Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2528








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2528
ช่อง 3 ล้มละลาย             
 


   
www resources

โฮมเพจ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3

   
search resources

สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 อ.ส.ม.ท.
ประวิทย์ มาลีนนท์
ประชา มาลีนนท์
วิชัย มาลีนนท์
ประสาร มาลีนนท์
ลลิลทิพย์ ธารวณิชกุล
ธนาคารเอเชียทรัสต์
TV




“เนื่องจากการดำเนินกิจการที่ผ่านมาต้องต่อสู้กับปัญหานานาชนิดไม่รู้จักหมดสิ้น และทำให้บริษัทยังขาดทุนอยู่ การที่ผมได้ชักชวนเพื่อนซึ่งรักใคร่นับถือกันมาเข้าชื่อซื้อหุ้นและต้องขาดทุนแบบนี้ผมไม่สบายใจมาก ผมอยากจะขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ และถ้าท่านผู้ถือหุ้นเห็นว่าใครเหมาะสมก็โปรดเสนอชื่อมาทำงานแทนด้วย ผมจะได้ของพักผ่อนบ้าง”

กล่าวกับที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อ 28 เมษายน 2514

ในวันนั้นเมื่อ 15 ปีที่แล้วทุกคนคัดค้านไม่เห็นด้วย และทุกคนสนับสนุนให้กำลังใจ วิชัย มาลีนนท์ ให้ทำงานต่อไป

คุณหญิงลลิลทิพย์ ธารวณิชกุล ถึงกับชมเชยวิชัย มาลีนนท์ ว่าทำมาได้รายได้ขนาดนี้ก็ถือว่าเป็นผลงานชิ้นเยี่ยมแล้ว เมื่อเทียบกับช่องอื่นซึ่งตั้งมานานกว่า

15 ปีต่อมา ในวันนี้ วิชัย มาลีนนท์ ก็เริ่มไม่สบายใจอย่างมากๆ และครั้งนี้วิชัยรู้ว่าไม่มีผู้ถือหุ้นคนไหนจะมานั่งรับฟังการลาออกของวิชัยในวันนี้อีก

ที่เจ็บปวดกว่านั้นก็คือ วิชัยจะลาออกก็ออกไม่ได้เสียแล้ว

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับช่อง 3 ในปี 2528 มันมีความหมายกับวิชัยมากกว่าทุกๆ อย่างที่ได้เคยเจอมาในชีวิตนี้ทั้งสิ้น เมื่อธนาคารสยามยุค เกษม จาติกวณิช และวารี หะวานนท์ ยื่นฟ้องเรียกหนี้ช่อง 3 คืน 453 ล้านสามแสนสี่พันหนึ่งร้อยสี่สิบเอ็ดบาท

คนที่สนิทกับวิชัย มาลีนนท์ รู้ดีว่า คนคนนี้ยอมตายเสียดีกว่าการเสียชื่อเสียง

แต่งานนี้ถึงตายไปก็ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาแน่ๆ

เพราะการแก้ปัญหาครั้งนี้ของวิชัยดูเหมือนจะมีทางเลือกไม่มาก และเป็นทางเลือกที่ต้องใช้น้ำอดน้ำทน บวกกับความมานะพยายามใหม่เหมือนเมื่อยุคแรกของช่อง 3

ใช่ มันดูเหมือนว่าปี 2528 นี้จะมีความยากลำบากเหมือนสมัยที่วิชัย มาลีนนท์ เพิ่งจะเริ่มช่อง 3 ใหม่ๆ เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว

ยุคแรกของช่อง 3

ในตอนแรกของการบุกเบิกช่อง 3 นั้นหัวเรี่ยวหัวแรงในเรื่องความคิดจริงๆ มาจากคนชื่อ มนูญสิริ ขัตติยะอารี (ดูล้อมกรอบกำเนิดของช่อง 3 )

สมัยนั้นสตูดิโอช่อง 3 ยังไม่มี แต่ใช้วิธีจ้างครูแก้ว อัจฉริยกุล เป็นหัวหน้าฝ่ายผลิต ซึ่งการผลิตก็ใช้กล้อง16 มม. ทั่วๆ ไป คุณภาพก็ไม่มี ค่าใช้จ่ายก็สูง เงินเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงก็สูงมาก บางคนเงินเดือนแค่ 1,500 บาท แต่เบิกเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 2-3 หมื่นบาท

ยุคนี้เป็นยุคที่ต่ำที่สุดของช่อง 3 เพราะคลื่นส่งก็เป็นประเภท Low Band ความนิยมก็ไม่มี เรียกได้ว่าอยู่อันดับสุดท้ายของทีวีทั้ง 4 ช่อง

“ใน 5 ปีแรก ช่อง 3 ขาดทุนจนคุณวิชัยแทบจะหมดตัว แต่แกเป็นคนสู้และแกไม่ยอมแพ้ก็เลยมุต่อไป” แหล่งข่าวในวงการทีวียุคแรกๆ เล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟัง

เริ่มเข้าสู่ยุคสาม “ประ”

วิชัย มาลีนนท์ มีลูกหลายคนทีเดียว แต่ที่มาช่วยงานได้เป็นเรื่องเป็นราวก็มีอยู่ 3 คนคือ ประสาร – ประวิทย์ และประชา มาลีนนท์

ในตอนแรกนั้นทั้งสาม “ประ” ยังคงเรียนหนังสืออยู่แถวชิคาโก สหรัฐอเมริกา พอกลับมาทั้งสามก็ทุ่มทั้งกายและใจเข้ามาช่วยพ่อทำงานอย่างเต็มที่

