พวกเขาทำงานกันเป็นแก๊ง มีสายสัมพันธ์ครอบคลุมหลายประเทศ และโกงกันเป็นขบวนการ
ด้วยกลเม็ดที่กลไกทางด้านกฎหมายตามไม่ค่อยจะทัน อเมริกันเอ็กซเพรส, วีซ่า,
ไดเนอร์สคลับ, มาสเตอร์การ์ด ฯลฯ โดนกันอ่วมเสียหายไปแล้วนับพันล้านบาท เฉพาะสยามเมืองยิ้มแห่งเดียว…
ตัวเลขประมาณการของความสูญเสียอันเกิดจากการฉ้อฉลโดยขบวนการมิจฉาชีพในธุรกิจบัตรเครดิตทั้งระบบเฉพาะในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวนั้น
ปี 2529 ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าจะเป็นปีแห่งความเสียหายที่รุนแรงที่สุด
"ตกราว ๆ 500 ล้านบาท สูงเป็นประวัติการณ์ทีเดียว "พันตำรวจเอกปรีชา
ประเสริฐ อดีตนายตำรวจนครบาลที่ลาออกมาทำงานด้านการปราบปรามแก๊งปลอมบัตรเครดิตกับอเมริกันเอ็กซเพรส
(ไทย) เปิดเผย ซึ่งในจำนวนความเสียหายนี้ราว ๆ 100 ล้านบาทเป็นความเสียหายส่วนที่เกิดขึ้นกับอเมริกันเอ็กซเพรส
หรือที่มักจะเรียกกันสั้น ๆ ว่า"เอเม๊กซ์"
แน่นอน… แม้ว่าทุกบริษัทจะไม่พยายามเปิดเผยตัวเลขความเสียหายในแต่ละปี
แต่ก็เชื่อกันว่า ถ้าคิดรวม ๆ แล้วบัตรเครดิตน่าจะโดนโกงไปแล้วเป็นพันล้านบาท
!?!
เอเม๊กซ์นั้นปัจจุบันมีสมาชิกบัตรเฉพาะในประเทศไทยกว่า 50,000 ราย ยอดเงินที่ใช้จ่ายในรอบหนึ่งปีล่าสุดตกประมาณ
2,700 ล้านบาท หากนำยอดเงินดังกล่าวนี้ไปเปรียบเทียบกับยอดความสูญเสียที่ตกราว
ๆ 100 ล้านบาท จริง ๆ แล้วก็ไม่น่าจะเป็นภาวะที่น่าตกอกตกใจนัก
เพียงแต่ภาพที่ปรากฎสู่สาธารณชนก็ดูเหมือนจะมีเพียงเอเม็กซ์รายเดียวที่กระโดดโลดเต้นผลักดันให้มีการแก้ไขปราบปรามขบวนการฉ้อโกงบัตรเครดิตอย่างออกหน้า
คล้ายกับเอเม๊กซ์ตกอยู่ในความเสียหายมากที่สุด "ทั้ง ๆ ที่เอเม๊กซ์ก็ไม่ใช่รายที่โดนหนักที่สุดหรอก
คือหนักก็ต้องยอมรับว่าหนักเพราะบัตรของเอเม๊กซ์มันแพร่หลายมาก ย่อมต้องโดดโกงมากอย่างช่วยไม่ได้
แต่ปีที่ผ่านมาจากยอด 500 ล้านบาท ว่ากันว่ารายที่โดนหนักที่สุดกลับเป็นบัตรของอีกรายหนึ่ง
จุดที่เสียหายมากอยู่แถว ๆ หาดใหญ่ ที่คนมาเลย์ชอบเดินทางมาเที่ยวจับจ่ายซื้อของ…"
แหล่งข่าวที่ขลุกอยู่กับวงการบัตรพลาสติกมานานเล่าให้ฟัง
การเคลื่อนไหวของเอเม็กซ์นั้นนอกจากจะเป็นการให้สัมภาษณ์เปิดข่าวออกมาตามหน้าหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง
การเดินงานด้านลึกโดยเฉพาะการติดต่อเข้าพบคนของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบก็ทำกันหลายระดับ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ แอนนัสทัส รัฟทอป โพลอส ผู้จัดการใหญ่เอเม๊กซ์ไทยได้มีโอกาสเข้าพบกับประสงค์
สุ่นศิริ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวกันว่าหัวข้อสนทนา ระหว่างคนทั้งสองเป็นเรื่องที่เอเม็กซ์ร้องเรียนขอให้รัฐบาลช่วยสั่งการกวดขันเจ้าหน้าที่รัฐ
ที่รับผิดชอบการปราบปรามขบวนการมิจฉาชีพที่หากินกับการปลอมแปลงบัตรเครดิต
และก่อนหน้านั้นผู้จัดการใหญ่เอเม๊กซ์ก็เคยเข้าพบ ดร.จิรายุ อิศรางกูรฯ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกที่คุมงานด้านการท่องเที่ยวและประชาสัมพันธ์
เพื่อป้อนข้อมูลให้รัฐมนตรีจิรายุเข้าใจถึงสถานการณ์ความร้ายแรงของขบวนการมิจฉาชีพที่มักจะใช้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นเหยื่อ
ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวที่รัฐบาลกำลังส่งเสริมโดยถือว่าปี
2530 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวอีกด้วย
และเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พันตำรวจเอกปรีชา ประเสริฐ หัวหน้าสำนักกิจกรรมพิเศษของเอเม๊กซ์ไทยก็เดินทางขึ้นไปที่จังหวัดเชียงใหม
่เพื่อบรรยายความรู้เกี่ยวกับกลโกงบัตรเครดิตให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค
3 หลายร้อยนายได้ฟังกัน เนื่องจากภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่นั้น เป็นแหล่งที่เกิดปัญหาเกี่ยวข้องกับบัตรเครดิตสูงมากจังหวัดหนึ่งนอกเหนือจากแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
ๆ จุดอื่น ๆ เช่น กรุงเทพ ฯ พัทยา ภูเก็ต และ หาดใหญ่
ดูเหมือนว่าตั้งแต่ต้นปี 2530 มานี้ เอเม๊กซ์ค่อนข้างจะเหน็ดเหนื่อยกับการออกแรงกระตุ้นให้ทุกฝ่ายมองเห็นถึงเภทภัยของขบวนการฉ้อโกงบัตรเครดิตมากเป็นพิเศษ
เช่นเดียวกับบัตรเครดิตรายอื่น ๆ ก็เริ่มให้ความสำคัญกับปัญหานี้ด้วยการจัดตั้งหน่วยพิเศษขึ้นมารับผิดชอบงานด้าน
" กวาดล้าง " ขบวนการมิจฉาชีพอีกหลายราย
"ก็มีการแลกเปลี่ยนข่าวสารกันและกันด้วย เพราะจริง ๆ แล้วมันเป็นปัญหาของธุรกิจบัตรเครดิตทั้งหมดไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง
โดยเฉพาะถ้าไม่รีบตัดไฟต้นลม..." เจ้าหน้าที่ระดับบริหารของบัตรเครดิตเจ้าหนึ่งพูดกับ
"ผู้จัดการ"
ซึ่งเป้าหมายก็ต้องอยู่ที่ต้องลดอัตราความสูญเสียอันเกิดจากการโดนโกงนี้ให้มากที่สุด
"ปี 2529 ที่สูญไปราว ๆ 500 ล้านบาทนั้น ถือว่าเป็นปีที่ตัวเลขสูงที่สุด
และเราจะต้องพยายามทุกทางที่จะทำให้ตัวเลขมันลดลงให้ได้ " พันตำรวจเอกปรีชา
ประเสริฐ อดีตจปร. รุ่นที่ 7 รุ่นเดียวกับ "ยังเติร์ก" ที่โอนสายมาอยู่กับกรมตำรวจและเป็นสหายสนิทกับพลตรีจำลอง
ศรีเมือง ผู้ว่า กทม. เล่าถึงภารกิจที่ได้รับมอบในฐานะ"มือปราบ"
ประจำประเทศไทยของเอเม๊กซ์ให้ฟัง
สำหรับเอเม๊กซ์นั้น การออกแรงกระตุ้นให้มีการจัดการกวาดล้างมิจฉาชีพ ก็คงจะไม่เพียงลดการสูญเสียอย่างเดียว
?
มันเป็นการแก้ปัญหาภาพพจน์และผลกระทบที่เกี่ยวข้องไปถึงงานด้านการตลาดด้วย
เอเม๊กซ์เข้ามาจัดตั้งกิจการ-บริษัทอเมริกันเอ็กซเพรส (ไทย) จำกัดเมื่อปี
2524 ก่อนหน้านั้นบัตรเครดิตของเอเม๊กซ์ดูแลอยู่โดยบริษัทซิทัวร์ของกลุ่ม
" ปันยารชุน" ซึ่งหน้าที่ก็เพียงให้บริการแก่ชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาทำธุรกิจหรือท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นด้านหลัก
ปีแรกของการเข้ามาของเอเม๊กซ์จำนวนสมาชิกบัตรมีอยู่เพียงพันกว่าราย แต่จากการโหมบุกตลาดของบัตรเครดิตอย่างหนักหน่วงจำนวนสมาชิกบัตรก็เติบโตขยายตัวจนกระทั่งมีจำนวนกว่า
50,000 รายไปแล้วเมื่อสิ้นสุดปี 2529 และเอเม๊กซ์ก็หวังที่จะโตต่อไปเรื่อย
ๆ ในฐานะที่เป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจบัตรเครดิตของโลก
ปัญหาการปลอมแปลงบัตรของเอเม๊กซ์หรือการฉ้อฉลด้วยนานาวิธีว่าไปแล้วก็มีผลทำให้การขยายตัวไม่เป็นไปตามเป้าได้เหมือนกัน
"กลไกมันก็อัตโนมัติคือเมื่อคุณโดนโกงมากคุณก็ขอให้ร้านค้าสมาชิกช่วยกวดขันตรวจสอบแล้วคุณพกบัตรเอเม็กซ์ไปซื้อสินค้าหรือบริการ
พอใช้บัตรคนรับเงินบอกว่าขอเช็คก่อนว่าปลอมหรือเปล่า แล้วคุณจะอยากใช้บัตรไหม..
