|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 ชะลอตัวลง 14.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับในช่วง 4 เดือนแรกที่เติบโต 17.1% จากปีที่แล้ว โดยเป็นผลจากการหดตัวของธุรกิจใหม่ในเดือน พ.ค. จากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองมากกว่าที่คาด ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการในเดือน มิ.ย. 2553 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวด้วยเลขสองหลักอีกครั้ง หลังการชุมนุมทางการเมืองยุติลง ซึ่งน่าจะส่งผลให้เบี้ยประกันภัยรับรวมของธุรกิจประกันชีวิตในช่วงครึ่งแรกของปีเติบโตจากปีที่แล้วได้ไม่ต่ำกว่า 15-16%
สำหรับทิศทางธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี ยังน่าจะรักษาอัตราการเติบโตทางธุรกิจให้อยู่ในระดับเลขสองหลักได้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะยังได้รับปัจจัยบวกจากแรงซื้อเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีในช่วงสิ้นปี การคลี่คลายของเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมถึงการแข่งขันระหว่างบริษัทประกันและนโยบายเชิงรุกในการเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของธนาคารพาณิชย์ ประกอบกับแนวโน้มการชะลอตัวของการของสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งปีหลัง หลังมาตรการลดหย่อนภาษีการโอนและจดจำนองเพื่อกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สิ้นสุดลงในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ทำให้ทำประกันเพื่อคุ้มครองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (MRTA: Mortgage Reduce Term Loan) ที่เป็นตัวเร่งยอดการทำประกันใหม่ของการขายประกันผ่านธนาคารพาณิชย์ (Bancassurance) ลดลง ส่งผลให้อัตราการเติบโตของธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังลดลงจากที่คาดไว้เดิม และเมื่อผนวกกับผลกระทบจากปัญหาการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตในปี 2553 ลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวในระดับประมาณ 18-23% เป็น 16-18%
เบี้ยประกันภัยรับรวมเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 6.4% จากปีก่อน แต่ชะลอตัวลงแรงเมื่อเทียบกับเดือนเม.ย. ที่เพิ่มขึ้น 11.8% จากผลกระทบของจำนวนวันทำการที่ลดลง จากเหตุรุนแรงทางการเมือง ซึ่งทำให้ปริมาณธุรกิจใหม่ในเดือน พ.ค. หดตัวลง 6.3% เทียบกับเดือนเม.ย. ที่เพิ่มขึ้น 4.4% ขณะที่การจัดเก็บเบี้ยประกันปีต่อไปของผู้เอาประกันรายเดิมในเดือน พ.ค. ยังค่อนข้างคงที่ โดยมีอัตราเพิ่ม 13.1% เทียบกับเดือน เม.ย. ที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 15.5%
กลุ่มบริษัทประกันที่มีธนาคารพาณิชย์ไทยถือหุ้น 8 บริษัทถือว่าได้รับผลกระทบมาก เพราะฐานธุรกิจใหม่ของบริษัทประกันในกลุ่มนี้กว่า 70% มาจากการขายผ่านช่องทางธนาคาร (Bancassurance) แต่เมื่อต้องปิดทำการชั่วคราวจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง จึงทำให้ปริมาณธุรกิจใหม่หดตัวมากกว่ากลุ่มบริษัทประกันอื่น โดยหดตัวลง 7.2% เทียบกับบริษัทที่เหลือที่หดตัวเพียง 5.4% อย่างไรก็ตามอัตราการจัดเก็บเบี้ยปีต่อไปของกลุ่มบริษัทที่มีธนาคารพาณิชย์ถือหุ้น ยังคงขยายตัวสูงมากถึง 29.6% สะท้อนถึงคุณภาพของผู้เอาประกันรายเดิม
