Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2529
โอ่งเพื่อสังคม การสร้างภาพลักษณ์แบบซึมลึกของเครือซิเมนต์ไทย             
 


   
www resources

โฮมเพจ เครือซิเมนต์ไทย

   
search resources

ปูนซิเมนต์ไทย, บมจ.
Advertising and Public Relations




ภาพลักษณ์ของบริษัทใหญ่ ๆ ในประเทศทุนนิยมนั้น มักจะเป็นภาพลักษณ์ที่ถูกสังคมมองว่าเป็นผู้เอารัดเอาเปรียบ เป็นผู้รับไม่เคยเป็นผู้ให้ ซึ่งก็คงเข้าทำนอง “ไม้สูงมักต้องต้านลมแรง” นั่นแหละ

สำหรับเครือซิเมนต์ไทยแล้วเรื่องภาพลักษณ์จึงเป็นเรื่องที่ผู้บริหารภายในเครือตระหนักกันอย่างมาก ๆ ปูนซิเมนต์ไทยพยายามเน้นภาพลักษณ์ความเป็นไทย และมีโครงการหลายโครงการที่สะท้อนความเป็นอยู่ “ให้” ไม่ใช่ผู้รับเพียงด้านเดียว

อย่างเช่นโครงการสู่ชนบทของเครือซิเมนต์ไทยก็คงจะเป็นตัวอย่างที่ดีของการทำงานเพื่อภาพลักษณ์นี้

โครงการสู่ชนบทของเครือซีเมนต์ไทยนั้น เป็นโครงการฝึกอาชีพการปั้นโอ่งซิเมนต์ให้แก่ราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ราบสูงและชนบทที่ขาดแคลนน้ำบริโภค โดยบริษัทปูนซิเมนต์ไทยได้เริ่มโครงการดังกล่าวนี้ตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมาแล้ว

หรือจะเรียกว่าโครงการ “โอ่งเพื่อสังคม” ก็คงจะเรียกได้

การปั้นโอ่งซีเมนต์นั้นเน้นการใช้วัสดุอุปกรณ์ง่าย ๆ ซึ่งสามารถหาได้ตามชนบท ประกอบด้วยกระสอบข้าวสารและแกลบสำหรับทำโครงรูปโอ่งและปูนซีเมนต์กับทรายสำหรับใช้ฉาบเป็นตัวโอ่ง กระสอบข้าวสารกับแกลบนั้นก็คงจะหาได้ทั่วไป ส่วนปูนซีเมนต์ก็เป็นสิ่งที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จะเป็นผู้จัดหามาให้เป็นสมบัติของส่วนรวม พร้อมทั้งมีวิทยากรมาสาธิตกรรมวิธีการปั้นโอ่งซิเมนต์ให้เสร็จสรรพด้วย เรื่องกรรมวิธีการปั้นโอ่งซีเมนต์และการใช้วัสดุอุปกรณ์ง่าย ๆ นี้ ถ้าผู้บริหารของปูนฯ จะต้องขอบใจผู้ต้นคิดแล้วก็คงต้องขอบใจคนของปูนฯ ที่ชื่อ โอภาส พรหมรัตนพงศ์ นักเรียนทุนคนแรกของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยเมื่อปี 2496 ซึ่งรับทุนตั้งแต่ยังเรียนอยู่ที่แผนกวิทยาศาสตร์โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และต่อมาเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศเดนมาร์กอีก 6 ปีเต็ม ๆ จนสำเร็จปริญญาตรีพร้อมทั้งผ่านการอบรมชั้นสูงทางวิศวกรรมโยธากลับมา

โอภาสทำงานกับปูนฯ หลายหน้าที่ ตั้งแต่เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างโรงงานที่แก่งคอย ควบคุมการก่อสร้างบ้านจัดสรรสำหรับพนักงานกว่า 500 ครอบครัวภายในหมู่บ้านจัดสรรของปูนซิเมนต์ไทยและครั้งหลังสุดนี้ก็เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่ที่บางซื่อ

โอภาสเล่าให้ฟังถึงเรื่องกรรมวิธีการปั้นโอ่งซีเมนต์ซึ่งต่อมากลายเป็นสิ่งที่ผู้บริหารของปูนฯ หยิบขึ้นมาจัดทำเป็นโครงการ “โอ่งเพื่อสังคม” ว่า

