กรุงเทพฯ นั้นเป็นเมืองใหญ่แห่งหนึ่งของโลก
การไหลบ่าเข้ามาของ “วัฒนธรรมเมืองใหญ่” จึงดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
เช่นเดียวกับที่เมืองใหญ่ทั้งหลายในโลกนี้ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เช่นกัน
ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม
“วัฒนธรรมเมืองใหญ่” นั้น สำหรับบางคนที่ความคิดคับแคบก็มักจะมองว่า
เป็นวัฒนธรรมตะวันตกที่ไหลบ่าเข้ามาทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนไทย พวกเขาพยายามจะวาดภาพถึงกรุงเทพฯ เมื่อ
20-30 ปีที่แล้ว ซึ่งทำอย่างไรก็คงจะหวนกลับมาไม่ได้อีก
แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจถึงสิ่งที่จะต้องเป็นไป และพยายามดัดแปลงให้เหมาะสม
สอดคล้องกับคนไทยมากที่สุด ไม่ใช่รับ “วัฒนธรรมเมืองใหญ่” กันเข้ามาทั้งดุ้น
อย่างเช่น “คลับ” ที่กำลังโผล่กันเป็นดอกเห็ดในกรุงเทพฯ ระยะใกล้
ๆ นี้นั้นก็อาจจะถือเป็น “วัฒนธรรมเมืองใหญ่” อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการดำเนินงานในรูปของธุรกิจเพื่อการสันทนาการ
มีทั้งที่เป็นสาขาของ “คลับ” ชั้นนำของโลก และก็มีทั้งที่ร่วมทุนกันระหว่างคนไทยและชาวต่างประเทศ
โดยมุ่งให้บริการกับผู้มีรายได้สูงเป็นหลัก
ส่วนวัตถุประสงค์ก็มีต่าง ๆ กันพอสมควร เช่น เป็นคลับเพื่อออกกำลังกายมีทั้งที่เป็นกีฬาในร่มและกีฬากลางแจ้ง
ซึ่งแน่นอน ต้องเป็นกีฬาที่คนมีเงินเขาเล่นกัน อย่างเช่น กอล์ฟหรือเทนนิส
เป็นต้น และก็มีที่เน้นให้เป็นคลับสำหรับการพบปะสังสรรค์หรือการประชุมทางธุรกิจ
โดยเฉพาะ หรืออาจจะรวมเพื่อความสุขความบันเทิงของส่วนตัวและครอบครัวด้วยก็ได้
หรือพูดอีกทีก็คือการจำลองเอารูปแบบตลอดจนเนื้อหาของบรรดา “คลับ”
ทั้งหลายในต่างประเทศมาตั้งกันขึ้นที่กรุงเทพฯ ทั้งดุ้น
แต่มีคลังแห่งหนึ่งที่มีหลาย ๆ อย่างน่าสนใจเป็นพิเศษ
คลับที่ว่านี้ชื่อ บางกอกอินเตอร์-คลับ
คลับที่รวมกิจกรรมทุกอย่างไว้พร้อมสรรพ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่สำหรับการประชุมการพบปะสังสรรค์
การเลี้ยงรับรอง การออกกำลังกายตลอดจนความบันเทิง ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่เหมาะมากกับสภาพการจราจรและสภาพแวดล้อมในกรุงเทพฯ
เพราะมาที่นี่ทีเดียวสามารถใช้บริการได้หลาย ๆ อย่าง จะมาคนเดียวหรือมาหลาย
ๆ คนก็สะดวกง่ายดาย
นอกจากนี้ที่ยังพิเศษอย่างจะหาจากคลับที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว ก็คือ เป็นคลับชั้นดีที่นักธุรกิจและเจ้าของกิจการขนาดกลางจนถึงขนาดเล็กสามารถไปใช้บริการได้สบาย
ๆ ด้วยอัตราค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่าที่สุด
การรวบรวมสรรพสิ่งไว้แห่งเดียวกันหมดและการวางกลุ่มเป้าหมายไว้ที่คนชั้นกลางนี้แหละที่
“ผู้จัดการ” อยากจะบอกว่าเป็นลักษณะพิเศษของบางกอก อินเตอร์-คลับ
ซึ่งดูจะเข้ากับวัฒนธรรมของคนไทยเอามาก ๆ
คลับแห่งนี้ก่อตั้งและบริหารโดยนักธุรกิจคนไทยและคนต่างประเทศกลุ่มหนึ่งในนามบริษัท
