ในวันที่ 22 มกราคม 2529 นี้ นายสมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะอยู่ในตำแหน่งครบ
5 ปี ถือเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล “เปรม” ได้นานมากที่สุดคนหนึ่ง
ก่อนหน้านี้ สมหมาย ฮุนตระกูล เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาแล้ว
2 ครั้ง ครั้งแรกในชุดรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ (2) ระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม
2517 - 14 กุมภาพันธ์ 2519 ครั้งที่ 2 ในชุดรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
(3) ระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2523 - 29 กุมภาพันธ์ 2523 (เป็นได้แค่
19 วัน พลเอกเกรียงศักดิ์ ประกาศลาออกจากการเป็นนายกฯ)
การเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังครั้งล่าสุดของสมหมาย
ฮุนตระกูล จนถึงปัจจุบันนั้นก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันต่าง ๆ นานา ฉายาที่ได้รับจากคอลัมนิสต์หรือนักข่าวก็ไม่สู้เป็นมงคลนัก
เช่น “ซามูไรบ้าเลือด” “ซามูไรจอมโหด” หรือเรียกชื่อนำหน้าว่า
“ปู่”
นักข่าวเศรษฐกิจหน้าใหม่บางคนไม่รู้เรื่อง เจอหน้าสมหมาย ฮุนตระกูล ก็เตร่เข้าไปถาม
โดยเรียกว่า “ปู่ครับ” ปรากฏว่ารายไหนก็รายนั้นเป็นโดนเอ็ดตะโรเป็นการใหญ่ว่า
“ไหน ใครเป็นปู่คุณ เป็นญาติกันตั้งแต่เมื่อไหร่” จึงเป็นที่รู้กันว่าอยู่ต่อหน้าอย่าไปเรียกปู่เด็ดขาด
เพราะท่านไม่นับญาติด้วย
เหตุที่ถูกตั้งฉายาในทำนองที่เหี้ยมโหดก็เนื่องจากสมหมาย ฮุนตระกูล เข้ามารับตำแหน่งในช่วงที่ภาวะการคลังของรัฐบาลขาดดุลอย่างหนัก
จึงได้มีการปรับภาษีหลายครั้งเพื่อหารายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งการที่ประเทศต้องขาดดุลการค้าติดต่อกันมาตลอด
ก็ทำให้ต้องมีการปรับค่าเงินบาทลดค่าลงถึง 3 ครั้งในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา
อาจจะเป็นเพราะปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจและการเงิน ที่รุมเร้ามาตั้งแต่ปี
2522 จนกระทั่งช่วงที่สมหมายเข้ามารับตำแหน่ง เป็นเหตุให้สถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์
บริษัทเงินทุนหรือเครดิตฟองซิเอร์ พากันล้มตามกันเป็นแถว
ยิ่งปี 2528 ภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซาอย่างหนัก ธุรกิจไม่ว่าจะเป็นขนาดยักษ์ใหญ่หรือธุรกิจขนาดเล็กล้มกันระนาว
จึงมีหลายเสียงจากวงการนักธุรกิจตั้งข้อสงสัยในฝีมือ รวมทั้งนโยบายด้านการเงินการคลังของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ผ่านมาว่าถูกต้องเหมาะสมเพียงใด
หรือจำเป็นต้องเปลี่ยนให้คนที่มีฝีมือดีกว่า หรือนโยบายเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่ามารับผิดชอบกระทรวงนี้แทน
ที่จริงเสียงเรียกให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสียใหม่
