“พูดง่ายแต่ทำยาก” เป็นวลีที่คีรี กาญจนพาสน์ หรือหว่อง ท่ง ซัน ประธานกรรมการบริหาร BTS Group Holding ย้ำให้ฟังอยู่หลายครั้ง เมื่อถูกถามถึงกระบวนทัศน์และศักยภาพการฟื้นฟูกลุ่มธุรกิจ BTS และธนายงกรุ๊ป
ตลอดสิบปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ หนี้สินลดลงจากหลักแสนล้านเหลือเพียงหมื่นล้านบาท คีรีใช้ยุทธศาสตร์การบริหารธุรกิจยามวิกฤติด้วย Survival Strategies ที่พลิกวิกฤติเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนใหม่ได้อย่างไร?
ปรากฏการณ์ “งูกินช้าง” ที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง BTS กับธนายง หลังจากออกจากกระบวนการแผนฟื้นฟูกิจการ ถือเป็นหนึ่งยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้แล้วในแผน แม้ว่าจะล่าช้าไปเป็นปีเพราะปัจจัยไม่เอื้ออำนวย แต่เมื่อดีล BTS+TYONG สำเร็จเมื่อพฤษภาคม 2553 ก็ทำให้เกิดมูลค่าหุ้นในตลาดกว่า 5 หมื่นล้าน โดยยกเลิกใช้ชื่อ TYONG เปลี่ยนชื่อเป็น BTS รวมทั้งได้ ย้ายจากหมวดอสังหาริมทรัพย์มาอยู่ในหมวดขนส่งและโลจิสติกส์ ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้วย
“ธนายงปีที่แล้วมีกำไรสองร้อยล้าน ผมถึงเปรียบเทียบเหมือนงูที่ตัวเล็กกว่ากินช้าง นี่เป็นภาษาจีนที่ใช้กันมากในฮ่องกง ผมนำมาอธิบายว่าบริษัทเล็กกินบริษัทใหญ่ พอ merge เสร็จ บริษัทก็จะมั่นคงสมบูรณ์และเดินหน้าได้แล้ว” คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ BTS Group Holding PCL เล่าให้ฟัง
หากเปรียบเทียบก่อนและหลังควบรวมกิจการซื้อบริษัท BTSC จะพบว่าโครงสร้างรายได้-กำไร-ฐานะการเงินของ TYONG หรือ BTS เปลี่ยนไปในทางดีขึ้น เช่น รายได้เดิมก่อนควบรวม ส่วน ใหญ่ TYONG มีรายได้จากค่ารับเหมาก่อสร้างสูงถึง 71.6% แต่คาดว่าปีหน้ารายได้หลัก 61.3% จะมาจากค่าโดยสาร ส่วนกำไรจากเดิมที่เคยขาดทุนประมาณปีละ 165 ล้านบาท ก็จะพลิกฟื้นเป็นกำไรสุทธิที่ 674 ล้านบาท โดยมีบริษัท VGI Global Media สร้างผลกำไรจากธุรกิจโฆษณานอกบ้าน (Out of Home Media) ได้มากถึง 58% ของกำไรสุทธิทั้งหมด รองมาก็คือกำไรจากธุรกิจรถไฟฟ้า (ดูตารางผลประกอบการ)
ด้วยเหตุนี้ ฐานะการเงินก่อนปรับโครงสร้างหนี้ BTSC ที่เคย ติดลบ 16,247 ล้านบาทและมีภาระหนี้สินสูงมาก 59,834 ล้านบาท แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการแผนฟื้นฟูได้มีการปรับโครงสร้างหนี้โดยการชำระหนี้เป็นเงินสดรวมราว 23,514 ล้านบาท แปลงหนี้เป็นทุน อีก 16,339 ล้านบาท และปลดภาระหนี้ในส่วนดอกเบี้ยราว 19,343 ล้านบาท ภายหลังออกหุ้นกู้จำนวน 11,873.63 ล้านบาทในปี 2552 จึงทำให้บริษัทสามารถลดภาระหนี้สินลงได้สูงถึง 47,359 ล้านบาท เหลือเพียง 12,475 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 38,703 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553
“วันนี้เจ้าหนี้รายใหญ่ของผมคือผู้ถือหุ้น ที่ถือพันธบัตรของ BTS โดยผมออกครั้งเดียวเมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว อายุพันธบัตร 7 ปี เป็น Long term Liability แต่ที่มีการลดทุนเพิ่มทุนในอดีต ตอนนี้ เราคืนหนี้หมดแล้ว 2.2 หมื่นล้านบาท” คีรีชี้แจงการปลดหนี้ให้ฟัง