“ช่อง 3 เวลานั้นให้คุณหญิงลลิลทิพย์เป็นประธาน เพราะต้องใช้เงินธนาคารเอเชียทรัสต์ (ธนาคารสยามปัจจุบัน) ซึ่งทางธารวณิชกุลก็ส่งสุสุทธิ์ วิจิตรานนท์ เข้ามาเซ็นเช็คร่วมกับวิชัย และต่อมาก็เปลี่ยนเป็นนิรันดร์ วิจิตรานนท์ มาเป็นแทนในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ส่วนลูกคุณวิชัยทั้ง3 ก็เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการกันหมด” แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวต่อ

วิชัย มาลีนนท์ ก็คงจะรู้จักลูกของตัวเองดีว่า ใครเหมาะสมที่จะทำอะไรบ้าง

ประสาร มาลีนนท์

พี่ชายเป็นคนที่ดูแลเรื่องการเงินอย่างเดียว อาจจะเป็นเพราะเป็นคนที่ต้องคุมการเงินก็เลยขาดมนุษยสัมพันธ์กับพนักงาน และอาจจะเป็นเพราะว่าไม่ได้ยุ่งเรื่อง OPERATION และการวางแผนงานเท่าไหร่นักก็ทำให้ไม่มีใครรู้ว่ามีความสามารถมากน้อยแค่ไหน

ประสารมีภรรยาแล้ว ซึ่งเดิมทำงานอยู่ช่อง 3 รุ่น ดร.เอมอร ชูพินิจ ต่อมาไปเป็นแอร์โฮสเตสของสายการบินแห่งหนึ่งแล้วมาแต่งงานกับประสาร ปัจจุบันทั้งคู่พักอยู่คฤหาสน์ในหมู่บ้านทิพวัล

ประสารเป็นคนที่เชื่อประชา มาลีนนท์ มาก

ประวิทย์ มาลีนนท์

เป็นนักเรียนเก่าอัสสัมชัญศรีราชา เช่นเดียวกับประสาน เคยเรียนอยู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน แต่ลาออกไปศึกษาต่อต่างประเทศ

ประวิทย์เป็นคนสุขุมเยือกเย็นไม่โกรธใครง่ายๆ ให้เกียรติคน ประวิทย์เป็นนักวางแผนตัวฉกาจ มองอะไรไกลและมองหลายชั้น เป็นคนใช้คนเป็น ใจกว้าง

เป็นคนคนเดียวที่เชื่อมกับกลุ่มธารวณิชกุลได้อย่างนุ่มนวลที่สุด

แต่งงานแล้ว ภรรยาช่วยงานเป็นเลขา ปัจจุบันยังอยู่กับวิชัย มาลีนนท์ ที่คฤหาสน์ในซอยกล้วยน้ำไท เป็นพี่ที่น้องๆ เกรงใจ

ประชา มาลีนนท์

เป็นคนที่กล้าได้กล้าเสีย ตัดสินใจเร็ว รักใคร รักจริง ช่วยจริง แต่เป็นคนที่มักถูกสิ่งแวดล้อมครอบงำได้ง่าย โดยเนื้อแท้เป็นคนโอบอ้อมอารี ไม่มีความพยาบาท

เขาอาจจะทะเลาะกับใครอย่างแทบเป็นแทบตาย แต่พอเลิกแล้วก็หมดเพียงเท่านั้น เป็นคนติดตามงานอย่างถึงลูกถึงคน ในขณะที่ลูกน้องจะเกรงประวิทย์แต่ก็จะกลัวประชา

แต่งงานแล้ว เป็นคนมีใจกว้างยิ่งกว่ามหาสมุทรแปซิฟิก ชอบเดินทางไปพักผ่อนตากอากาศที่เก็นติ้งไอร์แลนด์ มาเลเซีย เป็นประจำ

เมื่อลูกทั้ง 3 กลับมาอยู่ข้างพ่อก็ถึงเวลาที่ช่อง 3 ยุคที่สองต้องเดินต่อไป เพียงแต่การเดินครั้งนี้เป็นการเดินเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ในวงการบันเทิงแท้ๆ

โดยลักษณะงานแล้วประวิทย์จะเป็นคนวางแผนและประชาจะเป็นคนลุยงานตามแผน ซึ่งเป็นคู่ที่สมพงษ์กันมากถ้าดูในลักษณะการทำงานแล้ว

ในยุคแรกนั้น ช่อง 3 ยังมีการขายเวลาทีวีให้คนอื่นเอาไปจัด แต่โดนเบี้ยวเรื่องเงินทองมากก็เลยเลิก ประจวบเหมาะกับลูกๆ ของวิชัยกลับมาช่วยงาน ก็เลยเอาเวลาเหล่านั้นมาทำเอง

ยุทธศาสตร์ของช่อง 3 ก็เริ่มด้วยการซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาฉาย และช่อง 3 ก็ได้เป็นผู้สร้างทีมนักพากย์ที่เลื่องชื่อลือนามขึ้นมา เช่น อุดม สุนทรจามร ที่พากย์ “เปาบุ้นจิ้น” และอีกทีมหนึ่งที่โด่งดังมากแต่ปัจจุบันออกไปหากินอิสระและพากย์เรื่อง โอชิน ที่ช่อง 5 อยู่ปัจจุบัน