" นักธุรกิจมีชื่อคนหนึ่งให้เหตุผล
จริง ๆ แล้วปัญหานี้ก็คงจะไม่ใช่สิ่งสำคัญที่มีผลกระทบต่ออัตราการขยายของจำนวนสมาชิกเพียงแต่ก็คงจะเป็นปัญหาที่ใครก็คงไม่กล้าปฏิเสธ
โดยเฉพาะคนที่พกบัตรเครดิตก็อาจจะโดนกับตัวเข้าบ้างแล้วก็ได้
สำนักกิจกรรมพิเศษ ในประเทศไทยของเอเม๊กซ์ ที่มีพันตำรวจเอกปรีชา ประเสริฐ
เป็นหัวหน้าสำนักงานนั้น เป็นหน่วยที่ไม่ได้ขึ้นตรงต่อเอเม๊กซ์ (ไทย) ที่นี้เป็นหน่วยงานพิเศษมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการปลอมแปลงบัตรของเอเม๊กซ์
และการฉ้อฉลด้วยกลเม็ดเด็ดพรายหลาย ๆ แบบเท่านั้น
"ในย่านนี้ผมก็ขึ้นตรงกับนายที่ฮ่องกงหัวหน้าสำนักงาน หรือระดับผู้บริหารที่อยู่ในหน่วยงานด้านนี้ของเอเม๊กซ์
เขากำหนดไว้ชัดเจนเลยว่าจะต้องเป็นนายตำรวจนอกราชการ อย่างนายที่ฮ่องกงคนหนึ่งเป็นอดีตเอฟบีไอ
อีกคนเป็นนายตำรวจอังกฤษประจำที่ฮ่องกง…" พันตำรวจเอกปรีชา ประเสริฐ
บอก
แต่จะแยกภาระหน้าที่ออกจากกันอย่างชัดเจนแล้วก็ตาม แอนนัสทัส รัฟทอปโพลอส
ผู้จัดการใหญ่เอเม๊กซ์ไทยก็ดูเหมือนว่าจะเล่นบทได้สอดคล้องต้องกันกับสำนักกิจกรรมพิเศษของพันตำรวจปรีชา
ประเสริฐ มาก ๆ
ซึ่งก็น่าจะบอกได้ว่าปัญหาที่เอเม๊กซ์โดนฉ้อโกงนี้ ไม่ใช่แต่มีผลกระทบต่อเอเม๊กซ์ตัวใหญ่ที่จะเป็นผู้รับความสูญเสียส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นเท่านั้น
หากแต่มันกระทบไปถึงเอเม๊กซ์ตัวเล็ก ๆ อย่างเช่นเอเม๊กซ์ (ไทย) ด้วยเช่นกัน
ในฐานะผู้ที่จะต้องรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถูกฉ้อโกงโดยขบวนการปลอมแปลงบัตรเครดิตการ์ดทุกบาททุกสตางค์
ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่บริษัทเครดิตการ์ดทั้งหลายจะต้องเป็นผู้จับสถิติได้อย่างมั่นเหมาะว่า
ว่าในแต่ละรอบปีนั้นพวกเขาถูกฉ้อโกงไปแล้วเท่าไหร่? เพิ่มขึ้นหรือลดลง! และได้ก่อให้เกิดผลกระทบไปถึงธุรกิจของบริษัทหรือของระบบทั้งระบบอย่างไรบ้าง?
และจากการทำงานของสำนักกิจกรรมพิเศษที่มีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการฉ้อโกง
การแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างกัน และการติดตามศึกษาพัฒนาการของแก๊งปลอมแปลงรวมถึงวิธีการโกง
ก็ยิ่งทำให้สามารถมองเห็นโยงใยที่เป็นขบวนการของแก๊งมิจฉาชีพประเภทนี้ได้อย่างแจ่มชัด
แต่สำหรับคนนอกล่ะ จะเข้าใจสิ่งที่บริษัทเครดิตการ์ดทั้งหลายได้เข้าใจนี้หรือไม่???
โดยเฉพาะคนนอกที่มีหน้าที่โดยตรงในด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรเศรษฐกิจที่เหนือชั้นเหล่านี้!!!
"ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งยังไม่เข้าใจ พวกเขาถูกฝึกให้ปราบโจรประเภทถืออาวุธมาปล้นชาวบ้านไม่ได้ถูกฝึกให้ปราบโจรเสื้อนอกที่ถือบัตรเครดิตเพียงใบเดียวเอาทรัพย์สินชาวบ้านไปเป็นล้านๆ
และผมก็ค่อนข้างที่จะเชื่อว่าอีกส่วนหนึ่งเข้าใจดีมาก เพียงแต่ทำเป็นไม่เข้าใจเพราะมันมีอะไรมาปิดบังเท่านั้นเอง…"
นักกฎหมายคนหนึ่งแสดงความเห็น
ซึ่งเหตุการณ์ที่เชียงใหม่จากการศึกษาของนักสังเกตการณ์กลุ่มหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ก็คงจะนำมาใช้เป็นเรื่องเปรียบเทียบได้
เชียงใหม่นั้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากมักจะมาตกคลั่กที่นี่
และคดีเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนักท่องเที่ยวสูญหายหรือถูกลักขโมยก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกอกตกใจ
แต่ปรากฎว่าคดีที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงเครดิตการ์ดกลับมีไม่มากทั้งไม่เพิ่มขึ้นรุนแรงจนน่าจะต้องตั้งข้อสังเกต
"อย่างในปี 2529 ที่การฉ้อโกงพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง ปรากฏว่าที่เชียงใหม่มีคดีเครดิตการ์ดเพียง
17 คดี เพิ่มขึ้นนิดหน่อย ผู้ใหญ่ในกรมตำรวจก็เลยมองว่า เป็นปัญหาเล็กน้อย
จึงไม่ได้มีการกวดขันมากมายอย่างที่มันควรจะต้องทำ" นักธุรกิจที่มีกิจการทางภาคเหนือเล่ากับ
"ผู้จัดการ"
และถ้าลองตรวจสอบคดีที่มีชาวต่างชาติแจ้งความว่า ถูกลักทรัพย์หรือของสูญหายแล้ว
ก็จะพบว่า ทรัพย์สินมากต่อมากที่แจ้ง ก็จะมีบัตรเครดิตรวมอยู่ด้วยเสมอ เพียงแต่พนักงานสอบสวนทั่ว
ๆ ไปก็จะรับแจ้งแล้วให้ผู้แจ้งลงชื่อเป็นอันจบ แทบจะเรียกว่าปิดคดีไปได้เลย
มีพนักงานสอบสวนเพียงจำนวนน้อย ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเครดิตการ์ดที่ถูกลักไป
หรือสูญหายอาจจะถูกนำไปใช้ปลอมแปลงแล้วถูกใช้เพื่อการฉ้อโกงก็จะจัดการสอบปากคำอย่างละเอียด
"ส่วนมากลองว่าเครดิตการ์ดถูกขโมยหรือหาย ก็จะต้องมีการนำไปปลอมแปลงหรือใช้ต่อเกือบจะทั้งร้อย
คิดง่าย ๆ ดูก็ได้ว่าเป็นคุณ คุณอยากจะได้ไหมกับบัตรพลาสติกหนึ่งใบที่ทำอะไรไม่ได้
ซึ่งก็คงไม่ต้องขโมยหรือเก็บไว้ให้เมื่อยหลอก.. "นักธุรกิจย่านภาคเหนือคนเดิมกล่าวเสริม
กล่าวกันว่าแท้ที่จริงแล้ว บัตรเครดิตการ์ดของชาวต่างประเทศที่สูญหายหรือถูกขโมยนี้
ก็คือต้นตอสำคัญของขบวนการมิจฉาชีพที่ปลอมแปลงบัตรเครดิตการ์ดสายหนึ่งที่ถนัดทางด้านการนำบัตรจริงมาขูดลบทำการปลอมแปลงแล้วหาคน
(ที่เป็นชาวต่างประเทศเหมือนกัน) แสดงตนเป็นเจ้าของบัตรทำการฉ้อโกงต่อไป
ที่ไม่ต้องปลอมแปลงมาก เพียงแต่ปลอมรายเซ็นให้เหมือนเจ้าของบัตร และทำพาสปอร์ตปลอมเป็นเจ้าของบัตรด้วยการแสดงสำเนา
(ตัวจริงมักอ้างว่าฝากไว้กับโรงแรม) กับร้านค้าก็มีไม่น้อยซึ่งประเภทนี้มักจะนำบัตรไปใช้ในทันทีที่ขโมยมา
เพราะกว่าเจ้าของบัตรจะทราบก็อาจจะภายหลังบัตรสูญหายไปแล้วหลายวัน
เครดิตการ์ดของชาวต่างประเทศที่มีอันสูญหาย หรือถูกลักขโมยในแถบภาคเหนือหรือจังหวัดเชียงใหม่นั้น
ดูเหมือนแหล่งที่เกิดเหตุบ่อยที่สุดคือบรรดาเกสต์เฮ้าส์หลาย ๆ แห่ง "คือนักท่องเที่ยวเมื่อจะต้องขึ้นไปเที่ยวบนเขาบนดอย
