|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
นอกจากไหมลวดลายอันวิจิตรใช้เทคนิคการทอที่สลับซับซ้อนที่บ้านท่าสว่าง จนได้รับความไว้วางใจให้เป็นแหล่งผลิตเพื่อมอบให้กับพระราชอาคันตุกะกับผู้นำประเทศครั้งจัดงานประชุม APEC และงานเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก
เบื้องหลังความสำเร็จเกิดจากเรือนไม้หลังเก่าๆ สองชั้นที่มีเสียงกระทบของกี่กระตุกดังขึ้นเป็นระยะๆ ที่นี่คือเรือนไหมใบหม่อน หรือศูนย์บัญชาการศิลปวิทยาการ การทอผ้าไหม พื้นเมืองสุรินทร์ เป็นแหล่งเรียนรู้และทอผ้าไหมครบวงจรของแหล่งทอผ้าชั้นสูงของบ้านท่าสว่าง อ.เมือง จ.สุรินทร์ สินค้าดีแห่งอีสานใต้
อาทร แสงโสมวงศ์ เจ้าของธุรกิจเรือนไหมใบหม่อน ต้องการสร้างและลดปัจจัยจากผลิต ไม่ว่าจะเป็นลดการเหลือเส้นไหมจากการทอผ้าที่ไม่เท่ากัน ที่ชาวบ้านใช้การคำนวณเส้นยืนมาตรฐานไม่เท่ากัน เมื่อทอผ้าออกมาและเหลือทิ้งทำให้สิ้นเปลืองวัตถุดิบและต้นทุน จึงเป็นที่มาของธุรกิจเตรียมเส้นไหมยืนให้ได้สีและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับจากแหล่งเดียวกันในเรือนแห่งนี้จึงเป็นแหล่งเตรียมทั้งอุปกรณ์และเครื่องทอผ้าสำหรับชาวบ้าน และอำนวยความสะดวกนับจากต้นน้ำยันปลายน้ำ ให้ชาวบ้านมารับไปทอที่บ้านได้เลย
นอกจากธุรกิจไหมส่วนตัว อาทรยังเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานเอกชนที่เข้าไปสนับสนุนโรงไหมของนิคมอุตสาหกรรมสร้างตนเองในอำเภอกาบเชิง ซึ่งเป็นโครงการในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ โดยเขาเข้าไปส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและรับซื้อเส้นไหมจากแหล่งดังกล่าว
การดำเนินธุรกิจของเรือน ไหมใบหม่อนสอดคล้องกับกรอบ พัฒนาจังหวัดในกลุ่มอีสานใต้ที่ต้องการพัฒนาการทอผ้าไหมไปสู่ตลาดที่กว้างขึ้น
อาทรพยายามจัดระบบความชำนาญเฉพาะคนแบบอุตสาหกรรมมาใช้กับกระบวน การทอผ้าไหม แบ่งการดำเนินงานเป็นแผนกๆ แล้วมาทำงานประสานกันจนกลายเป็นผ้าไหม จากเดิมที่ชาวบ้านคนเดียวต้องมีความสามารถทำได้ทุกกระบวน การจนสำเร็จออกมาเป็นผืนผ้า
“ที่นี่จำแนกตามความสามารถ คนฟอกย้อมก็ทำหน้าที่ ฟอกย้อม เขาจะได้เรียนรู้เทคนิค ให้ได้มาตรฐานการย้อมและสังเคราะห์สีของเส้นไหมจนชำนาญ คนยืนเส้นไหมก็คำนวณ เส้นไหมยืนให้ถูกต้องตามลาย ตามคำสั่งผู้ทอ ใครผูกตะกอ เก็บตะกอก็ทำหน้าที่เตรียมอุปกรณ์นั้นไป”
การแยกการทำงานแบบนี้ทำให้อาทรมองเห็นวัตถุดิบเหลือใช้จากไหมและนำไปสู่ธุรกิจใหม่จากไหมที่มีมูลค่าสูงไม่แพ้ผ้าทอ นอกจากเหนือจากการพัฒนาลวดลายและสีสันของผ้าไหมให้เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
วัสดุเหลือใช้จากกระบวนการทอผ้าไหม ได้แก่ รังไหม น้ำจากการสาวไหม และการฟอกไหมดิบ เส้นไหมดิบ ทุกอย่างที่เป็นเศษจากไหม ซึ่งก็คือส่วนของโปรตีนธรรมชาติ เป็นตัวจุดประกายความคิดให้อาทรว่า สิ่งที่ชาวบ้านทั่วไปมองว่าเป็นเศษแต่ยังมีประโยชน์จะทำอะไรได้บ้าง
