Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา สิงหาคม 2553
อิทธิพล “จีน” ใน “ลาว” หยั่งลึกกว่าที่คิด!!!             
โดย เอกรัตน์ บรรเลง
 


   
search resources

International
Greater Mekong Subregion




อิทธิพลทางเศรษฐกิจที่จีนมีต่อลาวนั้น มิใช่แค่ระดับรัฐต่อรัฐหรือระดับโครงการใหญ่ๆ ที่จีนได้โอกาสในการลงทุนเป็นจำนวนมากเท่านั้น แต่ในระดับชาวบ้าน กองทัพมดของพ่อค้าจีนกำลังแผ่ขยายเข้าไปควบคุมตลาดการค้าในลาว ตั้งแต่ข้าวของเครื่องใช้จิปาถะไปจนถึงรถยนต์

“5 ล้านกว่ากีบเอง บ่แพง ถืก (ถูก) กว่ารถไทยตั้งกว่าครึ่ง” เสียงพ่อค้ารถจักรยานยนต์ชาวจีนกำลังพูดภาษาลาวชนิดที่เรียกว่า “เกือบจะ” ชัดแจ๋ว โน้มน้าว ลูกค้าชาวลาวในเมืองน้ำเงินให้รีบตัดสินใจซื้อ โดยยกเรื่องราคาขึ้นมาเป็นจุดขาย

เมืองน้ำเงินเป็นเมืองเล็กๆ ของแขวงไชยะบุรี ติดกับชายแดนไทยด้าน อ.เฉลิม พระเกียรติ จ.น่าน ประชากรของเมืองนี้มีอยู่ไม่กี่ร้อยหลังคาเรือน

แต่ก็ยังมีพ่อค้าชาวจีนที่มองเห็นว่าเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อ และเริ่มเข้ามาปักหลักตั้งร้านรวงค้าขายสินค้าหลากหลายประเภทได้ประมาณปีเศษมาแล้ว

ปรากฏการณ์เช่นนี้มิใช่มีเฉพาะที่เมืองน้ำเงิน แต่ได้แพร่ขยายไปแทบจะทุกเมืองของทุกแขวงของ สปป.ลาว โดยเฉพาะ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

เป็นภาพสะท้อนการแผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่หยั่งรากลึกลงไปถึงระดับชุมชน

ภาพอิทธิพล “จีน” ที่มีต่อเศรษฐกิจ “ลาว” จึงมิใช่มีเพียงในระดับรัฐต่อรัฐในรูปแบบของความช่วยเหลือต่างๆ หรือในระดับวิสาหกิจที่ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจีน ได้เข้าไปควบคุม ยึดครองโครงการใหญ่ๆ ในลาว ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังเป็นที่รับทราบกันทั่วไปอยู่แล้ว

วันนี้...จีนกำลังแผ่อิทธิพลเข้าไปยึดกุมเศรษฐกิจของลาวในทุกระดับ และกำลังขยายไปสู่มิติอื่นๆ อย่างน่าจับตา!!!

“ตรุษจีนทีแทบร้างทั้งเมือง หาเฝอ (ก๋วยเตี๋ยว) กินกันแทบไม่ได้เลยล่ะ” เป็นคำยืนยันจากวิศวกรหนุ่มที่คุมงานปรับปรุงสนามบินปากเซ แขวงจำปาสัก หนึ่งในแขวงใหญ่ ทางภาคใต้ของ สปป.ลาว ยืนยันกับผู้จัดการ 360 ํ พร้อมกับย้ำว่าที่นี่เต็มไปด้วยพ่อค้าแม่ขายชาวจีน และจีนเวียด (เวียดนาม) สอดคล้องกับอาซาง เด็กหนุ่มวัย 20 ต้นๆ จากเซี่ยงไฮ้ ที่เข้ามาเปิดแผงขายโทรศัพท์มือถือ ที่ตลาดชายแดนวังเต่า แขวงจำปาสัก-ช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี ที่ตอบคำถามด้วยท่าทีระมัดระวัง แต่ชัดถ้อยชัดคำในการออกเสียงภาษาลาว ระหว่างเจรจาขายโทรศัพท์มือถือให้ลูกค้าคนลาว ว่าพ่อค้าแม่ขายในตลาดชายแดนวังเต่าแห่งนี้ ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนเซี่ยงไฮ้แทบทั้งหมด