ในช่วงนั้นทั้งประวิทย์และประชาต้องทำงานตัวเป็นเกลียว เดินทางไปต่างประเทศตลอดเวลาเพื่อซื้อหนัง เลี้ยงรับรองเอเย่นต์หนังต่างประเทศ ว่ากันว่า เงินค่าเลี้ยงรับรองอย่างเดียวปีๆ หนึ่งจะเป็นตัวเลขเจ็ดหลักขึ้นไป

“พวกนี้เวลาเลี้ยงรับรองก็เลี้ยงจริง เขาสามารถผูกใจเอเย่นต์หนังได้จนสามารถพูดได้ว่า ในยุคนั้นเขากุมตลาดหนังต่างประเทศอยู่คนเดียว” แหล่งข่าวในวงการอีกคนหนึ่งพูดเสริมขึ้นมา

ในขณะที่ช่อง 7 และ 5 ยังมัววุ่นวายอยู่กับการสร้างหนังเรื่องจักรๆวงศ์ๆ และละครน้ำเน่าตลอดจนบันเทิงแบบชุดราตรียาวออกมาครวญเพลงให้คนต่างจังหวัดฟัง

ช่อง 3 ก็กำลังคืบคลานเข้าจับตลาดชั้นกลางในกรุงเทพฯ และรอบนอก ตลอดจนจังหวัดใกล้เคียง โดยที่ไม่มีใครสนใจ จนกระทั่งนักดูทีวีเมืองไทยได้มีโอกาสดู “เปาบุ้นจิ้น” ที่บริษัทสหพัฒนพิบูลเป็นผู้นำเข้ามา

จากวันนั้นเป็นต้นมา พฤติกรรมการดูทีวีของคนไทยก็เริ่มเปลี่ยนแปลงโดยการชักนำของช่อง 3 และบริษัทสหพัฒนพิบูลในครั้งนั้น

ความนิยมที่คนดูมีต่อ “เปาบุ้นจ้น” ทำให้ช่อง 3 เริ่มหันมามองตลาดภาพยนตร์จีนอย่างจริงจังขึ้น

“ตอนนั้นช่องอื่นๆ เล่นกันแต่หนังไทยและละครน้ำเน่า โดยไม่ลืมหูลืมตาดูอะไรเลย” แล้วยุทธศาสตร์การบุกตลาดภาพยนตร์จีนมาออกทีวีเมืองไทยก็เริ่มต้น

ประชา มาลีนนท์ บินไปติดต่อและเซ็นสัญญาเป็นตัวแทนของ TVB ในฮ่องกง “ตอนนั้นแข่งกันอยู่ 2 เจ้า คือ TVB และRTV แต่คุณภาพ TVB ดีกว่ามาก ตลอดจนเนื้อเรื่องและผู้แสดง”

ก็คงจะเป็นเช่นนั้น เพราะจาก “กระบี่ไร้เทียมทาน” ที่พอ ฉีเส้าเฉียน เลิกเล่นบทฮุ้นปวยเอี้ยงก็ต้องตายทำเอาคนดูถึงกับเขียนจดหมายมาด่าสถานี จนถึง “เจ้าพ่อเซี้ยงไฮ้” ที่เนื้อเพลงถูกร้องกันตั้งแต่รัฐมนตรีดอกเตอร์ ไปจนถึงหมอนวด หรือ “คมเฉือนคม” และอีกมาก

อาจจะเป็นเพราะมันเริ่มเป็นยุคของช่อง 3 ไปเสียแล้ว แม้แต่การจัด VARIETY SHOW ก็ได้รับการกล่าวขวัญมากไป จนกระทั่งการจัดประกวดนักร้องของช่อง 3 ซึ่งส่งเพียง 2 คน ก็ได้รางวัลนักร้องยอดเยี่ยมของเอเชียมาทั้ง 2 คน คือนันทิดา แก้วบัวสาย กับ มณีนุช เสมรสุต

เมื่อสักเกือบ 10 ปี ที่แล้ว ประชา มาลีนนท์ ได้ทำในสิ่งหนึ่งซึ่งต้องยอมรับกันว่าเป็นการปฏิวัติละครเมืองไทยขึ้นมาใหม่และเรื่องนี้ ประชา มาลีนนท์ กับช่อง 3 ก็ควรจะได้รับเครดิตอย่างเต็มที่

ประชา มาลีนนท์ ได้ให้โอกาส ภัทราวดี ศรีไตรรัตน์ ได้ทดลองจัดทำละครไม่บอกบทเป็นครั้งแรก

“ไฟพ่าย” / “ตุ๊กตาเสียกระบาล” / “จิตไม่ว่าง” / “ขบวนการคนใช้” ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นลมแรงที่ช่วยโหมไฟแห่งชัยชนะของช่อง 3 ให้ลุกโชติช่วงกว่าเก่า

บวกกับ “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้” / “กระบี่ไร้เทียมทาน”/ “มังกรหยก” / “คมเฉือนคม” ฯลฯ ปุ่มช่อง 3 บนแผงหน้าทีวีเป็นแผงที่ทุกคนกดกันประจำ

ไม่ต้องสงสัยช่อง 3 กระโดดจากอันดับสุดท้ายมาเป็นอันดับแรกอย่างเต็มภาคภูมิ พิเศษไปกว่านั้น ช่อง3 ยังเป็นผู้ริเริ่มเอาข่าวดาวเทียมเข้ามาเป็นคนแรกจากความคิดของประวิทย์ มาลีนนท์ จนในที่สุดทุกช่องต้องตามช่อง3 กันเป็นแถว พอเรียกได้ว่า ยุคนั้นเป็นยุคที่ทุกคนมีความสุขที่ช่อง 3

