|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
จากชายแดนไทย-ลาว ที่อุบลราชธานี ย้อนขึ้นมาดูชายแดนไทย-กัมพูชาในพื้นที่อีสานใต้ที่ด่านช่องจอม จังหวัดสุรินทร์
สุรินทร์ถือเป็นจังหวัดเก่าแก่มานับพันปี มีตัวตนและอัตลักษณ์ที่น่าสนใจ เป็นจังหวัดที่มีเส้นทางเชื่อมเข้าสู่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้านบริเวณจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม สามารถเชื่อมไปยังเขตอุดรเมียนเจือย ประเทศกัมพูชา
ตัวเลขการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา ตลอดแนวชายแดนไทยกัมพูชา ปีหนึ่งเกือบ 4 หมื่นล้านบาท แต่โดยมากมูลค่าสูงสุดอยู่ที่ด่านคลองลึก โรงเกลือ จ.สระแก้ว จ.ตราด และจันทบุรี โดยมีสินค้าที่ไทยส่งออกไปกัมพูชา ส่วนใหญ่ได้แก่ เชื้อเพลิง เครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง (ปูนซีเมนต์) อาหารบรรจุกระป๋อง ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าได้แก่ สินค้าเกษตร สินค้าตามใบสั่ง เศษเหล็ก
ส่วนจุดเชื่อมโยงระหว่างชายแดนไทย-กัมพูชาในเขตอีสานใต้ มีหลายจุดด้วยกัน ได้แก่
1-ในอุบลราชธานี ผ่านด่านศุลกากร พิบูลมังสาหาร ช่องอานม้า อำเภอน้ำยืน ไปยังเมืองจอมกระสาน เขตพระวิหาร ประเทศกัมพูชา
2-จังหวัดศรีสะเกษ ผ่านด่านศุลกากรอำเภอภูสิงห์ บ้านแซรเปร็ย ช่องสะงำไปยังเมืองอัลลองเวง เขตอุดรเมียนเจือย
3-จังหวัดสุรินทร์ ผ่านด่านศุลกากรอำเภอกาบเชิง ช่องจอมไปยังเมืองโอรเสม็ด เมืองสำโรง เขตอุดรเมียนเจือย
และ 4-จุดผ่านแดนชั่งคราวช่องตะกู อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ไปยังเมืองสำโรงเขตอุดรเมียนเจือย รอยต่อเขตเสร็ยซอปวน (ศรีโสภณ)
นอกจากนี้ ตลอดแนวชายแดนไทยกัมพูชามีช่องเขาที่สามารถผ่านไปมาหาสู่กันอีกมากมายที่มีมาก่อนนับตั้งแต่อดีต แม้แต่ปัจจุบันก็ยังมีการใช้สัญจรบ้าง หรือปิดตายบ้าง เช่น ช่องพระวิหาร ช่องตาเฒ่า ซึ่งมีความสำคัญ ถือเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจในฝั่งกัมพูชาในอนาคตอันใกล้ เพราะปัจจุบันกัมพูชาพัฒนาเส้นทางและใกล้แหล่งมรดกโลกเขาพระวิหาร ที่สามารถสัญจรไปยังเมืองในเขตรอยต่อของเมืองอัลลองเวง เขตอุดร เมียนเจือย และเมืองจอมกระสาน เขตพระวิหารได้อย่างสบาย
นอกจากนั้น ในเขตสุรินทร์ยังมีช่องเขาปลดด่าง ช่องเขาตาเมือน ที่ทุกปีในเดือนเมษายน คนจากฝั่งกัมพูชาจะเดินเท้าเข้ามานมัสการปราสาทตาเมือนธม
ช่องจอมหรือเส้นทางเศรษฐกิจสาย 68 เป็นเส้นทางการค้าดั้งเดิมที่ผู้คนไปมาค้าขายและหาสู่กันตั้งแต่สมัยโบราณจนกระทั่งปัจจุบัน กระทั่งได้รับความสำคัญพัฒนายกระดับเปิดเป็นด่านผ่านแดนถาวร
เส้นทางดังกล่าวไม่เพียงเป็นเส้นทางการค้าระดับแม่ค้าพ่อค้ากิจการเล็กๆ แต่ยังเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าระดับพ่อค้าอุตสาหกรรม และเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวที่สำคัญ สามารถเชื่อมผ่านไปยังเมืองเสียมเรียบได้แม้ว่าเส้นทางสายนี้ยังตลบคละคลุ้งไปด้วยฝุ่นทั้งสาย
