Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2529
ซิงเสียนเยอะเป้าตำนาน 36 ปี ที่เริ่มจากโอวบุ้นโอ้ว แต่มารุ่งเรืองในยุคคนชื่อ “ลี”             
 


   
search resources

Newspaper
ลี สันติพงศ์ไชย




ชื่อโอวบุนโฮ้วนั้นเป็นชื่อที่คนไทยคุ้นหูกันพอสมควร ส่วนคนสิงคโปร์คนฮ่องกงและคนพม่าคงจะต้องรู้จักชื่อนี้ดีมาก ๆ ด้วยว่าชื่อของมหาเศรษฐีชาวจีนคนนี้ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อสวนสาธารณะในสิงคโปร์และฮ่องกง ซึ่งก็เป็นสวนสาธารณะที่ตระกูลโอวเป็นผู้สร้างขึ้น และแม้ว่าคนไทยจะไม่ค่อยคุ้นกับชื่อโอวบุนโฮ้วนักแต่กับชื่อซิงเสียนเยอะเป้านั้นก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่เคยได้ยินมาก่อน ซิงเสียนฯ เป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาจีนในบ้านเราซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยตระกูลโอว และต่อมากิจการนี้ตกทอดจนถึงมือเขยตระกูลโอว-ลีเอ็กซิม หรือ ลี สันติพงศ์ไชย และลีนี่แหละที่ทำให้ซิงเสียนฯ ผงาดเรื่อยมาจนปัจจุบัน โดยที่ความยิ่งใหญ่ของซิงเสียนฯ นั้น มีหลายคนถึงกับเปรียบเทียบว่าเป็น “ไทยรัฐแห่งย่านไชน่าทาวน์” ทีเดียวเชียว

ซิงเสียนเยอะเป้าเป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาจีนในไทยฉบับหนึ่งจากจำนวน 6 ฉบับที่ตีพิมพ์เผยแพร่กันอยู่ในขณะนี้

ซิงเสียน เป็นภาษาจีนกลาง 2 คำ ผสมกัน

“ซิง” คำนี้ถ้าถอดความเป็นภาษาไทยก็ควรจะหมายถึง “ดาว” ส่วน “เสียน” นั้นหมายถึง “สยาม” ซึ่งเป็นชื่อที่คนจีนเคยใช้เรียกแผ่นดินที่เป็นประเทศไทยในอดีต

เพราะเหตุนี้ซิงเสียนเยอะเป้าเมื่อแปลเป็นไทยแล้ว จึงน่าจะต้องแปลว่าหนังสือพิมพ์รายวัน “ดาวสยาม” เหมือนกับชื่อหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยฉบับหนึ่งซึ่งก่อตั้งโดย “กระแช่” หรือประสาน มีเฟื่องศาสตร์ แต่ขายให้คนอื่นไปแล้ว โดยผู้ซื้อนั้นก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์จีนคู่แข่งของซิงเสียนฯ หรือ “ดาวสยาม” เสียอีกด้วย

ซิงเสียนฯ นั้นก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2492 หรือ 36 ปีที่ผ่านมา โดยผู้ก่อตั้งก็คือเจ้าของกิจการยาหม่องตราเสือชื่อโอวบุนโฮ้วและโอวบุนปา 2 พี่น้องตระกูลโอวผู้มีชื่อเสียงสะเทือนเลื่อนลั่นคาบสมุทรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแง่ที่เป็นมหาเศรษฐีใจบุญ นิยมการบริจาคทรัพย์สินเงินทองช่วยเหลือการกุศลและสร้างสวนสาธารณะไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ อย่างเช่นสวนสาธารณะโอวบุนโฮ้วในฮ่องกงและสิงคโปร์ เป็นต้น

ในช่วงชีวิตของ 2 พี่น้องตระกูลโอวนี้พวกเขาได้ร่วมกันก่อตั้งกิจการค้าและการลงทุนขึ้นหลายอย่าง โดยเฉพาะกิจการหนังสือพิมพ์นั้นก็มีการก่อตั้งขึ้น 3 ฉบับใน 3 ประเทศ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทซิงเป้า จำกัด

ที่ฮ่องกง พวกเขาก่อตั้งหนังสือพิมพ์รายวันภาษาจีนชื่อ ซิงเต๋า หรือ “ดาวฮ่องกง” เพราะคำว่า “เต๋า” เป็นคำที่คนจีนมักใช้เรียกเกาะฮ่องกง

ที่สิงคโปร์ก็เป็นหนังสือพิมพ์รายวันชื่อ ซิงโจ้ว หรือ “ดาวสิงคโปร์” โดยคำว่า “โจ้ว” นั้นก็คือสิงคโปร์นั่นแหละ

ส่วนอีกฉบับก็คือ ซิงเสียน ซึ่งคนจีนในประเทศไทยตลอดจนคนไทยจำนวนมากรู้จักกันดี

ทั้งซิงเต๋าและซิงโจ้วนั้นถ้านับอายุก่อตั้งก็คงจะราว ๆ 50 กว่าปีแล้ว มีซิงเสียนฉบับเดียวที่เพิ่งจะมีอายุ 36 ปี

ปัจจุบันหนังสือพิมพ์ซิงเต๋าในฮ่องกงยังเป็นสมบัติของตระกูลโอวอยู่ โดยมีบุตรสาวคนหนึ่งของโอวบุนโฮ้วเป็นผู้ดำเนินกิจการ ส่วนซิงโจ้วนั้นได้ขายไปให้รัฐบาลสิงคโปร์เรียบร้อยนานแล้ว

และสำหรับซิงเสียน ก็มีลูกเขยและลูกสาวของโอวบุนปาเป็นทั้งเจ้าของและผู้บริหารในขณะนี้

ลูกสาวโอวบุนปาคนที่ว่านี้ชื่อ โอวเช็งซิน ภายหลังเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามเป็นไทยเสียใหม่ว่า สุรีย์