ว่ากันว่า ตั้งแต่ตกเย็นพอเริ่มมีละครไม่พากย์ ตามด้วยข่าวดาวเทียม และต่อด้วยภาพยนตร์จีน ในช่วง 3-4 ชั่วโมงนั้น ช่อง 3 เห็นเงินเข้าแถวมาหาจนต้องเมื่อยเอว เพราะก้มนับเงิน

“ในช่วง 3 ชั่วโมงนั้นช่อง 3 รับโฆษณาประมาณ 40 นาที ได้รายได้เฉพาะช่วงนี้อยู่ในระหว่าง 2 ล้านบาท” ผู้อำนวยการแผนกสื่อโฆษณาระดับใหญ่คนหนึ่งพูดให้ฟัง

และก็ได้ผล ความเป็นผู้นำของช่อง 3 ถึงแม้จะเป็นช่วงแคบที่ความถี่การส่งต่ำที่สุด แต่ก็ทำให้ช่อง 7 ต้องกระทบกระเทือนอย่างมากๆ ทั้งๆ ที่อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ก็สู้ไม่ได้ (ช่อง 3 เพิ่งจะเปลี่ยนเครื่องมือเมื่อ 3 ปีที่แล้ว)

จนกระทั่งเมื่อช่อง 7 ขยายขอบข่ายการส่งของดาวเทียมทำให้ตลาดโฆษณาถูกช่อง 7 ดึงเอาไปได้มากพอสมควร

แต่ช่อง 3 ก็สู้กลับด้วยการไปซื้อเวลาของโทรทัศน์ท้องถิ่นในเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งก็ได้ผลดีพอสมควรเมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่ลงทุนไป

โรงเรียนการแสดงก็เป็นความคิดของช่อง 3 ที่บุกเบิกขึ้นมาอย่างน่าปรบมือให้ที่สุด และผลผลิตของโรงเรียนนี้ก็มีดีๆ เด่นๆ เช่น กษมา นิสสัยพันธ์ หรือไอ้ฟัก ในคำพิพากษา , ดิลก ทองวัฒนา ฯลฯ

ยุคที่ช่อง 3 เฟื่องที่สุดและรุ่งเรืองที่สุดก็คงจะเป็นยุคตั้งแต่ 3 พี่น้อง “ประ” มาลีนนท์ กลับมาจากชิคาโกช่วยงานพ่อ

จนกระทั่งปี 2526 ที่กลุ่มมาลีนนท์เริ่มคิดจะจับธุรกิจที่ใช้ช่อง 3 เป็นฐาน

และธุรกิจแรกคือ การจัดคอนเสิร์ต

“ความจริงความคิดในการจัดคอนเสิร์ตนั้นมันเริ่มทำกันตรงที่จะจัดดาราจีนมาหนุนรายการช่อง3 และคอนเสิร์ต โจวเหวินฟะ ของเขาก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทำให้ทุกคนมองไปที่คอนเสิร์ตฝรั่งเป็นรายการต่อไป” แหล่งข่าวในวงการคอนเสิร์ตพูดให้ฟัง

ในช่างแรกของการจัดคอนเสิร์ตนั้น ทั้งประวิทย์ ประชา และประสาร มาลีนนท์ กระโดดเข้ามาร่วมมือร่วมใจกันอย่างเต็มที่

แต่พอแนวทางการจัดเริ่มเปลี่ยนไปทางฝรั่งและขาดทุนมากขึ้น ประวิทย์ก็ถอนตัว ทิ้งให้ประชาสู้ต่อไป

“มันเริ่มจากการที่สิ่งแวดล้อม ประชา มาลีนนท์ เขาไปอ้างกับประชาว่า ทาง NITE SPOT เขาดูถูกว่า ประชาทำไม่ได้ ประชาก็ต้องทำให้ดูถึงขาดทุนก็ต้องทำ ทั้งๆ ที่ทาง NITE SPOT เขายืนยันว่า เขาไม่ได้พูดเช่นนั้น” คนในวงการคอนเสิร์ตคนเก่าพูดต่อให้ฟัง

ประชา มาลีนนท์ เมื่อ 3-4 ปีที่แล้วหลังจากประสบผลสำเร็จมากในช่อง 3 ก็เริ่มหันมามองธุรกิจบันเทิงที่เป็นของตัวเองมากขึ้น

การจัดละครก็จะใช้วิธีให้ช่อง 3 จ้างบริษัทของประชาเป็นผู้จัด แล้วประชาก็อาจจะจ้างคนอย่างเช่น มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช หรือ ทาริกา ธิดาทิตย์ หรือ มาเรีย เกตุเลขา เป็นผู้จัดต่อ

นอกจากการจัดคอนเสิร์ตนั้นแล้ว ประชายังหันเข้าสู่วงการภาพยนตร์จากการเข้าร่วมกับ เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร แห่งไฟว์สตาร์โปรดักชั่น ทำภาพยนตร์เรื่องแรกชื่อ บ้านทรายทอง และทำเงินให้มาก ทำให้อนาคตของการร่วมทุนดูสดใสเอามากๆ

จนกระทั่งเกียรติ เอี่ยมพึ่งพร ถูกยิงตาย โครงการก็เลยมีการเปลี่ยนแปลงไป และที่เปลี่ยนแปลงอีกประการหนึ่งคือ ประชา มาลีนนท์ ไปไหนมาไหนหลังจากเกียรติตายก็เลยต้องมีมือปืนติดตามตลอด

