Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา สิงหาคม 2553
เหมือนได้นอนอยู่ในม่านเมฆ             
 


   
search resources

Interior Design




Cesar Pelli’s Museum Tower เป็นอาคารคอนโดมิเนียมสูงที่สร้างขึ้นเพราะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการขยายพิพิธภัณฑ์ Museum of Modern Art ครั้งใหญ่เมื่อปี 1985 ถือว่าเป็นคอนโดในนิวยอร์กที่ทุกคนใฝ่ฝันอยากได้ครอบครองมากที่สุดแห่งหนึ่ง ผู้มีบทบาทสำคัญของโครงการสร้างคอนโดระฟ้า รวมทั้งขยายและออกแบบตัวพิพิธภัณฑ์ใหม่คือสถาปนิก Cesar Pelli’s

เมื่อมองลงมาจากทาวเวอร์กระจกรูปทรงเพรียวนี้ก็จะเห็นตัวพิพิธภัณฑ์เต็มตา ที่สำคัญคือชั้นบนสุดของตัวอพาร์ตเมนต์เป็นจุดชมวิววิเศษสุด เมื่อมองไปรอบๆ จะเห็นตั้งแต่ย่านมิดทาวน์ ไปจนถึงเซ็นทรัลพาร์คเลยทีเดียว และถ้ามองไปทางตะวันตกก็จะได้รื่นรมย์กับทิวทัศน์ของแม่น้ำฮัดสัน

แต่การอยู่ในอพาร์ตเมนต์สี่เหลี่ยมมีกระจกโดยรอบคงน่า หวาดเสียวไม่น้อย เจ้าของเก่าจึงนำไม้มากรุ ซึ่ง Harry Heissmann นักตกแต่งคาดเดาว่า “เจ้าของเก่าน่าจะเป็นช่างทำตู้”

เจ้าของปัจจุบันซึ่งสามีเป็นอดีตนายธนาคารในวอลล์สตรีท กับภรรยาของเขาจึงไว้วางใจให้ Harry เป็นคนบูรณะฟื้นฟู ซึ่งเขา ไม่ทำให้ลูกค้าผิดหวังเลย เพราะเนรมิตอพาร์ตเมนต์แห่งนี้ให้มีบรรยากาศอบอุ่นและมีเสน่ห์ดึงดูดด้วยการเน้นงานบนผนังมากเป็น พิเศษ เริ่มต้นจากโถงทางเข้าที่ทำให้ผู้มาเยือนเกิดความรู้สึกเหมือน อยู่ในฝัน ตลอดไปจนถึงห้องน้ำที่มีขนาดเล็กที่สุดเลยทีเดียว

Harry ได้ชื่อว่าเป็น “ลูกน้อง” รุ่นล่าสุดของ Albert Hadley “ราชาแห่งการตกแต่งชาวอเมริกัน” ที่ได้ฉายานี้เพราะเขากับหุ้นส่วน Sister Parish มีอิทธิพลในวงการออกแบบของนิวยอร์กมานานร่วม ครึ่งศตวรรษ มีผลงานออกแบบบ้านให้คนสำคัญๆ อาทิ จอห์นและแจ็คกี้ เคนเนดี นอกจากนี้ ก็มีทายาทของแอสเตอร์ เมลลอน ร็อคกี้เฟลเลอร์ และแวนเดอร์บิลท์ รวมทั้งครอบครัวของวิทนีย์ด้วย คู่หู Hadley-Parish ช่ำชองงานออกแบบที่แลดูประณีตสุดๆ แถมพก ด้วยการให้ความสำคัญกับรายละเอียดอย่างยิ่ง Hadley ถ่ายทอด คุณสมบัตินี้ลงไปที่กิจการบริษัทที่ก่อตั้ง โดยใช้ชื่อของเขาเพียงคนเดียวคือ Albert Hadley Inc. เมื่อปี 1999 หลังจากที่ Parish เสียชีวิตลง

ส่วน Harry นั้นหลังจากจบปริญญาโทด้านอินทีเรียร์ดีไซน์ที่เยอรมนีในปี 1995 แล้ว เขาย้ายไปอยู่นิวยอร์กตามความใฝ่ฝันในปีเดียวกัน และร่วมงานกับ Hadley เมื่อปี 2000 ตลอด 9 ปีของการเป็นลูกน้อง Harry สืบทอดนิสัยแสวงหาความสมบูรณ์ แบบของ Hadley มาเต็มๆ

