Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา สิงหาคม 2553
สหรัฐฯ เผชิญวิกฤติความคิดสร้างสรรค์             
 


   
search resources

Knowledge and Theory




ผลการศึกษาพบเป็นครั้งแรกว่า ความคิดสร้างสรรค์ของชาวอเมริกันตกต่ำลง สาเหตุเป็นเพราะอะไรและสหรัฐฯ จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

ปี 1958 ศาสตราจารย์ E. Paul Torrance เพิ่งคิดค้นแบบทดสอบใหม่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์และนำไปทดสอบเด็กๆ เกือบ 400 คนใน Minneapolis หลังจากกลุ่มนักวิชาการที่นำโดย Torrance ในขณะนั้น และ Garnet Millar ซึ่งเป็นเพื่อนของ Torrance ในปัจจุบันได้ติดตามชีวิต ของเด็กๆ กลุ่มนั้นเป็นเวลาถึง 50 ปี เพื่อจดบันทึกความสำเร็จทุกอย่างของ พวกเขา สิทธิบัตรทุกใบที่ได้รับ ธุรกิจทุกอย่างที่ตั้งขึ้น งานวิจัยทุกอย่างที่ถูกตีพิมพ์เผยแพร่และรางวัลทุกอย่างที่ได้รับ รวมกระทั่งผลงานเล็กๆ น้อยๆ อย่างหนังสือ การเต้นรำ การออกรายการวิทยุ นิทรรศการศิลปะ โปรแกรม ซอฟต์แวร์ งานโฆษณา นวัตกรรมด้านฮาร์ดแวร์ การแต่งเพลง นโยบายรัฐ การได้ตำแหน่งผู้นำ การเป็นวิทยากรรับเชิญ ไปจนถึงการออกแบบอาคาร

แบบทดสอบของ Torrance ไม่เคยมีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบ เดียว สะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงนิยามของความคิดสร้างสรรค์ กล่าวคือ “การสร้างสิ่งที่มีความเป็นต้นแบบและมีประโยชน์” การคิดอย่างสร้างสรรค์ ต้องการการคิดทั้งแบบ divergent thinking คือความคิดใหม่ๆ แปลกๆ และแบบ convergent thinking คือการรวมความคิดใหม่ๆ นั้นให้ออกมา เป็นผลดีที่สุด

แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์ของ Torrance ใช้เวลาทำ 90 นาที นำไปใช้กับคนหลายล้านคนทั่วโลกใน 50 ภาษา ได้รับการยอมรับว่าเป็นมาตรฐานทองคำของแบบประเมินความคิดสร้างสรรค์ ที่ใช้วัดความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ได้อย่างแม่นยำเหลือเชื่อ “ดัชนีความคิดสร้างสรรค์” ของ Torrance สามารถทำนายอย่างแม่นยำว่า เด็กคนใดจะประสบความสำเร็จในความคิดสร้างสรรค์ เมื่อเขาโตเป็น ผู้ใหญ่ เด็กที่มีความคิดดีๆ มากกว่าเด็กคนอื่นๆ ในการทำแบบทดสอบ ของ Torrance จะโตขึ้นเป็นผู้ประกอบการ นักประดิษฐ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัย นักประพันธ์ แพทย์ นักการทูต และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ Jonathan Plucker นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย Indiana University ชี้ว่า ความสำเร็จในการคิดอย่างสร้างสรรค์ตลอดทั้งชีวิตของคนคนหนึ่ง สัมพันธ์กับความสามารถในการคิดสร้างสรรค์เมื่ออยู่ในวัยเด็ก (CQ) มากกว่าความฉลาด (IQ) ถึง 3 เท่า

สิ่งที่แตกต่างระหว่าง IQ กับ CQ คือ คนรุ่นใหม่จะมีคะแนน IQ มากกว่าคนรุ่นก่อนหน้าประมาณ 10 จุด สะท้อนว่าสภาพแวดล้อม ส่งเสริมให้เด็กฉลาดมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผลการวัดความคิดสร้างสรรค์กลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม และเป็นครั้งแรกที่เพิ่งมีการรายงาน ผลการศึกษาที่พบว่า คะแนนความคิดสร้างสรรค์ของคนอเมริกัน ยิ่งนับวันก็ยิ่งตกต่ำลง