ด้านการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตในช่วง 5 เดือนแรกของปี ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น 14.9% แต่อยู่ในอัตราที่ช้าลงเมื่อเทียบกับช่วง 4 เดือนแรกที่ขยายตัว 17.3% ซึ่งการเติบโตของเบี้ยประกันในช่วง 5 เดือนแรกปีมาจากผู้เอาประกันรายใหม่เพิ่มขึ้น 10.1% และการส่งเบี้ยประกันปีต่อไปของผู้เอาประกันรายเดิมเพิ่มขึ้น 17.2% โดยที่กลุ่มบริษัทที่มีธนาคารพาณิชย์ถือหุ้น 8 บริษัท ยังคงมีอัตราเติบโต 29.9% ต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ชะลอลงจากที่เติบโต 49.5% ในเดือนเม.ย. 53 ขณะที่ภาพรวมบริษัทอื่นปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.5% จากที่หดตัว 3.4% ในเดือนก่อนหน้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในช่วงครึ่งปีหลังธุรกิจประกันชีวิตจะสามารถรักษาการเติบโตของธุรกิจทั้งปี 2553 อยู่ที่ประมาณ 16-18% จากปีก่อนที่เติบโต 16.8% โดยมีปัจจัยหนุนจากแรงซื้อเพื่อความต้องการความคุ้มครองชีวิตที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยหนุนอื่นๆ ซึ่งน่าจะช่วยชดเชยผลกระทบจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่คงจะปรับขึ้นเพิ่มเติม ปัจจัยหนุนต่างๆ ดังกล่าว ได้แก่ ยังมีลูกค้าบางกลุ่มยังคงเห็นความสำคัญของการทำประกัน ไม่ว่าจะเป็นฐานลูกค้ารายใหม่ที่ไม่เคยทำประกันมาก่อน หรือแม้แต่ลูกค้ารายเดิมที่ต้องการซื้อประกันเพิ่มเพื่อครอบครัวหรือตามระดับรายได้ที่สูงขึ้น โดยเป็นสินค้าที่ให้ความคุ้มครองชีวิตและสุขภาพในวงเงินที่มากกว่าเงินออมที่นำส่งเป็นค่าเบี้ยประกัน นอกจากนี้หากกระทรวงการคลังอนุมัติการเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับผู้ซื้อในกลุ่มใหม่ ๆ เช่น ประกันสุขภาพและประกันชีวิตของผู้สูงอายุ จะช่วยเป็นแรงกระตุ้นการเติบโตของธุรกิจในระยะต่อไป
ในช่วงที่เหลือของปีนี้ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังน่าจะมีความต่อเนื่อง เมื่อความเสี่ยงทางการเมืองลดลง แม้จะมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก แต่ไม่ได้นำมาสู่ภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจนถึงขั้นถดถอย คาดว่าเศรษฐกิจไทยก็ยังมีโอกาสเติบโตจากไตรมาสก่อนได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีปี 2553 เป็น 4-6% จากเดิม 2.6-4.5% จากปี 2552 ที่หดตัว 2.3% ซึ่งอำนาจซื้อ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่น่าจะอยู่ในเกณฑ์ดีจะเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจประกันชีวิต
สำหรับปัจจัยหนุนการเติบโตที่สำคัญของธุรกิจ เช่น ด้านฤดูกาล พบว่ายอดขายประกันมักเพิ่มสูงเป็นพิเศษในช่วงเดือนสุดท้ายของปี เพื่อรับสิทธิประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจ เป้าหมายในการเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมในระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้ายของปี โดยเน้นการออกโครงการส่งเสริมการขายที่จูงใจระหว่างธนาคารพาณิชย์และบริษัทประกันพันธมิตร รวมถึงกลยุทธ์การขายข้ามและขายพ่วงผลิตภัณฑ์ต่างๆ
แม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะยังคงมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ก็ลดลงจากเดิม เนื่องจากให้น้ำหนักกับทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ที่ตอบสนองต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าคาดในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา และอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีกในอนาคต โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้าย ส่งผลให้ประกันชีวิตลดความน่าดึงดูดใจลง รวมถึงการขายประกันผ่านช่องทางธนาคารหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ลูกค้าจะเปรียบเทียบผลตอบแทนระหว่างการทำประกัน การฝากเงิน และการลงทุนผ่านกองทุนรวม โดยผลตอบแทนจากการทำประกันแบบที่ขายผ่านธนาคารอยู่ที่ประมาณ 2-3% ต่ำกว่าแบบประกันชีวิตที่ขายผ่านช่องทางอื่น เนื่องจากมักเป็นการประกันระยะสั้นเพียง 10-15 ปี ขณะที่บางธนาคารเริ่มออกผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำพิเศษที่ให้ดอกเบี้ยสูงถึง 3% ส่วนกองทุนรวมต่างก็เร่งออกกองทุนใหม่ ๆ เพื่อชดเชยการไถ่ถอนหน่วยลงทุนที่ครบกำหนดในปีนี้ โดยประเมินอัตราผลตอบแทนที่คาดว่าผู้ลงทุนจะได้รับสำหรับกองทุนความเสี่ยงต่ำในอัตราไม่ต่ำกว่า 2-3%
|
|
|
|
|