สำหรับคนอายุ 67 ย่าง 68 มะรอมมะร่อ แต่ยังต้องมาแบกรับหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศที่มีปัญหาเศรษฐกิจรอบตัวอย่าง
สมหมาย ฮุนตระกูล จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีคนมาช่วยทำงาน
และคนที่ว่านี้ต้องมีคุณสมบัติหลายอย่าง ทั้งเก่งเรื่องงานและเก่งเรื่องเอาใจคนแก่
ความรู้สึกต้องไวทันผู้เป็นเจ้านายว่าเรื่องไหนท่านชอบปฏิบัติ เรื่องไหนไม่ชอบก็อย่าไปเสนอเซ้าซี้
เพราะท่านหงุดหงิดง่าย มิหนำซ้ำช่างจดช่างจำ ซึ่งเป็นลักษณะของคนอายุมากที่ขี้ใจน้อย
และต้องการคนเอาอกเอาใจ
ใครทำให้หงุดหงิดบ่อย ๆ อาจจะถูกย้ายให้พ้นหูพ้นตาไปอย่างชาญชัย ลี้ถาวร
เคยโดน หรือหากทำให้หงุดหงิดมากก็อาจจะสั่งปลดไปเลย โดยไม่แยแสว่าคนคนนั้นจะเป็นถึงผู้ว่าการแบงก์ชาติอย่าง
นุกูล ประจวบเหมาะ
ว่ากันว่า ในบรรดาคนช่วยทำงานระดับทหารเอกของสมหมาย ฮุนตระกูลนั้น ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดสนิทสนมเป็นพิเศษเห็นจะยกให้กับ
ศุกรีย์ แก้วเจริญ กรรมการและผู้จัดการทั่วไปของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
เพราะสนิทสนมกันมานานตั้งแต่สมัยอยู่แบงก์ชาติ
มาแน่นแฟ้นหนักก็ตอนที่ศุกรีย์ แก้วเจริญมานั่งเก้าอี้ที่บรรษัทเงินทุน
หลังจากที่ลาออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วยความชอกช้ำ ซึ่งที่นี่เองสมหมาย
ฮุนตระกูลได้อยู่ในตำแหน่งประธานมาตั้งแต่ปี 2516
ดูเหมือนดวงชะตาของศุกรีย์จะถูกโฉลกกับบรรษัทเงินทุนมากกว่าหน่วยงานอื่นที่ทำมา
ช่วงแค่ 5 ปีที่ศุกรีย์เข้ามาบริหาร บรรษัทฯ จึงโตพรวดพราดจากสินทรัพย์ 4,000
ล้านบาท ในปี 2523 มาเป็น 11,100 ล้านบาท ในปี 2528 อัตรากำไรเพิ่มขึ้นจากเดิม
40-50 เปอร์เซ็นต์
เทียบกับธนาคารพาณิชย์แล้ว เป็นรองแค่ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์เท่านั้น
ไม่ต้องสงสัยว่าศุกรีย์ แก้วเจริญจะไม่เป็นที่โปรดปรานของผู้ที่เป็นประธานชื่อสมหมาย
ฮุนตระกูล สักเพียงใด เพราะพูดถึงความผูกพันแล้วสมหมาย ฮุนตระกูลผูกพันกับบรรษัทเงินทุนอย่างมาก
เนื่องจากเมื่อครั้งที่อกหักจากแบงก์ชาติจากตำแหน่งผู้ว่าการ (CANDIDATE
ตอนนั้นคือพิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ ได้เป็นแทน) สมหมายก็เคยนั่งตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของบรรษัทมาแล้วระหว่างปี
2513-2515
สำหรับพนักงานในบรรษัทเงินทุนแล้วเป็นเรื่องธรรมดามาก หากจะมีนายแบงก์ใหญ่
