เรื่องอัตราดอกเบี้ยที่เกี่ยงกันทุกครั้งว่าจะให้แบงก์ชาติประกาศลดให้หรือธนาคารพาณิชย์ลดกันเอง
ทำไมไม่จบสิ้นเสียที
ผมเองเห็นว่าระบบการเงินของเรา การที่จะเปลี่ยนไปสู่ระบบ “อัตราดอกเบี้ยลอยตัว”
นั้น โดยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์บางแห่งเป็น “ลีดแบงก์” นำการลดดอกเบี้ยก็คงจะยากที่จะดำเนินการ
เพราะเหตุว่าระบบธนาคารพาณิชย์ของเราต้องยอมรับว่าประชาชนผู้ฝากเงินนั้นเขาไม่ได้ดูว่าธนาคารใดมีฐานะอย่างไร เพียงแต่ดูประเด็นเดียวว่าธนาคารใดให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงหรือต่ำ
ปัญหาเรื่องนี้มันเห็นได้ชัดในกรณีสาขาธนาคารในต่างจังหวัด ในกรุงเทพฯ
นี่การแข่งขันในเรื่องการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ทำให้ดอกเบี้ยอาจจะแตกต่างกันได้บ้าง
เพราะเขามีบริการที่เป็นดอกเบี้ยซ่อนเร้นเช่น เอ.ที.เอ็ม. เครดิตการ์ดหรืออะไรต่างๆ ในต่างจังหวัดสาขาของธนาคารตั้งอยู่คนละฝั่งถนน ถ้าธนาคารหนึ่งให้ดอกเบี้ยร้อยละ
12 อีกธนาคารหนึ่งให้ร้อยละ 12.5 อีกธนาคารให้ร้อยละ 13 ต่างกันแค่ร้อยละ
.5 ก็พอที่จะเปลี่ยนบัญชีได้แล้ว
ในภาวะเป็นจริงมันเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นการที่จะดำเนินการอะไรต้องมีคนชี้นำ
มีคนนำ จึงจะทำให้เกิดการดำเนินการในลักษณะที่เป็นระเบียบพร้อมเพรียงกัน
อันนี้ธนาคารพาณิชย์เขาก็หวังให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้นำ
ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยืนยันว่าเราไม่ออกประกาศ ที่จะปรับอัตราดอกเบี้ย
การไม่ออกประกาศนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทำให้ดอกเบี้ยขึ้นลงอย่างเป็นระเบียบเสมอกัน
ทำได้ ผมคิดว่าแบงก์ชาติทำได้ เพราะมีหลายมาตรการที่แบงก์ชาติออกไปโดยไม่ได้อาศัยอำนาจกฎหมายก็มี
อยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่า โอ.เค. เห็นสมควรจะต้องลดดอกเบี้ย ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว
มีการติดตามดูแลให้เป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม ก็คิดว่าคงคุ้ม
คือการลดดอกเบี้ยนั้นอาจจะมีการเหลื่อมบ้าง มีการแข่งขันเรื่องดอกเบี้ยเล็กน้อย
แต่จะต้องไม่ถึงกับเสียหายต่อฐานะของธนาคาร อย่างนี้เราคงปล่อยให้ทำ แต่หากว่าเป็นการแข่งขันกันจนกระทั่งธนาคารเล็กรับเงินฝากเข้าไปมากมาย
อย่างนี้เสียหาย เพราะสภาพการเงินขณะนี้ใครยิ่งรับเงินฝากมาก ฐานะก็ยิ่งขาดทุนเพราะไปปล่อยต่อลูกค้าไม่ได้
เราในฐานะที่รู้ฐานะการเงินของธนาคาร รู้ฐานะรายได้รายจ่าย ว่าต้นทุนสูงขึ้นรายได้เป็นอย่างไร