จนกระทั่งมาถึงวันนี้ยังคงมีมือปืนและสิ่งแวดล้อมตามอยู่ตลอดเวลา

”คุณประชาแกเปลี่ยนไปมาก จากการที่เขาเคยไปไหนมาไหนสบายๆ เดี๋ยวนี้กลายเป็นต้องมาในมาดอีกแบบหนึ่ง และแกก็ห่างเหินคนช่อง 3 ไปมาก ทั้งที่คนช่อง3 ก็ยังรักเขาอยู่” พนักงานช่อง3 คนหนึ่งเล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟัง

อาณาจักรธุรกิจส่วนตัวของประชา มาลีนนท์ ขยายไปเรื่อยๆ จากการจัดคอนเสิร์ต มาเป็นการทำภาพยนตร์ มาทำร้านอาหารชื่อคุ้มหลวง ทำวิดีโอให้เช่าโดยใช้ชื่อ วิดีโอ 3 แม้กระทั่งทำหนังสือพิมพ์ชื่อ พิมพ์ข่าว

“ผมเสียดายคุณประชาแกน่าจะเทตัวเองให้กับช่อง 3 อย่างเต็มที่ อย่าไปสนใจงานนอกแบบนั้น เพราะคุณประวิทย์วางแผนแล้วคุณประชาทำนี่มันเป็นสูตรที่เพอร์เฟคมาก” คนที่รู้จักสอง “ประ” นี้วิจารณ์ให้ฟัง

เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ช่อง3 เองก็ได้สูญเสียสิทธิ์ในหนังจีนของ TVB ไปให้กับช่อง 7 และใน 2-3 ปีผ่านมานี้ทั้งช่อง 5 และช่อง 7 ได้ขยายขอบงานและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา ในขณะที่

ช่อง 3 หยุดอยู่กับที่และพึ่งพาของเก่ากันไปทุกวัน

“ทุกวันนี้ช่อง 3 อยู่รองบ๊วย ช่อง 5 เอง เขาปรับตัวได้เร็วมาก หนังเรื่อง โอชิน และรายการต่างๆ เช่น มาตามนัด นี่ทำให้ช่อง 5 แซงช่อง 3 ขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด” คนที่ติดตามเรื่องทางทีวีวิพากษ์วิจารณ์ออกมา

อาจจะเป็นไปได้เพราะ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ประชา มาลีนนท์ ทำงานช่อง 3 น้อยมาก

ความจริงแล้วระบบการบริหารของช่อง 3 เขาวางไว้ดีพอสมควร พนักงานช่อง 3 เป็นพนักงานที่มีระเบียบและวินัยมาก

”อันนี้ต้องให้เครดิตประวิทย์และประชา ที่นี่ทำงานโดยไม่มีการตอกบัตรลงเวลา แต่ทุกคนทำไปตามความรับผิดชอบที่ได้รับมา” พนักงานช่อง 3 คนหนึ่งแอบแย้มให้ฟัง

ช่อง 3 จ่ายโบนัสให้กับพนักงานทุกปีนับตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มกิจการถึงแม้จะขาดทุน โดยเฉลี่ยแล้วจะได้โบนัสปีละประมาณ 4 เดือน

“แต่ที่พนักงานน้อยใจก็ตรงที่ บรรดาพวกดาราทั้งหลายที่มาจัดละครให้ช่อง 3 นั้นพากันร่ำรวยทุกคน ทั้งๆ ที่ 70% ของงานนั้นมาจากพนักงานช่อง 3 ทั้งนั้น โดยเฉพาะการทำฉาก การกำกับกล้อง การตรวจแก้บท ฯลฯ แต่พวกเรามันก็อยู่เหมือนเดิม จะกี่ปีๆ ก็แบบนี้” พนักงานช่อง 3 คนเก่าแก่บ่นอย่างเอือมระอา

ในเมื่อช่อง 3 เกิดมาจากรากฐานการเงินของธนาคารเอเชียทรัสต์ ก็พอจะพูดได้ว่า สุขภาพของช่อง 3 ก็ย่อมขึ้นอยู่กับสุขภาพของเอเชียทรัสต์จริงๆ

เมื่อก่อนเมื่อมีใครพูดถึงช่อง 3 ทุกคนที่ฟังอยู่หรือร่วมวงสนทนาก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงธนาคารเอเชียทรัสต์ และในใจของทุกคนย่อมหมายถึงความมั่นคงปานหินผาทีเดียว

ในสมัยก่อนไม่มีใครจะนึกว่า จอห์นนี่ มา จะมีวันนี้ หรือธนาคารเอเชียทรัสต์จะมีอันเป็นไป

การเงินของช่อง 3 ผูกเอาไว้กับธนาคารเอเชียทรัสต์ ตั้งแต่วันแรกที่เปิดบัญชี คือวันที่ 10 มกราคม 2512 ด้วยเงินเปิดบัญชี 200,000 บาท และได้วงเงินเบิกเกินบัญชีครั้งแรก 5 ล้านบาท ซึ่ง 15 ปีให้หลัง วงเงินนี้ขยายตัวมาจนเป็น 163,226,174.44 บาท ในที่สุด โดยมีหลักทรัพย์คือคนชื่อ วิชัย มาลีนนท์ เป็นผู้ค้ำประกันแต่เพียงผู้เดียว

