|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
กฎหมายฟอกเงิน KYC/CDD เป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกฏหมายดังกล่าวจะเริ่มบังคับให้สถาบันการเงินต้องปรับตัว เพราะสถาบันการเงินเป็นเส้นทางการเงินที่เปิดโอกาสให้เกิดการก่ออาชญากรรม
กฎหมายฟอกเงิน KYC/DCC หรือ Know Your Customer/Customer Due Diligence เป็นส่วนเพิ่มเติมที่ได้รับการแก้ไขใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน คาดว่าจะมีผลบังคับใช้จริงในปลายปีนี้ หลังจากได้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คนเข้ามาดูแล
สาเหตุที่มีกฎหมายฟอกเงินฉบับเพิ่มเติมขึ้นมา เนื่องมาจากกระบวนการก่อการร้ายระดับสากล หรืออาชญากรรมภายในประเทศได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น รวมถึงช่องทางการขโมยข้อมูลที่พัฒนามากขึ้นด้วยการอาศัยเทคโนโลยีทันสมัย ทำให้การขโมยเลขบัตรเครดิตหรือประกันสังคม เกิดขึ้นได้ง่าย
เส้นทางเข้า-ออกของเงินส่วนใหญ่จะผ่านสถาบันการเงินเป็นหลัก ทำให้สถาบันการเงินกลายเป็นช่องทางการก่ออาชญากรรมไปโดยปริยาย
คำว่า KYC หมายถึง กระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของบุคคล ส่วน DCC หมายถึง พฤติกรรมการโอนเงิน ฝาก ถอน มีความผิดปกติหรือไม่
กฎหมายดังกล่าวบังคับให้สถาบันการเงินต้องตรวจสอบลูกค้าทุกคนที่เปิดบัญชี เช่น บุคคลธรรมดา นิติบุคคล บุคคล ที่ไม่มีความสามารถตามกฎหมาย (ผู้เยาว์) และองค์กรที่ไม่ใช่นิติบุคคล เช่น ชมรมชุมชน เป็นต้น
และให้นำรายชื่อของผู้ฝากบัญชีเปรียบเทียบกับรายชื่อผู้ก่อการร้ายในบัญชีของรัฐ หรือองค์กรก่อการร้ายภายในและระหว่างประเทศ เช่น UN List, OFAC List, EU List และ AU List
เอกสารที่ธนาคารจะต้องขอจากลูกค้าที่มาเปิดบัญชีเพิ่มเติมนอกจากบัตรประชาชน ธนาคารจะต้องขอข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น บัตรประกันสังคม เลขที่หนังสือเดินทาง ฯลฯ
ลูกค้าต่างชาติ ผู้ที่ไม่ใช่ย้ายถิ่นฐาน จะต้องแสดงเอกสารเปิดบัญชี เช่น หมายเลขหนังสือเดินทาง ประเทศที่ออก หมายเลขประจำตัวคนต่างด้าว
สถาบันการเงินต้องวิเคราะห์แหล่งเงินของลูกค้าได้ จากการประกอบอาชีพว่า มีความผิดปกติอย่างไร และสถาบันการเงิน ทำหน้าที่รายงานความผิดปกติที่เกิดขึ้น และสามารถตรวจสอบบัญชีเงินฝาก บัญชี บัตรเครดิต ตู้นิรภัยหรือการฝากทรัพย์ และข้อมูลของลูกค้าจะต้องเก็บไว้นาน 5 ปี
กรณีลูกค้าไม่ยอมให้ข้อมูลตามที่ธนาคารขอธนาคารมีสิทธิไม่เปิดบัญชีให้กับลูกค้าได้เช่นเดียวกัน เพราะขั้นตอนของการทำ KYC/DCC จะช่วยลดความเสี่ยงสนับสนุนช่องทางการเงินให้กับผู้ก่อการร้าย และรักษาภาพลักษณ์ของสถาบันการเงิน
สถาบันการเงินที่ต้องทำ KYC/DCC ภายใต้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มี 3 หน่วยงานหลัก คือ สถาบันการเงิน บริษัทที่ปรึกษาทางด้านการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และบริษัทให้บริการ
อีเพย์เมนท์ (e-payment) การให้บริการด้านการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์
นอกจากองค์กรทั้ง 3 แห่งแล้ว กฎหมายฉบับนี้ยังได้ครอบคลุมอาชีพที่ต้องรายงานธุรกรรมการเงินของลูกค้า แต่ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ KYC/DCC คือ
1. ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการดำเนินการ การให้คำแนะนำ หรือการเป็นที่ปรึกษาในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับการลงทุนหรือการเคลื่อนย้ายเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินตามมาตรา 13
2. ผู้ประกอบอาชีพค้าอัญมณี เพชรพลอย ทองคำ หรือเครื่องประดับที่ประดับ ด้วยอัญมณี เพชรพลอย หรือทองคำ
3. ผู้ประกอบอาชีพค้าหรือให้เช่าซื้อรถยนต์
4. ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับนายหน้า หรือตัวแทนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
5. ผู้ประกอบอาชีพค้าของเก่าตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า
6. ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงินตามประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการประกอบ ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ หรือตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
7. ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มิใช่สถาบันการเงินตามประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
8. ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงินตามประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต หรือตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
9. ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เคาน์เตอร์เซอร์วิสและสบายเพย์
พันตำรวจเอก ดร.สีหนาท ประยูรรัตน์ รองเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) บอกว่า หลังจาก พ.ร.บ.เพิ่มเติมในส่วนของ KYC/DCC คาดว่าจะมีการประกาศใช้ภาย ในปลายปี
หลังจากนั้นสถาบันการเงินมีเวลา 2 ปี เพื่อติดตั้งระบบข้อมูลติดตามลูกค้า และเมื่อพ้นเวลาดังกล่าวหากสถาบันการเงินใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และมีผู้ก่อการร้ายใช้ช่องทางส่งเงินเข้า-ออก สถาบันการเงินจะถูกปรับครั้งละ 500,000 บาท และวันละ 5,000 บาท
แต่ข้อบังคับดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่สำหรับสถาบันการเงิน ซึ่งกฎหมายได้เปิดโอกาสให้ขยายติดตั้งระบบออกไปอีก 1 ปี รวมทั้งสิ้นเป็นระยะ 3 ปี
การประกาศใช้กฎหมายฟอกเงินที่มี KYC/DCC มีขั้นตอนละเอียดอ่อนและเข้าใจยาก รัฐจึงต้องการให้สถาบันการเงินได้มีเวลาปรับตัว
การติดตั้งระบบ KYC/DCC จะช่วยทำให้หน่วยงานรัฐร่วมทำงานกับสถาบันการเงินได้ง่ายขึ้น เพราะในปัจจุบันการติดตามเส้นทางการเงินยังเป็นไปลำบาก เพราะจำนวนบัญชีของสถาบันการเงินมีจำนวนมาก และองค์กรหรือบุคคล มีบัญชีหลากหลายต่อ 1 คน
รองเลขาธิการได้อธิบายให้เห็นถึงเหตุการณ์ครั้งล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองที่ผ่านมา ที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้ประกาศให้ปิดบัญชีของนักการเมือง นักธุรกิจ และผู้เกี่ยวข้องจำนวน 152 บัญชี เพื่อตัดท่อน้ำเลี้ยงที่ก่อให้เกิดปัญหาวุ่นวาย
“กระบวนการเข้าไปตรวจสอบบัญชี บุคคลที่เกี่ยวข้องต้องใช้คณะทำงานกว่า 100 คน ทำงานเป็นกะจนถึงเที่ยงคืน และใช้เวลา 1 เดือนในการค้นหาบัญชีเหล่านี้ แต่หากมีซอฟต์แวร์เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดฐานข้อมูล และวิเคราะห์จะทำให้การทำงานเหลือเพียง 1 วัน หรือครึ่งวันเท่านั้น”
แสดงให้เห็นว่าสถาบันการเงินจะต้องลงทุนติดตั้งระบบเทคโนโลยี เพื่อติดตามพฤติกรรมลูกค้า
