|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
“เวลานอนจะปวดคอมาก ถ้าผมร้องโอ้ย ตุ๊กเขาจะตื่นขึ้นมาทายา ให้นอนตัก นวดหัว นวดคอ จนกว่าผมจะหลับ ผมไม่รู้ว่า ทำไมเขาทำให้ได้มากถึงขนาดนี้”
น้ำเสียงวรวิทย์ที่พูดถึงภรรยาเต็มไปด้วยความขอบคุณ ความเสียสละ ความห่วงหาอาทรที่มีให้ เพราะหากกลับกันภรรยาป่วย เขาก็ไม่รู้ว่าจะดูแลได้ดีเท่ากับที่เธอทำให้หรือเปล่า
กว่าหนึ่งเดือนแล้วที่วรวิทย์และอำไพ บริเวธานันทน์ สามี-ภรรยาได้มาอาศัยอยู่ในวัดคำประมง จังหวัดสกลนคร เพื่อรักษา โรคมะเร็งหลังโพรงจมูกของวรวิทย์ ด้วยการใช้ยาสมุนไพรไทย ควบคู่ไปกับการตรวจรักษาการแพทย์แผนปัจจุบัน
ก่อนที่วรวิทย์จะเป็นโรคมะเร็งและเข้ามารักษาตัว ชีวิตการทำงานและครอบครัวเปี่ยมไปด้วยความสุข มีภรรยาและลูกอีก 2 คน
วรวิทย์ในวัย 48 ปีกำลังก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เพราะมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการของบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด สาขา พัทยา จังหวัดชลบุรี ส่วนภรรยาอายุเท่ากัน ทำงานในบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน)
วรวิทย์ทำงานหนักเพื่อสร้างอนาคตให้กับครอบครัว แต่ด้วยอาชีพธุรกิจประกันชีวิตทำให้เขาต้องพบปะลูกค้าอยู่บ่อยครั้ง มีการสังสรรค์อยู่เนืองๆ ทำให้เขาต้องดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ค่อนข้างมากเพื่อเข้าสังคม
ชีวิตที่มีความสุขและสนุกสนานได้ผ่านไปวันแล้ววันเล่า จนกระทั่งวันหนึ่งเขามีอาการเหมือนเป็นไซนัสที่จมูก เนื่องจากเคยเป็นเมื่อในอดีตแต่ได้รักษาจนหาย เขาจึงทานยา อาการดีขึ้น ก็เริ่มหยุดยา
หลังจากนั้นไม่นานนัก เขามีอาการหูอื้อข้างขวาและตัดสินใจไปหาหมอเมื่อปี 2551 พบว่ามีก้อนเนื้ออยู่หลังโพรงจมูก เป็นมะเร็งขั้นที่ 2 และกำลังจะไปขั้นที่ 3
แพทย์แนะนำให้เขาฉายแสง 35 ครั้ง ทำทุกวันตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ หยุดเสาร์-อาทิตย์ ทั้งหมด 7 สัปดาห์ หลังจากฉายแสงไปแล้วครึ่งทาง วรวิทย์มีอาการเจ็บคอ ปาก น้ำหนักตัวลดไป 20 กิโลกรัม เหลือ 45 กิโลกรัม ทำให้เขาไม่สามารถทำงานได้
แต่เมื่อเขามีโอกาสได้พบกับพระรูปหนึ่งที่เป็นมะเร็งเล่าให้ฟังว่าได้ฉายแสงไปแล้ว 10 ครั้ง ทนไม่ไหว ได้หันไปทานยาหม้อ ตอนนี้อยู่มาได้ 7 ปี ทำให้วรวิทย์ตัดสินใจหยุดฉายรังสี และขอกลับบ้าน
เขาเริ่มหาวิธีการรักษาทางเลือกอื่น ศึกษาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต พบข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอบกินส์ บอกวิธีการรักษาทางเลือกโรคมะเร็ง ไม่ให้เคมี ไม่ผ่าตัด ใช้อาหารบำบัด งดให้อาหารมะเร็ง
เช่น โปรตีนทำให้ร่างกายเป็นกรด ส่วนน้ำตาลทำให้เซลล์มะเร็งโต เริ่มหาสมุนไพรจีนมาทาน อาการเริ่มดีขึ้นจึงหันไปรับประทานไส้กรอก หมูยอ หมู ปลา อาหารทะเลเหมือนเดิม
ในตอนนั้นวรวิทย์คิดว่า ยาที่ทานเอาอยู่
ตลอดระยะ 2 ปีที่ผ่านมา อาการที่รักษาหายบ้าง ไม่หายบ้าง ทำให้เขาตกอยู่ในความประมาทว่า อาการของเขาน่าจะดีขึ้น
แต่สิ่งที่เขาคิดไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะอาการเขาเริ่มกำเริบหนักขึ้นเมื่อต้นปี 2553 หน้าด้านขวาเริ่มบวม และหนังตาเริ่มปิด ทำให้เขาตระหนักว่าต้องรักษาอย่างจริงจังและลาออกจากงาน