Kyung Hee Kim นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย College of William & Mary คือผู้ค้นพบความจริงที่น่าตระหนกนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จากการนำผลคะแนนการทำแบบทดสอบวัดความคิดสร้างสรรค์ของ Torrence ของคนเกือบ 300,000 คน ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่มาวิเคราะห์ เขาพบว่า คะแนนความคิดสร้างสรรค์ของคนอเมริกันเคยเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอในช่วงแรกๆ เช่นเดียวกับคะแนน IQ แต่นับตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา ไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลกลใด คะแนนความคิดสร้างสรรค์ของคนอเมริกันกลับลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะคะแนนที่วัดได้จากเด็กเล็กในสหรัฐฯ ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงเกรด 6 เป็นกลุ่มที่มีคะแนนลดต่ำลงอย่างน่าใจหายที่สุด

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น สาเหตุแรกอาจจะเป็นเพราะเด็กใช้เวลา อยู่หน้าจอทีวีและเล่นวิดีโอเกม มากกว่าการทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ สาเหตุต่อมาคือ โรงเรียนขาดการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้แก่นักเรียน และปราศจากความพยายามที่จะถนอมรักษาความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็กทุกคนอย่างเป็นระบบ ปล่อยให้การเกิด ความคิดสร้างสรรค์กลายเป็นเรื่องของโชค

ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ให้เป็นเรื่องสำคัญระดับชาติ อังกฤษยกเครื่องหลักสูตรโรงเรียนมัธยมใหม่หมดในปี 2008 ในทุกวิชาตั้งแต่วิทยาศาสตร์จนถึงภาษาต่างประเทศ เพื่อเน้นการสร้างสรรค์ความคิดแปลกๆ ใหม่ๆ และเริ่มนำแบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์ของ Torrance มาใช้ประเมินความก้าวหน้าของหลักสูตร สหภาพยุโรป (European Union: EU) กำหนดให้ปีที่แล้ว (2009) เป็นปีแห่งการคิด สร้างสรรค์และนวัตกรรม มีการจัดประชุมความรู้ใหม่ๆ ด้านระบบประสาทวิทยาที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ และการสร้างโปรแกรมการเรียนรู้จากการแก้ปัญหาให้แก่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จีนปฏิรูปการศึกษา เพื่อกำจัดสไตล์การสอนแบบท่องจำ และเปลี่ยนไปสอนให้เด็กรู้จักเรียนรู้จากการแก้ปัญหาแทน

แต่สหรัฐฯ กลับยังคงยึดติดอยู่กับหลักสูตรมาตรฐาน บรรดาครูๆ อเมริกันพากันโวยว่า วันๆ หนึ่งแทบไม่มีชั่วโมงที่สอนเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์เลย แม้แต่ชั่วโมงศิลปะก็มีเพียง 1 หรือ 2 ครั้ง ต่อสัปดาห์เท่านั้น ด้วยความเชื่อว่า ศิลปะเป็นบ่อเกิดของความคิดสร้างสรรค์ แต่นักวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่า ความเชื่อดังกล่าวไม่เป็น ความจริง ผลการทดสอบความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษาวิศวกรรมกับนักศึกษาด้านดนตรีปรากฏว่า พวกเขามีกระบวนการคิดที่ไม่แตกต่างกัน

และนักวิทยาศาสตร์ยังไม่เห็นด้วยกับการจำกัดการใช้ความคิดสร้างสรรค์ แต่เพียงในชั่วโมงศิลปะเท่านั้น หากแต่ควรใช้กับทุกวิชา นักวิทยาศาสตร์เห็นว่าคำพูดที่ว่า เราไม่สามารถจะสอนเรื่องการคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็กได้ เพราะเด็กมีวิชาที่จะต้องเรียนมากเกินไปอยู่แล้ว เป็นความคิดที่ผิดมหันต์ ความคิดสร้างสรรค์หาใช่หมายถึงการคิดที่หลุดออกไปจากข้อเท็จจริง ตรงข้าม การค้นหาความจริงและการศึกษา ค้นคว้าอย่างลึกซึ้งต่างหาก ที่เป็นขั้นตอนสำคัญของกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์ นักวิทยาศาสตร์จึงเห็นว่าสหรัฐฯ ยังคงสามารถสอนตามหลักสูตรที่ใช้อยู่ต่อไปได้ เพียงแต่ต้องเปลี่ยนวิธีการสอน

