การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังติดต่อกัน 5 ปีของสมหมาย ฮุนตระกูล
ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจติดต่อกันเรื่อยมา ทำให้ต้องมีมาตรการทั้งทางการเงินการคลังออกมาแก้ไขปัญหาไม่หยุดไม่หย่อน
และมาตรการที่ว่านี้เป็นมาตรการที่ออกมาในช่วงที่ฐานะการเงินของทั้งรัฐบาลและประเทศกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต
ย่อมเป็นมาตรการที่รุนแรงทั้งด้านการจัดเก็บภาษีเพื่อหารายได้เข้ารัฐ จำกัดการใช้จ่ายภาครัฐบาล
ในลักษณะอย่างนี้ผู้ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะถูกกดดันจากรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมือง
ไม่เว้นแม้แต่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเดียวกันอย่างอำนวย ยศสุข
ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา สำหรับสมหมาย ฮุนตระกูล ถูกทำนายว่าจะต้องกระเด็นออกจากตำแหน่งนับเป็นร้อยครั้งจากคอลัมนิสต์ชื่อดัง
หรือสิ่งพิมพ์ข่าวแนวเศรษฐกิจทั้งรายสัปดาห์รายเดือน
ชวนให้วิเคราะห์เหลือเกินว่าทำไมสมหมาย ฮุนตระกูล จึงอยู่ได้ อยู่ได้ชนิดที่ว่าหากเป็นนักมวยระดับแชมป์ก็เผชิญผู้ท้าชิงที่น่ากลัวมานับ
10 คน แต่ก็สามารถเอาชนะได้หมดแบบหักปากกาเซียนมวย
มาไล่คุณสมบัติที่ประกอบขึ้นเป็นตัวตนของสมหมาย ฮุนตระกูล ให้สิ้นสงสัยกันดีกว่า
สมหมาย ฮุนตระกูล เป็นคนมีความรู้ความสามารถทางด้านงานเศรษฐกิจระดับปรมาจารย์คนหนึ่งของประเทศไทย
เคยผ่านงานแบงก์ชาติโดยไต่เต้ามาจากตำแหน่งนายเวรส่วนการควบคุมปริวรรต จนกระทั่งได้เป็นผู้ช่วยผู้ว่าการ
อายุงานทั้งหมดในแบงก์ชาติ นานถึง 27 ปี
ออกจากแบงก์ชาติมา 15 ปีแล้วแต่ยังเผลอๆ คิดว่าตัวเองยังนั่งคุมอยู่ ไม่ค่อยสนใจเรื่องความเป็นอิสระของธนาคารกลางเท่าไหร่
เพราะผู้ว่าการคนปัจจุบัน กำจร สถิรกุล ก็เป็นลูกศิษย์ที่เคยสอนกันมา ตอนหลังยังเป็นลูกน้องใกล้ชิดในกระทรวงการคลังอีก
ดังนั้นจึงมีข้อดีอีกข้อหนึ่งคือเอกภาพทางนโยบายด้านการเงินการคลังของประเทศ
คลังว่าอะไรแบงก์ชาติก็ว่าไปตามนั้น แต่ถ้าแบงก์ชาติจะว่าอะไรก็ให้รอคลังก่อนนะ
งานภาคเอกชนก็ใช่ว่าสมหมาย ฮุนตระกูล ไม่เป็นประสา กรรมการผู้จัดการทั่วไปของบรรษัทเงินทุนแห่งประเทศไทยก็เคยเป็น
กรรมการและผู้จัดการใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ก็เคยเป็น รวมทั้งอดีตผู้จัดการใหญ่ปูนซิเมนต์ไทย
มองในแง่ความสามารถ บารมีของสมหมาย ฮุนตระกูล จึงมีอยู่ “คับ”
ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
และสมหมายเองก็มั่นใจในความสามารถและบารมีของตนมาก จะทำอะไรต้องทำให้ได้
