เอทีแอนด์ทีเป็นชื่อย่อของบริษัท AMERICAN TELEPHONE & TELEGRAPH บริษัทที่มีข่ายงานด้านการสื่อสารที่ใหญ่โตที่สุดในสหรัฐอเมริกา และเป็นกลุ่มบริษัทข้ามชาติ
(MULTI-NATIONALS) ที่กำลังก้าวเข้ามายึดขอบข่ายการสื่อสารในแถบประเทศกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยในทุกวันนี้อย่างแข็งขัน
นอกเหนือจากการชนะประมูลเป็นผู้จัดพิมพ์และโฆษณาในสมุดโทรศัพท์ทั้งหน้าขาวและหน้าเหลืองขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นก้าวแรกของเอทีแอนด์ทีแล้ว ก้าวที่ 2 ของเอทีแอนด์ทีก็คือการเข้าไปซื้อโรงงานผลิตแผงวงจรไฟฟ้า
(INTEGRATED CIRCUIT) หรือที่เรียกกันว่าแผงไอซี จากยักษ์ใหญ่บริษัทฮันนี่เวลล์
โดยเอทีแอนด์ทีจะลงทุนเพิ่มเติมในโรงงานในประเทศไทยระยะ 5 ปี แรกนี้ประมาณ
950 ล้านบาท และคงจะมากกวา 1,000 ล้านบาท ในโรงงานของฮันนี่เวลล์เดิมที่สิงคโปร์
ฮันนี่เวลล์เป็นบริษัทคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่บริษัทหนึ่งของโลก มีกิจการด้านการผลิตและจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการควบคุมการผลิตสินค้าต่าง
ๆ มีชื่อเสียงมาก แต่เผอิญในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ ฮันนี่เวลล์ประสบปัญหาด้านการตลาดและการเงินอย่างมาก ก็เลยทำให้ฮันนี่เวลล์ต้องขายกิจการในประเทศญี่ปุ่นให้กับบริษัท
เอ็นอีซี ก่อนหน้าที่จะขายกิจการผลิตแผงไอซีในประเทศไทยและสิงคโปร์ให้กับเอทีแอนด์ทีอย่างที่กล่าวไปแล้ว
เอทีแอนด์ทีมีความเคลื่อนไหวในประเทศไทยอย่างมากนับตั้งแต่ปลายปี 2527
เป็นต้นมา คือตั้งแต่เรื่องการจัดทำสมุดโทรศัพท์ จนมาถึงการเข้าเทกโอเวอร์โรงงานของบริษัทฮันนี่เวลล์
และค่อนข้างเป็นเรื่องที่แน่นอนว่าเอทีแอนด์ทียังจะต้องมีก้าวต่อไปและต่อไปเรื่อยๆ
ผู้สันทัดกรณีหลายคนต่างก็คาดการณ์ไปในหลายทาง เกี่ยวกับก้าวต่อไปของเอทีแอนด์ที
ซึ่งที่ค่อนข้างจะเห็นตรงกันมากก็คือความเชื่อที่ว่า เอทีแอนด์ทีจะก้าวเข้ามาในวงการไมโครคอมพวิเตอร์
เพราะในช่วงหลายเดือนมานี้เอทีแอนด์ทีมีการติดต่อกับผู้ขายคอมพิวเตอร์หลายรายในบ้านเรา
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มศรีกรุงวัฒนา กลุ่มคอมพิวเตอร์ยูเนียน กลุ่มสหวิริยา และกลุ่มบริษัทล็อกซเล่ย์ซึ่งขายเครื่องของเอทีแอนด์ทีในชื่อโอลิเวตตี้อยู่ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ที่จะก้าวก็คงต้องก้าวกันไป เพียงแต่บางก้าวที่ก้าวไปแล้วก็คงมีบางปัญหาจะต้องให้เอทีแอนด์ทีตามแก้พร้อมๆ
ไปด้วย
โดยเฉพาะในก้าวแรกเรื่องการจัดทำสมุดโทรศัพท์
ก็คงจะแน่นอนแล้ว ที่ในเดือนกรกฎาคมปี 2529 นี้เราก็คงจะได้เห็นสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์โผล่อกมา
2 ชุด จัดทำโดย 2 บริษัท คือชุดของเอทีแอนด์ทีผู้ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ จากองค์การโทรศัพท์ และชุดสมุดธุรกิจหน้าเหลืองของบริษัทจีทีอีหรือเยนเนราลเทเลโฟน
ไดเรคตอรี่ คัมปะนี (ประเทศไทย) เจ้าเก่า ซึ่งเคยเป็นผู้จัดทำสมุดโทรศัพท์มานานกว่า
17 ปี ซึ่งพลาดท่าเสียตำแหน่งไปให้กับเอทีแอนด์ทีเมื่อปีนี้เอง
จีทีอี ลงทุนโฆษณาอย่างต่อเนื่องในหนังสือพิมพ์ทั้งรายวันและรายสัปดาห์ว่า
ตนนั้นจะดำเนินธุรกิจการจัดพิมพ์สมุดหน้าเหลืองต่อไป พร้อมกับหมายเหตุป้องกันตัวไว้ด้วยว่า
“สมุดธุรกิจเยลโล่เพจเจสของจีทีอีเป็นสมุดธุรกิจอิสระไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ
กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์”
แต่ถึงจะออกตัวไว้อย่างไรก็คงทำให้เอทีแอนด์ทีอภัยให้ไม่ได้อยู่ดี เพราะอย่างไรเสียก็จะต้องมีการแย่งตลาดโฆษณาในสมุดหน้าเหลืองกันแน่ๆ
ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้อยู่แล้ว
เอทีแอนด์ทีก็เลยต้องตอบโต้บ้าง
ก็ที่ข้างๆ โฆษณาของจีทีอีในหน้าหนังสือพิมพ์นั่นแหละ ที่ผู้อ่านจะได้เห็นโฆษณาของเอทีแอนด์ทีออกมาเตือนว่า
“หยุดก่อน อย่าด่วนตัดสินใจเกี่ยวกับการลงโฆษณาในสมุดโทรศัพท์หน้าเหลืองจนกว่าจะได้อ่านข้อความข้างล่างนี้”
ข้อความต่อจากนั้นก็คงเดาออกกระมัง ถ้าไม่แน่ใจก็ลองพลิกหนังสือพิมพ์ฉบับเก่า ๆ
ดูก็ได้ หรืออาจจะเป็นฉบับที่วางแผงปัจจุบัน
เอทีแอนด์ทีพยายามผลักดันให้องค์การโทรศัพท์เป็นผู้แก้ปัญหานี้ และฝ่ายกฎหายของเอทีแอนด์ทีก็พลิกตำรากฎหมายกันให้วุ่นไปหมด
เพื่อที่จะยับยั้งการกระทำของจีทีอี แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรคืบหน้ามาก
เห็นทีจะต้องให้ตลาดเป็นผู้ตัดสินเสียแล้วสำหรับเรื่องนี้