แต่ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจความรู้ใหม่ในด้านประสาทวิทยา ก่อน สิ่งที่เราเคยรู้มานานแล้วคือ ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นที่สมองซีกขวา แต่ขณะนี้เรารู้มากขึ้นแล้วว่า หากพยายามจะคิดสร้างสรรค์โดยใช้สมองซีกขวาแต่เพียงด้านเดียว ก็จะได้แต่ความคิดที่พูดได้ แต่ทำไม่ได้ การคิดแก้ปัญหาจะเริ่มจากการใส่ใจในข้อมูลเดิมที่มีอยู่และวิธีแก้ปัญหาที่เคยใช้มาก่อน นี่คือการใช้สมองซีกซ้าย ต่อเมื่อใช้วิธีนี้แล้ว ยังไม่พบคำตอบที่ต้องการ สมองทั้ง 2 ซีกจึงจะเริ่มทำงานร่วมกัน โดย เครือข่ายระบบประสาทในสมองซีกขวาจะพยายามคิดหาความคิดเก่าๆ ที่เราอาจลืมไปแล้ว แต่อาจจะเป็นประโยชน์กับการคิดแก้ปัญหาในครั้งนี้ ทำให้ข้อมูลเก่าๆ ที่อาจถูกเก็บอยู่ในซอกลึกสุดของสมอง ซึ่งในตอนแรก เราไม่ได้คิดถึง เพราะดูไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่เรากำลังคิดแก้ไข กลับ ผุดขึ้นมาอย่างมากมายที่สมองซีกซ้าย ซึ่งกำลังพยายามคิดหารูปแบบ ใหม่ๆ ความหมายใหม่ๆ หรือนามธรรมขั้นสูงอยู่ และเมื่อสมองซีกซ้าย พบความเชื่อมโยงของข้อมูลเก่าๆ กับวิธีคิดใหม่ๆ สมองซีกซ้ายก็จะรีบคว้าจับความคิดที่เพิ่งผุดขึ้นมานั้นไว้มั่น ก่อนที่จะลืมไปอีก ในทันที นั้นเอง สมองจะเปลี่ยนจากการไม่สนใจ มาเป็นการจดจ่อสนใจในข้อมูลนั้นอย่างรวดเร็ว และในเวลาเพียง ชั่วแวบ สมองจะรวมความคิดเล็กๆ เหล่านั้นเข้าด้วยกัน แล้วสังเคราะห์กลายเป็นความคิดใหม่เอี่ยมที่ลอยขึ้นสู่จิตสำนึกของเรา และนี่ก็คือช่วงเวลาที่เราจะอุทานว่า “โป๊ะเชะ!” ด้วยความรู้สึกดีใจ เมื่อสมองของเราตระหนักว่า เราได้ค้นพบความคิดใหม่แล้ว

มาถึงตอนนี้ สมองจะประเมินความคิดใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นว่า ดีพอที่จะทำได้หรือไม่ จะเห็นว่า การคิดอย่างสร้างสรรค์จำเป็นต้องใช้ทั้งการคิดแบบ divergent และ convergent สลับกัน หรือผสมกันอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะรวม ข้อมูลใหม่เข้ากับความคิดเก่าที่ถูกลืมไปแล้ว คนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูง จะเก่งมากในการระดมการใช้สมองทั้ง 2 ซีก และยิ่งสมองทั้ง 2 ซีกมีความสามารถในการคิดสร้าง สรรค์มากเท่าใด สมองทั้ง 2 ซีกก็จะทำงานร่วมกันได้ดีเท่านั้น Rex Jung นักประสาทวิทยาจาก University of New Mexico สรุปว่า ใคร ที่ขยันทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์อยู่เสมอ จะเรียนรู้วิธีระดมการใช้เครือข่ายการคิดสร้างสรรค์ของสมองได้เร็วยิ่งขึ้นและดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะ สิ่งที่ทำอย่างสม่ำเสมอจนกลายเป็นนิสัยนั้น จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงรูปแบบของระบบประสาทของสมอง เพื่อให้ใช้ทั้ง 2 ซีกได้ดียิ่งขึ้น