“ผมได้รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจากข้อเท็จจริงที่ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านชนบทที่ห่างไกลล้วนมีปัญหาด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐานที่สำคัญ คือการขาดน้ำกินน้ำใช้ที่สะอาดพอ และกว่าจะได้น้ำมาแต่ละครั้งก็มักต้องเดินทางกันเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร สร้างความลำบาก ความเหนื่อยยากและสิ้นเปลืองเวลาเป็นอย่างมาก ถ้าหากพี่น้องในชนบทเหล่านั้นสามารถมีภาชนะที่กักเก็บน้ำฝนเอาไว้ใช้ตลอดปี พวกเขาคงจะมีสุขภาพที่ดีและมีเวลาทำงานหาเลี้ยงชีพเพื่อความเป็นอยู่ของครอบครัวที่ดีขึ้นด้วย

“จริงอยู่โอ่งน้ำอาจหาได้ไม่ยากนักในเมือง แต่สำหรับชาวไร่ชาวนาในชนบทที่อยู่ห่างไกลแล้ว โอ่งจะมีราคาแพงมากสำหรับเขา มิหนำซ้ำการขนกลับไปยังหมู่บ้านก็ทำได้ยากเย็น ดังนั้นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับเขาก็คือวิธีการทำโอ่งน้ำแบบง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ด้วยตนเองและมีราคาถูก ผมมีความเห็นว่าการทำโอ่งน้ำปกติที่มีความจุประมาณ 250 ลิตรหรือขนาดใหญ่ที่มีความจุประมาณ 3,500 ลิตรนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้อิฐก่อเป็นแบบและไม่ต้องเสริมเหล็ก แต่ควรจะทำได้ด้วยส่วนผสมของปูนซีเมนต์กับทรายในอัตราส่วน 1 ต่อ 2 ก็น่าจะเพียงพอ อย่างไรก็ดี ปัญหามีอยู่ว่าจะใช้วัสดุอะไรทำแบบจึงจะสะดวกสำหรับชาวชนบทและหาได้ง่ายในหมู่บ้าน

“ขั้นแรกเราคิดถึงการใช้ถุงลมแบบยางในลูกฟุตบอล คิดถึงถุงพลาสติกใส่น้ำ แต่หลังจากหารือกันระหว่างผู้ร่วมงานก็รู้ว่าความคิดเหล่านั้นไม่เหมาะสม เพราะแบบจะไม่คงตัว เราเริ่มทดลองใหม่เป็นถุงพลาสติกใส่ทราย คราวนี้แบบคงรูปทรงที่ต้องการแต่ผิวพลาสติกเรียบเกินไปไม่เหมาะสมกับการฉาบปูนซึ่งต้องการผิวแบบที่หยาบกว่านั้น พอดีเพื่อนร่วมงานของเราคนหนึ่งเสนอให้ใช้กระสอบข้าวซึ่งมีอยู่ทั่วไปในชนบทและราคาไม่แพงนัก กระสอบข้าวใส่ทรายสามารถใช้เป็นแบบได้ดี ต่อมาได้ทดลองเปลี่ยนเป็นใช้แกลบใส่ข้างในแทนทรายก็ยิ่งสะดวกขึ้นไปอีก

“วิธีทำก็คือเอากระสอบข้าวขนาดธรรมดามาวางซ้อนกัน 2 ใบเย็บตะเข็บด้านข้างติดเข้าด้วยกัน โดยให้ตอนบนกว้างกว่าตอนล่าง ส่วนล่างเมื่อคลี่ออกเป็นวงกลมจะต้องพอดีกับแผ่นปูนซีเมนต์ก้นโอ่งที่หล่อเตรียมไว้ก่อน วางเชิงกระสอบลงบนแผ่นปูนซีเมนต์นี้แล้วค่อย ๆ ใส่ทรายลงไป น้ำหนักทรายจะกดเชิงกระสอบไว้บนแผ่นก้นโอ่ง ขณะเดียวกันก็ดันกระสอบให้เป็นทรงกลมที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนลักษณะโอ่งน้ำทั่วๆ ไป ตอนที่กว้างที่สุดจะสูงจากก้นโอ่งประมาณครึ่งเมตรแล้วเราก็พับกระสอบให้แคบเข้าสู่บริเวณปากโอ่งหาอะไรกลม ๆ เช่นเขียงไม้มาวางทับตอนบนก็จะได้แบบด้านในของปากโอ่ง ถ้าแบบเบี้ยวให้เอาแผ่นไม้มาตบให้เข้าที่ พรมน้ำให้กระสอบชื้นแล้วเริ่มฉาบปูนซีเมนต์ โดยฉาบ 2 ชั้น ชั้นละครึ่งเซนติเมตรและเพิ่มความหนาขึ้นเล็กน้อยตอนใกล้ปากโอ่ง

