เครือแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ส่งเทอร์มินอล ทเวนตี้วัน อวดโฉมกลางปี 2554 ด้วยรูปแบบสเปเชียลิตี้สโตร์ด้านแฟชั่น ใจกลางกรุง สนองไลฟ์สไตล์คนเมือง ที่ทำงานและพักอาศัยย่านสุขุมวิท ชูโลเกชั่น จุดตัดรถไฟฟ้า 2 สายบนแยกอโศก พร้อมด้วยดีไซน์ภายใต้แนวคิดมาร์เกตสตรีต หรือถนนแห่งการชอปปิ้ง
สเปเชียลิตี้ชอปปิ้งเซ็นเตอร์ซึ่งเป็นศูนย์การค้าที่ไม่มีดีพาร์ตเมนต์สโตร์ แต่จะมีร้านค้าเป็นองค์ประกอบ โดยแต่ละร้านจะตอบโจทย์ภายใต้คอนเซ็ปต์เดียวกัน ซึ่งถือเป็นรูปแบบของธุรกิจค้าปลีกที่กำลังได้รับความนิยมในหลายประเทศ ล่าสุด แอล แอนด์ เอช พร็อพเพอร์ตี้ ในเครือแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ผุดโครงการ เทอร์มินอล ทเวนตี้วัน ซึ่งมีมูลค่าโครงการกว่า 6,000 ล้านบาท ตั้งอยู่บนพื้นที่ 9 ไร่ บริเวณแยกอโศกสุขุมวิท โดยมีชอปปิ้งมอลล์ 9 ชั้น ประกอบด้วยร้านอาหารกว่า 50 ร้าน และร้านแฟชั่นกว่า 600 ร้าน มีทั้งแฟชั่นแบรนด์เนม และร้านแฟชั่นแบรนด์ไทย นอกจากนี้ยังมีเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์อีก 20 ชั้น พร้อมด้วยโรงภาพยนตร์เอสเอฟ ซีนีม่า 8 โรง 1,500 ที่นั่ง
แอล แอนด์ เอช พร็อพเพอร์ตี้ ตั้งเป้าว่าเทอร์มินอล ทเวนตี้วัน จะสามารถดึงดูดกำลังซื้อได้วันละ 50,000 คน ในวันธรรมดา และ 40,000 คนในวันเสาร์อาทิตย์ เพราะนอกจากจะเป็นจุดตัดของรถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้าใต้ดินแล้ว ในรัศมีโดยรอบยังมีอาคารสำนักงานกว่า 860 แห่ง และโรงแรมกว่า 100 โรงรายล้อม โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มคนทำงานวัย 20-40 ปี มีรายได้ 20,000-80,000 บาทต่อเดือน นิยมการแต่งตัว มีไลฟ์สไตล์แบบมิกซ์แอนด์แมตช์ ใส่ทั้งแฟชั่นแบรนด์เนม และแฟชั่นแบรนด์ไทยที่มีดีไซน์โดดเด่น ซึ่งปรกติแล้วผู้บริโภคจะมีการใช้จ่ายด้านแฟชั่นเดือนละ 2 ครั้ง แต่เทอร์มินอล ทเวนตี้วัน ตั้งเป้าว่าลูกค้าจะมีความถี่ในการกลับมาใช้บริการเดือนละ 4 ครั้ง หรือทุกสัปดาห์ โดยอัตราการใช้จ่ายต่อหัวต่อครั้งเชื่อว่าจะไม่ต่ำกว่า 1,500 บาท เพราะมีสินค้าและบริการตอบสนองทั้งแฟชั่น อาหาร และบันเทิง โดยสัดส่วนร้านค้ากว่า 60% จะให้น้ำหนักกับแฟชั่นมากกว่า
เทอร์มินอล ทเวนตี้วัน วางคอนเซ็ปต์ตัวเองให้เป็น มาร์เกตสตรีต หรือถนนแห่งการชอปปิ้ง โดยจำลองบรรยากาศสถานที่ชอปปิ้งที่ขึ้นชื่อทั่วโลกมาวางไว้ในแต่ละชั้น เช่น ปารีส ลอนดอน โตเกียว นอกจากนี้ทางเชื่อมต่อกับสกายวอล์ก BTS ยังจำลองเป็นรูปแบบของท่าอากาศยานเพื่อสร้างอารมณ์ร่วมสู่ชอปปิ้งสตรีตในแต่ละชั้น
