ช่วงภาวะฉุกเฉินในกรุงเทพมหานคร ทำให้ผมต้องเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการทำงานและการเดินทางไปค่อนข้างมาก สิ่งที่ผมต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ ในภาวะฉุกเฉินอย่างนั้นคือ ผมจะสามารถทำงานอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร ในภาวะที่ผมอาจจะไม่สามารถอยู่ติดกับโต๊ะทำงานได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ ผมยังต้องเดินทางเปลี่ยนยานพาหนะในหลากหลายแบบเพื่อไปยังออฟฟิศ ออฟฟิศชั่วคราว กลับบ้าน แม้ยามติดแหง็กอยู่บนถนนแบบเขยื้อนไปไหนมาไหนไม่ได้
งานของผมก็เหมือนตัวของผมที่จะต้องเดินทางตามผมไปในทุกแห่งหนได้ แต่ งานของผมหรือของแต่ละคนก็มีข้อจำกัดที่ แตกต่างกันไป ถ้าเป็นงานเขียนบทความนี้ ผมอาจจะไม่ยึดติดกับสถานที่เท่าไรนัก แต่ผมก็ต้องพยายามหาช่องทางที่จะเชื่อมต่อกับโลกอินเทอร์เน็ตให้ได้ เพราะเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญ และเป็นช่องทางที่ทำให้ผมสามารถส่งต้นฉบับไปได้ แต่สำหรับงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลระบบของลูกค้า การช่วยลูกค้าแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวม ไปถึงการนำเสนองานด้วยพาวเวอร์พอยท์ การส่งรายงานวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ รวมไป ถึงต้องสามารถพูดคุยติดต่อกับลูกค้าหรือหัวหน้างานได้อย่างต่อเนื่องก็จำเป็นต้อง อาศัยระบบหรือฐานข้อมูลมาสนับสนุนการทำงาน ซึ่งการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเพียง อย่างเดียวอาจจะไม่สามารถตอบสนองการทำงานได้
นี่เป็นปัญหาที่ค่อนข้างท้าทายพวกเราทุกคนว่าทำอย่างไรถึงจะสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าของเรา หรือคนที่เราต้องติดต่อด้วยได้ตลอดเวลา แม้ในภาวะที่คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นภาวะจำยอม ต้องปล่อยให้เป็นไปตามภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้น เมื่อใดที่ภาวะฉุกเฉินกลับสู่ภาวะปกติ เราถึงจะสามารถใช้ชีวิตแบบปกติได้นั้น ในทางธุรกิจคงไม่สามารถปล่อยเวลาแต่ละ วินาทีให้วิ่งผ่านไปอย่างไร้ความหมายได้ และนี่คือสิ่งที่เราต้องคำนึงว่า เราจะทำอย่างไรให้สามารถทำงานได้อย่างไม่ติดขัด ได้ตลอดเวลา
Continuous client อาจจะเป็นคอนเซ็ปต์ที่เข้ามาตอบสนองความต้องการของเราได้ เรามาดูกันนะครับ เดือนที่แล้ว ผมทิ้งท้ายไว้เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง Continuous client ที่จะส่งผลต่อแนวโน้มการใช้งานเครื่องเดสก์ทอปคอมพิวเตอร์ เครื่องโน้ตบุ๊ก หรืออุปกรณ์ใดๆ ที่สามารถใช้งานได้ในลักษณะเดียวกัน นั้น เดือนนี้เรามาวิเคราะห์กันว่าคอนเซ็ปต์ ของ Continuous client นี้สามารถเป็นจริงในทางปฏิบัติได้หรือไม่ แล้วจะส่งผลต่อ การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์อย่างไรบ้าง continuous client เป็นความต่อเนื่องในการทำงานหรือใช้งานแอพพลิเคชั่น ใดๆ ผ่านเครื่องมือในการเข้าถึงแอพพลิเคชั่นหรืองานนั้นๆ ที่แตกต่างกันไป ทุกวันนี้เรายังคงเผชิญปัญหาการขาดช่วงของการใช้งานหรือการทำงาน
