สถาบันการศึกษานั้นเป็นตลาดใหญ่ตลาดหนึ่งที่ผู้ขายไมโครคอมพิวเตอร์ให้ความสนใจกันมาก
ยิ่งถ้าเป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงก็ดูเหมือนว่าจะยิ่งต้องให้ความสนใจกันมากขึ้น
และหากเป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงซึ่งมุ่งผลิตบุคลากรเพื่อเข้าไปเป็นนักบริหารในภาคธุรกิจอย่างเช่นสถาบันที่มีโครงการ
MBA ด้วยแล้วก็เห็นทีจะต้องให้ความสนใจกันเป็นพิเศษมากขึ้นไปอีกเป็นเงาตามตัว
เหตุผลก็อธิบายไม่ยาก คือใครก็ตามเมื่อได้เคยฝึกการใช้งานกับเครื่องยี่ห้อใดก็มักจะมีความชำนิชำนาญเป็นพิเศษกับเครื่องยี่ห้อนั้น
เรียนจบออกไปกลายเป็นผู้บริหารแล้วก็อาจจะซื้อเครื่องนี่ห้อที่เคยใช้มาใช้ต่อไป หรือไม่เช่นนั้นก็ให้องค์กรของตนซื้อไว้ใช้บ้างก็เป็นได้
เรียกว่าเป็นการขยายตลาดทางอ้อม
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ตัวเครื่องเองก็จะต้องมีประสิทธิภาพที่ดีด้วย ไม่ใช่เครื่องประเภทที่ผู้ใช้ใช้แล้วต้องประกาศตัดญาติจนกว่าจะตายจากกันไปข้างหนึ่ง
เมื่อสถาบันการศึกษาเป็นตลาดที่ผู้ขายไมโครคอมพิวเตอร์ทั้งหลายให้ความสนใจนี่เอง
จึงได้มีผู้ขายจำนวนถึง 20 รายเสนอตัวเข้าแข่งขันในการประกวดราคาซื้อเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจะนำเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวไปใช้ในโครงการสอน
MBA และ MINI MBA ของคณะ
ในจำนวนผู้ขายไมโครคอมพิวเตอร์ทั้ง 20 รายนี้ก็เช่น บริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทยตัวแทนจำหน่ายไอบีเอ็ม
พีซี บริษัทคอมพิวเตอร์แมเนจเม้นท์หรือซีเอ็มแอล เสนอไอบีเอ็ม พีซี เหมือนกัน
บริษัทแอคชั่นคอมพิวเตอร์ บริษัทสหวิริยาฯ และบริษัทตัวแทนจำหน่ายไมโครคอมพิวเตอร์ของคาสิโอ
เป็นต้น
สำหรับรายของสหวิริยาฯ นั้นเข้าทีเดียว 2 บริษัท คือ บริษัทสหวิริยา อินฟอร์เทค เสนอเครื่องยี่ห้อมัลติเทค
และบริษัทสหวิริยา อินเตอร์เนชั่นแนล เสนอเครื่องยี่ห้อวีนัส
การประกวดราคานี้ธรรมศาสตร์บอกไว้ชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยมีงบประมาณอยู่เพียง
3 ล้าน 7 แสนบาท เพราะฉะนั้นนอกจากจะต้องเสนอตามสเปกที่คณะฯ ต้องการแล้วก็ขอให้อยู่ในงบที่กำหนดไว้ด้วย
หลังจากคณะกรรมการประกวดราคาตรวจตราข้อเสนอของทั้ง 20 รายอย่างละเอียดแล้ว
ก็มีมติให้มีการพิจารณาข้อสเนอของบริษัทค้าสากลซิเมนต์กับข้อเสนอของบริษัทสหวิริยาอินฟอร์เทคเพียง
2 ราย นอกนั้นถือว่าตกรอบหมด
ค้าสากลซิเมนต์หมายมั่นปั้นมือกับผลงานชิ้นนี้มากเพราะโครงการ MBA ที่คณะพาณิชย์ศาสตร์ฯ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค้าสากลซิเมนต์ก็คว้าตำแหน่งชนะเลิศมาแล้ว หากได้ธรรมศาสตร์อีกแห่งก็เรียกว่าคุมโครงการ
MBA ในประเทศไทยไว้แล้วเกือบครึ่ง
ข้อเสนอของค้าสากลซิเมนต์ก็เลยเป็นข้อเสนอที่จะให้ไอบีเอ็ม พีซี ทั้งหมด
20 ชุด พร้อมกับมี HARD DISK ให้อีก 4 ตัว มูลค่าทั้งหมด 3 ล้าน 4 แสนบาท
ต่ำกว่างบประมาณที่ตั้งไว้อีกด้วย
สำหรับผู้ที่อยู่วงในก็ยืนยันว่า การประกวดราคาครั้งนี้ค้าสากลซิเมนต์ไม่หวังกำไรเลยแม้แต่เพียงบาทเดียวคือต้นทุนมาแค่ไหนก็เสนอให้ไปแค่นั้น
ทั้งนี้ก็ด้วยความที่อยากให้ผลงานชิ้นนี้นั่นเอง
ซึ่งที่จริงผู้ชนะก็น่าจะเป็นค้าสากลซิเมนต์อยู่หรอกหากการประกวดราคาคราวนี้ไม่มีสหวิริยาฯ เข้าร่วมด้วย
สหวิริยาฯ เสนอเครื่องยี่ห้อมัลติเทคให้ 30 ชุด HARD DISK อีก 10 ตัว (บ้างก็ว่าให้ครบทั้ง
30 ตัว) ส่วนราคานั้นก็ 3 ล้าน 4 แสนบาท เท่ากันกับค้าสากลซิเมนต์
พูดง่ายๆ ก็คือเสนอกันแบบทุ่มให้สุดตัว จะมีกำไรหรือไม่นั้นไม่ต้องถาม
ข้อเสนอของสหวิริยาฯ ก็เลยเฉือนข้อเสนอของค้าสากลซิเมนต์ไปด้วยประการฉะนี้