ดังนั้น เมื่อลูกค้าเอ่ยปากอยากให้อพาร์ตเมนต์มีกลิ่นอายของความเป็น “ฟลอริดา” บ้าง Harry จึงเล็งเห็นโอกาสที่จะสร้าง เอกลักษณ์เฉพาะตัวให้กับ “ผนังปะการัง” บริเวณโถงทางเข้าที่ทำให้ผู้มาเยือนต้องอุทานด้วยความตื่นเต้น ศิลปินที่เขาว่าจ้างให้รับผิดชอบงานชิ้นนี้ต้องใช้เวลาถึง 3 สัปดาห์เต็มในการใช้กระดาษ ทรายขัดและลอกลายฉลุลงบนผนังฉาบปูนปลาสเตอร์และทาสีขาว-ทองระยิบระยับให้เป็น “ฟองอากาศ” ทำให้รู้สึกเหมือนเดินอยู่ใต้น้ำก็ไม่ปาน (ดูภาพประกอบ)

“พวกเขามาทำงานที่นี่นานมากจนเป็นเหมือนลูกๆ ของดิฉันไปแล้ว” ภรรยาเจ้าของบ้านพูดถึงทีมศิลปินอย่างติดตลก

เดิมทีพวกเขาตั้งใจจะให้ทางเดินของโถงทางเข้าเป็นที่จัดแสดงผลงานศิลปะสมัยใหม่ ซึ่งเป็นของสะสมและผลงานคุณภาพ ระดับที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ จึงขยายพื้นที่ให้กว้างออกเป็นสองเท่า แต่ทันทีที่งานตกแต่งแล้วเสร็จ พวกเขากลับเปลี่ยนใจแถมยังไม่ยอมเอาอะไรไปแขวนบดบังความสวยงามและแปลกตาของผนังเสียอีก “มันเป็นมุมที่ดิฉันโปรดปรานมากที่สุด” ผู้ภรรยายอมรับ

ตัวอพาร์ตเมนต์ออกแบบให้เป็นรูปตัวแอลขนาดใหญ่ เมื่อเดินไปจนสุดทางเดินของโถงทางเข้าแล้ว พื้นที่จะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ทางด้านเหนือนั้นเมื่อมองลงไปจะเห็นวิวของเซ็นทรัล พาร์ค เป็นที่ตั้งของห้องสมุดและห้องชุดของห้องนอนใหญ่ ส่วนปีก ด้านตะวันตกจะเห็นบริเวณมิดทาวน์และแม่น้ำฮัดสัน เป็นที่ตั้งห้องนั่งเล่นซึ่งมีพื้นที่รวมกับห้องอาหารจึงมีขนาดใหญ่มากนอกจากนี้ยังมีห้องครัว ห้องนอน และห้องน้ำสำรอง

พื้นที่ของห้องอาหารรวมกับห้องนั่งเล่นใหญ่ถือเป็นห้องน่าตื่นตาตื่นใจที่สุดห้องหนึ่งของอพาร์ตเมนต์นี้ โดยเฉพาะเวลากลางคืนจะกลายเป็น “แดนในฝันอันพร่างพราย” ตามคำจำกัดความของ Harry ผู้ออกแบบ

เขาออกแบบให้ห้องนี้เป็นเหมือนกล่องอัญมณีที่คอยรับการสะท้อนและแสงวิบวับของแสงสียามค่ำคืนที่อยู่ด้านนอก นอกจากนี้ ยังมีแสงระยิบระยับจากภายในห้องเองคือ แร่ไมกาแวววาวที่ฝังอยู่ในผนัง ฉากบังตาทำด้วยกระจกเงาความสูง 2 และ 2 เมตรครึ่ง และกระจกขนาดจิ๋วที่เย็บติดลงไปบนหมอนอิงประดับโซฟา และกระจกที่ติดบนสตูลสั่งทำพิเศษหุ้มด้วยผ้าสีน้ำเงินสด ส่วนของเพดานเหนือศีรษะนั้นเล่า ออกแบบให้เป็น “เกาะแห่งแสง” ที่ลอยตัว เพื่อสร้างจุดเรืองแสงเหมือนดวงดาวบนท้องฟ้า

สำหรับผู้มาเยือนแล้ว พวกเขาจะประหลาดใจอย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้แต่ในห้องน้ำ (ดูภาพประกอบ)