อย่างไรก็ดี การเร่งให้มีกฎหมาย KYC/DCC เข้ามา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าในฝั่งยุโรป และอเมริกาได้เริ่มบังคับใช้มาระยะหนึ่งแล้ว
โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เมื่อเกิดเหตุการณ์ถล่มตึกเวิลด์เทรด เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ได้ประกาศใช้กฎหมาย KYC/DCC ทันที และเรียกว่า Financial Action Task Force: FATF เพราะหลังจากตรวจสอบรายชื่อผู้ขับขี่เครื่องบิน พบว่าไม่มีเลขที่ประกันสังคม ใช้เอกสารปลอมเปิดบัญชี หนังสือเดินทางและวีซ่าออกโดย ประเทศตะวันออกกลาง
เหตุการณ์เวิลด์เทรดได้ชี้ให้เห็นถึงเส้นทางการเงินผ่านสถาบันการเงินของผู้ก่อการร้ายกลุ่มอัลไกด้า สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายขนาดเล็กต่างๆ ด้วยการให้เงิน เพื่อก่ออาชญากรรม
กฎหมายดังกล่าวทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ปรับเงินสถาบันการเงิน 100 แห่ง จำนวน 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กรณีสถาบันการเงินเปิดบัญชีให้กับกลุ่มบริษัทที่ทำธุรกิจกับกลุ่มฮาร์มัด ประเทศอิสราเอล ซึ่งสหรัฐฯ มองว่ากลุ่มฮาร์มัดเป็นกลุ่มก่อการร้าย
การนำกฎหมาย KYC/DCC มาประกาศใช้ในเมืองไทย เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ไทยยังตามหลังประเทศ มาเลเซีย และสิงคโปร์ได้ประกาศใช้ล่วงหน้าไปก่อนแล้ว
อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลไทยพยายามเร่งให้มีการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวเพิ่มเติม เพราะประเทศไทยถูกระบุให้เป็นประเทศเฝ้าจับตามองของประเทศพัฒนาแล้ว และกลุ่มประเทศ G20 หากรัฐบาลไม่ประกาศใช้กฎหมายอาจจะลำบากในการทำธุรกิจกับกลุ่มประเทศเหล่านี้ในอนาคต
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยได้ประกาศ ใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และมีการปรับปรุงกฎหมาย ให้ทันต่อเหตุการณ์ปัจจุบันมาเป็นลำดับ
พันตำรวจเอก ดร.สีหนาทบอกว่า ตั้งแต่สำนักงานก่อตั้งมาเป็นระยะเวลา 11 ปี สามารถยึดทรัพย์จากการฟอกเงินจำนวน 4,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีปริมาณการยึดทรัพย์เพิ่มมากขึ้นในอนาคต เพราะกระบวนการฟอกเงินมีความซับซ้อน เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอาศัยช่องทางเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต
รองเลขาธิการบอกว่าแม้สถาบันการเงินมีเวลาเหลือ 2-3 ปี แต่ควรเร่งศึกษาเพราะกฎหมายเป็นเรื่องใหม่ และพันตำรวจเอก ดร.สีหนาทในฐานะผู้มีส่วนร่วมในการออกกฎหมายฉบับดังกล่าวยังยอมรับว่าเป็นเรื่องยากมาก
ทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท แซส ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้จำหน่ายโซลูชั่นด้านป้องกันการฟอกเงิน (Anti-Money Laundering: AML) บอกว่า การติดตั้งเทคโนโลยีรองรับกฎหมาย KYC/DCC จะต้องใช้เวลา โดยเฉพาะสถาบันการเงินขนาดใหญ่ใช้เวลาติดตั้ง 8 เดือน ส่วนสถาบันการเงินขนาดเล็กใช้เวลา 6 เดือน และหลังจากนั้นจะใช้เวลาทดสอบอีก 1 ปี
กฎหมายจะเริ่มประกาศใช้ในปลายปีนี้ ดูเหมือนว่าสถาบันการเงินไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อีก เพราะหากละเลยจะต้องเสียค่าปรับเป็นรายวัน วันละ 5,000 บาท และต้องเสียค่าปรับต่อการโอนเงินเข้า-ออกต่อครั้ง ครั้งละ 500,000 บาท ถือว่าเป็นเงิน ไม่ใช่น้อย
|
|
|
|
|