ซึ่งได้พิสูจน์มาแล้วทั้งเรื่องการปลดนุกูล ประจวบเหมาะ ออกจากตำแหน่งผู้ว่าการ โดยไม่สนใจจารีตหรือไว้หน้ากันแม้แต่น้อย
หรือการลดค่าเงินบาทครั้งหลังสุด ที่มีนายทหารหลาย “บิ๊ก” เข้าพบนายกฯ เพื่อขอให้เปลี่ยนใจ
ก็สมหมาย ฮุนตระกูล คนนี้อีกนั่นแหละที่เข้าพบพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ชี้แจงผลเสียหายร้ายแรงหากกลับไปใช้อัตราแลกเปลี่ยนเดิม
และพลเอกเปรมก็เชื่อ มิไยว่าเจ้านายของทหารระดับบิ๊ก จะออกมาพูดทางทีวีกับประชาชน คัดค้านการลดค่าเงินบาท
ด้วยตัวเองก็ตาม (“ผู้จัดการ” ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2527)
หรือแม้กระทั่งล่าสุด การคว่ำกระดานเขี่ยตามใจ ขำภโต หลุดออกไปอย่างไม่ยี่หระกับใครทั้งสิ้น
ประการที่ 2 สมหมายเป็นคนที่สะอาดในสายตาของคนทั่วไป ไม่สังกัดพรรคการเมือง
ไม่เคยทำอะไรที่ส่อให้เห็นชัดๆ ว่าทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวหรือหมู่คณะ
มาตรการอะไรที่แรงๆ ออกมา แม้จะถูกด่าก็ไม่เต็มปากเต็มคอ
ขึ้นภาษีก็เพราะรัฐบาลมีรายได้น้อย จำกัดงบประมาณก็เพราะรัฐบาลไม่มีเงิน
ลดค่าเงินบาทก็เนื่องจากประเทศขาดดุลการค้ามาก ปล่อยให้บริษัทเงินทุนล้มก็เนื่องจากไม่ต้องการเอาภาษีอากรของประชาชนไปช่วยเหลือกิจการที่ผู้บริหารฉ้อโกง
ออกพระราชบัญญัติสถาบันประกันเงินฝากก็เพื่อไม่ต้องการให้สถาบันการเงินที่ดีต้องไปรับภาระที่เกิดจากสถาบันการเงินที่เลว
ทุกอย่างทำเพื่อชาติหมด
ส่วนการที่ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธนาคารแห่งเดียวที่มีเครื่องเอทีเอ็มให้บริการนอกสาขาทำการได้
ก็เป็นเรื่องของแบงก์ชาติที่อนุมัติให้เอง หรือกรณีกรรมสรรพสามิตไม่ยอมปรับกลุ่มสุราทิพย์ที่ผิดสัญญาก็เป็นเรื่องระดับกรม
สมหมาย ฮุนตระกูล ไม่เคยลงมายุ่งในเรื่องพวกนี้เลย
ประการที่ 3 สมหมายเป็นคนไม่สอพลอ ใครจะด่าจะว่าอย่างไร ใช้ลูกเฉยยัน การวางตัวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนนี้
ดูเผินๆ ก็เหมือนกับพลเอกเปรม ที่มีปัญหาอะไรมักไม่ใคร่จะพูด
บุญชู โรจนเสถียร ให้สัมภาษณ์ “สับ” นโยบายการคลังของสมหมาย หนังสือพิมพ์เอาไปลงแทบทุกฉบับสมหมายก็เงียบ
รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลังออกโรงให้สัมภาษณ์อัดสมหมาย สมหมายก็เงียบอีก ใช้กลยุทธ์
“ความสงบสยบความเคลื่อนไหว” มาตลอด
นิสัยคนไทยก็รู้ๆ กันอยู่ ชอบเข้าข้างคนแพ้ เห็นใจคนถูกรังแก เห็นสมหมาย
ฮุนตระกูล ถูกด่าอยู่ฝ่ายเดียวไม่ยอมตอบโต้ก็สงสาร วันดีคืนดีจึงมีนักธุรกิจบางคนที่ตัวเองแทบตายจากมาตรการของสมหมาย
ออกมาให้สัมภาษณ์ปกป้องเสียเอง