ขณะที่คนลาวจะนำผลิตผลจากป่าในพื้นที่มาวางแผงแบกับดินจำหน่ายเป็นหลักเท่านั้น

อาซางเดินทางจากเซี่ยงไฮ้เข้ามาปักหลักที่ตลาดแห่งนี้เมื่อ 2 ปีก่อน เปิดแผงขาย โทรศัพท์มือถือ และสินค้าเครื่องหนัง-กระเป๋า (ก๊อบปี้) จากจีนไปพร้อมๆ กับเรียนรู้ภาษาลาวจนคล่อง ทำให้เขาสามารถพูดไทยได้ไปโดยปริยาย

แม้ว่าชายแดนช่องเม็ก-วังเต่าจะมีมูลค่าการค้าเกิดขึ้นเพียงปีละ 5 พันกว่าล้านบาท แยกเป็นการส่งออกของไทย 4-5 พันล้านบาท และนำเข้าจากลาวเฉลี่ย 700-900 ล้านบาทก็ตาม

แต่เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวสำคัญที่เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ

กฤษฎา ทองธรรมชาติ นายด่านศุลกากรช่องเม็ก บอกว่าที่ผ่านมาช่องเม็กมีนักท่องเที่ยวผ่านเข้า-ออกประมาณ 300,000 กว่าคนต่อปี รถยนต์ 3-4 หมื่นคันอาจจะไม่มาก แต่มีโอกาสขยายตัวแน่นอน เพราะเส้นทางคมนาคมสายนี้กำลังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

โดยถนนสายอุบลราชธานี-ช่องเม็กกำลังได้รับการขยายเป็น 4 เลน เสร็จในปี 2554 นอกจากนี้ยังมีรถโดยสารของบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) วิ่งระหว่างอุบลราช ธานี-ปากเซ เปิดให้บริการอยู่แล้ว และกำลังจะมีการเปิดเส้นทางเดินรถกรุงเทพฯ-ปากเซ ใน 2-3 เดือนต่อจากนี้ ก็จะทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวเข้า-ออกมากขึ้นตามไปด้วย

ขณะที่เส้นทางจากชายแดนช่องเม็ก-วังเต่าไปถึงปากเซ ก็เป็นถนนลาดยาง ชั้นเดียวขนาด 2 เลน และยังมีช่องทางเชื่อมต่อไปถึงเวียดนาม-กัมพูชาได้ มีแหล่ง ท่องเที่ยวสำคัญทั้งน้ำตกคอนพะเพ็ง หลี่ผี ฯลฯ นอกจากนี้ทาง สปป.ลาวกำลังผลักดันให้แขวงจำปาสักเป็นเมืองอนุรักษ์ ยิ่งจะทำให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาได้มากขึ้น

เช่นเดียวกับที่ชายแดนสะหวันนะเขตตรงข้าม จ.มุกดาหาร หรือเมืองท่าแขก แขวงคำม่วนตรงข้ามกับ จ.นครพนม ที่กำลังมีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 อยู่ในขณะนี้คาดว่าจะสามารถ เปิดใช้งานได้ราวกลางปีหน้าเป็นต้นไป (2554)

สุนทะลี กันยานุสอน ผู้อำนวยการสถานีรถขนส่งโดยสารคำม่วนที่เพิ่งเดินทาง มาลงนามในข้อตกลงเปิดเดินรถโดยสารนครพนม-คำม่วนกับ บขส.ที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่บอกว่าทั้งตลาดหลัก 2 และหลัก 3 (กม.2 และ กม.3) ของเมืองท่าแขก นอกจากจะมีสินค้าจีนตั้งแต่เครื่องอุปโภคบริโภคทั่วไปจนถึงมอเตอร์ไซค์ รถยนต์จีน เข้ามาจำหน่ายแล้ว ก็มีกลุ่มพ่อค้ารายย่อย ทั้งจีนและเวียดนามเข้ามาเช่าพื้นที่ขายสินค้ากระจายอยู่ทั้ง 2 ตลาด และย่านเศรษฐกิจที่สำคัญของเมืองท่าสำคัญแห่งนี้ด้วย

รวมไปถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษรองรับ สะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 3 ที่กำลังก่อสร้าง อยู่และรัฐบาล สปป.ลาวได้เวนคืนพื้นที่ไว้แล้วหลายร้อยเฮกตาร์ สุนทะลีเชื่อว่าหนีไม่พ้นกลุ่มทุนขนาดใหญ่จากจีน เกาหลี และเวียดนาม ที่จะเข้ามาสัมปทานเช่นกัน

ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่เมืองหลวงของ สปป.ลาว อย่างนครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อเดินลัดเลาะไปตามถนนเลียบแม่น้ำโขงฝั่งเวียงจันทน์ หลายคนอาจแวะเวียนเข้าไปที่ร้าน Walk Man Village ขนาด 2 คูหาที่เปิดพื้นที่ทั้งชั้น 1 และชั้น 2 วางขายเสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องหนัง เครื่องกีฬา ฯลฯ แบรนด์เนมเลียนแบบเกือบเหมือนจริงเต็มพื้นที่

ขาช้อปที่แวะเวียนไปที่ Walk Man Village จะเจออาหมวยหน้าตาจิ้มลิ้มวัย 20 กว่าๆ ทำหน้าที่เป็นแคชเชียร์อยู่ ถามไถ่เบื้องต้น เธอเป็นน้องสาวเจ้าของร้าน เพิ่งเดินทางมาจากปักกิ่งได้ไม่ถึง 3 เดือน จึงยังพูดภาษาลาวไม่ได้ เธอบอกว่ามาช่วยพี่ชายแท้ๆ ที่มาตกแต่งคนลาวเป็นภรรยา แล้วเปิดร้าน Walk Man Village ขายสินค้าที่นำเข้ามาจากฮ่องกง ซึ่งล่าสุดเปิดแล้ว 3 สาขาคือ ที่นครหลวง เวียงจันทน์ เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน เซโน แขวงสะหวันนะเขต และชายแดนวังเต่า-ช่องเม็ก แขวงจำปาสัก

ทั้ง 3 จุดล้วนเป็นเมืองยุทธศาสตร์ เป็นทางผ่านสำคัญของเส้นทางคมนาคมในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่กำลังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนั้น หลังจากจีนยื่นมือเข้ามาให้การช่วยเหลือ สปป.ลาวในการเตรียม ความพร้อมรองรับการเป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ เมื่อปลายปี 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยิ่งทำให้ช่องทางในการเข้ามาลงหลักปักฐาน สร้าง “China Town” ในนครหลวงเวียงจันทน์ของพ่อค้าจีนมีมากขึ้น แม้ระยะที่ผ่านมาจะยังคงมีปัญหาการเวนคืนที่ดินใกล้กับบึงธาตุหลวง รองรับนักธุรกิจ พ่อค้าจีน จนโครงการต้องล้มเลิกไปแล้วก็ตาม

แต่ล่าสุดพื้นที่ย่านริมถนนสุพานุวง (ถนนหลวงพระบางเดิม) ที่มุ่งหน้าไปยังสนามบินวัดไต ซึ่งเคยถูกใช้เป็นค่ายทหารฝรั่งเศสเดิมก็ถูกเนรมิตเป็น “ศูนย์การค้าจีน” กลางนครเวียงจันทน์ขึ้นอย่างเต็มตัวแล้ว เป็นการดำเนินการในนามบริษัท SAN JIANG จำกัด รองรับกลุ่มพ่อค้าจีนรายย่อยที่หอบลูกจูงหลานหลั่งไหลเข้ามาลงทุนเปิดร้ายขายสินค้าสารพัดชนิด ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ทั้งเสื้อผ้า ของเด็กเล่น เครื่องจักรกลการเกษตร มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ ฯลฯ นับร้อยๆ ร้านค้า

บางร้านเปิดขายเต็มตัวแล้ว แต่บางร้านก็กำลังอยู่ระหว่างตกแต่งหน้าร้าน เตรียม Grand Opening กันอยู่

และยังมีพื้นที่บางส่วนที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม รองรับกลุ่มพ่อค้า ชาวจีนกลุ่มใหม่ที่ยังคงหลั่งไหลออกมาแสวงโชคนอกแผ่นดินเกิดอยู่ไม่หยุดยั้ง

รวมถึงชาวจีนบางส่วนที่รัฐบาลลาวเปิดทางให้เข้าไปปักหลักสร้างชุมชนอยู่อาศัยย่านแดนสวรรค์ ใกล้กับเขื่อนน้ำงึม 1 เป็นการชั่วคราวอีกหลายร้อยครอบครัว

ทำนองเดียวกันกับที่ “ปากลาย” แขวงไชยะบุรีที่กำลังกลายเป็นชุมทางลาวตะวันตก ที่มีเส้นทางบกเชื่อมต่อมรดกโลกอย่างหลวงพระบาง รวมถึงนครหลวงเวียงจันทน์ หรือเมืองเศรษฐกิจอื่นๆ (อ่านเรื่อง “ปากลาย เมืองชุมทางแห่งลาวตะวันตก” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2553 หรือ www.gotomanager.com ประกอบ)

