|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ลักษณะเฉพาะของอีสานใต้ในเขตสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ คือเป็นพื้นที่ที่มีชาติพันธุ์มอญ-เขมร อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก พวกเขามีภาษาและดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยส่งผลผลิตของกันตรึม ในนาม “ร็อคคงคย” วางตลาดทั่วประเทศมาแล้วเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน และยังคงมีธุรกิจขายเสียงที่ทำตลาดท้องถิ่นในประเทศเพื่อนบ้านและตลาดที่ไกลถึงแคนาดา อเมริกา อย่างต่อเนื่องเงียบๆ มาถึงปัจจุบัน
“กันตรึม” เป็นบทเพลงที่ใช้เนื้อร้องภาษาเขมรที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ด้วยท่วงทำนองดนตรีจากจังหวะตรัวหรือซอ ที่คึกคักและสนุกสนานเร้าใจ แต่บางช่วงบางตอนของจังหวะดนตรีก็สามารถแสดงถึงความนิ่งสงบ และแฝงด้วยจิตวิญญาณของกลุ่มคนไทยเชื้อสายเขมรที่สืบทอดมายาวนาน
ไพโรจน์ โสนาพูน เจ้าของ “ไพโรจน์ซาวด์” วัย 46 ปี คือผู้สร้างตำนานร็อคคงคย ให้คนรู้จักในวงกว้างว่ากันตรึมคืออะไร วันนี้เขายังทำธุรกิจเพลงกันตรึม แม้ว่าชีวิตที่ผ่านมาของเขามีจังหวะหลากหลายที่ไม่แพ้เพลงกันตรึมเลยทีเดียว
ไพโรจน์เริ่มต้นอาชีพจากการเป็นช่างซ่อมวิทยุและเครื่องเสียง ก้าวเข้าสู่ธุรกิจผลิต เพลงกันตรึมขายด้วยทุน 1,000 บาท ที่ได้จากการเก็บออมจากการซ่อมวิทยุ ว่าจ้างศิลปิน ที่รู้จักมาบันทึกเสียงในห้องอัดเล็กๆ ที่ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ใส่ตลับต้นทุน 10 บาท ออกวางขาย หลังจากเกิดแรงบันดาลใจจากการเห็นลูกค้าจำนวนมากรุมซื้อเทปเพลงกันตรึมในร้านค้าในงานช้างเมืองสุรินทร์
“เงินแค่นั้นทำอะไรไม่ได้มาก ซื้อเทปเปล่าเช่าเครื่องเสียงครั้งละ 300 จ้างคณะกันตรึม บันทึกเสียง 2-3 วัน ตอนนั้น ผมขายตลับละ 50 บาท ปี 2530 ปีแรกที่เริ่มบันทึกเสียงและเปิดแผงของตัวเองที่อำเภอปราสาท ผมขายได้ไม่ถึงร้อยม้วน” ไพโรจน์เล่าถึงช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งเขาก็ยังสู้ทนทำสิ่งที่ชอบต่อไป
“ผมอัดเป็น 100 ชุด ที่ไม่ประสบความสำเร็จ จนมีชุดยอดรัก โคกนาสาม ที่ทำยอดขายได้ 1,000 ม้วนต่อปี ดีใจมาก จุดประกายทำให้เรามีกำลังใจสู้”
จากยอดรัก โคกนาสาม ไพโรจน์เดินหน้าบันทึกเสียงกันตรึม ออกขายเดือนละ 1-2 ชุด แต่ก็ไม่มีชุดไหนที่ได้รับความนิยมอีก เป็นคนอื่นคงเลิกไปทำอย่างอื่น แต่ไพโรจน์ไม่ยอมเลิกจากธุรกิจที่เขารัก ซ้ำยังเฝ้าหาคำตอบว่าทำไมผลงานของเขาขายไม่ได้ แต่คนฟังยังฟังของคนอื่น นั่นแสดงว่าสินค้าของเขาต้องมีข้อเสียอะไรสักอย่าง
