พานาโซนิคแก้เกมตลาดบีทูบี เปิดตัวโครงสร้างธุรกิจใหม่ “One Panasonic for B2B” จากการรวมตัวของ 4 บริษัทในเครือ หวังสิ้นปีขยับสัดส่วนรายได้บีทูบีแตะ 1,500 ล้านบาท หรือกว่า 5% จากรายได้รวม 22,000 ล้านบาท ย้ำอีก 5 ปี เพิ่มสัดส่วนเป็น 20% หากไปได้สวย ถือเป็นโมเดลต้นแบบที่จีนจะนำไปใช้ต่อ
นายฮิโรทากะ มุราคามิ ซีอีโอ ของกลุ่มบริษัทพานาโซนิคในประเทศไทย เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทพานาโซนิคในประเทศไทย ปัจจุบันมีกว่า 20 บริษัท ซึ่งแต่ละบริษัทก็จะดูแลบริหารสินค้าแตกต่างกันไป ซึ่งในแง่ของการติดต่อทำธุรกิจกับลูกค้านั้น ที่ผ่านมาพบว่า ไม่ค่อยสะดวก และเกิดการทำงานที่ทับซ้อนขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มบีทูบี จะพบว่าแต่ละบริษัทจะต้องส่งพนักงานเข้าไปพูดคุยกับลูกค้าหลายคน ซึ่งลูกค้าเองก็มองว่าในเมื่อเป็นพานาโซนิคเหมือนกัน ทำไมไม่มาคนเดียว แล้วครอบคลุมทุกตัวสินค้าได้
ส่งผลให้ทางกลุ่มพานาโซนิค ประกอบด้วย บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย)จำกัด(PST),บริษัท พานาโซนิค เอ.พี.เซลส์ (ประเทศไทย)จำกัด (PAT), บริษัท พานาโซนิค อีเล็กทริค เวิร์คส์ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด (PEWSTH) และบริษัท ซันโย (ประเทศไทย) จำกัด ที่เข้ามาเป้นส่วนหนึ่งของพานาโซนิค เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้มีการจัดทำโครงสร้างธุรกิจขึ้นมาใหม่ ภายใต้ชื่อ “One Panasonic for B2B” ขึ้นตรงกับ พานาโซนิค เมนเนจเม้นท์ ซึ่งเป็น คันทรี เฮด ควอเตอร์ ในประเทศไทย จะทำหน้าที่ดูแลโดยตรง ขณะที่พนักงานในโครงสร้างธุรกิจนี้ จะมาจากกลุ่มพนักงานขายของทั้ง 4 บริษัท และเมื่อสามารถติดต่อโครงการได้แล้ว รายได้จากสินค้าที่ลูกค้าสั่งนั้นก็จะไปขึ้นตรงกับบริษัทนั้นๆที่ดูแลอยู่
สำหรับโครงสร้าง“One Panasonic for B2B”นี้ ได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว โดยปัจจุบันมีลูกค้าที่กำลังติดต่อทำธุรกิจอยู่ราว 40 บริษัท ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มโรงแรม คอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร ร้านค้าปลีก โรงงานและอาคารสำนักงาน เป็นต้น สิ้นปีนี้มองว่าจะผลักดันรายได้จากส่วนของบีทูบีได้ถึง 1,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนที่ 5% ของรายได้รวมจากทั้ง 4 บริษัท ที่ปีนี้คาดว่าจะมีรายได้รวมถึง 22,000 ล้านบาท และตั้งเป้าว่าใน 5 ปีหลังจากนี้ โครงสร้างธุรกิจ “One Panasonic for B2B” จะทำรายได้ให้กลุ่มคิดเป็นสัดส่วนที่ 20% ต่อไปได้
โดยในส่วนของสินค้าที่จะนำเสนอผ่าน “One Panasonic for B2B” นั้น ได้แก่ กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องครัว กลุ่มสินค้าความงามและสุขภาพ อุปกรณ์ให้แสงสว่าง กลุ่มสินค้าภาพและเสียง และสินค้าซิสเต็มส์ รวมถึงกลุ่มสินค้าจากซันโย เช่น โซล่า เซลส์ แผงพลังงานจากแสงอาทิตย์ และตู้แช่
อย่างไรก็ตามโครงสร้างธุรกิจ“One Panasonic for B2B” นี้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกที่นำมาใช้ ซึ่งหากได้รับการตอบรับที่ดี อาจจะเป็นโมเดลต้นแบบที่จะถูกนำไปใช้กับกลุ่มพานาโซนิคในประเทศแถบเอเชียเป็นหลัก โดยมองว่า จีนจะเป็นประเทศต่อไปที่จะนำโมเดลโครงสร้างธุรกิจนี้ไปใช้
|