ในยุคที่รุ่งเรืองและเฟื่องฟูเป็นยุคที่บัญชีช่อง 3 จะเป็นอย่างไรมันไม่สำคัญ เพราะธารวณิชกุลและวิจิตรานนท์ ก็มีอยู่เกือบ 50% ในช่อง3 อยู่แล้ว

และก็ไม่มีใครสงสัยด้วยว่า กลางปี 2527 จะเป็นจุดจบของเอเชียทรัสต์

ธุรกิจของช่อง 3 เรียกได้ว่าขาดทุนใน 6-7 ปีแรกเท่านั้น แต่ตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา อีก 10 ปี เป็นช่วงระยะเวลาของการทำกำไรทั้งสิ้น

ประมาณการกันว่า เฉลี่ยกำไรตั้งแต่ปี 2516-2527 น่าจะได้ออกมาปีละอย่างต่ำ 59 ล้านบาทขึ้นไป

ธุรกิจที่กำไรสูงสุดเช่นนี้โดยใช้ทุนต่ำเพียง 12 ล้านบาท และเป็นธุรกิจที่เงินจะหมุนเข้าออกโดย RECEIVABLE AGING ประมาณไม่เกิน 60 วัน - 90 วัน การใช้เพียงแค่เบิกเงินเกินบัญชีจึงเป็นสิ่งที่ควรทำที่สุด

การลงทุนของช่อง 3 ก็ไม่ได้มีการลงทุนอะไรที่ต้องใช้เงินมากมายนอกจากการต่อสัญญาช่วงปี 2518-19 ที่ต้องเสียเบี้ยบ้ายรายทางไปก้อนหนึ่ง ส่วนการซื้ออุปกรณ์ใหม่ทั้งชุดนั้นก็เพิ่งจะกระทำกันเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

สรุปแล้ว ช่อง3 เป็นธุรกิจที่มีสุขภาพดีเอามากๆ หนี้วงเงินเบิกเกินบัญชีเพียง 160 กว่าล้านจึงเป็นเรื่องเล็ก

ช่อง 3 จ่ายปันผลกันอย่างเต็มที่โดยไม่สนใจที่จะตั้งกำไรสะสมเอาไว้เป็นทุนสำรองยามยาก แต่ในเมื่อธุรกิจมีลักษณะของ HIGH RETURN ทุกคนก็เลยหวังพึ่งรายได้ในอนาคตเป็นเงินทุนการขยายงาน

แต่ทุกคนในช่อง 3 ลืมนึกไปว่าช่อง 3 กับเอเชียทรัสต์ เป็นคู่แฝดกันที่เมื่อเอเชียทรัสต์ไม่สบาย ช่อง3 ก็ต้องไม่สบายด้วย และบังเอิญเอเชียทรัสต์ไม่ได้เป็นไข้หวัดธรรมดา แต่ดันเป็นมะเร็งที่ต้องผ่าตัดกันอย่างมโหฬารเสียด้วย

ภาวการณ์ของเอเชียทรัสต์เริ่มเข้าสู่วิกฤตการณ์เมื่อต้นปี 2527 (โปรดอ่าน “ผู้จัดการ” ฉบับที่ 12 เดือนสิงหาคม 2527) แล้ววิกฤตการณ์ก็เลวร้ายลงทุนเดือน

ช่อง 3 จะด้วยความเต็มใจหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องเข้าร่วมขบวนการกู้เอเชียทรัสต์อย่างเต็มที่ วิชัย มาลีนนท์ เองถึงแม้ในส่วนลึกไม่อยากจะทำเช่นนั้น แต่ จอห์นนี่ มา เป็นหุ้นส่วนในช่อง 3 มาเกือบ 20 ปี และก็ยังได้ร่วมกันทำธุรกิจอีกมากมายหลายประการ ก็คงไม่มีทางเลือกนัก

“อีกอย่างหนึ่ง อย่าลืมว่าทุกคนในสังคมพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จอห์นนี่ มา มีเงินอยู่ต่างประเทศเยอะ เพียงแต่เขาเอาเงินเข้ามามันก็จบ ทุกคนเชื่อว่าปัญหานี้แก้กันได้ง่ายและธนาคารจะขลุกขลักเพียงชั่วคราวเท่านั้น” เจ้าหน้าที่ธนาคารสยามระดับบริหาร ลำดับเหตุการณ์ให้ฟัง

ขบวนการกู้เอเชียทรัสต์ในสายของช่อง 3 ก็เริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2527 เป็นต้นไป ตั้งแต่วันที่ 9 เดือนพฤษภาคม 2527 จนถึงวันที่ 4 เดือนกันยายน 2527 ช่อง 3 ได้ออกตั๋วอาวัลโดยธนาคารเอเชียทรัสต์แล้วไปขึ้นเงินกับสถาบันการเงินต่างๆ รวมทั้งสิ้น 16 ครั้ง เป็นเงินทั้งหมด 253 ล้านบาท

ตั๋วที่อาวัลทั้งหมดเป็นตั๋วระยะสั้นตั้งแต่ 30 วันขึ้นไปจนถึง 210 วันสูงสุด (ดูรายละเอียดล้อมกรอบ)

นอกจากนี้ช่อง 3 ยังได้ให้ธนาคารทำทรัสต์รีซีต เพื่อซื้ออุปกรณ์คุมแสงในห้องส่งอีกเป็นเงินสองล้านกว่าบาท

