ปูนซิเมนต์ไทยยุคพารณ อิศรเสนา เตรียมลุยหนักหลายโครงการ ตั้งแต่ขยายกำลังการผลิตปูนฯ
ตั้งโรงงานผลิตลวดเหล็กตีเกลียวไปจนถึงการสำรวจและทำเหมืองแร่โปแตชที่ภาคอีสาน
ทุกโครงการนี้จะต้องใช้เงินลงทุนนับหมื่นล้านบาท
เมื่อราวต้นเดือนมีนาคม 2528 บริษัทปูนซิเมนต์ไทยหรือที่มักจะเรียกกันสั้นๆ
ง่ายๆ แต่ได้ใจความว่า "ปูนใหญ่" ได้จัดให้มีการแถลงข่าว
ต่อสื่อมวลชนขึ้นที่สำนักงานใหญ่ บางซื่อ
เป็นการแถลงถึงโครงการใหม่ๆ ที่จะเริ่มดำเนินการในปี 2528 ซึ่งอาจพูดได้ว่า
เป็นการแถลงข่าวครั้งใหญ่ครั้งแรกในยุคที่ผู้จัดการใหญ่ชื่อ พารณ อิศรเสนา
ณ อยุธยา ซึ่งเพิ่งจะเข้ารับตำแหน่งสืบแทนจรัส ชูโต เมื่อต้นปีนี้เอง
ทวี บุตรสุนทร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสเป็นคนแรกที่แถลงถึงโครงการขยายกำลังผลิตปูนซีเมนต์ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย
นายช่างทวีได้กล่าวว่า จากการสำรวจดูความต้องการปูนซีเมนต์ภายในประเทศนั้น
พบว่ามีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี และถ้าหากปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศจากผู้ผลิตทั้ง
3 ราย ยังคงอยู่ในระดับเดิม คือประมาณปีละ 9.5 ล้านตัน ดังเช่นปัจจุบันนี้แล้ว
คาดว่าภายในปี 2530 กำลังผลิตปูนในประเทศจะไม่เพียงพอกับความต้องการ อาจจะต้องมีการนำเข้าปูนซีเมนต์จากต่างประเทศมาชดเชยในส่วนที่ขาด
เพราะฉะนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์ดังกล่าว บริษัทปูนซิเมนต์ไทยจึงได้เตรียมขยายกำลังการผลิตขึ้นที่โรงงาน
2 แห่ง คือที่แก่งคอย จังหวัดสระบุรี และที่ทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
โดยขณะนี้ได้รับอนุมัติในหลักการให้ขยายกำลังผลิตจากกระทรวงอุตสาหกรรมไปแล้ว
โรงงานปูนซีเมนต์แก่งคอย เป็นโรงงานที่เริ่มดำเนินการผลิตมาตั้งแต่ปี 2514
เวลานี้มีกำลังผลิตรวมทั้งสิ้นปีละ 1.7 ล้านตัน จากหม้อเผาที่ใช้จำนวน 2 หม้อ
ที่โรงงานแห่งนี้ปูนซิเมนต์ไทยมีโครงการขยายกำลังการผลิต 2 โครงการด้วยกันคือ
โครงการแก่งคอย 3 จะเป็นการเพิ่มหม้อเผาเป็นหม้อที่ 3 ใช้เงินลงทุนประมาณ
3,600 ล้านบาท ปูนซิเมนต์ได้สั่งเครื่องจักรไปแล้วจากประเทศญี่ปุ่นเมื่อปลายปี
2526 ระหว่างนี้กำลังลงมือก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรอยู่ หากแล้วเสร็จซึ่งคาดว่าจะราวๆ
ต้นปี 2530 ก็จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีกปีละไม่น้อยกว่า 1.6 ล้านตัน
โครงการแก่งคอย 4 เป็นโครงการที่จะเริ่มกันในปี 2528 นี้ คือจะเพิ่มหม้อเผาอีก
เป็นหม้อที่ 4 คาดว่าเมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการประกวดราคาเครื่องจักรและติดตั้งเครื่องจักรได้เรียบร้อยก็คงจะเดินเครื่องใช้ได้ราวปี
2532 และจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตได้อีกปีละ 1.6 ล้านตัน
โครงการดังกล่าวจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 3,400 ล้านบาท
" เมื่อขยายกำลังผลิตทั้ง 2 โครงการนี้ แล้วเสร็จในปี 2530 และ 2532
โรงงานแก่งคอยก็จะมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 4.9 ล้านตัน นับเป็นโรงงานปูนซีเมนต์ที่ทันสมัยที่สุดในเอเชียอาคเนย์
และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย" นายช่างทวีสรุป
ส่วนโครงการขยายกำลังผลิตที่โรงงานอีกแห่งหนึ่ง คือที่ทุ่งสง ซึ่งขณะนี้มีกำลังการผลิตปีละ