หรือแม้กระทั่งเรียกร้องให้สมหมาย ฮุนตระกูลลาออกจากตำแหน่งด้วยตัวเอง มีมาแทบตลอดระยะเวลาที่เป็นรัฐมนตรี
แต่สมหมาย ฮุนตระกูล ก็อยู่รอดปลอดภัยมาได้จนกระทั่งปัจจุบัน มิหนำซ้ำการปราศรัยของพลเอกเปรม
ติณสูลานนท์ ในระยะหลัง ๆ เวลาพูดถึงปัญหาเศรษฐกิจ จะกล่าวอ้างถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในน้ำเสียงที่ยกย่องเชื่อถือเอามาก
ๆ
และท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่นั้น
ก็มีหลายเสียงให้ความเห็นไปอีกทางหนึ่งว่าสำหรับฐานะการคลังของรัฐบาลที่ผ่านมา
หรือสภาพความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เทวดาหน้าไหนมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็เหมือนกันหมด คือไม่มีทางทำได้ดีเกินกว่าที่สมหมาย ฮุนตระกูล ได้ทำมาแล้ว
“ผู้จัดการ” มีความเชื่อว่าความเห็นทำนองนี้ออกจะง่ายเกินไป
ใช้กันเกร่อเกินไป และเป็นคำตอบที่ไม่เปิดโอกาสให้มีทางเลือกอื่น นอกจากก้มหน้าก้มตายอมรับปัญหาที่เกิดขึ้น
เพราะข้อสรุปออกมาแล้วว่า “ใครก็แก้ไม่ได้” มันจะมิใช่ลักษณะของคนสิ้นหวังหรอกหรือ
สมหมาย ฮุนตระกูล เข้ามารับตำแหน่งในช่วงต้นปี 2524 ปัญหาอย่างแรกที่ต้องเจอก็คือการขาดดุลงบประมาณปี
2525 ได้ถีบตัวจาก 25,278.7 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2524 เพิ่มขึ้นเป็น 40,069.8
ล้านบาท สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ปี 2524 (เป็นปีที่ใช้เงินงบประมาณปี 2525)
จึงเป็นปีที่มีข่าวลืออยู่เกือบตลอดทั้งปีว่ากระทรวงการคลังเงินใกล้จะหมด
ลือกระทั่งว่าข้าราชการอาจจะไม่ได้รับเงินเดือนเพราะไม่มีเงินจะจ่าย
ด้านดุลการค้าเมื่อสิ้นปี 2523 ก็ขาดดุลเพิ่มขึ้นจาก 37,982.3 ล้านบาท
ในปี 2522 เป็น 60,421.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอีกเกือบหนึ่งเท่าตัว
จะว่าไปแล้วการที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ชักชวนสมหมาย ฮุนตระกูล มารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็เพื่อเอามาช่วยแก้ปัญหาฐานะการคลังของรัฐบาล
ตามคำแนะนำของผู้ที่พลเอกเปรมให้ความเชื่อถือ ซึ่งกรณีนี้ไม่เกี่ยวกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์
ปราโมช อย่างแน่นอน
“ผู้จัดการ” ฉบับเดือนกันยายน 2527 (เรื่อง “เมื่อคนหัวรั้นเจอคนบ้าเลือด
เลือดก็เลยท่วมธนาคารชาติ”) ได้ตีพิมพ์ลักษณะและอุปนิสัยใจคอบางประการของนายสมหมาย
ฮุนตระกูล ไว้อย่างชัดเจนพอสมควร จึงใคร่ตัดตอนมาลงอีกครั้งหนึ่ง
“สมหมายเป็นนักการคลังที่ใช้ CONSERVATIVE FISCAL POLICY และจากการที่พลเอกเปรม
ติณสูลานนท์ ปล่อยให้สมหมาย ฮุนตระกูล ทำงานอย่างเต็มที่ ก็ทำให้สมหมายใช้นโยบายการคลังที่เข้มงวดเข้ามาเป็นกรอบให้รัฐบาลเดิน”
“เหตุการณ์ของเศรษฐกิจโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นภาวะผันผวน
และเศรษฐกิจตกต่ำมาก ๆ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นสูง ก็พอดีลงล็อกกับนโยบายอนุรักษนิยมทางการเงินและการคลังที่สมหมายวางเอาไว้”