นอนค้างแรมหลาย ๆ วัน เจ้าของเกสต์เฮ้าส์ก็มักจะบอกว่า ให้ฝากทรัพย์สินไว้ที่เขา
ขึ้นไปข้างบนอันตราย อาจถูกปล้นชิง ก็เลยมีการฝากทรัพย์สินโดยเฉพาะพาสปอร์ตกับบัตรเครดิตเอาไว้กับเจ้าของเกสต์เฮ้าส์กลับลงมาก็หาย
หรือใครเอาไปโกง อย่างไรทราบอีกทีก็เมื่อมีบิลจากบริษัทบัตรเครดิตการ์ดส่งไปเรียกเก็บเงิน
โดยที่เจ้าของบัตรจำได้มั่นเหมาะว่า ไม่เคยซื้อสิ่งของดังกล่าว ตรวจไปตรวจมาจึงทราบว่าโดนโกงเสียแล้ว
" พันตำรวจเอกปรีชา ประเสริฐ เล่าให้ฟัง
ว่ากันว่าตลาดมืดของเหล่ามิจฉาชีพ บัตรเครดิตที่ถูกขโมยมานี้มีราคาสูงถึงใบละ
2 หมื่นบาท ในช่วงที่สถิติการฉ้อโกงพุ่งโลด แต่ในระยะหลังเจ้าของบัตรเครดิตและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองลงมือกวดขันและจับกุมอย่างจริงจังขึ้น
ราคาบัตรก็ลดลงมาเหลือใบละ 2,000 บาทเท่านั้น
คนขโมยบัตรออกมาขายนั้น ส่วนมากแล้วก็จะสมรู้ร่วมคิดกับบรรดาเจ้าของเกสต์เฮ้าส์ร่ำรวยกับธุรกิจประเภทนี้กันไปแล้วหลายคน
ส่วนคนซื้อก็เป็นแก๊งปลอมแปลงบัตรเครดิตที่ส่วนมากจะมีสายสัมพันธ์อย่างกว้างขวางและโกงกันอย่างมีแผน
และมากต่อมากก็จะมีคนประเภทมี "สี" ให้ความคุ้มครองโดยแบ่งผลประโยชน์กัน
"เมื่อต้น ๆ ปีที่แล้วตำรวจท่องเที่ยว (กอง 8 กองปราบปราม) ที่เชียงใหม่ได้มีการจับกุมแก๊งบัตรเครดิตกันมาก
บางวันจับกันเป็นสิบราย ตำรวจชุดที่ขึ้นไปกวาดล้างนี้เคยมีผลงานเด่นมาแล้วจากการกวาดล้างแก๊งสกูตเตอร์ที่พัทยา
แต่เผอิญทนแรงอิทธิพลไม่ไหวเลยย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่ พอมีการกวาดล้างหนัก
พวกเจ้าของเกสต์เฮ้าส์พวกแก๊งบัตรเครดิตก็วิ่งเต้นกันจ้าละหวั่น กลางปี 29
พันตำรวจตรีเฉลิมพล อรรถยุทธ จากกองปราบถูกส่งตัวขึ้นไปคุมตำรวจท่องเที่ยวที่เชียงใหม่
ผลก็คือมีการย้ายตำรวจ 3 นายชุดที่มาจากพัทยาออกไปจากเชียงใหม่ได้สำเร็จ"
แหล่งข่าวคนหนึ่งเปิดเผย
เชียงใหม่นั้นมีเกสต์เฮ้าส์มากกว่า 30 แห่ง โดยที่จดทะเบียนถูกต้องเพียง
9 แห่ง และเกสต์เฮ้าส์ที่ถูกร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวว่าทรัพย์สินหายอยู่บ่อย
ๆ มีจำนวนถึง 21 แห่ง คือ ไมล์เซเวน, 3 พี, มาวเวย์, ชลธิชา, สวัสดี, ไทย-เยอรมัน,
บอนนี่, อินเตอร์, เล็ก, ท้อปนอร์ท, วี.วี., พี.พี., ท้อป, ดิออร์, เชียงมั่น,
เฟรดดิ้, ปันปัน, พี.เค., เชียงใหม่อินน์เกสต์เฮ้าส์ก็จะเปลี่ยนกันไปเรื่อย
ๆ เมื่อมีปัญหาเข้ามากระทบ
"ตอนหลัง ๆ นี้ก็เลยมีการทำเป็นบัญชีดำ เตือนนักท่องเที่ยวให้ระวังเกสต์เฮ้าส์ตามรายชื่อเหล่านี้
" แหล่งข่าวเจ้าเดิมเล่าให้ฟัง
และก็น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับสุจริตชน ตลอดจนบริษัทเครดิตการ์ดที่ปัญหาที่เกิดขึ้นที่เชียงใหม่
เริ่มมีการรับรู้ออกไปกว้างขวางอันเป็นผลจากแรงกระตุ้นของสื่อมวลชนและผู้ที่ได้รับความเสียหายจากขบวนการวิจฉาชีพ
ผู้ใหญ่ในกรมตำรวจก็เพิ่งจะมีคำสั่งให้มีการกวดขันไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้
"ซึ่งเราก็ค่อนข้างจะเชื่อว่าสถิติความเสียหายที่เกิดจากการฉ้อโกง
ลองแบบนี้แล้วก็น่าจะลดลงตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป.. " ผู้บริหารบริษัทเครดิตการ์ดแห่งหนึ่งกล่าวอย่างเชื่อมั่น