“ผู้จัดการ” อยากจะออกความเห็นในเรื่องนี้บ้าง อาจจะไม่ตรงกับใครก็ช่าง
ที่สมหมาย ฮุนตระกูล เงียบอยู่นั้นไม่ใช่เพราะไม่อยากจะเถียงหรือไม่โกรธ
เพราะรู้ว่าอุปนิสัยของรัฐมนตรีคลังท่านนี้ ถือยศถือศักดิ์ยิ่งชีพ
ความจริงโกรธมาก โกรธแล้วจำด้วย แต่ที่ไม่เถียงเพราะไม่อยากถ่อมตัวไปเถียง
เข้าทำนองหมามันอยากฉี่รดภูเขาทองก็ปล่อยให้มันฉี่ไป ฉี่แรงเท่าไหร่ฉี่ก็กระเด็นไปเปียกหมามากเท่านั้น
ประการสุดท้ายที่ทำให้สมหมาย ฮุนตระกูล อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้นานท่ามกลางคมหอกคมดาบก็คือ
คนดีมีฝีมือจริงๆ เขาไม่อยากเป็น ไอ้พวกที่กระสันอยากจะเป็นก็ไม่มีฝีมือ
คนอย่าง ดร.อำนวย วีรวรรณ คนอย่างชาญชัย ลี้ถาวร หรือ ดร.เสนาะ อูนากูล
รวมทั้งคนอื่นๆ อีกนับเป็น 10 คน มีความรู้ความสามารถ มีบารมีพอที่จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ทั้งนั้น
บางคนก็เคยเป็นมาแล้วด้วยซ้ำไป
แต่คนเหล่านี้ ต่อให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ชักแม่น้ำทั่วประเทศไทยทุกสายไปพูดชักจูง
รับรองว่าไม่มีใครมาเป็น
ไม่มีใครอยากมาเหนื่อย มาเปลืองเนื้อเปลืองตัวกับงานของกระทรวงการคลังที่มองเห็นชัด
ๆ ว่าเข้ามาแล้วมีแต่เสมอตัวกับถูกด่า
มองในแง่นี้สมหมาย ฮุนตระกูล เป็นผู้เสียสละและทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติอย่างปฏิเสธไม่ได้
ถ้ามองแบบขวางๆ หน่อย ก็อาจจะบอกว่า โถ คนอายุจวนจะ 68 ปี อยู่แล้ว ยังมั่นใจในความสามารถของตัวเอง
ยังอยากให้มีลูกหลาน ลูกน้อง ห้อมล้อมจะให้ท่านไปไหน ธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่จริง
ๆ อย่างมากเขาก็ให้เป็นที่ปรึกษา บรรษัทเงินทุนแม้จะให้เป็นประธาน แต่หน่วยงานมันเล็กไป
ไหนเลยจะมาเท่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้
ที่เขียนถึงทั้งหมดนี้มิได้เป็นการหาเรื่องกล่าวโจมตีสมหมาย ฮุนตระกูล เพียงแต่
“ผู้จัดการ” ไม่เห็นด้วยอย่างที่ย้ำไว้แต่แรกว่า การที่พูดกันเกร่อไปทั่วว่าปัญหาเศรษฐกิจของประเทศทุกวันนี้
ใครมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็แก้ปัญหาไม่ได้ดีกว่าสมหมายนั้น
เป็นคำพูดที่ไม่จริง
ยิ่งฐานะการเงินการคลังของประเทศกำลังง่อนแง่นอยู่บนหุบเหวของความวิบัติทางเศรษฐกิจ
คุณสมบัติของแม่ทัพทางการเงินของภาครัฐบาลน่าจะได้รับการตรวจสอบอย่างเรียกร้องและเข้มงวด
เสียงร้องจากภาคเอกชนที่ดังขึ้นทุกทีไม่ว่ากิจการขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ว่าประเทศชาติกำลังถูกมรสุมเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดในรอบ
30-40 ปี ร้องให้รัฐบาลใช้มาตรการอื่นเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจในประเทศ
ทุกคนเห็นด้วยกับนโยบายอนุรักษนิยมของสมหมาย ฮุนตระกูล ว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น
แต่ไม่เห็นด้วยที่จะมุ่งแก้ปัญหาแค่ฐานะการคลังของรัฐบาลหรือแก้ปัญหาดุลการค้าเท่านั้น
น่าที่จะหันเหนโยบายไปสู่เป้าหมายทางเศรษฐกิจอื่นบ้าง มีนโยบายหรือมาตรการอื่นที่ช่วยพยุงธุรกิจให้อยู่รอดไปได้
ตลกขื่นอย่างหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น ที่ทำให้คนที่รับรู้ไม่รู้จะหัวเราะหรือร้องไห้ดีก็คือ
มีธนาคารพาณิชย์อยู่กลุ่มหนึ่งมองเห็นทางรอดอยู่อย่างหนึ่งสำหรับลูกค้าของตนที่ประกอบธุรกิจต่าง
ๆ กันไป ก็คือการที่ทางการหรือธนาคารแห่งประเทศไทยควรประกาศสั่งให้ลดดอกเบี้ย
เพราะที่ผ่านมาการให้ลดกันเองไม่เคยได้ผลเลย เนื่องจากธนาคารบางแห่งอย่าว่าแต่ข้อตกลงที่ทำร่วมกันเลยกฎหมายที่มีควบคุมชัดเจนยังฝ่าฝืนแหกคอกถูกปรับกันแทบทุกเดือน
นักข่าวเอาเรื่องนี้ไปถามกำจร สถิรกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ท่านกลับเตือนว่าธนาคารพาณิชย์ที่เรียกร้องให้ลดดอกเบี้ยระวังตัวเองจะขาดทุนนะ
นี่เป็นแค่ตัวอย่างเรื่องเดียวของการไม่มองไปหามาตรการอื่นของทั้งแบงก์ชาติและกระทรวงการคลัง
และหากเกิดภาวะธุรกิจเจ๊งพินาศกันใหญ่โตในปี 2529 นี้ ก็ไม่รู้ว่าจะช่วยแก้ปัญหาดุลการคลัง
ดุลการค้า ได้ตรงไหน
อยากสรุปตอนท้ายสำหรับความเห็นช่องนี้ว่า ในภาวะที่ฐานะการคลังของรัฐบาลกำลังทรุด
และประเทศขาดดุลการค้า นักการคลังที่มีนโยบายอนุรักษนิยมอย่างสมหมาย ฮุนตระกูล ก็ย่อมจำเป็นและเพียงพอต่อการแก้ปัญหา
แต่หากว่านอกจากปัญหาดังที่กล่าวมาแล้ว คือประเทศกำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก
ยังผลให้เศรษฐกิจในประเทศกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต เราจะยังต้องการนักการคลังที่มีแต่นโยบายอนุรักษนิยมมาเป็นผู้นำด้านการเงินของประเทศอยู่อีกหรือ
“ผู้จัดการ” อยากเสนอไปเลยว่าเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแม่ทัพด้านเศรษฐกิจคนใหม่ที่คล่องตัวกว่ามองปัญหากว้างกว่าที่มีอยู่ทุกวันนี้
ถ้ายังนิยมชมชื่นกับความสามารถของสมหมาย ฮุนตระกูล หรือไม่เชื่อหลักการที่ว่าบุคคลที่มีความสามารถอย่างหนึ่งก็ย่อมเหมาะสมกับสถานการณ์อย่างหนึ่ง
ก็น่าจะคิดกันบ้างว่าภาระที่ยิ่งใหญ่และนับวันจะหนักหน่วงยิ่งขึ้น จะโยนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่แม้จะมีความสามารถแต่ก็ชราภาพเต็มทีแล้วเป็นผู้แบกรับไว้หรือ
ไม่สงสารคนแก่บ้างหรืออย่างไร