ความเคลื่อนไหวของไทยพาณิชย์และเคแบงก์ในช่วงครึ่งปีหลังต่อจากนี้ แม้จะเดินไปด้วยกลยุทธ์ที่แตกต่าง แต่ในท้ายที่สุดเป้าหมายปลายทางของทั้งคู่ก็มุ่งไปสู่จุดเดียวกัน นั่นคือ การเร่งสปีดในธุรกิจที่ตัวเองเคยเป็นเบอร์รองในตลาดให้ขยับขึ้นไปสู่การเป็นผู้นำตลาดให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ นอกเหนือไปจากการเติบโตในธุรกิจที่ตัวเองเป็นผู้นำตลาดอยู่แล้ว
จุดแข็งของไทยพาณิชย์ คือ สินเชื่อรายย่อย ได้แก่ สินเชื่อที่อยู่อาศัย และบัตรเครดิต ส่วนเคแบงก์ในระยะหลังมีจุดแข็งในด้านสินเชื่อเอสเอ็มอี โดยมีมาร์เก็ตแชร์กว่า 27% ซึ่งมาจากการโหมทำตลาดในเชิงรุกอย่างหนักในช่วง 2-3 ปีหลัง สามารถสร้างฐานลูกค้ารายใหม่ จนทำให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดสินเชื่อเอสเอ็มอีได้ และเมื่อตัวเลขดัชนีต่างๆ ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว ธุรกิจมีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น กำลังซื้อกลับมาฟื้นตัว ทำให้ทั้งสองแบงก์มั่นใจในเป้าหมายที่จะขยับขึ้นเป็นผู้นำตลาดว่ามีโอกาสที่จะเป็นไปได้
SCB ปรับโครงสร้างลุยเอสเอ็มอี
ครึ่งปีแรกที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ไทยพาณิชย์ใช้เวลาไปกับการปรับโครงสร้างองค์กรในส่วนที่ดูแลสินเชื่อเอสเอ็มอี จึงไม่ค่อยเน้นปล่อยสินเชื่อมากนัก ทำให้ต่อจากนี้เหลือเวลาอีกเพียงครึ่งปีเท่านั้นในการเร่งขยายสินเชื่อ ในครั้งนี้ไทยพาณิชย์ได้ประกาศบุกตลาดด้วย “มหัศจรรย์เลข 3” ทั้งการตั้งเป้าหมายขอผงาดขึ้นเป็น Top 3 หรือติดอันดับ 1 ใน 3 ผู้นำตลาดสินเชื่อเอสเอ็มอี ภายใน 3 ปี ภายใต้เป้าสินเชื่อรวม 300,000 ล้านบาท ประเดิมด้วยการเปิดตัวสินเชื่อวงเงิน 3 เท่า ดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี (SCB SME 300% LTAV Fixed Rate)
ก่อนหน้านี้ลูกค้าของไทยพาณิชย์ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ยอดขายเกิน 500 ล้านบาทต่อปีขึ้นไปเป็นหลัก แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าไม่ใช่ส่วนที่สร้างกำไรได้ดีนัก ในขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีซึ่งสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้สูงกว่ากลุ่มลูกค้ารายใหญ่ และเป็นกลุ่มที่สร้างกำไรได้ดีกว่า ยังเป็นตลาดที่ไทยพาณิชย์ยังไม่ได้ลงมาเล่นอย่างเต็มตัว แต่ก็เป็นตลาดที่มีศักยภาพและโอกาสในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยสินเชื่อเอสเอ็มอีทั้งระบบมีมูลค่ากว่า 1.4 ล้านล้านบาท
สำหรับการปรับโครงสร้างภายในองค์กร เพื่อรองรับการรุกตลาด จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม อยู่ภายใต้การดูแลของผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ 3 คน ได้แก่ กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลาง กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดย่อม การวางแผนกลยุทธ์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าที่แต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ได้จัดพอร์ตลูกค้าเอสเอ็มอีใหม่ โดยแบ่งตามขนาดธุรกิจ จากเดิมที่แบ่งตามพื้นที่ เป็นกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดย่อม (มียอดขาย 10-75ล้านบาทต่อปี) และกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดกลาง (มียอดขาย 75-100 ล้านบาทต่อปี) อาศัยการเข้าถึงลูกค้าผ่านสำนักงานธุรกิจกว่า 70 แห่งและเครือข่ายสาขากว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ
ด้านรูปแบบผลิตภัณฑ์ในตลาดสินเชื่อเอสเอ็มอีจะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมามีการแข่งขันระหว่างแบงก์หลายค่าย ทั้งการลงมาเล่นเรื่องราคาผ่านอัตราดอกเบี้ย หรือรูปแบบที่ยืดหยุ่นขึ้น เช่น การให้กู้ 3 เท่าโดยไม่มีหลักประกัน ซึ่งในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในขาขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความกังวลด้านต้นทุนในอนาคต ไทยพาณิชย์จึงได้ใช้กลยุทธ์สร้างความมั่นใจให้ลูกค้า ด้วยการออกสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยคงที่ เพื่อขยายฐานลูกค้า โดยมีให้เลือก 2 รูปแบบ คือ 1.ปีแรก อัตราดอกเบี้ย5% ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ย 6% ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย 7% 2.อัตราดอกเบี้ยคงที่ 6% นาน 3ปี หลังจากนั้นทั้งสองแบบจะคิดดอกเบี้ยลอยตัว ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของลูกค้า ถือว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าท้องตลาดซึ่งคิดในอัตรา MLR+1% ถึง 2% หรือเท่ากับ 7-8% หรือถ้าเสี่ยงมากดอกเบี้ยอาจอยู่ระดับ 8-10% ดังนั้นจึงทำให้ไทยพาณิชย์กลายเป็นผู้เล่นรายล่าสุดที่โดดลงมาสู่สมรภูมิราคาในตลาดสินเชื่อเอสเอ็มอี