ดูเหมือนว่า ปัญหาก็อยู่ที่จะทำกันอย่างจริงจังตลอดไปและมีการถอนรากถอนโคนอย่างเด็ดขาดหรือจะทำกันตามกระแสสูงเพียงชั่วครั้งชั่วคราวหรือไม่เท่านั้นกระมัง
การปลอมแปลงบัตรหรือการอ้างตัวเป็นเจ้าของ ปลอมเลขหมาย ปลอมลายเซ็น มักจะเป็นกลโกงของเหล่าอาชญากรเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งที่สุด
แต่ก็ไม่ใช่วิธีเดียวที่ทำกัน การโกงนั้นยังมีอีกหลายประเภท
โดยเฉพาะประเภทที่แพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ ในบ้านเราก็คือประเภทที่น่าจะต้องเรียกว่า
"เกลือเป็นหนอน"
เป็นประเภทที่แก๊งมิจฉาชีพมีการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับร้านค้าสมาชิกหรือพนักงานที่ทำหน้าที่ด้านการเงินที่อยากรวยทางลัด
บริษัทเครดิตการ์ดหลายแห่งได้ค้นพบว่า มีร้านค้าส่วนหนึ่งที่ร่วมมือกับคนร้ายใช้บัตรพลาสติกขาว
ๆ ไม่มีการพิมพ์ลวดลายอย่างบัตรจริง มีปรากฏให้เห็นจากการตอกหมายเลขบัตรและชื่อเจ้าของบัตร
(ซึ่งปลอมทั้งหมด) เป็นปั๊มนูน แล้วก็นำไปรูดกับเซลสลิป จากนั้นร้านค้าก็ส่งเซลสลิปมาเรียกเก็บเงินกับบริษัทเครดิตการ์ด
ซึ่งแม้บริษัทจะตรวจสอบว่าถูกโกงแต่บริษัทก็ต้องรับผิดชอบความเสียหาย จ่ายเงินให้ร้านค้าสมาชิกไป…"
เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของบัตรเครดิตเอเม๊กซ์ชี้แจง
จากสถิติที่พบ ๆ กันนั้น ร้านค้าสมาชิกพวกนี้มักจะเป็นคอกเทลเลาจน์หรือร้านค้าอัญมณี
"ซึ่งรับบัตรวีซ่าการ์ดมากที่สุดถึงขนาดที่ว่าระยะหลัง ๆ ทางกสิกรไทยต้องแจ้งให้สาขาต่าง
ๆ ทราบว่า การรับร้านค้าเข้าเป็นสมาชิกนั้นขอให้อยู่ในดุลยพินิจของสำนักงานใหญ่เพียงแห่งเดียว"
แหล่งข่าวคนหนึ่งเล่า และยังบอกอีกว่า "เหตุที่มักเกิดกับร้านค้าคอกเทลเลาจน์มากก็เพราะร้านพวกนี้คุมยาก
มันเป็นธุรกิจที่เปลี่ยนเจ้าของบ่อย พอเปลี่ยนมือก็มักจะเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนบัญชีเงิน
จากที่สังเกตวิธีการโกงโดยดูจากเซลสลิปที่ร้านส่งมาเรียกเก็บเงินจากบริษัทบัตรเครดิต
ถ้าโกงกันเขามักจะเรียกเก็บเต็มตามวงเงิน ที่บริษัทอนุมัติให้เจ้าของบัตรเลย
เช่น 5,000 ก็จะ 5000 บาทติด ๆ กันหลายครั้งหรือเป็นรายจ่ายที่โอเวอร์มาก
ๆ อย่างมีรายหนึ่งยอดขายทั้งวันของร้านก็ตกไม่กี่พันบาท แต่มีลูกค้ารายหนึ่งกินอาหารมื้อเดียวปาเข้าไป
3,000 บาท ประเภทนี้ตรวจสอบให้ละเอียดเดี๋ยวก็พบพิรุธ…"
ก็ว่ากันว่าตั้งแต่ต้นปี 2530 เป็นต้นมาบริษัทเครดิตการ์ดในประเทศไทยทั้งหลายได้ประกาศตัดเชือกร้านค้าสมาชิกไปแล้วกว่า
200 ราย ซึ่งเฉพาะเมื่อเดือนมกราคมเพียงเดือนเดียว ก็มีจำนวนสูงถึง 100 แห่ง
ส่วนเมื่อปี 2529 เอเม๊กซ์ยกเลิกร้านค้าสมาชิกจากจำนวนกว่า 7,000 แห่งออกไป
500 แห่ง และวิซ่าการ์ดยกเลิก 200 แห่ง โดย 100 แห่งเป็นร้านค้าในเขตอำเภอหาดใหญ่เพียงแห่งเดียว
แหล่งข่าวที่นั่นบอกว่า เป็นเพราะพิษสงของนักท่องเที่ยวมาเลย์ สิงคโปร์ ที่ร่วมมือกับร้านค้า
แน่นอน…เหตุผลของการสั่งยกเลิก ปัญหาการฉ้อฉลเป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งนอกเหนือจากปัญหาความเหมาะสมด้านอื่น
ๆ