บางกอกอินเตอร์-คลับ
กลุ่มนักธุรกิจคนไทยนั้นล้วนแต่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี คือประกอบด้วย
พานิช และพงษ์พันธ์ สัมภวคุปต์ 2 พ่อลูกแห่งกลุ่มสยามเพนท์เฮ้าส์ และทรงศักดิ์
จันทรประเสริฐ กับวันเฉลิม กาญจนมงคล แห่งกลุ่มปาปากรุ๊ป ร่วมกับนักธุรกิจชื่อดังอีกหลายคน
ส่วนกลุ่มผู้ร่วมทุนจากต่างประเทศก็ประกอบด้วยไมเคิล ซิมส์ และ เลสลี่
ซิมส์ โดยที่ทั้ง 2 คนนี้เคยประสบความสำเร็จมาแล้วจากการก่อตั้งคลับที่ฮ่องกง
บางกอก อินเตอร์-คลับ จะต้องใช้งบลงทุนประมาณ 80 ล้านบาท ซึ่งสถานที่ตั้งก็จะอยู่บนชั้น
19-21 ของอาคารสีลมเทรดเซ็นเตอร์รวมพื้นที่ของคลับทั้ง 3 ชั้นนั้นก็จะเท่ากับ
3,000 ตารางเมตร
โดยแต่ละชั้นก็จะประกอบด้วย
ชั้นที่ 19 ทำเป็นศูนย์ออกกำลังกาย มีอุปกรณ์สำหรับให้ออกกำลังกายมากมากพร้อมทั้งมีห้องนวดแผนโบราณ
ห้องเล่นบิลเลียดห้องอ่านหนังสือ ร้านทำผมสำหรับผู้ชายและผู้หญิงและมีห้องอบไอน้ำ
ซึ่งทางคลับได้สั่งซื้อระบบห้องอบไอน้ำและอบไอน้ำร้อน (เซาน่า) ระบบละ 2
ห้อง ยี่ห้อ TYLO ของสวีเดนมาติดตั้ง โดยถือกันว่าเป็นระบบห้องอบไอน้ำยี่ห้อที่แพงที่สุดในโลก
ขึ้นมาอีกชั้นคือชั้นที่ 20 ชั้นนี้จัดเป็นฟังก์ชันรูมสำหรับนักธุรกิจที่ต้องการใช้สถานที่จัดการประชุม
หรือสัมมนาขนาดกะทัดรัด ที่คงจะไปจัดตามโรงแรมไม่เหมาะ เพราะจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเกินไปเนื่องจากห้องจัดประชุมขนาดเล็กของโรงแรมไม่มีจะมีก็ประเภทที่ต้องเป็นสิบ
ๆ คนขึ้นไป ห้องประเภทนี้คลับได้จัดไว้ 7-10 ห้อง มีเครื่องโสตทัศนูปกรณ์ไว้พร้อมมูล
ส่วนบนชั้นที่ 21 ซึ่งเป็นชั้นเพนต์เฮาส์ นั้นถูกจัดให้เป็นศูนย์เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ
มีทั้งห้องใหญ่ที่สามารถนั่งจิบเครื่องดื่มรสนุ่ม ๆ เคล้าเสียงเพลงขนาด 200
คน และมีอีกส่วนหนึ่งที่จัดแบ่งไว้เพื่อให้เป็นการพักผ่อนที่เป็นส่วนตัวโดยเฉพาะจริง
ๆ
นอกจากนั้นบนชั้นเดียวกันนี้ก็ยังจะมีห้องอาหารแบบยุโรปและญี่ปุ่นไว้บริการด้วยอีกอย่างหนึ่งต่างหาก
และที่พิเศษกันอย่างมโหฬารอีกอย่างก็คือ สนามฝึกกอล์ฟขนาดความยาว 35 เมตร
บนชั้น 11 ซึ่งเป็นเฉลียงชมวิวของอาคาร
ก็คงเป็นคลับแห่งแรกที่มีสนามฝึกกอล์ฟลอยฟ้าให้นักกอล์ฟทั้งหลายหวดลูกไปชมวิวไป
ซึ่งจะหาที่ไหนไม่ได้แล้ว
ซึ่งบริการทั้งหมดนี้สมาชิกของบางกอก อินเตอร์-คลับ สามารถเข้าใช้ได้ทันทีตั้งแต่ปลายปีนี้ซึ่งกำหนดไว้ว่าจะเป็นช่วงเปิดให้บริการของคลับอย่างเป็นทางการ
ส่วนการเป็นสมาชิกนั้นก็ไม่ยาก
บางกอก อินเตอร์-คลับแบ่งการเป็นสมาชิกออกเป็น 4 ประเภท
ประเภทแรกเรียกว่า GOLD INDIVIDUAL ต้องเสียค่าธรรมเนียมตอบรับเป็นสมาชิกคนละ
40,000 บาท
ประเภทที่สองคือ GOLD CORPORATE สมาชิกคือหน่วยงานหรือบริษัทห้างร้านเป็นสมาชิกประเภทนี้แล้วสามารถส่งรายชื่อผู้บริหารหรือใครก็ได้เข้ามา
2 คนเป็นสมาชิกของคลับโดยเสียค่าธรรมเนียมรวม 70,000 บาท
