Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา สิงหาคม 2553
การถดถอยของการเมือง “สีเขียว”             
 


   
search resources

Environment
Political and Government




เหตุใดนโยบายลดโลกร้อน จึงไม่ใช่ “ของตาย” ที่จะทำให้นักการเมืองชนะเลือกตั้งได้อีกต่อไป

ย้อนหลังไปเมื่อ 3 ปีก่อน การเมืองเรื่องโลกร้อนยังอยู่ในยุคทอง หลังจาก An Inconvenient Truth ภาพยนตร์รางวัลออสการ์ปี 2006 ของ Al Gore สร้างความตกตะลึงให้แก่ผู้ชมทั่วโลก เมื่อเตือนว่านิวยอร์กและไมอามีอาจจะต้องจมอยู่ใต้น้ำถึง 20 ฟุต ในช่วง 12 เดือนหลังจากนั้น บรรดาผู้นำโลกต่างกระโจนเข้าสู่การเมืองเรื่องโลกร้อนกันถ้วนหน้า Angela Merkel ผู้นำเยอรมนีได้ฉายา “climate chancellor” หลังจากไปถ่ายรูปที่ Greenland กับภูเขาน้ำแข็งที่กำลังละลายและประกาศจะให้ยุโรป ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% ภายในปี 2020 Tony Blair นายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้น ประณามปัญหาโลกร้อนเป็นสิ่งที่ น่าเกลียดน่ากลัว ไม่ต่างอะไรกับลัทธิฟาสซิสต์ เกทับด้วยเป้าหมาย ลดก๊าซเรือนกระจกถึง 60% โลกได้เกิดมี “ผู้นำสีเขียว” คนแรก ของโลก เมื่อ Kevin Rudd ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของออสเตรเลีย ด้วยการชูนโยบายแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่ง Rudd บอกว่า เป็น “ปัญหา การเมือง เศรษฐกิจ และศีลธรรมที่ใหญ่ที่สุดในยุคสมัยของเรา”

แต่บัดนี้ “การเมืองสีเขียว” กำลังตกต่ำลงทั่วโลก ประชาชนไม่เห็นว่าปัญหา โลกร้อนสำคัญอีกต่อไป มีชาวเยอรมันเพียง 42% เท่านั้นในขณะนี้ที่ยังกังวลกับ ปัญหาโลกร้อน จาก 62% ในปี 2006 มีชาวออสเตรเลียเพียง 53% ที่ยังคิดว่าโลก ร้อนเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งลดลงอย่างฮวบฮาบ จาก 75% เมื่อปี 2007 คนอเมริกันจัดให้ปัญหาโลกร้อนอยู่อันดับโหล่สุดของทั้งหมด 21 ปัญหาที่ทำให้พวกเขาวิตกที่สุด นายกรัฐมนตรี Stephen Harper แห่งแคนาดา เห็นว่าปัญหาโลกร้อนเป็นแค่ ปัญหาปลีกย่อย ส่วนปัญหาสำคัญจริงๆ คือปัญหาเศรษฐกิจโลก ในเดือนมิถุนายน เขาสั่งยกเลิกการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม ที่มักจะจัดขึ้นก่อนหน้าการประชุม สุดยอดประจำปีผู้นำ G8 และ G20 อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 1994 ส่วน Merkel ตัดลดงบประมาณพัฒนาสิ่งแวดล้อม และ Barack Obama ก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับแผนการลดคาร์บอนนัก

แต่ความตกต่ำของนโยบายสีเขียวที่สร้างความขวัญเสียที่สุด ให้แก่นักการเมือง คือการที่ Rudd กลายเป็นผู้นำสีเขียวคนแรก ที่ต้องตกจากอำนาจสังเวยนโยบายสิ่งแวดล้อมของตัวเอง การยึกยักเรื่องนโยบายลดคาร์บอน ทำให้ถูกฝ่ายค้านโจมตีอย่างหนัก จน Rudd เสียคะแนนนิยมอย่างฮวบฮาบ ในที่สุดเขาก็ถูกลูกพรรคของตัวเองรวมหัวกันโค่นลงจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ในขณะที่การเลือกตั้งออสเตรเลียกำลังใกล้เข้ามา

