|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ตอนที่ผู้บริหารของบัดไวเซอร์ตัดสินใจเข้าชิงชัยทางการตลาดด้วยการแย่งชิงตำแหน่งการเป็นสปอนเซอร์ของฟีฟ่า ที่สนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลโลกเวิลด์คัพ 2010 ในแอฟริกาใต้ นักการตลาดส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นว่าการตัดสินใจทุ่มเทเงินงบประมาณจำนวนนับร้อยล้านดอลลาร์กับกิจกรรมกีฬานี้จะให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าหรือเปล่า เพราะชื่อเสียงของแบรนด์บัดไวเซอร์แทบจะไม่เป็นที่รู้จักกันในทวีปแอฟริกา
ที่เกิดความไม่แน่ใจในด้านของความคุ้มค่า มาจากการดำเนินงานทางการตลาดของบัดไวเซอร์ไม่ใช่การตลาดระดับโลก แบรนด์บัดไวเซอร์จึงไม่ได้มีชื่อเสียงและความได้เปรียบทางการตลาดที่เข้มแข็งขนาดที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า จะสามารถทำให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายในแอฟริกาใต้หันมารู้จักและยอมรับได้อย่างไร โดยเฉพาะในกลุ่มคนแอฟริกัน
แต่เมื่อผ่านพ้นการแข่งขันเวิลด์คัพมาถึงวันนี้ ผู้บริหารการตลาดของแบรนด์บัดไวเซอร์คงโล่งอกไปตามๆ กัน และพกพาความมั่นใจมากขึ้น เพราะการทำกิจกรรมทางการตลาดในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้เป็นครั้งแรกของกิจกรรมการตลาดนอกประเทศของแบรนด์บัดไวเซอร์ ภายใต้โครงการธุรกิจใหม่ของกิจการ พร้อมเป้าหมายใหม่ที่จะสร้างการเติบโตทางการตลาดจากตลาดระดับโลก หลังจากที่ตัดสินใจเข้าไปซื้อกิจการแอนฮอยเซอร์บุชสหรัฐฯ เมื่อปี 2008
แคมเปญทางการตลาดของแบรนด์บัดไวเซอร์ ในระหว่างการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 ประกอบด้วย การจัดเรียลิตี้โชว์ 24 ชั่วโมง ที่แสดงความเป็นอยู่ในบ้านหลังใหญ่ของบัดไวเซอร์ จากตัวแทนแต่ละคนที่คัดเลือกมาจากแฟนคลับของ 32 ทีมชาติที่เข้าร่วมในการแข่งขันฟุตบอลครั้งนี้ และจะถูกคัดออกตามการตกรอบของทีมชาติที่แต่ละคนเป็นตัวแทน และยังมีแคมเปญเฟซบุ๊กที่สามารถขยายขอบเขตการครอบคลุมลูกค้าออกไปหลายล้านคนทั่วโลก โดยมีผู้คนกว่า 1.5 ล้านคนที่เข้าร่วมกิจกรรมโหวตหา 'Man of the Match' ทางออนไลน์ เพื่อหานักเล่นที่ดีที่สุดในแต่ละเกม
นับจากวันนี้ไป เป้าหมายทางการตลาดของแบรนด์บัดไวเซอร์ได้เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนแล้ว จากเป้าหมายการหวังจะก้าวขึ้นไปเป็น King of Beers ไปเป็น Coke of Beers แทน
ความหมายของ Coke of Beers ดังกล่าวมีประเด็นทางการตลาดที่น่าสนใจหลายประเด็นด้วยกัน ประเด็นแรก โดยปรกติแล้ว เครื่องดื่มประเภทเบียร์มีธรรมชาติของสินค้าไม่เหมือนกับเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม เพราะเครื่องดื่มประเภทเบียร์มักจะมีความเป็นเครื่องดื่มที่มีชื่อเฉพาะถิ่นเฉพาะภูมิภาค มากกว่าจะเป็นสินค้าระดับโลกที่สามารถวางจำหน่ายและเป็นที่รู้จักกันในตลาดระดับโลก หรือทุกตลาด