เงินทั้งจำนวนนี้มีข้อสังเกตว่า เป็นตั๋วที่ทำขึ้นมาเพื่ออาวัลในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2527 เสียส่วนใหญ่

ซึ่งระยะเวลานั้นเป็นช่วงเวลาของวิกฤตการณ์ทางการเงินของธนาคารเอเชียทรัสต์อย่างที่สุด และย่อมหมายถึงวิกฤตการณ์ของบริษัทในเครือของกลุ่มธารวณิชกุล และวิจิตรานนท์ ด้วย

ถ้าจะวิเคราะห์กันด้วยความเป็นธรรมแล้วจะเห็นได้ว่า ช่อง 3 เองคงจะใช้เงินเพียงแค่เงินเบิกเกินบัญชี 163 ล้านบาท กับตั๋วที่อาวัลตั้งแต่เดือนกันยายนปี 26 จำนวน 12 ล้านบาท กับทรัสต์รีซีต 3 ล้านบาท เท่านั้นเอง

ซึ่งยอดทั้งหมดก็ประมาณ 177 ล้านบาท นอกนั้นแล้วน่าจะเป็นเงินที่ถูกหมุนออกไปโดยใช้ช่อง 3 เป็นตัวแทน

ส่วนจะหมุนไปให้ใครโดยมีข้อตกลงกันว่าอย่างไรนั้น วิชัย มาลีนนท์ และวัลลภ ธารวณิชกุล คงจะรู้ดีที่สุด

ที่แน่ๆ คือ ขณะที่วิชัย มาลีนนท์ กำลังนั่งเวียนหัวอยู่กับตัวเลขและหมายศาลในวันเวลาเดียวกันห่างไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ อีก 4,000 กว่ากิโล จอห์นนี่ มา ใส่เสื้อนอกหน้าอกกลัดดอกไม้เป็นประธานตัดริบบิ้นเปิดโรงงานปูนซีเมนต์ของตระกูลเฉินอยู่บนเกาะที่เรียกว่า ไต้หวัน ที่พักพิงอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเอกยุทธ อัญชันบุตร กำลังใช้อยู่

สำหรับธนาคารสยามแล้วบรรดาลูกหนี้ทั้งหลายรวมทั้งสิ้น 3 พันกว่าล้านบาทนั้น จะมีก็เพียงช่อง3 โรงงานน้ำตาลราชบุรีเท่านั้น ที่อาจจะมีอนาคตเรียกคืนได้

สิ่งแรกที่ธนาคารสยามทำก็คือ ให้กำลังใจช่อง 3 บอกว่า ไม่เป็นไร เอาหลักทรัพย์มาค้ำให้พอแล้วกันแล้วก็ค้าขายต่อไป

วิชัยและลูกก็คงคิดว่า สถานการณ์คงดีขึ้นก็เลยขนที่ร้อยกว่าไร่ที่ตำบลหนองปรือ บางละมุง ซึ่งเก็บไว้ทำฮวงซุ้ยมาวางเอาไว้ ที่ทั้งหมดอยู่ในชื่อของประสาร ประวิทย์ และประชา มาลีนนท์

แต่ช่อง 3 กลับไม่ได้บอกธนาคารสยามว่าจะคืนเงิน 453 ล้านให้อย่างไร

สำหรับธนาคารสยามแล้ววิชัยจะเอาเงินไปไม่ถึง 453 ล้านนั้นมันจะจริงหรือไม่กลับไม่ใช่เรื่องที่จะต้องให้ความเห็นใจ เพราะ 453 ล้าน เป็นเงินของประชาชน เมื่อช่อง 3 เอาไปก็ต้องตามเอามาคืน

“เดิมทีเขาไม่ยอมเจรจา เขาอ้างว่า จอห์นนี่ มา เอาไปและหนี้ 453 ล้านมากเกินไป เราโนติ้สไปก็เฉย เราเลยต้องฟ้อง พอเรื่องถึงศาลถึงมีการติดต่อมาเจรจา ความจริงทุกอย่างคุยกันได้เราต้องการรู้ว่า เขาตั้งใจจะจ่ายอย่างไรใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งระยะเวลาการจ่ายต้องไม่เกินระยะเวลาสัญญาที่ช่อง 3 ยังมีอยู่กับรัฐบาล” ผู้บริหารระดับสูงในธนาคารสยามพูดอย่างเหนื่อยใจกับ “ผู้จัดการ”

ว่ากันว่า ชีวิตคนเรามีขึ้นและก็ต้องมีลง ไม่มีใครอยู่เย้ยฟ้าท้าดินได้จนเป็นอมตะ ปัญหาบางอย่างเมื่อเกิดขึ้นก็ต้องเดินเข้าหา คนบางคนคิดว่า มีชีวิตอยู่ในสภาวะแบบนี้กลับมิสู้ตายไปเสียจะดีกว่า

แต่วิชัย มาลีนนท์ คงจะรู้ว่า ถึงอยากจะตายก็ตายไม่ได้ และการอยู่ก็ขมขื่นและทรมานอย่างแสนสาหัส

วิชัย มาลีนนท์ ประสาร ประวิทย์ และ ประชา มาลีนนท์ มีทางเลือกอยู่ไม่มากนัก

ทางออกแรก

ประวิงเวลาการต่อสู้คดีความและยอมล้มละลาย โดยหวังว่า คดีอาจจะยืดเยื้อถึง 2-3 ปี และก็ทำธุรกิจไปด้วยกำไรช่อง 3 มีเท่าไหร่ก็ยักย้ายถ่ายเทออกไป

