“คุณรู้ไหมว่าปัญหาของบ้านเมืองในขณะนี้ที่สำคัญที่สุดคืออะไร”
เจ้าของคำถามข้างต้นคือ พลโทชวลิต ยงใจยุทธ หรือ “บิ๊กจิ๋ว” นั่นเอง
ท่าทางร่าเริง เสมือนหนุ่มใหญ่เจ้าสำราญติดจะขี้เล่นนิดๆ นั้นแลไม่เห็นเมื่อคำถามข้างต้นหลุดจากปาก
เมื่อได้คำตอบเจ้าของคำถามก็ทวนคำ “ใช่ ปัญหาเศรษฐกิจ”
แต่ก็เจ้ากรรมที่การรับรู้ทางตรงสำหรับทัศนะของพลโทชวลิตด้านเศรษฐกิจนั้นไม่อาจรับรู้เป็นข้อมูลชั้นหนึ่งได้ ทัศนะหลักๆ
ที่นำเสนอครั้งนี้ส่วนใหญ่จึงเป็นข้อมูลชั้นสองผสมกับข้อมูลชั้นหนึ่งบ้างเป็นบางตอนสอดแทรกเท่านั้น
มาพิจารณาในคำกล่าวของพลโทชวลิตที่ว่า ปัญหาสำคัญยิ่งของประเทศไทยในสถานการณ์ปัจจุบันคือ
ปัญหาเศรษฐกิจนั้น จากการติดตามความคิดของพลโทชวลิตทั้งทางตรงและผ่านบุคคลอื่น
พอจะกล่าวได้ว่า พลโทชวลิตมิได้มองแต่ปัญหาในเฉพาะหน้านี้เท่านั้น แต่มองในแง่ของยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่ว่า
“เศรษฐกิจเป็นรากฐานของสังคม และสังคมเป็นรากฐานของการต่อสู้ทางการเมือง”
เป้าหมายใหญ่ในแนวทางของพลโทชวลิตนั้นก็คือ สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศให้ได้ในรูปของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
แต่เนื่องจากตระหนักดีว่า เศรษฐกิจแบบทุนนิยมนี้นำมาซึ่งความแข็งแกร่งของภาคเอกชนจนกลายเป็นการผูกขาด
ในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่องนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์หรือที่เรียกกันว่า
คำสั่ง 66 ซึ่งเป็นที่ทราบ ซ้ำได้รับการยืนยันจากพลโทชวลิตเองด้วยว่า เป็นผู้เขียนมากับมือ
ก็ได้เน้นถึง “การทำลายการกดขี่ทั้งสิ้น” นั่นก็หนีไม้พ้นการกดขี่ทั้งทางการเมือง
เศรษฐกิจ และสังคม
แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่กระแสของคำสั่ง 66 มาแรง หัวโจก 66 ก็มิใช่ลำพังพลโทชวลิตเท่านั้น
ที่อื้อฉาวก็เช่น พลเอกหาญ ลีนานนท์ (ที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบัน)
ก็เป็นหัวโจกด้วยผู้หนึ่ง และมีลักษณะสุดขั้วในการเสนอทัศนะในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง
ซึ่งก่อให้เกิดความไขว้เขวไม่น้อยกว่าคำสั่ง 66 ต้องการเช่นนั้นจริงหรือไม่
อาทิ การเผชิญหน้ากับกลุ่มทุนผูกขาดทุกประเภทอย่างไม่เห็นแก่หน้าอินทร์หน้าพรหม
หรือที่ฮือฮากันมากก็คือ เรื่องการยึดธนาคารพาณิชย์มาเป็นของรัฐบาล ซึ่งจากกรณีตัวอย่างเหล่านั้น
อาจกล่าวได้ว่า ก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจ ไม่พอใจ ระหว่างกลุ่มทุนผูกขาดกับกองทัพขึ้นมาอย่างหนักทีเดียวซึ่งว่ากันที่จริงแล้วก็ขัดกันกับแนวทางทั่วไปของคำสั่ง
