ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้จัดให้มีการประชุมผู้นำทางธุรกิจและสังคมขึ้น ณ
อาคารสำนักงานใหญ่ของธนาคาร เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2528 โดยได้เชิญผู้บริหารงานระดับสูงสุดในกิจการธุรกิจอุตสาหกรรมแขนงต่างๆ
ทั่วประเทศมาร่วมด้วยเป็นจำนวนทั้งสิ้น 33 ราย มีกรรมการและผู้บริหารงานของธนาคารเข้าร่วมประชุมด้วยอีก 10 ราย รวมเป็นจำนวนผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งสิ้น 43 ราย
ดร.อำนวย วีรวรรณ และชาตรี โสภณพนิช ประธานของที่ประชุมผู้นำทางธุรกิจและสังคม
ได้แถลงร่วมกันว่า ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยอาจจะยังขยายตัวออกไปในอนาคต
แต่จะขยายตัวอย่างเชื่องช้าลงโดยคาดว่าในปี 2528 จะมีอัตราการขยายตัวเป็นส่วนรวมประมาณร้อยละ
4.5 และในปี 2529 อัตราการขยายตัวจะลดลงไปอีกเหลือประมาณร้อยละ 3.8 เนื่องจากคาดว่าการเกษตรจะขยายตัวได้เพียงเล็กน้อย
เหลือเพียงประมาณร้อยละ 2.9 และร้อยละ 0.9 ในปี 2528 และปี 2529 ตามลำดับ
ในด้านอุตสาหกรรมการขยายตัวก็จะเชื่องช้าลง เหลือร้อยละ 5.7 ในปี 2528
และร้อยละ 5.0 ในปี 2529 กิจกรรมด้านก่อสร้างซึ่งเคยขยายตัวได้ในอัตราค่อนข้างสูงในอดีต
จะมีอัตราขยายตัวต่ำมากในปี 2528 และ 2529 คือ ระหว่างร้อยละ 0.5 ถึงร้อยละ
1.5
การขยายตัวที่คาดไว้ว่าจะต่ำกว่าร้อยละ 4 หรือเพียงร้อยละ 3.8 นั้น อาจจะตกต่ำลงไปเหลือเพียงร้อยละ
3.0 ก็ได้ หากการส่งออกของประเทศโดยเฉพาะด้านสิ่งทอถูกมาตรการกีดกันจากสหรัฐอเมริกา
(ข้อมูลปรากฏในเอกสารประกอบหมายเลข 1)
ในขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนก็จะมีการขยายตัวต่ำลงไปในระยะปีสองปีข้างหน้านี้
โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ซึ่งคาดว่าจะไม่ขยายตัวหรืออาจหดตัวเสียอีก
แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยซึ่งที่ประชุมให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ ด้านการเกษตรอุตสาหกรรมส่งออก และการท่องเที่ยว ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า ประเทศไทยยังมีลู่ทางทางเศรษฐกิจที่จะพัฒนาเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวมได้อีกมาก
หากผู้ประกอบการธุรกิจภาคเอกชนและผู้บริหารงานในภาครัฐบาลทุกระดับจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดและจริงจังมากขึ้น
โดยเฉพาะในด้านเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางเกษตร ด้านการกระจายผลผลิตการเกษตรไปสู่ผลผลิตใหม่ที่ตลาดโลกต้องการ
และในด้านอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตการเกษตร
ในด้านอุตสาหกรรมส่งออกนั้น ที่ประชุมเห็นว่าควรคำนึงถึงลู่ทางการส่งออกผ่านชายแดนเพราะเป็นตลาดที่เราควรจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่
และสนับสนุนให้มีการใช้เงินทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดไปลงทุนในกิจกรรมเพื่อการส่งออกมากขึ้น
โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศ
ในด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็มีลู่ทางขยายตัวได้มาก แต่จะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐบาล
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการรักษาความปลอดภัย และด้านการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวภายในประเทศ
ที่ประชุมเห็นว่าการดำเนินธุรกิจในยามวิกฤตซึ่งจะต้องมีการร่วมมือกับทุกฝ่ายอย่างใกล้ชิดนั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเรียกร้องแต่ฝ่ายเดียวไม่ได้
แต่จะต้องหันหน้าปรึกษาหารือกันและพูดความจริงกัน พร้อมที่จะเสียสละร่วมกัน
เพื่อการนี้ที่ประชุมเห็นว่าฝ่ายเอกชนควรเน้นบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศรวม
3 ประการ คือ
ประการแรก ส่งเสริมให้มีการออมและการลงทุนมากขึ้น
-โดยรณรงค์การออมในภาคธุรกิจด้วยการจัดสรรเงินไว้เพื่อการลงทุนปรับปรุงหรือ
ขยายกิจการมากขึ้น และโดยส่งเสริมการลงทุนในกิจกรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาด้านการเพิ่มผลผลิตและส่งออกมากขึ้น
ประการที่สอง ส่งเสริมการส่งออก
- ด้วยการลงทุนใหม่ในกิจกรรมส่งออก ทั้งในภาคอุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรม
ทั่วไป ทั้งนี้โดยสนับสนุนให้กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศเป็นผู้นำในทิศทางนี้
- ด้วยการขยายและปรับปรุงกิจกรรมที่มีอยู่แล้ว ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
เพียงพอที่
จะไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศ
- ด้วยการเปิดตลาดใหม่ และตลาดที่มีการกีดกันโดยอิทธิพลต่อรองที่มีอยู่ทั้งประเทศ
ในด้านเศรษฐกิจ และการเมือง
- ด้วยการสร้างอุตสาหกรรมรองรับขนาดย่อมที่มีประสิทธิภาพ
- ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพของบริษัทการค้าระหว่างประเทศ
ประการที่สาม เพิ่มพูนเทคโนโลยีทั้งในด้านการผลิต การตลาด และการ
บริหาร
- ด้วยการเลือกสรรนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมจากต่างประเทศมาใช้
- ด้วยการค้นคว้าและสร้างสรรค์เทคโนโลยีในประเทศอย่างจริงจัง โดยจูงใจให้มีการใช้จ่ายในด้านวิจัยและการพัฒนา
(RESEARCH AND DEVELOPMENT) มากขึ้น
ที่ประชุมเห็นว่าการที่เอกชนจะรับบทบาทในการพัฒนาประเทศได้ดีขึ้นตามเจตนา
และ
เป้าหมายของรัฐบาลนั้น รัฐบาลมีภาระและความรับผิดชอบสูงในการสร้างบรรยากาศ
และสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมอันจะมีผลเป็นการเกื้อกูลให้ธุรกิจเอกชนรับบทบาทในการพัฒนาประเทศได้อย่างจริงจัง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ
“รัฐพึงขจัดความซ้ำซ้อนและความล่าช้าของระบบราชการ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยว
กับวงจรทางเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง เพราะในยุคที่จะต้องแข่งขันกันในระดับประเทศเช่นในปัจจุบัน
ประสิทธิภาพในการบริหารงานของส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องความต้องการของฝ่ายธุรกิจเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด
เพื่อการนี้ ถ้าส่วนราชการในระดับกรมซึ่งมีหน้าที่ประสานงานกับธุรกิจเอกชนอย่างใกล้ชิด
เช่น กรมต่างๆ ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง
จะจัดให้มีคณะที่ปรึกษาเอกชนระดับกรม เพื่อพิจารณาปรับปรุงกลไกและพิธีการต่างๆ
ให้เหมาะสมรวดเร็วยิ่งขึ้นก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
“รัฐพึงปรับปรุงระบบภาษีอากรและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้มีผลใน
ทางจูงใจ การออม การลงทุน และการส่งออกสำหรับกิจการที่ใช้ทรัพยากรในประเทศมากขึ้น
ในการนี้รัฐควรตระหนักว่า การปรับปรุงอัตราภาษีอากรโดยคำนึงถึงผลทางด้านรายได้อย่างเดียว
มักจะไม่ส่งผลดีและอัตราภาษีที่สูงเกินไปจะมีผลติดลบในด้านการจัดเก็บมากกว่า
“รัฐพึงสนับสนุนให้ฝ่ายเอกชนมีบทบาทในด้านธุรกิจอุตสาหกรรมมากขึ้น
กิจการต่างๆ
ที่รัฐไม่สมควรจะประกอบการเอง หรือประกอบการไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ก็ควรจะโอนกิจการดังกล่าวไปสู่ภาคเอกชน
การโอนกระทำได้หลายรูปแบบและอาจกระทำได้โดยเกิดประโยชน์ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายพนักงานของกิจการ ฝ่ายธุรกิจเอกชน และประชาชนส่วนรวม
รูปแบบที่อาจพิจารณาได้ คือการขายหุ้นบางส่วนของกิจการ การโอนกิจการบางด้านบางส่วนของรัฐวิสาหกิจไปให้เอกชนจัดทำ
การจัดระบบบริหารของหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับหน่วยงานธุรกิจเอกชน
โดยใช้วิธีระบบที่ปรึกษาการบริหาร หรือระบบจ้างบริหาร
“รัฐพึงให้ความสำคัญมากขึ้นของความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและธุรกิจเอกชนใน
ระดับนโยบายซึ่งได้ริเริ่มทำกันมาดีแล้ว แต่มีเค้าว่าจะเฉื่อยชา และมีพิธีการตลอดจนขั้นตอนมากเกินไปจนไม่บังเกิดผลรวดเร็วสมตามเป้าหมายที่กำหนดไว้เดิม
“รัฐพึงสนับสนุนกิจการธุรกิจของคนไทยและกิจการที่คนไทยสามารถดำเนินการได้ดีใน
ลักษณะปกป้องเกื้อกูลและส่งเสริมอันเป็นไปในแนวทางที่ต่างประเทศปฏิบัติอยู่
นอกจากการประชุมพิจารณาเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศและบทบาทของธุรกิจ
เอกชนในการพัฒนาประเทศแล้ว ที่ประชุมยังได้รับทราบรายงานเกี่ยวกันนโยบายและแผนงานของธนาคารกรุงเทพด้านต่างๆ
ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการธนาคารในประเทศ กิจการธนาคารในต่างประเทศและกิจการวาณิชธนกิจ
ซึ่งที่ประชุมก็ได้พิจารณาให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ยิ่งต่อการบริหารงานของธนาคาร
ในการประชุมผู้นำทางธุรกิจและสังคมครั้งนี้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้แสดงความคิดเห็น
อย่างกว้างขวาง และได้เสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อที่ประชุมเป็นส่วนรวม
การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นก็ดำเนินไปในบรรยากาศมิตรภาพและเป็นกันเองอย่างยิ่ง
ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่า การประชุมในลักษณะนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบธุรกิจ
เป็นอันมาก และควรจะจัดให้มีการประชุมในลักษณะนี้เป็นครั้งคราวต่อไปอีก