้วคือ ตลาดรถยนต์นั่งอีโคคาร์ ซึ่ง นิสสัน มอเตอร์ส ประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของตลาดดังกล่าวแล้ว ด้วยยอดขายเดือนละกว่า 2,000 คัน หรือปีละประมาณ 24,000 คัน และอันที่จริงตัวเลขน่าจะสูงกว่านี้ เนื่องจากกำลังการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ของค่ายนิสสันในช่วงแรกมีอยู่จำกัด และกำลังการผลิตส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก

ดังนั้น หากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อื่นๆ เริ่มผลิตรถยนต์อีโคคาร์ออกมาจำหน่าย น่าจะทำให้ตลาดรถยนต์เซกเมนต์นี้เติบโตมากขึ้นเป็นทวีคูณ และตามเงื่อนไขที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนนั้น ผู้ผลิตรถยนต์ต้องผลิตรถให้ได้ปีละ 100,000 คัน ทั้งการจำหน่ายในประเทศและการส่งออก โครงการนี้ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ได้รับการส่งเสริมการลงทุนด้วยเช่นกัน แต่จากท่าทีของบริษัทรถยนต์อันดับ 1 ของไทยและของโลก ดูเหมือนจะยอมเปิดตัวเป็นบริษัทท้ายๆ ที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการจากภาครัฐ

"โตโยต้าเราน่าจะเป็นค่ายสุดท้ายวันนี้ โตโยต้ายอมรับว่ายังไม่เข้าใจสภาพตลาดของอีโคคาร์กับกลุ่มลูกค้าชาวไทย ว่าแท้ที่จริงแล้วสภาพตลาดเป็นอย่างไร ดังนั้นโตโยต้าคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกับเรื่องนี้ บวกกับรถยนต์นั่งของเรา อาทิ ยาริส และวีออส ก็ยังคงได้รับการตอบรับที่ดีอยู่" เคียวอิจิ ทานาดะ กล่าว

ตลาดรถยนต์ในพลังงานทางเลือก และรถยนต์ไฮบริด เป็นอีกเซกเมนต์หนึ่งที่น่าจับตามอง และเป็นตัวผลักดันให้ตลาดรถยนต์ไทยเติบโตมากขึ้น ทั้งรถยนต์ที่ติดตั้งระบบก๊าซซีเอ็นจี หรืออีกชื่อคือ เอ็นจีวี เป็นตลาดที่สดใสและมีความต้องการมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับโตโยต้าเอง แม้จะมีรถยนต์รุ่นอัลติส แอดวานซ์ซีเอ็นจีออกมาก็ไม่สามารถตอบสนองได้ทันกับความต้องการ จนเวลานี้มีการรอรถนานกว่า 5 เดือน โดยกำลังการผลิตของโตโยต้ามีเพียง 500-600 คันต่อเดือนเท่านั้น ขณะเดียวกับความต้องการรถยนต์ติดตั้งก๊าซเอ็นจีวี มีการขยายตัวไปสู่กลุ่มรถปิกอัพ ซึ่งมีผู้ผลิตค่ายรถยนต์ขนาดกลางเริ่มเข้ามารุกตลาดบ้างแล้ว และทางโตโยต้าเองบอกว่าอยู่ระหว่างศึกษาตลาดด้วยเช่นกัน

เซกเมนต์ที่ดูตื่นเต้น และเป็นตลาดเดียวของโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ทำตลาดแบบไร้แรงกดดันจากคู่แข่งคือ รถยนต์ไฮบริด ปัจจุบันโตโยต้าส่งรถยนต์คัมรี่ไฮบริด เป็นตัวบุกเบิกตลาด รถยนต์รุ่นนี้ได้รับการตอบรับจากตลาดดีในระดับหนึ่ง โตโยต้ามีการผลิตรถยนต์รุ่นนี้เดือนละประมาณ 1,200 คัน เป็นการขายในประเทศราวๆ 700 คันต่อเดือน ที่เหลือเป็นการส่งออก เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฮบริด อันดับ 3 ของโตโยต้า รองจากสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สื่อหนังสือพิมพ์นิกเกอิและสำนักข่าวจิจิเพรสของญี่ปุ่น ยืนยันว่า โตโยต้า มอเตอร์ เตรียมจะออกรถพรีอุสใหม่ในไทย ซึ่งเป็นรถเครื่องยนต์ไฮบริดคันที่ 2 ต่อจากรถซีดาน รุ่นคัมรี่ ที่ออกตัวไฮบริดมาก่อนหน้านี้