เครื่องสำอางคาเนโบของญี่ปุ่น เคยนำโปรตีนจากไหมไปเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางมาแล้ว เขาจึงลองพัฒนาสินค้า “เครื่องสำอางจากโปรตีนไหม” ตามแนวทางของคาเนโบ เพราะมีวัตถุดิบมากมายในมือ
โปรตีนไหมได้จากน้ำล้างและฟอกไหม ซึ่งสกัดออกมาในรูปของโปรตีนชนิดเหลว เป็นที่ต้องการทั้งในตลาดญี่ปุ่นและยุโรป อาทรมีวัตถุดิบนี้จากกระบวนการฟอกย้อมเฉพาะที่โรงไหมของเขาปีหนึ่งถึง 10 ตัน หากนำมาสกัดเป็นเครื่องสำอางโปรตีนไหมแล้วก็สามารถคำนวณเป็นรายได้ที่มีมูลค่าสูงถึงกว่า 300 ล้านบาทในสิ่งที่เหลือทิ้งนี้ ซึ่งเขาบอกว่ายังสามารถมองต่อไปถึงการสกัดเป็นโปรตีนชนิดผงแบบเดียวกับการผลิตนมผงได้ด้วย แต่ติดปัญหาเรื่องอุปกรณ์การผลิตซึ่งมีต้นทุนสูง
ดูเหมือนอาทรพัฒนากระบวนการผลิตไหมของเขาให้มีเศษเป็นศูนย์ เพราะเขายังไม่หยุดวงจรธุรกิจแค่น้ำโปรตีนจากไหม แต่ยังคิดถึงเศษรังไหมที่เหลือจากการสาวไหมอีกว่าจะนำมาทำอะไรได้บ้าง ซึ่งก็สามารถพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์สาวๆ ได้อีก
“รังไหมที่เหลือผ่านการฆ่าเชื้อนำไปใช้ขจัดสิวเสี้ยนบนใบหน้า หรือใช้ผสมในอ่างอาบน้ำก็เป็นที่นิยมในแวดวงสปาของญี่ปุ่นและยุโรปเช่นกัน เพราะรังไหมมีคุณสมบัติพิเศษ หากถูกน้ำโปรตีนที่เคลือบบนใยไหมจะขับออกมาสามารถละเลงลงน้ำและเคลือบผิวเป็นการเคลือบผิวเพื่อกันผิวแห้ง”
หรืออีกธุรกิจที่มีแนวโน้มเกิดขึ้น คือการทำผ้าห่มหรือผ้านวมจากใยไหม โดยนำเส้นไหมมาแผ่ออกได้กว้างตั้งแต่ขนาด 60 นิ้ว X 80 นิ้ว ถึง 80 นิ้ว X 80 นิ้ว เป็นผ้าห่มกันหนาวได้อย่างดี เพราะรังไหมมีคุณสมบัติทั้งเหนียวและทน
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่คิดและทำ ก็ไม่ได้ทำให้อาทรละเลยธุรกิจหลักที่เป็นหัวใจของอุตสาหกรรมไหมแต่อย่างใด เพราะเขายังคงคิดค้นเรื่องการทอด้วยกรรมวิธี ต่างๆ เพื่อให้ได้ผ้าที่มีความคงทนและเหมาะสำหรับนำมาตัดเย็บเสื้อผ้าแฟชั่นควบคู่ ไปกับการคิดค้นธุรกิจใหม่เหล่านี้ด้วย
จากความพยายามต่อยอดธุรกิจ จากวัตถุดิบเหลือใช้จากโรงงานไหม ของอาทรที่คิดค้นและผลิตอยู่นี้ ไม่ว่าจะประสำเร็จมากหรือน้อยเพียงใด แต่นั่นก็เท่ากับได้เริ่มต้นแนวคิดให้กับวงการไหมที่จะนำมาซึ่งการพัฒนารายได้ ที่เพิ่มขึ้นกับผู้เกี่ยวข้องได้ แม้ชาวบ้านอาจจะไม่มีวัตถุดิบเหลือมากเท่าระบบ ที่เป็นอุตสาหกรรมแบบธุรกิจของอาทร แต่นั่นก็อาจจะส่งผลให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มผู้เลี้ยงและทอผ้าไหมมากขึ้นก็เป็นได้
และที่แน่ๆ หากทุกธุรกิจของอาทรเกิดขึ้นจริง คนนอกพื้นที่คงได้เห็นแต่สินค้าที่พัฒนาสำเร็จของไหม โดยไม่มีโอกาสได้เห็นวัตถุดิบของกระบวนการทอผ้าไหมอีกต่อไป เพราะทั้งกระบวนการมีเศษเป็นศูนย์จริงๆ
|
|
|
|
|