พลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ วัย 53 ในด้านทั่วไปนั้นมักจะรู้จักในฐานะเป็นผู้คุมกำลังสำคัญและชอบ
“เอ็กเซอร์ไซส์” เป็นผู้ที่ชัดเจนตรงไปตรงมา คิดอย่างไรก็เจรจาออกมาอย่างนั้น
ในชั้นต้นเนื่องจากชีวิตส่วนใหญ่ของพลโทพิจิตรอยู่ในสนามรบ ทำให้เป็นคน
“สะอาด” ทั้งจากการเมืองและผลประโยชน์ทั้งปวง แต่เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนไป
สภาพแวดล้อมเปลี่ยนจากสนามรบทางการทหารมาเป็นสนามรบทางการเมือง ทำให้เป็นเรื่องยากที่หลุดพ้นจากอำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์ที่พยายามวิ่งเข้ามาพัวพันและแอบอิง
นับวันจะทำให้ “วงนอก” ที่เข้าไปแวดล้อมพลโทพิจิตรอยู่นั้นมีลักษณะที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น
ไม่ว่าพลโทพิจิตรจะรู้ตัวหรือไม่แต่พวกเขาเหล่านั้นก็อ้างว่ามีศูนย์กลางอยู่ที่พลโทพิจิตรแต่ผู้เดียว
กับผู้บังคับบัญชานั้น พลโทพิจิตรมีแต่เคารพและเชื่อฟัง โดยเฉพาะถ้าผู้บังคับบัญชานั้นมีคุณธรรม
ผู้ใกล้ชิดหลายคนยืนยันตรงกันว่า การกระทำที่เป็นปรากฏการณ์แสดงออกมาทุกครั้งนั้น
พลโทพิจิตรไม่เคยกระทำโดยพลการมักจะเป็น “คำสั่ง” หรือผ่านการปรึกษาหารือในบางระดับแล้ว
และมักจะอดไม่ได้ที่จะแสดงความคิดเห็น เมื่อเห็นราษฎรเดือดร้อนอยู่ตำตา
แต่ด้วยความเป็นคนโผงผาง ขาดจิตวิทยาทางการเมือง ทำให้มีคนรักก็มาก คนไม่ชอบหน้าก็มาก
คนรักนั้นมักจะเป็นคนใกล้ชิดได้เห็นธาตุแท้หรือร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาในสนามรบส่วนคนไม่ชอบหน้านั้น
ส่วนใหญ่วิจารณ์จากปรากฏการณ์ จนถึงขั้นถูกข้อกล่าวหาว่า มีลักษณะของผู้นำ
“อำนาจนิยม” เต็มเปี่ยม แม้เจ้าตัวจะบอกว่าไม่ใช่ แต่คนเขาเชื่อกันเช่นนั้นแล้ว
ก็นับว่าแก้ไขยากอยู่
ต่อผู้ใต้บังคับบัญชานั้นพลโทพิจิตรให้ความรักใคร่อย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นพวกที่ยังทำงานร่วมกันอยู่หรือที่หลุดออกไปนอกกองทัพด้วย
“อุบัติเหตุทางการเมือง”
มีผู้วิจารณ์ให้ฟังเสมอว่า พลโทพิจิตรนั้นยังขาดความละเอียดอ่อนและลึกซึ้งทางการเมืองอยู่มาก
และความจริงใจที่มอบให้เขาอื่นชนิดเต็มเปี่ยมสุดจิตสุดใจนั้น ทำให้เกิดความพลาดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน
และถ้าจะพิจารณาในฐานะคนทำงานด้านการข่าวคนหนึ่ง ก็ต้องบอกว่าพลโทพิจิตรอ่อนด้านการข่าวอยู่มาก
มักจะถูกล็อบบี้หรือโอบล้อมด้านการข่าวทางใดทางหนึ่งเสมอทำให้ล้าหลังสถานการณ์
ถ้าเป็นคนอื่นคงไม่เติบโตมีอนาคตเท่านั้น แต่นี่ดีที่มีผู้เคารพนับถือในความจริงใจ