ปัจจุบันราคาหุ้นของ BTS สะท้อนภาพส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจได้ดี มูลค่าหุ้นในตลาด (Market Cap.) ราว 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะดึงดูดนักลงทุนสถาบันรายใหญ่เข้ามาสนใจลงทุน
“ตอนเพิ่มทุน เราไม่มี IPO มีแต่ RO หรือ Right Offering เราระดมทุนจากตลาดได้ 1.2 หมื่นล้านบาทและตัว BTS เอง ถ้าต้องการจะระดมทุนเพื่อซื้อรถไฟฟ้าขบวนใหม่ เราก็สามารถทำ ได้อีก”
ล่าสุดรถไฟฟ้าขบวนใหม่ 12 ตู้ที่ผลิตโดยบริษัทอุตสาหกรรม ยักษ์ใหญ่ของจีน Changchun Railway Vehicles ก็เพิ่งทำพิธีรับ มอบอย่างเป็นทางการที่ท่าเรือแหลมฉบังเมื่อปลายมิถุนายนที่ผ่าน มาโดยเจ้าภาพเชิญผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร, เอกอัครราชทูตจีน และ Dong Xiaofeng ประธานกรรมการบริษัท Changchun Railway ซึ่งถูกจับตามองถึงบทบาท การลงทุนตั้งโรงงานผลิตและประกอบรถไฟฟ้าระบบรางในภูมิภาค อาเซียน ที่แต่ละรัฐบาลจัดสรรงบประมาณมหาศาล เพื่อขยายโครงข่ายคมนาคมขนส่งระบบรางเชื่อมโยงถึงกันในอนาคต โดยผู้ลงทุนจะได้สิทธิประโยชน์ด้าน FTA ด้วย
“ถ้าหากในอนาคต เขาจะมาตั้งโรงงานที่นี่ก็ต้องตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาอีกบริษัทหนึ่ง เพื่อจะผลิตรถบนรางขายในไทยและภูมิภาคอาเซียนนี้ ถ้าเขาชวนผม ผมก็จะถือหุ้นน้อยมาก เพราะเราเป็นบริษัทเดินรถไฟฟ้า ไม่ใช่ Manufacturer หรือโรงงานอุตสาหกรรม” คีรียืนยันถึงจุดยืนของ BTS
ด้วยสายสัมพันธ์ Oversea Chinese Connections ของคีรี กาญจนพาสน์ ซึ่งเกิดในเมืองไทยแต่ไปใหญ่ในฮ่องกง ก่อนจะ มาปักหลักขยายฐานธุรกิจตนเองที่ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2531 เขาเป็นบุตรชายคนที่ 7 ใน 11 คนของมงคล กาญจนพาสน์ ไทคูนผู้สร้างฐานะความมั่งคั่งร่ำรวยมาจากธุรกิจนาฬิกาและเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ผืนใหญ่ทำเลงามหลายแห่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่นที่เมืองทองธานี ซึ่งปัจจุบันเป็นสินทรัพย์ที่บริหารโดยครอบครัวของพี่ชายคีรีคือ อนันต์ กาญจนพาสน์
คีรีกล้าก้าวไปใหญ่มากกว่าที่รุ่นพ่อเคยทำมา จากความมั่นใจที่เป็นผู้นำโมเดลการทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในฮ่องกง สู่เมืองไทยในต้นทศวรรษ 2530 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงชีวิตรุ่งโรจน์ของคีรี ทำการสิ่งใดก็ประสบความสำเร็จโดยง่าย ไม่ว่าการลงทุนในธุรกิจที่ฮ่องกงด้านอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม ภัตตาคาร โดยใช้ฐาน การระดมทุนจากบริษัท วาเคไทย ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ฮ่องกง ทำธุรกิจหลากหลายประเภท เช่น พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นผู้ได้สิทธิ์เช่าใช้แบรนด์เนม Puma ทั่วเอเชีย ทำกิจการภัตตาคาร 40-50 แห่งในนาม “TIN TIN SEAFOOD restaurant” และธุรกิจโรงแรม Eastin
คีรีย้อนความรู้สึกขณะนั้นให้ฟังว่า “ทุกอย่างมันสำเร็จได้ง่ายไปหมดในช่วงที่ฮ่องกงบูม คนลงทุนทำอะไรก็กำไรง่าย ลงทุน ด้านหุ้นก็กำไรง่าย ลงทุนอสังหาฯ ก็ดี ลงทุนทำธุรกิจก็ฟู่ฟ่า เพราะฮ่องกงเป็น hub ของโลกก่อนปี 1997”