ทำไมการต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน ซึ่งเคยเป็นนโยบายหาเสียงยอดฮิต ที่รับประกันเรียกคะแนนเสียงได้อย่างแน่นอน จึงกลับกลายเป็นเผือกร้อนสำหรับนักการเมืองทั่วโลก สาเหตุส่วนหนึ่ง เป็นเรื่องการเมืองภายในแต่ละประเทศเอง Rudd ตกเป็นเหยื่อความแตกแยกภายในพรรคแรงงานของเขา ซึ่งเต็มไปด้วยกลุ่มเล็ก กลุ่มน้อย พอๆ กับที่ตกเป็นเหยื่อทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปของประชาชนต่อปัญหาโลกร้อน ส่วน Obama หมดพลังงานและทุนทางการเมืองไปโขกับการผลักดันกฎหมายใหญ่ๆ อย่างการปฏิรูประบบประกันสุขภาพ จึงไม่ต้องการหาเรื่องใส่ตัวอีก หากจะต้องผลักดันร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีความขัดแย้งสูง ส่วนยุโรปหลังจากยุ่งกับการกอบกู้ธนาคารที่ร่อแร่ มาบัดนี้กลับต้องเจอ ปัญหาที่หนักกว่า ถึงขั้นต้องกอบกู้ประเทศจากการล้มละลาย เนื่องจากหนี้สาธารณะล้นพ้นตัว

แต่สาเหตุที่ใหญ่ที่สุดคือ นโยบายสิ่งแวดล้อมโดยตัวมันเอง เป็นดาบสองคม นโยบายนี้เคยถูกใช้เป็นเหมือนสิ่งที่ตัดสินว่าใครเป็นเทพใครเป็นมาร เหมือนอย่างที่ Rudd เคยทำสำเร็จ และทำให้เขาชนะเลือกตั้งออสเตรเลียอย่างถล่มทลายมาแล้วในปี 2007 แต่การควบคุมโลกร้อน เป็นเรื่องที่ทำยากกว่าที่พูดอย่างมากจนนึกไม่ถึง ไม่ง่ายเหมือนกับการแย่งกันเกทับกันปาวๆ ว่าจะลดก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ลงให้มากกว่าคนอื่นๆ เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้น ในปี 2007 ซึ่งนอกจากไม่ต้องลงทุนอะไรเลยแล้ว ยังได้หน้าแถมว่า เป็นนักการเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อมเสียออก แต่การจะลดคาร์บอนลงให้ได้มากๆ ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เป็นเรื่องที่ยากลำบากและใช้เงินมหาศาล เพราะต้องปรับรื้อระบบเศรษฐกิจของประเทศใหม่ ทั้งหมด ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีทางจะลดคาร์บอนลงตามเป้าได้

Rudd จึงกลายเป็นผู้นำสีเขียวคนแรกที่ต้องสังเวยให้แก่ความจริงอันโหดร้ายของการเปลี่ยนเป้าหมายบนกระดาษให้กลาย เป็นความจริง ออสเตรเลียเป็นประเทศส่งออกถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในขณะที่ถ่านหินคือแหล่งแพร่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และ ยังเป็นประเทศที่บริโภคพลังงานมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก การลดคาร์บอนลงมากๆ จึงหมายความว่า ชาวออสเตรเลียจะต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอย่างขนานใหญ่

นโยบายสีเขียวจะได้รับการชื่นชมก็ต่อเมื่อมันหมายถึงการให้เงินอุดหนุนเชื้อเพลิงสะอาด หรือการจัดการกับบริษัทใหญ่โต ที่แพร่คาร์บอน แต่นโยบายสีเขียวจะถูกรังเกียจทันที หากไปแตะต้องวิถีชีวิตของคน เช่น ต้องขับรถให้น้อยลง หรือต้องมีสระน้ำน้อยลง ศัตรูทางการเมืองของ Rudd จึงสามารถฉวยประโยชน์ จากความกลัวที่จะต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวออสเตรเลีย

ส่วนนโยบายผลักดันการใช้เชื้อเพลิงสะอาดมีค่าใช้จ่ายสูงมาก การเปลี่ยนจากถ่านหินมาเป็นก๊าซหรือพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่ง ปลอดจากคาร์บอนโดยสิ้นเชิง ล้วนมีราคาแพง นโยบายผลิตเอทานอลจากข้าวโพดของสหรัฐฯ และไบโอดีเซลจากเมล็ด rapeseed ของยุโรป เพื่อนำมาใช้แทนน้ำมันเป็นสิ่งที่ดี แต่ทว่าน้ำมันที่ประหยัดได้นั้นกลับถูกจีนกว้านซื้อไปแทนให้เจ็บใจเล่น และต่อให้เป้าหมายของสหประชาชาติที่ตั้งเป้าจะลดคาร์บอนลงถึง 80% ภายในปี 2050 กลายเป็นจริงได้จริงๆ แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็ยังคงถกเถียงกันอย่างหน้าดำหน้าแดงว่า มันจะคุ้มกันหรือไม่ ที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาลไปกับการอุดหนุนเชื้อเพลิงสะอาดและการลดคาร์บอน แลกกับการหลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดจากโลกร้อน

ยุโรป ซึ่งเป็นทวีปที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก ลดคาร์บอนลงได้ 11.3% ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา แต่น่าเสียดาย ที่หาใช่เป็นเพราะนโยบายลดโลกร้อนไม่ หากแต่เป็นเพราะการล่มสลายของธุรกิจในประเทศยุโรปตะวันออกที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์ และเป็นเพราะการถดถอยทางเศรษฐกิจในยุโรป

นโยบายสีเขียวยังกลายเป็นเพียงหน้ากากสวยหรูอันใหม่ที่ นำมาใช้ปิดบังการเมืองเรื่องผลประโยชน์แบบเดิมๆ โครงการผลิต เชื้อเพลงชีวภาพเป็นเพียงเหล้าเก่าในขวดใหม่ของการอุดหนุนภาค เกษตร ด้วยการใช้งบ 20,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี เที่ยวไล่เจ้าของที่ดินที่ไม่ปล่อยคาร์บอน โครงการอุดหนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นหน้าเป็นตาให้แก่เยอรมนีในการแก้ปัญหาโลกร้อน อาจเป็นนโยบายสิ่งแวดล้อมที่ฟุ่มเฟือยมากที่สุดในโลก เพราะผลิต พลังงานได้เพียง 0.25% ของพลังงานทั้งหมด แต่ต้องแลกมาด้วย เงินมหาศาลถึง 125,000 ล้านดอลลาร์

แต่เรื่องอื้อฉาวที่สุดที่เกิดขึ้นกับการเมืองเรื่องโลกร้อนคือกรณีอื้อฉาวที่เรียกว่า “climategate” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เมื่อพบความผิดปกติในรายงานของ Inter-governmental Panel on Climate Change (IPCC) หน่วยงาน วิจัยของสหประชาชาติ ซึ่งข้อมูลวิจัยของหน่วยงานนี้เป็นพื้นฐานของการวางนโยบายลดโลกร้อนของประเทศทั่วโลก เรื่องอื้อฉาวนี้ จะกระทบความน่าเชื่อของ IPCC อย่างแน่นอน รวมถึงกระทบจุดยืนของ IPCC ที่พยายามยืนยันว่า การลดคาร์บอนไดออกไซด์ มากๆ เป็นเพียงหนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาโลกร้อนได้