“ตอนแรกผมคิดแค่อยากได้เงิน แต่การที่จะอยากได้เงินของเขา มันไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องศึกษาศาสตร์เพลงตรงนั้นด้วย ของแต่ละพื้นที่ เป็นการศึกษาไปในตัวว่าเพลงพื้นบ้านเป็นแบบไหน จากนั้นเราศึกษาจังหวะจะโคน และธรรมชาติของเพลงแต่ละชุมชนว่ามันเป็นแบบนี้ เป็นเพลงพื้นบ้านนั้น ซึ่งยอดก็กระเตื้องขึ้นมาอีกนิดหน่อย” ไพโรจน์เล่าถึงผลลัพธ์หลังจากทำการวิเคราะห์สินค้าของตัวเอง โดยตระเวนดูการเล่นดนตรีสดและศึกษาอย่างจริงจัง ก่อนบันทึกเสียง
เมื่อเริ่มเข้าใจดนตรี เขาก็หันมาศึกษาระบบเสียง ทำอย่างไรที่จะอัดเสียงแล้วได้อารมณ์เพลงอยู่ครบเต็มร้อยไม่ใช่แค่ 10-20% ซึ่งเป็นจุดอ่อนของระบบอัดเสียงที่เขาพลาดมา ส่วนนี้เป็นการเรียนรู้เรื่องเทคนิคล้วนๆ ว่าทำอย่างไรระบบเสียงจะชัดใส ไมค์ต้องดี สัญญาณต้องชัด ไม่ใช่แค่อัดๆ ไปอย่างที่แล้วมา
ปี 2535 ไพโรจน์ซาวด์ก็ประสบความสำเร็จจากชุดร็อคคงคย ทำให้คนรู้จักดนตรี กันตรึม เพราะวางจำหน่ายทั่วประเทศกับค่ายอาร์เอส
“ผมใช้เวลา 5 ปี กว่าจะเป็นที่รู้จักมักคุ้นกับคนในวงการเพลงกันตรึม ใช้เวลากว่า 10 ปี กว่าจะย้ายมาตั้งหลักแหล่งอย่างจริงจังในตัวเมืองสุรินทร์ ก่อนจะมาเจอวิกฤติในปี 2540”
เรียกว่าพอจะเริ่มไปได้ดีก็มีวิกฤติเข้ามาแทรก แต่จนถึงวันนี้ไพโรจน์ก็ยังยึดมั่นใน ธุรกิจที่เขารัก โดยกลับจากวิกฤติมาแบบฮึดสู้ โดยมีธุรกิจห้องบันทึกเสียงและร้านจำหน่าย เพลงส่วนตัวเล็กๆ ในเมืองสุรินทร์ เป็นที่รู้จักในพื้นที่อีสานใต้ทั้งสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ผลงานจากห้องบันทึกเสียงของเขาบางส่วนถูกส่งข้ามไปยังกัมพูชา แคนาดา และสหรัฐ อเมริกา ในชุมชนเชื้อสายเขมรที่อพยพไปตั้งรกราก แต่ผลตอบรับก็ไม่ได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะโดนทั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ต่างจากเพลงของค่ายยักษ์ใหญ่ ส่วนที่ส่งขายในประเทศไกลๆ ก็เป็นรูปแบบช่วยกันเผยแพร่มากกว่าจะทำตลาดจริงจัง
แต่สิ่งหนึ่งที่ไพโรจน์ภูมิใจซึ่งอาจจะมากกว่าความสำเร็จเล็กน้อยที่ธุรกิจเลี้ยงตัวเองอยู่ในวันนี้ ก็คือการทำให้บทเพลงกันตรึมจากอีสานใต้ ดังไกลและเป็นที่รู้จักทั่วประเทศและต่างประเทศ
รวมทั้งการเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมพื้นบ้านให้ยังคงแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของเศรษฐกิจยุคใหม่ของอีสานใต้ได้สืบไป
|
|
|
|
|