ข่าวดีคือ การฝึกการคิดสร้างสรรค์อย่างสอดคล้องกับความรู้ใหม่ทางประสาทวิทยาข้างต้นได้ผลดีอย่างมาก มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ในโลกอย่าง University of Oklahoma, University of Georgia และ National Chengchi University ของไต้หวัน ต่างวิเคราะห์โปรแกรมฝึก การคิดสร้างสรรค์ และสรุปตรงกันว่า การคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องที่สอน กันได้ และโปรแกรมฝึกคิดสร้างสรรค์ที่ประสบความสำเร็จทั้งหลายนั้น จะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ การฝึกให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดทั้งแบบ divergent และ convergent อย่างเข้มข้นสูงสุด อย่างไรก็ตาม การฝึกคิดอย่างสร้างสรรค์ไม่ใช่จะเห็นผลได้เพียงแค่ครั้งหรือสองครั้ง แต่จะต้องนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันในที่ทำงานหรือโรงเรียน

โรงเรียน National Inventors Hall of Fame School ในเมือง Akron รัฐโอไฮโอ ให้นักเรียนเกรด 5 ทำงานกลุ่มโครงงานแก้ปัญหาเสียงดังจากภายนอก ที่เข้าไปรบกวนภายในห้องสมุด นักเรียนเริ่มคิด แก้ปัญหานี้ โดยเริ่มจาก “ความรู้ที่มีอยู่แล้ว” (fact-finding) ซึ่งก็คือการเริ่มต้นกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์ พวกเขาเริ่มต้นจากความรู้ ที่ว่า เสียงเดินทางผ่านวัสดุอย่างไร วัสดุใดที่ลดเสียงได้ดีที่สุด ตามด้วย “ปัญหาและอุปสรรคคืออะไร” (problem-finding) เพื่อลดปัญหาอุปสรรคและทำให้ความคิดนั้นเป็นไปได้มากที่สุด ขั้นที่สาม “ระดมความคิด” (idea-finding) คิดวิธีที่อาจแก้ปัญหาได้ออกมาให้มากที่สุด ผ้าม่าน ต้นไม้ แขวนว่าวตัวใหญ่ๆ หลายตัวห้อย ลงมาจากเพดานเพื่อต้านเสียง หรือแทนที่จะลดเสียง ก็หาทางกลบเสียงแทน ด้วยการเปิดเสียงน้ำตก หรือใช้กระจก 2 ชั้น และใส่น้ำลงไประหว่างชั้นของกระจก ขั้นที่ 4 “หาทางแก้ปัญหา” (solution-finding) ประเมินว่า ความคิดใดจะใช้ได้ผลดีที่สุด ถูกที่สุด และน่าพึงพอใจที่สุด และขั้นสุดท้ายคือ “แผนปฏิบัติการ” ในขั้นนี้เด็กๆ ยังไปจูงใจเพื่อนกลุ่มอื่นๆ ให้เห็นคล้อยตาม กับวิธีแก้ปัญหาของกลุ่มตน ทำให้กลุ่ม ที่เห็นด้วยยอมยุบกลุ่มมารวมเป็นกลุ่มเดียวกัน วิธีการสอนแบบนี้ทำให้สามารถสอนตามหลักสูตรมาตรฐานได้ ขณะเดียวกันก็ฝึกให้นักเรียนให้คิดอย่างสร้างสรรค์ด้วย หลังจากทำโครงงานนี้ นักเรียนมีความรู้เรื่องคลื่นเสียง การคำนวณค่าใช้จ่าย และ แม้กระทั่งวิธีการจูงใจ ซึ่งเป็นไปตามหลักสูตร พร้อมๆ กับได้เรียนรู้การใช้ความคิดทั้งแบบ divergent และ convergent ซึ่งทำให้นักเรียน ได้ความคิดใหม่ๆ ที่มีทั้งความเป็นต้นแบบและใช้ประโยชน์ได้จริง วิธี การสอนแบบ project-based learning ซึ่งทำให้นักเรียนเรียนรู้วิธีคิด แก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ (Creative Problem-Solving) นี้ ทำให้โรงเรียน National Inventors Hall of Fam School แห่งนี้ เป็น 1 ใน 3 โรงเรียนที่ดีที่สุดของเมือง Akron Mihaly Csikszentmihalyi จาก Claremont Graduate University และ Gary G. Gute จาก University of Northern Iowa ศึกษาชีวิตวัยเด็กของคนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูง และพบด้วยความประหลาดใจว่า พวกเขามักเติบโตในครอบครัวที่มีระเบียบวินัยสูง สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า ครอบครัวที่เข้มงวดจะสามารถสนองความต้องการพื้นฐานของเด็ก และให้ความมั่นคงทางจิตใจแก่เด็ก แต่จะไม่ยอมให้ลูกออกนอกลู่นอกทาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้เด็กต้องรู้จักปรับตัว การมี ระเบียบวินัยช่วยลดปัญหาเมื่อเด็กเกิดความเครียดหรือสับสน อย่างไร ก็ตาม ถ้าหากเขาเบื่อ เขาก็จะหาทางเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆ ระหว่าง ความรู้สึกเครียดและเบื่อนี่เอง ที่เป็นบ่อเกิดของความคิดสร้างสรรค์ และเป็นเหตุผลว่า ทำไมเด็กที่มาจากครอบครัวที่ไม่ส่งเสริมให้คิดออก จากกรอบ กลับเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดสร้างสรรค์สูง