แต่ระยะหลังบทบาทของช่องจอมดูจะลดเหลือเพียงการค้าบริเวณพื้นที่การเป็นจุดหมายของนักพนันชาวไทยที่มุ่งไปเผชิญโชคด้วยความลุ่มหลง แต่บทบาทด้านการเป็นเส้นทางผ่านไปสู่การท่องเที่ยวในกัมพูชากับตกไปอยู่กับเส้นทางน้องใหม่สาย 67 บริเวณด่านช่องสะงำ ของจังหวัดศรีสะเกษ
สุรัตน์ คูณวัฒนาพงษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุรินทร์ ให้ข้อมูลการลงทุนของช่องสะงำว่า แม้จะเปิดเป็นด่านใหม่และร่นระยะทางสู่สิ่งมหัศจรรย์ของโลกอย่างนครวัดได้ใกล้กว่าช่องจอม แต่ในเชิงการค้าช่องสะงำก็ยังไม่คึกคัก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับด่านคลองลึก โรงเกลือ เพราะเป็นจุดที่ใกล้กรุงเทพฯ มากกว่า หรือแม้จะเทียบกับช่องจอม
“ด่านตรงนี้ไม่ค่อยใหญ่ก็เป็นอีกเหตุผลที่ไม่ค่อยมีใครไปลงทุน อีกทั้งกฎระเบียบ ค่าธรรมเนียม ภาษีก็ไม่แน่นอน ถึงแม้ว่าศักยภาพของพื้นที่เขาจะน่าลงทุน เพราะทรัพยากรป่าไม้ ที่ดิน และแรงงานราคาถูก”
สภาพการค้าบริเวณด่านช่องสะงำที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน จึงเป็นเพียงภาพของการค้าที่จอแจแออัดไปด้วยคนเดินเท้า รถลาก รกจักรยานยนต์ โดยเฉพาะจากชาวกัมพูชาที่ออกมาจับจ่ายสินค้าตั้งแต่ประตูด่านเปิดในตอนเช้า เพื่อขนสินค้าจากฝั่งไทยไปยังร้านค้าและตลาดในกัมพูชาซึ่งตั้งอยู่ใกล้ชายแดนนั่นเอง
“ภาษี และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่กัมพูชาขึ้นตรงต่อส่วนกลาง เก็บแล้วส่งส่วนกลางทั้งหมด” อาทร แสงโสมวงศ์ กรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุรินทร์ ให้ข้อมูลเสริม
อาทรเล่าว่าแม้ไทยจะได้เปรียบดุลการค้าบริเวณชายแดนช่องสะงำซึ่งมีมูลค่านับพันล้านบาทต่อปี แต่ในแง่ของการพัฒนาและการรู้จักพื้นที่ของผู้บริหารท้องถิ่น กัมพูชาถือว่าได้เปรียบเพราะมีทั้งรัฐบาลที่อยู่มานานต่อเนื่องเกือบ 10 ปีไม่เคยเปลี่ยน จังหวัดที่ติดชายแดน ช่องสะงำมีรองผู้ว่าฯ ถึง 9 คน มีผู้ว่าเป็นคนเดิมแต่ของไทยแค่จังหวัดสุรินทร์เปลี่ยนผู้ว่าฯ ไปแล้ว 7 คนในช่วงเวลาเดียวกัน ความชำนาญในพื้นที่และความมั่นคงตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจึงย่อมมีมากกว่า
ในทางการค้าและการเมือง ไทย-กัมพูชาอาจจะดูเชิงกันอยู่ แต่ในแง่ความสัมพันธ์ของคนในพื้นที่ ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี เพราะยังคงไปมาหาสู่กันเป็นประจำในแบบไม่เป็นทางการของทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้าน รวมทั้งกิจกรรมสัมพันธ์ของสองประเทศ เช่น การแลกเปลี่ยนการแสดงทางวัฒนธรรม การแข่งขันกีฬา ศึกษาดูงาน ฯลฯ