และสำหรับการโกงอันเนื่องมาจากน้ำมือของพนักงานการเงินของร้านค้าสมาชิกบัตรนั้น
ก็มีให้พบเห็นอยู่ด้วย
วิธีการก็ง่าย ๆ เมื่อเจ้าของบัตรซื้อของหรือใช้บริการโดยชำระเงินเป็นบัตรเครดิต
คนพวกนี้ก็จะรูดบัตรลงในเซลสลิปเกินกว่าหนึ่งครั้ง จะเป็นกี่ครั้งก็คงจะแล้วแต่โอกาสกับความโลภ
ซึ่งเซลสลิปที่เหลือส่วนใหญ่จะมีการนำไปขายให้กับร้านค้าบางแห่งที่ฉ้อฉลเพื่อการกรอกรายการสินค้าและจำนวนเงินส่งไปเรียกเก็บจากบริษัทเครดิตการ์ดอีกต่อ
เอเม๊กซ์เคยจับได้รายหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ จากการตรวจสอบอย่างละเอียดก็พบว่าเป็นฝีมือของพนักงานการเงินของโรงแรมใหญ่โตแห่งหนึ่งย่านถนนวิทยุ
ตัวเจ้าของโรงแรมนั้นเมื่อได้รับทราบและเห็นพยานหลักฐานก็เต้นเป็นเจ้าเข้า
สั่งให้ดำเนินการอย่างเฉียบขาดกับพนักงานคนนั้นทันที
วิธีรูดบัตรลงในเซลสลิปเกินกว่า 1 ครั้งนี้ ที่จริงก็เป็นวิธีที่เจ้าของร้านบางแห่งทำด้วยเหมือนกัน
สำหรับหน่วยงานพิเศษที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับการปราบปรามแก๊งมิจฉาชีพโดยบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตนั้น
กลไกหลาย ๆ อย่างที่มีหน้าที่โดยตรงในการขจัดอาชญากรเศรษฐกิจพวกนี้ก็ดูเหมือนว่าจะสร้างความหนักใจให้อยู่ไม่น้อย
ผู้ต้องหาบางคนทางหน่วยงานพิเศษของเจ้าของบัตรซึ่งได้รับความเสียหายตรวจสอบแล้ว
พบว่ามีประวัติที่ประกอบอาชญากรรมฉ้อโกงมาแล้วอย่างโชกโชนหลายประเทศ แต่เมื่อถูกจับกุมก็จะได้รับการประกันตัวไป
ซึ่งลองอีหรอบนี้ ร้อยทั้งร้อยก็มีแต่หนีประกันสบายไปเท่านั้น
ประเภทที่หนีประกันนี้ หลายคนไปพูดลับหลังว่า ตำรวจไทยซื้อได้ เสียเงิน
3 หมื่นก็ออกมาเดินถนนได้แล้ว ก็เคยมีรายงานข่าวอยู่บ่อย ๆ ซึ่งก็คงจะหมายถึงเสียเงินประกันตัวจำนวนเท่านั้นมากกว่าที่จะหมายถึงไปในทำนองที่จะเสียหายต่อคนในเครื่องแบบ
นอกจากนี้ก็ยังมีประเภทที่ถูกจับแต่ตำรวจสอบแล้วทำสำนวนอ่อนเกินไป ขึ้นศาลก็เลยหลุดรอดไม่ต้องติดคุก
ซึ่งถ้าจะให้ถือเป็นจุดอ่อน จุดอ่อนนี้ก็คงจะต้องมีพนักงานอัยการร่วมรับผิดชอบด้วย
"หรือบางคดีจะเป็นเพราะความไม่ขยันหรือเพราะไม่เห็นภัยของการปลอมแปลงหรือจะเป็นเพราะเหตุผลอื่น
ๆ มาบังตา ผู้ต้องหาสารภาพแล้วว่า ได้ไปโกงไว้ที่ไหนบ้าง ก็แทนที่จะจัดการสอบเรื่องที่เกิดในท้องที่ตัวเองให้เสร็จแล้วโอนเรื่องให้ท้องที่อื่นสอบต่อ
เพื่อที่ความผิดจะได้เรียงกระทงกันไป ก็ไม่ยอมส่งตัวผู้ต้องหาอย่างนี้แทนที่จะต้องรับโทษหนักตามที่ก่อความผิดไว้จริง
ก็กลายเป็นเบาไป" แหล่งข่าวคนหนึ่งเล่าอย่างอึดอัด
นอกเสียจากผู้เสียหาย (โดยเฉพาะบริษัทบัตรเครดิต) ติดตามอย่างใกล้ชิดนั่นแหละผู้ต้องหาประเภทนี้จึงปรากฏว่าต้องโดนเพิ่มไปอีกหลายคดีต่างกรรมต่างวาระ
ก็คงเป็นข้อเท็จจริงที่ยากต่อการปฏิเสธว่า กลไกรัฐที่มีหน้าที่ป้องกันและปราบปราม
ตลอดจนลงโทษผู้กระทำความผิดนั้น ค่อนข้างจะดูเบาปัญหาฉ้อโกงเครดิตการ์ดกันเป็นส่วนใหญ่
เนื่องจากจริง ๆแล้วเครดิตการ์ดก็ค่อนข้างจะเป็นของใหม่พอสมควรสำหรับสังคมไทย
ผู้ต้องหาหลายรายที่ถูกจับกุมตัวได้ก็ล้วนเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องอาศัย
" เทคนิคพิเศษ" ของเจ้าหน้าที่สำนักกิจกรรมพิเศษของบริษัทเครดิตการ์ด
