ยอดการส่งออกรถยนต์เดือนมิถุนายน 2553 โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูง ถึงร้อยละ 95.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว คิดเป็นจำนวนรถยนต์ส่งออก 69,279 คัน ส่งผลทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ที่ผ่านมา ประเทศไทยส่งออกรถยนต์ไปต่างประเทศเป็นจำนวน 418,178 คัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันในปีที่แล้วที่มีจำนวนเพียง 234,822 คัน ถึงร้อยละ 78.1
ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญนอกเหนือจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โลกคือ ผลของการเปิดเสรีทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิด เสรีภายใต้กรอบความตกลงอาเซียน ซึ่งมีประชากรในกลุ่มประเทศ สมาชิกรวมกันกว่า 500 ล้านคน และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา สินค้าในกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนทั้งหมดก็ได้มีการลด ภาษีศุลกากรลงเหลือร้อยละ 0 ในกลุ่มประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศ ส่งผลทำให้การส่งออกรถยนต์ของไทยไปยังอาเซียนขยาย ตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก
มูลค่าการส่งออกรถยนต์ของกระทรวงพาณิชย์ล่าสุดพบว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ไทยส่งออกรถยนต์ไปยังอาเซียนเป็นมูลค่าสูงถึง 1,488.9 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 24.4 ของมูลค่าการส่งออกรถยนต์ทั้งหมดของไทย แต่มูลค่าการส่งออกดังกล่าวจะเป็นรองจากมูลค่าการส่งออกรถยนต์รวมไปออสเตรเลียที่มีมูลค่าสูงถึง 1,669.8 ล้านเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาแยกเป็นประเภทรถยนต์แล้วพบว่า อาเซียนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของรถยนต์นั่งของไทย โดยไทยส่งออกรถยนต์นั่งไปยังอาเซียนคิดเป็นมูลค่า 1,147.2 ล้าน เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 35.3 ของมูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่งของไทยทั้งหมด
โดยปัจจัยกระตุ้นการส่งออกที่สำคัญคือ การลดภาษีสำหรับ สินค้าในกลุ่มรถยนต์นั่ง (HS: 8703) ให้กับประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งเดิมอยู่ที่ร้อยละ 0 ถึง 5 ลงเหลือร้อยละ 0 ทั้งหมดตั้งแต่ต้นปีนี้ ทำให้มูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่งไปยังอาเซียนในช่วงครึ่งปีแรกนี้ขยายตัวสูงขึ้นมากถึงร้อยละ 137.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนที่มีมูลค่าการส่งออกเพียง 482.3 ล้านเหรียญสหรัฐ
การที่ไทยมีโอกาสในการส่งออกรถยนต์นั่งไปยังตลาดอาเซียนสูงขึ้นนี้ นอกเหนือจากปัจจัยด้านภาษีนำเข้าที่ลดลงในกลุ่มประเทศอาเซียนแล้ว ทิศทางการขยายการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็กมายังประเทศไทย จากการที่ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาค เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทำให้การส่งออกรถยนต์นั่งของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับกำลังการผลิตรถยนต์นั่งในปัจจุบันของประเทศในกลุ่มอาเซียน ยังไม่สามารถรองรับกับปริมาณความต้องการในประเทศได้ ทำให้โอกาสส่งออกรถยนต์นั่งของไทยไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มสูงขึ้น
ประเทศที่มีโอกาสในการขยายการส่งออกไปสูงที่สุด คือ อินโดนีเซีย จากปริมาณความต้องการที่อยู่ในระดับสูงขณะที่กำลัง การผลิตปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 2 ใน 3 ของความต้องการใช้ในประเทศ รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ตามลำดับ ซึ่งมาเลเซียแม้จะเป็นประเทศที่มีความต้องการใช้รถยนต์นั่งสูงมากเช่นกัน แต่กำลังการผลิตรถยนต์นั่งในประเทศที่มีมากกว่าร้อยละ 90 ของความต้องการใช้ในประเทศ ทำให้โอกาสในการนำเข้ารถยนต์นั่งจากไทยน้อยกว่าอีก 2 ประเทศ
ประโยชน์ที่ได้รับจากการเปิดเสรีดังกล่าวส่งผลทำให้การส่งออกรถยนต์ไปยังอาเซียนในปี 2553 มีโอกาสขยายตัวสูง ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า มูลค่าการส่งออกรถยนต์รวมของไทยไปยังอาเซียนมีโอกาสขยายตัวสูงถึงประมาณร้อยละ 86-91 คิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 3,300-3,400 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2552 ที่หดตัวถึงร้อยละ 19.9 ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการส่งออก 1,776.28 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยมูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่งคาดว่าจะมีสัดส่วนสูงถึงกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าการส่งออกรถยนต์รวมทั้งหมดของไทยไปอาเซียน แม้การส่งออกรถยนต์นั่งไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้าทำให้สามารถส่งออกได้มากขึ้นดังกล่าวมาข้างต้น แต่สินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนบางประเภท เช่น รถบัสและรถบรรทุก รวมถึงกระปุกเกียร์ จะได้รับผลกระทบจากการนำเข้าจาก ประเทศในกลุ่มอาเซียนเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีการขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสินค้าที่ได้รับผลกระทบ เชิงลบจากการเปิดเสรีทางการค้ายังมีมูลค่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าระหว่างประเทศรวมในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน แต่การนำเข้าชิ้นส่วนและรถยนต์ราคาถูกจากประเทศจีนหรืออินเดีย ที่อาจจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภายในประเทศนั้น จะยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนก็ยังคงต้องประสบกับประเด็นปัญหาต่างๆ ในทางปฏิบัติในปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการขยายตลาดและการแข่งขันด้านการค้าและการลงทุน และทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่ได้รับประโยชน์การเปิดเสรีทางการค้าอย่างเต็มที่ในระยะยาว
ทั้งนี้ ภาครัฐเป็นอีกส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถรับ มือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคสมัยที่การเปิดเสรีเป็นเรื่องที่ไม่ สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ นอกเหนือ ไปจากการที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวในด้านการพัฒนาความสามารถทางด้าน เทคโนโลยีและการผลิต รวมถึงการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่มาถึงนี้ได้
การเปิดเสรีภายในอาเซียนอาจส่งผลให้กลุ่มอุตสาหกรรม ยานยนต์ของไทยได้รับประโยชน์ค่อนข้างมากโดยเฉพาะในส่วนของสินค้ารถยนต์นั่ง ซึ่งมีการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน เพิ่มสูงขึ้น แต่อุปสรรคในมิติของกฎระเบียบภายในประเทศที่สอดคล้องกับข้อตกลง FTA และการจัดทำโครงสร้างภาษีศุลกากร ให้สอดคล้องระหว่างสินค้าต้นน้ำและปลายน้ำ ยังเป็นประเด็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต้องให้ความสนใจดูแล
หากประเทศไทยหวังที่จะเพิ่มโอกาสในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนที่น่าลงทุนในภูมิภาคในระยะยาว
|