ผลการสำรวจธุรกิจนอกระบบ ที่หลีกเลี่ยงภาษี ปี 1999-2007 ประเทศไทยมีสัดส่วนธุรกิจนอกระบบสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก มีสัดส่วนถึง 57.2% ของจีดีพี กัมพูชาติดอันดับ 12 และ ฟิลิปปินส์ ติดอันดับ 25 ส่วนประเทศที่มากสุด คือ จอร์เจีย 72.5% และสหรัฐฯ มีธุรกิจนอกระบบน้อยสุด คือ 9.0%
ในแต่ละประเทศจะมีเศรษฐกิจ 2 ส่วน คือ เศรษฐกิจในระบบ และเศรษฐกิจ หรือธุรกิจนอกระบบ เศรษฐกิจในระบบนั้น รัฐบาล และสถาบันการเงินสามารถวัดได้จากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี, การจ่ายภาษี, การส่งเงินสมทบประกันสังคม, ตัวเลขการจ้างงาน ส่วนเศรษฐกิจนอกระบบนั้น การสร้างเงินและการสร้างงานอยู่นอกระบบเศรษฐกิจ (ทำให้ไม่มีการจ่ายภาษี) ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจถูกกฎหมาย หรือผิดกฎหมาย มีมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ที่มีธุรกิจนอกระบบเป็นสัดส่วนเกินกว่า 40%ของจีดีพี
ประเทศที่มีธุรกิจนอกระบบสัดส่วนสูงสุดต่อจีดีพี คือ จอร์เจีย ในปี 2007 ธุรกิจนอกระบบมีสัดส่วนถึง 72.5% ของจีดีพี รัฐบาลสูญเสียรายได้จากภาษีเป็นพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเงินที่ควรจะถูกนำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ชำระคืนหนี้ สร้างโรงเรียน สร้างถนน ประเทศที่มีธุรกิจนอกระบบน้อยที่สุด คือ สหรัฐอเมริกามีเพียง 9% ของจีดีพี 14.26 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก สามารถจัดเก็บภาษีได้ถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ในแต่ละปี
ปริมาณของธุรกิจนอกระบบ ถือว่ามีสำคัญ เห็นได้ชัดในช่วงที่กรีซประสบวิกฤตหนี้ของประเทศ ปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันประเทศนี้ไปสู่การล้มละลาย คือ การที่องค์กรธุรกิจ และลูกจ้างมีการหลบเลี่ยงภาษี มากกว่า 3.1 หมื่นล้านยูโร ซึ่งเป็นสัดส่วนมากกว่า 10%ของจีดีพี และจากรายงานธุรกิจนอกระบบในปี 1999-2007 จาก 162 ประเทศทั่วโลก (โดย ดร.เฟรดริช ชไนเดอร์ อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย โจฮานเนสเคปเลอร์ ออสเตรีย, ดร.แอนเดรีย บูเอน มหาวิทยาลัยเทคนิคเดรสเดน และ คลอดิฌอ มองเตเนโกร จากเวิลด์แบงก์ และมหาวิทยาลัยชิลี) กรีซ มีธุรกิจนอกระบบสูงสุด เป็นอันดับ 57 โดยมีสัดส่วนธุรกิจนอกระบบ 31% ของจีดีพี
การระบุปริมาณธุรกิจนอกระบบให้ชัดเจนเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ดังนั้น จึงมีโอกาสที่จะคลาดเคลื่อนจากตัวเลขจริงได้ประมาณ 15% ขณะที่รายงานระบุว่า จอร์เจียมีธุรกิจนอกระบบถึง 72.5% ตัวเลข จริงอาจจะน้อยหรือมากกว่าก็ได้ จีดีพีของจอร์เจียมีประมาณ 2.03 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถ้ารวมธุรกิจนอกระบบเข้าไปด้วยอาจจะทำให้จีดีพีเพิ่มเป็น 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่านั้น
สิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งจากปี 1999-2007 ธุรกิจนอกระบบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในปี 1999 สหรัฐฯมีธุรกิจนอกระบบ 8.6% และเพิ่มเป็น 9.0% ในปี 2007 สำหรับประเทศกำลังพัฒนามีสัดส่วนธุรกิจ นอกระบบเพิ่มจาก 36.6% ในปี 1999 เป็น 38.6% ในปี 2007 ขณะที่กลุ่ม 25 ประเทศรายได้สูงในกลุ่ม OECD มีสัดส่วนนี้เพิ่มจาก 16.8% เป็น 18.7% สาเหตุที่ทำให้สัดส่วนธุรกิจนอกระบบเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการเพิ่มความเข้มงวดในการจัดเก็บภาษีและการกำกับดูแลที่เพิ่มขึ้นในหลายๆ ประเทศ ดังนั้น การลดภาระภาษี คือ มาตรการที่ดีที่สุดที่จะทำให้ธุรกิจนอกระบบลดลง รวมถึงผ่อนคลายความเข้มงวดในการกำกับดูแลธุรกิจลง
แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง เช่น เปรู ธุรกิจนอกระบบขนาดใหญ่ เป็นผลมาจากการขยายตัวไปสู่ชนบท และปริมาณการค้าที่เพิ่มขึ้น เปรูมีธุรกิจนอกระบบใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ชาวเปรูจำนวนมากไม่มีหมายเลขประกันสังคม ไม่มีระบบจ่ายเงินเดือนอย่างเป็นทางการ มันเป็นเรื่องยากที่จะเริ่มต้นธุรกิจอย่างเป็นทางการในเปรู ประเทศที่มีระบบการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพจะมีธุรกิจ นอกระบบลดน้อยลง ไม่เพียงแต่การเพิ่มประสิทธิภาคการจัดเก็บภาษี และผ่อนคลายการกำกับดูแลลง แต่ต้องสร้างงานในภาคเศรษฐกิจในระบบ และลดแรงจูงใจที่จะก่อให้เกิดธุรกิจนอกระบบ
ประเทศที่มีสัดส่วนธุรกิจนอกระบบสูงสุด 10 อันดับแรก คือ
1. จอร์เจีย 72.5% ของจีดีพี 2.03 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
2. โบลิเวีย 70.7% ของจีดีพี 4.50 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
3. อาเซอร์ไบจาน 69.6% ของจีดีพี 8.60 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
4. เปรู 66.3% ของจีดีพี 2.53 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
5. แทนซาเนีย 63.0% ของจีดีพี 5.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
6. ยูเครน 58.1% ของจีดีพี 2.94 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
7. ไทย 57.2% ของจีดีพี 5.39 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
8. ซิมบับเว 56.1% ของจีดีพี 332 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
9. อุรุกวัย 56.0% ของจีดีพี 4.45 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
10. กัวเตมาลา 55.0% ของ 6.92 หมื่นลฃ้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นอกจากนี้ กัมพูชา อยู่ในอันดับ 12 มีสัดส่วนธุรกิจนอกระบบ 54.2% ของจีดีพี 2.81 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ อยู่ในอันดับ 25 มีสัดส่วน 48.4% ของจีดีพี 3.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนประเทศอื่นๆ ในอันดับ 11-20 ประกอบด้วย แซมเบีย, กัมพูชา, ฮอนดูรัส, เฮติ, เบลารุส, คองโก, รัสเซีย, อาร์เมเนีย, ชาด และ เบนิน
|