แต่ความสำเร็จที่คีรีบอกว่าได้มาโดยง่าย กลายเป็นกับดักที่ล่อให้เขาคิดใหญ่ ทำเร็ว และมั่นใจในศักยภาพทางธุรกิจของตนเอง เขาจึงได้กระทำการใหญ่ระดับเมกะโปรเจ็กต์ คือ โครงการขนส่งมวลชนระบบรถไฟฟ้าของกรุงเทพมหานคร หรือ BTS ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนทัศน์การทำธุรกิจใหม่ที่ exclusive-expensive และใหญ่ที่สุดของเมืองไทยขณะนั้น ที่ฉีกแนวออกจากฐานเดิมของ ตระกูลกาญจนพาสน์ ซึ่งมีแนวความคิดเชิงอนุรักษ์ Conservative มากกว่า
“ผมคิดว่าถ้าเราสามารถทำงาน “ใหญ่” ได้ ทำ “งานใหญ่” ดีกว่า ไม่ใช่เรื่องผิดถ้าผมทำได้ เพราะว่าในโลกนี้เรามีค่าใช้จ่ายเท่ากันไม่ว่าทำเล็กหรือทำใหญ่ เช่น จ้างผู้เชี่ยวชาญเงินเดือนเป็นแสนเป็นล้าน หรือนั่งเครื่องบินเฟิร์สคลาสหรือเช่าเหมาลำ มันก็เท่านั้นแหละ มันเป็น fix cost เท่ากัน แต่สำคัญที่ศักยภาพของคุณว่ามีคนซัพพอร์ตไหม? แบงก์ให้เงินกู้คุณทำโครงการไหม? ผมจึงคิดว่าทำใหญ่ดีกว่าทำแบบเล็กๆ ตอนนี้ผมต้องรอบคอบ แต่ก็ยังคิดอะไรที่ใหญ่ไว้ก่อน ผมไม่อยากทำอะไรที่เสียเวลาและเล็กๆ” นี่คือตรรกะทางธุรกิจของคีรี
BTSC รับสัมปทานเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2535 และได้ลงนามสัญญาสัมปทานกับกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2535 ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม สัญญาสัมปทาน เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2538 และวันที่ 28 มิถุนายน 2538
“ผมขนเงินจากวาเคไทยที่ฮ่องกงมาลงทุนที่บริษัทธนายง ซึ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ไทยในปี 1992 (พ.ศ.2532) และเข้าไปประมูลทำโครงการรถไฟฟ้ายุคคุณจำลอง ศรีเมืองเป็นผู้ว่า กทม. ที่ปัดฝุ่นโครงการนี้หลังจากที่บริษัทลาวาลินไม่ทำ พอเราประมูลได้ ในปี 1997 ก็_ิบหาย และในปี 1999 BTS ทำพิธีเปิดเดินรถครั้งแรก ผมเดินไปงาน...แบบไปแต่ตัว แต่วิญญาณไม่ได้ไปด้วย ตอนนั้นแย่มากๆ เพราะเราเอาทุกอย่างที่ฮ่องกงมาถือที่นี่ พอที่นี่เงินบาทลอยตัวก็ฉุดธุรกิจเราที่ฮ่องกงขาดทุนหนัก พอขาดทุนปั๊บ!! เจ้าหนี้ แบงก์มาทวงทันที...เขามากันเร็วมาก เพราะใครมาก่อนก็ได้ก่อน”
วิกฤตินี้พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน นักธุรกิจทั่ว เอเชียถึงกับล้มทั้งยืน เพราะค่าเงินบาทที่ลอยตัว จาก 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ พุ่งขึ้นเป็น 50 กว่าบาทหรือถึง 60 บาท มันเกิดขึ้นจริงๆ! ขณะ นั้นโครงการรถไฟฟ้า BTS มูลค่ามหาศาลถึง 54,925 ล้านบาท มีหนี้สินค่าใช้จ่ายบานปลายขึ้นอีกหลายเท่าตัว จากเดิมที่คิดจะสร้างแค่ 13 กิโลเมตรครึ่ง แต่โดยสภาวการณ์บังคับต้องขยาย เป็น 24 กิโลเมตร บริษัท BTS ต้องแบกภาระดอกเบี้ยวันละ 10 ล้าน ทั้งนี้เพราะจังหวะของการเปิดวิ่งรถ BTS ล่าช้าต้องเลื่อนเป็นปี 2542 คีรีเคยกล่าวว่า “เสียในสิ่งที่ไม่ควรเสีย”
“ผมยังจำได้ว่า วันหนึ่งผมได้รับคำเชิญจาก ดร.โอฬาร ไชยประวัติให้เข้าไปในงาน CEO Forum ท่านก็บรรยายทุกครั้งว่า ไม่มีการลดค่าเงินบาทๆ ผมยังจำได้ ผมมั่นใจเต็มที่ว่า ไม่มีการลดค่าเงินบาทและไปฮ่องกง วันนั้นแหละ แต่พอตื่นเช้าขึ้นมา มีคนโทรมาบอกว่า เงินบาทไทย ลอยตัว ผมก็ดีดลูกคิดได้เลยว่า ไปแล้ว... เรียบร้อย!!?? ภาระหนี้แสนล้านบาททั้งสามบริษัทและทุกสัญญากู้ แบงก์ก็จับผมไปค้ำประกันเป็น personel quarantee หมด แต่ผมไม่ได้ lost ธุรกิจ แต่นั่นมันเป็นภาระหนี้ที่ผมต้องรับผิดชอบหนี้ที่กู้ยืมมา ผมกู้และออกมาในรูปของพันธบัตร Bond ไม่ใช่หนี้ส่วนตัว”