ประเภทที่สาม ADDITIONAL CORPORATE DESIGNEE ประเภทนี้เสียค่าธรรมเนียม
27,000 บาทต่อคน เป็นสมาชิกประเภทหน่วยงานหรือบริษัทที่ต้องการส่งคนของตนเข้ามาเกินกว่า
2 คน
และประเภทที่สี่เรียกว่า PLATINUM ต้องเสียค่าธรรมเนียม 100,000 บาท
ค่าธรรมเนียมที่สมาชิกแต่ละประเภทต้องเสียนี้อาจจะเรียกเป็น “A JOINING
DEPOSIT” ซึ่งทางคลับจะคืนให้ครบทุกบาททุกสตางค์เมื่ออายุการเป็นสมาชิกนั้นครบ
30 ปีแล้ว
ส่วนค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากนี้ก็มีค่าบำรุงที่สมาชิกทุกประเภทจะต้องเสียเท่า
ๆ กันเดือนละ 800 บาทต่อคน ยกเว้นเฉพาะสมาชิกประเภท PLATIUM ประเภทเดียวเท่านั้นที่ไม่ต้องเสียค่าบำรุงจนตลอดชีวิต
แล้วสำหรับแขกหรือครอบครัวของสมาชิกล่ะ จะเข้าใช้บริการของคลับได้หรือไม่
คำตอบคือ ได้ ถ้าเพียงแต่สมาชิกจะได้แจ้งรายชื่อของแขกที่จะเข้าร่วมใช้บริการของคลับ
ไปยังฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์ของคลับและคลับได้ออกบัตรเชิญสำหรับสมาชิกให้แล้วก็จะเข้าไปใช้บริการได้เหมือน
ๆ กับสมาชิก โดยบัตรที่ออกให้แขกของสมาชิกหรือครอบครัวของสมาชิกนี้จะมีอายุ
3 วันส่วนค่าใช้จ่ายจะรวมเข้าในบัญชีของสมาชิกคนนั้น ๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอะไรทั้งสิ้น
“ทางคลับโดยคุณสมถวิล ภัทธไชยนันท์ หรือคุณเบ็ตตี้ ผู้จัดการฝ่ายสมาชิกพร้อมที่จะให้บริการอยู่แล้ว
ขัดข้องอย่างไรโทรไปคุยกับเบ็ตตี้ที่โทรศัพท์หมายเลข 252-3932 ก็ได้”
ผู้บริหารคนหนึ่งของบางกอก อินเตอร์-คลับ บอกกับ “ผู้จัดการ”
โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับจำนวนสมาชิกนั้น คลับได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า
จะมีสมาชิกประมาณ 1,000 คนเมื่อคลับเริ่มเปิดดำเนินการซึ่งเมื่อประเมินรวมกับแขกของสมาชิกแล้วก็เป็นจำนวนที่พอเหมาะพอสม
คือไม่มากเกินไปจนบริการไม่ไหวและก็ไม่น้อยเกินไปจนไม่คุ้มกับการลงทุน ซึ่งเฉพาะค่าตกแต่งภายในอย่างเดียวก็ต้องลงเงินไปแล้วถึง
25-30 ล้านบาท
“ทั้งนี้คณะกรรมการของคลับก็ได้ตัดสินใจเลือกบริษัทอาร์บาคัส ของจอห์น
ไลท์บอดี้ เป็นผู้ออกแบบตกแต่งภายในเพราะเห็นฝีมือของเขาจากการตกแต่งภายในให้โรงแรมรีเจนท์รอยัลคริฟ
มณเฑียร รามาการ์เด้น และโรงแรมนารายณ์มาแล้ว” ลลิดา จันทรประเสริฐ กรรมการผู้จัดการของบางกอกอินเตอร์-คลับ
พูดให้ฟัง
การพักผ่อนและการออกกำลังกายนั้นเป็นสิ่งจำเป็นของคนในเมืองใหญ่อย่างยิ่ง
ขณะเดียวกันการพบปะสังสรรค์ทั้งเพื่อธุรกิจและสังคมก็เป็นสิ่งที่ผู้บริหารและนักธุรกิจคงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้
บางกอก อินเตอร์-คลับ เป็นคลับที่รวมเอาความต้องการอย่างน้อยทั้ง 2 ส่วนนั้นไว้ในที่เดียวกัน
ไม่ต้องให้เสียเวลาไปที่โน่นแห่ง ที่นี่แห่ง และก็จะเหมาะอย่างมาก ๆ สำหรับการเข้ามาพักผ่อนของครอบครัวในวันหยุด
จะว่าเป็นความเหมาะสมในยุคที่จะต้องประหยัดกันแล้วก็คงจะพูดได้ไม่อายใคร