ๆ นักธุรกิจใหญ่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการที่มีกระทรวงการคลังเข้าไปถือหุ้นด้วยอย่าง
เช่น โครงการผลิตเยื่อกระดาษจากปอ โครงการปุ๋ยแห่งชาติ ฯลฯ ขับรถเข้ามากินข้าวกลางวันกับศุกรีย์
แก้วเจริญบ่อย ๆ
ลักษณะที่ว่านี้เพิ่งเกิดประมาณปี 2524-2525 หลังจากที่สมหมาย ฮุนตระกูลได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลชุด
“เปรม 2” ซึ่งตัวศุกรีย์ แก้วเจริญอาจจะไม่รู้ก็ได้ว่า นายแบงก์เหล่านั้น
นักธุรกิจเหล่านั้นต้องการอาศัยขอยืมปากของศุกรีย์เอาเรื่องราวที่คับข้องมีปัญหาไปพูดให้สมหมายฟัง
เพราะต้องเจอกันเป็นประจำอยู่แล้วแทบทุกเดือน ในฐานะประธานกับผู้จัดการทั่วไปของบรรษัทเงินทุน
ไม่จำเป็นต้องไปเสนอหน้าขอเข้าพบที่กระทรวงการคลังเสียด้วยซ้ำ
เคยมีคนถามศุกรีย์ แก้วเจริญว่าเป็นคนที่สมหมาย ฮุนตระกูลไว้ใจมากที่สุดใช่หรือเปล่า
ซึ่งศุกรีย์บอกว่าเป็นเรื่องที่คนเข้าใจกันไปเอง แต่ก็ถือว่าเป็นการให้เกียรติตัวเขามาก
และเป็นเกียรติที่ “ตะขิดตะขวงใจที่ได้รับ”
ไม่ว่าศุกรีย์จะตะขิดตะขวงใจแค่ไหน ก็เป็นที่รู้กันว่าหากจะเทียบสมหมาย
ฮุนตระกูลเป็น “ดอน คอร์เลโอเน”ในนิยาย God Father ของมาริโอ
พูโซแล้ว ระดับของศุกรีย์ แก้วเจริญแม้จะไม่ถึงขั้นเป็น “คอนซีลโยรี”
หรือที่ปรึกษาประจำตัว แต่ไม่หนีตำแหน่ง “คาโปเรจิเม” หรือทหารเอกคนหนึ่งแน่
ๆ
เพราะไม่ว่าเรื่องอะไรที่นายแบงก์หรือนักธุรกิจคนไหนได้มีโอกาสไปปริปากพูดกับศุกรีย์
แก้วเจริญแล้วก็แทบทุกครั้งว่าสมหมาย ฮุนตระกูลต้องรู้เรื่อง ส่วนจะตัดสินใจอย่างไรนั้นคงสุดที่จะทราบได้ว่าศุกรีย์จะกล้าเสนอความเห็นของตนไปด้วยหรือเปล่า
พอดีตอนที่กำลังเขียนต้นฉบับอยู่นี้มีข่าวว่าตามใจ ขำภโต กำลังจะพ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงไทยในสิ้นเดือนมกราคม
2529 นี้ และผู้ที่มีการคาดหมายว่าจะไปแทนก็คือศุกรีย์ แก้วเจริญด้วยคนหนึ่ง
“ผู้จัดการ” เผอิญมีข้อมูลอยู่บ้าง ก็เลยขอพูดถึงเสียหน่อย ปกติแล้วศุกรีย์
แก้วเจริญจะ “เคือง” มาก หากมีหนังสือพิมพ์ฉบับไหนบอกว่าจะไปนั่งแทนตามใจ
ขำภโต ที่แบงก์กรุงไทย โดยสาเหตุที่ว่าตำแหน่งที่บรรษัทเงินทุนเล็กกว่า
ศุกรีย์จะย้ำเสมอว่าบรรษัทเงินทุนไม่ใช่ “บริษัทเงินทุน” ที่ไม่สู้มีศักดิ์มีศรีนักในช่วง
2-3 ปีหลัง และย้ำอีกว่า ในแง่สินทรัพย์และผลการดำเนินงานแล้วเป็นรองแค่
3 ธนาคารพาณิชย์เท่านั้น มิหนำซ้ำธนาคารทั้ง 3 แห่งที่ศุกรีย์เอ่ยถึงไม่พูดถึงธนาคารกรุงไทยเลย
เรียกว่าไม่อยู่ในสายตางั้นเถอะ