ความทุกข์ยากในวัยเด็กเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่สร้างผู้ใหญ่ที่มีความคิดสร้างสรรค์สูง ความทุกข์ยากบังคับให้เด็กต้องมีความยืดหยุ่น สูง และการยืดหยุ่นพลิกแพลงก็คือการคิดอย่างสร้างสรรค์

การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็กในปัจจุบัน ไม่ใช่การกระตุ้นให้เด็กหาคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว ในเด็กก่อนวัยเรียน เด็กที่ได้เล่นอย่างอิสระ เช่น การเล่นเป็นพ่อแม่ เล่นขายของ จะวัดความคิดสร้างสรรค์ได้สูงกว่าเด็กที่ไม่ได้เล่นแบบนี้ การได้เล่น เป็นคนอื่นช่วยพัฒนาความสามารถในการวิเคราะห์สถาน การณ์จากมุมมองที่หลากหลาย วัยเด็กตอนกลางจะสร้างโลกในจินตนาการ (paracosm) ขึ้นมา และชอบเข้าไปอยู่ในนั้นนานๆ บางครั้งนานหลายเดือน เด็กๆ อาจคิดสร้างแม้กระทั่งภาษาที่ใช้ ในโลกจินตนาการนั้น การเล่นแบบนี้จะเข้มข้นมากที่สุดในเด็กอายุ 9-10 ปี เด็กที่สร้างโลกในจินตนา การมักโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดสร้างสรรค์สูง

แต่สำหรับเด็กที่โตกว่านั้น ตั้งแต่เกรด 4 ขึ้นไป ความคิดสร้างสรรค์ในเด็กวัยนี้ จะไม่ลอยอยู่ในความเพ้อฝันอีกต่อไป แต่การศึกษาและความรู้จะเป็นส่วนหนึ่งของการคิดอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถใช้แก้ปัญหาได้จริง อย่างไรก็ตาม หากเด็กวัยนี้ได้รับการยัดเยียดข้อมูลที่ซับซ้อนมากเกินไป เด็กจะรับไม่ไหว และจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ หากได้ครูที่เข้าใจและอดทนต่อคำตอบที่แปลกประหลาดของเด็ก ความอยากรู้อยากเห็นที่บางครั้งอาจจะเกินเด็ก หรือการทำเรื่องยุ่งบ้างเป็นบางครั้ง เด็กจะสามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ไปได้ไกล แต่หากขาดคนเข้าใจ เด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ อาจกลับกลายเป็นเด็กที่เรียนไม่เก่ง จนถึงขนาดต้องออกจากโรงเรียน หรือถ้าเรียนจบก็ด้วยคะแนนที่ไม่สูง