ดังนั้น เมื่อดูผู้นำทางการตลาดของผลิตภัณฑ์เบียร์ ในแต่ละตลาดในแต่ละภูมิภาค จึงมักจะพบว่าชื่อแบรนด์ไม่ค่อยซ้ำกัน
ประเด็นที่สอง คำว่า Coke of Beers เป็นการระบุถึงเป้าหมายของการเป็นเจ้าครองตลาดเบียร์ด้วยการใช้แบรนด์บัดไวเซอร์เพียงแบรนด์เดียว ไปพิชิตตลาดเบียร์ในหลายประเภท หลายตลาดพร้อมกัน หมายถึงการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดใหม่เพื่อสร้างอัตราการเติบโตของธุรกิจที่รวดเร็ว
ประเด็นที่สาม การที่จะทำเช่นนั้นได้ หมายความว่าผู้บริหารงานการตลาดของแบรนด์บัดไวเซอร์ จะต้องมีความมั่นใจในกิจกรรมทางการตลาดของตน และอาจจะต้องมีเงินงบประมาณจำนวนมหาศาลที่พร้อมจะลงทุนเพื่อใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเชิงรุกได้ทันทีที่ต้องการ จะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมา ผู้บริหารงานการตลาดของแบรนด์บัดไวเซอร์ น่าจะมีเป้าหมายอยู่ในใจแล้วไม่น้อยกว่า 50 ตลาดในช่วงที่ทำกิจกรรมการตลาดที่เชื่อมโยงกับเวิลด์คัพ
เพียงแต่ว่าในตลาดที่แบรนด์บัดไวเซอร์ไม่ใช่ผู้นำทางการตลาดอยู่ก่อนแล้ว ผู้บริหารได้ใช้กลยุทธ์การทำตลาดแบรนด์ที่เป็นผู้นำอยู่ในตลาดท้องถิ่นนั้นๆ แทน เช่น การตลาดของแบรนด์ บราห์ม่าในตลาดบราซิล, การตลาดของแบรนด์ฮาร์บิ้นในจีน และการตลาดของแบรนด์จูปิเตอร์ในเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์
ประการที่สี่ ความเชื่อมั่นทางการตลาดระดับโลกของแบรนด์บัดไวเซอร์ อีกส่วนหนึ่งน่าจะมาจากข้อมูลที่จัดเก็บได้ในช่วงที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลกที่แอฟริกาใต้ ซึ่งพบว่าสถิติของคนดื่มเบียร์ 6 ใน 10 ของคนที่ดื่มในสนามแข่งระหว่างชมการแข่งขันเป็นการเลือกดื่มเบียร์บัดไวเซอร์ ซึ่งเป็นเบียร์เพียงยี่ห้อเดียวที่มีการเสิร์ฟในสนามแข่ง
นอกจากนั้น ยอดการจำหน่ายเบียร์ของบัดไวเซอร์ รวมกันยังมากกว่าการจำหน่ายน้ำดื่ม บวกด้วยเครื่องดื่มชูกำลังและบวกด้วยเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลมรวมกันด้วย
โดยนักดื่มที่มีสัดส่วนการดื่มมากที่สุดคือ นักดื่มจากสหรัฐฯ และอังกฤษ เมื่อเทียบกับชาติอื่น ๆ
ด้วยเหตุนนี้ ผู้บริหารของแบรนด์บัดไวเซอร์จึงออกจะเชื่อมั่นว่า นักดื่มเบียร์จากชาติต่างๆ ที่ร่วมในการชมการแข่งขันฟุตบอลจะต้องมีความพอใจและติดใจในรสชาติของเบียร์บัดไวเซอร์ไม่มากก็น้อย และเมื่อกลับไปที่ประเทศของตน น่าจะยังต้องการดื่มเบียร์แบรนด์นี้ซ้ำอีก
ดังนั้น หากเจอกับแคมเปญโฆษณาและกิจกรรมทางการตลาดของแบรนด์บัดไวเซอร์ที่จะขยายออกไปในตลาดระดับโลกแล้ว บัดไวเซอร์น่าจะมีลูกค้าในตลาดต่างประเทศที่จะสร้างรายได้ในระยะยาวอย่างต่อเนื่องได้
ตอนนี้ ผู้บริหารกำลังได้ใจ และเตรียมตัวจะขยายฐานทางการตลาดในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิลแล้ว
|
|
 |
|
|