และสิ่งที่สมหมาย ฮุนตระกูล ดำเนินการมาตลอดในช่วงที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็คือกดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ งบประมาณในช่วง
5 ปีที่ผ่านมาจึงไม่เคยมีปีไหนที่สูงเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของปีก่อนหน้า ยิ่งงบประมาณปี
2529 ก็ประกาศออกมาแล้วว่าจะใช้นโยบายจำกัดการเติบโตภาครัฐบาล (ZERO GROWTH)
ดร.โอฬาร ไชยประวัติ รองผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกมาพูดอย่างเหลืออดเหลือทน
หลายครั้งในช่วงหลายปี 2528 ก็คือ นโยบายเศรษฐกิจที่เด่นชัดของรัฐบาลในระยะ
4-5 ปีที่ผ่านมา มีอยู่ 2 เรื่องเท่านั้น คือแก้ปัญหาดุลการคลังและดุลการค้าซึ่งแม้จะถูกต้องแต่ไม่พอเพียงในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทุกวันนี้
ก่อนที่จะคืบหน้าไปถึงเรื่องแนวการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นนอกเหนือไปจากนโยบายเศรษฐกิจแบบเข้มงวดของสมหมาย
ฮุนตระกูล มาลงประเมินผลงานในอดีตของรัฐมนตรีท่านนี้ดูสักหน่อย
และสำหรับปีงบประมาณ 2528 ตัวเลขทางการของธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาแล้วว่ารัฐบาลขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น
38,437 ล้านบาท จากที่ตั้งเป้าไว้จะไม่ให้เกิน 35,000 บาท
พอสรุปได้ว่าฐานะด้านการคลังของรัฐบาล แม้จะใช้นโยบายเข้มงวดกวดขันในเรื่องงบประมาณรายจ่ายสักเพียงใด
ก็ไม่ได้กระเตื้องมากขึ้นกว่าก่อนสมหมาย ฮุนตระกูล เข้ามารับตำแหน่ง
แต่ “ผู้จัดการ” ไม่ได้สรุปว่านี่คือความผิดพลาดของสมหมาย ตรงข้ามกลับเห็นด้วยว่าแม้พยายามกระเบียดกระเสียรการใช้จ่ายภาครัฐบาลอย่างเต็มที่แล้ว
ผลออกมาก็ยังไม่ดีขึ้น รวมทั้งรายจ่ายบางประการที่ไม่มีทางตัดทอนและไม่ได้เป็นความผิดของรัฐมนตรีท่านนี้ก็คือรายจ่ายด้านการชำระหนี้ทั้งในและต่างประเทศ
เฉพาะปีงบประมาณ 2528 รายจ่ายสูงสุดอันดับหนึ่งก็คือการชำระหนี้เงินกู้ที่เป็นเงินถึง
44,400 ล้านบาท
สิ่งที่ยังติดใจก็คือการหารายได้เข้ารัฐ ที่แม้จะขึ้นภาษีครั้งแล้วครั้งเล่าหรืออ้างว่าจะมีการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีมาทุกปี
แต่ก็ยังไม่มีสักครั้งที่จะมีรายได้ตามที่ประมาณการเอาไว้
หากสงสัยว่าติดใจเพราะอะไร ลองมาดูตารางประมาณการและรายได้จริงในระหว่างปี
2516-2524 ดูอีกทีก็ได้ ว่าสามารถจัดเก็บได้เกินประมาณการแทบทุกปี
เมื่อเปรียบเทียบตารางที่ 2 กับตารางที่ 3 แล้ว สมหมาย ฮุนตระกูล จะยอมรับไหมหนอว่า
น่าจะเป็นความรับผิดชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
การตั้งเป้าหมายรายได้สูงกว่าความเป็นจริง ทำให้รายได้จริงต่ำกว่าที่ประมาณการนั้น
โดยตัวของมันเองไม่กระไรนักหรอก ที่สำคัญก็คือสาเหตุในการตัดสินใจในการประมาณการรายได้ที่เหนือจริงต่างหาก
ถ้าสาเหตุนั้นมาจากการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจผิดพลาด ก็คงพอฝืนให้อภัยกันได้