9 แสนตันนั้น ปูนซิเมนต์ไทยเรียกว่า โครงการทุ่งสง 4
โครงการทุ่งสง 4 เป็นโครงการที่จะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีกปีละ 1 ล้านตัน
ใช้เงินลงทุนประมาณ 2,200 ล้านบาท ปูนซิเมนต์ไทยจะเริ่มโครงการนี้พร้อมๆ
กับโครงการแก่งคอย 4 คือกำลังดำเนินการกันอยู่ในขณะนี้นั่นเอง และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี
2532
โครงการขยายกำลังผลิตทั้ง 3 โครงการ ทั้งที่แก่งคอยและที่ทุ่งสงนี้จะทำให้ปูนซิเมนต์ไทยมีกำลังผลิตรวมทั้งสิ้น
10 ล้านตัน นับตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นไป
จึงเป็นการแน่นอนว่า คงจะไม่มีสถานการณ์วิกฤตการณ์อันเกิดจากการขาดแคลนปูนซีเมนต์ขึ้นในประเทศไทย
และก็เป็นการแน่นอนอีกเช่นกันที่ปูนซิเมนต์ไทยจะได้ครองสัดส่วนในตลาดปูนซีเมนต์ของประเทศไทยมากขึ้น
หากคู่แข่งอีก 2 แห่ง ไม่ว่าจะเป็น "ปูนกลาง" หรือ "ปูนเล็ก"
ขยับตัวตามสถานการณ์ปรับกำลังการผลิตนี้ไม่ได้หรือไม่ทัน
โครงการใหญ่เหมือนกันอีกโครงการหนึ่ง ซึ่งทวี บุตรสุนทร เป็นผู้แถลงคือ
โครงการผลิต KILN FUNITURE ที่โรงงานวัสดุทนไฟ ท่าหลวง จังหวัดสระบุรี เป็นโครงการที่มีขนาดกำลังผลิตปีละ
1,650 ตัน ใช้เงินลงทุนย่อมเยาลงมาหน่อยคือเพียงประมาณ 60 ล้านบาท จะเริ่มเดินเครื่องการผลิตกลางปี
2529
KILN FUNITURE เป็นภาชนะที่ใช้รองรับเซรามิกดิบสำหรับเข้าเผาในเตาเผา ปัจจุบันความต้องการใช้ในประเทศในกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิกมีอยู่ประมาณ
4,300 ตันต่อปี ซึ่งจำนวน 64% ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่าตกปีละ
60 ล้านบาท
ดังนั้น โครงการนี้จึงมีประโยชน์มากในแง่ที่จะช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศ
รับกับนโยบาย "เมดอินไทยแลนด์" ของรัฐบาลพอเหมาะพอเจาะ
การผลิต KILN FUNITURE นี้ นายช่างทวีบอกว่า KILN FUNITURE จะใช้เทคโนโลยีของบริษัท
VEREINGTE GROSSALMERODE TONWERKE Ltd. (VGT) แห่งประเทศเยอรมนีตะวันตก
อันเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสามารถใช้วัตถุดิบในประเทศได้อย่างมากที่สุด
จึงเชื่อว่าคุณภาพน่าจะทัดเทียมกับของต่างประเทศ อีกทั้งราคายังจะถูกกว่ากันอย่างน้อยต้องถึง
15% ด้วย
ปูนซิเมนต์ไทยจะมีโครงการขยายกำลังการผลิต KILN FUNITURE เพิ่มขึ้นอีกประมาณปีละ
1,000 ตัน หากโครงการในระยะแรกนี้ไปได้ราบรื่น
อมเรศ ศิลาอ่อน ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส เป็นผู้บริหารระดับสูงอีกคนหนึ่งที่ได้แถลงถึงโครงการใหม่ลำดับต่อมา
คือโครงการผลิตลวดเหล็กตีเกลียวสำหรับงานคอนกรีตอัดแรงของบริษัทเหล็กสยาม
ซึ่งเป็นบริษัทหนึ่งในเครือซิเมนต์ไทย
โครงการผลิตลวดเหล็กฯ หรือ P.C.STRAND เป็นโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจาก
บีโอไอ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2528 เพิ่งไม่กี่เดือนมานี้เอง
โดยจะมีกำลังการผลิตเต็มที่ปีละ 8,000 ตัน ใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท
ตัวโรงงานจะตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี ในบริเวณเดียวกันกับโรงงานของบริษัทเหล็กสยาม
ในการจัดตั้งโรงงานปูนซิเมนต์ไทยกำลังพิจารณาเครื่องจักรและเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งเป็นผู้นำในด้านอุตสาหกรรมเหล็กของโลกปัจจุบัน คาดว่าโครงการจะเริ่มในปี