คีรีถูกวิกฤตการณ์นี้บังคับให้ต้องเปลี่ยนจากคนคิดเร็วทำเร็ว เป็นคนรอบคอบระมัดระวังมากขึ้นและปรึกษาคนอื่นมากขึ้นกว่าคิดและทำโดยลำพัง และไม่หวนคิดถึงความสำเร็จอันง่ายดายในอดีต หากยกคำพูดของ Alvin Tofler ที่เคยบอกว่ากฎข้อแรกของความอยู่รอด คือต้องลืมความรุ่งโรจน์ในอดีตให้ได้เสียก่อนจึงจะเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ ได้สำเร็จ (The first rule of survival is clear, nothing’s more dangerous than yesterday’s success)
“โดยส่วนตัว ผมจะรอบคอบขึ้น แต่ไม่สุขุมเท่าไหร่ เพราะ ถ้าผมสุขุมมาก ผมทำงานมากๆ ไม่ได้แบบนี้ ผมเป็นคนใจร้อน คิดมองอะไรไกลกว่าคนอื่น ซึ่งจะเป็นปัญหาที่คนอื่นๆ เขาจะตาม ผมไม่ทัน ผมก็ให้เวลาและโอกาส ผมจะไม่ตัดสินใจคนเดียวแต่จะมีบอร์ดร่วมด้วย และผมรับฟังความคิดเห็นมากขึ้น แต่ผมก็เชื่อว่าเมื่อก่อนผมไม่ผิดเพราะถามว่าย้อนเวลากลับไป โครงการรถไฟฟ้าจะเกิดไหม? ผมคิดว่าคณะกรรมการทั้งหมดคงไม่ให้ผมทำแน่นอน และถ้าถามเตี่ยผมว่าอยากให้ผมทำไหม? เตี่ยจะตอบ ว่าไม่ให้ทำ! ไม่ใช่เตี่ยไม่เห็นด้วยแต่คงคิดว่า เอ...ทำไมคนอื่นไม่ทำ? มันลงทุนยาวและเงินก้อนใหญ่ คุณอาจใช้เงินก้อนนี้ 12,000 ล้านบาท เฉพาะ equity เอาไปลงทุนทำอย่างอื่นกำไรดีกว่า แต่ในทางกลับกัน ถ้าคุณมีศักยภาพทำรถไฟฟ้านี้ได้ มันมั่นคง”
ก่อนและหลังฟื้นฟู โชคดีที่เขายังคงมีพันธมิตรธุรกิจสำคัญ เช่น New World Group ซึ่งเป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่แห่งฮ่องกง โดยมี Mr.Cheng Yu Tong เป็นประธาน
“ดร.เจ็งยู่ท่งเป็นผู้ก่อตั้งนิวเวิลด์กรุ๊ป และรู้จักกับคุณพ่อและครอบครัวผมเป็นอย่างดี ผมรู้จักท่านมากกว่าลูกชายของท่าน เสียอีก ท่านอายุ 80 ขณะที่ผมอายุ 60 แต่เราคุยกันรู้เรื่อง”
นอกจากนี้ยังมีผู้ถือหุ้นใหญ่ต่างประเทศที่เข้ามาช่วยถือหุ้น BTS ในช่วงวิกฤติอีกรายคือ กลุ่ม Dubai International Group (DIG) ซึ่งต่อมาภายหลังได้ลดการถือครองหุ้นลดลงเหลือไม่มากนัก เพราะเศรษฐกิจของประเทศดูไบประสบปัญหารุนแรง จึงต้องขายหุ้นออกไปโดยคีรีได้รับซื้อไว้
ถึงแม้วิบากกรรมที่คีรีประสบตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจ 2540 สร้างอุปสรรคทางด้านการเงินมากมายเป็นต้นมา แต่เขาก็สามารถ สร้างยุทธศาสตร์ความคิดใหม่เพื่อความอยู่รอดได้สำเร็จ เพราะถ้าเปรียบการดำเนินโครงการใหญ่รถไฟฟ้า BTS เหมือน การเดินทัพ ไกลหมื่นลี้ ยามรบชนะศึกก็ฮึกเหิม ยามพ่ายแพ้ก็ต้องรู้จักถอย แต่ยังไม่ละทิ้งความเชื่อมั่นและรักษาใจให้สู้ฝ่าขวากหนามและนักการเมือง สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่มีสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็น รมว.คมนาคม และสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ ที่หมายใช้ อำนาจรัฐฮุบโครงการนี้ไว้ด้วยเงื่อนไขบีบบังคับ BTS ให้ยอมจำนน แต่คีรีเป็นนักสู้ผู้ไม่ยอมแพ้จึงยืนหยัดแก้ปัญหาใหญ่ทีละเรื่องอย่างชาญฉลาด