ดังนั้นหากศุกรีย์ แก้วเจริญต้องย้ายไปแทนตามใจ ขำภโตจริง ๆ ก็คงเป็นเรื่องที่มีสาเหตุมาจากการ
“ขัด” คำขอของสมหมาย ฮุนตระกูลไม่ได้เสียมากกว่า หรือในทำนองต้องไปเพราะ
“บุญคุณที่ต้องชำระ” ด้วยว่าในบรรดาทหารเอกของสมหมายนั้น ศุกรีย์เหมาะกับตำแหน่งนี้มากที่สุด
ทั้งบารมี อาวุโส รวมทั้งได้แสดงฝีมือให้ประจักษ์มาแล้ว
อีกคนหนึ่งที่ในสายงานแล้วถือได้ว่าเป็น “คาโปเรจิเม” อย่างเป็นทางการที่สุด
นั่นก็คือ มนัส ลีวีรพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและการคลัง หน่วยงานที่เป็นมันสมองของกระทรวงการคลัง
และขึ้นต่อสมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่เพียงผู้เดียว
แต่อาศัยที่มนัส ลีวีรพันธุ์เป็นคนที่ชอบทำงานเงียบ ๆ ไม่โฉ่งฉ่างจึงไม่ค่อยมีข่าวกล่าวถึงนัก
รู้กันว่าเป็นคนที่ “ลึก” มากและผู้ใหญ่เกรงใจมากคนหนึ่ง
ที่เด่นที่สุดในหน่วยงานเดียวกับมนัส ก็คือ นิพัทธ พุกกะณะสุต รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและการคลัง
ซึ่งคอลัมนิสต์บางคนตั้งฉายาว่า “ไอ้หนูดินระเบิด” เนื่องจากออกข่าวมาแต่ละทีวงการนักธุรกิจต้องสะดุ้งกันแปดตลบเพราะแทบหาเรื่องที่เป็นมงคลไม่ได้เลย
เช่นเรื่องการขึ้นภาษี หรือออกโรงด่ากราดนายแบงก์ไทยว่าเห็นแก่ตัวในช่วงที่ไม่มีการนำเงินตราต่าประเทศเข้ามาระยะต้นปี
2528 ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งเอา ๆ เล่นเอานายแบงก์เต้นไปตาม ๆ กัน
งานนี้นิพัทธเกือบโดนรุมยำ อาศัยที่วาพวกแบงก์พาณิชย์รู้ว่าเป็นหลานคนโปรดของสมหมาย
ฮุนตระกูล จึงไม่อยากสับนัก คนที่ให้ข่าวตีโต้กลับเป็นเจ้าหน้าที่ระดับผู้อำนวยการฝ่ายของธนาคารชาติที่ให้ความเห็นโดยไม่เปิดชื่อว่า
พูดแบบนี้แสดงว่าไม่เป็นเรื่องธุรกิจเลย
“จะให้เขาเอาเงินตราต่างประเทศเข้ามามาก ๆ เพื่อช่วยประเทศแล้วเจ๊งไปผมว่าไม่ถูกนะ
ผมว่าทำแบนนั้นไม่ใช่รักชาติแล้วล่ะคุณ เพราะถ้าเผื่อว่าเจ๊งไปแล้วประเทศชาติต้องมาช่วยหอบหิ้วอีกมันก็ไม่ใช่รักชาติ
พูดแบบนี้เขาเรียกว่า ไม่เป็น”
คนที่รู้จักกับนิพัทธ พุกกะณะสุต ดีเล่าให้ฟังว่า โดยส่วนตัวแล้วนิพัทธ
พุกกะณะสุต เป็นคนนิสัยอ่อนน้อม เข้าใจผู้ใหญ่ได้ดีทั้งผู้ใหญ่ในวงการเมือง
หรือหน่วยงานราชการด้วยกัน นิพัทธจะเรียกหาเป็นพี่เป็นเอาไปหมด
พวกที่ถูกเรียกแบบนับญาติก็ไม่ว่ากระไร เพราะตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นิพัทธก็นับถือเป็นอาเพราะเป็นเพื่อนของพ่อ อย่างนี้แล้วคนที่ถูกเรียกเป็นพี่เป็นอามีหรือจะไม่ชอบ
นอกเหนือความสัมพันธ์แบบนับญาติกันแล้ว จุดเด่นที่ทำให้ นิพัทธ พุกกะณะสุตเป็น