ขณะที่กระแสข่าวเรื่องดังกล่าว มีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์ เอง ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวด้วยเช่นกันว่า โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จะเลือกเอาช่วงไตรมาสสุดท้ายในการเปิดตัวรถยนต์รุ่นดังกล่าว

โตโยต้า พรีอุส จะเป็นรถยนต์ไฮบริดที่มียอดขายสูงที่สุดในโลก และการเปิดตัวในเมืองไทย จะเป็นการส่งสัญญาณขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ของรถยนต์ไฮบริด ที่เริ่มตั้งเครื่องยนต์ลูกผสม ระหว่างเครื่องยนต์น้ำมัน และมอเตอร์ไฟฟ้า ในรถยนต์ขนาดเล็กลงมา หลังจากที่เริ่มติดตั้งและทำตลาดในรถยนต์นั่งขนาดกลางอย่าง โตโยต้า คัมรี่

โตโยต้า มอเตอร์ ระบุว่า ถึงเวลานี้บริษัทขายรถยนต์ไฮบริดได้ทั่วโลกกว่า 2.68 ล้านคัน ส่วนในญี่ปุ่นเอง เฉพาะเดือนกรกฎาคมเพียงเดือนเดียว สามารถขายโตโยต้า พรีอุสไปแล้ว 34,456 คัน จนถึงปัจจุบันโตโยต้าขายรถยนต์ไฮบริดในญี่ปุ่นไปแล้วกว่า 1 ล้านคัน เป็นการแสดงให้เห็นถึงความต้องการและความนิยมรถยนต์ไฮบริดในญี่ปุ่นเอง

โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย มองว่า พรีอุส น่าจะทำยอดขายได้สูงกว่า คัมรี่ ไฮบริด เนื่องจากราคาที่ต่ำกว่า และเป็นรถยนต์ในขนาดคอมแพกต์ ซึ่งราคาที่ใกล้จะเปิดตัวอีกไม่กี่เดือนของรถรุ่นนี้น่าจะอยู่ที่คันละล้านเศษๆ

เมื่อเทียบกับตลาดญี่ปุ่น และสหรัฐฯ รถยนต์ไฮบริดในไทยอาจเป็นเพียงส่วนน้อย ทั้งการผลิตและยอดขาย แต่ในอนาคตอันใกล้ ไทยจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฮบริดที่สำคัญของโตโยต้าในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดรถยนต์ไฮบริดในเมืองไทยแล้ว โตโยต้าจะมีผลิตภัณฑ์อยู่ในตลาดถึง 2 รุ่น ใน 2 ขนาดเซกเมนต์ ขณะที่คู่แข่งที่มีรถยนต์ไฮบริดในตลาดทั่วโลกอย่างฮอนด้า ยังไม่มีแผนจะนำรถยนต์ไฮบริดเข้ามาทำตลาดแข่งในช่วงเวลาอันใกล้

อีกเซกเมนต์หนึ่งที่น่าจะหนุนให้โตโยต้าสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นได้ พอๆ กับการขยายตัวของตลาดรถยนต์ คือ รถยนต์ที่ใช้พลังงานทดแทนอย่าง E85 ซึ่งมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 85% และเบนซินอีก 15% และมีราคาถูกกว่าแก๊สโซฮอล์ E10 โตโยต้าสามารถพัฒนาเครื่องยนต์จากรถยนต์ในผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เกือบทุกรุ่นให้สามารถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชนิดนี้ได้ โดยจะส่งผลให้ยอดขายรถยนต์แต่ละรุ่นที่ใช้เชื้อเพลิง E10 ไปจนถึง E85 เพิ่มขึ้นด้วย