66 เองในตอนหนึ่งที่ระบุไว้ว่า "ยึดถือหลักการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคม
โดยเที่ยงธรรมและสันติวิธี” (ในหัวข้อทั่วไปของคำสั่ง 66 ข้อ 1.3)
ซึ่งจากความขัดแย้งที่มีลักษณะเผชิญหน้าดังกล่าวนั่นเอง ที่ทำให้กองทัพโดยเฉพาะนายทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับคำสั่ง
66 ถูกโจมตีทั้งทางตรงทางอ้อม ที่ป้ายสีกันขนาดใหญ่ก็คือ ในประเด็นที่ว่าทหารกลุ่ม
66 กำลังแปรเปลี่ยนการจัดการทางเศรษฐกิจในแบบทุนนิยมไปเป็นในแบบสังคมนิยม
โดยเฉพาะสังคมนิยมปีกที่สัมพันธ์กับรัฐในอินโดจีน การณ์ครั้งนั้นนำมาซึ่งความระส่ำระสายอย่างยิ่ง จนถึงการยุบสภาในเดือนมีนาคม
2526 ซึ่งเมื่อมองในจุดนี้แล้วจะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นมิใช่เป็นความขัดแย้งด้านการเมืองล้วนๆ
แต่อาจกล่าวได้ว่า ส่วนใหญ่มาจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจเป็นมูลฐาน
แต่สำหรับตัวพลโทชวลิตนั้นก็ได้ทำการชี้แจงด้วยตนเอง และในนามของกองทัพมาโดยตลอด
ในลักษณะที่ยึดการแก้ไขปัญหาทุกด้านอย่างสันติวิธี โดยเฉพาะในเรื่องการ
“ยึดแบงก์” มาเป็นของรัฐ พลโทชวลิตได้ชี้แจงทั้งก่อนหน้าและหลังการยุบสภาครั้งสุดท้ายนั้นว่า
“นักเสรีนิยมที่คิดจะยึดธนาคารนั้นเป็นบุคคลที่เราอาจจะกล่าวได้ว่า
ไร้เดียงสา ไร้สติสัมปชัญญะเช่นเดียวกับนักสังคมนิยมประชาธิปไตยที่คิดเช่นนี้ก็ไร้เดียงสา”
(14 ธ.ค. 25 - สยามอินเตอร์คอนติเนนตัล)
อาจกล่าวได้ว่า พลโทชวลิตนั้นเป็นนักยุทธศาสตร์คนหนึ่ง ไม่เฉพาะเป็นนักยุทธศาสตร์ของกองทัพเท่านั้น
แต่นับได้ว่าเป็นนักยุทธศาสตร์ของประเทศคนหนึ่งทีเดียว ฉะนั้นในการมองปัญหาด้านเศรษฐกิจนั้น
พลโทชวลิตก็มองในลักษณะยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ เท่าที่ติดตามมาได้นั้นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของชาติที่
พลโทชวลิตกำหนดในการเตรียมประเทศและการต่อสู้เพื่อบรรลุผลนั้นมีด้วยกัน 3
ประการ คือ หนึ่ง) ระดมทุน สอง) ระดมตลาด สาม) ประสิทธิภาพในการจัดการ
จุดมุ่งหมายของการระดมทุนนั้นก็คือ เพื่อการผลิตทั้งบริโภคภายในและการส่งออก
ทั้งนี้เพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและรายได้ของผู้ผลิตและผู้ใช้แรงงานและผู้ให้บริการอื่นๆ
ซึ่งถ้าได้ผลจะก่อให้มีชีวิตชีวาและการเติบโตอย่างสมบูรณ์ทางสังคมด้วย
ส่วนการระดมตลาดนั้น อาจกล่าวได้ว่า เกี่ยวข้องโดยตรงกับการระดมการผลิต การตัดสินใจทางการผลิต