เมื่อ การเมืองสีเขียวกำลังเสื่อมในทางศีลธรรม การแก้ปัญหา โลกร้อนจึงเริ่มลดฐานะความสำคัญลงในโลกตะวันตก นอกจากนี้ จะทำให้เกิดการเมืองเรื่องโลกร้อนกระแสที่ 3 ขึ้น ซึ่งจะอยู่ระหว่าง กระแสหลักที่เห็นว่า ปัญหาโลกร้อนเป็นหายนภัยที่จะต้องหยุดยั้ง ให้ได้ ไม่ว่าจะต้องแลกกับอะไรกับอีกกระแสหนึ่งที่ปฏิเสธปัญหาโลกร้อนโดยสิ้นเชิง โดยเห็นว่าเป็นเรื่องลวงโลก กลุ่มกระแสที่ 3 ที่จะเกิดขึ้นใหม่นี้จะชั่งน้ำหนักอย่างระมัดระวังมากขึ้น ระหว่างสิ่งที่ต้องเสียไปกับประโยชน์ที่จะได้คืนมาจากการควบคุมการปล่อยคาร์บอน และจะมองหาทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากการตั้งเป้าหมายลดคาร์บอนแต่เพียงอย่างเดียวด้วย

คาดว่าการถกเถียงครั้งใหม่เกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน จะสอดคล้องกับความจริงมากขึ้นกว่าในอดีต และจะไม่ยึดติดกับวิธีลดคาร์บอนแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจรวมถึงการเปลี่ยนจากการให้เงินอุดหนุนไปเป็นการให้เงินสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ซึ่ง นักเศรษฐศาสตร์ด้านโลกร้อนเรียกร้องกันมานานแล้ว และยังอาจ รวมถึงการสอนให้สังคมต้องปรับตัว รับกับสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างยากจะขัดขืน มากกว่าจะเน้นการหยุดโลกไม่ให้ร้อนขึ้นแต่เพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม แนวคิดใหม่ในการถกเถียงปัญหาโลกร้อนดังกล่าว ยังไม่ได้รับการใส่ใจมากนัก เนื่องจากนักสิ่งแวดล้อมกระแสหลักกลัวว่า จะไปเบี่ยงเบนความสนใจจากการพยายามผลักดันเรื่องการลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุด แม้ว่าการให้สังคมปรับตัวยอมรับสภาพของโลกที่ร้อนขึ้น อาจจะได้ผลดีกว่าและเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการลดคาร์บอนก็ตาม

อันที่จริงแล้ว มนุษย์ได้ปรับตัวรับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยน แปลงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานานหลายศตวรรษอยู่แล้ว หากนำปัญหาระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในผลกระทบที่เกิดจากโลกร้อนไปถามชาวดัตช์ ซึ่งต้องปรับตัวเข้ากับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นมาตลอดชีวิต พวกเขาคงจะตอบว่าสบายมาก ปัญหาน้ำจืด ลดลง อีกผลกระทบหนึ่งของโลกร้อน อาจแก้ด้วยการจัดสรรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ซึ่งง่ายกว่าการพยายามจะห้ามอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้น วิศวกรรมการจัดการภูมิอากาศ (climate engineering) เป็นนวัตกรรมใหม่อีกอย่าง ที่จะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้ เช่น การจัดการเมฆ และการสะท้อนความร้อนกลับขึ้นไปสู่อวกาศ

นโยบายสีเขียวที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอาจกำลังเสื่อมศรัทธาจากประชาชน แต่หากนั่นหมายถึงว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้งบประมาณของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมไปในทางที่ดีขึ้น จากนโยบายเก่าๆ ที่ได้ผลน้อย และผลที่ได้ไม่คุ้มกับงบประมาณที่เสียไป เป็นการนำเงินไปใช้กับนโยบายสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิม อย่างเช่นการป้องกันผลกระทบต่างๆ ที่เกิดจากปัญหาโลกร้อน และการวัดความคุ้มค่าของนโยบายโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมในอนาคตที่ดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ก็คงจะเป็นสิ่งที่จะให้ ประโยชน์ที่คุ้มค่าและถาวรในอนาคต ที่แม้แต่ Kevin Rudd เอง ก็คงจะเห็นด้วย แม้ว่าตัวเขาเองจะต้องสังเวยอำนาจทางการเมืองไปแล้วกับการเสื่อมความนิยมในนโยบายโลกร้อนก็ตาม

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us