ปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม 2553 ผมมีโอกาสเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นตามโครงการ NSK-CAJ Fellowship Program ครั้งที่ 31 ของสมาคมผู้พิมพ์-ผู้โฆษณาและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์แห่งญี่ปุ่น (Nihon Shinbun Kyokai; NSK) โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (Confederation of Thai Journalists; CTJ)
NSK-CAJ Fellowship Program เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสื่อญี่ปุ่นกับสื่ออาเซียน ที่จัดอย่างต่อเนื่องมายาวนานกว่า 30 ปี โดยมีจุดประสงค์เพื่อฝึกอบรม แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสื่อทั้งสองฝ่าย โดยในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ NSK จัดให้นักหนังสือ พิมพ์จากเจ็ดชาติอาเซียนพบปะกับสื่อมวลชนญี่ปุ่น ทุกสาขาทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สำนักข่าว ไม่นับรวมการสัมมนา การแลกเปลี่ยนความเห็น-ทัศนะกับเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการและภาคธุรกิจญี่ปุ่นจากหลากหลายอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ระหว่างอยู่ที่โตเกียว ผมพบว่าหนึ่งในประเด็นที่เพื่อนสื่อมวลชนอาเซียนและชาวญี่ปุ่นในทุกภาคส่วนพูดถึงอย่างไม่ขาดปากคือ “ประเด็นจีน”
ประเด็นจีนที่คนญี่ปุ่นพูดถึงนั้นครอบคลุมเกือบทุกมิติ ตั้งแต่มิติด้านการเมือง-การทหาร การต่างประเทศ การท่องเที่ยว การค้า สังคม-วัฒนธรรม และที่สำคัญอิทธิพลทางเศรษฐกิจ โดยทัศนะของผู้คนในแต่ละด้านก็แตกต่างกันไป บ้างพูดถึงแง่บวก บ้างพูดถึงผลกระทบเชิงลบต่อประเทศญี่ปุ่น ธุรกิจญี่ปุ่น คนญี่ปุ่น ภาวะการจ้างงาน ฯลฯ
ในเชิงบวก... กลางเดือนมิถุนายน สื่อญี่ปุ่นหลายแขนงเผยแพร่รายงานสำคัญ ระบุถึงมาตรการของรัฐบาลญี่ปุ่นในการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในการออกวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยจากเดิมที่มีข้อกำหนดว่านักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะขอวีซ่าเข้าญี่ปุ่นได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ มากกว่า 250,000 หยวนต่อปี (ราว 3.34 ล้านเยน หรือ 1.25 ล้านบาท) ก็มีการลดเกณฑ์รายได้ลงเหลือ 60,000 หยวนต่อปี (ราว 8 แสนเยน หรือ 3 แสนบาท) โดยจากมาตรการดังกล่าวจะทำให้ตัวเลขกลุ่มเป้าหมายของนักท่องเที่ยวจีนที่มีศักยภาพในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในญี่ปุ่น ถีบตัวขึ้นเป็น 16 ล้านครัวเรือน หรือมากกว่าเดิมถึง 10 เท่า และที่สำคัญการผ่อนคลายเกณฑ์รายได้ ในการขอวีซ่าดังกล่าว จะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจญี่ปุ่นมากถึง 430,000 ล้านเยนภายในปี 2554 (ค.ศ.2012)[1]
ขณะที่ตัวเลขจากองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan National Tourism Organization) ก็ระบุชัดเจนว่า นักท่องเที่ยวจากประเทศจีนที่เข้ามายังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจโลกจะตกอยู่ในภาวะผันผวน จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดแล้ว คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นทุกปีๆ จากร้อยละ 8.6 ในปี 2545 (หรือคิดเป็นนักท่องเที่ยวจีนราว 450,000 คน) เป็นร้อยละ 15 ในปี 2552 (ราว 1.01 ล้านคน)
ระหว่างที่อยู่ในญี่ปุ่น ผมมีโอกาสได้พบกับ กลุ่มเด็กมัธยมต้นชาวจีนกว่าหนึ่งร้อยคนที่มาทัศนศึกษา ณ พระราชวังอิมพีเรียล กรุงโตเกียว ทีแรกผมนึกว่าเด็กๆ จีนกลุ่มนี้อาจจะมาจากหัวเมืองใหญ่ๆ ของจีน เช่น เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เซินเจิ้น หรือกวางเจา แต่เมื่อเดินเข้าไปทักทายกลับเป็นว่าเด็กจีนเหล่านี้มาจากลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน ทั้งนี้ลั่วหยางแม้จะมีสถานะเป็นหนึ่งในเจ็ดเมืองหลวงเก่าแก่ของจีน แต่ปัจจุบันถูกจัดเป็นหัวเมืองในระดับรองของประเทศจีนที่ประชากรไม่ได้มีฐานะร่ำรวยอะไรมากมายนักเท่านั้น