เพราะตลาดเป็นตัวกำหนดการผลิตทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ ทัศนะของพลโทชวลิตในด้านการระดมตลาดนั้น
แตกแขนงต่อไปด้วยว่าระบบการผลิตและการตลาดนั้นแยกกันไม่ออกจากระบบการเงิน
ดังนั้นผู้ที่กุมอำนาจการตัดสินใจของระบบผลิตและระบบการตลาดที่แท้จริงนั้นคือ
“นายทุนการเงิน” ซึ่งถ้านายทุนการเงินตัดสินใจทางการผลิตสอดคล้องกับรัฐทุกอย่างก็จะราบรื่น
แต่ถ้าไม่สอดคล้อง นั่นก็หมายถึงความปั่นป่วนในทุกด้าน ไม่ว่าเศรษฐกิจ การเมือง
หรือสังคม
ดังนั้น ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐบาลกับภาคเอกชนในการตัดสินใจทางการผลิตของประเทศนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
ในเฉพาะหน้านั้นอาจกล่าวได้ว่าขณะนี้เอกชนยังเป็นฝ่ายนำในการตัดสินใจ สำหรับรัฐบาลนั้นมีขอบเขตเพียงส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติเท่านั้น
ในแง่ของการจัดการให้มีประสิทธิภาพในปัญหาการระดมทุนและระดมตลาดนั้นนับได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่ง
เพราะการจัดการนำไปสู่ผลกระทบสองด้านคือ หนึ่ง) ส่งเสริมให้เศรษฐกิจขยายตัว
หรือ สอง) ขัดขวางการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความสอดคล้องและประนีประนอมกันระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชนเป็นสำคัญ
ซึ่งหมายถึงการรวมพลังและการลดความขัดแย้งทางสังคมไปด้วยในตัว
เมื่อติดตามต่อไปว่า จากจุดมุ่งหมายดังกล่าวนั้น เมื่อนำไปสู่ขั้นดำเนินการแล้วจะส่งผลเช่นไรบ้าง
ก็ค้นคว้าได้ว่า พวกเขาตั้งเป้าว่า จะนำไปสู่ หนึ่ง) การลดดุลและเพิ่มดุล
สอง) การประกันรายได้และประกันราคาสินค้า สาม) รักษาระดับค่าครองชีพ สี่)
ควบคุมอัตราเงินเฟ้อภายใน ห้า) รักษาคุณค่าของเงิน
สิ่งที่คิดและต้องการให้บรรลุผลข้างต้นนั้น ยากที่จะมีหลักประกันความสำเร็จ
หากไม่มี “การจัดตั้งทางเศรษฐกิจ” ใน 3 ระดับคือ ระดับผู้ผลิต
ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ซึ่งเป็นพื้นฐานในการกำหนดแผนและโครงการ
ความหวังอันสูงสุดของพวกเขานั้นน่าจะอยู่ที่สามารถบรรลุโครงสร้างสังคมทุนนิยมและโครงสร้างทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยในที่สุด
ตานี้ก็ต้องวกกลับมาดูสภาพตัวจริงในปัจจุบันว่า เขาสามารถทำตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ได้มากน้อยเพียงไร
ก็เห็นจะบอกได้เพียงว่า นักยุทธศาสตร์มาเจอกับเงื่อนไขภายในประเทศเข้า นักยุทธศาสตร์ก็กลายมาเป็นเพียงนักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้นไม่ว่าจะเป็นปัญหาเฉพาะหน้าในทางเศรษฐกิจ