การเสียสละ วิชัย มาลีนนท์ คงต้องยอมเป็นคนล้มละลายและที่ซึ่งเอาจำนองไว้ก็ต้องถูกบังคับจำนอง

ผลเสีย เสียชื่อเสียงและที่เจ็บปวดคือ ที่สำหรับเก็บไว้ทำฮวงซุ้ยก็สูญไป

อีกประการหนึ่ง ธนาคารสยามมีสิทธิขออำนาจศาลบังคับให้ช่อง 3 เอารายได้ที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดฝากไว้ที่ศาล

ทางออกทางที่ 2

ต่อรองขอลดดอกเบี้ยและเจรจาขายสัญญาส่วนที่เหลือออกไปให้กลุ่มอื่นที่สนใจรับช่วง

การเสียสละ สูญเสียสิ่งที่เพียรสร้างขึ้นมาเกือบ 20 ปี

ผลเสีย ผู้ที่จะเข้ามารับช่วงจะไม่กล้าเข้าเพราะระยะเวลาเพียง 5 ปี อาจจะสั้นเกินไปที่จะเข้ามา เพราะถ้ารายใหม่เข้ามาก็จะเกิดความไม่แน่นอนในจิตใจของลูกค้าที่จะจองโฆษณาอาจจะทำให้รายได้ตกลงไปมาก

อีกประการหนึ่ง เมื่อสัญญาหมดแล้วก็ไม่แน่ว่า ผู้ที่เข้ามารับช่วงจะได้ต่อสัญญาหรือไม่

ทางออกทางที่ 3

ต่อรองขอลดดอกเบี้ย แล้วเจรจากับช่อง 9 (อสมท) ขอต่อสัญญาทันทีไปอีก 10 ปี แล้วกลับมาขอยืดเวลาผ่อนหนี้จาก 5 ปี เป็น 10 ปี เพื่อให้ภาระไม่ต้องหนัก

การเสียสละ ต้องเริ่มต้นกันใหม่ ทุกคนต้องมุมานะและพยายามเพื่อกอบกู้ชื่อเสียงของตระกูล

ผลเสีย การขยายงานอะไรคงจะต้องยุติรวมทั้งอิสรเสรีภาพการใช้จ่ายจะต้องถูกจำกัดลงหมด

ผลดี เป็นการแสดงความรับผิดชอบอย่างสูงออกมา และจะได้รับความเชื่ออย่างสูงในวงการ เมื่อสามารถแก้ไขวิกฤตการณ์ได้หมดสิ้นเพราะคนที่เก่งจริงในชีวิตไม่ไช่คนที่ไม่เคยล้ม แต่เป็นคนที่เคยล้ม แล้วลุกขึ้นมาได้ใหม่

ทางออกที่ 3 น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ทุกวันนี้ช่อง 3 คือป้อม ALAMO ของตระกูลมาลีนนท์ ทุกคนทำงานได้และทำงานเป็น ทั้งประวิทย์และประชา นั้นเคยพิสูจน์มาแล้วว่า ทำได้และทำได้ดีด้วย

ทุกวันนี้ช่อง 3 เปรียบเสมือนป้อมค่ายที่กำลังถูกข้าศึกรุก ทุกคนสมควรที่จะเข้ามาช่วยกันซ่อมรั้วซ่อมค่ายป้องกัน แทนที่จะแยกตัวเองออกไปตั้งป้อมตั้งค่ายของตัวเอง

อย่างน้อยที่สุดมันก็เป็นเรื่องชื่อเสียงและหน้าตาของบิดาผู้ให้กำเนิด และสร้างทั้งสาม “ประ” ขึ้นมา

ประชา มาลีนนท์ ควรจะหันกลับเข้ามาช่อง 3 และจับมือกับประวิทย์สร้างขึ้นมา

ธุรกิจภายนอกควรจะสละไปเสีย เพราะในที่สุดแล้วไม่มีธุรกิจใดที่จะดีและหนุนมาลีนนท์ด้วยกันได้เท่าช่อง 3

ธุรกิจด้านอื่นอาจจะเป็นธุรกิจเสริมสร้างบารมีของตนเอง ถึงแม้ว่าจะขาดทุน แต่เพื่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวก็จะทำพวกนี้เป็นม่านบังตาที่ทำให้มองไม่เห็นเป้าหมายที่แท้จริง

ธนาคารสยามก็คงสบายใจ ถ้าวิชัย ประสาร ประวิทย์ และประชา มาลีนนท์ พร้อมกันเดินเข้ามาหาแล้วบอกว่า จะทำงานใช้หนี้ให้

สิ่งที่ช่อง 3 กำลังต้องการที่สุดขณะนี้คือ ความสามัคคี

ช่อง 3 เป็นธุรกิจครอบครัวที่แท้ ถ้าขาดความสามัคคีภายในกันแล้ว ช่อง3 ก็คงจะต้องบ้านแตกกันในที่สุด

ผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ในชีวิตมักจะพูดให้ข้อเตือนใจอยู่เสมอว่า “คนเราสร้างอะไรขึ้นมามักสร้างได้ไม่ยาก แต่จะรักษามันให้อยู่รอดตลอดไปมักจะยากกว่า”

คำพังเพยนี้พูดกันมานานและมีตัวอย่างให้เห็นชัดมาแล้ว แต่ก็อย่างที่ว่าแหละ ไม่ค่อยมีใครจำกันหรอก

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us