เช่น เงินฝากรับมาเยอะแยะเลย แต่เงินกองทุนมีกำลังอยู่ไม่มาก ปล่อยกู้ก็ไม่ได้
ติดอัตราส่วนระหว่างเงินกองทุนกับสินทรัพย์เสี่ยง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องไปบอกว่าคุณกำลังดำเนินนโยบายการเงินที่ผิด
แบงก์ชาติก็ต้องเข้าแทรกแซง
ดังนั้นแบงก์ชาติจึงต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำในการลดดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่ง
ก็หมายถึงว่ามีการเจรจากันแล้วเห็นว่าควรจะลดดอกเบี้ย และลดเท่าไหร่ ถ้าหากเราเห็นด้วยเราก็คงให้สัญญาณออกไปในลักษณะปรับอัตราดอกเบี้ยในส่วนที่ทางการเกี่ยวข้อง
สัญญาณอันนี้มันก็จะเป็นตัวบอกอย่างชัดเจน
ที่ผ่านมามีเสียงบ่นว่าแม้แบงก์ชาติจะเป็นตัวนำในการลดดอกเบี้ยแล้ว ก็มีเสมอที่บางแบงก์ไม่ทำตาม
ก็มีเสียงบ่นบ้าง แต่ก็ไม่ได้ถึงกับมากมาย คืออาจจะมีสาขาต่างจังหวัดบางแห่งที่อาจจะฝ่าฝืนบ้าง
ไม่อย่างนั้นลูกค้ารายใหญ่ของเขาต้องหลุดไป อาจจะมีบ้างผมก็ยังไม่ยืนยัน แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องทำกันอย่างเปิดเผย
เช่น ประกาศว่าโอนมาแบงก์นี้ผมให้ 13 เปอร์เซ็นต์ ที่เปิดเผยก็คือทุกแบงก์ที่ส่งประกาศมาให้เราก็คือ
12.5 เปอร์เซ็นต์ การที่ทำเป็นกรณีนี่นะ ต้องยอมรับความจริงว่าแม้จะมีอัตราดอกเบี้ยสูงสุด
13 เปอร์เซ็นต์ ก็มีการทำอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องบ่นมันจึงมีมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ
ที่ธนาคารพาณิชย์บอกว่าเงินล้นเป็นเพราะปล่อยกู้ไม่ออก หรืออัตราดอกเบี้ยต่างประเทศมันต่ำมาก
ก็ทั้ง 2 เหตุผลประกอบกัน คือการขยายเงินให้กู้ยืมปีนี้ต่ำมากคือเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายนอัตราก็ยังเพิ่มเฉลี่ยปีละ 14 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่เงินฝากเพิ่มขึ้น 18 เปอร์เซ็นต์ เห็นได้ชัดๆ ว่าเงินฝากเพิ่มมากกว่าทำให้เงินฝากส่วนหนึ่งปล่อยไม่ได้
ก็เป็นสภาพคล่องส่วนเกิน การที่เงินกู้ยืมเพิ่มน้อยเพียง 14 เปอร์เซ็นต์
ก็เนื่องมาจากธุรกิจต่างๆ ซบเซา การลงทุนลดน้อยลง ความต้องการกู้ยืมก็น้อยอันนี้เป็นสาเหตุประการแรก
สาเหตุประการที่ 2 คือว่าธุรกิจขนาดใหญ่ที่สามารถกู้ยืมเงินจากต่างประเทศเขาก็หันไปกู้จากต่างประเทศ
เห็นได้ชัดว่าตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมาเงินกู้ยืมจากต่างประเทศเข้ามาเดือนหนึ่ง
4-5 พันล้านบาท ตอนต้นปีช่วงที่ดอลลาร์สหรัฐมันแข็งขึ้นมาก อัตราแลกเปลี่ยนมีความไม่แน่นอน
แต่ดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งตัว ช่วงนั้นเงินมันไหลออก พอเดือนมีนาคมแนวโน้มมันเริ่มเปลี่ยน