“ผมเลือกเข้ามาในธุรกิจ Transportion ไม่ใช่เรื่องผิดหรอก เพราะว่าการลงทุนด้าน infrastructure โดยเฉพาะเรื่องการจราจร ขนส่ง เป็นเรื่องที่ทำยากมากแต่มั่นคง ตลอดสิบปีที่ผมได้คือความภาคภูมิใจ แม้ในยามวิกฤติที่ผู้ถือหุ้นธนายงต้องเสียหายจากราคา หุ้นต่ำสุดๆ และไม่ได้รับปันผลเป็นสิบปี แต่ทุกครั้งที่มีการประชุม ผู้ถือหุ้น ผมได้รับเสียงขานรับสนับสนุนมากกว่าต่อว่า ทุกคนเห็นใจ และคิดว่าผมทำได้ดีที่สุดแล้ว และมีสิ่งหนึ่งที่ผมอยากบอกว่า นอกจากตัวผมเองจะยืนหยัดช่วยตัวเองแล้ว ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ยิ่งใหญ่มากคือพนักงานและผู้บริหารของ BTS ที่ยืนหยัดในโครงการที่เขาคิดว่ามีประโยชน์ต่อสังคม ผมจะไม่ทำให้เขาผิดหวัง” คีรีกล่าว
ในประวัติศาสตร์คมนาคมไทย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ถือเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจสัมปทานรถไฟฟ้าเป็นรายแรกของประเทศไทย มีอายุสัมปทาน 30 ปี ตั้งแต่ 5 ธันวาคม 2542 ถึง 5 ธันวาคม 2572 โดยมีเส้นทางสายสีเขียวเดินรถไฟฟ้า 2 สายคือสายสีลมและสายสุขุมวิท ระยะ ทาง 23.5 กม. รวม 23 สถานี (ยังไม่รวมส่วนต่อการบริหารส่วนต่อ ขยายสายสีลมไปตากสิน-วงเวียนใหญ่อีก 2.2 กม.) โดยมีขบวนรถไฟฟ้าเดิม 35 คัน คันละ 3 ตู้ วิ่งสายสุขุมวิท ส่วนสายสีลมได้มี การวางแผนใช้ขบวนรถไฟฟ้าใหม่เอี่ยมที่สั่งจากจีน 12 คัน คันละ 4 ตู้ให้บริการปีที่แล้ว BTS ให้บริการผู้โดยสาร 136 ล้านคน โดย สถิติสูงสุดระหว่างเดือน มิ.ย-ธ.ค.สูงถึงวันละ 448,362 คน รายได้ เฉลี่ยต่อวันมากกว่า 10 ล้านบาท และอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยสิบปีโต 11% (ดูตารางเส้นทางเดินรถ BTS)
คีรีเล่าให้ฟังว่า “จริงๆ แล้วก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ โปรเจ็กต์ ชั่นต่างๆ ที่เราคาดการณ์ไว้ หลังจากประมูลรถไฟฟ้าได้มา เราคิดว่าในปีต้นๆ อาจจะลำบาก แต่ก็คุ้มค่าเพราะความต้องการของ คนกรุงเทพฯ สูงแน่ จำได้ไหมว่าในปี 1992-1993 เศรษฐกิจไทยบูมมาก ผมจำได้ว่า ผมไปซื้อตึกทานตะวันซึ่งตอนนี้ก็เป็นของเรา ผมซื้อกับทางบริษัทแปซิฟิกฯ ของวินัย พงศธร เชื่อไหมว่าผมต้อง ไปง้อเขา และเซ็นสัญญาตอน “ตีสี่” กลัวเขาจะไม่ขาย เพราะดีมานด์มหาศาล และผมก็ขอซื้อออฟฟิศของ Herald Link ซึ่งเขาก็หาว่าผมดูถูกเขาอีก คือทุกอย่างมันบูมมาก ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามนั้น ถ้ารถไฟฟ้าสร้างเสร็จก็จะมีคนมหาศาล
แต่ความจริงคือเมื่อสร้างรถไฟฟ้าเสร็จและเดินรถในปี 1999 ทั้งประเทศตกอยู่ใน crisis สถาบันการเงินล้ม โครงการสร้างคอนโด และออฟฟิศต่างๆ ไม่ได้สร้าง คนว่างงาน นักลงทุนต่างประเทศน้อย คนนั่ง BTS น้อยมาก แถมยังเห็นเป็นของใหม่และแปลก บางคนยังบอกว่าขึ้นไปได้อย่างไร เดี๋ยวตกลงมาจะทำอย่างไร? บางคนก็ถามวิธีสอดบัตรเข้าไปแล้วออกไม่ได้ก็มี”
แต่ปัจจุบัน คนกรุงเทพฯ ต้องการ BTS มากกว่าที่เคยเป็นมาเพราะปัญหาจราจรวิกฤติ แต่ต้องรอนานเพราะอุปสรรคจากกฎหมาย พ.ร.บ.ร่วมทุนที่มีขั้นตอนกระบวนการนานนับสามปี ถึง กระนั้นกระบวนทัศน์ทางธุรกิจรถไฟฟ้าก็จำเป็นที่ต้องทำ “ยิ่งขยายยิ่งโต” เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุดเท่าที่เส้นทางจะไปให้ถึง ทำให้โอกาสธุรกิจ BTS ที่มีความเชี่ยวชาญชำนาญการเดินรถระบบรางไฟฟ้าเพียงรายเดียว และมีต้นทุนการบริหารระบบต่ำ จึงมีโอกาสมากที่จะได้รับสัญญาบริหารการเดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียว 3 เส้นทาง