ส่วนลูกเขยเป็นผู้เป็นสามีของโอวเช็งซินหรือสุรีย์นี้ก็คือ ลีเอ็กซิม

หรือชื่อไทยของเขาก็คือ ลี สันติพงศ์ไชย ประธานและผู้อำนวยการบริษัทเซิงเป้า (ไทย) จำกัดหรือหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า

หนังสือพิมพ์ซึ่งมีหลายคนขนานนามให้เป็น “ไทยรัฐฉบับภาษาจีน” ไม่ว่าจะพิจารณาจากแนวทางการนำเสนอข่าวหรือยอดการจัดจำหน่ายตลอดจนยอดโฆษณา ด้านไหนก็ได้

โอวบุนโฮ้วและโอวบุนปานั้น เป็นคนจีนเชื้อสายฮากกา หรือที่เรียกกันว่าจีนแคะ ต้นตระกูลของพวกเขาเดิมอยู่ที่หมู่บ้านยงติง ตรงพรมแดนรอยต่อระหว่างพวกจีนแคะกับจีนฮกเกี้ยน ตระกูลโอวก็เลยพูดได้ทั้งภาษาแคะและภาษาฮกเกี้ยนคล่องแคล่วพอ ๆ กัน

ต้นตระกูลของโอวบุนโฮ้วและโอวบุนปาอพยพเข้ามาปักหลักทำกินในแผ่นดินพม่าตั้งแต่คนในรุ่นปู่ย่าของทั้ง 2 แล้ว เพราะฉะนั้นโอวบุนโอ้วและโอวบุนปาจึงเกิดที่ประเทศพม่า

ในวัยที่ยังเป็นหนุ่มฉกรรจ์ 2 พี่น้องตระกูลโอวนี้ได้ร่วมกันทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายยาหม่องตราเสือขึ้นที่พม่า 70 - 80 ปีมาแล้ว โดยมีร้ายขายยาหม่องชื่อ “ยงอันท้ง” ซึ่งหมายถึงร้านของคนจากหมู่บ้านยังติง

ก็เป็นกิจการที่ประสบความสำเร็จน่าภูมิอกภูมิใจมาก ๆ

จากยาหม่องตราเสือและร้านขายยายงอันท้ง โอวบุนโฮ้วและโอวบุนปาเดินหน้าขยายกิจการต่อมาด้วยการตั้งบริษัทจัดจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศนับเป็นร้อย ๆ ชนิด ซึ่งสมัยนั้นกิจการที่ว่านี้ใหญ่โตพอ ๆ กับห้างเบอร์ลี่ยุคเกอร์ในประเทศไทยทีเดียว และก็ขายสินค้าประเภทเดียวกับเบอร์ลี่ยุคเกอร์เสียด้วย

“ห้างฯ ของพวกเขาชื่อ สวิส-เบอร์ม่า สินค้าจากต่างประเทศทุกอย่างที่ส่งเข้ามาขายในประเทศไทยโดยผ่านห้างเบอร์ลี่ยุคเกอร์ สมัย 60-70 ปีที่แล้วนั้น ถ้าส่งไปขายที่พม่าก็จะขายโดยห้างสวิส-เบอร์ม่าของตระกูลโอว” ผู้ที่ทราบเรื่องราวตระกูลโอวเป็นอย่างดีเล่าให้ฟัง

เพียงไม่ถึง 20 ปีให้หลังสำหรับ 2 พี่น้องตระกูลโอว ประเทศพม่านั้นก็คงจะเล็กเกินไปเสียแล้ว

เพราะฉะนั้นจากพม่าพวกเขาจึงต้องขยายกิจการยาหม่องตราเสือออกไปที่สิงคโปร์และฮ่องกงพร้อม ๆ กับการเปิดตลาดอีกหลายประเทศในย่านเอเชียอาคเนย์ ซึ่งรวมทั้งประเทศมาเลเซียและประเทศไทยด้วย

กลยุทธ์การตลาดของยาหม่องตราเสือต้องถือว่าแปลกแหวกแนวมากสำหรับสมัยนั้นซึ่งก็กว่า 50 ปีมาแล้ว คือไม่ว่ายาหม่องตราเสือจะเข้าตลาดประเทศไหนประเทศนั้นมักจะต้องมีหนังสือพิมพ์ภาษาจีนหนึ่งฉบับก่อตั้งขึ้นโดยนายห้างยาหม่องตราเสือ

“วัตถุประสงค์ดั้งเดิมของการก่อตั้งหนังสือพิมพ์ก็เพื่อจะไว้ใช้เป็นสื่อโฆษณายาหม่องตราเสือเป็นหลัก เพราะฉะนั้นซิงเต๋าซิงโจ้งและซิงเสียน จึงเกิดขึ้นมาได้เพราะเหตุนี้” ลี สันติพงศ์ไชย เล่ากับ “ผู้จัดการ”

กิจการของตระกูลโอวเมื่อเริ่มแผ่กิ่งก้านสาขาออกมาจากพม่าแล้วนั้น ได้ใช้ฮ่องกงและสิงคโปร์เป็นฐานใหญ่แทนฐานเก่าในพม่า ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ที่ว่าศักยภาพทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์และฮ่องกงนั้นได้เปรียบพม่าหลายเท่า ในแง่ของอัตราเสี่ยงทางการเมืองก็มั่นคงกว่ากันมาก

ทั้งนี้มีการแบ่งความรับผิดชอบกันคือ โอวบุนโฮ้วจะนั่งประจำอยู่ที่ฮ่องกงส่วนผู้น้อง-โอวบุนปาก็นั่งบัญชาการอยู่ที่สำนักงานในสิงคโปร์

สำหรับกิจการตระกูลโอวในประเทศอื่นนอกเหนือจากนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของลูก ๆ หรือคนที่ใช้แซ่โอวเหมือนกันดูแลเป็นหูเป็นตาแทน