การเบนเข็มเส้นทางท่องเที่ยวสู่กัมพูชามายังด่านช่องสะงำ เพราะเป็นจุดที่ห่างจากนครวัดนครธมเพียง 135 กิโลเมตร เป็นเรื่องที่ศรีวรรณ เกียรติสุรนนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดศรีสะเกษ ตอบรับแนวโน้มนี้ในทันที โดยหอการค้าจังหวัดศรีสะเกษร่วมกับคณะกรรมการดูแลการค้าช่องสะงำ วางแผนปรับปรุงจังหวัดศรีสะเกษให้เป็นเมืองน่าอยู่น่าเที่ยว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะใช้ช่องสะงำเป็นทางผ่าน
“เราพยายามดึงนักท่องเที่ยวมาที่นี่ เสนอที่พักถูกกว่าโรงแรมในกัมพูชา ที่ขั้นต่ำคืนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 100 ดอลลาร์หรืออาจจะสูงถึง 1,000 ดอลลาร์ แต่ของเราขั้นต่ำแค่ 350 บาทต่อคืน พยายามจัดระบบให้มีที่พักรองรับเพียงพอ เพิ่มจากจำนวนที่มีตอนนี้ 400-500 ห้อง โดยหวังว่านี่จะเป็นการพัฒนาให้เกิดการค้าขายร่วมกันอย่างเต็มความสามารถ”
ปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่ผ่านเข้าออกทางช่องสะงำ เป็นชาวต่างชาติ 3% ที่เหลือเป็นคนไทย เฉลี่ยมีนักท่องเที่ยวปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 4-5 พันคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เกิดจากผลกระทบของความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาที่ไม่ค่อยราบรื่นสักเท่าไรในช่วงปีสองปีนี้ ประกอบกับด่านช่องสะงำเพิ่งเปิดเป็นทางการไม่นานนัก
“แต่ถ้าเป็นเรื่องการค้าไม่มีปัญหาอะไรก็ค้าขายปกติ ตัวเลขเฉลี่ยคนเข้าออกต่อวันที่ฝั่งไทยมีตลาด คือวันพฤหัสฯ อยู่ที่ 600 คน ส่วนอาทิตย์ 800 คน และวันปกติ 100 กว่าคน” สุนทรี เหล่าศักดิ์ศรี กรรมการหอการค้าจังหวัดศรีสะเกษกล่าว
การเปิดด่านการค้าระหว่างไทยกับกัมพูชาที่ผ่านมา มีผลกระทบทางสังคมเช่นเดียวกับชายแดนแห่งอื่นๆ คือมักจะมีบ่อนเกิดขึ้นประชิดชายแดน และไทยก็ไม่มีมาตรการทางกฎหมายที่เข้มงวด หรือห้ามปรามคนไทยไม่ให้ข้ามไปเล่นได้สำเร็จ
เช่นเดียวกับด่านช่องสะงำ ก็มีข่าวแว่วมาหนาหูว่าจะมีกาสิโนที่เตรียมจะเปิดในฝั่งกัมพูชานอกเขตที่มีข้อตกลงกันว่าห้ามสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวรบริเวณด่าน และมีระยะฟรีโซนระหว่างชายแดนของสองประเทศเพียง 15 เมตรเท่านั้นสำหรับด่านช่องสะงำ
อย่างไรก็ตาม สำหรับการค้าระหว่างประเทศ กรณีต้องมีการขนส่งสินค้า ช่องจอมก็ยังคงได้เปรียบที่จะเป็นช่องทางขนส่งสินค้า เพราะใกล้กับแหล่งผลิตอย่างโคราช ขอนแก่น และกรุงเทพฯ มากกว่าช่องสะงำ ซึ่งต้องวิ่งขึ้นเขาก่อนจะลงสู่พื้นราบบริเวณชายแดนทั้งฝั่งไทยและฝั่งกัมพูชา
จุดเด่น จุดด้อย ความได้เปรียบเสียเปรียบเหล่านี้ ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและพัฒนาต่อไปอีกนาน แต่ที่สำคัญผู้เกี่ยวข้องกับการค้าทั้งภาครัฐและเอกชนควรต้องจับตาอย่างใกล้ชิดเพื่อก้าวให้ทันเกมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งยังมีโอกาสพัฒนาและเติบโตได้อีกมากมาย
|
|
|
|
|