การเมือง หรือสังคม
หัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศช่วงนี้นับได้ว่ายาวนานอย่างยิ่ง แม้ว่ารัฐบาลพลเอกเปรม
(เปรม 1-2-3-4) จะอยู่ได้ยาวนานเกิน 4 ปี และพลโทชวลิตจะได้รับความไว้วางใจอย่างยิ่งจากพลเอกเปรม
(เน้นว่าในทางการเมืองเป็นด้านหลัก ส่วนในทางเศรษฐกิจนั้น พลเอกเปรมยังให้น้ำหนักที่พลโทชวลิตเบาอยู่
ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่าพลโทชวลิตเป็นทหาร มิใช่ดอกเตอร์ด้านเศรษฐศาสตร์ และในปัจจุบันนี้พลเอกเปรมก็มีนักเศรษฐศาสตร์มือดีอยู่ใกล้ตัว
คอยให้คำปรึกษาหารือ แ ละที่ “ขึ้นหม้อ” มากเวลานี้ก็คือ ดร.วีรพงษ์
รามางกูร ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่าง ดร.วีรพงษ์ - “โกร่ง” กับพลโทชวลิต
- “จิ๋ว” ก็นับว่าใกล้ชิดและมีการประสานระหว่างกันอย่างดี) แต่กระนั้นทั้งรัฐบาลพลเอกเปรมและตัวพลโทชวลิตก็ยังไม่มีพลังเพียงพอในการพัฒนาประเทศหรือแก้ไขปัญหาชาติให้เดินไปบนทางยุทธศาสตร์ใหญ่
555 ที่คิดหวังไว้ จึงคงกล้ากล่าวว่า หัวเลี้ยวหัวต่อนี้ยืดยาวนัก และก็ไม่มั่นใจด้วยว่า
จะออก “หัวเรือห้อย” เพราะนี่คือสังคมไทย ที่ทุกอย่างมักลงท้ายด้วยคำว่า
“ไทย ๆ “
เอาเป็นว่ากะเทาะแนวความคิดทางเศรษฐกิจมาให้ได้อ่านกันเพียงแค่นี้ เพราะถ้าให้พลโทชวลิตพูดในสถานการณ์ปัจจุบันที่อะไรต่อมิอะไรยังไม่ลงตัวนั้น
ก็อาจจะผูกมัดตัวเองจนเกินไปนัก เพราะธรรมดานักการเมือง (การทหาร) มักจะไม่ทำกัน
และในสถานการณ์ปัจจุบันนี้นั้น ฐานะของพลโทชวลิตยังต้องเล่นบทบาท “กึ่งลับกึ่งเปิดเผย”
ต่อไปถึงจะมีสิทธิ “โต” โดยไม่ถูกตีตายเสียก่อน ว่ากันที่จริงแล้วยุทธศาสตร์ใหญ่ของพลโทชวลิตที่แท้จริงในทุกด้านนั้น
ขณะนี้ยังมองเห็นกันไม่ชัดเท่าใดนัก นักวิชาการบางคนวิจารณ์ว่า เป็นแบบแตกแขนงออกไปเรื่อยๆ
จนกว่าสถานการณ์รอบด้านสมบูรณ์นั่นแหละถึงจะเห็นชัดว่า เอาอย่างไรกันแน่
ในส่วนที่พลโทชวลิตออกปากกับใครต่อใครหลายคนว่า จะเกษียณอายุให้กับตนเองเมื่ออายุได้
55 ปี นั้นก็นับเป็นจุดที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่า หนึ่ง) เมื่ออายุ 55 นั้นพลโทชวลิตอยู่ในจุดที่กุมการนำสูงสุดของกองทัพบกหรือไม่
สอง) ถ้าพลโทชวลิตเกษียณอายุตัวเองเมื่อนั้นจริง ก้าวต่อไปของพลโทชวลิตคืออะไร
จับตาแค่ 2 ประเด็นนี่ก็คงพอไม่เช่นนั้นจะฟุ้งจนเกินไป
แล้วก็อย่าลืมอ่านล้อมกรอบเรื่องระบบเศรษฐกิจ ซึ่งพลโทชวลิตพูดไว้เมื่อปี
2525 นับเป็นการพูดในปัญหาเศรษฐกิจที่ชัดเจนและกว้างขวางที่สุด เนื่องจากเงื่อนไขของสถานการณ์ขณะนั้นเอื้ออำนวย