'การพัฒนา One Stop Shopping จะเกิดได้ต่อเมื่อมีพื้นที่มากกว่า 20 ไร่ขึ้นไป ทว่าที่ดินแปลงใหญ่ในเมืองหายาก ดังนั้นเมื่อพื้นที่จำกัด เราจึงต้องเลือกส่วนผสมที่จะใส่เข้าไปในศูนย์การค้า แฟชั่นเป็นอีกกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคมีการจับจ่ายค่อนข้างมาก ทั้งนี้ เราวางคอนเซ็ปต์ของ เทอร์มินอล ทเวนตี้วัน ให้เป็นที่ที่ชอปมัน ชอปสนุก เราไม่ได้วางว่าตัวเองเป็นแลนด์มาร์ก' ประเสริฐ ศรีอุฬารพงศ์ กรรมการบริหาร แอล แอนด์ เอช พร็อพเพอร์ตี้ ผู้บริหารเทอร์มินอล ทเวนตี้วัน กล่าว
ทั้งนี้ แอล แอนด์ เอช พร็อพเพอร์ตี้ ตั้งเป้าว่าจะสามารถสร้างรายได้จาก เทอร์มินอล ทเวนตี้วัน ในปีแรกได้ 1,000 ล้านบาท โดยจะมีการปรับค่าเช่าพื้นที่เพิ่มปีละ 5% และจะคืนทุนได้ใน 7 ปี โดยจะเปิดให้บริการเวลา 10.00-22.00 น. ทว่าหากหลังเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์เปิดให้บริการ และมีความคึกคักมากขึ้นนอกเหนือเวลาให้บริการ ก็อาจจะมีการขยายระยะเวลาในการให้บริการ
ก่อนหน้านี้ ประเสริฐ ศรีอุฬารพงศ์ ในฐานะผู้บริหาร สยามรีเทล ดีเวลล็อปเม้นท์ ผู้บริหารศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ ได้เข้ามาบริหาร 'ไลฟ์ เซ็นเตอร์' ซึ่งตั้งอยู่ในอาคารคิวเฮ้าส์ สาทร โดยวางโพซิชันนิ่งให้เป็นศูนย์สุขภาพและความงาม บนพื้นที่ 14,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยร้านค้ากว่า 40 ร้าน โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ ร้านอาหาร เครื่องดื่ม และบริการ, ร้านเครื่องสำอางและความงาม, คลินิกและศูนย์สุขภาพ สุดท้ายเป็นร้านสันทนาการ เช่น โรงเรียนสอนเต้น ฟิตเนส และสปา
ทั้งนี้ บทบาทของ แอล แอนด์ เอช พร็อพเพอร์ตี้ จะเป็นเจ้าของโครงการ ขณะที่ สยามรีเทล ดีเวลล็อปเม้นท์ จะมีบทบาทในการรับจ้างบริหาร โดยเครือแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์มีหุ้นอยู่ทั้งสองบริษัท และมี ประเสริฐ ศรีอุฬารพงศ์ เป็นผู้บริหารทั้งสองบริษัท ซึ่งทิศทางของเครือแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีแนวคิดที่จะรุกธุรกิจค้าปลีกมากขึ้น ซึ่งนอกจากธุรกิจที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ก่อนหน้านี้ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ได้รุกธุรกิจค้าปลีกวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างภายใต้ชื่อ โฮมโปร ซึ่งเป็นอีกสเปเชียลิตี้สโตร์ที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะด้านของลูกค้า