“ก็เป็นคอนเซ็ปต์เก่าแบบคนจีน คือหลักการบริหารของโอวบุนโฮ้วโอวบุนปานั้นกิจการใดที่เขาไม่มีเวลาดูแลหรือลูก ๆ ก็ยังขึ้นมารับผิดชอบไม่ได้ พวกเขาจะเอาคนเซ็ปต์เก่าเหมือนกันดูแลแทน เพราะเขาเชื่อว่าคนแซ่เดียวกันนี้ไว้ใจได้ ไม่โกงแซ่เดียวกันแน่ ซึ่งส่วนมากก็เป็นคนใช้ได้ ซื่อสัตย์ อย่างกิจการหนังสือพิมพ์ซิงเสียนในยุคแรก ๆ ก็เอาคนจากฮ่องกงมาบริหาร เป็นคนแคะแซ่โอว” ลี สันติพงศ์ไชย เล่าต่อมา

ทั้งโอวบุนโฮ้วและโอวบุนปา เป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยอย่างมาก ๆ

พวกเขาลงทุนสร้างสวนสาธารณะไว้ใหญ่โตที่ฮ่องกงและที่สิงคโปร์ มีบ้านโอ่อ่าสวยงามหลายหลังในหลายประเทศ ซึ่งปัจจุบันส่วนมากจะตกเป็นสมบัติของรัฐบาลประเทศนั้น ๆ ไปแล้ว เพราะขืนให้ทายาทเก็บรักษาไว้ก็คงจะไม่คุ้มกับค่าภาษีโดยเฉพาะภาษีที่ดิน

แต่ถึงจะร่ำรวยสักปานใด ทั้งโอวบุนโฮ้วและโอวบุนปาก็คงจะหลีกหนีกฎธรรมชาติไปไม่พ้นอยู่ดี

โอวบุนปา ผู้น้อง เสียชีวิตเมื่อปี 2487

อีก 10 ปีต่อมา โอวบุนโฮ้ว ผู้พี่ก็ตามน้องชายของเขาไปบ้าง

ถ้าทั้ง 2 ยังสามารถมีอายุยืนยาวอยู่ได้ถึงปัจจุบัน ก็คงจะมีอายุราว ๆ 90 กว่าปีเข้าไปแล้ว

สำหรับโอวบุนโฮ้วนั้น เขามีภรรยา 4 คน มีบุตรบุญธรรม 4 คน เท่ากับจำนวนภรรยา เป็นชาย 3 หญิง 1 และมีบุตรแท้ ๆ กับภรรยาอันดับที่ 3 อีก 5 คน บุตรทั้ง 9 ของโอวบุนโฮ้วเสียชีวิตในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สิงคโปร์ 2 คน ขณะนี้ทายาทที่เหลืออีก 7 ของเขาส่วนใหญ่จะไปใช้ชีวิตเรียบ ๆ อยู่ในหลายประเทศ อย่างเช่นสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย เป็นต้น มีบุตรสาวเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ยังดูแลกิจการของโอวบุนโฮ้วอยู่ในฮ่องกง

ส่วนโอวบุนปามีภรรยา 3 คน น้อยกว่าพี่ชายเพียงคนเดียว เพราะเหตุใดมิทราบได้

ภรรยาคนแรกไม่มีบุตรด้วยกัน ภรรยาคนที่ 2 มีบุตร 4 คนและภรรยาคนที่ 3 เลี้ยงบุตรบุญธรรมไว้คนหนึ่ง

ก็ภรรยาคนที่ 2 ของโอวบุนปานี่แหละที่เป็นแม่ยายของลี สันติพงศ์ไชย

บุตรที่เกิดกับภรรยาคนที่ 2 ทั้ง 4 คนนี้มีคนโตเป็นหญิงชื่อ โอวเช็งฮู้ คนที่ 2 คือ ภรรยาของลี สันติพงศ์ไชยที่ชื่อโอวเช็งซิน คนที่ 3 เป็นชายชื่อ โอวเช็งฉ่าย และคนเล็กเป็นชายอีกเหมือนกัน คนนี้ชื่อ โอวเช็งเต็ก

ตระกูลโอวเมื่อสิ้นโอวบุนโฮ้วและโอวบุนปาแล้วนั้น โอวเช็งฉ่าย ได้ขึ้นเป็นผู้นำตระกูลมีอำนาจสูงสุดในการควบคุมกิจการของตระกูลโอวทั้งหมด เพราะเขาเป็นบุตรชายของตระกูลโอวที่มีอาวุโสสูงสุดตามกฎการสืบทอดทายาทของคนจีน (โอวเช็งฉ่ายเป็นบุตรชายแท้ ๆ ที่เกิดกับภรรยาคนที่ 2 ของโอวผู้น้อง ส่วนโอวบุนโฮ้วผู้พี่ถึงจะมีบุตรชายแต่ก็เกิดกับภรรยาคนที่ 3 ตามกฎแล้วตำแหน่งผู้นำจึงต้องตกอยู่กับโอวเช็งฉ่าย)

แต่โอวเช็งฉ่ายคงสร้างบุญเมื่อชาติก่อนน้อยเกินไปก็เป็นได้ เขาจึงเสียชีวิตเมื่อปี 2514 ที่ประเทศชิลีด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก

“เป็นคนรูปร่างอ้วนมาก ชอบกินโน่นกินนี่ ก็เลยเป็นโรคมีไขมันมากในเส้นเลือดแล้วก็ตายในที่สุดทั้งที่อายุยังไม่มาก” ลีพูดถึงจุดจบของน้องภรรยาให้ฟัง

สำหรับลีนั้นเขาเข้ามาอยู่ในประเทศไทยและรับช่วงกิจการหนังสือพิมพ์ซิงเสียนฯ ของตระกูลโอวโดยเป็นเจ้าของและบริหารเองเมื่อปี 2509 ก่อนหน้าที่โอวเช็งฉ่ายจะเสียชีวิตประมาณ 6 ปีก็เกือบ 20 ปีเต็มแล้วที่ลีต้องปลุกปั้นหนังสือพิมพ์ภาษาจีนฉบับนี้

ลี มีชื่อเดิมเป็นชื่อจีนว่า ลีเอ็กซิม เป็นคนฮกเกี้ยน เกิดเมื่อเดือนมกราคมปี 2468 ที่ย่างกุ้ง ประเทศพม่า