บัวพัน มักคะผน เจ้าเมืองปากลาย บอกว่ามีกลุ่มทุนจากจีนเข้ามาลงทุนตั้งไซโล ที่ปากลาย เพื่ออบแห้งพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวโพดเพื่อการส่งออกแล้ว 4 แห่ง ด้วยกัน รวมทั้งมีกลุ่มพ่อค้าจีน เข้ามาลงทุนกันมากขึ้น

ขณะที่ในตัวเมืองไชยะบุรีก็มีศูนย์การค้าจีนครบวงจรที่ดำเนินการโดยบริษัทก้าวหน้าลาว จำกัด เปิดขึ้นริมเส้นทางไชยะบุรี-หลวงพระบาง รวมไปถึงที่เมืองไชยของแขวงอุดมไชย ก็มีคนจีนเข้ามาอาศัยอยู่ถึงกว่า 30% ของคนในพื้นที่นี้ทั้งหมด

(อ่านรายละเอียดใน “เส้นทางใหม่สู่หลวงพระบาง หาใช่แค่...ไปกินมื้อเที่ยง” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนมีนาคม 2553 หรือ www.gotomanager.com ประกอบ)

เมื่อกลางปี 2550 นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม นำเสนอเรื่อง “เปิดตลาด (อินโด) จีน” เป็นเรื่องจากปก (www.gotomanager.com) ซึ่งให้ภาพการพัฒนาเส้นทางคุน-มั่น กงลู่ (คุนหมิง-กรุงเทพฯ) พร้อมกับบ่งชี้ให้เห็นว่า เส้นทางสายนี้จะเป็นช่องทางทำให้จีนเคลื่อนทะลักเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในแง่ผู้คน กลุ่มทุน และสินค้า ฯลฯ

เห็นได้จากก่อนที่ถนนคุน-มั่น กงลู่ จะเสร็จในปี 2551 ที่เมืองห้วยทราย แขวง บ่อแก้ว ก็มีกลุ่มทุนจีนเข้ามาสร้างตลาดอินโดจีน ขึ้นบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 5 และกลายเป็นศูนย์กลางจำหน่ายสินค้าจากจีนทุกชนิดตั้งแต่เมล็ดพันธุ์พืช เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า จานดาวเทียม ฯลฯ มีผู้ค้านับร้อยๆ รายที่ล้วน แต่เป็นคนจีนทั้งสิ้น

เมื่อเดินทางไปตามเส้นทางสายนี้ในเขต สปป.ลาว หรือเส้นทางสาย R3a จนถึงเมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ที่อยู่ห่างจากเมืองห้วยทรายไปประมาณ 240 กม. อันเปรียบได้เป็น Gate Way ของแขวงทางตอนเหนือของลาวที่มีเส้นทางบกเชื่อมไปยังแขวงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเวียงจันทน์ เมืองเดียนเบียนฟูของเวียดนาม เมืองสิงห์และเชียงตุง เขตรัฐฉานของพม่า ตลอดจน เชียงรุ่ง หรือสิบสองปันนา มณฑลหยุน หนัน ล้วนมีกลุ่มทุนจีนทั้งเล็ก-ใหญ่เข้ามา ปักหลักลงทุนในกิจการน้อยใหญ่เป็นจำนวน มาก ครอบคลุมทั้งการลงทุนด้านการเกษตร โรงแรม ท่องเที่ยว อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ค้าปลีก โลจิสติกส์ (Logistic) ฯลฯ

ที่สำคัญ 95% ของสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคที่วางจำหน่ายในหลวงน้ำทา ล้วนเป็นสินค้าจีนทั้งสิ้น

รวมไปถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ที่รัฐบาล สปป.ลาว ให้สัมปทานแก่กลุ่มทุนจีน เข้ามาพัฒนาพื้นที่ชายแดนบ่อเต็น-บ่อหาน (พรมแดนลาว-จีน) จุดสิ้นสุดเส้นทาง R3a ที่ได้กลาย เป็นเมืองใหม่ของจีน ใน สปป.ลาวเต็มตัวไปแล้ว

(อ่านรายละเอียดใน “คุน-มั่น กงลู่” เส้นทางจีนสู่อาเซียน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม 2551 และ “สัมปทานรถโดยสารสาย R3a ที่สุดก็กลุ่มทุนจีน... (อีกแล้ว)” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนมิถุนายน 2552 หรือ www.goto manager.com ประกอบ)