“คาโปเรจิเม” ที่สมหมาย ฮุนตระกูล รักใคร่เอ็นดู ก็เนื่องมาจากความสามารถในการทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายด้านข้อมูลเศรษฐกิจ
พูดง่าย ๆ ว่าเรื่องไหนผ่านมือนิพัทธแล้ว จะถูกย่อยจนเป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย
เหมาะสำหรับคณะรัฐมนตรีหรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีที่ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องเศรษฐกิจมากนัก
พอสมหมายเอาไปเสนอก็ไม่ต้องเหนื่อยในการอธิบาย
อีกข้อหนึ่งที่นิพัทธทำประโยชน์ให้รัฐมนตรีคลังได้มากก็คือ ในช่วงที่เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของสถานทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
นิพัทธไม่เพียงแต่สนิทสนมกับเจ้าหน้าที่ธนาคารโลกหรือกองทุนระหว่างประเทศเท่านั้น
ผู้หลักผู้ใหญ่จากเมืองไทย ไม่ว่าจะอยู่พรรคการเมืองไหน หน่วยราชการไหนที่มีธุระปะปังต้องไปเยือนเมืองหลวงของสหรัฐฯ
นิพันธ พุกกะณะสุต จะให้บริการอย่างดีเยี่ยม จนเป็นที่เอ็นดูของผู้ใหญ่เหล่านั้น
อานิสงส์จากความมีน้ำใจของนิพัทธก็มาช่วยเกื้อหนุนการทำงานในปัจจุบัน
ว่ากันว่าเรื่องไหนและมีท่าทางว่าจะถูกอัดในที่ประชุม ครม. เช่นการปรับภาษี
หรือแม้แต่ พ.ร.ก. แก้ไข พ.ร.บ. ธนาคารพาณิชย์ นิพัทธจะอาสาท่านอาสาหมายไปเคลียร์พื้นที่ทำความเข้าใจกับผู้ใหญ่ก่อน
เอาเป็นว่าถ้าเป็นเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับการเมืองแล้ว สมหมาย ฮุนตระกูล
จะไว้ใจหลายคนนี้มาก และที่ผ่านมาก็มักจะไม่ผิดหวัง
อีกรายหนึ่งที่ถือเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิและได้ดิบได้ดีเพราะสมหมาย ฮุนตระกูล
ก็คือ กำจร สถิรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย “ผู้จัดการ”
ไม่กล้าระบุว่ากำจร สถิรกุลเป็นคนของสมหมาย ฮุนตระกูล ที่ถูกส่งไปคุมแบงก์ชาติเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างสมัย
นุกูล ประจวบเหมาะ
ที่แน่ ๆ หากเป็นสมัยที่ นุกูล ประจวบเหมาะ เป็นผู้ว่าการ คำขอร้องของกระทรวงการคลังที่ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเรียกประชุมแบงก์พาณิชย์
เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มโรงงานน้ำตาลบางกลุ่มเป็นพิเศษ หรือเรื่องการประสานกันราคาข้าวโดยแบงก์ชาติปล่อยเงินผ่านธนาคารพาณิชย์ยากเหลือเกินที่จะเกิดขึ้นได้