หากเทียบกองทัพด้านผลิตภัณฑ์ของโตโยต้าในวันนี้ที่มีอยู่เกือบทุกเซกเมนต์ ทั้งในกลุ่มรถปิกอัพ, รถยนต์นั่ง รถอเนกประสงค์ และผลิตภัณฑ์ที่มาจากการแลกกับโรงงานโตโยต้าในกลุ่มอาเซียน ซึ่งใช้ประโยชน์จากอาฟตา รวมถึงรถยนต์ในเซกเมนต์ใหม่ๆ ที่เตรียมจ่อเข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะรถยนต์พลังงานทางเลือกอย่างที่กล่าวมา คือ รถยนต์ซีเอ็นจี, รถยนต์ที่ใช้ E85, รถยนต์ประหยัดพลังงานหรืออีโคคาร์ และรถยนต์ไฮบริด

ต้องบอกว่ากลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ของโตโยต้าพร้อมรับกับการเติบโตของตลาดรถยนต์เมืองไทย โดยเฉพาะหากถึงวันที่ยอดขายรถยนต์เมืองไทยแตะตัวเลข 1 ล้านคันอย่างที่คาดหวังไว้

ขณะที่การส่งออกของโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เป็นอีกส่วนหนึ่งของการเติบโตในประเทศ และเป็นส่วนที่ทำให้โตโยต้ามีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปีนี้ โตโยต้ามีเป้าหมายส่งออกรถยนต์รวม 330,0000 คัน แบ่งออกเป็น รถกระบะ 270,000 คัน และรถยนต์นั่งอีก 60,000 คัน มีมูลค่าในการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนรวม 195,000 ล้านบาท ตัวเลขนี้เพียงพอจะส่งให้โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย เป็นบริษัทผู้ส่งออกที่ทำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับหนึ่ง และเชื่อว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า มูลค่าการส่งออกของโตโยต้าจะแซงหน้าบริษัทอิเล็กทรอนิกส์

กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย บอกว่า มีการเจรจากับบริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่น ในการขยายกำลังการผลิตโรงงานเกตเวย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา สำหรับผลิตรถยนต์นั่ง รวมทั้งขยายกำลังการผลิตที่โรงงานบ้านโพธิ์ ฉะเชิงเทรา ซึ่งปรกติเป็นโรงงานผลิตรถกระบะเพื่อส่งออกให้สามารถผลิตรถยนต์นั่งได้อีกด้วย อีกทั้งปัจจุบันประเทศไทยจะผลิตรถยนต์นั่งเพื่อส่งออกไปภูมิภาคเอเชียเท่านั้น แต่สิ่งที่โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กำลังดำเนินการคือ ขอให้โตโยต้า คอร์ปอเรชั่น ญี่ปุ่นตัดสินใจเลือกใช้ประเทศไทย เป็นฐานการผลิตรถยนต์นั่งเพื่อการส่งออกไปยัง 100 ประเทศทั่วโลก เช่นเดียวกับการที่บริษัทแม่ตัดสินใจเลือกใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถปิกอัพขนาด 1 ตัน ที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของโตโยต้าก่อนหน้านี้

สิ่งที่ เคียวอิจิ ทานาดะ บอกคือ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กำลังเป็นที่อิจฉาของสำนักงานสาขาโตโยต้าในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการผลิตที่มีทั้งปริมาณการผลิตและเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ขั้นสูงอย่างไฮบริด นั่นเอง

นอกจากนี้ในขณะที่แผนการผลักดันยอดขาย ด้วยกลยุทธ์ด้านผลิตที่วางไว้อย่างครอบคลุมทั้งตลาดแล้ว โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ยังเตรียมความพร้อมในด้านบริการ และบริการหลังการขายให้เหมาะสมกับยอดขายที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

เคียวอิจิ ทานาดะ บอกว่า โตโยต้าไม่นีนโยบายจะเพิ่มตัวแทนจำหน่ายให้มากกว่าที่มีอยู่ในเวลานี้คือ 119 รายทั่วประเทศ แต่สิ่งที่จะต้องดำเนินการในเรื่องเครือข่ายการจำหน่ายคือ การเพิ่มโชว์รูมและศูนย์บริการของตัวแทนจำหน่ายที่มีอยู่ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มโชว์รูมอีก 10% จากที่มีอยู่แล้วในเวลานี้ 320 แห่ง