ลองจินตนาการดูนะครับว่า เรากำลังเร่งส่งพรีเซนเตชั่นชิ้นหนึ่งให้กับลูกค้า ที่เร่งจะขยายงานระบบคอมพิวเตอร์ให้มารองรับการขยายโรงงานที่กำลังจะเริ่มต้นภายในไตรมาสสี่ปีนี้ ทันใดนั้น ศอฉ. ประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกเคหสถาน หลังสองทุ่ม เราจะทำอย่างไรดี ออฟฟิศอยู่ สีลม บ้านอยู่ถนนติวานนท์ ลูกค้าก็ขอดูพรีเซนเตชั่นก่อนเราจะเอาไปนำเสนอในวันรุ่งขึ้น แต่เราก็ไม่มีทางเลือก ต้องออกจากออฟฟิศตอนห้าโมงเย็น ฐานข้อมูลทั้งหมดของลูกค้าอยู่บนเซิร์ฟเวอร์ในออฟฟิศ ซึ่งไม่สามารถเอาออกไปได้แน่ๆ ออกจากออฟฟิศปุ๊บ ต้องไปผจญอยู่บนถนนที่รถติด หนักตั้งแต่หน้าออฟฟิศ สิ่งที่ต้องทำคือ เซฟงานไว้บนเดสก์ทอปคอมพิวเตอร์ในที่ทำงานก่อน จากนั้นขึ้นแท็กซี่ให้ไปส่งที่บ้าน ระหว่างการเดินทาง ก็เปลี่ยนมาทำงานต่อ ด้วยโทรศัพท์มือถือบนรถแท็กซี่ ด้วยโทรศัพท์มือถือสามารถจัดหน้าพรีเซนเตชั่น ต่อได้เลย ก่อนจะมาสรุปจบงานบนเครื่องเน็ตบุ๊กในร้านกาแฟริมถนนและส่งให้ลูกค้า ดูได้ทันเวลา นั่นหมายความว่า session ของการทำงานของเราในอุปกรณ์ใดๆ ยังคงสามารถนำมาทำงานอย่างต่อเนื่องบนอุปกรณ์ที่แตกต่างกันได้ โดยการแสดงผลหรือการใช้งานบนอุปกรณ์ที่เปลี่ยนไปยังคงเหมือนเดิม อย่างไรก็ดี สถานการณ์ ณ ปัจจุบันคือ ทุกครั้งที่เราต้องเปลี่ยนจากเครื่องมือหนึ่งไปยังอีกเครื่องมือหนึ่งนั้น เรายังต้องเปิดบราวเซอร์ใหม่ เริ่มต้นโหลดงานขึ้นมา ใหม่ แล้วเริ่มทำงานใหม่ทุกครั้งไปบนแพลต ฟอร์มแต่ละตัว และเลื่อนไปยังตำแหน่งที่เราทำค้างไว้ล่าสุด
นั่น คือ เราขาดความต่อเนื่องของการพูดคุย การส่งข้อความ การทำงานต่างๆ เมื่อเราต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้งานในแต่ละครั้ง นั่นหมายความว่า ในการใช้งานแอพพลิเคชั่นใดแอพพลิเคชั่นหนึ่งบนอุปกรณ์สองอย่างจำเป็นต้อง อาศัยความพยายามระดับหนึ่งในการเปลี่ยนจากอุปกรณ์ตัวใดตัวหนึ่งไปยังอีกตัว แล้วถ้าเราต้องเปลี่ยนหลายๆ อุปกรณ์ล่ะ เราต้อง เสียเวลาไปมากมายแค่ไหน Continuous Client น่าจะสามารถ ช่วยตอบคำถามนี้ได้ โดย Continuous Client จะต้องสามารถเก็บรักษา session หรือสถานะของการใช้งานแอพพลิเคชั่นใดๆ เมื่อเราหยุดใช้อุปกรณ์ตัวหนึ่งแล้วเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์อีกตัวหนึ่งเพื่อมาใช้งานแอพพลิเคชั่นตัวเดิมนี้ แอพพลิเคชั่นนี้หมายถึง เอ็มเอสเอ็น, twitter, facebook, หน้าเว็บต่างๆ, แอพพลิเคชั่นใดๆ แม้แต่วินโดวส์ของคุณก็ตาม ซึ่ง session นี้หมายถึงสถานะใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นหน้าตาหรือตำแหน่งหน้าของการใช้งานจะสามารถ ปรากฏแสดงให้เห็นในอุปกรณ์อีกตัวหนึ่งที่เราใช้ต่อเนื่องจากตัวแรกได้ นั่นหมาย ความว่า การเปลี่ยนจากอุปกรณ์ใดๆ ไปอีกอุปกรณ์หนึ่งจะต้องเนียนมากพอสมควร นั่นหมายความว่าการเปลี่ยนอุปกรณ์จะต้องไม่ทำให้เกิดการสะดุดของการใช้งานใดๆ เกิดขึ้น เราอาจจะกล่าวได้ว่า Continuous Client เกี่ยวข้องกับสามส่วนด้วยกัน คือ เรื่องของระบบปฏิบัติการ (operating system), เรื่องของแอพพลิเคชั่นที่ทำงานข้ามระบบปฏิบัติการต่างๆ และสุดท้ายคือ การใช้ Continuous Client เป็นบริการ
สำหรับเรื่องระบบปฏิบัติการนี้ อาจจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยากพอสมควร
แต่สำหรับแอพพลิเคชั่นใดๆ ดูจะเป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้มากกว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ในขณะที่เมื่อมองด้านบริการก็ดูน่าจะเป็นจริงได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งทั้งหมดนี้เราคงต้องมองไปถึงเทคโนโลยีของ Cloud Computing
ปัจจุบันเราพอจะหาดูและใช้งาน Continuous Client ได้ อย่างเช่น กูเกิ้ลได้ทำให้เราสามารถเปิดและปิด session