และกว่าจะมีวันนี้ซึ่งพร้อมสมบูรณ์ทั้งชื่อเสียงและทรัพย์สมบัตินั้น ลี ต้องผ่านช่วงชีวิตที่ระหกระเหินและลำบากยากแค้นมาแล้วหลายครั้งหลายครา หลายแผ่นดินอีกด้วย

เมื่ออายุ 16 ขณะกำลังเรียนอยู่ในชั้นเตรียมอุดมศึกษาที่ย่างกุ้งนั้น สงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นแล้วในยุโรป พร้อมกันกับกองทัพอันเกรียงไกรของนักรบเลือดอาทิตย์อุทัยก็เริ่มยาตราเข้ายึดแผ่นดินพม่า

ลีกับญาติ ๆ อีกราว 60 ชีวิตต้องหนีภัยสงครามจากย่างกุ้งไปอยู่ที่มัณฑะเลย์ ซึ่งที่นี่พี่ชายของลีเปิดร้านขายกาแฟเล็ก ๆ ขึ้น ส่วนลีก็ทำขนมวางขายในร้านกาแฟหาเลี้ยงชีพ

“ปรากฏว่าร้านกาแฟไม่มีกำไร ส่วนคนทำขนมขายได้กำไรดี” ลีเล่าแบบขำ ๆ

จากทำขนมขาย ไป ๆ มา ๆ ก็ขยับฐานะมาเป็นพ่อค้าขายส่งแป้งที่ใช้สำหรับทำขนมปังและเส้นบะหมี่

“มีคนยูนนานคนหนึ่งเขาร่วมหุ้นกับเรา เขาบอกว่าเห็นเรามีแววทางการค้า เราก็ไปเอาเงินจากย่ามาลงทุนค้าแป้ง ซึ่งย่าก็ต้องเอาทองไปขายให้ คือธุรกิจนี้แต่เดิมมีแขกคนหนึ่งเขาทำอยู่รายเดียว เขาขายราคาแพงและมักจะเอาแป้งจากโรงงานไปผสมเสียก่อนที่จะขาย แป้งก็เลยคุณภาพไม่ค่อยดี เราก็คิดว่าถ้าเราทำจะต้องแย่งตลาดแขกคนนี้ เราจึงไปรับซื้อแป้งจากโรงงานโดยให้ราคาสูงว่าที่โรงงานเขาเคยขายให้แขกนิดหน่อย ไม่เช่นนั้นเขาไม่ขายให้ จากนั้นเราก็เอาไปขายตามชนบทในราคาที่ต่ำกว่าที่คนเดิมเขาขาย และแป้งของเราไม่ผสม คุณภาพดี ทำไปได้พักเดียวลูกค้าก็ติด ก็กำไรดีมาก คือทุนที่เอามาลงแล้วยังเหลืออีกเยอะ ทำอยู่นานขยายกิจการมาเรื่อย ๆ” ลีพูดถึงวี่แววการเป็นพ่อค้าของเขาซึ่งเริ่มตั้งแต่อายุเพิ่งจะ 16 ปี เท่านั้น

แต่ลีก็เป็นพ่อค้าขายส่งแป้งได้เพียง 4 ปี เมื่อสงครามสงบแล้วเขาต้องเดินทางกลับย่างกุ้ง และได้เข้าเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์

“ตอนนั้นเรียนไปทำงานไป เพราะเราก็ตั้งร้านขายพวกกล้องถ่ายรูปและฟิล์ม”

ก็อาจจะพูดได้ว่าสำหรับหนุ่มน้อยวัย 20 อย่างลีนั้นที่จะต้องเรียนก็เรียนกันไปส่วนชีวิตพ่อค้าก็คงจะหยุดไม่ได้เสียแล้ว

ผลก็คือเมื่อจบจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้งแทนที่จะหันเหชีวิตไปเป็นวิศวกรตามวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมาโดยตรง ลีกลับจะต้องกลายเป็นเจ้าของห้างขายอุปกรณ์ถ่ายภาพใหญ่โตแห่งหนึ่งในพม่า ด้วยความตั้งใจของเจ้าตัวซึ่งก็เป็นห้างที่จำหน่ายกล้องถ่ายรูปที่มีชื่อเสียงหลายยี่ห้อในสมัยนั้น

“อย่างกล้องฮัสสาบลัดของสวีเดนเป็นต้น” ลียกตัวอย่าง “ก็ใช้การตลาดวิธีเดียวกับเมื่อครั้งที่ค้าแป้งนั่นแหละ คือเราเน้นสินค้าคุณภาพดี บริการเยี่ยมและราคายุติธรรมถึงเจริญเติบโตขึ้นมาได้”

ลีเอ็กซิม แต่งงานกับโอวเช็งซิน ลูกสาวเศรษฐียาหม่องตราเสือที่ย่างกุ้งเมื่ออายุได้ 26 ปี หรือเมื่อประมาณ 44 ปีที่แล้ว

ถ้าจะสังเกตกันสักนิดก็จะพบว่าช่วงที่ลีแต่งงานนั้นก็เป็นช่วงเดียวกันที่กิจการของตระกูลโอวออกจากพม่าไปตั้งหลักที่สิงคโปร์และฮ่องกงแล้ว (พิจารณาจากอายุการก่อตั้งหนังสือพิมพ์ซิงเต๋าและซิงโจ้วซึ่งมีอายุ 50 กว่าปีถ้านับถึงปัจจุบัน

และเมื่อโอวบุนโฮ้วต้องไปนั่งคุมกิจการอยู่ที่ฮ่องกง ส่วนโอวบุนปาเกือบจะไม่มีเวลาออกมาจากสิงคโปร์เลย

หน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบดูแลกิจการดั้งเดิมในพม่าของตระกูลโอวก็คงจะเป็นใครไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่ลีเอ็กซิม ซึ่งนอกจากจะเป็นเขยของตระกูลโอวแล้วก็ยังเป็นนักธุรกิจหนุ่มผู้มีความสามารถอีกด้วย

เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วนั้นลีเอ็กซิมจึงมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการกิจการ 3 แห่งในพม่า คือยาหม่องตราเสือ บริษัทสวิส เบอร์ม่า และห้างขายอุปกรณ์ถ่ายภาพที่เขาสร้างขึ้นมาด้วยลำแข้งตัวเอง

ลีนั่งบริการกิจการทั้ง 3 แห่งเป็นเวลา 10 กว่าปี ทุกอย่างกำลังก้าวหน้าด้วยดี

แต่การเมืองในประเทศพม่าก็เล่นตลกกับเขาและกิจการที่เขาบริหารอยู่จนได้

นายพลเนวินก้าวขึ้นมามีอำนาจในพม่าด้วยการรัฐประหารและเป็นการรัฐประหารที่มาพร้อม ๆ กับนโยบายสังคมนิยมที่ทำการกวาดล้างนายทุนและนักการเมืองฝ่ายปฏิปักษ์อย่างชนิดที่เลือดท่วมแผ่นดินพม่า

“นายพลเนวินบอกว่า คนพม่านั้นมีแต่คนจน ส่วนคนรวยมีแต่พวกพ่อค้าคนกลางที่รับซื้อสินค้าจากผู้ผลิตด้วยราคาต่ำแล้วเอาไปจำหน่ายให้ประชาชนผู้บริโภคในราคาสูง กอบโกยกำไรฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้นนายพลเนวินจึงต้องการทำลายพ่อค้าคนกลางให้หมด ซึ่งในทางปฏิบัติมักจะมีบ่อย ๆ ที่เจ้าหน้าระดับล่าง ๆ ปฏิบัติกันตามอำเภอใจ ใช้เหตุผลส่วนตัวเข้าตัดสินว่าใครจะอยู่ในข่ายต้องกวาดล้าง อย่างเช่นชอบตึกของเขา อยากเอามาทำเป็นสำนักงานของรัฐก็สั่งปิดกิจการเพื่อจะยึดตึก เห็นรถยนต์จอดอยู่สวยดี อยากได้ ก็ปิดกิจการเพื่อจะเอารถเพียงคันเดียว ไป ๆ มา ๆ ก็เลยมีการกวาดล้างหมด ไม่ว่าพ่อค้าเล็กพ่อค้าใหญ่ กิจการของเราก็โดนด้วย เราก็เลยต้องอพยพออกมาจากพม่า” ลีพูดด้วยน้ำเสียงที่ยังมีแววขมขื่นอยู่นิด ๆ แม้ว่าเขาและครอบครัวจะออกมาจากพม่าร่วม 20 กว่าปีแล้วก็ตาม

ออกจากพม่าครอบครัวของลีไปอยู่กับพี่น้องตระกูลโอวที่สิงคโปร์พักหนึ่งก่อน จากนั้นก็ไปอยู่ที่ฮ่องกง เป็นผู้บริหารหมายเลข 2 ของกิจการตระกูลโอวที่นั่น

จนกระทั่งเมื่อปี 2509 ลีจึงได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเพื่อดูแลกิจการหนังสือพิมพ์ซิงเสียเยอะเป้า

“น้องภรรยาที่เขาเป็นผู้นำ เขาขอให้มาอยู่ที่เมืองไทย เพราะถ้าอยู่สิงคโปร์ก็ต้องเป็นหมายเลข 2 ที่ฮ่องกงก็เป็นหมายเลข 2 อีก มีที่เมืองไทยนี่แหละที่ยังไม่มีคนดูแล น้องภรรยาก็บอกว่า ถ้ามาอยู่ที่นี่ก็จะเป็นหมายเลข 1 เราจึงมาเมืองไทย” ลีเล่าอย่างเปิดอกพูดกัน

ประเทศไทยสำหรับลีและครอบครัวแล้วต้องถือว่าเป็นของแปลกใหม่อย่างมาก ๆ เป็นประเทศที่มีคนจีนแคะและจีนฮกเกี้ยนอยู่กันน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับมาเลเซียและสิงคโปร์ ส่วนมากจะเป็นพวกแต้จิ๋ว

แต่เมื่ออยู่ไปได้ไม่กี่ปี ลีและครอบครัวของเขาก็พบว่า เขาน่าจะมาอยู่ที่ประเทศไทยเสียก่อนหน้านี้หลาย ๆ ปี

“ยังเสียดายถ้าเข้ามาก่อนนั้นสัก 5 ปีคงจะดีมาก เพราะที่ดินก็ยังหาซื้อได้ง่าย อย่างที่ดินแถวสีลมเมื่อปี 2504 ราคาเพียงตารางวาละ 2-3 พันบาท ตอนเราเข้ามาอยู่ก็ขึ้นเป็น 5-6 พันและ 8 พันแล้ว ยิ่งเดี๋ยวนี้ราคาวาละเป็นแสนบาท เป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตรวดเร็วมาก เสถียรภาพในทุก ๆ ด้านก็มั่นคงดี” ลีให้ความเห็นกับ “ผู้จัดการ”

สำหรับลีนั้นเขาถือว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาพวกตระกูลโอวได้มองข้ามประเทศไทยไปอย่างน่าเสียดายที่สุด

“พวกเขากลัวว่าประเทศไทยอาจจะเป็นแบบเวียดนาม ลาว หรือเขมร เขาจึงไม่สนใจที่จะลงทุนในเมืองไทยเลย เป็นความเชื่อตามทฤษฎีโดมิโนที่เคยเชื่อ ๆ กัน อย่างกิจการหนังสือพิมพ์มีแค่ไหนก็ทำกันแค่นั้น ไม่มีการปรับปรุง ไม่มีการขยายงาน และไม่มีการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แต่เผอิญเราไม่คิดอย่างที่พวกเขาคิด”

ในความเห็นของผู้ที่เคยผ่านเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประเทศพม่าอย่างลีนั้น เขาเชื่อว่าประเทศไทยจะไม่กลายเป็นคอมมิวนิสต์อย่างที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยหลายประเทศเป็นกัน และลีมั่นใจมากว่าเขาคิดไม่ผิด

เกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ซิงเสียนฯ เมื่อลีเข้ามารับผิดชอบนั้น ลีได้ตัดสินใจรับซื้อหุ้น 50 เปอร์เซ็นต์ จากโฮวเชงฮ่าย ซึ่งเมื่อรวมกับหุ้นที่ภรรยาของลีถืออยู่เดิมแล้วกิจการหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ก็ตกเป็นของลีโดยตรงทันที

“เราทยอยซื้อหุ้นต่อมาเรื่อย ๆ จนขณะนี้ก็ถืออยู่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว” ลีเปิดเผยให้ฟัง

หนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้านั้น เป็นหนังสือพิมพ์ที่มีแนวเป็นกลาง ๆ มาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นยุคแรกสมัยที่โอวบุนโฮ้วยังมีชีวิตอยู่ หรือสมัยต่อมา จนกระทั่งสมัยที่ลี สันติพงศ์ไชย เป็นเจ้าของและผู้บริหาร โดยเฉพาะความเป็นกลางในปัญหา 2 จีน

“ถูกวางกันมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งแล้ว คือเราจะไม่เข้าข้างใคร ไม่เป็นกระบอกเสียงให้ใคร ไม่ว่าจะเป็นไต้หวันหรือจีนแผ่นดินใหญ่ เราถือว่าเป็นนักธุรกิจ มีเพื่อนฝูงอยู่ทั้ง 2 ฝ่ายเราจึงต้องเป็นกลาง ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องอ่านหนังสือพิมพ์ของเรา” ลีให้เหตุผล

แต่หนังสือพิมพ์ซิงเสียนฯ ในยุคของลีก็มีหลายสิ่งเหมือนกันที่ลีต้องตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเสียใหม่อย่างเช่น เรื่องข้อตกลงที่ผู้บริหารคนเดิมเคยทำไว้กับหนังสือพิมพ์ภาษาจีนด้วยกันในยุคนั้น เรื่องหนึ่งที่เห็นได้ชัด

“ผู้จัดการคนเดิมเข้าใจว่าเขาจะโดนหลอกเพราะความอิจฉาของบางคนหาว่าซิงเสียนฯ ขายดีและมีโฆษณามากที่สุดจากจำนวนหนังสือพิมพ์จีน 3 ฉบับในขณะนั้น เขาก็มีข้อตกลงร่วมกันทั้ง 3 ฉบับว่าทุกฉบับจะพิมพ์ไม่เกิน 16 หน้า ตอนที่เราเข้ามาแรก ๆ จึงอ่านเจอบ่อย ๆ ที่ซิงเสียนจะต้องลงข้อความว่า ขออภัยฉบับนี้โฆษณาให้ไม่ได้ต้องขอเป็นฉบับหน้าเพราะเนื้อที่หมด ทั้งนี้ก็เพราะซิงเสียนพิมพ์เต็ม 16 หน้าแล้ว โฆษณาอยากลงก็ลงไม่ได้ ส่วนฉบับอื่นเขามีแค่ 10 หน้าอย่างมาก 12 หน้า อย่างนี้มันก็หลอกกันชัด ๆ เพราะโฆษณาเมื่อลงกับเราไม่ได้เขาก็ต้องหนีไปลงกับฉบับอื่น ด้วยเหตุนี้เมื่อเราเข้ามาบริหารเต็มตัวเราจึงยกเลิกข้อตกลง พอเลิกแล้วซิงเสียนสามารถเพิ่มหน้าขึ้นมาเป็น 20 หน้าทันที ใครอยากลงโฆษณาก็ลงได้ ส่วนตอนนี้ก็เพิ่มเป็น 36 หน้าแล้ว” ลีพูดถึงสิ่งที่เขาจำเป็นต้องแก้ไขเมื่อเข้ามารับผิดชอบหนังสือพิมพ์ซิงเสียนในช่วงต้น ๆ

หรืออย่างเรื่องการลงทุนกว่า 7 ล้านบาทเพื่อนำแท่นพิมพ์ระบบออฟเซตเข้ามาติดตั้งแทนเครื่องพิมพ์เก่าที่ชราภาพเมื่อปี 2510 นั้นก็ต้องนับเป็นการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งของหนังสือพิมพ์ซิงเสียนในยุคของลี

“เรื่องนี้ตอนนั้นผมหนักใจที่สุด เราตั้งใจจะทำพิธีเปิดการใช้งานเครื่องพิมพ์ระบบใหม่นี้ในวันที่ 23 ตุลาคม ก็เรียนเชิญท่านพจน์ สารสิน รองนายกรัฐมนตรีสมัยนั้นมาเป็นประธานเปิด วันที่ 15 ตุลาคม แล้วเครื่องยังส่งจากต่างประเทศมาไม่ครบ กินไม่ได้นอนไม่หลับเลย เป็นห่วงมาก จนเป็นแผลในกระเพาะเพราะความเครียดและโหมงานหนักเพื่อเร่งติดตั้งให้ทัน ซึ่งก็ทันจวนเจียนพอดี พอท่านพจน์กดปุ่มแท่นพิมพ์ทำงานออกมาเป็นหนังสือทันที คนทึ่งกันมาก” ลีถือโอกาสเล่าเกร็ดอันเกิดจากการตัดสินใจลงทุนเปลี่ยนแท่นพิมพ์ในครั้งนั้นให้ฟังด้วย

ซิงเสียนเยอะเป้าในช่วงแรกที่ลีเริ่มเข้ามารับผิดชอบนั้นมียอดพิมพ์ราว ๆ 6 หมื่นฉบับ จัดเป็นหนังสือพิมพ์ที่มียอดการจำหน่ายสูงสุดในบรรดาหนังสือพิมพ์ภาษาจีนด้วยกัน ส่วนปัจจุบันนั้นยอดพิมพ์ได้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 8 หมื่นฉบับแล้ว ซึ่งก็ยังครองตำแหน่งผู้นำในยุทธจักรเหมือนเดิม

