|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
“เช้านี้ดวงอาทิตย์ขึ้นที่ผาชนะได จังหวัดอุบลราชธานี เวลา 6.15 นาฬิกา”
เสียงจากวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยที่ได้ยินจนคุ้นหูมายาวนาน อาจจะไม่เป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ เพราะพวกเขาคงต้องการรู้มากกว่านั้น ว่าพระอาทิตย์เริ่มขึ้นจากเส้นขอบฟ้าของทะเลจีนใต้หรืออ่าวไทย เมื่อมองจากชายฝั่งบินห์ดินห์ หรือนาตรังของเวียดนาม ประเทศที่เปรียบเหมือนระเบียงตะวันออกแห่งเอเชียกี่นาฬิกา
ยุทธศาสตร์ของการพัฒนาอีสานใต้ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันมีช่องเม็กเป็นประตูสู่การท่องเที่ยวในลาว ได้รับการคาดหมายไว้ว่าจะต้องเปิดกว้างกว่าเดิมเพื่อทำหน้าที่ทั้งรับและส่งประชาชนอินโดจีนให้ข้ามไปมาระหว่างกันได้ ตั้งแต่สุดทะเลตะวันออกที่เวียดนามไปจนจรดทะเลตะวันตกที่พม่า
อีกทั้งยังต้องทำหน้าที่เป็นโซ่ข้อใหญ่ที่เกาะเกี่ยวเศรษฐกิจไทยกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของเพื่อนบ้านที่กำลังก้าวรุดไปอย่างรวดเร็วไว้ ให้อยู่ในห่วงโซ่เดียวกับเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศของไทยให้ได้
ความสำคัญของช่องเม็กในวันนี้ยังคงรักษาบทบาทหน้าที่ของตัวเองไว้ได้ดีในระดับของการเป็นประตูสู่การท่องเที่ยวที่พ่วงด้วยการค้าระหว่างไทยลาวเพียงประปราย ซึ่งกฤษฎา ทองธรรมชาติ นายด่านศุลกากรช่องเม็กก็ยืนยันว่าศักยภาพของช่องเม็กในปัจจุบันมีบทบาทด้านการท่องเที่ยวมากกว่าการค้า โดยมีสถิตินักท่องเที่ยวผ่านเข้า-ออกปีละประมาณ 3 แสนกว่าคน รวมกับรถยนต์อีกปีละ 3-4 หมื่นคัน
“อาจดูไม่มาก แต่มีโอกาสขยายตัว เพราะเส้นทางคมนาคมในลาวจากด่านนี้กำลังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีทั้งเส้นทางที่จะเข้าสู่กัมพูชาและเส้นทางที่ต่อไปถึงเวียดนาม”
ในไทยเอง ถนนสายอุบลราชธานี-ช่องเม็ก กำลังอยู่ระหว่างขยายเป็น 4 เลน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2554 นอกจากนี้รถโดยสารประจำทางของบริษัทขนส่ง จำกัด ซึ่งให้บริการระหว่างอุบลราชธานี-ปากเซ ก็มีแผนจะเปิดให้บริการเส้นทางกรุงเทพฯ-ปากเซ เพิ่มขึ้นในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า เพราะคาดว่าจะมีปริมาณนักท่องเที่ยวผ่านเข้า-ออกด่านช่องเม็กเพิ่มขึ้นตามสภาพการจราจรที่ขยายตัวนี้
ที่น่าตื่นเต้นคือการเปิดบริการเส้นทางใหม่นี้จะเป็นการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศซึ่งตอกย้ำสถานภาพชายแดนไทยที่เปลี่ยนไปจากเดิม เพราะการเดินทางของทั้งคนไทยและคนลาวซึ่งเป็นลูกค้าเป้าหมาย จะไม่ได้หยุดลงแค่เส้นเขตแดนเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
ถนนฝั่งไทยถึงด่านช่องเม็กกำลังจะเป็น 4 เลนตลอดเส้นทาง ส่วนในลาวก็จัดว่าอยู่ในขั้นดี จากด่านวังเต่าหรือพื้นที่ติดกับช่องเม็กในฝั่งลาว ถึงตัวเมืองปากเซก็เป็นถนนลาดยางขนาด 2 เลน จุดดึงดูดของปากเซที่น่าสนใจ คือการเป็นแหล่งเที่ยว ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติมีชื่อหลากแห่ง อาทิ ผาส้วม น้ำตกคอนพะเพ็ง หลี่ผี สี่พันดอน ปากซอง ซึ่งเป็นแหล่งพักตากอากาศเก่าของชาวฝรั่งเศสสมัยปกครองลาวและสร้างวัฒนธรรมกาแฟทิ้งไว้เป็นมรดกทางอาชีพ
“คนที่มาเที่ยวที่นี่ ต้องการเที่ยวจริงๆ เพราะเป็นจุดผ่านแดนเมืองเดียวที่ไม่มีบ่อนเหมือนพรมแดนไทย-ลาวที่อื่นๆ” กฤษฎาพูดถึงนักท่องเที่ยวของด่านช่องเม็ก
การท่องเที่ยวส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจ และเป็นไปตามแผนพัฒนาของจังหวัดอุบลฯ ที่ต้องการใช้การท่องเที่ยวนำการค้า ปัจจุบันการค้าชายแดนไทย-ลาวผ่านด่านช่องเม็กมีมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็นไทยส่งออกไปลาวประมาณปีละ 4,000 กว่าล้านบาท และไทยนำเข้าจากลาวปีละ 700-900 ล้านบาท
เป็นตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นจากเมื่อ 2 ปีก่อนที่มีมูลค่าการค้าระหว่าง 2 ประเทศเพียง 3,000 กว่าล้านบาท และนอกจากการค้าชายแดน ยังมีสินค้าผ่านแดนที่ส่งผ่านด่านช่องเม็กไปลงเรือที่แหลมฉบังอีกปีละ 2,000 ล้านบาท รวมมูลค่าการค้าจากด่านเล็กๆ ที่มีอยู่นี้แล้ว มั่นใจได้ว่ามูลค่าการค้านี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มเป็นหมื่นล้านได้ไม่ยากเลย
สินค้าออกสำคัญของไทย คือ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และสินค้าอุปโภคบริโภค
ส่วนสินค้านำเข้าจากลาวคือพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะผัก
ที่น่าแปลกตาคือ ช่องเม็กเป็นด่านที่ไทยนำเข้ากล้วยน้ำว้าจากลาวมากที่สุด รองลงมาคือกะหล่ำปลี และกะหล่ำหัว รวมทั้งใบตองที่ห่อหมูยอของฝากขึ้นชื่อของอุบลฯ และหลายจังหวัดในอีสาน ซึ่งได้ใบตองจากลาวที่ขนกันทีเป็นคันรถ เป็นแพ็กเกจจิ้งสำคัญ
จากศักยภาพที่เป็นอยู่ ทำให้กฤษฎาเชื่อว่าหากแนวคิดของหอการค้าจังหวัดอุบลฯ ที่ต้องการผลักดันให้อุบลฯ เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเศรษฐกิจอินโดจีนในการเชื่อมต่อกับเวียดนาม กัมพูชา ลาว หรือแม้แต่การเชื่อมไปถึงท่าเรือน้ำลึกของพม่าที่เมืองทวายน่าจะเป็นแนวคิดที่มีความเป็นไปได้ และจะเป็นการยกระดับการค้าในบริเวณนี้ให้มีศักยภาพเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
|
|
|
|
|