“วันรุ่งขึ้นตักทรายหรือแกลบออกดึงกระสอบให้หลุดจากปูนซีเมนต์ที่แข็งตัวแล้ว คนที่ฝึกชำนาญแล้วจะใช้ปูนซีเมนต์เพียง 12 กิโลกรัมสำหรับโอ่งน้ำขนาดบรรจุ 250 ลิตร แต่สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มทดลองทำอาจจะต้องใช้มากกว่านั้นเล็กน้อย”

โครงการสู่ชนบทหรือ “โอ่งเพื่อสังคม” ของเครือซิเมนต์ไทยนี้ นอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนในท้องถิ่นกันดารได้รู้จักสร้างภาชนะไว้กักเก็บน้ำใช้ในยามขาดแคลนและอาจฝึกเป็นอาชีพเสริมรายได้นอกเหนือจากอาชีพหลักแล้ว ก็ยังเป็นการส่งเสริมให้คนไทยตามท้องถิ่นห่างไกลได้มีโอกาสเรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่ม และแข่งขันกันสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพอีกอย่างหนึ่งด้วย

ในปัจจุบันนั้นมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมโครงการนี้แล้วประมาณ 30,000 คนจาก 740 หมู่บ้านในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร ก็สามารถปั้นโอ่งซีเมนต์ขนาด 300 ลิตร 600 ลิตรและ 1,000 ลิตรได้จำนวน 50,000 ใบ เฉลี่ยครอบครัวละ 2 ใบ

โดยเป้าหมายของการจัดทำโครงการ แต่ละหมู่บ้านจะต้องปั้นโอ่งให้ได้ไม่ต่ำกว่า 60-100 ใบ โอ่งที่ปั้นไม่เกินจำนวนที่กำหนดก็จะมอบให้เป็นสาธารณประโยชน์ในชุมชนนั้น ๆ ต่อไป

นอกจากนี้ปูนซิเมนต์ไทยก็จะแนะนำให้มีการจัดกองทุนหมุนเวียนคือโอ่งซีเมนต์ขนาด 300 ลิตรที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมปั้นได้แล้วนั้น จะมอบให้แก่ผู้ปั้น 1 ใบ ส่วนอีก 1 ใบจะให้ผู้ปั้นจัดซื้อไปใช้ในราคาใบละ 80 บาท โดยเงินจำนวนนี้จะถูกนำเข้ากองทุนไว้สำหรับใช้หมุนเวียนในการพัฒนาฝึกการปั้นโอ่งซีเมนต์ให้แพร่หลายยิ่งขึ้นและสำหรับโอ่งขนาด 600-1,000 ลิตรผู้ปั้นจะได้ 1 ใบเหมือนกัน และโครงการได้แนะนำให้ผู้ผ่านการฝึกอบรมออกค่าใช้จ่ายคนละ 150 บาท เพื่อเข้ากองทุนหมุนเวียนในการขยายงานปั้นโอ่งในพื้นที่ใกล้เคียง

จากการวัดผลที่ผ่าน ๆ มานั้นก็พบว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก ๆ มีประชาชนขอเข้าร่วมโครงการกันคึกคัก อีกทั้งก็เป็นโครงการที่หน่วยราชการหลายแห่งให้ความสนใจถึงกับส่งเจ้าหน้าที่มาศึกษาโครงการและเข้ารับการฝึกอบรมอยู่ไม่ได้ขาด

ในอนาคตปูนฯ มีเป้าหมายในการสร้างวิทยากรฝึกอบรมการปั้นโอ่งซีเมนต์ให้แก่สถาบันหน่วยราชการเป็นหลัก ส่วนการเข้าไปฝึกอบรมชาวบ้านโดยตรงก็คงจะค่อย ๆ น้อยลง ทั้งนี้ก็เพื่อให้วิทยากรที่ผ่านการอบรมแล้วสามารถเผยแพร่วิธีการปั้นโอ่งไปสู่ชุมชนเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้นและครอบคลุมพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนจะกว้างขวางแพร่หลายรวดเร็วจนงานเพื่อ “ภาพลักษณ์” นี้ต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของงานส่งเสริมการขายปูนซีเมนต์ตราเสือหรือไม่นั้นปูนฯ ก็คงบอกว่า “มันไม่เกี่ยวกันหรอก”

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us