คือช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง จำนวน 3 สถานี อยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะเปิดให้บริการกลางปี 2554 และช่วงวงเวียนใหญ่-บางหว้า จำนวน 4 สถานี อยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่า จะเปิดให้บริการปลายปี 2555
ส่วนช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ จำนวน 12 สถานีอยู่ระหว่าง เตรียมงานประมูลโครงสร้าง พื้นฐาน คาดเปิดให้บริการปี 2557
เช่นเดียวกับช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการจำนวน 9 สถานี อยู่ระหว่างเปิดประมูลงานโครงสร้างพื้นฐาน คาดเปิดให้บริการปี 2557
“วันนี้เราเดินรถอยู่ใน footprint หรือ network ระยะทาง 23.5 กิโลเมตร บวกกับส่วนต่อขยาย 2.2 กม.และบวกเส้นทาง BRT อีก 15 กิโลเมตร รวมทั้งหมด 40.7 กิโลเมตร ประกอบกับปีหน้า เวลานี้ขยายต่อเส้นทางสุขุมวิทไปแบริ่งอีก 5.2 กม. บางหว้าอีก 5.8 กม. รวมกันเท่ากับ 11 กิโลเมตร รวมทั้งหมด 51.7 กิโลเมตร และ เราสามารถให้บริการกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น ผมมั่นใจว่าเราจะประมูลได้และจะได้ทำแน่ เพราะเป็นโครงการต่อเนื่องกับสายเดิม ซึ่งไม่มีใครสามารถทำได้ ดังนั้น ปีหน้าเส้นทาง BTS จะเดินรถประมาณ 51.7 กม. และโครงการธุรกิจด้านเดินรถใหญ่ขึ้นแน่นอน แต่ตอบไม่ได้ว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว?” นี่คือความหมายของระบบขนส่งมวลชน แท้จริงที่เป็นกลไก สร้างความมั่นคงและแข็งแรงของธุรกิจ BTS
ล่าสุดผลประกอบการของ BTS จากรายงานประจำปี 2008-2009 มีกำไรก่อนหักภาษี-ดอกเบี้ย-ค่าเสื่อม 2,106.89 ล้านบาท หรือเท่ากับ 64% ของรายได้จากค่าโดยสารที่เก็บได้ปีที่แล้ว 3,288 ล้านบาท
คีรีชี้ให้เห็นว่า “จะเห็นได้ชัดๆ ว่า ด้านรายได้ กลุ่มของรถไฟฟ้า BTSC จะวิ่งได้เร็วกว่ากลุ่มอสังหา ริมทรัพย์แน่นอน ถือว่าเป็น Cash cow เพราะอสังหาฯ ขณะนี้ไม่ได้ถือว่าเป็น Core Business แต่เป็น Business เสริม”
ศักยภาพทางธุรกิจของรถไฟฟ้า BTS ขณะนี้จึงเป็นหัวรถจักร ที่นำพาธุรกิจอื่นๆ อีก 4 กลุ่มเติบโตไปด้วย ประกอบด้วย (ดูตารางโครงสร้างธุรกิจ BTS Group Holding)
หนึ่ง-กลุ่มบริษัท BTSC นำโดยคีรี กาญจนพาสน์ เป็น Executive Chairman และ CEO
ปัจจุบันบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือเรียกย่อๆ ว่า BTSC ดำเนินธุรกิจรถไฟฟ้า BTS และรับบริหารจัดการ Bangkok BRT ของบริษัทกรุงเทพธนาคมซึ่งได้เปิดทดลองใช้ให้ประชาชนโดยสารฟรีสามเดือน
สอง-กลุ่มบริษัท VGI Global Media บริหารโดยมารุต อรรถไกวัลวที เป็น Chief of Executive
เป็น Profit Center ของ BTS ที่มีมาร์จิ้นทางธุรกิจสูง เพราะความเป็นผู้นำในตลาดธุรกิจโฆษณาที่ Exclusive และเป็นธุรกิจบริหารจัดการพื้นที่โฆษณา Out of Home Media บนพื้นที่ ของรถไฟฟ้า BTS และ Modern Trade เช่น เทสโก้โลตัส บิ๊กซีและคาร์ฟูร์
“บนพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแรงสองกิจการคือ BTS และ VGI ที่ ประสบความสำเร็จมากในธุรกิจโฆษณา Out of Home Media อันดับต้นๆ และรับสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่ใน BTS ตอนนี้ VGI ยังไม่ได้ขายพื้นที่ใหม่ที่ทางกทม.สร้างต่อขยายไปยังตากสินและวงเวียนใหญ่ เพราะทาง กทม.ยังหา Solutions ไม่ได้” VGI จึงเป็น ธุรกิจที่ทำกำไรให้กับ BTS ดังคำที่คีรีเล่าให้ฟัง