2528 นี้ และคงจะแล้วเสร็จในราวปีหน้า
ปัจจุบันมีผู้ผลิต P.C.STRAND ในประเทศไทยอยู่เพียงรายเดียว โดยมีกำลังการผลิต
6,000 ตัน ต่อปี แต่ความต้องการในปี 2528 กลับจะมีสูงถึง 7,000 ตัน และจะเพิ่มขึ้นอีกในอัตราปริมาณปีละ
13% ในปี 2533 จึงคาดว่าความต้องการจะพุ่งสูงถึง 13,000 ตัน
"เมื่อผลิตได้เต็มกำลังผลิตที่ประมาณการไว้ เราจะสามารถประหยัดเงินตราต่างประเทศได้อย่างน้อย
18 ล้านบาทต่อปี…" อมเรศ ศิลาอ่อน กล่าว
อีกโครงการหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันเห็นจะได้แก่ โครงการก่อตั้งบริษัทไทยโปแตช
เพื่อสำรวจและทำเหมืองแร่โปแตชขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดมหาสารคาม
ครอบคลุมพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 3,500 ตารางกิโลเมตร
ใครเคยติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยเฉพาะเกี่ยวกับการจัดตั้งโครงการปุ๋ยแห่งชาติและโครงการโซดาแอช
ก็คงต้องการทราบแน่ว่า อะไรคือโปแตชหรือที่มีการบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทยว่า
"เกลือหิน"
โปแตชโดยทั่วๆ ไป จะใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยเคมี บอกเสียเลยก็ได้
สิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและวางแผนของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย
เป็นผู้แถลงเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการนี้ว่า
บริษัทไทยโปแตช จำกัด ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2524 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท
มีเป้าหมาย และวัตถุประสงค์หลักเพื่อทำการสำรวจและทำเหมืองแร่โปแตช
ไทยโปแตช เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท ดูวัล คอร์ปอเรชั่น แห่งสหรัฐอเมริกา
บริษัท ซีอาร์เอ เอ็กซ์พลอเรชั่น ทีพีวาย แห่งออสเตรเลีย บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย
จำกัด และรัฐบาลไทยก็ร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย
ไทยโปแตชได้รับอนุมัติจากรัฐบาลไทยให้ทำการสำรวจเหมืองแร่ดังกล่าว และขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการขออาชญาบัตร
และสิทธิบัตรในการสำรวจ รวมทั้งขอส่งเสริมการลงทุนจาก บีไอโอ คาดว่าจะเริ่มลงมือสำรวจได้ภายในปี
2528 นี้
ในการสำรวจต้องใช้เงินลงทุนราวๆ 85 ล้านบาท และหากการสำรวจได้ผล พบปริมาณแร่สำรองมากเพียงพอคุ้มกับการลงทุนก็จะทำเหมืองแร่ผลิตแร่ในปริมาณปีละ
2 ล้านตัน ซึ่งก็ต้องใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท
โปแตชจากเหมือนแร่ที่ภาคอีสานนี้ ส่วนใหญ่จะส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เนื่องจากเข้าใจว่าความต้องการในประเทศยังมีน้อย
โครงการปุ๋ย โครงการโซดาแอช ตามแผนพัฒนาชายฝั่งตะวันออก ยังไม่มีอะไรแน่นอนก็ต้องวางเป้าหมายผลิตเพื่อส่งออกไว่ก่อนเป็นธรรมดา
สรุปกันตอนท้ายนี้ ก็ต้องบอกว่าโครงการทั้งหลายนี้เป็นความก้าวหน้าอีกก้าวหนึ่งของปูนซิเมนต์ไทย
ซึ่งเมื่อลองรวมยอดเงินลงทุนดูเล่นๆ แล้ว ก็จะเป็นเงินนับหมื่นล้านบาท
และถ้ามองถึงประโยชน์ที่สังคมจะได้รับแล้วก็ล้วนแต่จะเป็นโครงการที่ให้ประโยชน์อย่างมาก
โดยเฉพาะในแง่ที่เป็นการพัฒนาขีดความสามารถด้านการผลิตของประเทศไทยให้สามารถยืนอยู่ได้บนขาของตัวเอง
ไม่ต้องพึ่งการนำเข้า
ประกาศนี้ลูกหม้อเก่าอย่างสมหมาย ฮุนตระกูล คงจะพอใจอย่างมากเป็นแน่