โดยเฉพาะการอาศัยความเป็นอดีตนายตำรวจติดต่อกับลูกน้องเก่าหรือเพื่อนเก่าให้ช่วยสืบสวนสอบสวนหรือติดตามจับกุมตัวเอามาลงโทษ
ซึ่งก็เป็นการกระทำที่ทำได้เพียงบางกรณีในขอบเขตที่จำกัด
"อย่างเช่นกรณีคนฮ่องกงชื่อเอเลนมาที่ถูกจับแล้วได้ประกันตัวก็เลยหนีประกันนั้น
ที่จับตัวมาได้อีกครั้งก็เพราะ เจ้าหน้าที่สำนักกิจกรรมพิเศษของบริษัทบัตรเครดิตที่ได้รับความเสียหายถูกฉ้อโกง
อาศัยความเป็นผู้บังคับบัญชาเก่าของนายตำรวจระดับสารวัตรของกองปรามกองหนึ่ง
ช่วยกันสืบหาชนทราบแหล่งกบดานย่านชานเมืองก็เลยไปดักจับตัวเอามาส่งท้องที่ได้สำเร็จ"
แหล่งข่าวระดับวงในคนหนึ่งอธิบายให้ฟัง
"มันก็เป็นวิธีแบบไทย ๆ เราดีพิลึกล่ะ..." เขาสำทับ
ก็คงถึงวาระที่จะต้องมีการ "ลงแซ่" กันให้หนักแล้วกระมัง
จากการออกแรงกระตุ้นของบริษัทเครดิตการ์ดโดยเฉพาะเอเม๊กซ์ที่ส่งผ่านข้อมูลขึ้นไปถึงผู้ใหญ่ในระดับสูงหลายคนพร้อม
ๆ กับสื่อมวลชนที่เข้าใจปัญหาก็ได้ตีพิมพ์ข่าวออกมาเผยแพร่อย่างลุ่มลึก ด้วยการแฉโพยถึงบทบาทที่ไม่สู้จะชอบมาพากลของเจ้าหน้าที่รัฐ
ทั้งตำรวจและอัยการผู้มีหน้าที่รับผิดชอบคดีปลอมแปลงเครดิตการ์ดบางคดีที่มัดตัวผู้ต้องหาไม่แน่นทำให้หลุดรอดไปได้
ทั้ง ๆ ที่พยานหลักฐานของการกระทำผิดอยู่โทนโท่นั้น ดูเหมือนว่าจะเกิดผลในทางตอบรับจากเบื้องสูงลงมาสู่เบื้องล่างรุนแรงมาก
ๆ
หนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการรายสัปดาห์ " เป็นฉบับแรกและฉบับหนึ่งที่เขียนถึงปัญหาตำรวจและอัยการข้างต้น
ซึ่งก็ปรากฏว่ากรมตำรวจโดยเฉพาะตำรวจท้องที่ที่เป็นต้นตอปัญหาตลอดจนอัยการเต้นกันเป็นเจ้าเข้า
กระทั่งต่อมาก็มีข่าวว่ากรมตำรวจได้สั่งย้ายนายตำรวจหลายนายที่เกี่ยวข้องกับคดีปลอมแปลงเครดิตการ์ดที่
"ผิดพลาดทางเทคนิค" ทำสำนวนอ่อนส่งให้อัยการฟ้องศาล ส่วนทางกรมอัยการเอง
แหล่งข่าวบอกว่า "อัยการหลายท่านตรวจสอบที่มาของข่าวกันอุตลุด และตั้งวงวิพากษ์วิจารณ์กันหลายอาทิตย์"
นอกจากนี้ผู้ใหญ่ของกรมก็ได้มีคำสั่งกำชับให้มีการกวดขันสำนวนฟ้องในคดีที่เกี่ยวกับความผิดปลอมแปลงเครดิตการ์ดและฉ้อโกงกันให้พิถีพีถันขึ้น
ห้ามส่งฟ้องโดยอัตโนมัติหากพนักงานสอบสวนทำสำนวนขึ้นมาไม่ครบองค์ประกอบ (หมายถึงทำสำนวนอ่อน)
"ตอนนี้ก็มีหลายคดีที่อัยการส่งกลับให้ตำรวจสอบเพิ่มเติม..."
เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ในย่านกลางเมืองแห่งหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"
เมื่อปี 2529 นั้นเป็นที่เชื่อกันว่าวงเงินที่ใช้จ่ายกันในประเทศไทยผ่านบัตรเครดิตทุกชนิดตกประมาณเกือบ
6,000 ล้านบาท
และถ้าคิดยอดเงินที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตปลอมหรือการฉ้อโกงด้วยวิธีการอื่น
ๆ ที่ตกราว 500 กว่าล้านบาทแล้ว
ว่ากันว่า ประเทศไทยติดอันดับแชมป์ที่มีการฉ้อโกงสูงที่สุดในโลก ใกล้เคียงกับสถิติของ
ฟิลิปปินส์ ที่ขึ้นชื่อลือชามาแล้วหลายปีดีดัก
สำหรับธุรกิจบัตรเครดิตแล้วก็เป็นเรื่องของความสูญเสียที่จะต้องหาหนทางแก้ไขกันอย่างจริงจัง
แม้เหน็ดเหนื่อยระอาใจอย่างไรก็ต้องทน
แล้วสำหรับเจ้าของประเทศเล่า เราจะยอมเสียหน้ากับความอัปลักษณ์ที่เกิดขึ้นกระนั้นหรือ