ทั้งนี้ เครือข่ายโชว์รูม และศูนย์บริการของโตโยต้า เป็นจุดแข็งสำคัญอีกประการหนึ่ง ด้วยปริมาณที่มากกว่า นั่นหมายถึงพื้นที่ให้บริการครอบคลุมเหนือกว่าคู่แข่งนั่นเอง

ขณะเดียวกัน โตโยต้ามีการพัฒนามาตรฐานโชว์รูมและศูนย์บริการอย่างหนักในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งผลงานดังกล่าว เจ.ดี.พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิก ระบุผลการศึกษาวิจัยในปี 2553 นี้พบว่า จากผลการศึกษาวิจัยรถ 9 ยี่ห้อ คำนวณจากการให้คะแนนความพึงพอใจโดยมีคะแนนเต็ม 1,000 คะแนน ค่าดัชนียิ่งสูงยิ่งบ่งบอกว่าลูกค้ามีความพึงพอใจในขั้นตอนการขายและส่งมอบรถใหม่มากยิ่งขึ้น โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ครองคะแนนอันดับสูงสุด ด้วยคะแนน 890 คะแนน ในด้านการเริ่มต้นการขาย, สิ่งอำนวยความสะดวกของดีลเลอร์ การเจรจาตกลง และการจัดเตรียมเอกสาร โดยมีค่ายตรีเพชรอีซูซุเซลส์ ตามมาเป็นอันดับ 2 คือ 889 คะแนน คะแนนได้ดีเป็นพิเศษในด้านพนักงานขาย และกระบวนการส่งมอบ และฟอร์ด 888 คะแนน ในด้านระยะเวลาในการส่งมอบรถยนต์

เจ.ดี.พาวเวอร์ฯ ระบุว่า เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ความพึงพอใจของลูกค้าเพิ่มสูงขึ้นทั้ง 7 ปัจจัย การปรับปรุงที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดได้แก่ การเริ่มต้นการขาย การเจรจาตกลง และการจัดเตรียมเอกสาร โดยเฉพาะในขั้นตอนการจัดทำสินเชื่อรถยนต์ ในปีนี้ดีลเลอร์มีการนำเสนอรถยนต์และเพิ่มทางเลือกในการชำระเงินให้กับลูกค้ามากขึ้น นอกจากนี้แล้วเราพบว่า ลูกค้ามีความพึงพอใจมากขึ้นกับคำอธิบายและการตอบคำถามของลูกค้าในหลาย ๆ ด้าน เช่น อุปกรณ์ในรถยนต์และประโยชน์, เงื่อนไขการขอสินเชื่อ, เอกสารการซื้อขาย และการส่งมอบรถยนต์

มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ยอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ต่างนำรถยนต์แบบประหยัดน้ำมันรุ่นใหม่ๆ ออกมาวางจำหน่ายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มรถขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมไปถึงรายการส่งเสริมการตลาด นอกจากนี้แล้วยังมีปัจจัยในด้านการผ่อนคลายเงื่อนไขการกู้เงิน มีผู้ปล่อยสินเชื่อรายใหม่ เช่น ธนาคารพาณิชย์ การลดดอกเบี้ย และการที่ดีลเลอร์คำนึงถึงความต้องการของผู้ซื้อมากขึ้น ล้วนส่งผลทำให้ยอดขายดีขึ้น

ถึงเวลานี้ ต้องยอมรับว่า โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย คือ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ที่จะครองความยิ่งใหญ่ในตลาดรถยนต์เกือบครบทุกเซกเมนต์ โดยเฉพาะการชิงจังหวะและโอกาสการตลาด ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในทุกสภาวการณ์ และหากไม่มีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้อีก สิ่งที่ เคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ทายอนาคตยอดขายไว้ที่ 1 ล้านคัน มีความเป็นไปได้สูง และในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อถึงเวลานั้น สิ่งที่โตโยต้าปูทางไว้ในวันนี้จะได้รับการเก็บเกี่ยวอย่างเต็มที่   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us