“ถ้ามองกันว่าภายในระยะเวลา 20 ปีที่ลีเข้ามาในซิงเสียนแล้วทำยอดเพิ่มขึ้นไปได้เพียงแค่ 2 หมื่นฉบับนั้นก็คงต้องถือว่าโตช้ามาก แต่ก็น่าเห็นใจ เพราะอย่าลืมว่าหนังสือพิมพ์ภาษาจีนในเมืองไทยนั้นจำนวนผู้อ่านมันลดลงเรื่อย ๆ เพราะคนรู้หนังสือจีนมีแต่ลดไม่มีเพิ่ม ซึ่งซิงเสียนฯ สามารถทำยอดสวนทางกับสภาพความเป็นจริงขึ้นไปได้นี่ ต้องยอมรับว่าเขาเก่งมาก” พ่อค้าจีนชั้นหลานคนหนึ่งวิจารณ์

หรือก็อาจจะพูดได้อีกอย่างหนึ่งว่าการก้าวขึ้นมาจากยอดพิมพ์ 6 หมื่นเป็น 8 หมื่นของซิเสียนนั้นไม่ใช่เกิดจากการขยายกลุ่มอ่าน แต่น่าจะเกิดจากการเข้าไปช่วงชิงกลุ่มผู้อ่านจากหนังสือพิมพ์คู่แข่งเสียมากกว่า

เพราะฉะนั้นในกลุ่มหนังสือพิมพ์จีนตลอด 36 ปีที่ผ่านมาจึงมักจะปรากฏว่ามีหนังสือพิมพ์หลายฉบับเกิดขึ้นได้พักหนึ่งแล้วก็ปิดไป หรือไม่ก็จะต้องหานายทุนกันใหม่เรื่อย ๆ ส่วนที่สามารถยืนยงอยู่ได้ตลอดมาดูเหมือนจะมีซิงเสียนเยอะเป้าฉบับเดียว

ก็แน่นอนล่ะ ที่ผลสำเร็จอันนี้ของลี สันติพงศ์ไชย ย่อมจะทำให้เขาต้องตกเป็นเป้าโจมตีจากคู่แข่งอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะกับผู้ที่ชอบทำตัวเป็น “มาเฟีย” ในกลุ่มพ่อค้าชาวจีนทั้งหลายนั้นก็อาจจะเรียกได้ว่าจ้องทำลายเขาอย่างไม่ให้คลาดสายตาทีเดียว

“ลีเป็นคนประเภทที่น่าจะเรียกว่ายอมหักไม่ยอมงอจริง ๆ เพราะฉะนั้นในทางธุรกิจเขาก็เดินหน้าเต็มตัวไม่มีลดราให้ใคร เขาถือว่าธุรกิจมันต้องแข่งขันกัน ใครเก่งกว่าก็ได้เป็นผู้ชนะ ส่วนในเรื่องกลุ่มอิทธิพลซึ่งชอบใช้หนังสือพิมพ์เป็นตัวสร้างบารมี ลีเป็นคนที่ไม่ยอมลงให้กับพวกนี้หัวเด็ดตีนขาด ก็อย่างนี้แหละที่เมื่อประมาณปี 2525 เขาจึงต้องมีเรื่องปะทะกับเจ้าพ่อเยาวราชที่ชื่อตั้งซีเฮี้ยง ซึ่งตั้งซีเฮี้ยงหรือชื่อไทยนรรัตน์ ตั้งปกรณ์ คนนี้เป็นคนกว้างขวางมากในวงการตำรวจและนักการเมือง โชคดีที่ลีเสมอตัวไม่ถูกตีจมติดดินอย่างที่บางคนต้องการ” นักธุรกิจจีนย่านเยาวราชพูดกับ “ผู้จัดการ” เกี่ยวกับลี สันติพงศ์ไชย

ในวัยที่ย่าง 61 ปี ในทุกวันนี้ของลีจึงเป็นวัยที่กว่าจะผ่านแต่ละปีมาได้นั้น ต้องเหน็ดเหนื่อยทั้งกายและใจอย่างมาก ๆ

และก็คงใกล้เวลาที่จะต้องวางมือจากงานทั้งหลายเสียบ้างแล้ว

ซิงเสียนเยอะเป้าในยุคนี้จึงเป็นยุคที่ทายาทของลีกำลังจะขึ้นมาแทนเขา

ลี สันติพงศ์ไชย มีบุตรหญิง-ชาย รวม 5 คน

คนโตเป็นหญิงชื่อ ลินดา มีครอบครัวอยู่ที่ฮาวาย สหรัฐอเมริกา

คนที่สองก็เป็นหญิงอีกชื่อ ซูซี่ แต่งงานแล้วเหมือนกันและขณะนี้รับผิดชอบงานในฝ่ายโฆษณาของหนังสือพิมพ์ซิงเสียน ซูซี่ เรียนระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดของสหรัฐฯ แล้วมาเรียนภาษาจีนระดับปริญญาตรีต่อที่สิงคโปร์

คนที่ 3 ก็เป็นหญิงอีกนั่นแหละ คนนี้ชื่อ เน็ดด้า จบปริญญาตรีจากสแตนฟอร์ดและกำลังทำปริญญาโทด้านวารสารศาสตร์อยู่ที่บอสตัน ลีตั้งความหวังที่จะให้ลูกสาวคนที่ 3 นี้กลับมาช่วยงานหนังสือพิมพ์ซิงเสียนฯ อีกคน เมื่อเรียนสำเร็จแล้ว

ส่วนคนที่ 4 เป็นผู้ชายชื่อ อารี สันติพงศ์ไชย ลูกชายของลีคนนี้ลีคิดว่าจะให้เป็นผู้สืบทอดงานทั้งหมดต่อจากเขา ซึ่งปัจจุบันอารีนั่งทำงานในซิงเสียนฯ ด้วยตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ

และคนที่ 5 -สุดท้องเป็นผู้ชายชื่อวินซ์ กำลังเรียนหนังสืออยู่ที่ฮาวาย

อนาคตของลูกแต่ละคนนั้น ลีมีส่วนร่วมวางแผนให้อย่างใกล้ชิด

ลีมีความเชื่อว่าในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ สำคัญที่สุดคือ “การจัดการ”