สาม-กลุ่มบริษัท BTS Assets บริหารโดยกวิน กาญจนพาสน์ เป็น Chief of Executive
ภายใต้ความรับผิดชอบด้านบริหารของกวิน กาญจนพาสน์ บุตรชายคนโตของคีรี เขามีหน้าที่ต้องดูแลโครงการพัฒนาที่ดิน 5 แปลงของบริษัทที่ตั้งอยู่ในแนวรถไฟฟ้า BTS ซึ่งถือว่าเป็นทำเลทอง ที่จะสร้างรายได้ให้ BTS ในอนาคต ได้แก่
แปลงที่หนึ่ง-ที่ดินสองไร่ใกล้สถานีพญาไท ซึ่งขณะนี้กำลังออกแบบโรงแรม Langham Phayathai เป็นโครงการโรงแรมขนาด 400 ห้อง ตั้งอยู่ใกล้รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ จับกลุ่มเป้าหมาย เป็นนักเดินทางต่างประเทศ
แปลงที่สอง-ที่ดินติดกับสถานีรถไฟฟ้านานา ถนนสุขุมวิท อยู่ระหว่างออกแบบโครงการโรงแรม Langham สุขุมวิท ที่มีขนาด 210 ห้อง และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์อีก 128 ห้อง
แปลงที่สาม-พื้นที่สองไร่เศษติดสถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์ ขณะนี้ กำลังก่อสร้างโรงแรม Four Points by Sheraton เป็นโรงแรมสี่ดาว ขนาด 430 ห้อง คาดว่าแล้วเสร็จกลางปีหน้า ใช้เงินลงทุน 3,000 ล้านบาท
แปลงที่สี่-พื้นที่ 15 ไร่ใกล้สำนักงานใหญ่ BTS และติดกับสถานีต้นทางหมอชิต อยู่ระหว่างศึกษาโครงการก่อสร้าง JJ Park เป็นคอนโดมิเนียมที่อยู่อาศัยและออฟฟิศคอนโดมิเนียม
แปลงที่ห้า-พื้นที่ 26 ไร่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลาดพร้าว ปัจจุบันได้เปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหญ่ บนถนนพหลโยธิน “Abstracts พหลโยธิน พาร์ค” ทำเลใกล้โลตัสลาดพร้าวและเซ็นทรัล ลาดพร้าว เปิดเฟสแรกจำนวน 1,012 ยูนิต จากทั้งหมด 3 เฟส ราคาขายเฉลี่ยตารางเมตรละ 70,000-72,000 บาท/ตารางเมตร คาดว่าจะสร้างเสร็จปี 2555 ประเมินต้นทุนโครงการ 8,700 ล้านบาท ใช้เงินทุนหมุนเวียน 2,001 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นเงินกู้โครงการ
จริงๆ แล้ว สิบปีที่ผ่านมาของ BTS และธนายงกรุ๊ป ถือว่า สูญเสียโอกาสทองด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในแนวทางรถไฟฟ้าBTS ไปให้กับรายอื่นๆ เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ไปก่อนหน้านานแล้ว ขณะที่ที่ดินแต่ละแปลงของ BTS ที่ได้มาภายหลังในช่วง 2-3 ปีนี้ก็มีต้นทุนแพงกว่าแต่ก็ต้องซื้อทำโครงการในนาม BTS Assets
“ผมเริ่มทยอยซื้อที่ดินราวๆ ปี 2551 โดยซื้อจาก บสท., ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงเทพและเอกชนอื่นๆ อีกสองราย เรามีแลนด์แบงก์ 5-6 แห่ง ตอนนี้เราพร้อมมากๆ ทั้งทุนและที่ดิน เราก็ทำ เพราะมีส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าไปเรื่อยๆ มันมี potential ที่ดีและสังเกตว่าผมไม่ซื้อที่ดินเล็กทีละไร่หรือสองไร่ แต่ผมจะตั้งใจซื้อแปลงใหญ่ เช่น ที่ Abstract Phaholyothin ผมซื้อ 23 ไร่ ส่วนที่ดินที่หมอชิตใกล้สำนักงานใหญ่ BTS ผมซื้อ 15-16 ไร่ เพราะผมต้องการสร้างอะไรที่มี story และมีคอนเซ็ปต์ไปกับรถไฟฟ้าด้วย”
นอกจากนี้ BTS Assets ยังลงทุนกับโครงการอสังหาริมทรัพย์ อื่นๆ เช่น กลุ่มธนาซิตี้ที่มีการ renovate สนามกอล์ฟและบ้านจัดสรรใหม่ ขณะที่ในทำเลทองต่างจังหวัด เช่นที่เขาใหญ่ก็มีโครงการของบริษัท PrannaKiri และที่ภูเก็ตก็มีโครงการของบริษัท Kamala Beach Resort & Hotel
สี่-กลุ่มธุรกิจบริการ Services บริหารโดยกวิน กาญจนพาสน์ เป็น CEO