ในเวลาใกล้เคียง มิตรชาวญี่ปุ่นที่ผมพบเจอ หลายคนก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “ย่านกินซ่าซึ่งถือเป็นแหล่งชอปปิ้งระดับหรูหราของกรุงโตเกียวและของโลก ทุกวันนี้ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เดินเข้าร้านสินค้าแบรนด์เนม ไม่ว่าจะเป็นหลุยส์ วิตตอง ชาแนล คาเทียร์ บุลการี ฯลฯ กลับมิใช่เจ้าบ้านชาวญี่ปุ่นอีกต่อไป แต่เป็นอาซ้อ-อาเฮีย-อาหมวย-อาตี๋จากจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวถูกยืนยันโดยรายงานของสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค เวิลด์ (NHK World) ที่ระบุว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจากจีนถือเป็นนักท่องเที่ยวที่มีการจับจ่าย ต่อหัวมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับนักท่องเที่ยวจากชาติอื่น โดยนักท่องเที่ยวจากจีนมีการใช้จ่ายต่อหัวเฉลี่ยสูงถึง 1,300 เหรียญสหรัฐ (ราว 43,000 บาท) ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในญี่ปุ่น โดยสิ่งเหล่านี้ส่งผล ให้ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และธุรกิจบริการต่างๆ ในญี่ปุ่นจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทนำเที่ยว มัคคุเทศก์ สถานที่ท่องเที่ยว ร้านขายของที่ระลึก รวมถึงกฎระเบียบ ต่างๆ ของภาครัฐ[2]
ภาพและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการท่องเที่ยวญี่ปุ่น สะท้อนให้เราเห็นถึงข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจและสังคมญี่ปุ่นมีความจำเป็นต้องพึ่งพาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงและแรงขับดันให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นสามารถขยายตัวต่อไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ กับยุโรปยังอยู่ในภาวะลูกผีลูกคนเช่นปัจจุบันและมีแนวโน้มที่จะถดถอยลงอีกในระยะยาว
ในทางตรงกันข้าม “ข้อกังวลใจต่อจีน” ที่ชาวญี่ปุ่นหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นพูดคุยกับบรรดานักหนังสือพิมพ์จากชาติอาเซียน ก็ครอบ คลุมไปในหลากหลายประเด็นดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น ไม่นับรวมกับข้อตะขิดตะขวงใจทางประวัติศาสตร์ระหว่างสองชาติ ที่เป็นประเด็นมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เรื่อยมาจนสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นปัญหามาถึงปัจจุบัน
ณ วันนี้ ผมเห็นว่าสิ่งที่ปัญญาชนและสื่อมวลชนชาวญี่ปุ่นรู้สึกเป็นกังวลกับ “การผงาดขึ้นมาของจีน” มากที่สุดก็คือประเด็นเรื่อง “เศรษฐกิจ” และ “การทหาร”
ในแง่มุมทางเศรษฐกิจ หลังจากที่ในปี 2550 จีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลกแซงเยอรมนี จากการคาดการณ์ ของสื่อหลายแขนงก็ค่อนข้างแน่ชัดว่า ในช่วงปลายปี 2553 นี้ขนาดของเศรษฐกิจจีนหากวัดตามผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (nominal GDP) น่าจะเบียดแซงญี่ปุ่นขึ้นไปเป็นอันดับ 2 ได้ โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวถือว่ารวดเร็วกว่าที่เคยมีการคาดการณ์กันไว้ถึง 5 ปี[3]
จากมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจจีนจะใหญ่หรือเล็กกว่าญี่ปุ่น คงมิได้มีนัยสำคัญอะไรต่อวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นนัก เพราะหากคำนวณจากจีดีพีต่อหัว (GDP per capita) แล้ว โดยเฉลี่ยระดับคุณภาพชีวิตของคนจีนยังต่ำกว่าคนญี่ปุ่นมาก ทว่าในเชิงจิตวิทยา การที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นถูกจีนแซงได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นที่คนญี่ปุ่นมีต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของตัวเองพอสมควร
ลึกๆ แล้ว ความถดถอยในอันดับโลกของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ถือเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังหดตัว และในระยะยาวมีแนวโน้มที่จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ เวียดนาม อินโดนีเซีย รวมถึงไทย โดยผลกระทบที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือการย้ายฐานการผลิตของบริษัทญี่ปุ่น ทำให้คนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นประสบความยากลำบากในการหางานประจำ (Full-Time) และต้องหันไปทำงานเสริมประเภทต่างๆ เพื่อหาเลี้ยงชีพ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจเหล่านี้ ได้สร้างปัญหาต่างๆ ในสังคมญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องเป็น ลูกโซ่ ไม่ว่าจะเป็นภาวะที่คนญี่ปุ่นแต่งงานช้าลง อัตราการเกิดไม่เท่ากับการตาย ตัวเลขประชากรหดตัวลงขณะที่สังคมก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)
หากมองในระดับมหภาค การที่เศรษฐกิจจีนประสบกับภาวะเงินฝืดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน หลายสิบปี ขณะที่สถานะทางการคลังของรัฐบาลญี่ปุ่นก็อ่อนแอ เพราะตัวเลขหนี้สาธารณะสูงถึงร้อยละ 180 ของจีดีพี ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นชุดต่างๆ ไม่สามารถหาเงินมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ และเป็นสาเหตุให้นักการเมืองญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยต่างมีแนวคิดในการเพิ่มภาระภาษีให้กับประชาชน ซึ่งนี่เองเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญว่า ทำไมในห้วงหลายปีที่ผ่านมานับตั้งแต่จุนอิชิโร โคอิซุมิ ลงจาก ตำแหน่งในปี 2549 ญี่ปุ่นถึงต้องเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีมาถึง 5 คนแล้ว
ซึ่งในห้วงเวลาเดียวกันกับที่ญี่ปุ่นประสบกับ ปัญหาต่างๆ นานา ประเทศจีนได้ก้าวเข้าสู่ยุครุ่งเรืองถึงขีดสุด โดยมีหลักไมล์ความสำเร็จคือการเป็นชาติที่ 3 ของโลก ที่สามารถส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศได้ด้วยเทคโนโลยีของตัวเองเป็นผลสำเร็จ การเป็นเจ้าภาพในการจัดมหกรรมโอลิมปิก ปักกิ่ง 2008 และการจัดเซี่ยงไฮ้เวิลด์ เอ็กซ์โป 2010 ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนล่าสุดก็พุ่งขึ้นไปแตะระดับ 2.45 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
ในส่วนของการขยายแสนยานุภาพทางการทหารของจีน ผมพบว่าปัญญาชนและสื่อมวลชนชาวญี่ปุ่นแสดงความกังวลในประเด็นดังกล่าวอย่างมาก
ระหว่างการไปเยือนสำนักงานใหญ่หนังสือ พิมพ์อาซาฮี เคนอิชิ มิยาตะ ผู้บริหารสถาบันสื่อมวลชนของหนังสือพิมพ์อาซาฮี บอกกับผมว่าญี่ปุ่นมองการขยายตัวของกองทัพจีนเป็นภัยคุกคามประการหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยับขยายแสนยานุภาพทางทะเลของกองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชน (PLAN)
“ประเทศญี่ปุ่นอยู่ใกล้ประเทศจีนมาก อีกทั้งน่านน้ำของอาเซียนก็เป็นเส้นทางหลักในการขนส่งพลังงานและสินค้าของเรา ทำให้ญี่ปุ่นค่อนข้างจะเป็นกังวลกับการขยายตัวของกองทัพเรือจีน โดยเฉพาะจากกรณีที่มีข่าวว่า จีนกำลังขยายกองเรือดำน้ำและจะมีเรือบรรทุกเครื่องบินเป็นของตัวเอง” นักข่าวอาวุโสของหนังสือพิมพ์อาซาฮี บอก และกล่าวด้วยว่า การขยายอิทธิพลทางการทหารของจีนรวมไปถึงการตั้งฐานทัพเรือในอ่าวเบงกอล น่านน้ำของประเทศพม่าด้วย
ด้วยเหตุนี้เคนอิชิ สื่อมวลชนญี่ปุ่นและชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย จึงมีมุมมองในการสนับสนุนให้กองทัพสหรัฐอเมริกายังคงสถานะและบทบาทอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป ซึ่งทางญี่ปุ่นก็คาดหวังว่าเพื่อนบ้านในอาเซียนจะเห็นด้วยกับแนวคิดในการถ่วงดุลอำนาจของมหาอำนาจในภูมิภาคนี้
ในยามที่มังกรจีนเริ่มผงาดและกำลังขยับขยายอิทธิพลของตัวเอง ดูเหมือนว่ามหาอำนาจดั้งเดิมอย่างญี่ปุ่นจะค่อนข้างโดดเดี่ยวและต้องการเพื่อนคู่คิดมิตรข้างกายเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ข้อมูลอ้างอิงจาก :
[1] Kazuaki Nagata, Tourism revs up for China boom, The Japan Times, 17 June 2010.
[2] Chinese Travel Boom in Japan by Asia Biz Forecast, NHK World, 19 July 2010.
[3] Anderw Batson, A Second Look at China’s GDP Rank, The Wall Street Journal, 21 January 2010.
อ่านเพิ่มเติม :
- China Threat Theory นิตยสารผู้จัดการฉบับเดือนพฤษภาคม 2551
|