ถึงแม้จะประเมินผิดมาตลอด 4-5 ปีนี้
แต่หากสาเหตุมาจากการวางแผนการคลังที่ผิดพลาด หรือมีปัจจัยอื่นนอกเหนือปัจจัยด้านเศรษฐกิจมาเบียดบังผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของรัฐไป
อย่างเช่นการขึ้นภาษีสินค้าทีเดียว 580 รายการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยหวังตัวเลขจากรายได้ของภาษีที่เพิ่มขึ้นมาปิดหีบงบประมาณ
แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อระบบเศรษฐกิจทั้งหมด ซึ่งจะทำให้รายได้ที่เคยได้ เช่น ภาษีการค้า
ภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องลดลง เพราะค้าขายได้น้อยลง หรือปิดกิจการเจ๊งไปเลย
ผลที่ตามมาก็คืออีกกี่ปีกี่ชาติก็อย่าหวังเลยว่าจะสามารถหารายได้อย่างที่ประมาณการเอาไว้
ที่ร้ายหนักไปกว่านั้น การละเว้นการจัดเก็บรายได้ที่รัฐพึงได้อย่างแน่นอน เช่น
การชดเชยภาษีหรือผ่อนผันไม่ปรับบริษัทสุราทิพย์ที่ทำผิดสัญญาอย่างชัดเจน
(“ผู้จัดการ” ฉบับเดือนธันวาคม 2528) ทำให้รัฐเสียหายนับพันล้านบาทอย่างนั้น
ก็ไม่ทราบว่าเจ้ากระทรวงการคลังท่านนี้จะปฏิเสธความรับผิดชอบได้อย่างไร
ด้านนโยบายการเงิน ที่เห็นเด่นชัดที่สุดและคนไทยรู้จักดีที่สุดก็คือ คงหนีไม่พ้นมาตรการปรับค่าเงินบาทให้ลดลง
3 ครั้ง 3 ครา แต่จะไปโทษกระทรวงการคลังก็เห็นจะไม่ได้ เพราะภาวะขาดดุลการค้ายังอยู่ในอัตราที่สูงทุกปี
ขืนไม่ปรับค่าเงินก็คงไม่มีเงินเหลือให้ปรับ
ปัญหาก็คือว่าเมื่อปรับค่าเงินบาทให้ลดลงแล้วในครั้งสุดท้ายได้มีการตั้งกติกาใหม่จากการผูกค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์เป็นการผูกกับเงินตราหลายสกุล
(BASKET OF CURRECIES) ทำให้การเงินระหว่างประเทศภาคเอกชนปั่นป่วนไปพักหนึ่ง เพราะไม่เข้าใจ
หลังจากที่ใช้ระบบใหม่ไปได้ 5-6 เดือน คนเริ่มเข้าใจมีการนำเงินเข้ามาจากต่างประเทศในปริมาณปกติ
ทำให้สภาพคล่องในประเทศสูงขึ้น เป็นเหตุให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
แต่พอเดือนกันยายน หลังประชุม 5 ประเทศอุตสาหกรรมสำคัญของโลก และมีมติออกมาว่าต้องการกดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐให้ต่ำลง
และก็ทำให้จริงเพราะแค่กลางเดือนพฤศจิกายนเงินดอลลาร์ก็ต่ำลงถึง 20 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเงินเยนญี่ปุ่น
เงินบาทที่เทียบกับตะกร้าเงิน ก็เริ่มเพี้ยนไป คืออ่อนตัวมากกว่าความเป็นจริงที่น่าจะแข็งขึ้นเพราะในตะกร้าเงินนั้น
อัตราส่วนของเงินดอลลาร์ก็ยังเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น
ดังนั้นเมื่อดอลลาร์อ่อนตัวลง เงินบาทก็ย่อมแข็งขึ้นโดยอัตโนมัติ
พูดง่ายๆ ว่าเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2528 เงินหนึ่งดอลลาร์น่าจะแลกเป็นเงินบาทได้ประมาณ
25 บาท ไม่ใช่ 26 บาทกว่าตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย
ค่าเงินที่เพี้ยนไปนั้นเป็นเพราะการเข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนของกองทุนรักษาระดับฯ
ที่มีชวลิต ธนะชานันท์ เป็นผู้จัดการ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก
และการเพี้ยนของค่าเงินบาทก็ทำให้ผู้ที่กู้เงินเข้ามา หรือนำเข้าสินค้าแล้วซื้อเงินล่วงหน้าหลายสกุลโดยอิงกับระบบตะกร้าเงินขาดทุน
และเป็นการขาดทุนทั้ง ๆ ที่ทำตามกติกาที่ทางการประกาศออกมาเอง
ผลก็คือไม่มีใครกู้เงินเข้านอกจากหันมาใช้เงินบาทในประเทศ เงินก็เลยตึง ในขณะที่เศรษฐกิจซบเซาแบบนี้มันไม่น่าจะตึง
ธนาคารบางแห่งที่ทนไม่ไหวก็ต้องงุบงิบขึ้นอัตราดอกเบี้ยของตน แม้ปากจะพูดว่าควรจะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ล่าสุดเมื่อปลายเดือนธันวาคม ชาตรี โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ
ต้องออกโรงให้สัมภาษณ์ว่า ธนาคารชาติควรประกาศออกมาให้ชัดเจนว่าจะเอาอย่างไรกับอัตราแลกเปลี่ยน
เพราะถ้าไม่มีกติกาที่แน่นอน ก็ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรมาวัดในการคำนวณความเสี่ยงของธนาคารเวลาต้องกู้เงินต่างประเทศเข้ามา
ตลอดเดือนตุลาคม “ผู้จัดการ” กล้าระบุได้เลยว่าธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนทุกวัน
“งานนี้คุณถามว่าธนาคารที่ไหนเจ็บเหรอ ผมบอกให้ก็ได้ว่าธนาคารที่เจ็บที่สุดจากการเข้าแทรกแซงของแบงก์ชาติก็คือตัวธนาคารชาติเอง
เพราะคนที่เขาเอาเงินกู้คืน หรือจ่ายเงินไปต่างประเทศ ก็ต้องมาซื้อเงินที่แบงก์ชาติ
เจอทุกวัน วันละ 30-40 ล้านดอลลาร์ ทุนสำรองมีอยู่ถึง 2,500 ล้านดอลลาร์
หรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่พวกเราก็รู้ว่าเขาแทรกแซงได้ไม่นานก็ต้องหยุด ไม่งั้นเดี๋ยวทุนสำรองมีปัญหา”
ฝ่ายค้าเงินตราของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งให้ความเห็นอย่างเปรมปรีดิ์
และพอถึงเดือนพฤศจิกายนแบงก์ชาติก็ต้องหยุดแทรกแซงจริง ๆ เพราะเงินทุนสำรองทำท่าจะหมดเอา
ก็เลยไม่ได้ช่วยผู้ส่งออกได้อีกต่อไป แถมยังเข้าเนื้ออีกเท่าไหร่ก็ไม่ยอมบอก
ถ้านโยบายด้านการเงินของบ้านเรา โดยเฉพาะในเรื่องสำคัญมาก เช่น อัตราแลกเปลี่ยน
ใช้ไม่กี่เดือนก็เปลี่ยนที หรือไม่เปลี่ยนก็เข้ามาแทรกแซงจนไม่รู้ว่ากฎเกณฑ์อยู่ที่ไหน
ก็ปิดประเทศแบบพม่าเสียเลยจะดีไหม
ที่ต้องยกตัวอย่างความบกพร่องในเรื่องนโยบายการเงินการคลังออกมาจี้กัน
ก็เพื่อให้เห็นว่าปัญหาทางเศรษฐกิจที่ยกย่องกันนักหนาว่าใครมาแทนสมหมาย ฮุนตระกูล
ก็ไม่มีทางทำได้ดีกว่านั้น บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่เห็นชัด ๆ ว่าทำได้
ในส่วนเรื่องที่ทำได้ดี เป็นผลประโยชน์แก่ประเทศชาตินั้น “ผู้จัดการ”
เคยเขียนถึงสมหมาย ฮุนตระกูล ในทางยกย่องมาไม่น้อยกว่า 2 ฉบับแล้ว เขียนในช่วงที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนนี้กำลังถูกรุมด่าเสียด้วยซ้ำ
สำหรับจุดมุ่งหมายในการทำรายงานชิ้นนี้ของเราอยู่ที่ไหน เห็นทีจะต้องรบกวนให้อ่านกันทั้งเรื่องเสียแล้ว