“ลูกค้าต้องการห้องที่คนจะพูดถึงด้วยความประทับใจในภายหลัง” Harry อธิบายแรงบันดาลใจของตัวเอง

“บางคนหลงใหลเอามาก ถึงกับอยู่ในนั้นเป็นนานสองนาน” เจ้าของอพาร์ตเมนต์เป็นฝ่ายเล่าบ้าง “บางคนคิดว่าเป็นรูปเต้านม เต่งตึง” Harry เสริม

แต่จริงๆ แล้วมันเป็นรูปหอยทากตัวน้อยๆ สีเขียวสดแล้วนำมาขยายให้ใหญ่ยักษ์ จากนั้นนำไปพิมพ์บนผ้าใบแล้วนำมาประดับผนังให้ดูเล่นเพลินๆ เวลาเข้าไปปลดทุกข์

ส่วนบริเวณปีกด้านเหนือของอพาร์ตเมนต์จะเงียบสงบกว่า ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บนสวรรค์ได้มากกว่า “ชีวิตในนิวยอร์กจอแจมากเกินพอแล้ว คุณจึงจำเป็นต้องมีที่สักแห่งที่สงบเงียบที่ที่คุณได้อยู่เพียงลำพังอย่างสันโดษได้” เจ้าของขยายความ

ห้องสมุดจะเป็นที่ที่สองสามีภรรยาเข้าไปนั่งอ่าน ผ่อนคลาย และเล่นไพ่ด้วยกัน จุดเด่นของห้องนี้คือ ผนังติดวอลล์เปเปอร์ลายเปลือกไม้ ซึ่งจะช่วยให้คุณมีจุดเชื่อมต่อไปถึงต้นไม้ที่อยู่ข้างนอกได้

แม้จะเป็นห้องสมุดที่ให้บรรยากาศสงบสุข แต่ลึกๆ แล้วแฝงความขี้เล่นเอาไว้ไม่เบา

“ถ้าทุกอย่างคาดเดาได้หมด มันก็น่าเบื่อใช่ไหม?” ภรรยา เจ้าของอพาร์ตเมนต์อธิบาย “ดิฉันจึงทำให้สามีประหลาดใจได้ทุกอาทิตย์ ในชีวิตจริงคุณจำเป็นต้องมีอะไรให้ประหลาดใจอยู่แล้ว ในงานตกแต่งเองก็เหมือนกัน”

เธอจึงเนรมิตให้ห้องสมุดมีบรรยากาศคล้ายนิทานเรื่อง Alice in Wonderland ด้วยการนำประติมากรรมรูปเห็ดยักษ์วาง ประดับไว้ที่มุมหนึ่งของห้อง ขณะที่โคมไฟรูปหอยทากทำด้วยเรซินตัวมหึมานั้นเล่าก็ดูเหมือนจะกำลังคืบคลานไปทีละน้อยอยู่บนผืนพรม

ประติมากรรมรูปเห็ดยักษ์นี้ถือเป็นของหายากของยุคคริสต์ทศวรรษ 1920 เลยทีเดียว ยังมีบทบาทสำคัญในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ เพราะทำให้คนงานโรงตีเหล็กยังมีงานทำนั่นเอง

ส่วนเจ้าทากยักษ์ได้จากหน้าต่างโชว์ของร้าน Bergdorf Goodman เป็นของแต่งบ้านชิ้นโปรดอีกอย่างหนึ่งของเจ้าของ “เวลากลางคืนบางทีเราก็เปิดไฟจากเจ้าทากยักษ์ตัวนี้ มันเหมือนกำลังลอยอยู่บนสวรรค์จริงๆ”

Harry ยังสัญญากับฝ่ายสามีว่า จะเนรมิตให้ผนังห้องนอนเกิด butterfly-wing effect ซึ่ง “จนบัดนี้เขาก็ยังไม่เคยเห็นเจ้าปีกผีเสื้อที่ว่านี้เลย แต่เขาก็ชอบมากๆ” ฝ่ายภรรยาพูดถึงผนังทาสี metallic สีฟ้าอมน้ำตาลและเพดานสีฟ้า ซึ่งเป็นการยกท้องฟ้ามาไว้ในห้องนอนนั่นเอง เธอเล่าด้วยอารมณ์ชวนฝันว่า

“คืนแรกที่เรานอนที่นี่เป็นวันฉลองครบรอบปีของชีวิตคู่โรแมนติกมากๆ เหมือนได้นอนอยู่ในม่านเมฆ”   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us