มีการนำเข้าทุนของภาคเอกชน 6.5 พันล้านบาท เดือนพฤษภาคมอีก 5 พันล้านบาท
เหตุที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะดอลลาร์อ่อนตัวลง แนวโน้มมันกลับตรงกันข้ามแต่ก่อนมีแต่แนวโน้มจะขึ้น
เพราะฉะนั้นคนที่กู้เข้ามาก็มีทางได้ประโยชน์ คือ กู้เข้ามาตอนดอลลาร์ละ
27.70 บาท แต่เวลาใช้คืนอาจจะเหลือ 27 บาท ก็ได้กำไรคนก็เลยกู้เข้ามามาก
อัตราแลกเปลี่ยน เปลี่ยนไปในทางที่ชักจูงให้คนกู้เข้ามา
อีกอย่างหนึ่งคือผู้กู้รายใหญ่เริ่มเข้าใจการกู้เข้ามาแบบ “บาสเกต”
ธนาคารพาณิชย์ก็ออกประกาศมาเลยว่าลูกค้าคนไหนต้องการกู้แบบ “บาสเกต”
เขาก็พร้อมที่จะให้คำแนะนำ เพื่อจะลดความเสี่ยง
เช่น อาจจะกู้เป็นเงินดอลลาร์ 50 เปอร์เซ็นต์ เงินเยน 30 เปอร์เซ็นต์
เงินมาร์ก 20 เปอร์เซ็นต์ อะไรทำนองนี้ อย่างธนาคารไทยพาณิชย์เขาก็มีสูตรของเขา เช่น ดอลลาร์
60 เปอร์เซ็นต์ เงินมาร์ก 10 เปอร์เซ็นต์ เงินเยน 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ทั้งหมดนี้เป็นการกู้ยืมเป็นเงินตราต่างประเทศอย่างน้อย 3 สกุล ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมันลดลงเหลือแค่ 1-2 เปอร์เซ็นต์ อัตราเสี่ยงแค่นี้เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่างประเทศที่เขาคิดแค่
8 เปอร์เซ็นต์ บวกมาร์จินสัก 1.5 เปอร์เซ็นต์ เสียจริงๆ แค่ 10-11 เปอร์เซ็นต์
มันถูกกว่ากู้ในประเทศตั้งเยอะ บวกความเสี่ยง 1-2 เปอร์เซ็นต์ก็ยังถูกกว่า
อันนี้เป็นผลทำให้เงินมันเหลือ ยิ่งสภาพปัจจุบันยิ่งเห็นได้ชัดเพราะดอลลาร์ยิ่งอ่อนตัวลง
เงินกู้ยืมจากต่างประเทศก็จะยิ่งเข้ามามากยิ่งขึ้น เพราะผู้ที่กู้เข้ามาไม่จำกัดเฉพาะผู้กู้รายใหญ่เท่านั้น
แม้แต่ผู้กู้ขนาดย่อมก็เริ่มเรียนรู้วิธีการกู้จากต่างประเทศกันแล้ว
ด้านในประเทศเนื่องจากธุรกิจไม่ค่อยดี ความต้องการกู้ยืมเงินจึงน้อย รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ไม่อยากจะเสี่ยงคือไม่อยากเร่งการปล่อยกู้
ถ้าแบงก์พาณิชย์ต้องการปล่อยกู้เขาบอกสาขาเขาแป๊บเดียวก็เรียบร้อย
ลดดอกเบี้ยในประเทศลงมาแค่ไหนจึงจะพอแก้ไขภาวะที่ว่านี้
ดอกเบี้ยอย่างเดียวคงไม่ช่วยแก้ภาวะการลงทุนให้ดีขึ้น ภาวะการลงทุนมันขึ้นอยู่กับเราขายสินค้าออกหรือเปล่า
เวลานี้ราคาพืชผลเกษตรก็ตกต่ำ กำลังซื้อจึงแย่ ดอกเบี้ยจะช่วยตรงที่ว่าถ้าดอกเบี้ยลดลงต้นทุนที่เขากู้ยืมก็ลดลงตาม
ทำให้ผู้ลงทุนที่ทำธุรกิจอยู่แล้วมีกำลังใจ เป็นผลทางจิตวิทยา ตัวมันเองไม่ใช่ว่าลดดอกเบี้ยแล้วทุกอย่างสดใสซาบซ่า
ทุกคนตอนนี้มองมาแต่แบงก์ชาติว่าทำอะไรแล้วจะช่วยได้ทันที มันไม่ใช่