ใน Google Docs และ Gmail ของพวกเขาผ่านอุปกรณ์สองอย่างที่แตกต่างกันได้ ในขณะที่งานที่ใช้อยู่ยังไม่ถูกปิด ไม่เสียหายใดๆ เกิดขึ้น แต่ปัญหาที่เป็นอยู่ของ Google Docs คือเราไม่สามารถบอกได้ว่า เรากำลังจะย้ายจากอุปกรณ์หนึ่งไปยังอีกอุปกรณ์หนึ่งได้ แต่ถ้าเป็น Continuous
Client อย่างที่เราวาดฝันไว้นั้น จะมีตัวบอก ซึ่งอาจจะเป็นปุ่ม Eject สักปุ่มที่จะทำให้เราสามารถบอกให้ระบบปฏิบัติการหรือแอพพลิเคชั่นใดๆ รู้ว่าเราจะย้ายไปอีกอุปกรณ์หนึ่งแล้วให้รอแป๊บนึง สมมุติมีอีก อุปกรณ์เปิดแอพพลิเคชั่นนี้ขึ้นมาแล้ว อาจ จะมีข้อความเตือนขึ้นมาให้รู้ว่าอีกอุปกรณ์หนึ่งได้เชื่อมต่อเข้ามาแล้วนะ ก็จะสามารถเอา session นั้นไปใช้งานได้อย่างต่อเนื่องทันที
ถ้าเราจะมอง Continuous Client ในฐานะเป็นแอพพลิเคชั่น ก็จะคล้ายๆ กันคือ ไม่ว่าเราจะใช้งานแอพพลิเคชั่นไปถึงหน้าไหนหรือตรงจุดไหนก็ตาม เมื่อเปลี่ยนเป็นอีกอุปกรณ์หนึ่งก็จะสามารถใช้งานต่อเนื่องจากตำแหน่งนั้นได้ทันที นั่นคือ เราไม่จำเป็นต้องมานั่งโหลดแอพพลิเคชั่นขึ้นมาใหม่ หรือเปิดหน้าเว็บใหม่ หรือมานั่งหาข้อความบน twitter ใหม่อีกรอบ
อย่างไรก็ตาม เราอาจจะต้องมานั่งคิดถึงประเด็นเรื่องว่าข้อมูลของเราอาจจะต้องไปอยู่บน cloud ชั่วคราว เราจะยอมรับได้ไหม แล้วจะมีระบบรับรองความปลอดภัยได้ในระดับใด
คอนเซ็ปต์ของ Continuous Client ในฐานะเป็นบริการน่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้อีกไม่นานนัก โดยอาจจะเป็นการทำเป็น Continuous Client Element ใส่ไว้ในอุปกรณ์แต่ละตัว
สำหรับ twitter หรือเอ็มเอสเอ็น อาจจะง่ายกว่า เพราะสามารถดึงข้อมูลจาก ฐานข้อมูลของตัวเองขึ้นไปแสดงในอีกอุปกรณ์หนึ่งได้ทันที สิ่งที่ต้องการอาจจะเป็นแค่สัญญาณที่จะบอกว่าเราจะหยุดใช้งานใน session ล่าสุดนี้แล้วเปลี่ยนไปอีก session หนึ่งเท่านั้นเอง
ขณะที่แอปเปิลกำลังจะขอสิทธิบัตร โดยแอปเปิลอาศัย cloud ในการ sync หรือส่งผ่านข้อมูลระหว่างอุปกรณ์สองอย่าง โดยผู้ใช้งานอุปกรณ์ของแอปเปิลอย่างเช่น iPod สามารถหยุดเพลงหรือวิดีโอชั่วคราวจากนั้นสามารถเริ่มเล่นเพลงหรือวิดีโอจาก ตำแหน่งเดียวกันได้ใน iPhone
นั่นคือ เราอาจจะต้องการการผสมผสานของ Push Technology, cloud computing และมาตรฐานกลางสักตัว
Continuous Client อาจจะเป็นสิ่งใหม่ที่จะช่วยให้การใช้งานอุปกรณ์ที่หลากหลายในปัจจุบันสามารถรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ นั่นหมายความว่า อุปกรณ์จะทำหน้าที่เป็นช่องทางในการเข้าถึงการใช้งาน แต่การใช้งานของเราจะไปอยู่บนระบบศูนย์กลาง ซึ่งก็ยังคงตอบไม่ได้ว่า การเปิดเสรีของอุปกรณ์จะนำไปสู่การผูกขาดของระบบการจัดการข้อมูลส่วนกลางหรือไม่
เราคงต้องดูกันต่อไป
อ่านเพิ่มเติม:
1. Hollister, S. (2010), How-to: push Chrome/ Firefox links to your Android 2.2 Froyo device (Video), http://www.engadget.com/2010/05/31/how-to-push-chrome-firefox-links-to-your-android-2-2-froyo-de/
2. Topolsky, J. (2010), “A modest proposal: the Continuous Client” http://www.engadget.com/2010/05/26/a-modest-proposal-the-continuous-client/
3. Miller, P. (2010), “Apple applies for Patent to resume media playback on another device,” http://www.engadget.com/2010/05/28/apple-applies-for-patent-to-resume-media-playback-on-another-dev/
|