ในความรักที่มีต่อชาติ ต่อราษฎร และต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างยิ่ง ทำให้รอดปลอดภัยมาจนถึงทุกวันนี้
ในสถานการณ์ที่ความซับซ้อนทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ย่างเข้าสู่วิกฤตมีความต้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองลึก
มีข่าวลือเกี่ยวกับการรัฐประหารออกมาเป็นระยะ พลโทพิจิตรก็กลายเป็นพระเอกข่าวลือในการก่อการนั้นเสมอ
ครั้งแล้วครั้งเล่า จนครั้งหนึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสพบก็ได้คำตอบที่ชัดเจนในตัวของมันเอง
นั่นคือ “ตายในสนามรบดีกว่าทำรัฐประหารเพียงเพื่อป้องกันตนเอง”
แต่มาถึงเดือนสิงหาคมนี้ พลโทพิจิตรก็ยังคงสถานะของพระเอกข่าวลือคนสำคัญอยู่ไม่ว่าในแง่ความสัมพันธ์กับกลุ่มยังเติร์กหรือความสัมพันธ์กับขั้วที่เหมือน
“น้ำกับน้ำมัน” อย่างกลุ่มของประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ซึ่งประเด็นแรกนั้นมีความเป็นไปได้
เพราะความสัมพันธ์ระหว่างพี่ “น้อง” ซึ่งฝังรากยาวนาน แต่ประเด็นหลังนั้น
ผู้ใกล้ชิดยืนยันว่า “เป็นการปล่อยข่าว” เพราะพลโทพิจิตรกับปีกซ้ายหรือซ้ายในขวานั้น
ยากที่จะร่วมมือกันไม่ว่าจะเฉพาะกิจหรืออย่างไรแต่ก็มีผู้พิจารณาว่า อาจจะเป็นการพาดพันสายและอ้างถึงพลโทพิจิตร
โดยที่พลโทพิจิตรนอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็นก็เป็นได้
ในระยะหลังนั้น พลโทพิจิตรมักจะมีความเห็นหรือแสดงความห่วงใยในปัญญาเศรษฐกิจหลายปัญหานั้น
ก็มีการติดตามข่าวกันอย่างกระชั้นชิดว่า ใครกันหนออยู่เบื้องหลังของพลโทพิจิตร
ก็ได้รับคำยืนยันอีกนั่นแหละว่า พลโทพิจิตรยังไม่มีที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการ
เพราะหากตั้งอย่างเป็นทางการจะทำให้มีแนวเด่นชัด แต่จะเป็นการ “ล้อมกรอบความคิด”
จนเกินไป จึงใช้ท่าทีรับฟังจากหลายด้านเข้าว่า ยืนยันว่า มีความมักคุ้นกับตามใจ
ขำภโต ผู้จัดการธนาคารกรุงไทย โดยพ้นไปทางพันเอกพล เริงประเสริฐวิทย์ หรือวีรพงษ์
โพธิ์พักตร์ คนเก่าของกลุ่มพีเอสเอ หรือนักกฎหมายอย่างรัฐมนตรีมีชัย ฤชุพันธ์
แต่บุคคลเหล่านี้ไม่มีใครมีอิทธิพลเหนือความคิดรวบยอดของพลโทพิจิตรอย่างแท้จริง
“ผมยืนยันได้ว่า คนนี้ไม่มีใครมีอิทธิพลเหนือได้” ผู้ใกล้ชิดที่สุดผู้หนึ่งกล่าว
พลโทพิจิตรชอบร้องเพลงเหมือนกัน โดยเฉพาะรอบกองไฟที่เขาค้อ - ดินแดนที่ตนรักเป็นพิเศษ
ไม่สูบบุหรี่ แต่ชอบทำให้ตนเองครึ้มด้วย เจ.แอนด์.บี. แต่นั่นก็ขึ้นกับกาละและโอกาสว่าจะต้องการครึ้มขนาดไหน
พระห้อยคอคือ สมเด็จจิตรลดา ซึ่งไม่เพียงห้อยคอเท่านั้น แต่ยังเทิดไว้เหนือหัวอีกด้วย