อำไพเล่าว่าตอนที่รู้ว่าสามีของเธอเป็นมะเร็ง เธอได้แต่ร้องให้ นึกไม่ออกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรหากขาดผู้นำ แต่สุดท้ายเธอก็คิดได้ว่าการร้องไห้ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ เพราะคนรอบข้างก็จะรู้สึกเศร้าหมองไปด้วย และหันมาดูแลวรวิทย์อย่างจริงจัง สิ่งที่ตัวเองย้ำอยู่เสมอ ก็คือ ทำตัวเองให้เป็นปกติ และไม่คิดว่าสามีป่วย
อำไพดูแลวรวิทย์ทุกอย่างตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน เธอเริ่มเอาใจใส่อาหาร ยา เสื้อผ้า ดูแลไม่ให้น้ำหนักลด เช่นในตอนเช้าเธอจะเริ่มปั่นน้ำผัก และคั้นน้ำใบย่านางให้ดื่มทุกเช้า ส่วนอาหารจะงดเว้นเนื้อทุกชนิด แม้แต่ปลา ถ้าวันไหนวรวิทย์อยากจะกินปลา หลวงตาบอกว่าให้วาดรูปปลาแทน
นอกจากการดูแลอาหารแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการให้กำลังใจว่าวรวิทย์จะดีขึ้นและหายในที่สุด
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะเฝ้าดูแลชายคนรักได้ตลอด 24 ชั่วโมง แทบไม่ห่างสายตา สิ่งที่อำไพทำให้สามีของเธอ ที่อยู่ร่วมกันมากว่า 22 ปี เธอบอกว่า มันคือความรัก
“ตุ๊กเขาดูแลผมอย่างใกล้ชิดดีมาก ดีจนผมเสียดาย เราเถลไถลมาก ยึดแต่กิจกรรม ทำให้หลงระเริง แต่นี้ต่อไปผมจะอยู่กับเขาตลอด เราจะดูแลซึ่งกันและกัน”
คำพูดของวรวิทย์แต่ละคำที่ออกมา แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกที่เขามีต่อภรรยาได้เป็นอย่างดี
โรคมะเร็งทำให้การใช้ชีวิตของวรวิทย์และอำไพเปลี่ยนไป โดยเฉพาะวรวิทย์ เริ่มทำบุญ เข้าวัด ฟังธรรมตามภรรยามากขึ้น
เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจเข้ามารับการรักษาตัวที่อโรคยศาล วัดคำประมง เพราะวัดนี้ใช้ธรรมะบำบัดใจให้มีกำลังใจเข้มแข็ง ส่วนยานั้นทำหน้าที่รักษากาย
วัดนี้เต็มไปด้วยความสงบ ทำให้จิตใจมีสมาธิ มีหลวงตา ปพนพัชร์ จิรธัมโม เจ้าอาวาส จะเทศน์ให้ฟังทุกเย็นหลังจากคนไข้และญาติมาร่วมสวดมนต์ทำวัตรเย็น
“วัดคำประมงแตกต่างจากการรักษาที่โรงพยาบาล ที่นี่รักษาทั้งร่างกายและจิตใจไปด้วยกัน และหลวงตาก็ใจดี มีเมตตา ไม่เครียด มีอยู่วันหนึ่งท่านทักทายคนไข้กับญาติว่า สวัสดีท่านที่ยังไม่ตาย ทำให้ทุกคนหัวเราะได้ แม้ว่าจะเจ็บป่วยอยู่ก็ตาม”
กิจกรรมที่วรวิทย์ทำทุกวัน ในตอนเช้า ตื่นขึ้นมาใส่บาตรที่ภรรยาได้จัดเตรียมไว้ ออกกำลังกาย พอเริ่มสายไปจนถึงบ่ายเขาก็จะนอนหลับพักผ่อน โดยมีภรรยานั่งอยู่ใกล้ๆ บางครั้งก็นั่งคุยกับเพื่อนๆ คนไข้ด้วยกัน
ในตอนเย็นก่อนไปสวดมนต์ทำวัตรเย็นและฟังธรรมจากหลวงตา อำไพและวรวิทย์จะนุ่งห่มชุดขาว โดยเฉพาะวรวิทย์จะมีผ้าพันคอ เพราะเขาจะเป็นหวัดง่ายเมื่อได้รับอากาศเย็น
กิจกรรมที่ทำหมุนเวียนเหมือนกันทุกวัน ทั้งสองคนแทบจะไม่เคยห่างกันเลย แต่ไม่ได้ทำให้วรวิทย์รู้สึกเบื่อ เขากลับรู้สึกได้พักผ่อนเต็มที่และมีจิตใจผ่อนคลาย จนเขามีความหวังว่า เขาน่าจะหายเป็นปกติ
และถ้าเขาหายจากโรคมะเร็ง เขาบอกว่าจะบวช
ทั้ง “ความรัก” และ “ธรรมะ” กำลังหล่อเลี้ยงกำลังใจให้วรวิทย์ต่อสู้กับโรคร้าย และเป็นความโชคดีที่ไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง
|
|
|
|
|