เช่นเดียวกับพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง แถบสามเหลี่ยมทองคำ ฝั่งเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ที่กำลังถูกพลิกโฉมหน้าจากหมู่บ้านเล็กๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขงในอดีตให้เป็นย่านเศรษฐกิจ การค้าและบันเทิง โดยกลุ่มทุน ใหญ่จากจีน ในนามกลุ่ม “ดอกงิ้วคำ” ที่ดำเนินโครงการ Kings Romans of Laos Asian & Tourism Development Zone ที่เข้ามาลงทุนพัฒนาพื้นที่แถบสามเหลี่ยมทองคำฝั่ง สปป.ลาว สร้างเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์-โครงการต่อเนื่อง มูลค่านับหมื่นล้านบาท บนเนื้อที่ 7,500 ไร่ ภายใต้สัญญาสัมปทานพื้นที่ 99 ปี (จากเดิมที่ได้รับสัมปทาน 5,168.75 ไร่ อายุสัมปทาน 15 ปี)

ซึ่งจนถึงขณะนี้ได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 3 แล้ว จากที่ตั้งเป้าให้โครงการแล้วเสร็จ ภายใน 10 ปี โดยแผนพัฒนาบางส่วนเสร็จแล้ว เช่น โรงแรมสวนงิ้วคำ ขนาด 3 ดาวจำนวน 3 แห่งรวมห้องพัก 700 ห้อง สนามแข่งม้า ถนนโครงข่ายภายในโครงการพื้นที่ทางการเกษตร ท่าเรือ ด่านพรมแดน บ่อนกาสิโนแห่งที่ 1 ฯลฯ คิดเป็นประมาณ 30% ของโครงการทั้งหมด

ล่าสุดกำลังอยู่ในช่วงก่อสร้างห้างสรรพสินค้า เขตการค้าเสรี สถานบันเทิงบนเกาะดอนซาว เขื่อนเรียงหินริมฝั่งแม่น้ำโขงเพื่อป้องกันตลิ่งพัง และสนามบินเพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างได้ในอีก 1-2 ปีนี้ รวมทั้งสนามกอล์ฟ โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะก่อสร้างถนนสายเมืองมอม (เมืองหน้าด่านริมฝั่งแม่น้ำโขง ของ สปป.ลาว ตั้งอยู่เหนือสามเหลี่ยมทองคำ ตรงข้ามบ้านปง หรือเมืองพง ของพม่าเป็น 1 ในจุดที่มีการก่อสร้างท่าเรือริมแม่น้ำโขง ตามข้อตกลงการเดินเรือเพื่อการพาณิชย์ ในแม่น้ำโขง (ล้านช้าง)-ห้วยทราย เพื่อนำไปสู่การก่อสร้างบ่อนกาสิโนแห่งใหม่ ขนาดเทียบเท่ากับบ่อนกาสิโนที่มาเก๊า

(อ่านรายละเอียดในเรื่อง “เซินเจิ้นลาวบนสามเหลี่ยมทองคำ” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนมีนาคม 2552 หรือ www.gotomanager.com ประกอบ)

ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้กำลังถูกเฝ้ามองจากสังคมพื้นถิ่นของ สปป.ลาว ด้วยความวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ในที่สุดกลุ่มชาวจีนจะรุกเข้ามายึดกุมระบบเศรษฐกิจตาม จุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ไปอย่างเบ็ดเสร็จ ขณะที่คนลาวจะถูกเบียดไปอยู่ชายขอบแทน

โดยหลายคนสะท้อนออกมาว่าพวกเขายังสงสัยไม่หายว่า พ่อค้าจีนเข้ามาอยู่ได้อย่างไร

ทั้งที่สินค้าที่นำมาขาย ล้วนแต่ราคาถูกแสนถูก ไม่รู้เอากำไรมาจากไหน แถมต้องแบกค่าเช่า ที่ต้องยอมรับว่าพ่อค้าชาวจีนสู้ราคา จนทำให้ราคาที่ดิน-ค่าเช่าอาคาร ตามหัวเมืองยุทธศาสตร์ทั่ว สปป.ลาว รวมถึงนครหลวงเวียงจันทน์พุ่งสูงขึ้นจนเกินกำลังคนท้องถิ่นที่จะเช่าหรือซื้อได้แล้ว

แน่นอน ความวิตกกังวลนี้บ่งบอกถึงอนาคตที่คนลาวต้องเผชิญอยู่ด้วย

ทำนองเดียวกัน ปรากฏการณ์คนจีนบนแผ่นดินลาวก็เป็นบทเรียนที่น่าศึกษายิ่งสำหรับไทย   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us