สาเหตุที่เด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์หลายคนต้องหยุดเรียนกลางคัน เป็นเพราะความท้อและเบื่อหน่าย หาใช่เพราะพวกเขาเป็นเด็กไม่ดี เก็บกด หรือเป็นโรคประสาท การที่มีคนจำนวนมากมองคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ว่า มีนิสัยที่แปลกประหลาดและไม่ดีนั้น เป็นความเข้าใจที่ผิด นิสัยแบบนั้นเป็นตัวทำลายความคิดสร้างสรรค์ เพราะจะทำให้คนเราขาดประสบการณ์และความสนใจในสิ่งใหม่ๆ ตรงกันข้ามกับคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ มักจะเป็นคนกระตือรือร้น มองในแง่บวก ชอบมีส่วนร่วมและเปิดรับโลก

ปัจจุบันมีมุมมองใหม่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ว่า การคิดสร้างสรรค์เป็นการทำงานของสมองตามปกติ ไม่ใช่เป็นการคิดที่พิเศษ ไปจากปกติแต่อย่างใด ผลการศึกษาของ Mark Runco จาก University of Georgia พบว่า คนจำนวนมากมักมองเห็นแต่ปัญหา แต่มองไม่เห็นทางออก คนที่มีความสามารถมองเห็นทั้งปัญหาและทางออก คือ คนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี สามารถจัดการกับความเครียด และเอาชนะอุปสรรคของชีวิตได้ดีกว่า ผลการศึกษาเด็กนักเรียน 1,500 คนพบว่า เด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์มีความเชื่อมั่นในอนาคต และเชื่อว่าตนมีความสามารถที่จะแก้ปัญหาได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาใดก็ตาม เมื่อปี 1958 Ted Schwarzrock เป็นนักเรียนเกรด 3 ที่เป็น 1 ใน “Torrance kids” เด็กเกือบ 400 คน ที่เคยทำแบบทดสอบความคิดสร้าง สรรค์ที่ศาสตราจารย์ Torrance เพิ่งคิดค้นขึ้นในปีนั้น และเขาถูกบันทึกว่า เป็นเด็กที่น่าทึ่งที่สุด คนหนึ่งใน “ความสามารถในการสังเคราะห์องค์ประกอบที่หลากหลาย ให้กลายเป็นผลผลิตที่มีความหมาย” ซึ่งตรงตามคำนิยามของความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ ปัจจุบัน Schwarzrock ประสบความสำเร็จและมีฐานะร่ำรวย เขาก่อตั้งบริษัทหลายแห่งที่ผลิตอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และสร้างสรรค์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ แบบพกพา ยาแก้อักเสบชนิดซึมเข้าผิว และล่าสุด Schwarzrock กำลังคิดค้นวิธีใหม่ในการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 50%

สหรัฐฯ อาจเป็นสังคมที่ให้รางวัลแก่ความคิดสร้างสรรค์ แต่กลับไม่เคยเข้าใจเรื่องความคิดสร้างสรรค์เลย ในขณะที่คะแนนความคิดสร้างสรรค์ของคนอเมริกันกำลังตกต่ำลง โดยไม่มีใครทันสังเกต แต่แผนการระดับชาติในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของอเมริกา กลับยังคงเป็นเหมือนการภาวนาขอให้โชคช่วยเท่านั้น แต่ปัญหาที่อเมริกากำลังเผชิญทั้งในปัจจุบันและอนาคต ต้องการมากกว่าแค่ความหวังว่าโชคจะมาช่วย และเป็นโชคดีที่วิทยาศาสตร์สามารถจะช่วยอเมริกาแก้ปัญหาวิกฤติความคิดสร้างสรรค์ได้

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us