“ในตลาดตอนนี้ส่วนใหญ่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 7-8% คงที่นานสุดก็ไม่เกิน 1.5 ปี สำหรับแคมเปญนี้เราเตรียมวงเงินไว้ 5,000 ล้านบาท คาดว่าจะปล่อยกู้หมดภายใน 4 เดือน เน้นเจาะลูกค้ารายเล็ก ซึ่งมีอยู่ 10% ของพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีรวม 1.7 แสนล้านบาท โดย 1เดือนที่ผ่านมามีลูกค้ายื่นสินเชื่อแล้ว 1,000 ล้านบาท ตั้งเป้าว่าใน 3-5 ปีข้างหน้าสัดส่วนเอสเอ็มอีรายเล็กจะขยับเป็น 1 ใน 3 ของพอร์ต เนื่องจากกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็กถือเป็นกระดูกสันหลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นช่องว่างตลาดที่ยังถูกมองข้าม” ศิริชัย สมบัติศิริ รองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าว
แม้จะมองดูเหมือนการโดดลงไปเล่นในสงครามราคา แต่ศิริชัยเน้นว่า อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้กับกำไรที่ได้ถือว่าคุ้มค่ากับความเสี่ยงของธนาคาร โดยในปีนี้ตั้งเป้าว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีจะสร้างกำไรประมาณ 5,600 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20% ของรายได้รวมธนาคาร ซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำ จึงมีโอกาสเติบโตอีกมา ทั้งนี้ในระยะยาวตั้งเป้าว่าจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 30% ของรายได้รวม
KBANK ขอเบอร์ 1 บัตรเครดิต
ด้านความเคลื่อนไหวของเคแบงก์ ในกลุ่มธุรกิจบัตรเครดิต ก็ลุกขึ้นมาประกาศขอท้าชิงไทยพาณิชย์ ผู้นำตลาดบัตรเครดิตที่มีจำนวนบัตรมากที่สุดถึง 1.8 ล้านบัตร คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดกว่า 18% ด้วยการขอขึ้นเป็นเบอร์ 1 แทนในปี 2554 ทั้งในแง่จำนวนบัตรและยอดการใช้จ่าย จากปัจจุบันที่มีฐานผู้ถือบัตรรวม 1.4 ล้านบาท มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเฉลี่ย 9,000 ล้านบาทต่อเดือน อยู่ในอันดับ 2 ของตลาด
อำพล โพธิ์โลหะกุล รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เริ่มเห็นยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้เติบโตขึ้น 15% ในขณะที่เคแบงก์สามารถเติบโตได้ถึง 40% ซึ่งสูงกว่าตลาด สะท้อนว่ากำลังซื้อยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ครั้งนี้เคแบงก์ได้รีแบรนด์บัตรเครดิตกสิกรไทยอีกครั้ง ภายใต้แนวคิด “บัตรเครดิตที่ทำให้หัวใจเต้นแรง” เน้นการจัดโปรโมชั่นและสิทธิประโยชน์ที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง เน้น 4 หมวดหลัก คือ เที่ยว-บิน-กิน-ช้อป คือ เที่ยว 1 ฟรี 1, บิน 1 ฟรี 1, กิน 1 ฟรี 1 และช้อป 1 ฟรี 1 ตลอดทั้งปี ส่วนลูกค้าที่สมัครบัตรใหม่และมียอดใช้จ่ายตามที่กำหนดไว้จะได้รับตั๋วเครื่องบินในหรือต่างประเทศ1 ที่นั่ง ฟรี 1 ที่นั่ง นอกจากนี้จะมีการนำเสนอสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ ร่วมกับพันธมิตรทุก 3 เดือน สำหรับการขยายฐานลูกค้าใหม่จะเน้นการเจาะกลุ่มแพลตินัมที่มีรายได้ 50,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีคุณภาพ และมีกำลังซื้อสูง จากเดิมที่มีอยู่ 35% ของพอร์ต โดยจะทุ่มงบการตลาดในช่วง 5 เดือนสุดท้ายของปีนี้กว่า 250 ล้านบาท
การประกาศลุกขึ้นมาขอชิงตำแหน่งเบอร์ 1 ในตลาดบัตรเครดิต โดยอาศัยจังหวะในช่วงที่เศรษฐกิจและความเชื่อมั่นฟื้นตัว ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ถือเป็นการตอกย้ำกลยุทธ์ของเคแบงก์ในการรุกตลาดรายย่อย เพื่อเพิ่มกำไรที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะบัตรเครดิตเป็นสินเชื่อบุคคลแบบไม่มีหลักประกันที่คิดอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง จึงเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างผลกำไรได้ดีกว่าการปล่อยสินเชื่อแบบอื่น
|