"ถ้าสามารถเป็นผู้จัดการที่เก่งแล้วกิจการมันไปได้ ส่วนหน้าที่อื่น ๆ เราใช้คนอื่นทำได้ อย่างเช่นพวกนักบัญชีหรือเทคนิคเชียนด้านต่าง ๆ เพราะฉะนั้นผมจึงพยายามเน้นให้ลูก ๆ เขาเรียนด้านการจัดการและการบริหารเป็นหลัก เพื่อที่จะได้เอาความรู้ที่ร่ำเรียนมานั้นกลับมาช่วยงานที่ครอบครัวได้สร้างไว้แล้วและพัฒนาให้มันก้าวหน้าต่อไป” ลีให้เหตุผลที่เขาจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของลูก ๆ

โดยเฉพาะ อารี สันติพงศ์ไชย แล้วลีตั้งความหวังไว้กับลูกชายคนนี้มากทีเดียว

อารีถูกส่งเข้าเรียนชั้นมัธยมและเตรียมอุดมศึกษาที่โรงเรียนประจำในประเทศออสเตรเลีย ชื่อโรงเรียนจีลอง (GELLONG) ซึ่งอารีใช้เวลาเรียนอยู่ที่นี่ 5 ปีเต็ม ๆ

โรงเรียนจีลองนั้นเป็นโรงเรียนชั้นนำแห่งหนึ่ง ก็คล้าย ๆ กับที่อังกฤษมีโรงเรียนอีตัน หรือบ้านเรามีโรงเรียนวชิราวุธนั่นแหละ

“เป็นโรงเรียนที่ฝึกอบรมและให้การศึกษาเด็กดีมาก เขาสอนให้รู้จักการเป็นผู้นำมีความซื่อสัตย์และเป็นสุภาพบุรุษ” ลีพูดถึงโรงเรียนแห่งนี้ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เขาต้องส่งลูกชายไปอยู่ที่นี่ถึง 5 ปี

และจากจีลอง อารีได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรีเลียในคณะเศรษฐศษสตร์ จากนั้นก็ไปเรียนภาษาจีนที่ไต้หวันเมื่อได้รับปริญญาตรีทางเศรษฐศาสตร์จากออสเตรเลียแล้ว

ปัจจุบันอารี สันติพงศ์ไชย อายุ 28 ปี เขาเริ่มเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของหนังสือพิมพ์ซิงเสียนฯเมื่อปี 2523 หรือเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา บุกเบิกกิจการแยกสีและทำเพลตเป็นของตนเอง คือบริษัทอารีซีสเท็มส์ จำกัดเมื่อราว ๆ ปี 2524 และปีนี้ร่วมกับนักลงทุนมาเลเซียและฮ่องกงก่อตั้งบริษัทนิวเอร่าขึ้นมาเป็นผู้แทนจำหน่ายรถฟอร์ดในประเทศไทย

ก็น่าจะเรียกได้ว่าอารีไม่ได้ทำให้ลี สันติพงศ์ไชย ผิดหวังแม้แต่น้อยนิด

“เขาเป็นคนไม่เที่ยวเตร่เฮฮา เอาล่ะถึงเขาจะเป็นลูกคนรวย อารีคิดแต่ว่าเขาจะทำงานให้ประสบความสำเร็จ เขาเสนอโครงการมาให้ดูเป็นสิบ ๆ โครงการ ก็ปฏิเสธไปมากเพราะไม่อยากให้เขาเสี่ยงมากเกินไป จนโครงการล่าสุดก็คือบริษัทนิวเอร่าที่จะขายรถฟอร์ดที่เราต้องยอมให้เขาทำ เพราะเขาก็เชื่อมั่นมากกว่าเขาทำได้” ลีพูดถึงอารีให้ฟัง

ลี สันติพงศ์ไชย ในทุกวันนี้จึงดูเหมือนว่าจะหมดห่วงในเรื่องผู้ที่จะมาสืบทอดกิจการหนังสือพิมพ์ซิงเสียนฯ และกิจการอื่น ๆ ของครอบครัวไปมากแล้ว

แต่ ลียังตื่นเช้าอยู่เป็นปกติ รีบเข้าที่ทำงานที่ซิงเสียนฯ เหมือนกับที่เคยทำอยู่ทุกวันตลอด 20 ปีที่ผ่านมา พอช่วงใกล้เที่ยงลีก็จะออกไปกินเลี้ยงกับพ่อค้านักธุรกิจและเพื่อน ๆ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหากัน จากนั้นช่วงบ่ายก็จะไปออกกำลังด้วยการตีกอล์ฟ ซึ่งก็ถือเป็นการสังคมไปด้วยในตัว

“ก็คงจะวางมือจากงานเด็ดขาดยังไม่ได้มันยังรู้สึกห่วง ๆ อยู่” เขาให้เหตุผล

ลียังมีตำแหน่งในขณะนี้เป็นประธานและผู้อำนวยการของหนังสือพิมพ์ซิงเสียนฯ อยู่ และก็เพิ่งจะได้รับเกียรติแต่งตั้งให้เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ของประเทศอุรุกวัย ประจำประเทศไทย เมื่อไม่นานมานี้

เส้นทางเดินของลีเอ็กซิม หรือ ลี สันติพงศ์ไชย นั้นอาจจะพูดได้ว่ามาถึงจุดสุดยอดที่ตัวเขาก็ควรจะภาคภูมิใจได้แล้ว

เพียงแต่ลีเองก็ยังคิดไม่ตกเหมือนกันว่า เขาควรจะต้องวางมือจากงานทั้งปวงจริง ๆ เมื่อไรดี

โอวบุนโฮ้วผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ซิงเสียนฯ คงช่วยตอบคำถามนี้ให้กับลีไม่ได้แน่

ก็คงอารี สันติพงศ์ไชย นั่นแหละที่จะต้องเป็นผู้ตอบคำถามนี้

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us