จะอย่างไรก็คงไม่ถึงระดับดอกเบี้ยเงินฝากลดลงเหลือแค่ 9 เปอร์เซ็นต์ และเงินให้กู้เหลือ
14 เปอร์เซ็นต์ อย่างที่แบงเกอร์บางคนพูด
(หัวเราะ) คงไม่ถึงขนาดนั้น คือธุรกิจธนาคารพาณิชย์ขณะนี้ผมคิดว่การยอมขาดทุนในเรื่องส่วนต่างดอกเบี้ย
การขาดทุนที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงการขาดทุนติดลบ แต่เป็นการขาดทุนกำไรในช่วงนี้ดีกว่าทำให้คุณภาพหนี้เสียไป
เพราะอันนั้นทำให้เสียต้นไปด้วย กิจการธนาคารพาณิชย์อาจจะมีรายได้หดตัวไประยะหนึ่ง
แต่ถ้าทำให้ธุรกิจและลูกค้าดีขึ้น ในที่สุดเงินก็ไหลเงินก็จะไหลกลับเข้ามาในระบบอีก
ดีกว่าอยู่ในสภาพเงินล้นแบงก์ที่ต้องแบกภาระดอกเบี้ยเงินฝาก
ปีก่อนพยายามคุมสินเชื่อไม่ให้ขยายเกิน 18 เปอร์เซ็นต์กลับเกิน ปีนี้ไม่คุมแต่ก็ไม่ถึง
(หัวเราะ) ต่ำกว่า 18 อีกปีนี้ แค่ 13-14 เท่านั้น (หัวเราะ) อย่างไรก็ตาม เรื่องดอกเบี้ยเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เกิดผลในทางกระตุ้น
คือถ้าลดลงมาแยะหน่อยผลมันก็จะแยะ อันนี้ถูกต้อง ในแง่ธนาคารพาณิชย์อาจจะมองว่าต้องการกระตุ้นการลงทุน
ถ้าวัตถุประสงค์อยู่ที่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็แน่ชัด ใช้วิธีลดดอกเบี้ยและใช้เต็มที่
แต่ในแง่ของเราเราต้องดูว่า โอ.เค.กระตุ้นการลงทุน ในขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังทางด้านการออมด้วย
ว่าประชาชนเขาจะเกิดผลกระทบอย่างไร ถ้าดอกเบี้ยเงินฝากลดลงมากๆ ทำให้การระดมเงินฝากเกิดปัญหาขึ้นเหมือนอย่างเมื่อปี
2523 ที่เงินฝากไม่เพิ่มจนต้องมีการประกาศเพิ่มดอกเบี้ย (ดอกเบี้ยเงินฝากจากร้อยละ
9 เป็นร้อยละ 12)
หากยามันแรงไปมันมีทั้งผลลบผลบวก คิดว่าผลบวกเราก็พอมองเห็น เพราะถ้าดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเหลือ
14 เปอร์เซ็นต์ อันนี้ผลมันแน่นอน อาจจะมีการขยายการลงทุนกันมาก ธุรกิจต่างๆ ขยายตัว ผลที่ตามมาก็คือการสั่งสินค้าเข้าเกิดปัญหาการขาดดุลการค้าอีก
เพราะฉะนั้นเราจึงพยายามดูว่าลดแค่ไหนจึงจะเหมาะแก่การกระตุ้นการลงทุน
คือจะลดพรวดเดียว 4-5 เปอร์เซ็นต์ แม้แต่เกาหลีที่เขาลดลงแยะ ที่ผมไปดูเมื่อไม่กี่เดือนก่อนเขาลดจากดอกเบี้ยเงินกู้ 17 เปอร์เซ็นต์ เขาลดเหลือแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ เขายังต้องลดถึง 4-5 จังหวะ
เขาก็ไม่ได้ลดทีเดียว ขนาดเขาเป็นประเทศเผด็จการเด็ดขาด
การที่ค่อยๆ ลดดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้นเป็นวิธีการที่รอบคอบ แต่ก็มีผลเสียที่ว่าคนกู้เงินไปลงทุนอาจจะคิดว่าถ้าเป็นอย่างนั้นจริงอย่าเพิ่งกู้เลย
รอให้ลงอีกรอบดีกว่า ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น