อย่างไรก็ดี รูปแบบสเปเชียลิตี้สโตร์ได้เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ โดยกลุ่มสยามพิวรรธน์ได้วางคอนเซ็ปต์ของศูนย์การค้าแต่ละแห่งให้เป็นสเปเชียลิตี้ที่ตอบสนองความต้องการแบบเฉพาะเจาะจง ทำให้ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง โดย ชฎาทิพ ผู้บริหารกลุ่มสยามพิวรรธน์ได้กล่าวถึงการวางโพซิชันนิ่งของแต่ละศูนย์ฯ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม โดย สยามเซ็นเตอร์ เจาะตลาด Young Generation ร้านค้าต่างๆ กิจกรรมการตลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในศูนย์ฯ ล้วนตอบโจทย์ความเป็นวัยรุ่น ในขณะที่สยามดิสคัฟเวอรี่เกิดขึ้นเพื่อรองรับฐานลูกค้าที่เติบโตจากวัยเรียนเข้าสู่วัยทำงาน ทั้งที่มีครอบครัวและยังไม่มีครอบครัว โดยเน้นการตอบสนองวิถีชีวิตของผู้บริโภคกลุ่มคนทำงานและครอบครัว ทำให้สยามดิสคัฟเวอรี่ถูกวางให้เป็นไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์
ความเป็นสเปเชียลิตี้ทำให้สยามพิวรรธน์ต้องมีการศึกษาเทรนด์ใหม่ๆ และปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาเพื่อรักษาความเป็นผู้นำเทรนด์ โดย Always One Step A Head เป็นสโลแกนที่สยามพิวรรธน์ปลูกฝังในทีมการตลาด โดยจุดสำคัญอยู่ที่การเข้าใจความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งสยามพิวรรธน์มีแผนกที่เรียกว่า Think Tank ในการติดตามเทรนด์ และศึกษาความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า นอกจากนี้ในการเปิดศูนย์แต่ละแห่ง จะต้องมีการพูดคุยกับกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่เพื่อเข้าใจความต้องการก่อนที่จะถ่ายทอดออกมาเป็นสเปเชียลิตี้สโตร์แต่ละแห่ง เพื่อตอบสนองความต้องการของคนเฉพาะกลุ่มได้อย่างโดนใจ ซึ่งก่อให้เกิดการจับจ่ายและมีความต่อเนื่องในการมาใช้บริการ
'เทรนด์ในธุรกิจค้าปลีกของไทยจะเปลี่ยนไปในแนวทางที่เป็น Speciality Shopping Center มากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ในต่างประเทศก็มีการดาวน์ไซส์ของห้าง อย่างที่ญี่ปุ่น จัสโก้ ต้องควบรวมกับห้างเซบุ ขณะที่สเปเชียลิตี้อย่างลอฟท์เติบโตมากขึ้น หรือแม้แต่ห้างสรรพสินค้าในอเมริกาและยุโรปก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่ผลจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก แต่เป็นเพราะผู้บริโภคต้องการอะไรที่มีความเป็นพิเศษเฉพาะตัวมากขึ้น สำหรับในเมืองไทยเชื่อว่าไม่เกิน 3 ปี เราจะเห็นรูปแบบที่เป็นสเปเชียลิตี้มากขึ้นและจะแซงหน้ารูปแบบดีพาร์ตเมนต์สโตร์' เป็นคำกล่าวของ ชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สยามพิวรรธน์ และรองประธานกรรมการ พาราไดซ์ พาร์ค เกี่ยวกับเทรนด์ธุรกิจค้าปลีกของไทย และรูปแบบศูนย์การค้าที่กลุ่มสยามพิวรรธน์ดำเนินมาเป็นเวลาหลายสิบปี และสามารถฝ่าฟันการแข่งขันที่รุนแรงมาได้ทุกยุคทุกสมัย ในขณะที่ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งที่เกิดในเวลาไล่เลี่ยกันต่างพากันปิดกิจการ
|