ประกอบด้วยบริษัท BSS ที่มี Smartt Card เป็นผลิตภัณฑ์ ที่ให้บริการบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-money) โดยมีคอนเซ็ปต์และโมเดลดำเนินธุรกิจบัตรคล้ายๆ ของ Octupus ที่ฮ่องกง สมาร์ทการ์ดตัวนี้จะเป็นการพัฒนาระบบร่วมกับพันธมิตรธุรกิจเช่น BMCL ซึ่งเป็นผู้เดินรถไฟฟ้าใต้ดินและธนาคารกรุงเทพ ซึ่งถือว่าเป็น Strategic Partner ทำหน้าที่ clearing house ของ สมาร์ทการ์ด เพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ผู้โดยสารให้สามารถใช้บัตร โดยสารเพียงใบเดียวเดินทางได้ 2 ระบบ และขยายสิทธิประโยชน์ ไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่ซื้อคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าของ BTS สู่คอนเซ็ปต์ City Solutions ของคนในเมือง
“สมาร์ทการ์ดนี้เริ่มต้นเกิดขึ้นจากความต้องการของลูกค้าที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว ในเวลารีบด่วน rush hours แทนที่จะหยอดเหรียญแลกซื้อตั๋ว แต่เรามาพัฒนา การ์ดให้สามารถชอปปิ้ง ซื้อสินค้าได้ส่วนลด และสะสมแต้มเป็นโปรโมชั่นที่เชื่อมโยงกับ BTS และตอบโจทย์ลูกค้าในเมืองได้แน่นอน” คีรีให้ทัศนะถึงสมาร์ทการ์ด
นอกจากนี้ในธุรกิจกลุ่มบริการยังมี Absolute Hotel Services ซึ่งบริหารจัดการธุรกิจโรงแรมสองเชนใหญ่คือ U Hotel และ Eastin ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มลูกค้าโรงแรมในเอเชีย ได้เซ็นสัญญาว่าจ้าง ถึง 53 แห่งแล้ว
“ตอนนี้ U Hotel มีสัญญาว่าจ้างบริหารโรงแรมและ management ให้กับโรงแรมมากกว่า 53 แห่งทั่วภูมิภาคเอเชียแล้วอยู่ที่อินเดีย เวียดนามและที่อื่นๆ ในภูมิภาคนี้ ตอนนี้กำลังเจรจาอีก 10 แห่ง ส่วนบริษัท Absolute Hotel ที่เป็นบริษัทร่วมทุนเราก็ถือหุ้น 50:50 ก็ได้รับผลตอบแทน” คีรีกล่าว
ส่วนธุรกิจให้บริการรับเหมาก่อสร้าง BTS Services ได้ร่วมลงทุนกับยักษ์ใหญ่บริษัทรับเหมาก่อสร้าง “ฮิบเฮง โอเวอร์ซี” จากฮ่องกง ดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างโดยโครงการแรกคือ โรงแรม Four Points by Sheraton มูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท ที่ตั้งใกล้สถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์
“เราต้องการความสามารถของบริษัทฮิบเฮงมาช่วยดูแลคุณภาพก่อสร้างของโครงการ BTS ทุกโครงการ ทั้งนี้ บริษัท ฮิบเฮง นี้ผมถือหุ้นคนละครึ่งกับกลุ่มนิวเวิลด์ ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ 1 ใน 3 ของฮ่องกง” คีรีเล่าให้ฟัง
สำหรับการ Renovate “ธนาซิตี้ กอล์ฟคลับ” ที่มีชื่อเสียง ในอดีตจากผลงานออกแบบระดับโลก ปัจจุบันมีการปรับปรุงดำเนิน ธุรกิจกอล์ฟคลับให้สามารถเปิดให้บริการได้ รวมทั้งโครงการธนาซิตี้ เฟส 2 ที่ถนนบางนา-ตราด กม.13 ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ โดยโครงการมีพื้นที่ 210 ไร่ และคอนโดมิเนียมจากเฟสแรกที่บริษัทให้เช่าอีก 27,000 ตารางเมตร นำกลับมาขายใหม่อีกครั้ง
BTS Group Holding วันนี้จึงเป็นกรณีศึกษาทางธุรกิจสามารถพลิกฟื้นจากวิกฤติสู่โอกาสได้ จากศักยภาพของคีรี กาญจนพาสน์ และคนของเขาที่ต้องการสานฝันให้โลกจดจำประวัติศาสตร์ของเขา ที่ต้องส่งต่อให้คนรุ่นลูกทำต่อไปไม่สิ้นสุดดุจเครือข่ายระบบเส้นทางรถไฟฟ้านั่นเอง!
|