อาจจะกล่าวได้ว่าไม่มียุคใดสมัยใดที่แบงก์ชาติ มีบทบาทเปรียบเสมือนแขนขาของกระทรวงการคลังมากกว่าที่จะเป็นองค์กรที่ค่อนข้างอิสระจากการเมืองเท่ายุคนี้
หากจะนับกันในด้านศักดิ์ศรีและผลงานในอดีตแล้ว (“ผู้จัดการ”
ฉบับเดือนกันยายน 2527) บรรดา “คาโปเรจิเม” ของสมหมาย ฮุนตระกูล
ทั้งหมด คนที่อยู่ในลักษณะที่ใกล้เคียงกับ “คอนซีลโยรี” มากที่สุด
เห็นจะเป็นกำจร สถิรกุล นี่แหละ
สำหรับในแบงก์ชาติมีอีกคนหนึ่งที่ถูกกล่าวขวัญถึงในแง่เป็นคนสนิทของสมหมาย
ฮุนตระกูล คือ เริงชัย มะระกานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารในฐานะที่เป็นหลานเขย
เป็นที่รู้กันว่าทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ เริงชัย มะระกานนท์ จะพานัฎฐา มะระกานนท์
ผู้เป็นภรรยาไปกินข้าวร่วมโต๊ะกับสมหมาย ฮุนตระกูล และเป็นวัตรปฏิบัติที่ทำติดต่อกันมานานก่อนหน้าสมหมายจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสียด้วยซ้ำ
ดังนั้นในยุคที่สมหมาย ฮุนตระกูล กับนุกูล ประจวบเหมาะ ขัดแย้งกันจนเป็นที่เปิดเผยรู้กันไปทั่ว
เริงชัย มะระกานนท์ จึงอึดอัดมาก โดยเฉพาะช่วงที่บริษัทเงินทุนล้มเหลวกันระนาวและกระทรวงการคลังกับแบงก์ชาติตกลงกันไม่ได้ในเรื่องวิธีการแก้ไขปัญหา
ระยะนั้นเองที่นุกูล ประจวบเหมาะกับเริงชัย มะระกานนท์มองหน้ากันไม่ติด
และไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรสำหรับคนแบงก์ชาติ ที่ในวันอำลาของนุกูลท่ามกลางพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทยนับพันคนจะไม่ปรากฏว่ามีเริงชัยรวมอยู่ด้วย
รายชื่อทั้งหมดที่ “ผู้จัดการ” เอามาลงนี้ ล้วนแต่เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิด
เป็นที่ไว้ใจของสมหมาย ฮุนตระกูลในระดับนายทหารเอกทั้งสิ้น
แต่ถ้าถามว่าใครที่สมหมาย ฮุนตระกูล “ไว้ใจ” และ “เชื่อถือ”
มากที่สุด ก็คงต้องเชื่อแหล่งข่าวในกระทรวงการคลังว่าไม่ใช่ทั้ง 5 คนที่กล่าวถึงมาแล้ว
เพราะคนที่ว่ากันว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังผู้ชราท่านนี้ไว้ใจมากที่สุด
และเป็นหน้าด่านสุดท้ายในการกรองเรื่องไม่ว่าจะมาจากคาโปเรจิเมคนไหนก็ตาม
คือยอดชายที่เรียกกันภายในว่า “ตุ๊ดตู่” หรือ ธนชัย ณ ระนอง เลขาฯ
ประจำตัวของสมหมาย ฮุนตระกูลนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ตุ๊ดตู่ก็เป็นเพียงคนสนิทหรือคนที่ไว้วางใจที่สุดเท่านั้น
แต่จะให้ถึงขั้นเป็นคอนซีลโยรี หรือที่ปรึกษาประจำตัวนั้นยังไม่ได้
เพราะคนชื่อสมหมาย ฮุนตระกูลนั้น ไม่เคยเชื่อใครจริง ๆ เลยนอกจากตัวของคนที่ชื่อสมหมาย
ฮุนตระกูลเอง